fbpx

“คุณจะไม่โกรธสังคมอยุติธรรมแบบนี้ได้อย่างไร” วัฒน์ วรรลยางกูร

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

วจนา วรรลยางกูร ภาพ

ในแวดวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัยและคอการเมืองที่ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชื่อของ วัฒน์ วรรลยางกูร

ในแวดวงน้ำหมึก วัฒน์คือกวีและนักเขียนรางวัลศรีบูรพา เจ้าของงานเขียนหลากรูปแบบกว่า 40 เล่ม งานของเขาไม่เพียงโดดเด่นด้วยจำนวนและความสม่ำเสมอเท่านั้น นิยายหลายชิ้นเรียกได้ว่าขึ้นแท่น ‘คลาสสิก’ ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ตำบลช่อมะกอก (2519) มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2524) ด้วยรักแห่งอุดมการณ์  (2524) คือรักและหวัง (2525) หรืองานสารคดีอย่างคีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน (2541) หรือ ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก (2543) ก็กลายเป็นแหล่งความรู้ที่คนรุ่นหลังใช้อ้างอิงเมื่อต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ ในขณะที่กวีและบทเพลงอย่าง จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ก็ถือเป็นเพลงปฏิวัติอมตะที่ร้องกันแทบทุกอีเวนท์การเมือง

บนเวทีการเมือง วัฒน์เลือกข้างชนชั้นล่างต่อสู้กับสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ระบอบศักดินา’ มากว่า 40 ปี ในฐานะ ‘คนเดือนตุลา’ ชีวิตและความคิดของวัฒน์ถูกหล่อหลอมจากฉากทางการเมืองในช่วง ’14 ตุลา 16′ และ ‘6 ตุลา 19’ อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเหตุการณ์หลังที่กลายเป็นทั้ง ‘ปม’ ส่วนตัวของวัฒน์ ของมิตรสหายร่วมรุ่น และของประวัติศาสตร์การเมืองไทยจนกระทั่งปัจจุบัน

ในช่วงการเมืองสีเสื้อ สังคมยิ่งจดจำเขาได้แม่นยำ ด้วยเป็นหนึ่งในนักเขียนจำนวนน้อยที่สวมเสื้อแดงอย่างเปิดเผยและภาคภูมิใจ วัฒน์ใช้ทักษะและความรู้ของเขาบรรยายประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ด้วยหวังว่าจะมีส่วนช่วยปลดแอกทางความคิดให้ผู้คนและสังคม และทวงคืนความยุติธรรมให้กับเพื่อนร่วมขบวนการที่ต้องตายไป ทั้งจากกรณี ‘6 ตุลา’ และ ‘พฤษภา 53’

ไม่ต้องเล่าซ้ำหลายคนก็รู้ดีว่า ผลจากการเป็นศัตรูกับผู้มีอำนาจทำให้หลังรัฐประหาร 2557 วัฒน์ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน และที่สุดแล้วต้องจำใจ ‘ไกลบ้าน’ ไปอยู่ฝรั่งเศสเพื่อความปลอดภัย แม้จะ ‘ไกลบ้าน’ แต่ด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ เขายังเฝ้ามองความเป็นไปของสังคมไทยอย่างใกล้ชิด

ในวาระครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ 101 สนทนากับวัฒน์ว่าด้วยชีวิตความเป็นอยู่ในฝรั่งเศส ชวนวิเคราะห์การเมืองไทยปัจจุบัน และถอดบทเรียนโศกนาฏกรรม 6 ตุลาอีกครั้ง

แม้จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของงานเขียนที่เขาถนัด แต่เชื่อเถอะว่า ความคิดอ่านของวัฒน์ วรรลยางกูร ยังสะท้อนสังคมการเมืองไทยได้อย่างแหลมคมอยู่เสมอ

วัฒน์ วรรลยางกูร

ทราบมาว่า คุณเพิ่งได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ตอนนี้ความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ต่างจากช่วงก่อนที่จะได้รับสถานะมากน้อยแค่ไหน

ผมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2563 ซึ่งกระบวนการค่อนข้างช้ากว่าปกติ เพราะหลายอย่างที่นี่ชะงักงันด้วยโควิด-19 อันที่จริง ผมไปสัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 แล้ว ถือว่าใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ

ชีวิตถือว่าอยู่ในช่วงของขั้นตอนรอการเปลี่ยนแปลง ผมต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการเรียนภาษาฝรั่งเศสอย่างจริงจัง ต้องเก็บชั่วโมงการเรียนให้ครบตามที่ทางการกำหนดไว้ 400 ชั่วโมง ตอนนี้กลับมาเป็นนักเรียน เรียนเต็มวันสัปดาห์ละ 4 วัน เพื่อให้ได้ภาษาและเตรียมความพร้อมในการออกไปอยู่เอง ตอนยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัย เราอยู่ในการดูแลของทางการ เขามีที่ให้อยู่ มีค่าใช้จ่ายให้พอยังชีพได้ แต่หลังจากนี้ไปก็คงต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น

ตอนนี้ถือว่าใช้ภาษาได้ดีหรือยัง

ยังน้อยมากครับ ถือว่ายังใช้การไม่ได้ ถ้าเป็นคำสั้น ไม่ซับซ้อน ก็พอได้ แต่ถ้ายิงรัวมาเป็นประโยคยาวๆ นี่ไม่ได้เลย ฟังไม่ทัน ผมก็อาศัย Google Translate เอา (หัวเราะ)

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผมไม่ได้ทุ่มเทให้กับภาษามากนักทำให้ขาดทักษะด้านนี้ ส่วนหนึ่งต้องจัดการกับเอกสารหลายอย่างเกี่ยวกับการขอสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งก็มีหลายขั้นตอนพอสมควร ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็หมกหมุ่นอยู่กับการเขียนหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับชีวิตช่วงลี้ภัยการเมือง เคยตั้งใจไว้นานแล้วว่าถ้ามีที่อยู่ที่สงบ ปลอดภัย ไม่ต้องหลบหนีการไล่ล่า ก็อยากจะบันทึกและถ่ายทอดออกมา ตอนที่อยู่ลาว ตั้งไข่ไว้แล้วล้มทุกที จะเขียนทีไรก็มีอันต้องย้ายบ้านตลอด

หนังสือใกล้เสร็จหรือยัง

เขียนไปได้เยอะแล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงอีดิต

ตอนที่ไปถึงฝรั่งเศสใหม่ๆ คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า “มาถึงก็ชอบที่นี่เลย” ตอนนี้อยู่มาปีกว่าแล้ว ยังชอบที่นี่เหมือนเดิมไหม

