fbpx
Exclusive ‘หนูหริ่ง-ลำธาร’: ฟังพ่อลูกคุยกัน ในวันที่การเมืองมาเคาะประตูบ้าน

Exclusive ‘หนูหริ่ง-ลำธาร’: ฟังพ่อลูกคุยกัน ในวันที่การเมืองมาเคาะประตูบ้าน

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปี 2020 มีหลายครอบครัวกำลังวิตกกังวลว่าลูกหลานของท่านกำลังถูกดูดกลืนเข้าไปในหลุมดำทางการเมืองไทย

บางบ้านส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ แต่บางบ้านก็กลับไล่ลูกหลานออกจากรอบรั้วรังนอน เพียงเพราะคิดอ่านการเมืองคนละความหมาย

อาจกล่าวไม่ได้ว่าบ้านของหนูหริ่ง – สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา เป็นเช่นนั้น เพราะก่อนที่ท้องถนนวันนี้จะเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่ออกมาขับไล่เผด็จการ เมื่อครั้งรัฐประหาร 2557 เขาเผชิญมาด้วยตัวเอง โรมรันพันตูจนถูกไล่ล่า ถูกอายัดบัญชี และต้องคดีทางการเมืองมากมาย

อาจกล่าวไม่ได้ว่าผลกระทบตกที่ตัวเขาคนเดียว แต่ลูกสาว ลำธาร – ธาราทร บุญงามอนงค์ ก็ต้องเผชิญชะตากรรมการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐไปด้วย

ปัจจุบันเธอเรียนด้าน Game Design & Production ที่ Drexel University เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา และยังหาเวลาสร้างสรรค์วิดีโออาร์ตที่แฝงประเด็นสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศไว้อย่างลึกซึ้งคมคาย

ถ้าจะสรุปเอาดื้อๆ ตรงนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่ความขบถของคนเป็นพ่อหรอกที่ทำให้ครอบครัวอยู่ไม่สุข แต่เพราะรัฐประหารอำนาจนิยมต่างหากที่ทำให้ครอบครัวอยู่ไม่สุข และผลพวงของมันก็ลุกลามกัดกินไปทั้งองคาพยพ

101 ตั้งต้นจากประเด็นที่ว่าในสถานการณ์การเมืองอันร้อนระอุและประชนชนเดือดดาล หน่วยเล็กๆ ทางสังคมที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ จะเผชิญหน้ากับการเมืองที่เข้ามาเคาะประตูบ้าน และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อย่างไร

แน่นอน, ทั้งหนูหริ่งและลำธารเป็นหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ และควรค่าแก่การไถ่ถาม รับฟัง…

 

ทราบมาว่าช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ครอบครัวลำธารถูกคุกคามหนักมาก เกิดอะไรขึ้นบ้าง มองย้อนกลับไปคุณเห็นบ้านเมืองวันนั้นเป็นอย่างไร

ลำธาร : ช่วงนั้นแทบไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง เพราะเป็นช่วงที่พ่อเลือกจะสู้ ไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. เราไม่รู้ทิศทางของทหารจะเอายังไง ช่วงที่พ่อยังไม่ถูกจับ ทหารบุกบ้านบ่อยมาก ก่อนหน้านี้ก็แค่มาเยี่ยมปกติ แต่พอรัฐประหารก็ถือปืนมาที่บ้านเลย เราอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว

6 ปีที่แล้ว พ่อทำกิจกรรมเยอะมาก แต่เราก็ยังรู้สึกว่าการเมืองมันวุ่นวาย เป็นการเมืองที่ยังไม่เปิดให้มีการคุยกันอย่างเสรี หลายๆ เรื่องยังมีข้อห้าม ส่วนตัวเรารู้สึกว่าครอบครัวเราทำอะไรที่บางครั้งสังคมยังไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ เหมือนติดค้างอยู่กับอดีต แต่ตอนนี้สังคมเปิดมากขึ้น สิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยพยายามพูดเมื่ออดีต วันนี้คนพูดกันมากขึ้นแล้ว

 

คุณสมบัติล่ะ คุยกับลูกยังไง ประเมินความเสี่ยงกับครอบครัวยังไง

สมบัติ : ตอนแรกผมไม่คิดว่าจะประสบชะตากรรมแบบนี้ ผมไม่คิดว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผมจะมีความเสี่ยงถึงขนาดทำให้ผมถูกจับดำเนินคดี คิดแค่ว่าต้องปฏิบัติการบางอย่างที่ไม่ยอมรับอำนาจการรัฐประหาร หลังจากนั้นผมจึงคิดได้ว่าอาจจะเกิดภาวะแย่ที่สุดและอยู่ไม่ได้ อาจต้องหนีออกไปจากไทย แต่จะเรียกว่าโชคดีได้ไหม คำว่าโชคดีไม่ค่อยเหมาะ แต่โชคดีที่ถูกจับ (หัวเราะ) ทำให้ผมไม่เตลิดออกไป

ลำธาร : ช่วงนั้นเราไม่ค่อยได้คุยกันนะ เท่าที่จำได้

สมบัติ : ตอนนั้นมันชุลมุนมาก เวลานั้นรัฐคุกคามคนไม่เลือกหน้า พอจัดการผมไม่ได้ ก็ไปจัดการกับลูกผม มันเป็นเรื่องที่เกินกว่าจะรับได้ แล้ววันนั้นลูกยังเป็นเด็ก การรับมือกับสถานการณ์ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

ลำธาร : มันเป็นช่วงแบบอะไรวะเนี่ย ตอนนั้นกำลังเรียน ม.ปลาย กำลังคิดว่าจะเอายังไงต่อเรื่องเรียน ตั้งคำถามกับอนาคตของตัวเองเยอะ แต่พอทหารมาที่บ้านมากขึ้น เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันจะมีผลกระทบกับเรายังไง โดยเฉพาะช่วงที่บัญชีธนาคารพ่อโดนอายัด เราจะได้เรียนต่อไหม อนาคตของเราจะเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่ใหญ่มาก

