fbpx
‘เกษียร เตชะพีระ’ มองการเมืองไทยยุคหลังฉันทมติภูมิพล

‘เกษียร เตชะพีระ’ มองการเมืองไทยยุคหลังฉันทมติภูมิพล

วจนา วรรลยางกูร และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

 

ท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญมากมายที่เกิดขึ้นในปี 2563 ภาพจำหนึ่งที่สำคัญของช่วงเวลานี้คือการเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อมีการประท้วงของผู้คนมหาศาล โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ แต่ยังมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทำให้การตั้งคำถามต่อเรื่องนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง

เพียงสี่ปีหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงจนถึงวันที่เกิดสัญญาณว่าสถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวเพื่อให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยอย่างได้รับการยอมรับทั้งจากในและนอกประเทศ

การใช้อำนาจกดปราบไม่อาจเป็นทางออกของความขัดแย้ง และมีแต่จะเร่งให้ความไม่พอใจขยายตัว ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องเผชิญความจริงและทำความเข้าใจมวลอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า ก่อนความคับแค้นจะปะทุ

เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเสนอคำว่า The Bhumibol Consensus หรือ ฉันทมติภูมิพล เพื่ออธิบายวิถีการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะสมัยใหม่แบบไทยๆ ที่ผสานเข้ากับฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยม ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง อุดมการณ์ และศาสนา โดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นประหนึ่งอนุญาโตตุลาการสุดท้ายในยามเกิดความแตกต่างขัดแย้ง

ปัจจุบันในยุคหลังฉันทมติภูมิพล ท่ามกลางภาวะที่ไม่มีอำนาจนำทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับในแง่ความชอบธรรม เสียงเรียกร้องอันหนักแน่นของผู้ประท้วงส่งตรงไปถึงสถาบันกษัตริย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่การเมืองในระบบไม่สามารถเป็นความหวังในการตอบสนองข้อเรียกร้องเหล่านั้นได้

101 สนทนากับ เกษียร เตชะพีระ เพื่อทำความเข้าใจภูมิทัศน์การเมืองไทยที่เปลี่ยนไปในยุคหลังฉันทมติภูมิพล และความสุ่มเสี่ยงด้านต่างๆ ที่สังคมกำลังเผชิญ

 

เกษียร เตชะพีระ

 


จากการประท้วงของคนรุ่นใหม่ที่นำไปสู่ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อาจารย์มองภาพกว้างของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

ผมขอแยกมองภาพรวมของสถานการณ์ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือภาครัฐ อีกส่วนคือการเมืองของฝ่ายค้าน

ในส่วนภาครัฐ ถ้าเริ่มจากระเบียบการเมืองไทยช่วงปลายรัชกาลที่ 9 เรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หัวใจคือสถาบันพระมหากษัตริย์ (monarchy) บวกกับประชาธิปไตย (democracy) แล้วผนึกอยู่รวมกันได้ในเงื่อนไขทางอำนาจนำที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 9

สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ ซึ่งความจริงก็เกิดมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ คสช. ทำให้ชัดยิ่งขึ้น คือการแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยให้ห่างจากกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ระเบียบการเมืองที่ คสช. ต้องการเป็นระเบียบการเมืองแบบเผด็จการ ไม่ต้องการทั้งสิทธิเสรีภาพแบบเสรีนิยมและอำนาจการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย มีการกระทำหลายอย่างเพื่อลิดรอนเสรีนิยมและประชาธิปไตยโดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ผลทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาอยู่ในวิถีวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองเดียวกับรัฐบาล พอคุณประยุทธ์บริหารไปในทิศทางที่เป็นเผด็จการมากขึ้น ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมากขึ้น การวิจารณ์คุณประยุทธ์จึงอยู่ในวิถีเดียวกับการวิจารณ์การเมืองที่ขึ้นไปถึงพระมหากษัตริย์ นั่นเป็นสภาพที่ผมคิดว่าน่าเป็นห่วง

มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วง คสช. มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันทำให้ความห่างระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยไปถึงขั้นที่พูดได้ว่าเราอยู่ในระบอบที่เป็น ‘virtual absolutism’ คือระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์เสมือน ยังไม่ใช่ระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์จริง

ระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์เป็นระบอบที่มีอำนาจสมบูรณ์ ไม่เคารพสิทธิในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์ที่เผด็จการทหารเป็นผู้ปกครองแบบ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์ที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองอย่างสมัยก่อน 2475

ตอนนี้เป็น absolutism แต่ไม่ปรากฏประจักษ์ชัดในตัวบทกฎหมาย ผมเลยเรียกว่า virtual absolutism นี่คือภาพรวมทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน วิธีใช้อำนาจของรัฐบาลอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินสถานการณ์ร้ายแรงล่าสุดก็มาในลักษณะ absolutism คือเอาอำนาจความมั่นคงการปราบปรามขึ้นหน้า เอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ข้างหลังเสมอ

ส่วนในฝั่งฝ่ายค้าน ตอนนี้สังเกตเห็นบรรยากาศและจังหวะก้าวที่แตกต่างกันของการเมืองในระบบ การเมืองภาคประชาชน และการเมืองวัฒนธรรม เมื่อการเมืองในระบบเป็น ‘ปฏิกิริยา’ การเมืองภาคประชาชนเป็น ‘ปฏิรูป’ แต่การเมืองวัฒนธรรมเป็น ‘ปฏิวัติ’ ไปแล้ว

การเมืองในระบบ คือ กลไกตุลาการ กลไกบริหาร กลไกนิติบัญญัติ จากการบิดเบือนฉวยใช้อำนาจในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมาในความขัดแย้งทางเสื้อสีจนมาถึงสมัย คสช. สถาบันเหล่านี้เปื่อยยุ่ยหมดแล้ว สิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมไม่ยุติธรรม สิ่งที่เรียกว่าอำนาจประชาชนไม่ใช่อำนาจประชาชน ทุกคนเห็นตัวอย่างกันมากมาย ล่าสุดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทำให้เห็นว่าเสียงข้างมากในสภายังเป็นปฏิกิริยา คือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

การเมืองภาคประชาชน ข้อเรียกร้องจากกลุ่มการเมืองนอกสภาที่รับไม่ได้กับเผด็จการแบบ คสช. ต้องการให้เกิดการปฏิรูป ข้อเรียกร้องที่ไปไกลที่สุดก็ยังต้องการระบอบที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่ประชาธิปไตย เป็นการเมืองแบบปฏิรูป ที่ชัดเจนคือ 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 2563

ขณะเดียวกันการเมืองวัฒนธรรมเป็นแบบปฏิวัติไปแล้ว ตอนเห็นป้าย “เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ” ผมตกใจเลย เพราะการปฏิวัติมันกระทบกระเทือนคนจำนวนมาก แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาในระยะที่ผ่านมาเป็นการทะลุกรอบจำกัดของระเบียบความคิดเดิม อุดมการณ์เดิม อำนาจนำเดิม ดังนั้นในแง่วัฒนธรรมและอุดมการณ์ไปไกลกว่าข้อเรียกร้องแบบปฏิรูปของการเมืองภาคประชาชน

มันมีปัญหาเพราะการเมืองสามแบบนี้มีตรรกะกฎเกณฑ์คนละอย่าง การเมืองในระบบโดยเฉพาะในสภาคือศิลปะของความเป็นไปได้ (the art of the possible) การสร้างเสียงข้างมากขึ้นมาแม้กระทั่งจากฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่ง ส.ว. และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณต้องการ เกมการเมืองในสภาคือการสร้างพันธมิตรทางการเมืองและการสร้างเสียงข้างมาก ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร

ส่วนการเมืองภาคประชาชนมีจุดสำคัญคือการรวมคนให้ได้มากที่สุดและเหลือคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามน้อยที่สุด ต้องมีเป้าที่ชัดเจน เป็นเส้นค่อนข้างชัดเจนในเชิงอุดมการณ์ ต่างจากในสภาที่มีชักเท้าเข้า-ออก เปลี่ยนแนวร่วมไปเรื่อยๆ

ขณะที่การเมืองวัฒนธรรม ศัตรูมันอยู่ข้างในคุณ คือความคิดของคุณเอง เรื่องวัฒนธรรมอุดมการณ์แทรกซึมอยู่ในวิธีคิด ในสถาบันสังคม และอยู่ในหัวคุณด้วย

ตอนนี้การเมืองในระบบเป็นปฏิกิริยา การเมืองภาคประชาชนเป็นปฏิรูป การเมืองวัฒนธรรมเป็นปฏิวัติ จังหวะก้าวไม่ไปพร้อมกัน มันขัดแย้งกัน ซึ่งการเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบที่ผ่านมาแสดงออกว่าข้อคิดทางด้านการเมืองวัฒนธรรมทะลุเพดานไปแล้ว คุณกำลังทำเกมการเมืองภาคประชาชน แต่มีชิ้นส่วนองค์ประกอบของการเมืองวัฒนธรรมที่ทะลุไปแล้วด้วย คุณจะประสานสองสิ่งนี้เข้าหากันให้ได้ยังไง แล้วคุณจะประสานการเคลื่อนไหวเข้าไปในระบบที่เป็นปฏิกิริยายังไง ผมนั่งคิดว่าทั้งสามอย่างนี้จะไปด้วยกันยังไง ยังปวดหัวเลย

 

ขณะที่ระเบียบอำนาจของ คสช. ผลักให้ ‘สถาบันกษัตริย์’ กับ ‘ประชาธิปไตย’ แยกออกจากกัน แต่โดยหลักการแล้วระเบียบอำนาจสองแบบนี้อยู่ด้วยกันได้หรือในสภาวะธรรมชาติ

โดยหลักการพื้นฐานทางปรัชญาการเมืองและทฤษฎีการเมือง สองอย่างนี้เป็นระเบียบการปกครองที่ไม่เหมือนกัน ไม่น่าจะไปด้วยกัน แต่การเมืองไทยมีการประนีประนอมซึ่งเกิดขึ้นได้ภายใต้สองเงื่อนไข 1. การปฏิวัติประชาธิปไตยไปไม่ถึงที่สุด ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ 2. พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจนำ ทำให้สามารถประคองสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยให้อยู่ร่วมกันได้ในเงื่อนไขที่มั่นคงพอสมควร แต่พอคุณทำให้ห่างออกจากกัน คุณทำให้เผด็จการเข้าใกล้พระมหากษัตริย์ยิ่งขึ้น ทำให้พระมหากษัตริย์ห่างจากระเบียบหลักการประชาธิปไตยยิ่งขึ้น อันนี้ยุ่งแล้ว

 

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดภาวะที่การเมืองภาคประชาชนเป็นปฏิรูป ส่วนการเมืองวัฒนธรรมทะลุเพดานไปแล้ว

ใครที่ทำให้เกิดข้อสรุปจนมีป้าย “เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ” คำตอบคือ “คสช. – พวกท่านนั่นแหละ” คสช.ทำให้คนเข้าใจว่าปัญหาของทั้งระบอบเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือถ้าคุณจะแก้ปัญหาความอยุติธรรมหนึ่งประเด็นได้ คุณต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นไม่สามารถคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าได้ พวกนักเรียนนักศึกษาเจอปัญหานี้แล้วเชื่อมโยงได้เร็ว เพราะ 6 ปีของการปกครองโดย คสช. และรัฐบาลประยุทธ์ทำให้เห็นว่าอำนาจอยุติธรรมทั้งระบบผนึกเป็นก้อนเดียวกัน ไม่ต้องมีความรอบรู้เข้าใจทฤษฎีอะไร เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในข่าวตลอด 6 ปีที่ผ่านมา การซ่อมนักเรียนนายร้อยทหาร การปกปิดคอร์รัปชันที่เห็นกันโจ่งแจ้งต่างๆ มันโยงกันทั้งระบบ คุณทำให้คนเห็นว่าปัญหามันเป็นแท่งเดียวกัน

 

เกษียร เตชะพีระ

 

เด็กรุ่นใหม่เห็นปัญหาทางการเมืองผนึกเป็นแท่งจนออกมาเป็นข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วบอกว่านี่คือใจกลางของปัญหา ข้อสรุปและข้อเรียกร้องแบบนี้แฟร์ไหม

อยู่ที่ว่าคุณเข้าใจคำว่าบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์แค่ไหน คำที่ดีที่สุดในทางวิชาการที่ผมเคยได้ยินคือ ‘เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์’ (network monarchy) ซึ่งเป็นคำที่ศาสตราจารย์ดันแคน แมคคาโก ใช้อธิบายบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทย กล่าวคือ เราไม่ได้พูดถึงแค่ตัวบุคคล ไม่ได้พูดถึงแค่สถาบันกษัตริย์ แต่พูดถึงเครือข่ายที่แผ่กว้างมากและมีระเบียบอยู่กับเครือข่ายนั้น ระเบียบนี้มีทั้งด้านบวกและลบ ผู้คนอยู่กับระเบียบนี้จนคุ้นแล้ว เขารู้ว่าถ้าอยากได้รางวัล ทรัพยากร เกียรติยศศักดิ์ศรี เขาต้องทำอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมาระเบียบนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจ ความชอบธรรม พระบารมี และพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ในช่วง คสช. 5-6 ปีที่ผ่านมากำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เครือข่ายเดิมสลายไป เครือข่ายใหม่ยังไม่ทันสร้าง พระราชอำนาจนำเดิมไม่ได้ดำรงอยู่ แต่ไม่มีอะไรมาทดแทน ตอนนี้เป็นช่วงที่เปราะบางมาก

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีการปรับตัวมาโดยตลอด ถ้าปรับตัวไม่ได้หรือปรับตัวไม่เป็น คงไม่ได้อยู่มานานขนาดนี้ เช่น การปรับรับนักธุรกิจและคนชั้นกลางตอน 14 ตุลาคม 2516 และปรับรับภาคประชาชนรากหญ้าตอนหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คำถามคือในระยะที่ผ่านมามีการปรับไหม ถ้าไม่มีการปรับ ปรับช้า หรือปรับไม่ได้ เป็นเพราะอะไร

 

รัชกาลที่ 9 เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้คน หรือทรงมีพระราชอำนาจนำ ในความหมายที่อาจารย์ใช้ ในยุคหลังรัชกาลที่ 9 ที่คนขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจส่งผลให้สังคมเกิดภาวะแบบไหน

ปัญหาแรก คือภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นระเบียบอำนาจที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว ผู้คนยอมรับระเบียบอำนาจ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ปกแผ่ความชอบธรรมให้กับระเบียบการเมืองนั้น พอพระราชอำนาจนำแบบเดิมไม่ดำรงอยู่แล้ว คำถามคือมีอะไรมาทดแทนไหม ถ้าไม่มีอะไรมาทดแทนก็จะเจอสภาพที่ความชอบธรรมทางการเมืองเสื่อมสลายลง (political delegitimation)

