fbpx
เมื่อญี่ปุ่นเริ่มขบคิดเรื่องการติดอาวุธจู่โจม

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มขบคิดเรื่องการติดอาวุธจู่โจม

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ญี่ปุ่นมีวิถีปฏิบัติในการป้องกันประเทศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน อันเป็นผลจากความพยายามประนีประนอมระหว่างความจริงที่ว่าญี่ปุ่นจำต้องมีศักยภาพไว้ปกป้องชาติ กับแนวทางสันตินิยมที่หยั่งรากและเบ่งบานจากซากปรักหักพังและเถ้าถ่านหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ วิถีอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้อาจถูกมองเป็นความผิดปกติในสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่ศึกษาญี่ปุ่น ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยมากว่าครึ่งศตวรรษของยุคหลังสงคราม อีกทั้งยังมองว่าเป็นเสาหลักที่ค้ำจุนสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคมาจนบัดนี้อีกด้วย

แต่วิถีปฏิบัตินี้กำลังถูกตั้งคำถามว่าจะยังช่วยให้ญี่ปุ่นอยู่รอดปลอดภัยได้หรือไม่ ในสภาวะที่ชาติซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามอย่างจีนและเกาหลีเหนือเพิ่มพูนแสนยานุภาพอย่างไม่หยุดหย่อน ขณะที่ความสัมพันธ์กับพันธมิตรเดิมอย่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะเอาแน่เอานอนไม่ได้ ภายใต้บริบทอันน่าวิตกนี้ รัฐบาลนำโดยพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) และชินโซ อาเบะ ซึ่งเพิ่งสละตำแหน่งผู้นำ ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการจัดการความมั่นคงทีละเล็กละน้อยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนญี่ปุ่นมีแนวปฏิบัติใหม่ที่เบี่ยงเบนไปจากหลักการดั้งเดิมไม่น้อย

ไม่นานก่อนที่อาเบะจะลงจากตำแหน่ง เสมือนเป็นการทิ้งทวน เขาได้สร้างความฮือฮาในหน้าสื่อทั้งในและนอกประเทศด้วยการหยิบยกข้อถกเถียงด้านความมั่นคง โดยกล่าวว่าญี่ปุ่นควรพิจารณาอย่างจริงจังได้แล้วที่จะติดอาวุธจู่โจม (strike capability) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามองเรื่องศักยภาพในการโจมตีฐานยิงขีปนาวุธของศัตรู ซึ่งนอกเหนือจากการยิงสกัดขีปนาวุธที่กำลังแล่นเข้าหาญี่ปุ่นหรือชาติพันธมิตรแล้ว ญี่ปุ่นควรสามารถ ‘ยิงโจมตีก่อน’ ในจังหวะที่ศัตรูกำลังเตรียมปล่อยขีปนาวุธออกจากฐานด้วย

ข้อเสนอนี้จุดกระแสความสนใจในยุทธศาสตร์ญี่ปุ่น เนื่องจากอาวุธจู่โจมที่อาจใช้คุกคามชาติอื่นเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้เงื่อนไขที่ญี่ปุ่นยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมา ทั้งยังก่อคำถามถึงความถูกต้องเชิงกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีข้อบัญญัติมาตรา 9 ห้ามการใช้กำลังแก้ไขความขัดแย้ง ตลอดจนความสอดคล้องกับหลักสันตินิยมอันถือเป็นตัวตนของญี่ปุ่นยุคใหม่ ผู้สังเกตการณ์ไม่น้อยมองปรากฏการณ์นี้ว่าสะท้อนภาพญี่ปุ่นที่กำลังกลายเป็น ‘ชาติปกติด้านการทหาร’ ด้วยการลดข้อจำกัด อันเป็นความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวาอย่าง LDP ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

ข้อเขียนนี้อยากพาผู้อ่านสำรวจเงื่อนไขที่ทำให้ความเห็นเรื่องขีปนาวุธจู่โจมกลายเป็นประเด็นโต้แย้งในสังคมขึ้นมา ญี่ปุ่นอยู่กับข้อจำกัดเชิงกฎหมายและค่านิยมแบบใดที่ทำให้ไม่อาจคิดที่จะมีสมรรถนะด้านนี้ได้มาก่อน ด้วยพัฒนาการเช่นไรที่ทำให้การติดอาวุธจู่โจมกลายมาเป็นตัวเลือกเชิงยุทธศาสตร์เวลานี้ และมีมูลเหตุจูงใจอื่นใดที่ซับซ้อนไปกว่าที่เห็นเบื้องหน้าหรือไม่