โอ๊ย – ชอบมากๆ เลย (น้ำเสียงตื่นเต้น) ผมชอบในหลายๆ อย่างของที่นี่ แต่ที่ชอบมากที่สุดและอยากให้สังคมไทยมีคือระบบรัฐสวัสดิการ ประเทศที่มีอารยะและศิวิไลซ์เขาดูแลประชาชนดีมาก มองว่าสวัสดิการต่างๆ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเลย อย่างอพาร์ตเมนต์ที่ผมอยู่มีกระทั่งรถเข็นเด็กอ่อนให้ยืมใช้ เวลาขึ้นรถเมล์ก็มีพื้นที่กันไว้สำหรับเด็กอ่อนและคนสูงอายุ  แม้แต่จะไปวากองซ์ (vacances) หรือตากอากาศ รัฐก็ยังอุดหนุนเลย เรื่องเจ็บป่วยนี่ไม่ต้องห่วง ที่เมืองไทยเรามีเบี้ยยังชีพคนแก่ 600 บาทต่อเดือน ที่นี่ก็มี 700 แต่เป็น 700 ยูโรนะ คิดเร็วๆ ก็สองหมื่นกว่าบาท หลังจากได้สถานะผู้ลี้ภัย ผมก็กินเงินคนแก่ของที่นี่ เพราะถือว่ามีสถานะเทียบเท่าพลเมืองของเขา

ประสบการณ์ที่นี่ทำให้เห็นว่า หนังสือที่เราเคยอ่านปรากฏขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เอาแค่บริการสาธารณะอย่างที่ผมเล่าไปนี่ก็สะท้อนคุณค่าความเป็นพลเมืองได้ดีมากๆ ผมไม่ได้อยู่ปารีส แต่ก็พอมองเห็นว่า คุณภาพชีวิตในเมืองไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ไม่ห่างกันมาก ทั้งในเรื่องโลจิสติกส์ หรือข้าวของเครื่องใช้ เมื่อมีภาพให้เปรียบเทียบก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงประเทศไทย แต่ละปีคนไทยทำงานเสียภาษีไปไม่ใช่น้อยๆ ซื้อข้าว ซื้อน้ำปลา คุณเสียภาษีทางอ้อม เสร็จแล้วก็ต้องมาเสียภาษีทางตรงอีก แต่ภาษีกลับคืนมาถึงเราน้อยมาก แต่ที่นี่คนรู้สึกว่า เสียภาษีมากก็จริง แต่คุณก็ได้จากรัฐแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมองประชาชนอย่างไร

แล้วมีอะไรที่ไม่ชอบบ้างไหม

ไม่ชอบตัวเองนี่แหละ (หัวเราะ) การที่ผมไม่ได้จริงจังกับการฝึกภาษาทำให้ยังใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่เท่าไหร่ สมัยมัธยมปลายผมเรียนภาษาฝรั่งเศสนะ แต่มัวไปหมกหมุ่นกับการเมืองและการเขียนหนังสือ พอต้องมาอยู่ต่างประเทศแอบรู้สึกเสียดาย ตอนเป็นเด็กคิดผิดมากเลยที่ไม่เอาใจใส่ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ตอนนี้เหมือนผมมาเจอโลกที่กว้างออกไป รู้สึกจริงๆ ว่า มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะมาก

คิดถึงเมืองไทยบ้างไหม ตอนที่อยู่ลาวหรือกัมพูชา ถึงแม้จะไม่ใช่เมืองไทยและความเป็นอยู่ลำบาก แต่กลิ่นอายและบรรยากาศก็อาจไม่ได้ต่างจากเมืองไทยมาก แต่พอไปยุโรปเอาแค่อาหารกับอากาศต่างไปอย่างสิ้นเชิงเลย 

คิดถึงสิ คิดถึงกะเพรา คิดถึงเป็นอันดับแรกเลย เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว (19 กันยายน) ไปเที่ยวปารีสมา ได้กระชายมาทำแกงป่า โอ้โห (เสียงตื่นเต้น) คือผมเป็นคนชอบทำอาหารกินอยู่แล้ว กลับมาทำแกงป่ากับไข่เจียว ใส่กระชายเข้าไปถึงๆ ทำให้มีความสุขมาก

วัฒน์ วรรลยางกูร

แม้จะอยู่ฝรั่งเศส แต่คุณก็ตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดตลอด การตามการเมืองแบบ คนไกลบ้านทำให้เราเห็นอะไรชัดเจนมากขึ้น และเห็นอะไรชัดเจนน้อยลงบ้างไหม

ที่เห็นชัดเจนมากขึ้นคือ สังคมไทยเป็นกะลาอย่างที่เขาว่าจริงๆ ตอนที่ต่อเครื่องบินจากฮานอยมาปารีส ผมรู้สึกว่าผมบินตรงไปยังจักรวาล ออกจากโลกที่เคยเป็นกะลาเล็กๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็น ‘กะลา’ ที่ผมรักมากนะ ถ้าอ่านนิยายผมไม่ว่าจะเป็น มนต์รักทรานซิสเตอร์ คือรักและหวัง ตำบลช่อมะกอก ฯลฯ จะเห็นว่า ตัวหนังสือของผมมีความผูกผัน ซาบซึ้งกับฤดูกาล ต้นไม้ คลอง สายน้ำของชนบท โดยเฉพาะภาคกลาง เพราะบ้านผมอยู่ปทุมธานี ลพบุรี ซึ่งผมก็พอใจกับกะลานี้มาตลอด

แต่ต่อให้ผมรักกะลานี้ขนาดไหนก็ตาม สิ่งเดียวที่ทำให้ผมอยู่ไม่ได้เลยคือ ระบอบการเมืองการปกครอง ความจริงผมไม่ได้อยากลี้ภัยและเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากลี้ภัยมาไกลขนาดนี้ แต่สุดท้ายต้องตัดใจ เพราะคนใกล้ตัวผมแทบทุกคนถูกไล่ฆ่า บางคนเป็นคนที่ผมรักและสนิทสนมมากอย่างคุณสยาม ธีรวุฒิ ก็ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ผมอยู่ไม่ได้ ถึงขั้นป่วย จิตตก กินแต่เหล้า ข้าวไม่อยากกิน ช่วงที่อยู่ที่ลาวทำกับข้าวเสร็จก็กินไม่ได้ ปล่อยจนบูดทิ้งไปเป็นปกติ  แต่อยู่ที่นี่มาปีกว่าสุขภาพก็ดีขึ้น ทั้งกายและใจ ถือว่ากินอิ่ม นอนหลับดี

