fbpx
เราจะคุยกันอย่างไรในความขัดแย้ง? เรียนรู้การสื่อสารอย่างเข้าใจ กับ ‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’

เราจะคุยกันอย่างไรในความขัดแย้ง? เรียนรู้การสื่อสารอย่างเข้าใจ กับ ‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’

ปรัชญพล เลิศวิชา เรื่อง

สาธิตา เจษฎาภัทรกุล ภาพ

 

ในโมงยามปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น การถกเถียงเรื่องการเมืองกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวงกว้างและแทรกซึมไปในทุกพื้นที่ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในสถานศึกษา ในโลกออนไลน์ หรือแม้กระทั่งในครอบครัว แต่ขณะเดียวกัน หลายๆ ครั้ง ‘การเมือง’ ถูกมองเป็นประเด็นต้องห้ามที่ควรหลบเลี่ยงในบทสนทนา เพราะอาจสร้างความกระอักกระอ่วนใจ ไปจนถึงสร้างรอยร้าวระหว่างคู่สนทนาจนมองหน้ากันไม่ติด

แต่นี่เป็นสิ่งที่ควรเป็นจริงๆ หรือ?

ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการจัดเวิร์กชอป It’s OK to have a different vision: เราคุยกันได้แม้เราจะแตกต่างทางการเมือง โดย WTF Gallery แกลเลอรีศิลปะร่วมสมัยในย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Conflicted Visions AGAIN ที่นำเอาศิลปินที่มีความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกันมาจัดแสดงผลงานร่วมกัน เวิร์กชอปดังกล่าวจัดขึ้นโดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจ (empathetic communication) ซึ่งเกิดจากความเชื่อว่า แม้แต่ละคนจะมีความคิดที่ต่างกัน แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้หากสื่อสารกันอย่างเข้าใจ

การสื่อสารอย่างเข้าใจจะช่วยประคับประคองบทสนทนาระหว่างคนเห็นต่างได้จริงๆ ไหม แล้วเราจะสื่อสารกันอย่างเข้าใจได้อย่างไร ค้นหาคำตอบร่วมกันผ่านบทสนทนากับดุจดาวด้านล่างนี้

 

 

เริ่มไปทำเวิร์กชอปกับ WTF Gallery ได้อย่างไร

เริ่มจากได้คุยกับพี่ส้ม (สมรัก ศิลา) ที่เป็นคิวเรเตอร์และเจ้าของ WTF Gallery ซึ่งจัดนิทรรศการ Conflicted Visions ที่มีศิลปินที่มีขั้วการเมืองทั้งสองขั้วมาแสดง งานนี้เคยแสดงก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่ง พอมาแสดงรอบสอง พี่ส้มเห็นว่ามันก็ยังมีความตึงเครียดที่สูงมาก ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าขนาดผ่านมาหลายปี แต่ทุกอย่างยังเข้มข้นเหมือนเดิม เขาก็คิดว่าจะไม่มีทางเลยหรือที่คนคิดต่างทางการเมืองจะคุยกันได้ เขาอยากจะทำลายความเชื่อที่ว่าเราคุยกันไม่ได้ จึงเกิดเป็นเวิร์กชอปนี้ขึ้นมา และเราก็ตอบรับด้วยความยินดี เพราะเราอยากออกแบบกระบวนการเกี่ยวกับการสื่อสารว่า จะสื่อสารกันอย่างไรให้ไม่ปะทะและทิ่มแทงไปที่ตัวบุคคล แต่ก็สามารถคุยกันได้ในไอเดียที่เห็นต่าง มันมีรายละเอียดอะไรได้บ้าง แต่เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่มาจะเป็นใคร มีพื้นหลังเป็นยังไง เราจึงขอทำเวิร์กชอปทีละคู่ เพราะปกติจะทำเวิร์กชอปทีละ 10-20 คน แล้วเราเป็นผู้นำกระบวนการ แต่คราวนี้เราขอทำเป็นคู่เท่านั้น

 

มีกระบวนการในการทำเวิร์กชอปอย่างไรตั้งแต่วินาทีที่เขาเดินเข้ามาในห้อง

เราก็แนะนำตัว ทำความรู้จักกัน ชวนให้เขานั่งบนเก้าอี้ แล้วบอกว่าในหนึ่งชั่วโมงนี้มีกติการ่วมอะไรบ้าง

