fbpx
“น้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน” รู้จักหน่วยซัพพอร์ตม็อบ #ให้มันจบที่รุ่นเรา

“น้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน” รู้จักหน่วยซัพพอร์ตม็อบ #ให้มันจบที่รุ่นเรา

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ในภาพใหญ่การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษายุคเอนไลท์เทนเมนต์ 4.0 ไม่ได้มีแค่ทนายอานนท์ นำภา ที่เป็นตัวเปิด

ไม่ได้มีแค่รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือคณะประชาชนปลดแอกที่เป็นตัวตามในการพาประชาชนลงถนนขับไล่เผด็จการ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กินทั้งทุนรอนและแรงกายไปมหาศาล อาจไปไหนได้ไม่ไกล ถ้าไม่นับรวมมวลชนที่เปรียบดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็ก และทีมซัพพอร์ตที่ทำหน้าที่พาขบวนใหญ่เคลื่อนไปสู่ความฝันอันสูงสุดเข้าไปด้วย

โดยเฉพาะอย่างหลังที่มักถูกมองข้าม ถูกด้อยค่า ทั้งที่เป็นหน่วยสำคัญไม่ต่างไปจากแกนนำผู้ปราศรัย

101 พาไปรู้จัก ‘งัวงาน’ ที่ก้มหัวขวางคิ้วให้กับแรงเสียดทานที่เข้ามาทุกสารทิศ และน้อมรับหน้าที่เล็กๆ ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่

 

 

การ์ด มธ.

 

การ์ด มธ. 2563

 

จากเด็กกิจกรรมทำงานการเมืองในระดับมหาวิทยาลัย พอยุคสมัยเรียกร้องให้นักศึกษาออกมานำการชุมนุม เรด (สงวนชื่อและนามสกุล) ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสายธารประวัติศาสตร์

ปัจจุบันเรดเรียนรัฐศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดเวทีใหญ่ในวันที่ 10 สิงหาคม เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย เรดสมัครเป็นการ์ดอาสาทั่วไป

เมื่อรู้ว่าเวที ‘19 กันยาฯ ทวงอำนาจคืนราษฎร’ จะมีสเกลใหญ่ขึ้น เขาจึงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าการ์ดของเด็กธรรมศาสตร์ ดูแลความปลอดภัยตั้งแต่เวที รถเครื่องเสียงและแกนนำ ทำงานประสานกับฝ่ายการ์ดอาสาที่รับผิดชอบดูแลมวลชนในพื้นที่ชุมนุม ทีมของเรดมีประมาณ 50 คน เป็นเด็กธรรมศาสตร์ 20 คน  อีก 30 คนมาจากต่างสถาบัน

ในม็อบมีงานหลายฝ่าย หลายทักษะ อะไรทำให้เรดเลือกรับงานที่เผชิญความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายมากที่สุด เขาอธิบายว่า เขาสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ดูการปราศรัย ดูการเคลื่อนขบวนของทั้งพันธมิตรฯ นปช. และ กปปส. แต่เขาไม่เคยเห็นขบวนการนักศึกษามาก่อน

“หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผมไม่เห็นว่าจะมีม็อบไหนหรือมีการชุมนุมที่ไหนที่มีการ์ดแบบจริงๆ จังๆ สักที พอตั้งเวทีได้ก็แค่ปราศรัย แต่ไม่มีความปลอดภัยอะไรที่เลย เมื่อข้อเรียกร้องของเราคือการปฏิรูปสถาบันฯ ทำให้เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของการชุมนุมมากขึ้น เพราะอาจจะมีคนไม่สบายใจ เราต้องรอบคอบ ต้องทำให้การชุมนุมของนักศึกษาและคนที่มาร่วมมีมาตรฐานในเรื่องความปลอดภัยจริงๆ”

เรดอธิบายถึงยุคสมัยของตัวเองว่า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องค่อนข้างแปลกสำหรับสังคมไทย แต่สังคมประชาธิปไตย ควรเป็นเรื่องปกติที่คนจะมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการได้ การพูดไม่เท่ากับการใช้อาวุธทำลายกัน แต่กลายเป็นว่าผู้มีอำนาจประเทศนี้ยังคิดเรื่องปราบคนเห็นต่าง