ส่วนที่ทำให้มองเห็นชัดน้อยลงคือ ตัวผมไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว การพบปะผู้คนก็น้อยลง ข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ก็ดูจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก อีกเรื่องคือ บรรยากาศและการใช้ชีวิตที่นี่ทำให้รู้สึกว่า ยังมีเรื่องอื่นๆ ให้เราศึกษาเรียนรู้อีกเยอะมาก

วันที่ 19 กันยายน 2563 ในเมืองไทยมีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง คู่ขนานกันไปในวันเดียวกันที่ปารีสก็มีการจัดเวทีที่จตุรัสรีพับลิก ซึ่งคุณขึ้นปราศรัยด้วย บรรยากาศวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

คนมาเข้าร่วมสักประมาณ 70-80 คน ไม่ได้เยอะมาก แต่ก็มากกว่าทุกครั้งที่เคยจัดกันมา สมัยก่อนมีกันแค่ 8 – 10 คนเองมั้ง ประเด็นไม่ได้อยู่ที่จำนวนคน แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่ามีความไม่พอใจระบอบการเมืองการปกครองอยู่ทุกที่

 

ในช่วงหนึ่งของคำปราศรัยคุณบอกว่า หลายปีที่ผ่านมา คุณหมดหวังกับการเมืองไทย แต่การต่อสู้ของขบวนการนักเรียนนักศึกษารอบนี้ทำให้ความหวังเริ่มกลับคืนมาอีกครั้ง ตอนนี้อ่านเกมการเมืองไทยอย่างไร ทำไมจึงมองเห็น ‘ความหวัง’ อีกครั้ง

ผมมองเห็น ‘ความหวัง’ ในแง่ของขวัญและกำลังใจ แต่ถ้าถามว่าอ่านเกมการเมืองอย่างไร ต้องยอมรับว่าอ่านยาก การเมืองไทยซับซ้อน ยิ่งปัจจุบันมีปัจจัยอีกมากที่เราไม่รู้และไม่เคยเจอมาก่อน

ถ้าลองวิเคราะห์ดูคงต้องเทียบกับประเทศอื่นร่วมกับประวัติศาสตร์ของเราเอง ซึ่งโมเดลที่พอเทียบเคียงกับประเทศไทยได้คือเกาหลีใต้ เพราะพัฒนาการทางการเมืองมีความคล้ายคลึงกัน ต้องอยู่กับเผด็จการทหารมาหลายยุคหลายสมัย ผ่านสงครามเย็นที่มีสหรัฐอเมริกาคอยหนุนหลังเผด็จการ และขบวนการคนหนุ่มสาวก็มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทว่าเกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านไป ทุกวันนี้เขาไปไกลสุดกู่แล้ว แม้แต่งานเชิงวัฒนธรรมก็ไปถึงออสการ์ น่าทึ่งมาก

โมเดลไทยซับซ้อนกว่า เพราะมีระบอบศักดินา ซึ่งอันที่จริงเคยหมดพลังไปแล้วเมื่อปี 2475 แต่กลับถูกสหรัฐอเมริกาปลุกชีพขึ้นมาเป็นพันธมิตรในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อสงครามเย็นจบลง พลังของศักดินาที่ถูกปลุกชีพขึ้นมาไม่ได้จบลงไปด้วย แต่ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาและเติบโตขึ้นจนขยายกินพื้นที่ประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสิ่งคนรุ่นลูกรุ่นหลานกำลังต่อสู้ด้วย

สิ่งที่ขบวนการคนหนุ่มสาวทุกวันนี้กำลังเผชิญหนักกว่าสมัย 14 ตุลาคม 2516 เสียอีก เพราะตอนนั้นฝ่ายศักดินาไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันมีความหวาดระแวงกันอยู่มาก พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ ฝ่ายเจ้าไม่ได้วางใจขุนศึกเผด็จการทหารแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ มองว่าพวกนี้เป็นภัยสำหรับตัวเองเหมือนกัน ส่วนพวกขุนศึกก็แตกคอกันเอง ฝ่ายถนอม (กิตติขจร) กับ ประภาส (จารุเสถียร) ก็ขัดแย้งกับกลุ่มกฤษณ์ (สีวะรา) ทวี (จุลละทรัพย์) ประเสริฐ (รุจิรวงศ์) ในการเมืองแบบนี้ ฝ่ายนักศึกษาเลยได้รับชัยชนะง่ายหน่อย ซึ่งประวัติศาสตร์กระแสหลักก็บันทึกไว้ว่า นักศึกษากับฝ่ายเจ้าไม่ได้มีความขัดแย้งกัน เป็นการต่อสู้ของพลังบริสุทธิ์กับเผด็จการทหาร

แต่ในสภาพปัจจุบัน ฝ่ายศักดินาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าสมัย ‘14 ตุลา 16’ มาก ยิ่งไปกว่านั้น องคาพยพที่แวดล้อมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บรรดาเจ้าสัว กลุ่มทุน ยันพวกนักคิด นักวิชาการ กระทั่งคนทำงานทางวัฒนธรรมอย่างศิลปิน กวี ก็เอนไปทางนั้นหมด คนหนุ่มสาวรุ่นนี้จึงรับภาระหนัก

หนึ่งในข้อเรียกร้องที่แหลมคมที่สุดของการต่อสู้รอบนี้คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

เราต้องยอมรับว่า สถาบันกษัตริย์และเครือข่ายชนชั้นนำไทย หรือที่เรียกกันแบบรวมๆ ว่า ‘ฝ่ายเจ้า’ มีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เพียงแต่ว่า ไม่มีคนสังเกตเห็น หรือหากเห็นก็ไม่กล้าพูด

ย้อนกลับไปเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ตำรวจที่ตีกบาลนักศึกษาล้วนเป็นของฝ่ายเจ้าทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ณรงค์ (มหานนท์) มนต์ชัย (พันธุ์คงชื่น) หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา คนเหล่านี้ต่างได้ดิบได้ดีทั้งนั้น พลตำรวจเอกเอกณรงค์สุดท้ายได้เป็นถึงอธิบดีกรมตำรวจเลยทีเดียว รายละเอียดเรื่องนี้ผมเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก (ไขแสง เป็น 1 ใน 13 ‘กบฏ 14 ตุลา’) เมื่อสักครู่ผมบอกไว้ว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักบอกว่า นักศึกษากับฝ่ายเจ้าไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาไม่นานเท่านั้น เมื่อพลังนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น ชนชั้นนำก็เริ่มระแวง จนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ประเด็นเหล่านี้ก็เริ่มมีการถูกพูดถึงมากขึ้นเมื่อมีการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาใหม่

