fbpx
จากบันทึกของ ‘พิน บางพูด’ ถึง ‘บันทึก 6 ตุลาฯ’ : เมื่อความจริงเริ่มปรากฏ

จากบันทึกของ ‘พิน บางพูด’ ถึง ‘บันทึก 6 ตุลาฯ’ : เมื่อความจริงเริ่มปรากฏ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

-1-

ร่างชายไร้นามห้อยโตงเตงกับกิ่งมะขาม

ชายอีกคนเงื้อเก้าอี้เหวี่ยงไปที่ร่างนั้น

ลูกเด็กเล็กแดง พี่ป้าน้าอา พากันล้อมวงเข้ามา  

บางใบหน้าปรากฏรอยยิ้ม…

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลายคนคงนึกถึงภาพประวัติศาสตร์ดังกล่าว ฝีมือการลั่นชัตเตอร์ของ นีล อูเลวิช ช่างภาพแห่งสำนักข่าว AP ที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก และกลายเป็นหนึ่งในภาพจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ที่ถูกกล่าวขานและผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานใดๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าชายสองคนนั้นคือใคร ทั้งคนที่ถูกแขวนคอ และคนที่ถือเก้าอี้

และเชื่อหรือไม่ว่า เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีการค้นพบว่านอกจากชายที่ถูกแขวนคอในภาพนั้น ยังมีชายอีกอย่างน้อย 4 คนที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน

หนึ่งในนั้นคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าเป็นชายในรูปนั้น ที่ถูกแขวนคอและฟาดด้วยเก้าอี้

“สถานะนิสิตจุฬาฯ ดูจะส่งผลให้คนจดจำชื่อของวิชิตชัยในฐานะเหยื่อที่ถูกแขวนคอได้มากที่สุด และด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการใช้ภาพเหยื่อแขวนคอประกอบเหตุการณ์ 6 ตุลา ผู้คนมักระบุว่านั่นคือวิชิตชัย โดยไม่รู้ว่าที่จริงแล้วกำลังใช้รูปผิดฝาผิดตัว…”

“คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าคนในภาพถ่ายชื่อวิชิตชัย และเข้าใจว่านีล ยูเลวิช ถ่ายภาพคนถูกแขวนคอเพียงคนเดียว ข้อเท็จจริงคือ อูเลวิชถ่ายภาพคนถูกแขวนคอสองคนในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยมีหลักฐานจากคลิปวิดีโอที่แสดงภาพเคลื่อนไหวในช่วงขณะที่ชายสองคนนี้กำลังถูกทำร้ายจากฝูงชน

“ปัญหาคือ จนบัดนี้เรายังไม่รู้ว่าชายสองคนนี้คือใคร ชื่ออะไร และเมื่อดูเปรียบเทียบกับเอกสารชันสูตรพลิกศพที่มีอยู่ ก็ไม่พบว่ามีศพที่มีใบหน้าและสภาพร่างกายใกล้เคียงกับชาย 2 คนนี้ เราจึงยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศพของพวกเขา…”

ในฐานะคนที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ มาบ้าง การเผชิญกับข้อมูลใหม่หลายๆ อย่าง ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ก่อให้เกิดความรู้สึกหลากหลายปะปนกันไป ทั้งหดหู่ ตกใจ โกรธแค้น เช่นเดียวกับคำถามมากมายที่ผุดขึ้นมาในหัว

ผ่านไปสี่สิบกว่าปี เหตุใดการฆาตกรรมหมู่อันโหดเหี้ยมนี้จึงยังไม่อาจคลี่คลาย ทำไมความตายของคนมากมายจึงยังเป็นปริศนา เราจะรู้สึกอย่างไรถ้าผู้ชายที่ถูกแขวนคอคนนั้น เป็นเพื่อนหรือญาติมิตรของเรา

และเป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อความรักถูกหลอมรวมกับความลุ่มหลงมัวเมา อาจทำให้คนเราด้านชากับความตาย

-2-

ด้านหน้าหอประชุมราว 8 น. มีคนวิ่งออกไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรทัศน์ถ่ายเหตุการณ์ตอนนั้นเผยแพร่ทั่วกรุงเทพฯ ใครๆ ก็เห็นภาพคนกลุ่มหนึ่งกรูเข้ารุมกระชากสายน้ำเกลือ แล้วเทคนเจ็บลงจากเปลหาม เงื้อไม้ฟาด เตะ ถีบ และกระทืบจนเลือดกระเซ็น…