ข้อ 1 เราขออนุญาตงดความรุนแรงทุกประเภท ทั้งกายภาพและความรุนแรงในภาษาพูด เพื่อจะทำให้พื้นที่นี้ปลอดภัย

ข้อ 2 เราขอเลี่ยงการตัดสินไปที่ตัวบุคคลทุกประเภท ตัดสินอะไรดีไม่ดี เอาอันนั้นออกไปก่อน เราจะคุยเพื่อความเข้าใจ

และข้อ 3 เราจะเก็บเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้มันอยู่แค่ในห้องนี้

พอเราบอกกฎกติกามารยาทเสร็จก็กำหนดบทบาทให้ผลัดกันเป็นคนพูดและคนฟัง โดยแนะนำหลักการฟังคู่สนทนาในเวิร์กชอปนี้ว่าให้ฟังเสร็จแล้วให้พูดทวนโดยใส่ความคิดของตัวเอง เพราะการทวน คุณจะได้เข้าใจสิ่งที่อีกคนพูด จริงๆ แล้วการฟังและพูดทวนนั้นยากมาก เพราะบางทีคนมักใส่ข้อมูลอะไรไม่รู้เข้าไปในการทวน เราเลยบอกว่า แค่ทวนนะ ไม่เจือปนข้อมูลของเราเข้าไป เพราะเวลาเราจะฟังใคร เราควรตั้งใจฟังอีกคน ถ้าคุณพูดแล้วเราอยากพูดไปด้วย กลายเป็นว่าสองคนพูดพร้อมกัน ในที่สุดก็ไม่มีใครทนฟังกัน นี่เป็นกระบวนการที่เราจะไม่ทำเวลาเจอคนคิดต่าง

ต่อไปเราก็เริ่มโยนคำถามไปให้ทั้งคู่ เราเริ่มถามเขาง่ายๆ ช่วยคลายความอึดอัด เช่น “วันนี้เป็นอย่างไร” “รู้สึกอย่างไรกับความสัมพันธ์ของเรา” จากนั้นจะถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น “ในสถานการณ์การเมืองตอนนี้ ชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร” เราถามว่าชอบหรือไม่ชอบเพราะมันดึงเขามาจากคำว่าถูกหรือผิด เพราะมันไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด และมีกฎในการสนทนาด้วยว่าจะไม่ตัดสินกัน

 

บรรยากาศการเวิร์กชอป (ภาพจากเพจ The Workshoppers by Empathy Sauce)

 

รอบแรกให้คนที่เป็นคนฟังได้พูดทวนอย่างเดียว แต่ในรอบสองให้เขาทวนแล้วถามเพิ่มได้ ไม่ใช่ถามเพิ่มในสิ่งที่เขาอยากพูดถึง แต่ถามเพิ่มในสิ่งที่อีกคนพูดแล้วมันคลุมเครือ เช่น “ชอบมากเลยที่นักเรียนออกมาประท้วง เห็นแล้วรู้สึกว่าเขาแน่มากเลย” เราก็จะกระตุ้นให้คนฟังทวนว่า “คุณรู้สึกอย่างนี้มันแน่มากเลย แล้วที่บอก ‘มันแน่มาก’ ขยายความได้ไหมว่ามันทำงานยังไงกับคุณ” เพราะบางทีเวลาเราคุยกัน เช่น “แม่งทำงี้ไม่ดีว่ะ” คนพูดจะมีภาพ ‘ดี’ บางอย่างในหัว แต่คนฟังก็ไปตีกับภาพคำว่า ‘ดี’ ในหัวของตัวเอง กลายเป็นว่าเข้าใจคนละอย่างกัน แล้วก็เถียงกันในภาพที่ไม่ตรงกันตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นคอนเซ็ปต์เราจะให้คนฟังขยายความ เช่น ‘ดี’ หมายถึงอะไร อธิบายต่อได้ไหมให้เฉพาะเจาะจง จะได้ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนกัน

