fbpx
เลือดเนื้อ ‘จะนะ’ ในเงาทะมึน

เลือดเนื้อ ‘จะนะ’ ในเงาทะมึน

ธีรภัทร อรุณรัตน์ เรื่องและภาพ

 

“ให้คนกรุงเทพรู้ว่าจะนะยังมีอยู่ในโลกใบนี้”

เป็นเหตุผลที่ ยะห์ – ไครียะห์ ระหมันยะ เดินทางไปถ่ายรูปพร้อมกับป้ายแสดงความสมบูรณ์ของทะเลจะนะ ณ ห้างสรรพสินค้าและสถานที่อันเลืองชื่อของผู้มีอภิสิทธิ์ในเมืองกรุง

ไครียะห์และมิตรสหายร่วมขบวนเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อแสดงเจตนารมย์ในการกำหนดอนาคตตัวเองต่อรัฐบาลส่วนกลาง ด้วยข้อเสนอเซ็ตซีโร่โครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเอกชนในอำเภอจะนะกว่า 16,753 ไร่ ครอบคลุมตำบลนาทับ สะกอม และตลิ่งชัน

และก่อนหน้านี้เล็กน้อย ในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่พี่น้องกลุ่มเดียวกันได้ปักหลักที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยรัฐ เพราะจัดขึ้นภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินอันงวดเข้ม ระหว่างการถือศีลอดเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม

ในเมื่อนิคมอุตสาหกรรมเอกชนนี้มีผู้ถือธงนำคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) แต่ไม่อาจปักหลักต่อสู้ในพื้นที่ได้เพียงพอ ก็จำเป็นต้องเข้ากรุง-ศูนย์กลางอำนาจ

“ไปยื่นหนังสือที่ศอ.บต. ไม่ได้เพราะมีกำลังทหาร คนที่ไปยื่น อีกวันทหารตามมาที่บ้านเลย” ไครียะห์อธิบาย

 

รูปป้ายแหล่งอาหารที่ไครียะห์นำไปถ่ายรูป จะนะ
รูปป้ายแหล่งอาหารที่ไครียะห์นำไปถ่ายรูป

 

28 กันยายน 2563 หนังม้วนเดิมถูกฉายซ้ำอีกครั้ง ความพยายามผลักดันนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นรูปธรรมจากรัฐเกิดขึ้นอีกคำรบ

2 ตุลาคม 2563 การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” และแนวร่วมปักหลักตั้งเวทีชุมนุม ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา พร้อมประกาศปิดเวทีด้วย 3 ข้อเรียกร้องต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

หนึ่ง รัฐบาลจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะทั้งหมด (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2563 มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม มีทั้งหมด 3 ครั้งได้แก่ 7 พฤษภาคม 2562, 21 มกราคม 2563 และ 18 สิงหาคม 2563)

สอง หยุดกระบวนการแก้ไขผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง

สาม เรียกร้องให้พัฒนาแนวคิดใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งต้องมาจากศักยภาพในพื้นที่และการมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อเผด็จการอํานาจนิยมและเผด็จการโดยทุน อํานาจสองรูปแบบได้มาปะทะกับความพยายามสถาปนา อํานาจในการกําหนดอนาคตตนเอง

“เมื่อใดที่มีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้” คำกล่าวนี้ดูไม่เกินจริง ยิ่งกด คนยิ่งต้าน

ย้อนกลับไปราว 30 ปีก่อน

“ตั้งแต่ช่วงปี 2536 อวนลากอวนรุนเข้ามา ตอนนั้นไม่มีอะไรเลย สามีต้องออกไปหากินที่อื่น ก๊ะอยู่ที่เดิม เลี้ยงลูกโดยไม่มีหัวหน้าครอบครัว สมัยนั้นลำบาก ไม่เจริญเหมือนสมัยนี้ แต่ก็เริ่มคิดใหม่ว่าควรจะร่วมกันคิดและฟื้นฟูให้มีปลามาอยู่” ไซหนับ ยะหมัดยะ หรือ ก๊ะนับ เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ ‘ทะเลร้าง’

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องให้ชาวบ้านในพื้นที่หาดสวนกงและใกล้เคียงริเริ่มรวมกลุ่มกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในทะเลให้เคียงคู่ไปกับวิถีชีวิตและการหาเลี้ยงชีพ