เอาจริงๆ ช่วงนั้นยังเด็กมาก ยังโลกสวยอยู่ แต่หลังจากที่ได้คุยกับพ่อ ได้รู้ว่าพ่อโดนเจ้าหน้าที่อุ้มขึ้นรถ เอาถุงดำคลุมหัวในนั้น มันเป็นอีกความรู้สึก เหมือนชีวิตเป็นอีกระดับหนึ่ง

 

คุณสมบัติเคยพูดหลายครั้งว่าช่วงวัยเรียนมัธยมเป็นช่วงเริ่มขบถ ไม่เรียนหนังสือ ออกมาทำกิจกรรมนอกโรงเรียน ลำธารมองความขบถในรุ่นตัวเองยังไงบ้าง อะไรคือสิ่งที่ต่างไปจากรุ่นพ่อ

ลำธาร : คงพูดแทนคนอื่นทั้งหมดไม่ได้ แต่เรารู้สึกว่าเรามีความเป็นเจ้าของ อย่างเพื่อนๆ ในกลุ่มจะรู้สึกมีความเป็นเจ้าของโรงเรียน รู้สึกว่าโรงเรียนต้องทำอะไรบางอย่างที่ดีสำหรับพวกเรา มากกว่าที่เราจะต้องทำตามโรงเรียน อาจจะเป็นการแสดงการเป็นเจ้าของอำนาจมากกว่าเชื่อตามผู้มีอำนาจ

สมบัติ : ผมคิดว่าขบถหมายถึงการปฏิเสธต่อขนบธรรมเนียมเดิม ขบถกับสิ่งที่สังคมปฏิบัติสืบทอดกันมา การขบถก็คือการไม่ยอมรับหรือไม่ปฏิบัติตามรูปแบบที่สังคมทำ เช่น ปรากฏการณ์ในโรงหนังตอนนี้ก็เป็นการแสดงออกถึงความขบถ หรือ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ ที่ออกมาต่อต้านเรื่องทรงผมกับเครื่องแบบนักเรียน มีการอภิปรายเรื่องหลักสูตรการเรียนรู้ เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการศึกษา มีการเผชิญหน้ากับรัฐมนตรี ตอนยืนเคารพเพลงชาติก็ชูสามนิ้วหน้าเสาธง เรื่องแบบนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในมุมมองผมสิ่งเหล่านี้คือความขบถ

 

แต่ยังมีคนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ใหญ่มองว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้สังคม แต่กลับเรียกร้องมากเกินไป เส้นบางๆ ระหว่างการเรียกร้องสิทธิกับการทำประโยชน์ต่อสาธารณะอยู่ตรงไหน

สมบัติ : จริงๆ มันเป็นเรื่องเดียวกัน การทำตัวเป็นประโยชน์ต่อตัวเองกับเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม หรือเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานของเราในอนาคตเป็นเรื่องที่โยงกันได้ เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองจะได้รับกลับมา

คนแต่ละคนอาจจะพัฒนาเรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัว ตั้งคำถามจากเรื่องใกล้ตัวก่อนแล้วก็ตั้งคำถามไปเรื่อยๆ มันก็จะโยงให้เห็นว่าเรื่องตัวเองมันไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเอง แต่มันเป็นเรื่องของระบบ เป็นเรื่องชุมชน หรือโลกใบนี้

 

วันที่คุณสมบัติเริ่มขบถ ต้องออกจากระบบการศึกษา แรงเสียดทานที่คุณเจอคืออะไร แล้วแรงเสียดทานของคนรุ่นลำธารคืออะไร

สมบัติ : ผมไม่ได้เลือกออกจากโรงเรียนนะ โรงเรียนเขาไล่ผมออกมา (หัวเราะ) แรงเสียดทานของผมก็คือขนบสังคม ถ้าคุณไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน ที่บ้านพอมีเงินทองระดับนึง เขาไม่เรียนแค่ ม.6 หรอก เขาต้องเรียนไปถึงระดับมหาวิทยาลัย คนรุ่นผม พ่อแม่เขาคุยกันเรื่องลูกว่าจะเรียนต่อกันที่ไหน คนส่วนใหญ่พยายามไปให้ถึงระดับการศึกษาที่สูงที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ แต่ขั้นต่ำสุดก็อยู่ที่ปริญญาตรี พ่อแม่ไม่อายที่ลูกเรียนจบปริญญาตรี

สำหรับผม พูดง่ายๆ ว่าเพื่อนแม่งเรียนหนังสือกันหมดเลย แล้วสังคมสมัยผมก็ไม่มีที่ทางให้กับคนที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีไป ทำงานอะไรที่อยากทำ นี่เป็นความยากสำหรับขบถ

ลำธาร : สมัยนี้แนวแบบพ่อก็ยังมีอยู่นะ คนที่ออกนอกการศึกษา แต่อาจจะเปลี่ยนไปในด้านสายครีเอทีฟ ไม่ได้พึ่งระบบการศึกษามาก ทางเลือกมีมากขึ้น เพราะในสังคมอเมริกันที่เราอยู่ แรงเสียดทานมันเป็นอีกแบบหนึ่ง คนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้ถูกล่าแม่มดแบบสังคมไทย ของไทยโหดและขาวดำมาก

เรามีเพื่อนคนไทยที่มีแนวคิดขวามาก ก็ไม่รู้คบกันได้ยังไง ต้องพยายามไม่คุยกันเรื่องการเมืองไทย แต่ถ้าเป็นคนอเมริกัน ไม่ว่าจะมีแนวคิดอย่างไร เห็นด้วยก็คือเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยคือไม่เห็นด้วย มันเป็นเรื่องเสรีภาพเฉพาะบุคคลมากๆ เรามีฟรีดอมออฟสปีช แต่ถ้าเกิดคุณไม่เห็นด้วยกับขนบในเมืองไทย คุณกลายเป็นคนต่อต้านสังคม