รอบสุดท้าย เราจะป้อนคำถามลงไปเรื่อยๆ แล้วให้แต่ละคนสะท้อนสิ่งที่เห็นและความรู้สึกที่รับรู้ได้ คือคนฟังไม่ได้ฟังแค่เนื้อหา แต่ต้องสังเกตว่าฝั่งที่เล่ารู้สึกอะไร และให้สะท้อนออกมา เช่น “เมื่อกี้เห็นเลยว่าคุณค่อนข้างโกรธเวลาพูดถึงรัฐบาล” การสะท้อนทำให้คนที่เล่าเรื่องเมื่อกี้รู้สึกว่า คนฟังก็เห็นความรู้สึกเรานี่หว่า จากนั้นกลับบทบาทกัน คนฟังเป็นคนพูด คนพูดเป็นคนฟัง

แล้วสุดท้าย คือถามสรุปว่า “คุณเห็นด้วยกับอะไร” ที่ถามอย่างนี้เพราะหลายครั้งเราจะติดกับประโยคว่า “ไม่เห็นด้วยกับคุณ” คุณไม่เห็นด้วยกับ ‘คน’ เลยเหรอ มันก็ทำให้ทิ่มไปที่คนใช่ไหม แต่ถ้าบอกว่าเห็นด้วยกับความคิดอะไร หรือไม่เห็นด้วยกับข้อความอะไรที่คุณพูด มันก็ไปโฟกัสกับเรื่องที่พูดแทน แล้วก็ให้เขาตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเพราะอะไร แล้วก็เปลี่ยนบทบาทกัน เท่านี้เอง เขาก็ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟังลึกซึ้งหรืออาจจะไม่ได้เข้าไปใคร่ครวญช้าๆ ขนาดนี้

 

บรรยากาศการเวิร์กชอป (ภาพจากเพจ The Workshoppers by Empathy Sauce)

 

คุณดุจดาวเรียนมาทางจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหว (dance movement psychotherapy) ได้นำความรู้ดังกล่าวเข้ามาใช้ในกระบวนการนี้หรือไม่

ใช้ค่ะ ในเวิร์กชอปเราก็จะช่วยจัดวางท่วงท่าให้เขาด้วย ท่านั่งฟังเป็นยังไง เพราะว่าบางทีอุปสรรคของการรับฟังกันอยู่ที่ท่าทาง เช่น เวลาฟังว่าคนอื่นคิดอะไร แต่ดันนั่งฟังอย่างนี้ (กอดอกเท้ามือบนโต๊ะ) มันแสดงทัศนคติอยู่ในตัว หรือท่าทางแบบปิด (closed body) ทำให้คนฟังว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สบายใจที่จะเล่า เราก็ให้ผู้พูดโน้มตัวเข้าหาผู้ฟัง มองตาเขา หายใจไปพร้อมๆ กัน และลดทัศนคติในการตัดสิน เช่น บางทีระหว่างฟังจะมีการมองเขม็งเพราะในหัวมีการคิด เราก็จะปรามแล้วบอกว่า ช่วยปรับทัศนคติตรงนั้นออกหน่อย มันปิดกั้น

เครื่องมือการสื่อสารสามสิ่งที่นักจิตบำบัดด้านการเคลื่อนไหวให้ความสำคัญ คือ ภาษาพูด น้ำเสียง และภาษาร่างกาย ซึ่งเป็นอวจนภาษา เราฟังน้ำเสียง เราฟังร่างกาย ท่าโน่น ท่านั่น แต่ในเวิร์กชอปนี้เรากำหนดมันนิดนึงคือเราลดทอนอวจนภาษาที่เกิดขึ้นทุกชนิด เพื่อให้เขาฟังกันได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพราะแค่ตัวเนื้อหาคือความเชื่อที่ต่างกันก็ยากที่จะฟังอยู่แล้ว ฉะนั้นอะไรที่สร้างความลำบากเราก็จะพยายามปล่อยออก

 

การพูดคุยในเวิร์กชอปจะมีคนดำเนินกระบวนการให้ แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น วัยรุ่นคุยกับผู้ปกครอง จะมีวิธีการให้แต่ละฝ่ายสามารถพูดคุยกันได้ไหม