ปัญหาที่สอง คือบทบาทเฉพาะของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านไม่เพียงแต่เป็นที่พึ่งในแง่ความชอบธรรมของรัฐบาลทั้งหลาย ไม่ว่าจะมาจากรัฐประหารหรือการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังมีความหมายในเชิงศีลธรรมสาธารณะ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 สอนว่าเวลาอยู่ในชีวิตสังคมส่วนรวมเราควรยึดหลักอะไรในการประพฤติปฏิบัติ ท่านพูดเรื่องนี้มากที่สุดว่าถ้าคุณกำลังใช้ชีวิตเกี่ยวกับสังคม บ้านเมือง ระบบราชการ คุณควรจะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร มีคนจำนวนมากเชื่อและทำอย่างนั้นจริงๆ เสียสละ ซื่อตรง ไม่คดโกง ยอมปฏิเสธลาภยศสักการะส่วนตัว อาจารย์ท่านหนึ่งที่ไปเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญพูดออกมาด้วยความจริงใจในที่สาธารณะว่าท่านทำเพื่อในหลวง คือในหลวงกับส่วนรวมหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้คนเหล่านี้มีกำลังใจที่จะทำดี

น่าสนใจว่าในช่วงแผ่นดินรัชกาลที่ 9 พระเลิกสอนสิ่งเหล่านี้แล้วหันไปเทศน์เรื่องส่วนตัว อย่าขโมย อย่าโกง อย่าคบชู้สู่ชาย เป็นศีลธรรมส่วนตัว แต่ไม่ค่อยพูดถึงศีลธรรมสาธารณะ มีน้อยรูปที่พูด เช่น พระปัญญานันทภิกขุ พระพยอม กัลยาโณ

ปัญหาคือตอนนี้เกิดสภาพที่เรียกว่า ศีลธรรมสาธารณะล้มละลาย (public moral bankruptcy) มีแต่คนที่พูดถึงความดี-คนดี แต่ไม่มีความดีอยู่จริง เป็นสถานการณ์เดียวกับการพูดถึงความยุติธรรมหรือกฎหมายไม่หยุด แต่ไม่มีความยุติธรรมที่เป็นจริง เกิดสภาพที่สังคมไทยไม่เป็นปึกแผ่นเอกภาพ ไม่มีใครเชื่อว่าใครจะเสียสละจริง เห็นแต่ผู้นำที่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่มีการนำที่ชัดเจนว่าจะพาสังคมไทยไปทางไหน เพราะไม่มีใครสามารถทำให้สังคมเชื่อว่าเขาจะนำพาสังคมไทยไปทางนั้นโดยไม่ได้เริ่มต้นจากผลประโยชน์ส่วนตัว

สังคมไทยประสบวิกฤตทางด้านศีลธรรมสาธารณะ กระเทือนไปถึงเป้าหมายระยะยาวในแง่การนำทางจิตใจของสังคม ไม่ว่าคุณจะซ้าย ขวา สังคมนิยม อนุรักษนิยม ไม่มีใครเชื่อว่าสังคมนี้มีคนดีที่เสียสละและไม่เห็นแก่ส่วนตัว

 

คุณค่าแบบประชาธิปไตยที่ผู้คนสามารถมีส่วนร่วมโดยตรง ไม่ต้องให้ใครมาคอยเสียสละเพื่อส่วนรวม หรือการยึดภราดรภาพเป็นหลักการในการอยู่ร่วมกัน จะทดแทนศีลธรรมสาธารณะแบบเดิมได้ไหม

ผมไม่ได้คิดว่าสองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกันเสียทีเดียว แต่ไม่คิดว่าสองเรื่องนี้ทดแทนกันโดยอัตโนมัติ แม้ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สุด มนุษย์ก็มีความอ่อนแอมากพอ ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราอยากเข้าไปมีส่วนร่วม และไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะไม่ต้องการแบบอย่างอันดี เราอยากได้ ผมคิดว่าเป็นจุดแข็งของระเบียบอำนาจที่ผ่านมาซึ่งสนองสิ่งนี้ให้ได้ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

 

4 ปีที่ผ่านมาส่งผลอย่างไรในหมู่ชนชั้นนำ ยังมีความเป็นกลุ่มก้อนเหมือนในรัชสมัยก่อนไหม

ในช่วงเปลี่ยนรัชกาลมีการถอดรื้อเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์เดิมอย่างมีนัยสำคัญ คนที่เคยออกมาพูดในนามของสถาบันถูกลดบทบาทลง ขณะเดียวกันก็มีความพยายามสร้างเครือข่ายใหม่ขึ้น แต่ยังไม่เกิด ในภาวะที่มีการเปลี่ยนเครือข่าย มีการเปลี่ยนรัชกาล ไม่มีพระราชอำนาจนำเดิม ฉันทมติเดิมของชนชั้นนำยังอยู่ไหม อันนี้เป็นปัญหา ผมสงสัยว่าไม่มีฉันทมติของชนชั้นนำ (elite consensus)

ฉันทมติของชนชั้นนำแต่เดิมสร้างขึ้นมาประมาณช่วงปี 2520-2530 และชัดเจนในปี 2535 คือธรรมเนียมแบบแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ไม่มีใครผูกขาดเหมากินคนเดียว แบ่งเขตใครเขตมัน ถ้าใครผูกขาดเหมากินคนเดียว คนนั้นโดนรุม โดยมีพระราชอำนาจนำในสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งค้ำประกันการแบ่งเค้กอำนาจนี้ ทักษิณเลยอยู่ไม่ได้เพราะทักษิณจะกินรวบ ละเมิดฉันทมติของชนชั้นนำ ชนชั้นนำเกือบทุกกลุ่มจึงรุมยำในยุคปลายทักษิณ

เมื่อไม่มีเครือข่ายเดิม พระราชอำนาจนำของรัชกาลที่ 9 หมดไป ไม่มีฉันทมติของชนชั้นนำ ตกลงเราจะอยู่กันยังไง จะแบ่งอำนาจกันยังไง ในตอนต้นจึงเกิดภาวะมือใครยาวสาวได้สาวเอาจากทุกกลุ่มที่คุมอำนาจ เพราะระเบียบเก่าถูกยกออก ฉันทมติชนชั้นนำถูกทำลาย ส่วนจะเกิดใหม่ได้ไหม อันนี้ผมตอบไม่ได้

ตอนนี้เหมือนเครื่องบินที่ทำงานด้วยระบบ autopilot บินด้วยความเคยชินจากรัชกาลเก่าในขณะที่ภูมิประเทศเปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะภูมิประเทศทางอำนาจ และยังไม่มีการแบ่งอำนาจกันใหม่

 

เกษียร เตชะพีระ

 

จริงๆ แล้ว เราจำเป็นต้องมีฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไหม

การไม่มีฉันทมติทำให้ชนชั้นนำไทยฆ่ากัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 2490 ชนชั้นนำฝ่าย อ.ปรีดี พนมยงค์ กับชนชั้นนำฝ่ายทหารฆ่ากันไม่หยุด อย่างกรณีการลอบสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีคนสนิทของ อ.ปรีดี (ดร.ทองเปลว ชลภูมิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง) หรือกรณีเตียง ศิริขันธ์ เป็นต้น จนกระทั่งสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาแล้วบอกว่า “เลิกฆ่ากัน แล้วกูปกครอง” สร้างระเบียบใหม่ขึ้นมาหลังจากฆ่ากันแหลก