ประเด็นใหญ่ของสังคมอเมริกันคือเรื่องทุนนิยม เป็นสังคมที่เงินมาก่อน มันทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างมากๆ แต่เรื่องการแสดงออกทางการเมือง เราอยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย มันเสรีมากๆ ทั้งเรื่องเพศ การเมือง เรื่องอะไรก็ตาม แต่ที่เมืองไทยพูดนิดพูดหน่อยไม่ได้ เหมือนเป็นคนละโลกเลย คนละยุค ไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไง แต่รู้สึกว่ามันคนละโลกจริงๆ (หัวเราะ)

 

มีคนจำนวนมากที่ไม่ปรับตัวและกลายเป็นภาระของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ นอกจากเขาจะต้องคิดถึงอนาคตตัวเองแล้วต้องมาดูแลอนาคตของพ่อแม่ด้วย ผมเห็นใจมาก

 

สมบัติ บุญงามอนงค์
ภาพ : ธิติ มีแต้ม

 

ต้องยอมรับว่าครอบครัวคุณเชื่อมั่นในเสรีภาพมาก แต่ก็ยังมีครอบครัวที่แตกหักกันเพราะแนวคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน คุณมองเรื่องนี้ยังไง

สมบัติ : พ่อผมรักในหลวง ร.9 มากนะ เขาเคยถกกับผมเรื่องนี้ เขาบอกว่าในหลวงไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นเทวดา เป็นเซียน เพราะไม่มีคนธรรมดาที่ไหนจะมีคนรักและเทิดทูนขนาดนี้ได้ แกจะเชื่อแบบนี้จริงๆ พูดง่ายๆ พ่อผมเป็นเสื้อเหลือง เป็นสาวกสนธิ ลิ้มทองกุล

แต่ทั้งหมดไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับครอบครัวผม ผมแปลกใจนิดหน่อยที่ทำไมครอบครัวอื่นถึงเอาความคิดทางการเมืองมาอยู่เหนือความสัมพันธ์ครอบครัว

ในมุมของผม ความเป็นพ่อลูกเป็นสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง มันจริงมาก พิสูจน์ได้ทางดีเอ็นเอ เป็นพ่อลูกจริงๆ ไม่ใช่พ่อสมมติ ซึ่งมันควรจะเป็นสิ่งที่แข็งแรงกว่าความสัมพันธ์ทางการเมือง เวลาที่ผมฟังพ่อพูด ผมรู้สึกเอ็นดูพ่อนะ ผมเห็นรอยยิ้มของพ่อ ส่วนพ่อก็เอ็นดูผมในความบ้าๆ บอๆ แต่ถึงยังไง สายสัมพันธ์นี้ก็ตัดไม่ได้ แต่ผมอาจเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำมาหากินเองแล้ว พ่อไม่สามารถมาขู่เข็ญผมได้ หรือทำเหมือนผมเป็นเด็กอยู่

ผมเข้าใจว่าบางครอบครัวที่พ่อกับลูกหักกัน เด็กบางคนอาจจะยังไม่ได้ทำงาน การพึ่งพาทางเศรษฐกิจก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้คนเป็นพ่อรู้สึกว่าเขามีอำนาจเหนือลูก รวมไปถึงการที่เด็กออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองในบริบทตอนนี้ มันหมายถึงความเสี่ยงภัยของตัวเด็กที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงภัยของพ่อแม่และญาติพี่น้องด้วย

ผมมีอาสะใภ้คนหนึ่งที่ใช้นามสกุลเดียวกับผม ตอนที่ผมเคลื่อนไหวทางการเมืองมากๆ เขาเสนอว่าต้องเปลี่ยนนามสกุล เพราะว่าเขาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อาจจะกระทบต่อชีวิตเขาด้วย ผมพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้แบบนี้

ลำธาร : เราโชคดีมากที่ทั้งพ่อและแม่มีความคิดก้าวหน้าทางการเมือง ต่อให้เราให้ไม่เห็นด้วยในเรื่องไหน แต่เราก็ต่างฟังกันและกัน ถ้าเกิดว่าฝั่งหนึ่งไม่ฟังเลย มันจะบานปลาย เราว่าถ้าเรากับพ่อเห็นต่างกัน และไม่ฟังกัน เราจะเถียงกันค่อนข้างแรง และถ้าเกิดเราอยู่คนละขั้วด้วย คงเละเทะแน่นอน

สมบัติ : ไม่ๆ พ่อไม่คิดว่าเละเทะ (ยิ้ม)

ลำธาร : เละ ยิ่งวัยเราด้วย เป็นเรื่องวัย

สมบัติ : ผมมีประสบการณ์กับคนที่มีความคิดสุดโต่ง การแตกหักไม่ใช่เรื่องสนุก ถ้าเป็นคนในครอบครัวผมคงไม่ทำแบบนั้น แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ด้วย ผมก็พร้อมจะเละเทะนะ พร้อมลุย แต่ไม่ใช่ว่าผมจะลุยทุกกรณี

จริงๆ ผมเป็นคนไม่สุดโต่ง แต่บางคนบอกว่าผมเป็นคนแรง บางคนบอกว่าผมเป็นคนประนีประนอม ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไง (หัวเราะ) ในฐานะที่เป็นนักเคลื่อนไหว ผมคิดว่าการไม่สุดโต่งยังสำคัญ ผมอาจจะเป็นซ้ายในฝ่ายซ้ายอีกที

ลำธาร : เราคุยประเด็นนี้กันบ่อย เราอาจจะอยู่คนละจุดของสเปกตรัมด้านซ้าย ถ้ามองในมุมของวัยและอยู่ที่อเมริกาก็เลยทำให้เราดูสุดโต่งไปนิดหน่อย ซึ่งเรารู้ตัว แต่ตอนนี้ยังไม่อยากจะย้ายไปกลางกว่านี้ แต่ก็เข้าใจพ่อ เพราะพ่อผ่านประสบการณ์มาจริงๆ ว่าการสุดโต่งมันอันตรายกว่า มีผลเสียมากกกว่า