สามารถคุยได้ ถ้าการทำความเข้าใจกันเป็นความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย เราอาจขออนุญาตก่อนว่าเราอยากคุยกับคุณเรื่องนี้พร้อมไหม สะดวกไหม ไม่ใช่เอาเราสะดวก “ตอนนี้ฉันพร้อม ฉันเตรียมไว้ 3 วัน สะดวกตอนนี้” แต่อีกฝ่ายเขาไม่สะดวก มันก็ไม่แฟร์ เราควรคุยในจุดที่เราขออนุญาตเขา แล้วตกลงว่าโอเคที่จะคุยกันเรื่องนี้

นอกจากนี้ต้องหาพื้นที่ที่เอื้อต่อการพูดคุย ถ้าอยากจะคุยจริงจัง แต่นั่งอยู่ในโรงอาหารที่เสียงดัง นั่งริมถนน หรืออยู่ท่ามกลางครอบครัวใหญ่ มันก็ผิดที่ผิดทาง การเลือกพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว รู้สึกสบาย และเลือกเวลาที่เหมาะสมกับทั้งสองคนฝ่าย ช่วยให้บทสนทนาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุย แล้วก็อาจจัดการกับจิตใจตัวเองว่า การเข้าไปพูดไม่ได้แปลว่าจะแก้ปัญหาทุกอย่าง และไม่จำเป็นต้องเกิดความสมานฉันท์ตั้งแต่ครั้งแรก

ให้ถามตัวเองว่าที่เข้าไปหาเขานั้น จะเข้าไปพูดหรือจะเข้าไปฟัง เราอยากให้อีกคนเข้าใจเราหรืออยากเข้าไปเพื่อเข้าใจเขา และจะดีกว่ามากถ้าคนที่เริ่มเข้าหาจะเป็นผู้ฟังก่อน แล้วตั้งคำถามปลายเปิดแทนคำถามปลายปิดกับอีกฝ่าย เพราะถ้าถามคำถามปลายปิด เช่น “ไม่ชอบรัฐบาลใช่ไหม” ก็อาจเกิดคำตอบว่า “ใช่” พอถามต่อว่า “แล้วชอบทักษิณเหรอ” อีกฝ่ายก็จะตอบได้สั้นมาก พอเขาตอบได้สั้นเราก็จะเข้าใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามปลายเปิด เช่น “ถามจริงๆ คิดยังไงกับการทำงานของรัฐบาล เล่าให้ฟังหน่อย” ก็เปิดโอกาสให้ได้เข้าใจกันมากขึ้น ถ้าอีกฝ่ายตอบว่า “ชอบ” ก็ถามต่อได้ว่า “ชอบยังไงเล่าให้ฟังหน่อย ชอบตรงไหนบ้างเล่าให้ฟังหน่อย”

ระหว่างฟังต้องเลี่ยงการไปตัดสินอีกฝ่าย งดใช้คำพูดที่ไปทิ่มแทง ให้เกียรติเขาหน่อย ไม่ตัดบทและควรอนุญาตให้เขาพูด ส่วนคนฟังก็ฟังแล้วทวน เช่น “อ๋อ แม่ชอบอย่างนี้เพราะ 1 2 3 4 5…” หรือ “ไม่เข้าใจอ่ะ ไหนขยายความตรงนี้ให้ฟังหน่อย… เออดูแม่รู้สึกชื่นชมเนอะ สัมผัสได้ถึงความสุขมากเลยเวลาได้พูดถึงรัฐบาล แล้วก็สัมผัสได้ถึงความไม่โอเคมากๆ เลยเวลาพูดถึงการประท้วง”

การฟังแบบ active listening ช่วยให้เราได้ใคร่ครวญกับข้อมูลของอีกฝ่ายในขณะที่บทสนทนาและความสัมพันธ์ยังไปต่อได้ ถึงมีหลายอย่างที่ฟังแล้วไม่ถูกใจเรา แต่เราไม่ได้มาเพื่อถูกใจ เรามาเพื่อค้นหาความเข้าใจอีกคนว่าคืออะไร พอฟังแล้วก่อนบอกว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถามเขาก่อนได้ว่า “เราคิดไม่เหมือนกัน อยากฟังไหมว่าเราคิดอย่างไร” เห็นด้วยอะไร ไม่เห็นด้วยอะไร แล้วถึงค่อยๆ พูดต่อไป แต่บางทีเราจะตกหลุม เพราะเราอยากจะชนะ เราอยากจะบอกเขาว่า “เราถูก เขาผิด” เราอยากจะบอกเขาว่าความคิดของเขาล้าหลัง ซึ่งในความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรไม่รู้หรอก แต่ไม่มีใครชอบอยู่ในบทสนทนาที่โดนดูถูก ถ้าอยากจะคุยกันต่อ เราควรจะให้เกียรติอีกคนมากพอที่เขาสบายใจจะอยู่ในบทสนทนา แต่บางที สิ่งที่เรามักจะทำมันให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม อย่างการแดกดัน  เวลาคนมาแดกดันเรา เราจะอยากนั่งคุยกับเขาต่อไหม ไม่หรอก มันก็จะพังไป