จนพวกเขาได้พักหายใจไปเปราะหนึ่ง

แต่อีกหนึ่งทศวรรษต่อมา ชาวจะนะก็เผชิญกับโครงการท่อส่งและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย โรงไฟฟ้าจะนะ และโครงการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ร่วมกันต่อต้านจนจบลงด้วยการถูกสลายการชุมนุมกลางตัวเมืองหาดใหญ่ในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 กว่าจะได้รับเยียวยาค่าเสียหายผ่านกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองก็กินเวลาไปอีก 4 ปี

ผลลัพธ์จากการต่อต้านขัดขืนคือโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียและโรงไฟฟ้าจะนะได้ไปต่อ แต่ ‘อุตสาหกรรมต่อเนื่อง’ ถูกพับเอาไว้

ยังไม่จบแค่นั้น ช่วงปี 2552 มีแนวคิดริเริ่ม ‘โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย’ หรือ แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกสองจังหวัดเข้าด้วยกัน ส่งผลให้โครงการท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ของจังหวัดสงขลาถูกหมุดเอาไว้ในแผนที่คือหาดสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ

ความพยายามผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกเดินทางมาถึงทศวรรษ 2560 แต่กลับเป็นมากกว่าท่าเรือ มันคือนิคมอุตสาหกรรมที่ชื่อ ‘เมืองอุตสาหกรรมต้นแบบก้าวหน้า’

บทเรียนจาก 3 ทศวรรษ ฝ่ายรักษาฐานทรัพยากรได้เรียนรู้และมีประสบการณ์กันมากขึ้น แต่ฝ่ายสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิม ความพยายามผลักดันนิคมอุตสาหกรรมคำรบนี้สะท้อนสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในภาพใหญ่อย่างไร

 

หาดสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
หาดสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

 

จาก ‘ทะเลร้าง’ ถึง ‘นิคมอุตสาหกรรม’

 

ริมฝั่งคลื่นกระทบของหาดสวนกง โส๊ะ เส็นเจริญ หรือ บังโส๊ะ เล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ ‘ทะเลร้าง’ ที่เปิดประเด็นไว้ตอนแรกว่า “30 ปีที่แล้วปลาหายไป เพราะเรือประมงพาณิชย์เข้ามาลากเอาไปหมด ชาวบ้านต้องออกไปขายแรงงานนอกพื้นที่ จากนั้นเราเปิดวงประชุมกันว่าจะทำอย่างไร ภาษาคนบ้านๆ ก็เอาของไปวางกลางทะเล เป็นลูกยางบ้าง เป็นไผ่บ้าง ทำเป็นบ้านปลา”

“กลุ่มหนึ่งอยู่นอกบ้าน อีกกลุ่มหนึ่งกลับมาที่บ้าน ค่อยๆ กลับเข้ามา พอเรือใหญ่หมด เราฟื้นฟูมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ พอข่าวออกไปก็ทำให้กรมประมงมาช่วยสร้างปะการังเทียมให้ เราสร้างบ้านปลาให้ทุกปี ชาวบ้านเลยอพยพกลับอยู่บ้านได้หมด” บังเหตุ หรือ บ่าว ยะหมันยะ เสริมภาพสถานการณ์ช่วงนั้นให้ชัดขึ้น

ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะถูกยืนยันด้วยฝูงโลมาประมาณ 30 ตัวในวันที่ 12 กรกฎาคม และปลาอินทรีย์ 2 ตัวยาวกว่า 1 เมตรในวันที่เราออกทะเลร่วมกับชาวสวนกง

 

โส๊ะ เส็นเจริญ
โส๊ะ เส็นเจริญ

 

ราว 9 โมงเช้าจากคลองสะกอม เราออกเรือพร้อมกับบังนี รุ่งเรือง ระหมันยะ และบังหมาน ดลรอหมาน โต๊ะกาหวี พร้อมกับแว่นตาดำน้ำ ถังออกซิเจน ตะกร้าเก็บของ มีดอีโต้คู่เขียง และพ่วงด้วยเสบียงมื้อเที่ยงเป็นข้าวเหนียวไก่ทอดจากร้านน้ำชาในหมู่บ้าน