 

เล่าได้ไหมว่าสุดโต่งของลำธารคือเรื่องอะไร

ลำธาร : เช่นเรื่องธรรมดาๆ ที่มีเพื่อนเป็นสลิ่ม ความสุดโต่งของเราคือตัดเลย แต่พ่อจะบอกไม่ได้ ตัดไม่ได้ เราต้องพยายามทำความเข้าใจ พยายามคุยกับเขา

สมบัติ : สำหรับผม ผู้มาใหม่ยังไม่เคยมีบาดแผลมากนัก แต่คนที่มันใช้ชีวิตไประดับหนึ่ง มันจะพบกับบาดแผลหรือความสูญเสีย แล้วเราก็จะเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ต้องสุดโต่งขนาดนั้น เราสามารถหาจุดที่ดีกว่าได้ แต่จริงๆ ผมก็มีเวลาช่วงปรี๊ดแตกเหมือนกัน เช่น ผมบอกว่าถ้ารัฐบาลบล็อกเรื่องรถส้วม จะให้ประชาชนขี้ใส่ถุงพลาสติกแล้วเขวี้ยงเข้าไปในทำเนียบไหม ตื่นเช้ามาผมรู้สึกว่า กูพูดไปได้ไงวะ (หัวเราะ) อารมณ์มันขึ้นตอนนั้น เราคิดแบบสุดโต่ง สุดท้ายต้องนั่งพิจารณาว่าถ้าเอาขี้ไปเขวี้ยงมันถูกต้องหรือเปล่า จริงๆ เราอาจจะเป็นคนแรงทั้งคู่ แต่เวลาผมปรามลูกให้เบาๆ หน่อย เหมือนว่าผมจะนุ่ม

 

ทำไมเป็นแบบนั้น

สมบัติ : เราสวมบทบาทพ่อห่วงลูก แต่ถ้าเป็นเรื่องของเราเอง เรากำหนดชีวิตเราได้ ควบคุมตัวเองได้ แต่ว่าพอเป็นลูก เรารู้สึกว่าเราต้องเบาลง มันเป็นความกังวลไม่ใช่เรื่องทางความคิด กังวลว่าผลที่ลูกจะได้รับอาจจะมากกว่าที่เราเจอ

ผมคิดว่าเวลาที่รัฐเขาใช้อำนาจ มันชอบไปรังควานครอบครัวของคนๆ นั้น สังเกตไหมว่าบางทีพวกนักกิจกรรมเคลื่อนไหวตัวแรงๆ รัฐจะไม่ตรงไปเล่นงานที่ตัวคนนั้นนะ แต่พุ่งตรงไปที่คนรอบข้าง มันเป็นกลยุทธ์แบบหนึ่ง ทำให้เราเกิดภาวะพะวงหน้าพะวงหลัง อย่างที่อานนท์ นำภา โดนตำรวจบุกไปหาแม่ที่บ้าน อานนท์โกรธมากและประกาศว่าถ้าไม่หยุดทำแบบนั้น เขาจะไปปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่หน้าอำเภอ (หัวเราะ)

 

เป็นการจงใจ?

สมบัติ : มันเป็นวิธีการปราบอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นการทำสงครามสมัยโบราณก็คือการไปจับลูกเมียของฝ่ายตรงข้าม จับลูกเมียของกษัตริย์หรือจับลูกเมียแม่ทัพนายกองมาเป็นตัวประกัน วิธีเหล่านี้เป็นเรื่องเลวทราม ทำให้คนที่ต่อสู้อยู่เขวได้

ลำธาร : เข้าใจที่พ่อพูดทุกอย่าง เข้าใจความเป็นห่วง แต่เรารู้สึกว่าการที่พยายามใช้ความนอบน้อม ต้องโอ๋พวกสลิ่ม เราไม่ไหวจริงๆ

โอเค แต่ละคนเกิดมาในครอบครัวที่แตกต่างกันก็จริง คุณอาจจะเกิดมาในครอบครัวที่ปลูกฝังอีกแนวคิดมา แต่นี่มันยุคไหนแล้ว คุณสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเองแล้ว ไม่ใช่เราต้องมาหาความรู้ให้ การหาความรู้เป็นหน้าที่ของทุกคน ต้องรู้ว่าปัญหาของสังคมคืออะไร เราต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ต้องมาคอยโอ๋

เรารู้สึกว่าในจุดนี้ ในวัยเราตอนนี้ ไม่อยากเสียเวลากับสิ่งที่เราไม่สนใจจริงๆ แต่ถ้ามีเวลาในอนาคต แล้วเราใจเย็นมากขึ้น สถานการณ์การเมืองปกติขึ้นก็อาจจะทำได้ ถ้าเกิดพ่อทำได้ เราอาจทำได้ ใครจะรู้ล่ะ (ยิ้ม)

 

ที่ผ่านมาทั้งสองคนเถียงเรื่องอะไรกันบ้าง

ลำธาร : พ่อว่าไง

สมบัติ : พ่อไม่มีอะไรเถียงลูก (ยิ้ม)

ลำธาร : ที่เราเคยเถียงกันมาก่อน

สมบัติ : นิดหน่อย ไม่สำคัญมาก เขามาขออนุญาตไปสัก

ลำธาร : ฮะ เรื่องนี้เนี่ยนะ !