ผู้ชายคนหนึ่งเลือดโทรมหน้ามากับพี่สาว ยกมือบอกให้รู้ว่ามีมือเปล่า ก็ถูกหลายมือยื้อยุดฉุดกระชากจากพี่สาว แล้วถูกประเคนด้วยศอกเข่า เนื้อขาวอาบคราบแดงเลือด มีท่อนไม้เปื้อนเลือดพาดไว้ตรงช่องคลอดอันบอบช้ำ ที่ต้นมะขามสนามหลวง นักศึกษาชายบางคนถูกจับแขวนคอ ลิ้นจุกปาก ร่างที่แกว่งโตงเตงถูกตีด้วยเก้าอี้เหล็ก ถูกกระโดดถีบ ถูกรองเท้ายัดปาก…

ข้อความข้างต้นเป็นบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เช่นกัน ต่างกันตรงที่มันเป็นบันทึกที่ปรากฏอยู่ในนิยายรัก

‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ คืองานเขียนของ วัฒน์ วรรลยางกูร ว่าด้วยเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวในวัยแสวงหา ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่คุกรุ่นช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519

เขาเขียนเรื่องนี้ในวัย 24 ปี ขณะลี้ภัยอยู่ในป่าหลังการสังหารหมู่เดือนตุลา โดยหารู้ไม่ว่า อีกเกือบสี่สิบปีต่อมา เขาจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเดิม หลังการรัฐประหารปี 2557

“ความรู้สึกตอนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็เหมือนความรู้สึกตอนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั่นแหละ สมัยโน้นเราเข้าป่าเพราะโดนเขาไล่ฆ่า สมัยนี้ก็โดนเขาไล่จับ เหมือนเข้าป่าอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่มีป่าให้เข้าแล้ว ฐานทัพภูพานที่เราเคยอยู่ก็กลายเป็นไร่มันสำปะหลัง เป็นรีสอร์ทหมดแล้ว ก็เลยต้องออกนอกราชอาณาจักรไทย” คือคำให้สัมภาษณ์หลังตัดสินใจลี้ภัยอีกครั้งในวัยย่าง 60 ปี และจนถึงวันนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าเขาจะได้กลับบ้าน

ในบรรดางานเขียนของเขาที่มีอยู่นับไม่ถ้วน ผมคิดว่า ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ เป็นงานที่สะท้อนตัวตนและความคิดของวัฒน์ได้อย่างแจ่มชัด ตั้งแต่เรื่องชีวิต สังคม ความรัก ที่สำคัญมันเป็นเสมือนบันทึกส่วนตัวที่เขามีต่อเหตุการณ์เดือนตุลา ผ่านมุมมองของตัวละครเอกที่ชื่อว่า ‘พิน บางพูด’ เด็กหนุ่มผมยาวจากบ้านนาที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเพื่อแสวงหาความยุติธรรม

‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 โดย สำนักพิมพ์ลูกสมุน (2561)
‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 โดย สำนักพิมพ์ลูกสมุน (2561)

ไม่นานมานี้ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในรอบเกือบยี่สิบปี เหมาะเจาะพอดีกับวันเวลาที่สังคมไทยก้าวถอยหลัง และไล่เลี่ยกับการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ที่มุ่งแสวงหาประวัติศาสตร์ที่สูญหาย

สิ่งที่น่าสนใจคือ เนื้อหาหลายส่วนที่ปรากฏอยู่ในนิยายของวัฒน์ คล้ายเป็นจิ๊กซอว์ที่ช่วยให้ปะติดปะต่อข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้กระจ่างขึ้น ตั้งแต่แผนก่อการของฝ่ายขวาที่เริ่มสร้างสถานการณ์มาตั้งแต่ปี 2517 กระแสความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ทฤษฎีโดมิโน ไปจนถึงข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นรัชทายาทและธรรมศาสตร์สะสมอาวุธสงคราม อันเป็นชนวนสุดท้ายที่นำไปสู่การสังหารหมู่กลางเมืองอย่างโหดเหี้ยม

ในที่นี้ ผมขอยกช่วงที่กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2519 มาให้อ่านกัน

เว็บไซต์บันทึก 6 ตุลาฯ อธิบายถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า