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พลเอกสนธิ (บุญยรัตกลิน) หัวหน้าคณะรัฐประหาร เคยพูดว่า “บางคำถาม ถึงตายก็พูดไม่ได้” โอเค เราไม่สามารถฟันธงชัดๆว่า เขาหมายถึงอะไร แต่โดยนัยยะก็ชี้ไปถึงอำนาจที่สูงกว่า เมื่อประกอบกับเหตุการณ์แวดล้อมอื่นๆ เช่น รูปถ่ายให้เข้าเฝ้ากลางดึก สปีชของคุณเปรมเรื่องม้ากับจ๊อกกี้ ผมคิดว่า ทุกคนรู้ ฝ่ายที่เชียร์ทหารก็รู้ ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารก็รู้ เพียงแต่พูดแบบตรงไปตรงมาไม่ได้

ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บนเวทีปราศรัยมีการพูดที่มีนัยไปถึงฝ่ายเจ้าและเครือข่าย ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีการพูดอย่างตรงไปตรงมา ใช้อุปมาโวหารเสียมาก แต่สมัยนั้นก็ถือว่าพูดกันแรงมากแล้ว หากใครที่พูดตรงไปตรงมาหน่อยก็โดนคดี ม.112 เล่นงาน

มาถึงวันนี้ที่คนรุ่นคุณรุ้งและคุณเพนกวินนำเสนอประเด็นสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา เอาสิ่งที่ซุกอยู่ใต้พรมขึ้นมาคุยบนโต๊ะอย่างมีเหตุมีผล คนแก่อย่างเราต้องเคารพในความกล้าหาญของพวกเขา การปราศรัยบนเวทีจะมีอารมณ์ปะปนบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของการไฮด์ปาร์คบนเวที เติมพริก บีบมะนาว น้ำปลาบ้าง ควรดูด้วยว่าที่เขาพูดมีเหตุมีผลไหม กล่าวหาอย่างเลื่อนลอย ไม่มีหลักฐาน หรือไม่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร

ผมมาอยู่ที่ยุโรปได้เห็นข่าวการตรวจสอบงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ หรือในสเปน เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์เลย ในโลกกว้างที่ศิวิไลซ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องโคตรธรรมดาเลย (เน้นเสียง) ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ พูดแบบไม่เสแสร้ง การตรวจสอบจากประชาชนเป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ แน่นอนว่าไม่มีใครพอใจหรอกที่จะถูกตรวจสอบหรือต้องถูกตัดงบประมาณ แต่การรับฟังจะทำให้สามารถปรับตัวได้

ไม่ใช่แค่สถาบันกษัตริย์เท่านั้น อันที่จริงทุกสถาบันที่มีอำนาจและใช้ทรัพยากรสาธารณะควรที่จะถูกตรวจสอบได้

ความโกรธเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนหนุ่มสาวอยู่แล้ว แต่ทำไมรอบนี้จึงมีพลังมากกว่ารอบก่อนๆ

คนรุ่นใหม่มีเครื่องมือ เข้าถึงความรู้ได้ง่ายกว่าคนรุ่นเก่า เขาอยากรู้อะไรแค่คลิกเดียวก็ค้นได้ไม่ยาก พวกเขาจึงสามารถมองเห็นความอยุติธรรมได้อย่างเป็นระบบ วิเคราะห์ได้ว่าโครงสร้างรัฐและอำนาจไม่เป็นธรรมอย่างไร เมื่อปีกลายมีเหตุการณ์ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ยิงตัวตาย เพราะเข้าใจว่าตนเองถูกแทรกแซงการตัดสินคดี นึกออกไหมว่า สังคมไทยมาถึงขั้นที่ว่า หากคุณต้องการความยุติธรรมคุณต้องยิงตัวตายแล้ว

เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยากเลย หากคุณเป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ เรียนมาทั้งชีวิต รู้ผิดชอบชั่วดี แต่ถ้ามีใครสักคนมาบอกคุณว่าคุณต้องตัดสินคดีความในแบบที่คุณไม่เห็นด้วยเลย มันรับไม่ได้ หรือถ้าคุณเป็นทหาร เรียนได้คะแนนดีเยี่ยม แต่ไม่รับใช้นาย คุณจะเติบโตในอาชีพการงานไหม กระทั่งในวงการศิลปิน ถ้าคุณไม่ทำงานตามขนบของรัฐ เชื่อฟังผู้ใหญ่ คุณจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติไหม ถ้าเป็นแล้วคุณแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ก็ขู่ว่าจะริบคืน ซึ่งทุเรศที่สุด

ตอนนี้เศรษฐกิจแย่มาก คนตกงานเป็นล้านคน เด็กจบใหม่ไม่มีงานทำ หลายคนเป็นหนี้ กยศ. แล้วถึงขั้นปล่อยให้ตัวเองล้มละลายให้ กยศ. ฟ้องตัวเอง นี่เป็นความทุกข์ของโดยตรงของคนรุ่นนี้ แต่เมื่อมองไปแล้วเห็นสถาบันฯ ข้าราชการ กองทัพ บรรดาเจ้าสัวผูกขาด ใช้เงินแบบไม่เกรงใจกันพวกเขาก็ย่อมโกรธเป็นธรรมดา

สังคมไทยเป็นระบบมาเฟียดีๆ นี่เอง มีบิ๊กบราเธอร์คอยคุม ถ้าคุณทำกิจการค้าขาย อยากเติบโตคุณก็ต้องจ่าย ถ้าไม่ยอมจ่ายก็ยากจะเติบโต ดีไม่ดีโดนตรวจสอบเรื่องภาษีจนเจ๊งฉิบหายวายวอด ดิบเถื่อนกว่านั้น คุณก็อาจจะถูกอุ้มฆ่าตรงๆ เลย

