fbpx
Paradox of Repression: ยิ่งกดขี่ปราบปราม ขบวนการประชาชนก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวและเติบโต

Paradox of Repression: ยิ่งกดขี่ปราบปราม ขบวนการประชาชนก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวและเติบโต

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สภาวะความขัดแย้งทางการเมืองของไทยกำลังเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เรียกร้องให้ 1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ ลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ภาคประชาชนมีส่วนอย่างแท้จริง และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลและกลุ่มคนในอำนาจไม่เพียงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ยังตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุมด้วยมาตรการกดขี่และปราบปรามหลากหลายรูปแบบ ทั้งการดำเนินคดี ‘ข้อหาทางการเมือง’ กับแกนนำในการชุมนุม ตลอดจนใช้ ‘วิธีการนอกกฎหมาย’ อื่นๆ เช่น การไปเยี่ยมบ้านคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ การโทรศัพท์ติดตามตัวแกนนำและผู้ชุมนุมหรือครอบครัวของพวกเขา รวมทั้งการถ่ายรูปและขอดูบัตรประจำตัวประชาชนของบรรดาผู้เข้าร่วมการชุมนุม

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าช่วงเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่กลุ่มเยาวชนปลดแอกเริ่มจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม มีการคุกคามติดตาม รวมถึงการดำเนินคดีกับประชาชนมากถึง 179 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน 29 คนและนักศึกษาจำนวน 25 คน บางรายถูกคุกคามซ้ำโดยเจ้าหน้าที่หลายครั้งตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา[1] แม้จะยังไม่มีการเผยแพร่สถิติการคุกคามกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงเวลาหลังจากนั้น แต่เราสามารถรับรู้ผ่านรายงานของสื่อต่างๆ ได้ว่าการข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

 

ผลสะท้อนกลับของการกดขี่ปราบปรามตรงกันข้ามกับที่ผู้กดขี่คาดหวัง

 

รัฐบาลและกลุ่มคนในอำนาจย่อมคาดหวังว่าการกดขี่ปราบปรามด้วยวิธีการทั้งในและนอกกฎหมายเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลแก่กลุ่มผู้ชุมนุม นั่นคือทำให้หวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยจนไม่กล้าเอาตัวเองมาเสี่ยงและต้องล้มเลิกความพยายามที่จะต่อต้านรัฐบาลไปในที่สุด

ทว่าการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั่วโลก โดยเฉพาะที่รวบรวมและวิเคราะห์ไว้ในหนังสือ The Paradox of Repression and Nonviolent Movements ที่มี Lester R. Kurtz และ Lee A. Smithey เป็นบรรณาธิการ[2] กลับพบว่าการข่มขู่คุกคามขบวนการประชาชนโดยรัฐ โดยเฉพาะที่กระทำต่อขบวนการที่ยึดมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรง มักไม่ได้นำไปสู่ผลตามที่ผู้กดขี่คาดหวัง แต่เกิดผลสะท้อนกลับในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือขบวนการประชาชนยิ่งเข้มแข็งและเติบโต กระทั่งการคุกคามของรัฐต่อประชาชนนั้นอาจย้อนกลับมาบั่นทอนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเองในที่สุด

แม้นักวิชาการที่ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนหนึ่งจะถกเถียงว่าการกดขี่ปราบปรามขบวนการประชาชนสัมฤทธิ์ผลได้ในบางลักษณะ นั่นคือการกดขี่ปราบปรามโดยรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสามารถป้องปรามการต่อต้านจากประชาชนได้[3] หรือมีประสิทธิภาพกับขบวนการประชาชนที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมไม่มากนัก[4] งานศึกษาอีกไม่น้อยกลับพบว่าการกดขี่ปราบปรามที่เข้มข้นรุนแรงมีแนวโน้มจะทำให้ขบวนการประชาชนยิ่งเข้มแข็งและเติบโตมากขึ้น[5] อันเป็นผลมาจากพลวัตที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการประชาชนโดยตรงและ ‘ฝ่ายที่สาม’ อันได้แก่ บุคคลและกลุ่มบุคคลในสังคมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการประชาชน

 

การกดขี่ปราบปรามตอกย้ำว่ารัฐไม่ชอบธรรม

 

ในทางหนึ่ง การกดขี่ปราบปรามที่รัฐหวังจะก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวในหมู่ประชาชนจนต้องล้มเลิกความพยายามที่จะต่อต้านรัฐไป กลับทำให้สมาชิกของขบวนการประชาชนจำนวนไม่น้อยยิ่งมีความมุ่งมั่นและหนักแน่นในการต่อสู้ของตนมากขึ้น เพราะการกดขี่ปราบปรามดังกล่าวตอกย้ำถึงการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบธรรม ถือเป็นการละเมิดพันธกิจพื้นฐานของรัฐในการรับประกันความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตและร่างกายของประชาชน แม้ว่าเธอหรือเขาเหล่านั้นจะมีความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองที่ขัดแย้งแตกต่างจากกลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจรัฐในห้วงเวลานั้นๆ อยู่ก็ตาม