ในการชุมนุมระยะยาว เรดบอกว่าถ้ารัฐจะใช้ความรุนแรงจริงๆ เขาคงทำอะไรไม่ได้ ปืนกับมือเปล่าสู้กันไม่ได้

“สิ่งที่เราพยายามทำนอกจากจะต้องทำให้ผู้ชุมนุมหรือทีมงานปลอดภัยให้ได้มากที่สุด ท้ายที่สุดเราเชื่อว่าต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ดี เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ การเจรจาคือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด”

อย่างไรก็ตาม หากรัฐยังถนัดปราบปราบเป็นหลัก ก่อนจะไปถึงขั้นประกาศเขตใช้กระสุนจริง รัฐยังมีกระบอง รถฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตา การ์ดนักศึกษาจะรับมืออย่างไร เรดบอกว่า “พวกถุงมือ หน้ากาก อุปกรณ์ป้องกัน เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมไปรับมืออยู่แล้ว เพื่อทำให้เกิดความสียหายต่อร่างกายให้น้อยที่สุด”

 

พยาบาล

 

แหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสาโดยอาชีพ และพยานปากสำคัญในคดี 6 ศพวัดปทุมวนารามฯ เมื่อปี 2553

 

แหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา เป็นพยาบาลอาสาโดยอาชีพ และเป็นหนึ่งในพยานปากสำคัญในคดี 6 ศพวัดปทุมวนารามฯ เมื่อปี 2553 ความที่ถูกยัดข้อหาความมั่นคงก่อการร้ายให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำถึง 3 ปีกว่า เมื่อได้ประกันตัวออกมา เธอไม่ลังเลที่จะอาสารับดูแลนักศึกษาและประชาชนในการชุมนุมทุกครั้งที่ผ่านมา

“ไม่มีอะไรน่าห่วงเลยสำหรับการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ มีสิ่งเดียวคือห่วงความปลอดภัยและการดูแลรักษาพยาบาล สิ่งนี้มันขาดหายไปจากม็อบที่น้องๆ เขาจัดกัน เราแค่เติมเต็ม เพราะรัฐบาลคงไม่มาดูแลประชาชนในม็อบอยู่แล้ว”

แหวนมองว่างานพยาบาลอาสาไม่ง่าย ต้องสร้างความไว้ใจกับประชาชนให้ได้ ตอนนี้เธอมีทีมที่เป็นคอเดียวกันประมาณ 50 คน มีรถพยาบาล 8 คันสแตนบายในที่ชุมนุม

“ทุกคนที่มาช่วยกันต่างมีบทเรียนและได้รับความเจ็บปวดมาก่อน เราเห็นในความไม่เท่าเทียมของสังคมตั้งแต่ปี 53 เราพูดได้เต็มปากเลยว่าทีมเราเป็นมืออาชีพ ทุกคนผ่านการฝึก EMS (emergency medical services) มา

“หน่วยแพทย์ที่เข้าไปต้องซื่อสัตย์กับตัวเองว่าจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ชุมนุมจริงๆ ไม่ได้ไปหาผลประโยชน์ และที่ต้องสร้างความไว้ใจ เพราะเราจะเป็นกังวลมากถ้าเกิดกรณีอุบัติเหตุบาดเจ็บ ถึงขั้นต้องนำส่งโรงพยาบาล หน่วยพยาบาลจะเอาผู้ชุมนุมไปไหน เรากลัวตรงนี้”

ประสบการณ์พยาบาลอาสาในสมรภูมิเสื้อแดงปี 2553 ทำให้เธอต้องรอบคอบมากเป็นพิเศษ

“ตอนสลายการชุมนุมเดือน ‘พฤษภาคม 53’ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยก็ดี ผู้เสียชีวิตก็ดี มันมีรถพยาบาลที่ไม่ได้นำส่งโรงพยาบาลตลอด บางหน่วยเอาศพมวลชนที่เสียชีวิตไปโดยไม่ได้นำโรงพยาบาล แล้วก็ไม่ได้แจ้งญาติว่าเขาจะไปหาศพญาติเขาได้ที่ไหน นานร่วมเดือนกว่าจะตามกันเจอ เพราะฝ่ายรัฐพยายามปกปิดข้อเท็จจริงของการปราบปราม วันนี้ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เราจะไม่ยอมให้เหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่อีก