ที่เป็นอย่างนี้เพราะ 2475 ไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่น ถ้าประชาธิปไตยตั้งมั่น หลักความชอบธรรมของอำนาจมาจากประชาชนเต็มร้อย เวลาชนชั้นนำขัดแย้ง เรื่องจะจบที่การโหวต ชนชั้นนำอเมริกาทะเลาะกันเป็นบ้าเป็นหลังแต่คำตอบคือเลือกตั้ง ซึ่ง 2475 ไม่ได้ผลักประเด็นนี้ไปถึงที่สุด สถาปนาอำนาจอธิปไตยจากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ อิหลักอิเหลื่อ ข้าราชการกลายเป็นกลุ่มปกครองใหม่ขึ้นมา ไม่มีใครชอบธรรมกว่าใคร ดังนั้นฉันทมติชนชั้นนำจึงสำคัญ ไม่เช่นนั้นก็ฆ่ากันแหลกดังทศวรรษ 2490

จากงานวิทยานิพนธ์ของ อาสา คำภา (ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535) ฉันทมติชนชั้นนำแบบแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ใครเหมารวบคนเดียวจะถูกรุม ถูกสร้างขึ้นประมาณช่วง 2510-2520 แล้วเปรม ติณสูลานนท์ เห็นว่าการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเหมาะสมที่สุด คนที่มาจากการเลือกตั้งก็เอาไปครึ่งหนึ่ง ฝ่ายอำมาตย์เอาไปครึ่งหนึ่ง พอปี 2535 ก็ค้ำประกันโดยพระราชอำนาจนำ ธรรมเนียมนี้จึงเป็นฉันทมติชนชั้นนำเรื่อยมา จนกระทั่งทักษิณซึ่งมาจากการเลือกตั้งทำให้ความชอบธรรมของเสียงประชาชนและประชาธิปไตยมากขึ้น ล้มฉันทมติชนชั้นนำ แล้วโดนชนชั้นนำรุมกระทืบ

 

ตอนประยุทธ์ขึ้นมาแรกๆ หลายคนวิเคราะห์ว่า เขาอยากกลับไปสู่ระบอบเปรมที่การเมืองมีเสถียรภาพพอสมควร แต่ฉันทมติแบบแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบเปรมกลับไม่ปรากฎอยู่ในระบอบประยุทธ์ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ระบอบเปรมมีหลายองค์ประกอบ มีเรื่องหนึ่งที่ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ และ อ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร (บทความ “ระบอบประยุทธ์ : การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น”) ชี้ให้เห็นชัดว่าระบอบเปรมคือทหารอยู่ในช่วงยอมรับความเป็นจริงแล้วแบ่งอำนาจ เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบแต่มุ่งไปในทางเต็มใบ คลายอำนาจออก ยอมให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและนักธุรกิจเข้ามาแบ่งปันอำนาจ ในขณะที่ระบอบประยุทธ์มีแนวโน้มเป็นเผด็จการ (authoritarianization) เป็นครึ่งใบแต่ไปคนละทาง ไม่ได้หันหน้าไปทางประชาธิปไตย แต่หันไปทางเผด็จการอำนาจนิยม

ในระบอบเปรม องค์ประกอบสำคัญไม่ใช่เปรมคนเดียว เขาอยู่ในอำนาจได้ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงผินพระพักตร์ทางประชาธิปไตย ฉันใดฉันนั้น คุณประยุทธ์จะอยู่ในอำนาจได้ก็ด้วยอาศัยร่มโพธิ์ร่มไทรของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งระบอบจะมีทิศทางอย่างไรก็อยู่ที่ว่าพระองค์จะผินพระพักตร์ไปทางไหนด้วยเช่นกัน

 

นักสังคมศาสตร์ไม่ค่อยเชื่อเรื่องตัวบุคคล จะสนใจระบบและโครงสร้างมากกว่า แต่ในระเบียบอำนาจแบบที่เป็นอยู่ดูเหมือนตัวบุคคลมีความสำคัญมาก

เรื่องแรกมีการถกเถียงมานานแล้วว่า เวลาพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์จะดูที่ตัวสถาบันหรือดูที่องค์พระมหากษัตริย์ ในยุคหนึ่ง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดชัดเจนว่าสถาบันและตัวบุคคลเป็นสองเรื่องแยกจากกัน ตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านมีบารมีมาก เป็นที่ยอมรับในอำนาจนำ แต่ตัวสถาบันไม่ได้เด่นเท่าตัวของพระองค์ ทำให้ตัวบุคคลสำคัญกว่าสถาบัน แต่ในช่วงหลังงานบางชิ้นของ อ.นิธิ เขียนทำนองว่า ธรรมชาติของระเบียบอำนาจแบบ monarchy ตัวบุคคลสำคัญมาก พอเปลี่ยนตัวบุคคล สถาบันก็เปลี่ยนหมด

อ.นิธิ ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาล ตัวสถาบันก็เปลี่ยนหมดเลย พระราชนิยมเฉพาะรัชกาลสำคัญมาก อะไรที่เคยนิยมใน ร.5 พอขึ้น ร.6 ก็ไม่ทำต่อ กล่าวคือ ไม่ได้มีการเสริมสร้างระบอบ monarchy ให้เป็นสถาบันอย่างเข้มแข็ง และระบบระเบียบในการใช้อำนาจเป็นเรื่องของตัวบุคคลเสียมาก ผมเห็นคล้อยไปทางเดียวกันว่า บุคลิกขององค์พระมหากษัตริย์สำคัญต่อตัวสถาบันมาก

เรื่องที่สอง ในทางสังคมศาสตร์ ข้อถกเถียงมันเลยไปไกลกว่าเรื่องโครงสร้างหรือบุคคลสำคัญกว่ากัน (the agent-structure problem) ไปแล้ว การวิเคราะห์การเมืองไทยอย่าไปดูแค่ตัวบุคคลหรือโครงสร้างแบบโดดๆ แต่ให้ดูความพยายามของบุคคลในการที่จะสร้างเครือข่ายและแนวร่วมขึ้นมา เพราะต้องอาศัยพลังของคนกลุ่มนี้ในการที่จะไปเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอะไร

 

อาจารย์นำเสนอแนวคิดเรื่อง ‘ฉันทมติภูมิพล’ พร้อมทั้งแจกแจงให้เห็นด้วยว่ามีองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านอุดมการณ์ และด้านศาสนา ในภาวะที่ระเบียบการเมืองไทยขับเคลื่อนด้วยระบบแบบ ‘autopilot’ ไม่มีอำนาจนำแบบที่เป็นอยู่ อาจารย์มองเห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบแต่ละด้านบ้างไหม

สิ่งที่ผมเรียกว่าฉันทมติภูมิพลเป็นการตีความของผม ซึ่งไม่ได้ถูกรับรองโดยสถาบันการศึกษาใดทั้งสิ้น (หัวเราะ)

ในแง่การเมือง ผมพูดไปบ้างแล้วว่า ฉันทมติภูมิพลคือคำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตย’ และ ‘อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ เป็นการทำให้ ‘ประชาธิปไตย’ เชื่อมกับ ‘ความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยม’ เป็นการผนึกสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน ภายใต้เงื่อนไขคือประชาธิปไตยที่ไปไม่สุดและสถาบันกษัตริย์มีอำนาจนำ แต่ตอนนี้สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยกำลังออกห่างจากกัน ซึ่งน่าวิตก เพราะฉะนั้นมรดกของฉันทมติภูมิพลในแง่การเมืองคงเปลี่ยนไปแล้ว