ลืมไม่ได้อีกอย่างคือกระติกน้ำร้อนเพื่อชงกาแฟซองสำเร็จรูป ที่บังนีบอกด้วยรอยยิ้มว่า ‘ถ้าไม่กิน นอนไม่หลับ’

 

กระติกน้ำและกาแฟ จะนะ จังหวัดสงขลา
กระติกน้ำและกาแฟ

 

ราวครึ่งค่อนวันบนเรือ บังนีเป็นฝ่ายดำลงไปเก็บสิ่งมีชีวิตรายล้อมปะการังเทียมที่วางทิ้งไว้กลางทะเล หนึ่งรอบการดำใช้เวลาราว 20 นาที และต้องใช้เวลาเกือบเท่าตัวหนึ่งเพื่อพักร่างกายและเตรียมพร้อมกับการอยู่ใต้น้ำรอบใหม่

เป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะได้สัตว์น้ำพอประทังครอบครัว เพื่อนบ้าน และนำไปขายต่อที่ตลาด

ฝ่ายบังหมานคอยช่วยเตรียมอุปกรณ์สำหรับบังนี เมื่ออีกฝ่ายลงใต้ท้องทะเล นอกเหนือจากคอยตรวจตราเชือกที่คล้องผู้ดำน้ำแล้ว บังนีต้องดูการทำงานของถังป้อนอากาศให้ทำงานได้ราบรื่น

หากวางใจว่าเพื่อนร่วมเรือปลอดภัยจึงหันความสนใจให้กับสิ่งมีชีวิตที่จับขึ้นมา มือหนึ่งของบังหมานคอยคัดเลือกหอยตัวที่โตพอสำหรับการกิน อีกมือหนึ่งถือมีดทำความสะอาดหินดินทรายที่ติดมากับเปลือกนอกของหอย สองมือประสานกันอย่างทะมัดทะแมง บอกประสบการณ์เข้มข้นของคนเดินเรือ

 

ดลรอหมาน โต๊ะกาหวี
ดลรอหมาน โต๊ะกาหวี

 

รุ่งเรือง ระหมันยะ
รุ่งเรือง ระหมันยะ

 

ครั้นดำเสร็จจุดหนึ่งก็เปลี่ยนไปดำอีกจุดหนึ่ง ด้วยการนำทางจากจีพีเอสบนหน้าจอโทรศัพท์ และรายรอบตลอดเส้นทางเดินเรือของเรานั้นมีธงต่างสีเพื่อบอกผู้รับผิดชอบบริเวณนั้น ซึ่งจะบอกถึงความเฉพาะของอุปกรณ์จับสัตว์น้ำและเป้าหมายที่ถูกหมายตาไว้ใต้ท้องทะเลอีกต่อหนึ่ง

เราอยู่ท่ามกลางคลื่นน้ำราว 2 ชั่วโมงก็พบกับผู้ร่วมทาง พร้อมด้วยปลาอินทรีย์ตัวยาวกว่า 1 เมตร 2 ตัว

“ขายได้เกือบ 3,000 บาท” เขาว่าอย่างนั้น

 

ปลาอินทรีย์
ปลาอินทรีย์สองตัวที่จับได้

 

คลื่นน้ำสีเขียวมรกตที่คลอแดดในวันหลังฝนตก ตัดกับสีเขียวชอุ่มของเกาะเล็กใหญ่รายล้อม ชวนให้ปลอดโปร่งเพียงชั่วครู่ เมื่อกวาดสายตาไปพบกลุ่มควันที่ลอยขึ้นมาจากโรงแยกก๊าซ เป็นความจริงที่เราหนีไม่พ้น

“เราสู้ให้ถึงที่สุด ถ้าเขาสร้าง เราก็ทำงานไม่ได้แล้ว” ชาวประมงอาวุโส ผู้มองไม่เห็นอนาคตของตัวเองในโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังจะลงหลักปักฐานในอนาคตเปรยออกมา

 

บังหมาน ควัน และเครื่องยนต์
บังหมาน ควัน และเครื่องยนต์

 

จะนะที่ไม่มีประชาชน

 

สี่แยกไฟแดง ‘แยกนกเขา’ อำเภอจะนะ
สี่แยกไฟแดง ‘แยกนกเขา’ อำเภอจะนะ

 