ร่วม 10 ปีที่ถูกกระทำ เจ็บปวดทั้งทางใจและกาย แทนที่จะหลีกลี้ความวุ่นวายทางการเมือง แต่แหวนกลับยกระดับตัวเองเข้าเป็นงัวงานในหน้าที่ที่เธอถนัด

“ที่เรามายืนอยู่ในที่แจ้ง ทำงานอาสาเช่นเดิม เป็นการยืนยันว่าที่ผ่านมา เราเข้าไปช่วยเหลือผู้ชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทุกคนที่ถูกกระทำควรออกมาเรียกร้องสิทธิ์และยืนอยู่ในที่แจ้งได้ ถามว่ากลัวไหม เรากลัวจนสะกดไม่เป็น ถูกยัดเยียด ถูกข่มขู่ให้โยนความผิดผู้อื่นทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีความผิด เรากลัวได้ แต่เราเงียบไม่ได้ วันหนึ่งถ้าเราเงียบ มันคือชัยชนะของเผด็จการ”

 

ดนตรี

 

ดนตรีสดของวงสามัญชน

 

แทบไม่มีครั้งไหนที่การชุมนุมในยุค #ให้มันจบที่รุ่นเรา จะไม่ปรากฏการแสดงดนตรีสดของวงสามัญชน ไม่ว่าเวทีเล็กหรือใหญ่ ในเมืองหรือต่างจังหวัด พวกเขาเดินทางไปเล่นราวกับทัวร์คอนเสิร์ต

“กี่ลมฝันที่พัดละอองโปรยอ่อนมาในกรงขัง คงเหน็บหนาว เงียบเหงาลำพัง โปรดฟังเพลงที่เราร้องอยู่ อยากได้ยินเธอร่ำร้องตะโกนบทเพลงของสามัญชนปลุกผู้คน ปลุกฝันสู่วันของเรา”

‘บทเพลงของสามัญชน’ คือเพลงที่ทำให้วงสามัญชนเป็นที่รู้จักในการยืนหยัดเคียงข้างกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการต่อสู้มาตลอดหลังรัฐประหาร 2557

คำถามคืออะไรทำให้ศิลปินที่สามารถเลือกเล่นดนตรีอยู่ในที่ปลอดภัยได้ ต้องออกมาเป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดของนักศึกษาในรอบหลายสิบปี

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้แต่งเพลงของวงสามัญชนบอกว่า ที่นักดนตรีต้องออกมาร่วมชุมนุมสะท้อนว่าองค์ประกอบต่างๆ ในสังคมยังพังอยู่ ทั้งๆ ที่นักเขียน ศิลปิน ทนายความ คนเหล่านี้มีฟังก์ชันที่ตัวเองทำได้ดีอยู่แล้วในสังคมปกติ

เขาอธิบายว่า ถ้าเรามีพื้นที่ทางสังคมมากพอ มีพื้นที่ให้ประชาชนได้ปลดปล่อยมากพอ ความต้องการพื้นฐานต่างๆ ถูกได้ยินเสียงและสนองโดยรัฐบาลมากพอ ม็อบใหญ่ๆ จะไม่จำเป็น คนส่วนใหญ่จะไม่โกรธแค้นกันแบบทุกวันนี้ อย่างน้อยอาจจะมีม็อบเล็กๆ ที่เขารู้สึกถึงคุณค่าบางอย่างกำลังถูกลดทอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน เขามองว่าดนตรีก็เป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยในการทำกิจกรรมเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นดนตรีกับการเมืองไม่เคยแยกจากกัน ขึ้นอยู่กับว่าศิลปินจะทำตัวอย่างไรในสถานการณ์วิกฤตเท่านั้นเอง

