fbpx
คณะราษฎร 2563

คณะราษฎร 2563

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

8 ตุลาคม 2563 ตัวแทนจากกลุ่มองค์กรหลากหลาย เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มประชาชนปลดแอก, เยาวชนปลดแอก, นักเรียนเลว เป็นต้น ได้ประกาศหลอมรวมเป็น ‘คณะราษฎร’

องค์กรดังกล่าวจะทำหน้าที่ขององค์กรนำในการเคลื่อนไหวในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยมีข้อเรียกร้องสามข้อ กล่าวโดยสรุปคือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง, เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

แม้จะใช้ชื่อเฉกเช่นเดียวกันกับที่ได้เคยมีการใช้ชื่อดังกล่าวในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 แต่ ‘คณะราษฎร’ ในเดือนตุลาคม 2563 มีความแตกต่างกับเมื่อคราว 2475 การพิจารณาเงื่อนไขบางด้านอาจทำให้สามารถเข้าใจถึงการเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของคณะราษฎรในห้วงเวลาปัจจุบันได้มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่จะลองพิจารณา คือ กลุ่มคนในการเคลื่อนไหว ระบบข้อมูลข่าวสาร และมุมมองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจกล่าวในรายละเอียดได้เบื้องต้น ดังนี้

หนึ่ง บุคคลที่เป็นแกนนำและมีบทบาทในการชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษาและนักเรียน คนเหล่านี้จะเกิดในช่วงทศวรรษ 2540 หากพิจารณาในแง่มุมทางการเมือง ช่วงชีวิตของพวกเขาทั้งหลายอาจได้พอจะได้ยินได้ฟังความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงมาบ้างแต่คงมีระยะห่างมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ความรับรู้อย่างสำคัญน่าจะเป็นนับตั้งแต่ช่วงการรัฐประหาร 2557 สืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน

การใช้อำนาจแบบไร้กฎเกณฑ์ซึ่งมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำและเครือข่าย ความล้มเหลวในการบริหารงานในห้วงยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตด้านเศรษฐกิจ การเผาผลาญงบประมาณกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ความบิดเบี้ยวขององค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานและข้าราชการระดับสูง ฯลฯ ล้วนแต่กลายเป็นเงื่อนไขอันนำมาซึ่งคำถามถึงความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของระบอบการปกครองที่มีฉากหน้าเป็นรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สอง การไหลเวียนของข้อมูลและความรู้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อสมัยใหม่มีผลอย่างสำคัญต่อการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารและความรู้ ซึ่งในอดีตอาจถูกจำกัดไว้ด้วยการใช้อำนาจรัฐเข้าปิดกั้นหรือบิดเบือน แต่สื่อสมัยใหม่ได้ทำให้การไหลเวียนของข้อมูลเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพไม่ใช่น้อย ความแตกต่างของคำอธิบายที่มีต่อปรากฏการณ์ต่างๆ มีผลอย่างมากต่อการกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น รวมไปถึงการแสวงหาคำตอบที่วางอยู่บนฐานของเหตุผลมากขึ้น

นอกจากนี้ การขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่งอันสืบเนื่องมาจากความสงสัยใคร่รู้ของคนรุ่นนี้ซึ่งหนังสือหรือตำราในระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการไม่สามารถให้คำตอบหรือในบางเรื่องก็ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงได้เลย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวซึ่งได้กลายเป็นแหล่งผลิต ‘หนังสืออ่านนอกเวลา’ อย่างไม่เป็นทางการของคนกลุ่มนี้ เฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาถึงประเด็นต้องห้ามซึ่งมักไม่ได้ถูกกล่าวถึงในระบบที่เป็นทางการทั้งในสถาบันการศึกษาหรือสื่อมวลชน

สาม ในด้านความรับรู้ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คนรุ่นนี้จะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่ 9 มาสู่รัชกาลที่ 10 แม้ว่าคนรุ่นนี้ทั้งหมดจะอยู่ในกลุ่มของ ‘ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9’ แต่ก็เป็นช่วงปลายรัชสมัยซึ่งพระองค์ไม่อาจทรงงานได้อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยของพระองค์ มุมมองและความเข้าใจที่มีของคนรุ่นนี้จึงเป็นการรับรู้ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านการปลูกฝังทั้งจากโรงเรียน สื่อมวลชน ครอบครัว และสถาบันการเมืองต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างสำคัญต่อมุมมองที่มีต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งล้วนแต่ได้เห็นอย่างประจักษ์ด้วยสายตาตนเองผ่านสื่อสมัยใหม่

เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านงบประมาณและความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยและคำถามที่ดังมากขึ้น แต่องค์กรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลกลับไม่สามารถชี้แจงได้ด้วยเหตุผลจึงเป็นผลให้นำมาสู่ข้อเรียกร้อง ‘หนึ่งความฝัน’ ที่สะท้านสังคมไทยในขณะนี้