คุณจะไม่โกรธสังคมอยุติธรรมแบบนี้ได้อย่างไร เชื้อโรคกัดกินไปทุกวงการเลย ผมถึงไม่อยากกลับไปอยู่ประเทศไทยเลย พูดจริงๆ เบื่อแล้วที่ต้องอยู่กับมึงในกะลา ถ้าเด็กๆ เขาทะลุเพดาน ผมก็ทะลุฟ้าไปเลยดีกว่า เป็นนักเขียนของจักรวาลไปเลย ไม่จำเป็นต้องสังกัดประเทศไหนทั้งนั้น

ในการวิเคราะห์การเมือง คุณมักจะมองบทบาทของกลุ่มทุนและเจ้าสัวอยู่ด้วยเสมอ

เหล่าบรรดาเจ้าสัวไทยร่ำรวยกันขนาดนี้ เพราะพวกเขาเป็นทุนผูกขาด ทำมาหากินโดยพึ่งพิงอำนาจรัฐ พวกเขาย่อมสนับสนุนผู้มีอำนาจ ถ้าคุณดูข่าวคุณก็จะเห็นว่า ในแต่ละปีคนพวกนี้ใช้เงินในทางสาธารณะยังไง บริจาคสนับสนุนรัฐ และสถาบันอำนาจต่างๆ มากมายขนาดไหน

ในประเทศไทยไม่ใช่ไม่มีกลุ่มทุนที่มีความสามารถ หรือคนเก่งๆ แต่พวกนี้ไม่สามารถจะเติบโตได้ อาจประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้วก็เจอตอ ไม่สามารถแข่งขันกับพวกทุนผูกขาดได้ เพราะฉะนั้นต้องไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา นั่นคือการผูกขาดทางการเมือง

วัฒน์ วรรลยางกูร

การชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มมองเห็นการกลับมาของ ‘คนเสื้อแดง’ ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก เพราะหลังปี 2553 เป็นต้นมา คนเสื้อแดงถูกอำนาจรัฐกดปราบมาโดยตลอด ในฐานะคนเสื้อแดงคุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ต้องออกตัวก่อนนะว่า หลังจากลี้ภัยออกนอกประเทศ ผมก็ไม่ค่อยได้สัมผัสกับมวลชนเสื้อแดงแล้ว หลังโดนปราบใหญ่ในปี 2553 บทบาทของคนเสื้อแดงก็ลดลงอย่างที่คุณบอก

แต่ผมคิดว่า คนเสื้อแดงไม่มีวันลืมว่าพวกเขาถูกกระทำอย่างไร พรรคพวก เพื่อนฝูง คนใกล้ชิดที่เคลื่อนไหวด้วยกันตายอย่างไร ปมใหญ่ในใจคือ เรายังอยากจะทวงความยุติธรรมคืนให้กับเพื่อนๆ แต่เงื่อนไขชีวิตของการเป็นชนชั้นล่าง ต้องดิ้นรนทำมาหากิน การถูกปราบก็ทำให้ไม่อาจเคลื่อนไหวได้อย่างใจ

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่เปิดพื้นที่ให้คนเสื้อแดงกลับมามีพลังอีกครั้ง แต่คนเสื้อแดงควรอยู่ในบทบาทของผู้สนับสนุนมากกว่า และปล่อยให้คนรุ่นใหม่เป็นหัวหอก เราต้องยอมรับว่ารุ่นลูก รุ่นหลาน ฉลาด มีไหวพริบ และมีพลังมากกว่ารุ่นพวกเรา ซึ่งเท่าที่เห็น คนเสื้อแดงก็เป็นกองหนุนมากกว่านะ

เมื่อเปรียบเทียบการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกับนักเรียนนิสิตนักศึกษา ให้ความรู้สึกเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ได้เห็นความกล้าหาญ แต่เป็นความกล้าหาญคนละอย่าง คนเสื้อแดงทุ่มเททุกอย่าง จะให้ไปทำอะไรเขาไม่เกี่ยงเลย เสี่ยงตายก็ไป รู้ว่าไปแล้วมีเปอร์เซ็นต์ที่จะตายสูงเขาก็ยังไป เวลามาชุมนุมก็เตรียมเสบียงกันมาอยู่ยาว ทุ่มเทสุดจิตสุดใจ เป็นม็อบทรหด กล้าตาย กล้าหาญ และตายจริงเจ็บจริง

ส่วนนักเรียนนักศึกษามีความกล้าหาญในการพูดความจริง ใช้ความรู้เป็นอาวุธ พูดกันตามตรงกำลังหลักของคนเสื้อแดงเป็นคนชั้นล่างที่เรียนหนังสือไม่เยอะ ส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคนขึ้นไป ความรอบรู้เรื่องโลกสมัยใหม่หรือความรู้เบื้องลึกทางประวัติศาสตร์การเมืองก็มีน้อย ต่างจากนักเรียนนักศึกษาที่เข้าถึงข้อมูลจากเทคโนโลยี ทำให้เขารู้เกินวัยเมื่อเทียบกับคนสมัยก่อน ยังนึกอยู่เลยว่า ถ้าวันนี้ไปปราศรัยม็อบนักเรียนแล้วจะเอาอะไรไปพูด เพราะส่วนมากเวลาไปม็อบเสื้อแดงผมจะพูดเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง คนฟังส่วนหนึ่งจะตั้งใจฟัง เพราะข้อมูลพวกนี้ยังหายากและคนทั่วไปยังไม่กล้าพูดถึง แต่ม็อบทุกวันนี้เขารู้ข้อมูลต่างๆ นี้หมดแล้ว เป็นการพัฒนาด้านความรู้

ถ้าจะพูดแบบรวบยอดคือ เขามีความกล้าคนละแบบที่น่าชื่นชม จริงๆ แล้ววีรชนทุกรุ่นที่กล้าหาญต่อสู้ก็น่าชื่นชมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเดือนตุลา รุ่นพฤษภา จนมาถึงรุ่นนักศึกษาทุกวันนี้ เป็นความชื่นชมและความชื่นใจ ได้เห็นแล้วทำให้คนรุ่นเดือนตุลาอย่างผมมีกำลังใจขึ้นมา และจะช่วยสนับสนุนการต่อสู้ที่ทำได้ในช่องทางของเรา

คุณเป็นกวีและนักเขียน แต่จุดเด่นอย่างหนึ่งของคุณเวลาปราศรัยคือ การพูดเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองในภาพใหญ่ จนหลายคนนึกว่าคุณเป็น ‘อาจารย์’ ด้วยซ้ำ 

ความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมจึงเรียกร้องให้นักประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยกล้าทำงานขึ้นหน่อย เป็นปมเงื่อนสำคัญที่นักประวัติศาสตร์จะมีคุณูปการต่อการต่อสู้ของยุคสมัยได้ ซึ่งมีบางคนทำและเป็นประโยชน์มากอย่าง อ.ณัฐพล ใจจริง งานลักษณะนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่มารับใช้การเรียนรู้ในชีวิตจริง มาช่วยพัฒนาความรู้ของคนร่วมสมัยได้ดี เพราะประวัติศาสตร์ฉบับทางการนั้นเป็นอย่างที่นักประวัติศาสตร์เก่าๆ บอกว่า ยิ่งเชื่อประวัติศาสตร์เหล่านั้นคุณก็เหมือนคนตาบอด นักประวัติศาสตร์ต้องช่วยกันเปิดตาไม่ให้บอด

พรรคเพื่อไทยมีการเปลี่ยนทีมบริหารยกทีม ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ประเด็นนี้ โดยเชื่อมโยงกับการเข้าเฝ้าของคุณหญิงพจมานจนมีข่าวลือออกมาด้วยซ้ำว่าจะมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติบ้าง คุณทักษิณจะกลับมาบ้าง ความเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบการเคลื่อนไหวไหม

เรื่องคุณทักษิณเป็นไปได้ยาก แผลเยอะ ศัตรูเยอะ กลับมาเมื่อไหร่วุ่นวายหนักเข้าไปอีก ผมว่าไม่มีใครเอาสูตรนี้แน่

ส่วนเรื่องการเจรจาต่อรอง ถ้าพูดถึงความเป็นไปได้ก็ต้องยอมรับว่า เป็นไปได้ การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องดีลกัน ต่อรองกันตลอดเวลา นักการเมืองก็คิดแบบนักการเมือง ก็ว่ากันไป แต่การเมืองไทยเลยจุดนั้นมาแล้ว เราเคยพูดกันว่าการเมืองไทยต้อง ‘ก้าวข้ามทักษิณ’ ซึ่งก็ก้าวข้ามมาแล้ว ตัวผมเองก็ยังคิดว่าเขาเป็นนักการเมืองที่ใช้ได้ รักในผลงานที่เขาทำให้คนชั้นล่าง แต่ก็ไม่ได้หวังให้เขาต้องมาทำอะไรอีก ไม่ต้องคิดกลับไทยหรอก ปล่อยให้สังคมเคลื่อนไปโดยคนรุ่นใหม่ดีกว่า

พูดกันให้ถึงที่สุด สิ่งที่วิเคราะห์กันไม่มีใครรู้จริง คงมีแต่ตัวคุณหญิงพจมานเองที่รู้ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือเยอะแยะเต็มไปหมด ก็ต้องฟังหูไว้หู จริงบ้างไม่จริงบ้างวุ่นวายไปหมด แต่เรื่องนี้สะท้อนให้อย่างหนึ่งว่า ความเป็นไปทางการเมืองไทยนั้นอยู่รอบสถาบันพระมหากษัตริย์และเครือข่าย ไม่งั้นคงไม่ลือกันไปมากมายอย่างนี้หรอก

การเมืองไทยกำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ เราเห็นผู้คนเปลี่ยนใจย้ายฝั่งกันไม่น้อย การแบ่งขั้วแบบเหลืองแดง ก็เบาบางลง ในแวดวงนักเขียนมีการเปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนข้างบ้างไหม โดยเฉพาะในรุ่นของคุณที่มีความขัดแย้งสูงมากในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ต้องยอมรับว่า ในช่วงหลังผมไม่ได้สัมพันธ์กับแวดวงนักเขียนสักเท่าไหร่ เลยไม่รู้ว่าบรรยากาศในแวดวงเป็นอย่างไร แต่เท่าที่เห็นก็ไม่คิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก นักเขียนอย่างคุณวิมล ไทรนิ่มนวล หรือคุณวินทร์ เลียววาริณ ก็ยังแสดงตัวชัดเจนว่าเขาคิดแบบไหน คนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อาวุโสในวงการหลายคนก็มียศ มีตำแหน่ง พูดตรงๆ ผมอ่านคนเหล่านี้ออกมานานแล้ว ผ่านงานเขียนของพวกเขานี่แหละ ฉะนั้นก็ไม่ได้ฉงนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก

แต่ที่ผมฉงนใจมากกว่าคือ คนรุ่น ‘6 ตุลา’ ซึ่งควรจะมีความฝังใจในข้อหา ‘ล้มเจ้า’ และส่วนใหญ่ก็รู้ว่า ขบวนการกระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้านเป็นองค์กรที่ฝ่ายศักดินาตั้งขึ้นมาเพื่อพิฆาตพลังของนักศึกษา แต่แล้วจำนวนไม่น้อยกลับไปเข้าร่วมกับขบวนการทางการเมืองแบบราชาชาตินิยมเสียอย่างนั้น

วัฒน์ วรรลยางกูร

ลูกสาวคุณ (วจนา วรรลยางกูร) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ คือปมของพ่อ” กว่า 44 ปีที่ผ่านมา ปมนั้นแน่นขึ้น หรือว่าคลี่คลายลงไปอย่างไรบ้างไหม

ผมเชื่อว่า คนที่ผ่าน ‘6 ตุลา’ เป็นปมกันทุกคนนั่นแหละ ปมน้อย ปมมาก ก็อยู่ที่ว่าใครอยู่ในบทบาทแบบไหน คนที่มีบทบาทมาก เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งอยู่บนเวทีจนนาทีสุดท้ายก็เจ็บปวดกับเรื่องนี้มาก อย่างธงชัยถ้าพูดถึง ‘6 ตุลา’ เมื่อไหร่ เขาก็ร้องไห้ทุกที ส่วนผมคิดคล้ายๆ กับเกษียร เตชะพีระ ที่มองว่าการทำงานเชิงความคิดเป็นการใช้หนี้ชีวิตและจิตวิญญาณให้กับคนที่ตายไป

เรารอดมาได้ด้วยจังหวะชีวิต ด้วยอะไรไม่รู้เราก็รอดมา แม้แต่เข้าป่า เราก็รอดมาได้อีก โกงความตายมาได้นิดๆ หน่อยๆ เห็นคนล้มตายตอน ‘6 ตุลา’ ส่วนในป่าต้องสูญเสียสหายและคนรู้จักไปไม่น้อย เคยต้องแบกสหายถูกยิงได้รับบาดเจ็บและตายไประหว่างทางถอยกลับก็มี อันนี้ก็เป็นภาพที่อยู่ในใจ เป็นความรู้สึกว่า เราจะต้องทำหน้าที่แทนเขาต่อไป ในช่องทางที่เราทำได้