 

 

ในขณะที่บางครอบครัวเลี่ยงพูดคุยเรื่องการเมืองเพราะคิดว่าเป็นการสร้างความขัดแย้งในบ้าน แต่คุณเชื่อว่าแต่ละคนสามารถคุยเรื่องนี้กันได้ ทำไมถึงคิดอย่างนั้น

มันทำให้เราเข้าใจกันในมิติความเชื่อทางการเมืองมากขึ้น เข้าใจว่าอีกคนคิดอย่างนั้นเพราะอะไร พ่อแม่จะเข้าใจว่าลูกๆ ไปม็อบทำไม พ่อแม่ที่ลูกชอบไปม็อบเคยสำรวจความคิดของเขาหรือเปล่าว่าเขาไปเพราะต้องการอะไร ความรู้สึกอะไรที่ผลักดันให้ออกไป คาดหวังอะไรจากการไปม็อบ ความเข้าใจกันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เรายังอยู่ในความสัมพันธ์ด้วยกันได้ การที่เราได้คุยกันเรื่องนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น แต่คำว่า ‘คุย’ หลายคนจะนึกแต่ภาพว่า พูด พูด พูด แต่การคุยจริงๆ คือการฟังและการสื่อสารจากทั้งสองฝ่าย (two way communication)

ในทางกลับกัน ลูกๆ รู้ไหมว่าทำไมพ่อแม่เครียดที่เราไปม็อบ ลองถามเขาหน่อยว่าเครียดเรื่องอะไรบ้าง เขาได้ยินอะไรมาบ้าง เขากังวลเรื่องอะไรบ้าง ฟังแล้วอาจไม่ทำตามก็ได้ อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าในหัวหรือในใจของเขาเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางทีเราอาจจะเห็นใจกันก็ได้ เราโตกันมาคนละรุ่น เขาก็มีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้คิดแบบนั้น แต่พอเราไม่รู้เหตุผลนั้นเราก็รู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจ

คำที่ได้ยินคนพูดบ่อยคือ “ไม่เข้าใจเลย” คนใช้เป็นคำสบถ คำรำพึงรำพัน “ไม่เข้าใจเลย ดูอยู่ได้เนชั่น” “ไม่เข้าใจเลย ไปอยู่ได้ม็อบเนี่ย” นี่ไง คุณไม่เข้าใจ แล้วคำถามคืออยากเข้าใจไหม ถ้าไม่อยากเข้าใจ จ้างให้ก็ไม่มีความพยายามเข้าไปสื่อสารหรือไปรับฟังหรอก เพราะไม่อยาก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกว่าในความสัมพันธ์ของครอบครัว แฟน หรือเพื่อน มันควรจะหล่อเลี้ยงด้วยความเข้าใจ เรื่องการเมืองก็เป็นมิติหนึ่งของชีวิตที่เราน่าจะคุยกันได้เหมือนเรื่องอื่น มันก็น่าลอง เวลาเราซื้อเสื้อมา เสื้อที่เรามองว่าสวย เพื่อนยังบอกว่าไม่สวยเลย แต่เรายังยืนยันสิ่งนั้นได้โดยที่เราก็ไปนั่งกินข้าวกับเขาได้ มันคล้ายกัน

 