“เหมือนกับเกมฟุตบอลที่ผู้เล่นไม่ครบ กติกาไม่แฟร์ แต่ก็ต้องสู้ไป ผมอาจเล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์ได้ดี แต่กติกาที่ไม่ดีผลักให้ต้องไปเล่นกองหน้าด้วย ทั้งที่ไม่ได้ฝึกมาเลย”

ขับกล่อมเสียงเพลงอยู่บนเวที สายตามองออกไปสบตากับมวลชนเรือนหมื่นเรือนแสน เขาคิดอ่านอย่างไรกับบทบาทตัวเอง ยิ่งเมื่อสถานการณ์กำลังร้อนแรงขึ้น เพลงของเขากำลังปลอบโยน ปลุกเร้า หรือทำหน้าที่อะไร

“ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถในการฟังเพลงใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ยินและอยู่กับมันได้ในระยะเวลานานพอสมควร ผมว่าปกติแล้วคนปราศรัยสัก 2 ประโยค ถ้าไม่เข้าหู เขาก็ก้มเล่นโทรศัพท์แล้ว แต่พอเป็นเพลง เขามีความสามารถในการฟังให้จบก่อน แม้ว่าเนื้อหาของเพลงไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เพราะเขาอยู่กับยุคสมัยที่มีสิ่งใหม่ๆ ให้ได้สัมผัสตลอด วันๆ หนึ่งมีเพลงเกาหลีปล่อยออกมาวันละ 4-5 เพลง ทำให้เขาสามารถเรียนรู้กับกับเพลงได้ตลอดเวลา

“ผมมองว่าถ้าแต่งเพลงในม็อบเมื่อ 40 ปีก่อน ก็คงชวนทุกคนไปพลีชีพ เหมือนให้คุณค่าว่านักศึกษาเป็นผู้ชี้นำมวลชน แต่วันนี้วงสามัญชนไม่ได้วางตัวเป็นผู้ชี้นำ เราอยากให้สถานะของนักศึกษาเท่ากับประชาชน นักศึกษาก็คือประชาชน ไม่ได้สูงกว่า เราต่างเกื้อหนุนกันและกัน เหล็กตีตอนร้อนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตีจนตัวตาย เราควรรักษาชีวิตเพื่อการเรียนรู้”

 

มัลติมีเดีย

 

ดรีม ทรัพย์ทวี พุฒหอม เพิ่งเรียนจบมาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ดรีม ทรัพย์ทวี พุฒหอม เพิ่งเรียนจบมาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความที่รักการถ่ายภาพสารคดี สนใจสิทธิมนุษยชนเป็นทุนเดิม เขาไม่ลังเลที่จะยื่นมาเข้ามาช่วยงานถ่ายทอดสดการชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอก

“เรามีอุปกรณ์อยู่แล้ว แม้ไม่ใช่อุปกรณ์มืออาชีพมาก ไม่ได้ถูกดีไซน์มาใช้ในการทำไลฟ์สด แต่เพราะเรียนมาทางด้านนี้ เราก็ประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่มีให้มันทำงานได้”

ถามว่าเริ่มเพ่งมองการเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ดรีมเล่าย้อนว่า บ้านอยู่หลักสี่ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 มีเวทีใหญ่ กปปส. มาตั้งปิดถนนแจ้งวัฒนะ เป็นทางที่เขาต้องผ่านเพื่อไปโรงเรียนทุกเช้าและกลับบ้านในตอนเย็น

“ทุกครั้งที่เดินผ่านทะลุม็อบ ต้องโดนตรวจกระเป๋าตลอด จนวันที่มีเหตุยิงกันที่แยกหลักสี่ ฝ่าย กปปส. มีมือปืนป๊อปคอร์น บังเอิญผมอยู่ตรงไอทีสแควร์พอดี ผมเห็นเหตุการณ์ว่ามีคนบริสุทธิ์ถูกยิงตายคือลุงอะแกว แซ่ลิ้ว แล้วมีดาราเอาไปพูดเยาะเย้ยสะใจบนเวที เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น”

ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน เมื่อตัดสินใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แล้วก็พร้อมรับแรงเสียดทาน กายพร้อม ใจพร้อม อุปกรณ์พร้อม เขาก็ออกไปลุยภาคสนาม

