fbpx
สปิริตบูชิโด จากครูโทโมโกะ

สปิริตบูชิโด จากครูโทโมโกะ

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

– 1 –

 

บางวันเธอสอนคณิตศาสตร์ บางวันเธอพาเด็กๆ ที่โรงเรียนออกไปทำนา

อีกบางวันเธอนั่งเย็บถุงกระสอบใส่ขยะ พร้อมกับสอนภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นไปด้วย

พอว่างเว้นจากงานที่โรงเรียนเมื่อไหร่ เธอกลับไปบ้าน หย่อนตัวลงหน้าเครื่องเย็บผ้า ตัดและเย็บผ้าใยไผ่ออกมาเป็นเสื้อกะเหรี่ยง วันดีคืนดีก็ออกไปเก็บสมุนไพรริมทางมาทำชาสมุนไพรขายด้วย

ที่ทำไปทั้งหมด รายได้เข้าขั้นเศรษฐินีไหม เปล่าเลย, แต่เธอต้องการยืนให้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งในนามครอบครัว และในนามโรงเรียน – หลังสถานการณ์โควิดระบาด ทุนรอนจากเงินบริจาคของ ‘ศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้ง’ หดหายไปกว่าครึ่ง ในฐานะที่เธอเป็นผู้อำนวยการ มีลูกศิษย์กว่าสามสิบคน และครูอีกห้าคนต้องดูแล ก็ต้องหาวิถีทางอยู่ให้รอด

พูดได้ไหมว่า โทโมโกะ กาตาโอกะ เป็นหญิงแกร่งจากแดนอาทิตย์อุทัย พูดได้เต็มปาก ทั้งที่มีชีวิตสุขสบายในแผ่นดินแม่ การงานมั่นคง โอกาสก้าวหน้าในฐานะผู้บริหารอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่เมื่อหัวใจสลายจากความรัก เส้นทางนักรบทางจิตวิญญาณก็นำพาเธอมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองไทย

“ตอนนั้นท้อแท้มาก แต่ครอบครัวกับเพื่อนๆ ให้กำลังใจจนฉันสู้ต่อได้ พวกเขาทำให้ฉันรู้สึกว่าถ้าคนเราท้อแท้จะลุกขึ้นใหม่ได้ถ้ามีกำลังใจ ฉันก็อยากจะช่วยคนที่ลำบากกว่าฉัน”

เธอบอกว่าครั้งนั้นได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Dignity of the Nation เป็นเรื่องเกี่ยวกับสปิริตคนญี่ปุ่น ที่เรียกว่าวิถีบูชิโด

“จริงๆ คนญี่ปุ่นมีจิตใจเมตตาสำหรับคนที่อ่อนแอกว่า พวกซามูไรก็เป็นแบบนี้ ซามูไรไม่ใช่แค่นักสู้หรือพวกฆ่าคน แต่วิถีบูชิโดคือการช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่าเรา”

 

 

– 2 –

 

“จากนั้นฉันคิดอยู่ลึกๆ ว่าจะทำอาชีพอะไรดี เพราะตอนเรียนมัธยม ฉันอยากเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น และที่ฉันเลือกมาประเทศไทย เพราะฉันรู้สึกดีกับคนไทย งานแรกของฉันคือเป็นผู้ช่วยครูสอนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนมัธยมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉันสอนอยู่สี่ปีครึ่งก่อนย้ายไปต่างจังหวัด”

“นักเรียนเข้าใจภาษาญี่ปุ่นบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง นั่นไม่ใช่ประเด็น แต่เพราะฉันใช้เวลาคลุกคลีกับนักเรียนมาก กินข้าวด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ทำให้จากที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้เลย นักเรียนก็ทำให้ฉันเก่งภาษาไทย” เธอเล่าสลับเปล่งอารมณ์ขัน พร้อมบอกว่าชีวิตใหม่เธอเริ่มต้นขึ้นเพราะนักเรียนไทย

จังหวะเวลาของวิถีแห่งนักรบสะกิดเธออีกครั้ง เมื่อรู้สึกคาดหวังกับตัวเองมากกว่าเดิม เนื่องจากนักเรียนโรงเรียนในเมืองที่เธอคุ้นเคยด้วยส่วนใหญ่เป็นลูกคนรวย ไม่ได้ลำบากแบบที่เธอตั้งใจอยากช่วยตั้งแต่แรก และนั่นทำให้เธอเริ่มรู้สึกขัดใจตัวเองถี่ขึ้นๆ