ชนวนแห่งเหตุร้ายอย่างไม่คาดหมาย เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เมื่อหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงภาพการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา เพื่อประกอบข่าวที่ทางการตำรวจแถลงว่าจับกุมคนร้ายในกรณีสังหารช่างไฟฟ้านครปฐมได้แล้ว ซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย 5 คน ปรากฏว่าใบหน้าของผู้แสดงของนักศึกษา คือ อภินันท์ บัวหภักดี เมื่อถ่ายภาพออกมาแล้ว มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชอย่างไม่คาดหมาย เมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม จึงได้เลือกเอารูปการแสดงละครของนายอภินันท์ที่มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชมากที่สุด เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ประโคมข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม โดยมีการพิมพ์ใหม่อย่างรวดเร็ว แล้วออกเผยแพร่โจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ…

หลังจากนี้สถานีวิทยุทหารทุกแห่งก็ออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และระดมผู้รักชาติจำนวนนับพันไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล จากการอ้างเอาเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์นี้เอง กลุ่มปฏิกิริยาจึงสามารถระดมประชาชนที่โกรธแค้นเป็นจำนวนมากมาร่วมการชุมนุมได้…

ในนิยายของวัฒน์ มีการกล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันนี้ไว้เช่นกัน ดังตอนหนึ่งที่ว่า

เย็นวันที่ 5 ผมเข้าไปที่ธรรมศาสตร์ เห็นคนแจกใบปลิวอยู่หน้าธรรมศาสตร์ ลงรูปถ่ายกล่าวหาฝ่ายที่ต่อต้านถนอมว่าแสดงละครดูหมิ่นทายาทประมุขของประเทศ จากนั้นผมได้ดูรูปในหนังสือพิมพ์ฉบับสีแสด ใต้รูปมีคำประณามพวกที่แสดงละครในธรรมศาสตร์อย่างหยาบคาย ในเนื้อหาข่าวกล่าวว่า พวกที่แสดงละครจงใจแต่งหน้าผู้แสดง แต่คนนับพันที่ยืนดูละครในวันนั้น ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ทำไมจึงต้องกล่าวหากันเช่นนั้น?

ราว 3 ทุ่ม ผมไปทำข่าวศูนย์นิสิตฯ ชี้แจงความจริงเรื่องละครดังกล่าว โดยเอาตัวผู้แสดงมาให้สื่อฯ ดูหน้าและถ่ายภาพ ใครๆ ก็บอกว่า ไม่เหมือนๆ บางคนบอกว่า เมื่อตัวจริงไม่เหมือน แล้วทำไมรูปถ่ายในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจึงดูเหมือนรัชทายาทไปได้ … การโจมตีเรื่องการแสดงละครมีทั้งใบปลิว หนังสือพิมพ์ ที่สำคัญคือวิทยุของทางการ 200 สถานี ที่กระหน่ำโฆษณาโจมตีนักศึกษามาเป็นปีแล้ว

หาก ‘บันทึก 6 ตุลา’ คือการบอกเล่าข้อเท็จจริงจากข้อมูลและหลักฐานเท่าที่รวบรวมได้ บันทึกของพิน บางพูด ในนิยาย ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ อาจเปรียบได้กับพยานในที่เกิดเหตุ

ฉากไคล์แมกซ์ที่บรรยายถึงเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ ชวนให้หดหู่จนไม่อาจกลั้นน้ำตา

สองชั่วโมงผ่านไปอย่างเนิบช้า ทรมาน เจ้าหน้าที่เคลื่อนกำลังเข้าเคลียร์พื้นที่บริเวณสนามฟุตบอลตรงหน้าตึกนิติศาสตร์ หมอบๆ คลานๆ ไปช้าๆ พลางสาดกระสุนใส่ตึก อมธ. ตึกวารสารศาสตร์ และตึกบัญชี เป็นพักๆ

พอไม่เห็นมีใครยิงตอบมา ก็ลุกขึ้นนั่งยิงเป็นชุดๆ ไม่มีใครยิงตอบมาจริงๆ พวกเขาจึงลุกขึ้นยืนยิงอย่างสง่าผ่าเผย ตำรวจบางคนคาบบุหรี่ไว้ที่มุมปาก ตาหรี่เล็งศูนย์หน้าให้ตรงร่องบากศูนย์หลัง ยิงเป้าเคลื่อนที่ซึ่งมีชีวิตอย่างมันมือ เสียงปืนคำรามก้องหยิ่งผยอง ร่างคนที่เป็นเป้าล้มกลิ้งไปตามแรงกระสุน