ในแง่เศรษฐกิจคือทุนนิยมแบบพัฒนา เน้นการพัฒนาทุนนิยมก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แต่ถ่วงทานโดยเศรษฐกิจพอเพียง อย่างน้อยในแง่ความคิดแนวศีลธรรมหรือนโยบาย แต่แนวโน้มตอนนี้ผมเห็นด้วยกับ อ.ประจักษ์ และ อ.วีระยุทธ ว่า ระบอบที่เป็นอยู่คือทุนนิยมเหลื่อมล้ำ หรือ ‘ทุนนิยมแบบช่วงชั้น’ (hierarchy capitalism) ที่ทุนใหญ่กินก่อนแล้วมาแบ่งให้ทุนเล็กกินทีหลัง กลุ่มทุนพี่อุ้มทุนน้อง ดังที่เราเห็นโครงการประชารัฐของประยุทธ์ ซึ่งกลุ่มทุนเข้าไปแวดล้อม แม้จะยังมีการพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ แต่นึกออกไหมว่า คนพูดก็พ้นคดียืมนาฬิกาเพื่อน 25 เรือนไป (หัวเราะ)

ในแง่อุดมการณ์ เดิมเป็นราชาชาตินิยม แต่ตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจว่า ‘ราชา’ กับ ‘ชาตินิยม’ จะเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร เมื่อในทางปฏิบัติส่วนใหญ่องค์พระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ต่างประเทศ แต่ชาติอยู่ที่นี่ ซึ่งลักษณะแบบนี้น่าจะเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ด้วย

ในแง่ศาสนา…ยังคิดไม่ออก

 

ในแง่นี้ฝั่งประชาธิปไตยต้องเสนอนิยามใหม่ของทั้งสี่ด้านเพื่อเข้าไปช่วงชิงความหมายใหม่ไหม

ก็คงพยายามคิดกันอยู่ใช่ไหม เช่น ในแง่ของการเมืองวัฒนธรรมก็มีข้อเสนอที่ทะลุทะลวงอุดมการณ์ราชาชาตินิยมออกมาบ้างแล้ว ผมเห็นด้วยกับการตีความของ อ.ประจักษ์ ว่าลักษณะพิเศษของม็อบคณะราษฎร 2563 คือไม่นับญาติกับ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 เพราะสองเหตุการณ์นี้ชนะในเงื่อนไขของราชาชาตินิยม ชนะในเงื่อนไขของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นับญาติกับ 2475 กับ 6 ตุลา 2519 และเสื้อแดง อย่างน้อยการเคลื่อนไหวสามครั้งนี้ค่อนข้างหลุดออกจากราชาชาตินิยม

ผมอยากคิดในกรอบที่กว้างกว่านั้น ในที่สุดแล้วเราคงอยากได้อำนาจนำใหม่หรือฉันทมติใหม่ ซึ่งยังไม่เด่นชัด ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายชนชั้นปกครองหรือฝ่ายประชาชน แต่อย่างน้อยจะต้องปรับดุลสามด้าน ซึ่งในตอนนี้เสียดุล คือระหว่าง ‘สถาบันกษัตริย์-ประชาธิปไตย’ ‘รัฐ-สังคม’ และ ‘ชนชั้นนำ-ประชาชน’ ตอนนี้มันเบ้ทางสถาบันกษัตริย์ รัฐ ชนชั้นนำมากเกินไป ต้องเอียงไปทางประชาธิปไตย สังคม ประชาชนมากขึ้น แต่จะแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องการต่อสู้นับจากนี้

 

เกษียร เตชะพีระ

 

เรายังมองไม่เห็นทีท่าของการประนีประนอมหรือสัญญาณของการปรับตัวของชนชั้นนำบ้างเลย อาจารย์มองความสุ่มเสี่ยงนี้อย่างไร

ปฏิรูปมันถูกที่สุดในแง่ต้นทุน แต่ปฏิรูปทำยากที่สุด เพราะต้องการฉันทมติระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนชั้นล่าง ตอนนี้เส้นทางปฏิรูปดูจะยากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายชนชั้นนำไม่ค่อยยอมหรือยอมช้าเหลือเกิน อย่างที่บอกว่าการเมือง 3 อำนาจมันไปไม่เท่ากัน คุณยอมช้าเลยติดอยู่แค่ปฏิกิริยา ขณะที่วิธีคิดของอำนาจการเมืองวัฒนธรรมไปปฏิวัติแล้ว แล้วจะคุยกันยังไง จะเริ่มคุยก็ระแวงกันก่อนแล้วกว่าจะบรรจบกันตรงกลาง

…ผมไม่รู้ อย่าฆ่ากันก็แล้วกัน คนตายปฏิรูปไม่ได้ คนตายปฏิวัติไม่ได้ คนตายปฏิกิริยาไม่ได้ เก็บชีวิตเอาไว้ เผื่อวันหนึ่งอาจจะรู้ตัวว่าผิด

 

ในกรอบการวิเคราะห์ของอาจารย์ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนย้ายฐานอำนาจใหญ่ (power shift) ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในขณะเดียวกัน เรากำลังอยู่ในยุคของทุนนิยมแบบใหม่ที่อยู่บนฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและพลังทางเศรษฐกิจทั่วโลกไปอย่างมหาศาล การเปลี่ยนของระบบทุนนิยมโลกรอบนี้จะส่งผลต่อการย้ายฐานอำนาจทางการเมืองไทยอย่างที่เป็นมาหรือไม่

ในกระบวนการผลิตหรือการบริการของสังคมมีส่วนที่เกี่ยวพันกับการประมวลข้อมูล การรวบรวมข้อมูล และการสื่อสาร ส่วนนี้ถูกเปลี่ยนเพราะเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้กระบวนการผลิตในส่วนที่เป็นการสื่อสารและข้อมูลเร็วขึ้นเยอะ นี่คือการปฏิวัติดิจิทัลในความเข้าใจของผม

ดังนั้น มันนำไปสู่ 4 สิ่ง คือ 1. ความเร็ว (speed) 2. นวัตกรรม (innovation) คนที่คิดถึงวิธีใหม่ที่จะย่นย่อเวลาในการสื่อสารและการรวบรวมข้อมูลได้เร็วขึ้นก็จะชนะ 3. การเขย่า (disruption) เกิดขึ้นเพราะไปกระแทกกระบวนการผลิตและการให้บริการเดิม จากที่เคยใช้วิธีสื่อสารและการรวบรวมข้อมูลแบบเก่า พอ digitize ให้มันเร็วมาก คนที่ไม่ปรับตัวก็ถูกดิสรัปต์หมด ดังนั้นจึงเกิด 4. การคาดการณ์ไม่ได้และความไม่แน่นอน (unpredictability / unsteady) อะไรที่เราเคยมั่นใจแน่ใจ เริ่มกลายเป็นสิ่งที่มั่นใจแน่ใจได้น้อยลง คาดการณ์ยากขึ้นเพราะความเร็วของมัน ทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นภายใต้การปฏิวัติดิจิทัลหรือเศรษฐกิจดิจิทัล

ผมคิดว่าสังคมไทยรับมือด้วยกระบวนท่าแบบไทย ในทางการเมืองรับมือโดยระบอบอำนาจนิยมทหาร ในกระบวนท่าเศรษฐกิจรับมือโดยทุนนิยมเหลื่อมล้ำ ในกระบวนท่าอุดมการณ์วัฒนธรรมรับมือโดยอนุรักษนิยมแบบลัทธิกษัตริย์นิยมล้นเกิน (hyper-royalist) วิธีรับมือทั้งหมดนี้เพื่อลดดิสรัปชัน เพื่อถ่วงความเร็ว ตราบที่มันมากระทบลำดับช่วงชั้นของอำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจนำเดิม คือจะดิสรัปต์ส่วนอื่นก็ดิสรัปต์ไป แต่ถ้ามากระทบอำนาจเหล่านี้จะถูกบล็อกถูกกั้นไว้ ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดที่เขาจะคาดการณ์ได้หรือคุมได้ สิ่งที่เขานึกไม่ถึงคือผลกระทบของโซเชียลมีเดียทางด้านวัฒนธรรมอุดมการณ์ อันนี้เหลือเชื่อ