“พอมีคนญี่ปุ่นชวนฉันมาช่วยกันทำโรงเรียนให้เด็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางความลำเค็ญ ฉันจึงตัดสินใจลาออกจากที่เดิมแล้วมาที่นี่ สังขละบุรี-ศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้ง ฉันรู้สึกว่าเด็กๆ ที่นี่บริสุทธิ์มาก หมายถึงพวกเขาไม่รู้ว่าการเรียนหนังสือคืออะไร เพราะไม่มีโอกาสเรียน พวกเขาทำให้ฉันรู้สึกอยากมีประโยชน์”

เด็กๆ ที่ศูนย์ฯ บ้านสายรุ้งทั้งหมดเป็นเด็กไร้สัญชาติ แม้จะอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของธรรมชาติ แต่หลายคนก็ขาดอ้อมกอดของพ่อแม่ หลายคนได้เจอครอบครัวปีละครั้ง ทั้งความยากไร้จากพื้นที่สงครามตามตะเข็บชายแดน ทำให้พวกเขาต้องหลบเข้ามาหาที่ปลอดภัยในฝั่งไทย และในเจตนารมณ์ของคนญี่ปุ่นที่ก่อตั้งศูนย์ฯ ไว้ ก็เพื่อทำให้เด็กๆ ได้อยู่อย่างปลอดภัย ได้เรียนหนังสือ กระทั่งได้กินอยู่ หลับนอน เสมือนมีชีวิตกันเป็นครอบครัวใหม่

 

 

– 3 –

 

เช่นเดียวกับเธอในวัยย่าง 40 ก็เริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่เช่นกัน หลังจากสถาปนิกหนุ่มญี่ปุ่นเดินทางมาเป็นจิตอาสาช่วยสร้างอาคารเรียนให้ เขาและเธอก็แต่งงานจนมีลูกด้วยกันสองคน หายใจและใช้ชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเด็กคนอื่นๆ

แต่ถึงจะลงหลักปักฐานที่นี่ ได้อยู่ท่ามกลางเด็กๆ และธรรมชาติที่อาจทำให้เบิกบานใจเป็นวิสัย แต่เธอยังคงถามตัวเองอยู่เสมอว่าทำเต็มที่หรือยัง อาจเพราะคนญี่ปุ่นถูกฝึกมาให้รับผิดชอบต่อหน้าที่สูง หลายครั้งตัวตนภายในก็หันมาบั่นทอนตัวเอง

“ฉันเหมาะกับการเป็นครูจริงๆ ไหม ฉันคงทำให้เด็กมีชีวิตที่ดีไม่ได้ หรือว่าถ้าเด็กดื้อ แล้วความสามารถของฉันช่วยไม่ได้ ฉันคงท้อมาก ฉันคงไม่เหมาะกับการเป็นครู” เธอคุยกับตัวเองซ้ำไปซ้ำมา

คำถามที่บีบรัดเริ่มคลี่คลายเมื่อเธอมองไปที่ลูกของเธอทั้งสองคนกำลังวิ่งเล่นอยู่กับเพื่อนๆ ต่างเชื้อชาติ เธอคิดว่าคนเป็นแม่ย่อมอยากให้ลูกได้พบเจอสิ่งที่ดีที่สุด และการที่ลูกของเธอได้ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กๆ คนอื่นที่บ้านสายรุ้งก็ดีที่สุดแล้วในสายตาเธอ

“ถ้าตั้งใจทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก ย่อมหมายถึงการได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กคนอื่นๆ ด้วย เด็กที่นี่ใจดีทุกคน พวกเขาดูแลน้อง (ลูกของเธอ) ดีมาก บางครั้งเล่นกันก็มีแกล้งกันบ้าง แต่สุดท้ายพวกเขาก็รักกัน ลูกของฉันมีพวกเขาเหมือนเป็นทั้งพี่ชายและพี่สาวดูแลเสมอ ลูกของฉันมีความสุขที่สุดในโลก เขาอยู่กับธรรมชาติ ได้ปีนต้นไม้ ได้เล่นขี้ดิน ฉันเชื่อว่าเด็กจะมีความสุขต้องได้เล่น ไม่ใช่เรียนหนังสืออย่างเดียว”

 

 

– 4 –

 

โทโมโกะ บอกว่าที่บ้านสายรุ้งมีหลักการง่ายๆ ว่าสิ่งแวดล้อมคือห้องเรียน และอย่างน้อยที่สุด เด็กๆ ควรได้อ่านและเขียนภาษาไทยได้ เพราะพวกเขาอาจจำเป็นต้องใช้ชีวิตทำงานในเมืองไทยไปอีกนาน นอกจากนั้นร่างกายต้องแข็งแรง การลงแปลงเกษตรหรือทำนาที่นี่ทำให้เด็กๆ ได้ออกแรงและได้กินในสิ่งที่พวกเขาปลูกเอง พวกเขาจะภาคภูมิใจ