ในการพูดคุย เราจะสามารถโน้มน้าวให้อีกฝั่งมาเชื่อในแบบที่เราเชื่อได้ไหม

ส่วนตัวไม่ชอบคำว่า ‘โน้มน้าว’ ปกติถ้าเรายื่นมือไปผลักคุณ คุณจะทำยังไง คุณก็คงขืนแรงไว้แทนที่จะรับแรงตอบ การพูดคุยก็เหมือนกัน ถ้าเราอยากให้คนเปลี่ยน เราไม่ต้องไปโน้มน้าวเขา ถ้าเขาอยากเปลี่ยนเดี๋ยวเขาก็เปลี่ยนเอง แต่เราสามารถเข้าใจได้ว่าเขาคิดเห็นยังไง แล้วเราคิดเห็นยังไง คนเราไม่ชอบให้ใครมาโน้มน้าวหรือบอกว่าความคิดของเราไม่ดี

 

 

การพูดคุยเกิดได้จากการเปิดใจจากทั้งสองฝ่าย แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมสื่อสารจะสามารถเข้าใจกันได้ไหม

อาจจะได้ ถ้าฝ่ายที่อยากสื่อสารเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่อยากสื่อสาร ก็อาจจะถามว่า “ที่ไม่อยากคุยเพราะอะไร” ก็จะเข้าใจได้แค่บางส่วน แต่ถามว่าลึกซึ้งไหมก็คงไม่ ประเด็นก็คือเราคิดว่าหลายครั้งแต่ละคนไม่มีทักษะในการรับฟังความเห็นผู้อื่นแล้วยังอยู่ในบทสนทนาได้แม้จะคิดเห็นต่างกัน ประเทศเราไม่ค่อยให้คนได้ฝึกทักษะนั้นเท่าไหร่ พอไม่ได้ฝึก เมื่อถึงเวลาที่จะต้องใช้มันก็ทะลุออกซ้ายขวาไปหมดแล้ว และบางทีเราต้องการการเปิดใจ พอเราเปิดรับแล้ว หากอีกฝั่งเผลอสื่อสารแบบที่มันทิ่มแทง อีกคนก็เจ็บ พอเจ็บแล้วก็จำและไม่เปิดใจใหม่ได้ง่ายๆ

วิธีการประคับประคองบทสนทนาโดยไม่ล้ำเส้นและไม่ทิ่มแทงคนอื่น เหมือนคุยกันริมรั้ว เราไม่ก้าวข้ามคุณไป คุณก็ไม่ทะลุเรามา แต่ยังอยู่ข้างๆ กัน คุยเรื่องเดียวกัน มันอาศัยทักษะมากนะ ถ้าทักษะไม่ดีมันก็ล่ม

 

แสดงว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องฝึก?

ใช่ ถ้าทั้งบ้านอยู่ด้วยกันมา 20 กว่าปี แต่ไม่เคยคุยกันแบบลึกซึ้งมาก่อน พอพยายามเริ่มครั้งแรกแล้วไม่สำเร็จ คุณก็เหมารวมว่า ลองคุยแล้วไม่เห็นเวิร์กเลย งั้นไม่คุยดีกว่า ซึ่งมันไม่สำเร็จอยู่แล้วเพราะคุณไม่เคยทำมา 20 ปี มันเป็นการสรุปการทดลองที่โคตรจะไม่แฟร์ ถ้าครั้งแรกลองแล้วไม่สำเร็จ คุณควรสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นในการทดลองครั้งนี้ ทำไมมันถึงล่ม งั้นเดี๋ยวคราวหน้าลองปรับวิธี ไม่ใช่ไปเหมารวมว่า พูดแล้ว ไม่เห็นเวิร์กเลย ไม่พูดเลยแล้วกัน

 

จะมีวิธีในการชักชวนอีกฝ่ายให้อยากมาสื่อสารกันหรืออยากกลับมาทดลองกันอีกรอบหนึ่งได้ยังไงบ้าง

เราไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำให้คนอยากสื่อสารได้มากเท่าไหร่ เพราะมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมาก แต่ค่อนข้างมั่นใจว่ามนุษย์ทุกคนมีเครื่องมือในการสื่อสารอยู่ในตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาร่างกาย แค่ทดลองใช้บ่อยๆ แล้วถ้าเคยใช้แล้วล่มก็ไปทดลองว่าอะไรที่ทำให้ไม่ได้ผล เช่น น้ำเสียงอย่างนี้ไม่เวิร์ก หรือการจัดการอารมณ์เราไม่ค่อยดี อยากจะชวนให้ลองขัดสนิมเครื่องมือสื่อสารของตัวเองกันหน่อย เพราะบางทีเราก็อยากพูดแบบเดิม “เป็นคนแบบนี้ ก็จะพูดแบบนี้” ก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม บุคลิกภาพของเราคือตัวตนของเราก็จริง แต่เราเลือกวิธีสื่อสารได้ ไม่ต้องติดหลุมพรางของความเคยชินก็ได้ถ้ารู้สึกว่าสิ่งเป็นอยู่มันไม่ดีแล้วเราอยากเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ก็ทำไป แต่ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทำให้เกิดความเข้าใจกันน้อยมาก การสื่อสารทำให้ความสัมพันธ์พัง ทำให้ต้องมานั่งจิกกัดกันตลอด เราก็ไปปรับจูน แล้วลองดูว่าคราวหน้าจะเป็นยังไง ก็น่าสนุกนะ

 

 

นอกจากในพื้นที่การสื่อสารแบบเจอกันตัวต่อตัวแล้ว การสื่อสารอย่างเข้าใจกันจะมีบทบาทกับการสื่อสารในพื้นที่อื่นไหม เช่น ในโลกออนไลน์ที่ภาษากายหรือน้ำเสียงจะหายไป

ก็ได้ แต่มันเรียกร้องความละเมียดละไมในการเลือกใช้คำมากขึ้น เพราะเดิมภาษาพูดมีน้ำเสียงไปช่วยกำหนดโทนของคำ ท่าทางร่างกายก็ไปช่วยเสริมความหมายหลายอย่าง คราวนี้พอถอดภาษาร่างกายออก ถอดโทนน้ำเสียงออก ความสุ่มเสี่ยงในการเข้าใจผิดมีสูงมาก และเวลาเราอ่านข้อมูลที่คนอื่นเขียน เราจะเติมน้ำเสียงลงไปเอง ทุกครั้งเราจะเติมจากคลังของเรา ซึ่งอาจไม่ตรงกับโทนแรกเริ่มของเขาก็ได้

ในตอนนี้เราเห็นความพยายามของมนุษย์ที่จะหาอะไรไปทดแทน บางคนก็จะใช้วิธีการ เช่น เขียนว่า ‘เสียงสูง’ หรือใช้อีโมติคอนและสติกเกอร์ทั้งหลาย บางทีเราพิมพ์อะไรไปแล้วรู้สึกว่ามันดูซีเรียส เราก็มีตัวยิ้มส่งไปด้วย มันก็สร้างโทนแทนน้ำเสียง เราเห็นว่ามีความพยายามหาวิธีทดแทนน้ำเสียงกับภาษากายที่หายไปในโลกออนไลน์อยู่เหมือนกัน

 

แล้วการสื่อการกับคนในวงกว้าง เช่น การสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งว่าเวลามีออกแถลงการณ์หรือให้สัมภาษณ์ รัฐบาลจะใช้น้ำเสียงที่กดทับประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกต่ำกว่า สำหรับการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจกันจะมีบทบาทปรับเปลี่ยนตรงนี้ได้ไหม

มีบทบาทมาก มีหลักการของการสื่อสารอย่างเข้าใจบางอย่างที่เอาไปปรับใช้กับความเป็นผู้นำได้ เช่น การปฏิบัติกับทุกคนในแบบที่เคารพความเป็นมนุษย์ของเขา ทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากัน แค่อาจมีบทบาทต่างกัน เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลยึดหลักการนี้ น้ำเสียงแบบที่เขาใช้กดทับประชาชนก็อาจไม่ออกมา หรือการเลี่ยงที่จะตัดสินการกระทำของคนอื่นแบบที่ไม่มีหลักการอะไร เช่น การกระทำนั้นดี การกระทำนั้นไม่ดี เพราะหลักเกณฑ์ของการสื่อสารอย่างเข้าใจคือการพยายามทำความเข้าใจความคิดอีกฝั่ง เริ่มต้นจากเราไปเข้าใจคนที่จะคุยด้วยก่อนว่าเขาประสบภาวะอะไรในมุมของเขา เขากำลังรู้สึกอะไร เขากำลังคิดเห็นอย่างไร แล้วเอาสิ่งนี้มาเป็นข้อมูลเข้าไปสื่อสาร การสื่อสารก็จะออกมาในแบบที่เขาเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังประสบและรู้สึกอยู่ มันก็คงได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป สมมติลองจินตนาการว่านายกฯ ออกมาแถลงว่า “ประชาชนทุกท่าน ผมก็รู้ว่า ณ ตอนนี้ ท่านอยู่ในภาวะที่ทุกสิ่งทุกอย่างมันยากลำบาก ผมเองอยู่ตรงนี้ก็ลำบากใจเหมือนกันที่เป็นคนต้องออกกฎเพื่อจะให้คน 70 ล้านคนพึงพอใจทั้งหมด” คือถ้าพูดแบบนี้ คนก็จะคิดว่ารัฐบาลเข้าใจเรานะ