สมบัติ : ถ้าเป็นคนอื่น ผมคิดว่าเป็นเรื่องเสรีภาพนะ แต่พอผมจะเห็นลูกมีรอยสัก ผมก็ตกใจนิดหน่อย

ลำธาร : ตายละ ตกใจนิดหน่อย (หัวเราะ)

สมบัติ : เพราะว่าผมเห็นคนสักที่ลามไปทั้งตัว ผมบอกไม่ถูก มันเป็นเรื่องที่ผมขัดแย้งภายในตัวเอง ถ้าคนอื่นทำจะไม่เป็นไร แต่พอลูกทำ ผมรู้สึกว่าเกิดขึ้นกับเนื้อตัวผมด้วย

ลำธาร : โอ้โห ขนาดนั้นเลยเหรอ เนื้อตัวเราคือเนื้อตัวพ่อเลยเหรอ

 

สมมติว่าวันหนึ่งตื่นขึ้นมา พ่อลูกเจอหน้ากัน ลำธารสักลายชูสามนิ้วกลางหน้าผากมาเลย มันสะเทือนใจคุณสมบัติยังไง

สมบัติ : ผมรู้สึกว่าการสักเป็นสัญลักษณ์ของขบถแบบหนึ่ง เป็นขบถที่รูปธรรมมาก เห็นกับตา ยิ่งอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ง่ายๆ อย่างบนคอ บนหน้า ในมุมของผม เวลาเจอคนแบบนี้จะรู้สึกไอ้นี่มันแรง มันไม่แคร์อะไร

 

แล้วสุดท้ายลำธารได้สักไหม

ลำธาร : สักค่ะ เล็กๆ นิดหน่อย ไม่ได้เต็มคออะไรแบบนั้น

สมบัติ : ตอนที่เขามาขอสัก ผมคิดเยอะเลย แต่เราก็พิจารณาบนหลักของเสรีภาพ

 

ทำไมลำธารต้องขออนุญาตพ่อ ถ้าเชื่อในเสรีภาพทางร่างกายของตัวเอง

สมบัติ : นั่นสิ อยากรู้เหมือนกัน

ลำธาร : อยากแชร์เฉยๆ รู้สึกสนิทกับพ่อ พยายามไม่ปิดบังอะไร เราเป็นคนที่คุยกับแม่ทุกอย่าง แต่เราไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อ เลยรู้สึกว่าต้องแชร์กัน แต่ต่อให้พ่อบอกว่าไม่ เราก็สักอยู่ดี (หัวเราะ)

จริงๆ เรามีความเห็น มีมุมมองต่อโลกเหมือนกันมาก ซึ่งน่าแปลกใจ เราเถียงกันแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ว่าตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างไร อย่างเรื่องรอยสัก เราไม่ได้ทะเลาะกัน แค่มองคนละมุม

สมบัติ : ลำธารพูดถูก ผมคิดว่าผมกับลูกเหมือนกันอย่างมาก ทั้งหน้าตาก็คล้ายกัน ความคิด การมองเห็นโลกในอนาคตก็ใกล้กัน อาจจะเพราะว่าเราแชร์กันได้ และเหตุผลที่ใช้ก็เป็นเหตุผลพื้นฐาน เป็นสามัญสำนึก เป็นหลักธรรมชาติ เราเห็นแบบนี้ก็คิดแบบนี้ อยู่บนความเป็นจริง ถ้าจะเถียงกันก็แค่เถียงว่าสิ่งนี้จริงหรือไม่จริง

 

เราไม่คิดว่าการ coming of age กับเหตุการณ์ทางการเมืองจะหนักเกินไป การเมืองไม่ควรเป็นคำว่าเกินไป ดีด้วยซ้ำ เพราะจะเป็น coming meaningful มากกว่าเป็น coming of age ธรรมดา

 

ธาราทร บุญงามอนงค์
ภาพจาก ลำธาร – ธาราทร บุญงามอนงค์

 

แต่กับบางคนที่คิดไม่เหมือนกัน คุยกันไม่ได้เลย แล้วต่างคนก็ไม่แคร์ความสัมพันธ์ครอบครัวด้วย โลกสมัยใหม่บางคนเลือกหมาแมวเป็นครอบครัวแทนได้ คุณมองยังไง

ลำธาร : เรามีเพื่อนที่ตัดขาดจากครอบครัวไปอยู่หลายคนนะ การที่ครอบครัวไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน แต่เราคิดว่าครอบครัวแต่ละครอบครัวมันไม่เหมือนกันจริงๆ เราไม่สามารถมองได้ว่าความสัมพันธ์พ่อลูกที่เรามีแบบนี้ แล้วคนอื่นเขาจะมีได้ บางคนมองว่าพ่อหรือแม่แค่ให้กำเนิดฉัน บางครอบครัวเขาตัดกันได้เลยง่ายๆ ซึ่งโอเคนะ ถ้าอยู่กันไม่ได้ ไม่มีใครผิดด้วย ถ้าเกิดว่าเขาจะตัดจริงๆ

สมบัติ : น่าเศร้า ไม่ว่าจะเกิดกับครอบครัวไหนก็เป็นเรื่องที่โคตรน่าเศร้าเลย เพราะว่าข้อเท็จจริงมันมีสายสัมพันธ์ครอบครัวอยู่

ลำธาร : แต่เรากลับรู้สึกว่าสายสัมพันธ์ก็สร้างในมุมอื่นได้

สมบัติ : ถ้ามันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของอีกคนหนึ่ง ก็เข้าใจว่าเขาจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกตัดความสัมพันธ์นั้น แต่ผมรู้สึกว่าไม่ใช่ว่าไม่มีความสัมพันธ์ เพียงแต่ว่าเขารับไม่ไหว

ลำธาร : หรืออาจจะไม่สำคัญจริงๆ

สมบัติ : เวลาคนเราตัดสินใจว่าเรื่องอะไรสำคัญกว่าอะไรนั้นเข้าใจได้ แต่จำเป็นเหรอที่จะต้องตัดความสัมพันธ์ทิ้ง การไม่มีความสัมพันธ์เลยเป็นไปไม่ได้ ทั้งในทางดีเอ็นเอและความเป็นครอบครัว เพียงแค่จะเลือกแสดงออกในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง

 