ราว 50 กิโลเมตรจากตัวเมืองหาดใหญ่ จะนะเป็นอำเภอหนึ่งในพื้นที่สี่อำเภอและสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่กฎหมายความมั่นคงกำหนดไว้ ซึ่งแน่นอนว่ามีหน่วยงานความมั่นคงอย่าง กอ.รมน. เฝ้าดูอยู่อย่างใกล้ชิด

สิ่งที่ตามมาจากกฎหมายเหล่านี้คือกิ่งก้านของอำนาจที่สยายปีกครอบคลุมพื้นที่ ทับซ้อนกับการปกครองระดับจังหวัด และการปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม ซึ่งถูกแช่แข็งมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557

อาจกล่าวได้ว่าจะนะถูกหมายตามานานแล้ว และยิ่งมาชัดเจนจากมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่กล่าวถึงความจำเป็นในการผลักดันพื้นที่จะนะให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองต้นแบบไว้ว่า

“เนื่องจากเขตพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับแรงงานในพื้นที่จำนวนมาก และมีความพร้อมด้านกายภาพจากลักษณะทางกายภาพที่เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก”

“(พื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม) ได้รับการกำหนดประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่สีเขียวและสีเขียวคาดขาวทำให้ไม่สามารถจัดตั้งโรงงานและการประกอบอุตสาหกรรมบางประเภท ส่งผลให้เอกชนที่สนใจไม่สามารถลงทุนในโครงการได้”

ผังเมืองจะนะตามแผนพัฒนาพื้นที่
ผังเมืองจะนะตามแผนพัฒนาพื้นที่ จากเอกสารแนบท้ายจดหมายเชิญเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น

 

 

ใครได้ ใครเสีย – ความขัดแย้งชายแดนใต้ ในดุลอำนาจการเมืองโลก

 

“ที่เหมือนกันเลยคือการผลักดันโครงการโดยที่ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน”

รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ให้ข้อสังเกตถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างการผลักดันโรงแยกก๊าซ-อุตสาหกรรมต่อเนื่องในทศวรรษ 2540 และนิคมอุตสาหกรรมจะนะในศักราชนี้

 

รอมฎอน ปันจอร์
รอมฎอน ปันจอร์

 

อีกภาพที่คล้ายกันคือ เมื่อสถานการณ์ชายแดนใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงในเชิงตัวเลขน้อยลง อำเภอจะนะก็จะกลายเป็น “พื้นที่แรกๆ” ที่เกิดการผลักดันโครงการยักษ์ใหญ่

“สถานการณ์นี้คล้ายกับเมื่อช่วงประมาณปี 2541 ผมเรียกมันว่า “ปลายยุคพูโล” ที่องค์กรนำอย่าง ‘พูโล’ (องค์กรที่จับอาวุธสู้กับรัฐไทย) มีบทบาทน้อยลง มาตรการสะกดความเคลื่อนไหวทำได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเริ่มน้อยลง

“สิ่งที่ตามมาคือความตกลงร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซียเพื่อแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาร่วม กลางอ่าวไทย พร้อมกับโครงการท่อแยกก๊าซ โรงแยกก๊าซ และนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง”

ในเมื่อนิคมอุตสาหกรรมไม่สามารถไปต่อได้ด้วยการต่อต้านจากหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของชาวบ้าน สิ่งที่ตกค้างในพื้นที่คือที่ดินซึ่งถูกกว้านซื้อโดยบริษัท TPI หรือ บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) ไว้จำนวนสองพันกว่าไร่

ด้วยความที่ศักยภาพของพื้นที่จะนะยังไม่หายไปไหน และภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งปะทุขึ้นมารอบใหม่ในปี 2557 ที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นทุเลาลง รวมทั้งตัวพ.ร.บ.ชายแดนใต้ ปี 2553 ได้เปิดประตูให้ ศอ.บต. มีอำนาจประกาศเขตเศรษฐกิจเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ตามอำนาจมาตรา 10

จุดนี้จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น และกุญแจดอกเดียวกันนี้ก็เผยให้เห็นความขัดแย้งระลอกใหม่ในอีกหลายระดับ