ผมมักจะพูดว่าผมเป็น ‘โฆษกผีวีรชน 6 ตุลา’ เพราะผมบังเอิญเขียนกลอน 6 ตุลา และต่อมากลายเป็นเพลงชื่อ ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ เป็นเหมือนคำบอกเล่าแทนเขาเหล่านั้น ทุกเช้าวันที่ 6 ตุลาคมของทุกปีจะต้องไปร้องเพลงนี้ มันเป็นปมนั่นแหละ เรารู้ความจริงทั้งหมด รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังมาตลอด 40 กว่าปี แต่เราพูดความจริงไม่ได้ ต้องพูดอ้อมไปอ้อมมา

 

โอกาสในการเกิดโศกนาฏกรรมแบบ ‘6 ตุลา’ ยังมีอยู่ไหมในโลกปัจจุบัน เพราะเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว ผีคอมมิวนิสต์ก็ไม่มี ข้อหาล้มเจ้าก็ฟังไม่ค่อยขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารก็ทำให้อำนาจรัฐถูกเปลือยได้ง่ายกว่าที่เคยเป็น

ความอยากจะปราบและกำจัดทิ้ง ผมเชื่อว่ามี ทำได้ไหม ทำได้แน่นอนถ้าเขาจะทำ แต่เงื่อนไขยากขึ้นกว่าเดิมมาก ในรอบหลายปีที่ผ่านมาการอุ้มหาย การไล่ฆ่า ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอด เพียงแต่ว่ามันเกิดในพื้นที่บางพื้นที่ เช่น ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประเทศเล็กกว่าไทย การลงมือฆ่าทำได้อย่างง่าย สาวไม่ถึงผู้บงการ ไม่มีคดีติดตัว อย่างกรณีคุณต้าร์-วันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) มีหลักฐานการอุ้มหายเป็นภาพในกล้องวงจรปิดก็ยังตามเอาผิดไม่ได้ หรืออย่างศพลอยแม่น้ำโขง อันที่จริงมีพยานและหลักฐานเยอะมาก มีคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุก่อนที่สามคนนี้จะหายไป แต่ว่าไม่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างยุติธรรมเลย เป็นการกระทำของระบอบมาเฟียระดับชาติ ซึ่งแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในประเทศศิวิไลซ์อย่างในสหรัฐอเมริกาหรือฝรั่งเศส ผมเชื่อว่าถ้าเขาจะไล่ฆ่าคุณจริงๆ เขาก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเงื่อนไขยากกว่ากัน และได้ไม่คุ้มเสีย

สำหรับนักศึกษาภายในประเทศ การปราบปรามทำได้ยาก ถ้ามีการสังหารหมู่เกิดขึ้นไม่จบง่ายเหมือน ‘6 ตุลา’ แน่ ข่าวออกไปสู่สากลเมื่อไหร่คงวายวอดกันไปหมด พวกกลุ่มทุนก็คงไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะเศรษฐกิจคงพังพินาศ

ตอนปี 2553 หลายคนก็เชื่อว่า สังคมไทยศิวิไลซ์มากพอที่จะไม่มีการสังหารหมู่ทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว

ต้องยอมรับว่า เกราะกำบังของคนเสื้อแดงกับนักศึกษาไม่เหมือนกัน อย่างไรเสีย นักศึกษาก็ถูกมองว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ มีความสุจริต ไม่มีวาระแอบแฝง ส่วนคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นล่าง ชนชั้นรากหญ้า การลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนเสื้อแดงสร้างความสั่นสะเทือนสังคมไทยอย่างมากทำให้ชนชั้นกลางระดับบน ชนชั้นนายทุน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และชนชั้นศักดินารู้สึกถูกคุกคาม

ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะความกลัวและความหวาดระแวง หลัง 14 ตุลาคม 2516 ท้องฟ้าเป็นสีทองชั่วคราว เสรีภาพมีได้แค่ปีเดียว ฝ่ายศักดินาก็ระแวงนักศึกษาแล้ว กลัวว่าจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะกระแสคอมมิวนิสต์มาแรงจริงๆ ฝ่ายเจ้า นายทุน คนรวย ก็กลัวคอมมิวนิสต์กัน การฆ่าเลยเกิดขึ้น

คุณเคยให้สัมภาษณ์เมื่อหลายปีก่อนว่า ถ้าต้องเปลี่ยนผ่านไปเป็นแบบฝรั่งเศสคุณก็ไม่เอาเหมือนกัน เพราะมีการสูญเสียมากเกินไป ทุกวันนี้ยังคิดคล้ายเดิมไหม  

ผมเพิ่งไปเที่ยวอนุสรณ์สถานเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ตรงนั้นบันทึกไว้ว่ามีคนถูกสังหารหมู่ 8 พันกว่าคน โหดร้ายมาก ผมเคยนึกภาพสงครามการเมืองในเมืองไทยแล้วใจห่อเหี่ยวมาก ผมผ่าน ‘6  ตุลา’ มาแล้วไม่อยากเห็นภาพแบบนั้นอีก

ประเทศไทยเคยผ่านสงครามภายในระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การปะทะกันก็มักเกิดขึ้นในป่า มีคนบาดเจ็บล้มตายก็เป็นบางส่วน ไม่ใช่การยิงกันกลางเมือง หรือเอาระเบิดมาถล่ม

สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดคือ ทำอย่างไรเราจึงจะผ่านความขัดแย้งโดยเสียหายน้อยที่สุด ก็ต้องใช้ความอดทน ใช้ความคิดและสติปัญญาในการแก้ปัญหา ซึ่งเด็กๆ ก็ทำถูกแล้ว ที่เอาเหตุผลขึ้นมาตีแผ่ ที่พวกเขาต้องมาเสี่ยงขนาดนี้ เพราะพวกเราอยู่ในบ้านป่าเมืองเถื่อนกันต่างหาก

 

มองจากข้างนอกเข้ามา มีอะไรที่กังวลไหม

วันที่ผมกังวลมากที่สุดคือวันแรกที่ออกจากประเทศไทย จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว สิ่งเลวร้ายยังเกิดขึ้นสะสมมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทับซ้อนหลายชั้นหลายเรื่องหลายราวจนไม่รู้จะพูดอย่างไร จะบอกว่ากังวลก็ไม่เชิง มองไม่เห็นทางออกมากกว่า มีแต่ทางระเบิดเท่านั้น อยู่ที่ว่าจะเป็นตอนไหน