“ฉันอยากให้พวกเขาค้นพบสิ่งที่ชอบจริงๆ เด็กทุกคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเองใช่ไหมคะ ทุกวันศุกร์ เราให้เด็กๆ เลือกอย่างอิสระว่าอยากจะเรียนอะไร บางคนอยากดูหนัง บางคนอยากอ่านหนังสือ บางคนอยากทำอาหาร บางคนอยากเรียนศิลปะ บางคนอยากเล่นกีตาร์ บางคนอยากออกกำลังกาย เราให้พวกเขาเลือกทำเต็มที่ แล้วก็มาสรุปบทเรียนกันว่าแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรในสิ่งที่เลือก”

โทโมโกะบอกว่า เธอทบทวนตัวเองทุกวันว่า ตอนเด็กๆ เธอเรียนหนังสือเก่ง สอบได้ที่หนึ่งมาตลอด เป็นความภูมิใจของพ่อแม่ เธอพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ แต่วันนี้เธอกลับรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ เธอเรียนได้คะแนนดีก็เพราะอยากให้คนชม แต่ไม่ได้สนใจเรียนจริงๆ

เพราะฉะนั้น วันนี้เมื่อเธอได้มาสอนหนังสือ เธอจะระวังไม่ทำให้เด็กสนใจแต่เรื่องคะแนน

“ต่อให้เรียนช้าก็ไม่เป็นไร สอบตกก็ไม่เป็นไร สอบใหม่ได้ เพราะฉันอยากให้เด็กเข้าใจจริงๆ ว่าที่เขาเรียนไปนั้น จะเอาไปพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ใช่เพื่อวุฒิการศึกษา แต่หมายถึงทักษะชีวิต”

 

 

– 5 –

 

ในสายตาของเด็ก เธอคือครูโทโมโกะมากความสามารถ แต่ในสายตาของโทโมโกะ เธอบอกว่าเด็กทั้งหมดเป็นครูของเธอด้วย

“ความเมตตาของพวกเขามีสูงกว่าฉันมาก ตั้งแต่ปีแรกที่ฉันมา เด็กๆ ยังไม่มีสิ่งของเป็นของตัวเอง พอมีแขกมาเยี่ยมบริจาคสิ่งของให้ เด็กบางคนได้ชุดใหม่สวยๆ แทนที่จะเก็บไว้เป็นของตัวเอง เขากลับยกให้เด็กญี่ปุ่นที่มาเยี่ยมที่ศูนย์ฯ และได้เล่นกัน เหตุเพราะว่าเขาทำให้เพื่อนมีความสุข

“มีเด็ก 7 ขวบ เขาได้อมยิ้มมา ปกติเด็กจะเก็บไว้กินเองใช่ไหมคะ แต่นี่เขาเอาไว้ให้น้อง 2 ขวบแทน ความไม่เห็นแก่ตัวของพวกเขาน่าประทับใจมาก และมันสอนฉันมากๆ”

เธอยอมรับว่า แม้จะเป็นความน่าประทับใจที่สุด แต่กลับน่ากังวลที่สุด เพราะเมื่อตัวเธอเองโตขึ้น มีความรู้มากขึ้น มีการศึกษามากขึ้น อาจจะทำให้ความใจดีที่พวกเขามีลดน้อยลงเหมือนที่เธอเป็นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

“ฉันกลัวมากๆ ถ้าเขาเมตตาน้อยลงเหมือนฉัน ฉันคงรู้สึกผิด บางคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น เกเรมากขึ้นเมื่อโตขึ้น แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา ฉันจะทำอย่างไรดี นี่คือความขัดใจฉันทุกวัน” โทโมโกะ ยิ้มให้กับความซับซ้อนอันละเอียดอ่อนของตัวเอง

พูดอย่างถึงที่สุด ศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้งก็เสมือนเบ้าหลอมแห่งการเยียวยาบาดแผลที่ติดตัวเด็กๆ มา เป็นบ้านหลังใหม่ เป็นที่ถักทอฝันอันยาวไกลจากความยากไร้สู่ชีวิตที่ดีกว่า

และคงจะดีกว่านี้ ถ้าสปิริตบูชิโดในเนื้อในตัวโทโมโกะจะแผ่ซ่านไปทุกอณูของครูไทย

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save