18 กรกฎาคม 2563 วันที่คณะประชาชนปลดแอกยังเรียกตัวเองว่าเยาวชนปลดแอก ชุมนุมบนถนนราชดำเนิน หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เกิดเหตุวุ่นวายหลังเต็นท์ถ่ายทอดสดที่ดรีมกำลังจดจ่ออยู่กับงาน เพราะมีผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่พยายามจับตัวลากออกไป แต่ผู้ชุมนุมที่เหลือไม่ยอม จึงมีการชุลมุนกันขึ้น

ดรีมบอกว่า หลังเหตุการณ์สงบ ขาตั้งกล้องของเขาหักจนใช้งานไม่ได้และสายสัญญาณหาย ทำให้ต้องหยุดถ่ายทอดสด แล้วเปลี่ยนมาใช้สมาร์ตโฟนถ่ายแทน

ในเนื้องานที่แทบไม่ต่างไปจากสื่อมวลชนรายงานความเคลื่อนไหว หันซ้ายหันขวาก็เจอสื่ออาชีพเต็มไปหมด ดรีมมองการทำงานของสื่ออาชีพอย่างไร

เขาแสดงทัศนะว่า การทำงานสื่อสมัยนี้ ด้วยเทคโนโลยี ด้วยต้นทุนไม่ได้แพงอะไรมาก สื่อสามารถทำงานด้วยตัวคนเดียวได้ ไลฟ์ 24 ชั่วโมงติดต่อกันก็สามารถทำได้แล้ว ถ้ามีแบตเตอรีสำรองมากพอ

“ถ้าเอาประเด็นเนื้อหาสาระ คุณเป็นฐานันดรที่ 4 แล้ว ควรทำหน้าที่เต็มที่ ไม่ต้องกลัวที่จะสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา คนปราศรัยจะพูดเข้าหูหรือไม่ เป็นเรื่องของคนดูเขาตัดสินเอง ไม่ใช่สื่อ ผมคิดว่าสื่อไทยเซ็นเซอร์ตัวเองมากเกินไป”

และเมื่อมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ในฐานะที่ร่ำเรียนมาด้านนิเทศศาสตร์ ดรีมบอกว่า “ถ้าผมไม่ออกมาทำงานส่วนนี้ คงเสียดายเวลาที่เรียนไป 4-5 ปีมาก”

 

สวัสดิการ

 

กตาล สุวรรณา ตาลเหล็ก อาจจะอาวุโสที่สุดในบรรดาคนที่ถือไมค์ไฟส่องหน้า-ไฮด์ปาร์กซัดกับอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย

 

ในบรรดาคนรุ่นใหม่ที่ออกมายืนแถวหน้าในการชุมชุม และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเกินกว่าจะนับนิ้วหมด ลูกตาล สุวรรณา ตาลเหล็ก อาจจะอาวุโสที่สุดในบรรดาคนที่ถือไมค์ไฟส่องหน้า-ไฮด์ปาร์กซัดกับอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย

ไม่ได้ร่ำเรียนสูง ไม่เรียกตัวเองว่าปัญญาชน แต่คลุกฝุ่นกับคนสายแรงงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เรียกได้ว่าเธอเป็นนักสหภาพแรงงานเต็มตัว เพราะตัวเองก็เป็นสาวโรงงานด้วย

ยุคสมัยที่สิทธิแรงงานยังบางเบาไร้ค่า ประกันสังคม สิทธิลาคลอด ค่าแรงขั้นต่ำ ยังไม่มีใครรู้จัก ลูกตาลเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเหล่านี้ ทำหน้าที่เอนเตอร์เทนม็อบ เรียกแบบภาษาเก่าคืองานวัฒนธรรม

“เล่นละคร ร้องเพลงตอนชุมนุมหน้าโรงงาน หน้าที่เราคือทำให้พี่น้องแรงงานผ่อนคลายระหว่างนัดหยุดงานประท้วง”

ลูกตาลขยับมาจับงานข้อมูลกับศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน ช่วงทศวรรษที่ 2540 มีหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักสหภาพแรงงาน ผู้ก่อตั้งกลุ่ม 24 มิถุนา เพื่อเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2549