เราเห็นผู้นำโลกหลายประเทศเขาใช้หลักการสื่อสารอย่างเข้าใจในการออกแถลงการณ์ แต่เราต้องเห็นภาพก่อนว่า การสื่อสารอย่างเข้าใจ ไม่ใช่แค่การพูดหวานๆ ไม่ใช่แค่การพูดเพราะๆ หรือการพูดเอาใจทั้งหมด แต่มันคือพูดจาอย่างที่เป็นตัวเรา เป็นบุคลิกเรานี่แหละ เพียงแต่เป็นการแสดงออกว่า เรารู้นะว่าอีกฝั่งกำลังประสบอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ รู้สึกอะไรอยู่ แล้วเราก็เคารพ

 

 

คิดว่าการสื่อสารอย่างเข้าใจกันจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมในวงกว้างได้หรือเปล่า

เปลี่ยนแปลงได้ เพราะมันจะทำให้คนอยากเขยิบเข้าไปคุยกันมากขึ้นเรื่อยๆ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา คุยกันได้นานขึ้น ลึกซึ้งขึ้น สำรวจกันได้รอบด้านขึ้น และอยากคุยเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนากันได้มากขึ้น ในตอนนี้ คนก็อยากแก้ปัญหากันหมด แต่พอถึงจังหวะที่ต้องคุยกัน มันไม่มีเครื่องมือที่จะประคองบทสนทนาจนเจอผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้น เพราะฉะนั้นเราว่า empathetic communication จะช่วยผลักให้คนเขยิบเข้าหากัน แล้วก็โน้มเข้าหากันเพื่อจะรับฟังกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ไขปัญหาต่างๆ

 

หากต้องการสื่อสารด้วยความเข้าใจ ขั้นตอนแรกที่เริ่มทำได้เลยคืออะไร

ฝึกที่จะรับรู้ก่อนพูด เพราะพออยากฝึก เราก็จะเห็นภาพตัวเองไปพูดก่อนเลย จริงๆ แล้วการสื่อสารอย่างเข้าใจเริ่มต้นที่การรับสาร รับสารในที่นี้คือผ่านการสังเกตการณ์ผ่านสายตา และการรับฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะฝึกที่บ้าน กลับมาถึงบ้านลองมองดูสมาชิกในบ้านก่อน ลองสังเกตเขาทางสายตาเราก่อนว่า จากสีหน้าท่าทางของเขา เรารับรู้ไหมว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เขากำลังต้องการอะไร เขากำลังคิดอะไร ลองสังเกตให้ได้ก่อน

นอกจากนี้เวลาสื่อสารกัน ถ้าเราไม่รู้ เราก็ถามคำถามปลายเปิดและฟังเขา ฟังเพื่อจะได้รู้และเข้าใจ ถ้าเรารับสารมากพอ สังเกตมากพอ เข้าใจคนตรงหน้ามากพอ เดี๋ยวเราจะรู้เองว่าเราจะพูดอะไรแบบที่ไม่หักหาญน้ำใจเขา เพราะฉะนั้นการมีทักษะการสื่อสารอย่างเข้าใจคือการเอาคนตรงหน้าเป็นตัวตั้ง คนที่เราอยากแสดงความเห็นใจด้วยเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาความต้องการอยากจะพูดของเราเป็นตัวตั้ง ตัวเราเป็นความสำคัญที่สอง

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save