ในแง่นี้การข่มขู่คุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่จึงตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ขบวนการประชาชนจะต่อต้านอำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรมให้สำเร็จลุล่วง ดังสะท้อนอย่างชัดเจนในข้อความที่อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนและแกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เขียนถึงผู้ชุมนุม หลังจากศาลอาญามีคำสั่งถอนการประกันตัว ทำให้เขาต้องถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ในวันที่ 3 กันยายน 2563 ข้อความดังกล่าวมีเนื้อความว่า “ให้การขังผมในวันนี้เป็นใบเสร็จของการคุกคามประชาชน 19 ก.ย. 63 ไปเอาคืน”[6] และ “ยินดีที่ได้ต่อสู้กับทุกคน เราเดินมาไกล จงเดินต่ออย่างกล้าหาญ หน้าที่นอกคุกของผมจบแล้ว ขอเดิมพันทั้งหมดเพื่อการเปลี่ยนแปลง 19 กันยายนนี้ ช่วยยืนยันว่าเรามาถูกทางแล้ว เชื่อมั่นในทุกคน”[7]

 

‘เหยื่อ’ ของการปราบปรามเป็นเพื่อนพี่น้องของใครบางคน

 

การกดขี่ปราบปรามของรัฐในหลายกรณียังส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายในหมู่ประชาชน เหยื่อของการปราบปรามเหล่านั้นย่อมเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของใครบางคน ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของหลายคนไม่จำกัดอยู่แค่การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตนเองแต่เพียงลำพังอีกต่อไป แต่กลายเป็นพันธกิจที่สมาชิกครอบครัวและสมาชิกคนอื่นๆ ในขบวนการประชาชนเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่เหยื่อ ทั้งยังอาจเป็นการสานต่อความหวังและความฝันของเหยื่อจากการปราบปรามของรัฐต่อไปด้วย

หลังการเสียชีวิตของลูกชายในวัยเพียง 17 ปีจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือที่มักรู้จักกันว่า ‘พ่อน้องเฌอ’ เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อทวงถามความยุติธรรมให้กับลูกชาย กระทั่งถูกดำเนินคดีและถูก ‘อุ้ม’ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่า พันธ์ศักดิ์บอกว่าเขายังจะต่อสู้ต่อไป “เพราะความยุติธรรมมันยังมาไม่ถึง และมันจะถูกทำให้หายไป เราเลยจำเป็นต้องสู้เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ เราต้องมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เพราะรัฐไม่ได้เปิดกว้างที่จะฟังความคิดเห็นของประชาชน มันต้องการความสงบ เป็นความสงบราบคาบ ไม่ใช่ความสงบเรียบร้อย”[8]

ในทำนองเดียวกัน พะเยาว์ อัคฮาด หรือ ‘แม่น้องเกด’ ผู้สูญเสียลูกสาวซึ่งทำงานเป็นพยาบาลอาสาในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดียวกัน ก็ผันตัวเองมาเป็นนักกิจกรรมคนสำคัญจากที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่ารูกระสุนที่พรากลูกสาวอันเป็นที่รักไปจากเธอ ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดทางการเมืองไปโดยสิ้นเชิง “จากที่เป็นแม่ค้าขายดอกไม้ ทำให้พลิกตัวเอง ลูกฉันถูกฆ่าตายนะ แล้วยังถูกหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอีก…พวกคนที่สั่งฆ่าทุกวันนี้ก็ยังลอยนวล มันเป็นความเจ็บปวดของคนที่ได้รับผลกระทบ”[9]

 

‘ฝ่ายที่สาม’ หันมาเห็นอกเห็นใจผู้ถูกกดขี่ปราบปราม

 

นอกเหนือไปจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการประชาชนโดยตรงแล้ว การกดขี่ปราบปรามของรัฐโดยเฉพาะกับกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงยังอาจส่งผลต่อ ‘ฝ่ายที่สาม’ ซึ่งหมายถึง บุคคลและกลุ่มบุคคลที่อยู่นอกขบวนการด้วย

Gene Sharp ผู้ศึกษาและเผยแพร่แนวทางต่อต้านเผด็จการด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงคนสำคัญของโลกอธิบายว่า การกดขี่ปราบปรามขบวนการประชาชนที่ยึดมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรงสามารถปลุกมโนธรรมสำนึกของผู้คนในสังคมให้ตระหนักว่ารัฐกำลังใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ผู้คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กระทั่งอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากขบวนการประชาชน เปลี่ยนมาเห็นอกเห็นใจและให้การสนับสนุนเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ พร้อมกับถอนความสนับสนุนจากรัฐที่ใช้มาตรการกดขี่และปราบปรามประชาชนได้

แม้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าการข่มขู่คุกคามแกนนำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยของการเติบโตของขบวนการประชาชน มีรายงานว่าการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนผู้เข้าร่วมเพียง 2,367 คน[10] ขณะที่การชุมนุมในวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งจัดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจาก ‘เพนกวิน’ หรือพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ถูก ‘อุ้มตัว’ ไปดำเนินคดี มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็นกว่าสองหมื่นคน[11]