ที่ตึกอมธ. นักศึกษาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การนักศึกษาทยอยลงมาจากตึก ก็เจอเข้ากับระเบิดมือเข้าหน้าเต็มรัก ร่างเหล่านั้นกระเด็นล้มกลิ้งราวกับถูกจับเหวี่ยงด้วยมือยักษ์ นักศึกษาหญิงบางคนถูกสะเก็ดระเบิดเต็มร่าง เสื้อสีขาวแดงด้วยเลือด…

“พี่น้องตำรวจ ท่านผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่รัก ขอให้ท่านรับรู้ ขอให้ท่านเข้าใจด้วยว่า พวกเราที่นั่งชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ ชุมนุมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ เป็นการชุมนุมที่เปิดเผย บริสุทธิ์ใจ ไม่มีอาวุธ โปรดอย่าเชื่อคำยุแหย่ให้ร้ายป้ายสีของสถานีวิทยุบางสถานี ถ้าท่านต้องการตรวจค้นสิ่งใด เรายินดีให้ท่านตรวจค้น ขอให้เข้ามาโดยสงบเปิดเผย…”

เป็นคำพูดที่ตะโกนกู่วอนขอครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนจะเงียบหายไปจากเวทีด้วยเสียงปืนกลบ ประตูใหญ่ด้านหน้าถูกเอารถชนจนพัง รถนั้นบรรทุกกำลังฝ่ายปราบปรามพร้อมอาวุธหนักเข้ามา ปืนกลตั้งจังก้าหน้าหอประชุมใหญ่ มันพ่นกระสุนอย่างเมามัน ไฟแลบจากปากกระบอกอย่างอสรพิษที่แลบลิ้นอยู่แวบๆ

ผมนึกถึงความรู้สึกของเขา-คนที่ถูกเชือกรูดรัดคอดึงรั้ง กระดูกคอย่อมแตกหัก ขณะหลอดคอตีบตันหายใจเข้าไม่ได้ ยังร่างทั้งที่มีลมหายใจและที่สิ้นใจแล้ว ถูกโยนวางทับซ้อนกัน ทับด้วยยางรถยนต์ เมื่อเปลวไฟลุกไหม้ ร่างที่ยังมีลมหายใจก็กระเสือกกระสนดิ้น แต่ถูกฟาดซ้ำจนแน่นิ่งไป ร่างที่ไม่มีลมหายใจเริ่มงองุ้ม กลิ่นเลือดเนื้อสดๆ ตลบอบอวลรุนแรง…

คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหน เมื่อถูกตอกด้วยลิ่มแหลม

คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหน เมื่อยางไหม้ไฟร้อนเดือดหยดลงบนเนื้อสดของคุณ

คุณจะเจ็บปวดสักเพียงไหน เมื่อกระดูกคอถูกกระชากดึงรั้งจนแตกหัก

ถ้าจะเปรียบเทียบว่า เมื่อคุณตกลงไปในปล่องภูเขาไฟอันมืดมนแล้วภูเขาไฟก็ระเบิดออกมา มันก็ยังไม่เจ็บปวดเท่าความเป็นจริงที่หลายคนได้พบในวันนั้น…

ในฐานะที่เป็นนิยาย เราคงไม่อาจนับว่าเรื่องราวที่ปรากฏทั้งหมดใน ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’ นั้นเป็นข้อเท็จจริงได้ สิ่งที่นักเขียนบอกเล่าย่อมเป็นเพียงมุมมองหนึ่ง ซึ่งสะท้อนออกมาจากประสบการณ์และความทรงจำส่วนตัวเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้ คือการสะท้อนภาพประวัติศาสตร์อันพร่ามัว จากตัวผู้เขียนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งถ้ามองในแง่ของคุณค่าและความน่าเชื่อถือ ย่อมต่างจากนวนิยายหลายต่อหลายเล่มที่แปะป้ายว่า ‘อิงประวัติศาสตร์’ แต่กลับอิงจากข้อมูลปลอมๆ กระทั่งจงใจเขียนอย่างบิดเบือน