10 กว่าปีที่การเมืองไทยไปไม่พ้นจากวังวนสองมาตรฐาน สายแรงงานอย่างลูกตาลยังยืนอยู่ที่เดิม-รับใช้มวลชนฝ่ายประชาธิปไตย กระทั่งคนรุ่นใหม่ขยับขึ้นมาเคียงข้าง เธอก็เลือกอยู่เคียงข้างพวกเขาไม่หายไปไหน

หน้าที่ของลูกตาลในการซัพพอร์ตม็อบครั้งที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะวันที่มีการตั้งเวทีใหญ่ คือฝ่ายสวัสดิการ

“น้องๆ ขอให้ไปช่วย เพราะพี่น้องจำนวนไม่น้อยเอาของมาบริจาค ทั้งอาหาร น้ำดื่ม ขนม หยูกยา เราก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้เท่าที่สามารถทำได้ พวกเราที่ดูแลส่วนนี้มีประมาณ 10 กว่าคน คอยช่วยเหลือนักศึกษา บางครั้งน้องๆ ให้จับไมค์เพื่อดูแลอารมณ์มวลชนระหว่างรอแกนนำปราศรัยบ้าง เพราะเขาเห็นว่าเรามีประสบการณ์ พูดง่ายๆ ว่าช่วยดูภาพรวม เขาให้ทำอะไร เราก็ทำหมด

“เราไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจว่าจะจัดงานยังไง เราช่วยในฐานะคนให้กำลังใจน้องๆ ถ้าแปลกใจว่าทำไมเราไปขึ้นเวที ก็แค่บางเวทีเท่านั้นที่ขึ้น ถ้าสังเกตดีๆ เราจะขึ้นไปจัดการแค่ช่วงต้นๆ หรือช่วงที่รอแกนนำเท่านั้น”

พ้นไปจากประสบการณ์ และงานที่เคียงบ่าเคียงไหล่ ลูกตาลมองเห็นอะไรในพลังนักศึกษา

เธอบอกว่า คนรุ่นใหม่ทำให้เธอเห็นความหวังในตัวเอง ไม่ได้มอดดับไปตามกาลเวลา แม้ประชาชนยังไม่เคยได้รับชัยชนะก็ตาม

“เราจะบอกกับตัวเองเสมอว่าอย่าเอาความคาดหวังของตัวเองไปให้ใคร เพราะเท่ากับว่ากำลังผลักภาระไปให้คนอื่นแบกหนักเกินไป ถ้าจะลุกขึ้นสู้ ต้องทำด้วยความรู้สึกอยากจะทำเอง และนี่คือสิ่งที่เราเห็นในตัวคนรุ่นใหม่ คือลุกขึ้นมาสู้เอง รับผิดชอบตัวเอง

“หลายคนบอกว่าในสถานการณ์วิกฤต เราต้องไปอยู่ข้างเด็ก เราบอกว่าคุณไม่มีสิทธิ์มาฝากเราแบบนี้ เพราะถ้าเรารับปากแล้ว แต่บังเอิญมีการสูญเสีย มันจะเป็นตราบาปในใจ เพราะรับฝากแล้วทำไม่ได้ เราไม่ควรฝากความหวังไว้ที่ใคร ไม่ควรเสียสละเพื่อใคร ไม่ต้องทำอะไรเพื่อใคร แค่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันก็พอ”

ลูกตาลบอกว่า หลังจากเลิกเวทีทุกครั้ง สิ่งที่เธอทำเสมอคือเข้าไปขอโทษน้องๆ ถ้าทำอะไรที่ล้ำเส้นเกินไป วุ่นวายเกินไป

“เราจะบอกพวกเขาเสมอว่ามีอะไรที่เราทำไม่ดีให้ตำหนิได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ เพราะว่าพวกเราต้องเดินไปข้างหน้าอีกไกล แล้วถ้าไม่มีอะไรให้ช่วยแล้ว เราก็ยินดีที่จะเป็นผู้ชุมนุมเหมือนคนทั่วไป”

 

 การชุมนุม 2563

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save