รอมฎอนบอกว่า ระดับแรกคือความขัดแย้งภายในตัว ศอ.บต. เอง

“ศอ.บต. มีหน้าที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชนและตอบสนองความต้องการในแง่การพัฒนา แต่การผลักดันนี้อาจไปขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ที่ว่าควรจะต้องฟังเสียงคน คอยเป็นกลไกลดแรงเสียดทานระหว่างมาตรการด้านความมั่นคงที่ทหารหรือกองกำลังไม่สามารถทำได้”

ในระดับการเมืองโลก ความเป็นประชาธิปไตยจากปลายกระบอกปืนนี้ส่งผลต่อสถานการณ์ขัดแย้งในดุลอำนาจชุดใหญ่ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา

ด้วยสถานการณ์ที่รัฐบาลไทยต้องการแสวงหาพันธมิตรหลังสูญเสียความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ประกอบกับอิทธิพลจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการขยายดุลอำนาจผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road หรือ Belt and Road Initiative -BRI) สถานการณ์ภาพใหญ่นี้จึงมากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่จะนะซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การผลักดันนิคมอุตสาหกรรม

แม้ยังไม่มีท่าทีแน่นอนว่ากลุ่มทุนต่างชาติใดจะมาปักหลักในพื้นที่ แต่ “ในหลายรายงานก็ระบุว่าเป็นกลุ่มทุนของจีน ซึ่งเรื่องนี้ใหญ่กว่าประเด็นการพัฒนาของประเทศไทยเท่านั้น เดิมพันสูง ไม่แน่ว่าเราจะเห็นการถ่วงดุลอำนาจของทุนอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่”

แม้ว่าภาพของฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์-เสียประโยชน์จะกว้างขึ้น หากพิจารณาในบริบทของการเมืองโลก รวมทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ฝ่ายผลักดันและสนับสนุนกลับพยายามขีดเส้นผู้มีส่วนได้เสียไว้แค่ในพื้นที่ 3 อำเภอ

ทำให้ย้อนกลับมาในระดับพื้นที่จะนะซึ่งทำให้เราเห็นการเกิดขึ้นของ “ตัวละครใหม่” ในมหากาพย์เรื่องนี้

“กลุ่มที่สามน่าสนใจเพราะเป็นพัฒนาการใหม่ของความขัดแย้งกรณีคัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน เขาเสนอไอเดียว่าไหนๆ เขาก็เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว และมีบทเรียนจากกรณีท่อก๊าซและโรงไฟฟ้าซึ่งเขาไม่ค่อยได้ประโยชน์ รอบนี้เขาเลยขอประโยชน์ด้วย เขาใช้คำว่า ‘แบ่งเค้ก’ เลยด้วยซ้ำ โดยการขอเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้า 1,100 เมกะวัตต์”

ฝ่ายที่สามนี้ปรากฎตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดครั้งแรกในวันที่ 11 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ ศอ.บต. จัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่โรงเรียนจะนะวิทยา

ในวันนั้นมีเวทีเกิดขึ้น 3 เวที ที่แรกคือฝ่ายศอ.บต. แห่งที่สองคือบริเวณ ‘สี่แยกนกเขา’ ซึ่งฝ่ายค้านเคลื่อนขบวนมาและถูกสกัดกั้นไว้ตรงนั้น และเวทีสุดท้ายของ ‘ฝ่ายที่สาม’ คือที่ทำการ อบต.ตลิ่งชัน

“ผมเรียกฝ่ายที่สามนี้ว่าฝ่ายค้านเทียม เขาจะได้รับประโยชน์ถ้ารัฐบาลอนุญาตให้เข้ามามีส่วน แต่ถ้าถูกปฏิเสธเขาจะไปค้านด้วย ยิ่งมีความตึงเครียดมากขึ้นเท่าไหร่ ฝ่ายที่สามยิ่งสำคัญ

“ฝ่ายค้านเทียมให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับและผลกระทบที่ตัวเองมีส่วนเสียมากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร ต่างจากฝ่ายค้านจริงซึ่งสนใจฐานทรัพยากร วิถีชีวิตและเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมระดับโลก เช่น การเขียนจดหมายถึงเกรตา ธันเบิร์ก”