 

-3-

ราวหนึ่งปีหลังการลี้ภัย ผมมีโอกาสเดินทางไปสัมภาษณ์วัฒน์ วรรลยางกูร ที่นอกราชอาณาจักรไทย หนึ่งในประเด็นที่เราคุยกันคือเรื่อง 6 ตุลาฯ

จากสีหน้าแววตาและปากคำของเขา บ่งบอกชัดว่าจำไม่ลืม

“ความอยุติธรรมมันอยู่ได้ เพราะมีคนที่ดันไปเห็นด้วยกับความอยุติธรรมนั้น ฮิตเลอร์มันอยู่ได้เพราะมีคนเชียร์ให้ฆ่ายิว เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นเพราะมีคนที่สนุกสนานกับการเห็นนักศึกษาถูกแขวนคอ นี่คือความโง่บัดซบของสังคมไทย ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของคนที่ทำงานด้านสติปัญญาอย่างเรา ต้องสู้รบกับความโง่เขลาเหล่านี้ โดยใช้ปากกาเป็นอาวุธ ผ่านบทกวี ผ่านตัวหนังสือ…”

“ตอนผมเข้าป่าช่วง 6 ตุลาฯ เพื่อนที่ถูกจับแขวนคอที่ใต้มะขามมันลำบากกว่าเยอะ แต่เราเข้าป่าไป เราเป็นปากเป็นเสียงแทนเพื่อนได้ ทำหน้าที่เป็นโฆษกผีวีรชน 6 ตุลาฯ เขียนเพลง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ พูดแทนปากเพื่อนที่ตายไปแล้ว ผมเขียนบทกวีอย่างเล่ม ‘ฝันให้ไกลไปให้ถึง’ ได้ ถ้าเราไม่เข้าป่าเราเขียนอย่างนั้นไม่ได้ นี่คือคุณค่าของการเข้าป่า ไม่ใช่ว่าเราอยากไปฆ่าใคร เราเข้าป่าเพราะเรามีเสรีภาพที่จะเขียนหนังสือ วิถีหลักของเราคือการเขียน ไม่ใช่การฆ่า ถ้าจะต้องฆ่า ก็คือฆ่าอคติ ฆ่ามายาคติที่มอมเมาประชาชน

“การออกมานอกราชอาณาจักรไทยครั้งนี้ ทำให้เราได้ยืนยันความเป็นเสรีชน ยืนยันความเป็นมนุษย์ที่ไม่ยอมรับอำนาจอธรรม และยืนยันการใช้เสรีภาพของกวี โดยยอมแลกกับความลำบากของชีวิตที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นความลำบากที่รับได้ คาดเดาได้ อดบ้าง อิ่มบ้าง ไม่เป็นปัญหา ผมผ่านสิ่งเหล่านี้มาเยอะแล้ว… ตอน 6 ตุลาฯ เขาทำรัฐประหาร ไล่ฆ่าเรา พอเราเข้าป่าสู้กับเขา เขาก็นิรโทษ บอกว่าให้กลับมาเรียนหนังสือนะ มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยนะ พวกเธอไม่ใช่คอมมิวนิสต์ โถ…พูดมาได้ มึงนั่นแหละครับที่บอกว่ากูเป็นคอมมิวนิสต์”

ในฐานะคนรุ่นหลัง ผมฟังแล้วก็ได้แต่คิดทบทวนในใจว่า เหตุใดผ่านมาสี่สิบกว่าปี สังคมไทยคล้ายไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์อันโหดร้ายครั้งนี้เลย ตรงกันข้าม เรากลับพยายามเดินย้อนไปทับรอยเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ขั้วการเมืองยังแบ่งเป็นสองฝั่งใหญ่ ต่างออกไปคือผู้ร้ายตัวใหม่ที่ชื่อระบอบทักษิณ

คนอย่างพิน บางพูด ยังคงถูกปิดปากไม่ให้พูด

สถาบันยังคงถูกยกขึ้นมาเป็นเดิมพัน ลงเอยด้วยการเข่นฆ่ากันกลางเมือง

ความตายสูญหายไปพร้อมกับความจริง ฆาตกรตัวจริงยังลอยนวล

ผู้เขียนประวัติศาสตร์หวาดกลัวสิ่งใด

เขาจึงไม่ยอมวางปากกา?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save