เด็กบางคนถูกไล่ออกจากบ้านเพราะทำกิจกรรมทางการเมือง บางคนบอกว่าไม่เป็นไร ครอบครัวสร้างใหม่ได้ อย่างน้อยเขารู้สึกว่าม็อบเป็นเซฟโซนมากกว่าที่บ้าน เราควรทำความเข้าใจยังไง

สมบัติ : ผมคิดว่าวัยรุ่นช่วงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นมา จะมีความเร่าร้อน เขากำลังฟอร์มอัตลักษณ์ของตัวเอง เมื่อเขามั่นใจในสิ่งที่เขาคิด เขาก็ทำอย่างไม่สงสัย แต่ผู้ใหญ่ผู้ปกครองอาจตีความและด้อยค่าสิ่งที่เขาทำว่าเป็นความโง่เขลา

ผมคิดว่าเด็กยังไม่สามารถเผชิญหน้ากับการถูกด้อยค่าหรือถูกทำราวกับเป็นเด็กได้ จริงๆ เขาไม่ใช่เด็กแล้ว เขาอยากตะโกนใส่พ่อ “หนูโตแล้วนะ พ่อไม่รู้เหรอว่าหนูศึกษาเรื่องนี้มามากกว่าพ่อ มากกว่าที่พ่อบอกว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน” ผมคิดว่าในหลายๆ ครอบครัวเป็นแบบนั้น เขาไม่สามารถจะประนีประนอมอดทนได้

ยิ่งปรากฏการณ์ทางการเมืองนี้เกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัยก็เลยเกิดการแตกหักง่าย แต่ผมอยากบอกว่าผมมั่นใจว่าถ้าไม่ใช่สังคมที่แย่จนเกินไป ความสัมพันธ์ที่ดีในอดีตสามารถย้อนกลับมาได้แน่นอน

ผมมีเพื่อนบางคนทำแสบๆ กับผมเยอะแยะในช่วงที่มีปัญหาทางการเมือง แต่สุดท้ายเวลาก็เยียวยาได้ ไม่ใช่ว่าไม่เจ็บนะ ทุกครั้งที่คิดถึงก็เจ็บ แต่เวลาช่วยได้จริงๆ

 

คุณเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่พังแล้วซ่อมแซมได้จริงๆ?

สมบัติ : ถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่มีความลึกซึ้งมากนะ เพื่อนนี่ตัดกันได้ง่ายๆ ผมก็ตัดเพื่อน เพื่อนมันก็ตัดผม ต่างคนต่างตัด ถ้าไม่มีคุณค่าต่อกันแล้วจริงๆ ตัดได้ แต่ถ้าปล่อยเวลาไปแล้วมันเห็นคุณค่าต่อกัน ผมว่าซ่อมแซมได้

ลำธาร : สำหรับเรา ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่นะ เรายอมตัดถ้าเราเป็นเพื่อนกันแล้วกลับไม่เคารพชีวิตกัน หรือเลยเส้นที่จะยอมรับกันได้ ตัดได้แน่นอน

 

ไม่รู้สึกเสียดายเหรอ

ลำธาร : คงมีบ้างมั้ง แต่สำหรับในวัยเราตอนนี้ มันอาจอยู่ในวัยที่คิดเรื่องถูกผิดมากกว่า เป็นความรู้สึกว่าได้อย่างเสียอย่างก็ได้ อย่างที่อเมริกา คนเขาก็แคร์เพื่อนๆ พอกันนะ แต่เป็นสังคมที่คบเพื่อนกันกลุ่มเล็กๆ ไม่เหมือนกับไทยที่เป็นเพื่อนกลุ่มใหญ่ อยู่ที่นี่เราเคารพความเป็นส่วนตัวกันมากๆ

ที่อเมริกา ประเด็นบ้านแตก พ่อแม่ลูกเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องปกติทั่วไปนะ แต่มันไม่ใช่บ้านแตกเพราะประเด็นทางการเมือง เราคิดว่าการที่สังคมไทยจะบ้านแตกเพราะการเมือง น่ามีปัจจัยอื่นๆ รวมอยู่ด้วย แต่พื้นฐานมันเริ่มจากทั้งสองฝ่ายไม่รับฟังกันมาตั้งแต่ต้น การเมืองอาจจะเป็นแค่ปมเล็กๆ ที่มาสะกิดเพิ่ม ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ไม่อยากจะฟังกันแล้ว มันก็แตกได้

 

ทั้งสองคนมีเรื่องที่คุยกันไม่ได้บ้างไหม หรือได้หมดทุกเรื่อง

ลำธาร : ได้หมดนะคะ เพียงแต่มีเรื่องที่ถนัดคุยกันกับไม่ถนัด บางเรื่องคุยกับแม่ง่ายกว่า บางเรื่องคุยกับพ่อง่ายกว่า

สมบัติ : ลำธารจะไม่ชอบฟังเรื่องที่ผมเคยเล่าแล้ว บางทีเล่ามากกว่าสามรอบเพราะผมลืม แต่ผมแค่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเล่าให้ลูกฟัง แล้วผมคิดว่าผมต้องเล่าให้ลูกฟัง เพราะผมกลัวว่าลูกจะไม่ได้ฟังเรื่องนี้ ผมก็จะเล่า แต่ลำธารจะบอกว่าเรื่องนี้พ่อเล่าแล้ว ก็โอเค

ลำธาร : ส่วนมากเป็นเรื่องงานโปรเจ็กต์นั้นโปรเจ็กต์นี้ที่เล่าซ้ำ

สมบัติ : บางทีงงว่ากูเล่าเมื่อไหร่วะ (หัวเราะ) ทำไมเราถึงไม่รู้ว่าเราเล่าให้ลูกฟังแล้ว ชอบเล่าซ้ำ ต้องถามลูกว่า เอ๊ะ ลำธาร พ่อเคยเล่าเรื่องนี้ยัง พอเขาบอกว่าพ่อเล่าแล้ว เราก็ข้ามไป

ลูกเหมือนสมุดบันทึกผมนะ ถ้าจะมีใครสักคนบนโลกนี้ที่รู้จักผมลึกที่สุดคนหนึ่งที่รู้ทั้งรายละเอียดและความลึกซึ้ง น่าจะเป็นลูกสาวผม