ปัจจัยเหล่านี้น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการหล่อหลอมให้การพิจารณาว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นต้องใช้คำตอบเชิงอุดมการณ์ในลักษณะเดียวกันกับที่คณะราษฎร 2475 เรียกร้องคือ ปฏิรูปให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หากพิจารณาเฉพาะในด้านของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง อาจพอกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีความใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายใต้การนำของนักเรียน นิสิตนักศึกษา เพื่อต่อต้านกับรัฐบาลเผด็จการในยุคสมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งแผ่กระจายไปยังสถาบันการศึกษาหลายแห่งและหลายระดับ ไม่ใช่เพียงเฉพาะในมหาวิทยาลัย หากยังรวมไปถึงโรงเรียนมัธยม แนวทางการเคลื่อนไหวที่มีการจัดวางและรักษาระยะห่างจากทั้งนักการเมืองและองค์กรพัฒนาเอกชนทำให้คณะราษฎรยุคใหม่ ยังคงสามารถรักษาสถานะนำในการเคลื่อนไหวทั้งในด้านยุทธวิธีและข้อเรียกร้องได้อย่างมีพลัง

การเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 19 กันยายน และการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ในวันที่ 14 ตุลาคม ก็คือการเคลื่อนไหวภายใต้การนำของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตและเรียนรู้อุดมการณ์ที่แตกต่างไปผ่านระบบข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่

แต่ความแตกต่างอย่างสำคัญประการหนึ่งก็คือ ใน พ.ศ. 2516 เป็นห้วงเวลาที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ก่อร่างสร้างตัวแนวคิด ‘กษัตริย์นิยมประชาธิปไตย’ ลงในสังคมไทยและกลายเป็นผลสำเร็จอย่างชัดเจนภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ดังการแพร่กระจายของพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 (“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปฯ”) ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งโดยขบวนการนักศึกษา นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น ‘พระบารมี’ ที่แผ่กระจายอยู่ในสังคมการเมืองไทยในห้วงเวลานั้น แต่สำหรับเงื่อนไขในห้วงเวลาปัจจุบันกลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม ข้อเรียกร้อง ‘หนึ่งความฝัน’ เป็นด้านที่พลิกกลับด้วยการเสนอให้มีการปฏิรูปบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสถานะของกษัตริย์ในประเทศประชาธิปไตยที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ จะพบว่าแทบทุกแห่งต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งมีความคาดหวังและข้อเรียกร้องที่ผันแปรไป ไม่มีสถาบันกษัตริย์แห่งใดในโลกที่ดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ความสามารถในการเผชิญหน้าและปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่เป็นคุณลักษณะสำคัญในอันที่จะทำให้สถาบันเช่นนี้ยังคงมีความหมายและความสำคัญสืบต่อไป สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยก็ไม่อาจหลุดพ้นไปจากกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

แม้ในทางอุดมการณ์ ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อาจมีความใกล้เคียงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่การเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 2563 มิได้ดำเนินไปในลักษณะของการพลิกเปลี่ยนการปกครองด้วยการใช้กำลังแต่อย่างใด นับตั้งแต่เริ่มต้นการกล่าวถึงประเด็น ‘หนึ่งความฝัน’ ก็ยังคงอยู่ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมทั้งการใช้สิทธิต่างๆ ก็ยังคงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือความปรารถนาภายใต้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าทั้งหมดคือบุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถในการใช้กำลังเพื่อเข้ายึดอำนาจรัฐแต่อย่างใด

คณะราษฎร 2563 ไม่มีสี่ทหารเสืออย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์, พระประศาสน์พิทยายุทธ มีก็แต่อานนท์ นำภา, รุ้ง ปนัสยา, ไผ่ ดาวดิน, ไมค์ ระยอง, ทัตเทพ เยาวชนปลดแอก, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ เป็นต้น พวกเขาไม่มีกองกำลังภายใต้บังคับบัญชาเฉกเช่นกองทัพและตำรวจ ในรายชื่อทั้งหมดที่กล่าวมาจะมีใครพอยิงปืนเป็นบ้างก็ไม่แน่ใจ

แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ ทั้งบุคคลที่มีบทบาทอยู่ข้างหน้าและคนที่เข้าร่วมการชุมนุมต่างคือเสียงสะท้อนแห่งยุคสมัยที่ต้องการเห็นการปรับตัวของสถาบันต่างๆ การใช้อำนาจรัฐและความรุนแรงเพื่อรับมือกับการเรียกร้องที่นำโดยคณะราษฎร 2563 คงยากที่จะยุติคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไม่ว่าจะในระยะเฉพาะหน้าหรือในระยะยาวก็ตาม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save