หลังจากนั้นการข่มขู่คุกคามแกนนำและผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกประกาศไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน อาจมีส่วนช่วย ‘เรียกแขก’ ทำให้มีผู้คนออกมาร่วมชุมนุมกว่าแสนคน[12] ยิ่งไปกว่านั้น ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อและรับรู้กันอย่างทั่วถึง การกดขี่ปราบปรามประชาชนย่อมถูกจับจ้องจากทั้งรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจต่างชาติ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นคุณค่าสากล และย่อมส่งผลบั่นทอนความน่าเชื่อถือและชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาของรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจต่างชาติ

 

การกดขี่ปราบปรามย้อนกลับมาบั่นทอนทำลายความชอบธรรมของผู้กดขี่

 

เหนือสิ่งอื่นใด รัฐและผู้ปกครองจะมั่นคงในอำนาจอยู่ได้ก็ด้วยความเห็นชอบและการสนับสนุนจากประชาชน รวมถึงการยอมรับจากประชาคมโลก หากการกดขี่ปราบปรามที่กลุ่มคนในอำนาจคาดหวังจะทำให้ขบวนการประชาชนหวาดกลัวจนล้มเลิกความพยายามจะต่อต้านท้าทายอำนาจของตน อาจส่งผลสะท้อนกลับในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือสมาชิกของขบวนการประชาชนยิ่งหนักแน่นเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ของตนมากขึ้น ด้วยการกดขี่ปราบปรามนั้นตอกย้ำถึงการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของผู้ปกครอง

ยิ่งไปกว่านั้น การกดขี่ปราบปรามขบวนการประชาชนที่ยึดมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรงอาจทำให้ ‘ฝ่ายที่สาม’ ทั้งที่เป็นประชาชนในประเทศและประชาคมโลกเปลี่ยนมาเห็นอกเห็นใจเหยื่อและถอนความสนับสนุนจากรัฐผู้ที่กดขี่ปราบปรามประชาชน กระทั่งอำนาจของผู้กดขี่นั้นต้องสั่นคลอนในที่สุด

 

 


อ้างอิง

[1] “ศูนย์ทนายฯ เปิดตัวเลขการคุกคามเกือบ 3 เดือน 179 คน ดำเนินคดีอีก 23 คดี” (13 ตุลาคม 2563), ประชาไท, เข้าถึงเมื่อ 13 ตุลาคม 2563.

[2] Lester R. Kurtz และ Lee A. Smithey (Eds.), The Paradox of Repression and Nonviolent Movements. (New York: Syracuse University Press, 2018).

[3] Charles Tilly, From Mobilization to Revolution. (New York: Western Societies Occasional Paper No.21, 1978).

[4] Ted Robert Gurr, Why Men Rebel. (Princeton: Princeton University Press, 1970).

[5] Jeff Goodwin and James M. Jasper, Contention in Context: Political Opportunities and the Emergence of Protest. (Stanford, CA: Stanford University Press, 2012).

[6] อานนท์ นำภา, (3 กันยายน 2563), เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2563.

[7] อานนท์ นำภา, (3 กันยายน 2563), เข้าถึงเมื่อ 9 ตุลาคม 2563.

[8] ธิติ มีแต้ม, “บันทึก Father And Son ‘พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ’ ที่ไปไกลกว่า ‘เฌอ’” (15 พฤษภาคม 2563), The 101 World, เข้าถึงเมื่อ10 ตุลาคม 2563.

[9] สันติสุข กาญจนประกร และอนุชิต นิ่มตลุง, “พะเยาว์ อัคฮาด: ขอเผด็จการจงพ่ายแพ้แก่ความรักของแม่” (16 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงเมื่อ10 ตุลาคม 2563.

[10] จำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลโดยแกนนำในการชุมนุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เพียง 500 คน ดู “”เยาวชนปลดแอก” ยุติการชุมนุมก่อนเที่ยงคืน อ้างความปลอดภัย สรุปบรรยากาศจากเริ่มจนจบ” (18 กรกฎาคม 2563), BBC News, เข้าถึงเมื่อ 12 ตุลาคม 2563

[11] “สื่อทั่วโลกจับตาการประท้วงใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอก ชี้ผู้ร่วมชุมนุมหลักหมื่น มากสุดนับตั้งแต่รัฐประหาร” (17 สิงหาคม 2563), Line Today, เข้าถึงเมื่อ 12 ตุลาคม 2563

[12] แกนนำผู้ชุมนุมประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมช่วงสูงที่สุดถึงกว่าสองแสนคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่าไม่เกินห้าหมื่นคน ดู “ชุมนุม 19 กันยา : มวลชนเสื้อแดงร่วมเยาวชนรวมตัวล้นสนามหลวง แกนนำย้ำประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” (18 กรกฎาคม 2563), BBC News, เข้าถึงเมื่อ 12 ตุลาคม 2563

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save