 

อะไรที่ทำให้คุณเลือกที่จะเก็บความทรงจำไว้กับลูก

สมบัติ : ต้องให้ลำธารบอก

ลำธาร : เพราะว่าพ่อมีความเชื่อเรื่องพ่อลูกว่าความสัมพันธ์พ่อลูกมันเป็นสิ่งที่ตัดกันไม่ได้ มีดีเอ็นเอลิงก์กันอยู่ ใช่หรือเปล่าไม่แน่ใจ (หัวเราะ) เราว่าพ่อมีความเชื่อว่าถ้าเกิดว่าฉันตายไป อย่างน้อยต้นไม้ที่ฉันปลูกก็งอกเงย

สมบัติ : ใช่ ถูกต้อง (ยิ้ม)

ลำธาร : ยิ่งหน้าตาเหมือนกันด้วยนะ (หัวเราะ)

สมบัติ : หน้าตาไม่เท่าไหร่ ผมเชื่อว่ามันเป็นพันธกิจของอารยธรรม แล้วผมเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรม การมีลูกเป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าผมไม่มีลูก ผมต้องหาใครสักคนที่ผมจะสร้างให้เหมือนลูกเลย

มุมของผมคือมนุษย์สุดท้ายมันจบใช่ไหม ลาจากโลกไป แต่คุณค่ามันลึกซึ้งนะ ความคิดมันมีชีวิตต่อไปได้ แม้ว่าเราจะดับสูญไปแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว เป็นสายธารอารยธรรมที่ผมรู้สึกดี มันเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงได้ถึงอนาคตทั้งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ผมสัมผัสเรื่องพวกนี้ได้

 

แต่งานที่คุณทำ คุณค่าที่เกิดขึ้นก็แพร่กระจายไปทั่วสังคม ทำไมต้องฝากไว้กับลูก

สมบัติ : ผมไม่คิดว่าใครจะสามารถเป็นผมได้มากกว่าที่ลูกผมเป็น ต่อให้เขาไม่ได้เป็นแบบที่ผมเป็น ผมก็ให้เขาเป็นแบบที่เขาเป็นนั่นแหละ แต่ว่านั่นคือผมแล้วนะ เป็นผมในเวอร์ชันของลูก เขาอาจจะบอกว่านี่คือพ่อในเวอร์ชันเขา หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้ว แต่ผมอิ่มเอิบกับลูกมาก

ลำธาร : ไม่มีความกดดันเลยเนอะ (ยิ้ม)

 

ลำธารรู้สึกต้องแบกความหวังจากพ่อไว้ไหม

ลำธาร : รู้สึกนะ แต่ไม่ใช่ไม่อยากแบก เราเองก็อยากแบกด้วย ไม่รู้จะอธิบายยังไง มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าสำคัญ และเพราะว่าเราเชื่อความคิดแบบพ่อด้วย

สมบัติ : เป็นอย่างที่ลูกเป็นนั่นแหละ นั่นคือสิ่งที่เป็นผมแล้ว ผมไม่รู้จะพูดยังไง เขาไม่จำเป็นต้องเป็นแบบผม เพราะว่าเขาเป็นผมในเวอร์ชันของเขาแล้ว

ผมก็ไม่เหมือนพ่อผมนะ โดยเฉพาะในมิติการเมืองสังคม แต่ผมเหมือนพ่อในเรื่องคุณธรรมบางอย่าง ผมได้คุณธรรมมาจากพ่อเยอะมาก ผมมีอาที่พิการ ที่ลูกห้าคนต้องช่วยดูแล เขาต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อจะดูแลครอบครัวหลายชีวิต ผมทึ่งมาก คนหนึ่งเป็นดาวน์ซินโดรมที่ทำอะไรผิดพลาดอยู่ตลอดเลย แต่พ่อก็สอนผมเรื่องนี้ เรื่องความผิดพลาดของชีวิต คนที่ไม่สมบูรณ์ คนทั่วไปไม่รู้จักพ่อผมหรอก เขารู้จักผมมากกว่าใช่มั้ย แต่ผมอยากจะบอกว่าคุณธรรมบางเรื่องของผมก็คือพ่อผมเองที่อยู่ในตัวผม

 

บางครอบครัว พ่อแม่เป็นคนเดือนตุลาฯ แต่พยายามให้ลูกมีชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่อยากเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ ความทุกข์ของคนรุ่นพ่อแม่ไม่ควรเป็นความทุกข์ของรุ่นลูก ลำธารมองเรื่องนี้ยังไง

ลำธาร : ทั้งพ่อและแม่เราเป็นคนรุ่นพฤษภา 2535 แม่เขาเล่าเหตุการณ์ให้ฟังแล้วย้ำว่าแม่ไม่อยากให้เราไปม็อบแล้วถูกทำร้าย แต่การที่แม่เล่าให้ฟังว่าแม่เจออะไรมาบ้าง มันทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะมีความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่มันไม่ยุติธรรม เรารู้สึกว่าถ้าครอบครัวเราเจอมาแบบนี้ ไม่มีทางที่เราจะปล่อยผ่านได้เลย เราเชื่อว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้ เชื่อว่าถ้าเกิดเรื่องพวกนี้แล้วไม่มีกระบวนการยุติธรรม มันก็เกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

 

หลายคนรู้สึกว่าเหตุการณ์ทางการเมืองตอนนี้เป็น coming of age ของหลายๆ คน คุณสมบัติมองปรากฏการณ์นี้ยังไง เป็นเรื่องที่หนักไปไหม

สมบัติ : เป็นภารกิจที่หนักมากเลย ผมชอบคำของเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ที่เขาเคยปราศรัยว่าเราได้ยืนอยู่เบื้องหน้าต่อภารกิจทางประวัติศาสตร์ ขอให้เราภูมิใจที่จะต่อสู้ เพราะนี่เป็นภารกิจของยุคสมัยของเรา