ผมยังไม่ได้คิดให้ทั่วตลอด แต่คิดว่าจะมีคนสองกลุ่มที่อึดอัดกับกระบวนท่ารับการปฏิวัติดิจิทัลแบบที่ผู้มีอำนาจในเมืองไทยทำอยู่

กลุ่มแรกคือคนชั้นกลางระดับล่างและรากหญ้า คนกลุ่มนี้มือสั้น มีเครื่องมือในการรับมือสิ่งเหล่านี้น้อย เขาต้องการให้รัฐมาอุ้มชู มาช่วย และคุณทักษิณมาช่วยตรงนี้

กลุ่มที่สองคือที่เรียกกันว่า ‘คนรุ่นใหม่’ เป็นกลุ่มที่มีการศึกษา เรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย และเป็นคนที่วิตกกังวลในชีวิตว่าโลกวันข้างหน้าไม่มีอะไรมั่นคงแน่นอนเหมือนอย่างแต่ก่อน เรากำลังพูดถึง ‘ชนชั้นเสี่ยงที่ได้รับการศึกษา’ (educated precariat) ซึ่งไม่ใช่กรรมาชีพด้วยซ้ำไป เนื่องจากสังคมสมัยใหม่เกิดดิสรัปชันสูงมาก คนเหล่านี้จึงไม่มีความมั่นคง ประเภททำงานแบบฝากชีวิตได้ 60 ปีถึงจะเกษียณ สมัยนี้ไม่มีแล้ว ถ้าคุณประสิทธิภาพไม่ถึงก็โดนไล่ออก เขาเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา การเผชิญสังคมที่เปลี่ยนเร็ว ดิสรัปชันสูงเสี่ยงเร็วทำให้เขาต้องการการช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งควรเป็นการช่วยเหลือที่กว้างขวาง เปิดกว้าง ไม่ใช่หยุดอยู่แค่ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจหรือความเหลื่อมล้ำทางทุนอย่างที่เป็นอยู่

 

เราเลยเห็น ‘คนเสื้อแดง’ กับ ‘คนรุ่นใหม่’ เป็นพันธมิตรกันในการประท้วงรอบนี้?

อันนี้ผมวิเคราะห์หลังเหตุการณ์นะ เหมือนคนฉลาดหลังเหตุการณ์ คล้ายตอนคนเสื้อแดงโผล่มานักวิชาการตกใจกันทั้งประเทศไทยว่าคนเสื้อแดงมาจากไหน จึงเกิดการศึกษาภูมิทัศน์สังคมไทยที่เปลี่ยนไป อธิบายว่าคนเสื้อแดงคือใครเป็นวรรคเป็นเวร นักวิชาการไม่ใช่หมอดู นักวิชาการคือเหตุเกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวกูอธิบายให้มึงฟัง (หัวเราะ)

 

ปัจจุบันคนจำนวนมากหันกลับมาสนับสนุนประชาธิปไตย โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เคยเป็น กปปส. อะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้

ชนชั้นกลางเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจไม่ได้ของทั้งเผด็จการและประชาธิปไตย เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นพันธมิตรได้ แต่อย่าวางใจว่าจะพึ่งพาได้ บางทีก็ออกมาไล่เผด็จการแบบพฤษภา 35 แล้วก็ไปเชียร์ให้มีรัฐประหารโค่นทักษิณ เคยเชียร์ให้มีรัฐประหารโค่นชาติชาย ชนชั้นกลางสวิงไปมาทางการเมือง สิ่งที่ยึดมั่นอยู่กับเขาคือสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเขาจึงคิดถึงประชาธิปไตยทีหลัง ในภาวะหนึ่งถ้าเขาคิดว่าประชาธิปไตยไม่เอื้ออำนวยต่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจของเขา ซึ่งสมัยทักษิณมีแนวโน้มแบบนั้นอยู่ เขาจึงรู้สึกว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ตัดออกได้

ผมคิดว่าบทเรียนที่เขาควรได้ภายใต้ยุค คสช. คือประชาธิปไตยและเสรีนิยมป้อนเลี้ยงกันและกัน ไม่สามารถมีอันหนึ่งโดยไม่มีอีกอันหนึ่งได้ ถ้าคุณคิดแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพแล้วโยนประชาธิปไตยทิ้ง…ฉิบหาย ประชาธิปไตยอุ้มชูสิทธิเสรีภาพ เพราะมันเปิดโอกาสให้คนทั้งหลายมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย ถ้ากฎหมายที่ออกมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคุณ ก็ไปบอกผู้แทนให้ไปโหวตค้าน แต่พอคุณปัดประชาธิปไตยทิ้งไป ไม่ต้องออกไปเลือกตั้ง ผลคือ คสช. ออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพคุณ แล้วเขาไม่ต้องฟังคุณ เพราะคุณไม่ได้เลือกเขา

ดังนั้น ถ้าอยากได้สิทธิเสรีภาพต้องเอาประชาธิปไตยไว้ ขณะเดียวสิทธิเสรีภาพหรือเสรีนิยมก็ค้ำประกันประชาธิปไตยเช่นกัน เพราะการเลือกตั้งหรือการลงประชามติรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ก็เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีความหมายอะไรเลย

อาจเป็นไปได้ว่าคนชนชั้นกลาง กปปส.ทั้งหลายได้เรียนรู้จาก คสช. แล้วว่า การมีจอมเผด็จการที่ไม่มีประชาธิปไตยมาเป็นผู้นำนั้น ทำให้สิทธิเสรีภาพที่เราคิดว่ามีนั้นหมดไป

 

เกษียร เตชะพีระ

 

มีข้อถกเถียงว่าเด็กที่ออกมาเคลื่อนไหว ให้น้ำหนักเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคมาก แต่นึกถึงเรื่องภราดรภาพไม่มากเท่า อาจารย์เห็นอย่างไร 

พูดให้ถึงที่สุดคำว่า ‘ภราดรภาพ’ หรือจะพูดว่าความเอื้อเฟื้อ เห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันก็แล้วแต่ ผมอยากจะใช้คำว่า ‘รู้สึกถึงความเป็นชุมชนเดียวกัน’ ในขณะเดียวกันด้านตรงข้ามของมันคือเสรีภาพเฉพาะของปัจเจกบุคคล ซึ่งต้องจัดดุลสองอันนี้ให้ดี

ถ้ามีแต่เสรีภาพของปัจเจกบุคคลแล้วไม่มีความเป็นชุมชนเดียวกัน ไม่มีความรู้สึกเป็นคนชาติเดียวกัน จะนำไปสู่ความบ้า ถ้าคุณมีแต่ความเป็นชุมชนเดียวกันแล้วไม่มีเสรีภาพของปัจเจกเลย จะนำไปสู่ความเป็นไพร่ทาส

สังคมไทยแบบศักดินาราชูปถัมภ์เดิมเป็นสังคมที่ให้ความเป็นกลุ่มก้อน ให้ความเป็นชุมชน อบอุ่นมาก แต่ก็จำกัดเสรีภาพของบุคคลมากด้วย อย่างระบบโซตัส กูให้ความอบอุ่นแต่มึงต้องเป็นรุ่นน้องกูนะ กูเป็นรุ่นพี่ มึงต้องยอมกราบตีน เพื่อจะได้ความอบอุ่นแบบความเป็นชุมชนเดียวกัน ต้องสละปัจเจกภาพ ทำในสิ่งที่ปัจเจกบุคคลสติดีไม่ทำกัน มันทั้งอบอุ่นแต่อึดอัดและเหลื่อมล้ำ เมื่อคนทนไม่ได้ก็ดิ้นรนต่อสู้กับระเบียบนั้น เด็กนักเรียนกบฏเยอะเพราะเขาเจอแบบนี้ เจอสังคมแบบศักดินาราชูปถัมภ์จึงออกมาร่วมแฟลชม็อบ