ทั้งความขัดแย้งภายในพื้นที่ โครงสร้างและการเมืองไทยภาพใหญ่ และดุลอำนาจโลก คำถามว่าใครได้ใครเสียในการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมครั้งนี้จึงกว้างขึ้น เป็นการร้อยรัดเข้ากับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่มีคนทั้งโลกเป็นผู้ร่วมรับผลการตัดสินใจ

คำถามจึงอยู่ที่ว่าหน้าตาของ ‘ความเจริญ’ ในศตวรรษนี้ควรจะเป็นอย่างไร

 

“พวกขัดขวางความเจริญ”

 

“เราทำงานหลายเรื่อง ทั้งความมั่นคงทางอาหาร พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ โซลาเซลล์ ระบบจัดการน้ำ รวมทั้งเรื่องการศึกษา ของเด็กและเยาวชน มีเด็กโฮมสคูลจากทั่วประเทศประมาณ 30 ครอบครัวมาเรียนวิชาทะเลกับเรา เช่น ฟังเสียงปลาและวิชาขุดน้ำจืด คนเวียดนาม คนสิงคโปร์ก็มาหาเรา”

กิตติภพ สุทธิสว่าง เครือข่ายฅนรักษ์จะนะ อธิบายความในใจเมื่อถูกกล่าวหาว่าชาวจะนะเป็นพวกขัดขวางความเจริญ

“การพัฒนาต้องมาพร้อมความสุขและยั่งยืน จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ – เราทำหนังสือเล่นนี้จนได้รางวัลจากสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ มีข้อมูลบอกไว้หมดว่าท้องทะเลจะนะมีปลาชนิดใดบ้าง ช่วงเดือนไหนมีปลาอะไร และสามารถจับในฤดูกาลอะไร”

กิตติภพเล่นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งให้เขาร่วมเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารจังหวัดสงขลา แต่พอ คสช. เข้ามา แผนทุกอย่างที่เคยเสนอหายหมด

จากนั้นเครือข่ายฅนรักษ์จะนะเริ่มเล่นบทรุก ด้วยการผลักดันผังเมืองร่วมกับโยธาธิการจังหวัดจนได้สีเขียวทั้งจังหวัดมา ซึ่งริเริ่มในปี 2556 จนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในปี 2559 แต่พอปี 2560 ทุกอย่างเริ่มกลับตาลปัตร

 

กิตติภพ สุทธิสว่าง 
กิตติภพ สุทธิสว่าง 

 

“โลกเราเรียกร้องเรื่องอาหาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม แต่คุณกลับเอาโครงการแบบมาบตาพุดมาให้เรา ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ด้วย เกิดความแตกแยก ทรัพยากรหาย โอกาสที่คนทั้งประเทศจะใช้ทรัพยากรร่วมกันไม่เหลือ

“พี่น้องเรามีทักษะเรื่องการเลี้ยงนกเขาชวา เราทำข้อมูลเฉพาะ 3 ตำบล สร้างรายได้ปีละ 500 ล้านบาท รวมถึงอาชีพอื่นๆ อีก 16 อาชีพ ทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมในเชิงนิเวศภูมิปัญญา”

แม้ว่าชาวจะนะจะยืนยันในศักยภาพการปกป้องบ้านเกิด แต่ความท้าทายที่พวกเขาต่างต้องเผชิญคือการอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า พวกเขาไม่ได้ปกป้องแค่พื้นที่ตัวเอง

ตอนนี้โลกไม่ใช่แค่บ้าน ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว โลกมันวิกฤตทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม โควิด-19 เราต้องสร้างเครือข่ายที่จะช่วยยืนยันปกป้อง เพราะเราไม่ได้ปกป้องแค่คนจะนะ” กิตติภพ ทิ้งท้าย

 

พระอาทิตย์ตกที่จะนะ
พระอาทิตย์ตกที่จะนะ

 

จะนะจะคลี่คลายไปอย่างไร คงยากจะตอบได้ แต่ตลอด 30 ปีของการรักษาฐานทรัพยากรในพื้นที่จะนะกลับฉายชัดถึงการเมืองไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ความมั่นคงและความเจริญกลายเป็นอาญาสิทธิ์สำหรับผู้มีอำนาจเอาไว้กดหัวประชาชนเสมอ

แต่ไม่ได้แปลว่าประชาชนจะยอมให้กดเสมอไป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save