ผมไม่เห็นสัญญาณการปรับตัวใดๆ ของชนชั้นนำเลย ทุกวันนี้เครือข่ายชนชั้นนำทางอำนาจมีแต่ทหาร ที่นั่งหน้าสลอนกันนี่เป็นนักฆ่าทั้งนั้น เราไม่รู้เลยว่าใครกำหนดแผนอย่างไร ได้แต่เดาสุ่มไปทั่ว บรรดากลุ่มทุน เจ้าสัว ที่บอกว่ามีวิสัยทัศน์กันนักหนา ก็ไม่เห็นมีใครพูดหรือคิดเรื่องนี้ หรืออาจจะคิดแต่ไม่พูด ในสภาพปัจจุบันเราไม่รู้ว่าใครคิดอย่างไร แต่รับรองว่าวุ่นวายแน่นอน ไม่มีปาฏิหาริย์สำหรับสังคมไทยในรอบนี้

ถ้าจับมวลอารมณ์ของสังคมจะพอเห็นว่า ผู้คนต่างพากันโกรธมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจับมือกับ ส.ว. โหวตตั้งกรรมาธิการถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญไปอีก 1 เดือน ในห้วงอารมณ์ที่สังคมกำลังโกรธ การเคลื่อนไหวในระยะต่อต้องระมัดระวังเรื่องอะไร

ฝ่ายรัฐพยายามยั่วยุให้คนโกรธตลอด เป็นกับดักที่เขาวางไว้ แต่ผมสะใจมากนะที่คนรุ่นใหม่ไม่ตกหลุมพรางกันง่ายๆ ตอนที่เขาสับขาหลอกไม่ไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบ แต่เลือกไปยื่นหนังสือถึงประธานองคมนตรีแทน บนเวทีปราศรัยเด็กเขาบอกว่า นายกรัฐมนตรีก็เหมือนหมา เขาไม่รู้จะไปทะเลาะกับหมาทำไม สุดยอดมาก พูดตรงๆ เด็กรุ่นนี้เก่งกว่ารุ่นผมเยอะ

ส่วนเรื่องความโกรธ พูดกันแบบเป็นธรรม เราจะห้ามไม่ให้เขาโกรธเป็นไปไม่ได้หรอก ในเมื่อผู้ใหญ่ทำไม่ถูกต้อง ผมเห็นคนออกมาโวยวายเรื่องที่น้องรุ้งด่าคุณชวน หลีกภัย โดยถ้อยคำเราปฏิเสธไม่ได้ว่า คำที่รุ้งใช้เป็นคำที่หยาบคาย แต่ถ้ามองเรื่องราวและบริบทที่เกิดขึ้นทั้งหมด คำมันหยาบลดลงมาเลยนะ เพราะกับเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น พวกคุณทำตัวไร้มาตรฐานกัน แทนที่จะมีส่วนในการแก้ปัญหาบ้านเมืองกลับทำตัวเละเทะกันไปหมด ก็สมควรที่จะต้องโดนเด็กด่าและโดนโกรธไหม

เรื่องที่อยากให้ระมัดระวังคือ การต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องระยะยาว ถ้าเป็นมวยก็อาจจะต้องชกกันหลายไฟต์ แต่ละไฟต์ชกกันแล้วพลิกไปพลิกมาได้ ส่งตัวนี้มาแพ้ ส่งตัวโน้นมาใหม่ เป็นเกมยืดเยื้อ ในเกมแบบนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยเสียเปรียบ เพราะกำลังน้อยกว่าเขาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ บุคลากร ความพร้อม ดังนั้น ต้องเผื่อใจสำหรับเกมยาวด้วยเหมือนกัน ทำอย่างไรไม่ให้อ่อนแรงกันไปเสียก่อน ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก

 

คุณสู้กับอำนาจศักดินามา 40 กว่าปี ประเมินศักยภาพของฝ่ายตรงข้ามอย่างไรบ้าง

เก่งและฉลาด ต้องเข้าใจว่า สิ่งค้ำจุนอำนาจศักดินาคือเครือข่ายชนชั้นนำ ซึ่งไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว แต่มีบุคคลมีฝีมือเป็นจำนวนมากอยู่ในเครือข่ายนี้

เอาเฉพาะแวดวงนักเขียนและศิลปินเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ชื่อว่าเป็นเป็นเสรีชนและขบถมากที่สุด ก็ยังถูกดึงเข้าไปอยู่ในเครือข่าย ในอดีตศิลปินเพลงเพื่อชีวิตถูกจำกัดให้ร้องเพลงอยู่แต่ในผับ อยู่กับเหล้าและผู้หญิง วันหนึ่งอุดมการณ์ก็ถดถอยลงไป เมื่อหมดสิ้นอุดมการณ์ก็ไปเป็นขี้ข้าเขา แพ้อำนาจศักดินาในเกมยืดเยื้อไง คนที่ยืนหยัดในอุดมการณ์ถ้าไม่อดตายก็เมาเหล้า เมาชีวิต เสพควันบุหรี่ เป็นมะเร็ง ไม่ตายก็เหมือนตายทั้งเป็น พลังทางความคิดก็อ่อนล้าลงไปเยอะ

อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนผ่านอย่างสำคัญอยู่ เท่าที่เห็นเครือข่ายชนชั้นนำเดิมเริ่มหมดบทบาทลงไปแล้ว คนรอบข้างศูนย์อำนาจในสมัย ร.9 มีทีมงานที่เป็นคนเก่งคนฉลาดอยู่เยอะ เช่น พระยาศรีวิสารวาจา และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำให้อำนาจในยุคสมัยนั้นเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการใช้สติปัญญาเข้ามาเกลี้ยกล่อมน้อมนำให้คนยอมเข้าไปอยู่ใต้ร่มเงาของอำนาจศักดินา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของแนวรบวัฒนธรรมคือกลุ่มนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ที่หม่อมคึกฤทธิ์ให้ความสำคัญมากกับการต่อสู้ยึดพื้นที่ในสมองและในหัวใจของคน ขณะที่ในเครือข่ายปัจจุบันดูยังขาดแคลนทีมงานประเภทนี้อยู่ มีแต่พวกกระหายเลือด

วัฒน์ วรรลยางกูร

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save