ปัญหาตอนนี้มันยุ่งเพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เราอยู่ในช่วงที่คนกำลังดิ้นทลายกรงของสังคมแบบศักดินาราชูปถัมภ์ออกไปเพื่อแสวงหาเสรีภาพปัจเจกและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ยังเดินไม่ถึงระเบียบใหม่แล้วสร้างความเป็นภราดรภาพขึ้น

ดังนั้น การพูดถึงภราดรภาพตอนนี้เป็นภาวะที่ขบวนการยังเดินไปไม่ถึงจุดหมายแบบที่คุณเปล่งคำขวัญว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพได้เต็มที่ มันคือการที่ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมารวมตัวกันเองโดยเสรีและเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่มีใครถูกใช้อาวุธบังคับ ไม่มีใครมีความเหลื่อมล้ำ แล้วสร้างความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันขึ้นภายใต้ระเบียบอำนาจที่เป็นประชาธิปไตย ด้วยความรู้สึกว่าตัวเองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของส่วนทั้งหมดโดยไม่อาจแยกออกจากกันได้ เพราะส่วนทั้งหมดนั้นเท่ากัน เขามีส่วนในกระบวนการตัดสินใจทั้งหมดเท่ากับคนอื่น

นี่คืออุดมคติของการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวอร์ชันของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ คุณมีเสรีภาพ เสมอภาค มนุษย์เกิดมาเสรีแต่มีห่วงโซ่พันคล้องอยู่ตลอดเวลา เขาตอบไม่ได้ว่าห่วงโซ่มาจากไหน แต่ตอบได้ว่าทำยังไงถึงจะชอบธรรม มันจะชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อห่วงโซ่นั้นคุณใช้มัดตัวคุณเอง สังคมออกกฎบังคับตัวเองไม่ให้ทำ มันไม่ใช่การเป็นทาส เพราะเสรีภาพคือการทำตามกฎที่เราออกเอง ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกกฎ นั่นคืออุดมคติ กฎหมายในสังคมประชาธิปไตยจึงชอบธรรม เพราะทุกคนที่เสรีและเสมอภาคร่วมกันออกกฎมาบังคับตัวเอง ไม่ใช่ คสช. ออกกฎมาบอกว่าจงทำตามเพราะกฎหมายนี้ดี ถ้าคุณไม่ได้ออกกฎหมายเองก็ไม่ใช่เสรีภาพ ดังนั้นภราดรภาพยังมาไม่ถึง

การพูดถึงภราดรภาพในภาวะที่ยังไม่มีเสรีภาพและเสมอภาคในสังคม มันพูดยาก หลังจากคุณมีเสรีภาพ เสมอภาค มีการปกครองร่วมกันตามกฎเกณฑ์ประชาธิปไตยแล้ว ภราดรภาพเป็นสิ่งที่จะเกิดได้

อย่างไรก็ตาม พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าต้องรอให้ประชาธิปไตยเต็มใบก่อนแล้วจะพูดถึงภราดรภาพได้ ไม่ต้องรอให้เดินไปถึงวันที่ยูโทเปียมาแล้วค่อยทำ คุณทำสิ่งที่คุณเชื่อว่าดีงามหรือเป็นยูโทเปียวันนี้เลย ไปชุมนุมก็ดูแลคนที่ไปร่วมชุมนุม เพื่อนผมไปร่วมชุมนุมแล้วเป็นลม ลุงป้าเสื้อแดงซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อนเลยก็เอายาดมมาให้ เอายาหม่องมาทาให้แล้วก็ไปตามหมอมา หมอก็เรียกรถพยาบาลไปส่งโรงพยาบาล นี่คือภราดรภาพในที่ชุมนุมซึ่งปัจเจกบุคคลที่เสรีและเสมอภาคกันมาร่วมกันแล้วรู้สึกมีความเป็นชุมชนเกิดขึ้นมา เพราะร่วมกันในการต่อสู้ กฎกติกาในการชุมนุมมาจากเวที แต่คุณมาร่วมโดยไม่มีใครบังคับ

ควรจะเห็นถึงข้อจำกัดของกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ยังไปไม่ถึงอุดมคติที่พูดกันว่าเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เรากำลังพยายามดิ้นออกจากสังคมศักดินาราชูปถัมภ์ซึ่งมีความเป็นชุมชนที่อบอุ่นแต่เหลื่อมล้ำและอึดอัด แต่ไม่ได้แปลว่าคุณทำอะไรไม่ได้เลย คุณก็ปฏิบัติภราดรภาพสิ เราก็เห็นกันอยู่

 

แล้วกับกลุ่มที่เห็นต่างหรือเจ้าหน้าที่รัฐล่ะ?

ข้อเสนอผมคือทะเลาะกันอย่างสันติ ซึ่งมันก็ยากนะ ฆ่ากันแล้วไม่มีประโยชน์ ตายไปแล้วไม่ว่าจะเป็นคนผิดหรือคนถูกก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อเขาเลย

ส่วนกับเจ้าหน้าที่รัฐมีความสัมพันธ์หลายชั้น เช่นผมอาจจะเห็นด้วยกับภารกิจปลดปล่อยปาเลสไตน์ที่สู้กับอิสราเอล แต่ถ้าผมขึ้นเครื่องบินลำที่ปาเลสไตน์กำลังจะวางระเบิด แล้วผมนั่งติดกับผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์ที่จะวางระเบิดผมก็ขัดขวาง ต้องมองหลายระดับและดูหน้างาน คุณอาจจะเห็นอกเห็นใจเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ แต่เขารับคำสั่งจากนายมาตีหัวคุณ กูเห็นใจมึงนะ แต่ขอกูหลบก่อน ในแง่หนึ่งก็อย่าลัทธิคัมภีร์เกินไป ไม่ใช่ว่า “ผมเข้าใจนะว่าคุณเป็นกลไกรัฐ คุณถูกสั่งมา อ่ะ อย่าตีแรงนัก” …บ้า

 

ในฐานะคนที่เคยผ่านประวัติศาสตร์บาดแผลแบบ 6 ตุลาฯ มา วันนี้เรายังจำเป็นต้องกระตุกเตือนนักศึกษาที่ออกมาไหมว่ารัฐพร้อมใช้ความรุนแรง

เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ อย่าดูเบารัฐเกินไป คุณอยู่กับรัฐที่ไม่ควรไว้วางใจเลย ประสบการณ์ทำให้คนรุ่นผมเป็นคนที่แปลกแยก ไม่สามารถไว้วางใจรัฐสยามอีกตลอดกาล เพราะรัฐนี้ฆ่าคนได้อย่างโหดร้ายทารุณซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกรอบมักจะเกิดนิรโทษกรรมแล้วจับมือใครดมไม่ได้ มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุเรศมาก พูดให้ถึงที่สุดนี่เป็นบทเรียนที่เจ็บที่สุดและจำที่สุดของคนรุ่นผม อย่าไว้วางใจว่ารัฐจะไม่ฆ่าคน