คือคนรุ่นก่อนเขามีภารกิจของเขาที่จะต้องขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็แล้วแต่ แต่เวลานี้เป็นเวลาของคนหนุ่มสาวแล้ว

ลำธาร : เราไม่คิดว่าการ coming of age กับเหตุการณ์ทางการเมืองจะหนักเกินไป การเมืองไม่ควรเป็นคำว่าเกินไป ดีด้วยซ้ำ เพราะมันจะเป็น coming of age ที่ meaningful มากกว่าเป็น coming of age ธรรมดา เรารู้สึกว่าการเมืองควรจะอยู่ในการเติบโตทุกระดับ มันควรจะเริ่มตั้งแต่อนุบาล แต่สังคมไทยอาจจะรู้สึกว่าความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นเรื่องหนักเกินไป ซึ่งเราไม่เห็นด้วย

สมบัติ : คนเรามันต้องหลุด หลุดจากภาวะอุดตันในท่อ เหมือนน้ำ ถ้ามันเกิดสิ่งอุดตันอยู่ มันต้องทะลวง เมื่อทะลวงไปได้น้ำก็จะไหลไป สังคมก็เหมือนกัน

 

เวลาที่สังคมกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า แล้วเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ จะร่วมภารกิจอย่างไรก็แล้วแต่ คำถามคือนอกจากครอบครัวที่จะร่วมกันทำภารกิจแล้ว ในมุมกลับครอบครัวเป็นอุปสรรคไหม

ลำธาร : ก็อาจจะเป็นอุปสรรคในแง่ที่ว่าถ้าพ่ออยากฮาร์ดคอร์ก็คงทำไม่ได้ ครอบครัวจะโดนคุกคาม ถ้าเกิดคนไม่มีครอบครัว ไม่มีชุมชน ไม่มีคนซัปพอร์ตเลย มันก็ไม่มีพลังในการขับเคลื่อนชีวิต

สมบัติ : ครอบครัวเป็นเงื่อนไขหนึ่ง แล้วก็เป็นหน้าที่ด้วย จะตัดไปเลยก็ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวของแต่ละครอบครัวเป็นอย่างไร ถ้าครอบครัวผม เราไม่มีทางตัดกันได้

ในมิติหนึ่งที่เรียกว่าอุปสรรคก็เพราะเป็นหน้าที่ แต่เป็นหน้าที่ที่มีคุณค่า เป็นความภูมิใจ เป็นความสุข ผมรู้สึกสมบูรณ์ขึ้นในการมีหน้าที่ของมนุษย์ตรงนี้

ลำธาร : เราคิดเหมือนพ่อนะ มันไม่ใช่อุปสรรคทั้งหมด แต่ก็ต้องย้ำประเด็นว่าครอบครัวแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราคิดว่าคำว่าครอบครัวมันเป็นได้หลายอย่าง มันเป็นทั้งพ่อลูกแท้ พ่อลูกปลอมก็ได้ เพื่อนยังได้เลย เพราะเราโตขึ้นเรายิ่งเห็นว่า ประเด็นครอบครัวที่สังคมไทยพยายามตีกรอบมันสร้างผลเสียกับคนมากกว่า เช่น บอกว่าลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ทั้งที่ควรเป็นเรื่องการรับฟังกันทุกฝ่ายมากกว่า

 

นอกจากความภาคภูมิใจและเคารพในคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองตอนนี้ คุณสมบัติมีอะไรที่รู้สึกเป็นห่วงอีกบ้างไหม

สมบัติ : การผลิตในยุคใหม่มันทั้งก้าวหน้าและสปีดสูงมาก ผมคิดว่ามันจะเริ่มทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ และจะถีบรูปแบบการผลิตหรือการรับรู้ของคนรุ่นเก่าที่ไม่เรียนรู้ตามให้ตกไป

ผมไม่ได้แปลว่าคนรุ่นเก่าล้าหลังทั้งหมดนะ แต่มันมีคนรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งที่ไม่เรียนรู้ แล้วเขาจะรู้สึกถึงความห่างไกลนี้ เขาเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกด้อยค่าลงเรื่อยๆ

เวลามีคนมาบอกว่าเด็กพวกนี้ยังแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่ ผมจะบอกว่าที่เขาต้องทำแบบนั้น เพราะเขาพยายามไปเรียนรู้เพื่อที่จะสร้างผลผลิตเพื่อมาดูแลพ่อแม่ในอนาคต ซึ่งมันเป็นภาระอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าในสังคมสูงอายุ มันไม่ใช่แค่เรื่องคนตายเท่านั้นนะ แต่จะมีคนจำนวนมากที่ไม่ปรับตัวและกลายเป็นภาระของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก นอกจากเขาจะต้องคิดถึงอนาคตตัวเองแล้วต้องมาดูแลอนาคตของพ่อแม่ด้วย ผมเห็นใจมาก

 

อนาคตถ้าพ่อป่วยนอนติดเตียง ลำธารรับไหวไหม

ลำธาร : ไหวค่ะ

สมบัติ : สงสารลูกมากเลย ผมกำลังหาวิธีการอยู่ว่าจะทำยังไงกับเรื่องนี้

ลำธาร : ต่อให้เครียดแล้วจะยังไงล่ะ ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะแค่ครอบครัว มันเป็นความรับผิดชอบของทั้งสังคม

สมบัติ : ใช่ มันใหญ่กว่าครอบครัวมาก มันต้องใช้ชุมชนหรือสังคม

 

แล้วถ้าวันนึงพ่อเอาขี้ไปปาใส่ทำเนียบโดยไม่ปรึกษาก่อน ลำธารรับได้ไหม

ลำธาร : รับได้ค่ะ เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ไม่มีปัญหา (หัวเราะ)

สมบัติ : ลูกชอบเลย พ่อคิดได้ยังไง หนูประทับใจมากเลย

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save