ผมคิดว่าคำเตือนควรจะพุ่งไปที่ฝ่ายรัฐมากกว่า รัฐอย่าทำอีก รัฐสร้างกรรมให้คนรุ่นหนึ่งแล้ว ทำให้คนรุ่นนี้ทิ้งแผ่นดินหนีไป แปลกแยกจากประเทศนี้ ตายไปในป่าตั้งเท่าไหร่ แล้วทำซ้ำอีกทำไม ผมคิดว่าคนที่ต้องเตือนมากที่สุดคือฝ่ายรัฐไม่ใช่ฝ่ายที่ถูกปราบ

 

อาจารย์เคยพูดว่า “ไม่มีหลักนามธรรมอันใดสูงส่งจนกระทั่งคู่ควรกับการเอาชีวิตผู้อื่นไปสังเวย” ในวันนี้ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ มีคำเตือนถึงแกนนำตลอดว่าการเคลื่อนไหวในประเด็นที่แหลมคมและกล้าได้กล้าเสียอาจทำให้รัฐพร้อมใช้ความรุนแรง เราควรวางสมดุลระหว่าง ‘เป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ กับ ‘ความรับผิดชอบต่อมวลชน’ อย่างไร

การต่อสู้ที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีอุดมคติ คือการต่อสู้ที่ไม่มีพลัง คุณต้องเชื่อมันบ้างแหละถึงต้องยอมเอาเหงื่อเอาเลือดไปแลก แต่คำแนะนำของผมคืออย่าเชื่ออย่างเดียว ให้เชื่อด้วยสงสัยด้วย เชื่อประชาธิปไตย แล้วประชาธิไตยเป็นยังไงวะ เชื่อในสิทธิเสรีภาพ แล้วสิทธิเสรีภาพเป็นยังไงวะ อุดมคติและอุดมการณ์สำคัญ ถ้าไม่มีมันคุณก็ไม่มีพลังไปสู้ในเรื่องใหญ่ แต่มีมากไปก็อันตราย เพราะเราเคยผ่านประสบการณ์แล้วว่ามันเหลวไหลได้ ดังนั้นให้เชื่อแล้วจับมันส่องกับแสงสว่างดูเป็นพักๆ ว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อมันเวิร์กอยู่หรือเปล่า ว่างๆ หยิบมาส่อง อย่าไปคิดว่ามันสมบูรณ์แบบ

ไม่มีหลักนามธรรมใดที่คู่ควรเอาชีวิตไปสังเวย หลักนามธรรมทุกชนิดควรถูกเชื่อด้วยและถูกตรวจสอบด้วย อย่าเชื่ออย่างเดียว ไม่เชื่อไม่มีพลัง แต่ถ้าเชื่อแล้วไม่ตรวจสอบอันตรายมาก ในแง่กลับกันความรับผิดชอบต่อคนที่เข้าร่วมในการต่อสู้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องเด็ดขาดสัมบูรณ์ ชีวิตของคนอื่นไม่ใช่อะไรที่คุณเสียสละได้หรือโยนทิ้งเป็นเบี้ยได้…ไม่

เพราะฉะนั้นเรื่องเป้าหมายผมขอเสนอให้เชื่อและตรวจสอบด้วย แต่เรื่องความรับผิดชอบต่อคนที่เข้าร่วมในการต่อสู้ หากคุณเป็นแกนนำ คุณต้องรับผิดชอบ พูดอย่างถึงที่สุดคือคุณเจ็บได้ตายได้ แต่คนที่คุณนำเขาไปเนี่ยอย่าให้เขาเจ็บ

 

เกษียร เตชะพีระ

 

การบอกให้สงสัยในเสรีภาพ สงสัยในประชาธิปไตย มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมไหม เช่นเวลาพูดว่า “คนเท่ากัน” เราจะตั้งคำถามได้อย่างไร

เรากำลังเข้าสู่พื้นที่ของปรัชญา คนเท่ากัน…ใช่ แต่ในทุกสถานการณ์หรือเปล่า ในทุกเรื่องหรือเปล่า ลำดับช่วงชั้นทางสังคมมีทั้งแบบที่ยอมรับได้ (justify) และยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่พื้นที่ของความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ในการรักษาโรคความเห็นของแพทย์ก็อาจจะไม่เท่ากับความเห็นของคนทั่วไป เป็นต้น

โลกตะวันตกก็ตั้งคำถามเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพเยอะมาก ผมคิดว่าเป็นประโยชน์ที่เราจะรู้ว่าเขาถามเรื่องเหล่านี้ไปทำไม ถึงแม้ว่ากำลังต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ในเงื่อนไขที่เรายังไม่ได้มาและเราคิดว่ามันสำคัญ เพราะเวลาไม่มีสิทธิเสรีภาพผู้คนจะถูกรังแก ใช้อำนาจไล่จับใครมาปรับทัศนคติ คุกคามไปถึงบ้าน

ไม่ว่าเรื่องใดๆ ทันทีที่คุณคิดถึงมันแบบสัมบูรณ์ มันจะน่ากลัว เวลาคุณคิดว่าอะไรถูกต้องสัมบูรณ์แปลว่าอย่างอื่นไม่สำคัญเท่าและทุกอย่างจะถูกเสียสละบูชายัญได้เพื่อสิ่งนั้น นี่คืออาการของคนไทยทั้งหลายที่เชื่อต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ถ้าเชื่ออย่างสัมบูรณ์ก็ตีหัวกันได้เลยแม้ไม่รู้จักหน้ากัน เพราะจะมองว่ามนุษยธรรม เมตตาธรรม หรือชีวิตของเพื่อนมนุษย์ไม่สำคัญเท่าชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ฉะนั้นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ควรจะถูกตรวจสอบเหมือนประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพก็ควรจะถูกตรวจสอบ เพราะอุดมการณ์อะไรก็แล้วแต่ ถ้าถึงขั้นคลั่งลัทธิ ฉิบหายหมด

 

หลายคนมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นทางออก แต่ถ้าการเมืองในระบบ การเมืองภาคประชาชน และการเมืองภาควัฒนธรรมไม่สอดคล้องกัน รัฐธรรมนูญยังเป็นทางออกได้อยู่ไหม

มันคงเป็นทางออกของอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่ทางออกของทุกอย่าง เนื่องจากการเมืองทั้งสามภาคไม่สอดคล้องกัน ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญอาจจะตอบโจทย์ภาคประชาชนได้ นั่นหมายถึงคุณต้องไปเขย่าคอพวก ส.ว. และ ส.ส.พลังประชารัฐให้ปฏิรูป แต่อาจไม่ตอบโจทย์การเมืองภาควัฒนธรรมเพราะคุณทะลุเลยไปแล้ว

เราไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดที่จะมาแก้ทุกปัญหาของสังคมหรอก เรามีแต่คำตอบเฉพาะส่วนเฉพาะหน้า แก้เรื่องที่เลวร้ายที่สุดให้จบเฉพาะหน้าไปก่อน คำตอบสมบูรณ์แบบที่แก้ได้ทุกปัญหาของสังคมมันไม่มี คำตอบแบบนี้มีคนเสนอมาเยอะแล้วตั้งแต่สมัยเพลโตจนมาถึงลัทธิคอมมิวนิสต์

ดังนั้นควรแก้รัฐธรรมนูญไหม…ควร มันไม่ตอบทุกปัญหาหรอก แต่แก้ไปเปลาะหนึ่งแล้วเดินหน้าต่อ เช่นเปลาะที่สำคัญที่สุด คุณทำให้การถกเถียงพูดคุยเกี่ยวกับที่ตั้งที่อยู่และแบบแผนการปฏิบัติทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่คุยได้อย่างเปิดเผย เป็นเรื่องปกติที่เราพูดคุยกัน ถกเถียงกันได้ แค่นี้ก็เรื่องใหญ่มากแล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save