จุดที่อยากมุ่งความสนใจเป็นพิเศษคือ ‘กระบวนการวาทกรรม’ ที่ฝ่ายรัฐบาลใช้ประกอบสร้างหลักเหตุผลเพื่อรองรับความเคลื่อนไหวในยุทธศาสตร์การสั่งสมกำลัง ทั้งในแง่ความจำเป็นเชิงสถานการณ์และความชอบธรรมเชิงหลักการ โดยเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นต้องสร้างความยืดหยุ่นในการป้องกันประเทศเผื่อไว้ วาทกรรมฝ่ายขวาเหล่านี้กำลังค่อยๆ ทลายข้อจำกัดและเปิดทางให้ญี่ปุ่นจัดการความมั่นคงได้ด้วยตนเองมากขึ้น

 

ที่มาของหลักเกณฑ์ในการป้องกันประเทศญี่ปุ่น

 

วิถีดั้งเดิมในนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่น ซึ่งตกทอดมาเป็นข้อจำกัดจนถึงปัจจุบันนี้ มีต้นกำเนิดในทศวรรษ 1950 จากการประนีประนอมเชิงอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายซ้าย ซึ่งยึดมั่นในหลักสันตินิยมแห่งมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในปี 1947 กับฝ่ายขวาที่เห็นว่าญี่ปุ่นควรมีสรรพกำลังเพื่อป้องกันอธิปไตย โดยมองแนวทางใฝ่สันติว่าไม่อาจช่วยให้ชาติรอดพ้นภัยได้ตามที่ฝ่ายซ้ายคิดฝัน

ในต้นทศวรรษนั้น ญี่ปุ่นได้อิสรภาพคืนจากการยึดครองของสหรัฐฯ และต้องเริ่มหาแนวทางเพื่อจัดการความมั่นคงด้วยตนเอง นั่นคือบริบทที่ทำให้ ‘กองกำลังป้องกันตนเอง’ (Self Defense Force, SDF) ถือกำเนิดขึ้น กองกำลังที่ใช้ปกป้องชาติเทียบเท่าทหารแต่ไม่ใช่ทหารนี้สะท้อนการประนีประนอมข้างต้น โดยมีกระบวนการที่สำคัญคือ ‘การตีความมาตรา 9’ สร้างหลักการมาสนับสนุนแนวทางที่กำเนิดขึ้นนี้

มาตรา 9 ประกอบขึ้นด้วยข้อบัญญัติสั้นๆ สองย่อหน้า ย่อหน้าแรกมีข้อใหญ่ใจความว่า “ห้ามใช้กำลังและทำสงคราม” ส่วนย่อหน้าต่อมากำหนดว่า “ห้ามมีกองกำลังและศักยภาพทำสงคราม” ในความรับรู้เริ่มแรกของทั้งพลเอกดักกลาส แม็กอาร์เธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังที่ยึดครองญี่ปุ่น ซึ่งคือผู้เป็นต้นทางของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และนายกรัฐมนตรี ชิเกรุ โยชิดะ ผู้นำญี่ปุ่นระหว่างการยกร่างฯ ต่างเห็นพ้องในจุดยืนเดียวกันว่า ญี่ปุ่นจะต้องไม่มีกองกำลังใดๆ “แม้แต่เพื่อป้องกันประเทศ”

การจัดตั้ง SDF ในเวลาต่อมาจึงขัดกับจุดยืน ‘สันตินิยมแบบเบ็ดเสร็จ’ (absolute pacifism) อันเป็นวัตถุประสงค์ตอนแรก ดังนั้น เพื่อให้กองกำลังที่ตั้งขึ้นมีสถานะสอดรับกับกฏหมาย จึงจำเป็นต้องตีความมาตรา 9 เพื่อปรับแปลงความหมายและหลักการเสียใหม่ โดยคำสำคัญที่เป็นจุดสนใจขึ้นมาคือคำว่า ‘ศักยภาพทำสงคราม’ (war potential) กล่าวคือ จากเดิมที่มองมาตรานี้ว่าห้ามญี่ปุ่นมีกองกำลังทุกรูปแบบ มาเป็นว่า ‘กองกำลังที่ต้องห้าม’ คือศักยภาพทำสงครามเท่านั้น

ในการกำหนดขอบเขตหน้าที่ของ SDF ยังจำเป็นต้องปรับความเข้าใจเนื้อความย่อหน้าแรกด้วยเช่นกัน จากเดิมที่มองว่า เป็นการห้ามใช้กำลังระหว่างประเทศไม่ว่ากรณีใดก็ตาม มาเป็นการห้ามใช้กำลังเพื่อก่อสงครามเป็นหลัก ขณะที่ไม่ได้ห้ามการใช้กำลังในกรณีอื่นที่ไม่ขัดกับหลักสากลหรือกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ แต่คำถามก็เกิดต่อมาว่า ‘ศักยภาพทำสงคราม’ ที่ยกมาใช้เป็นเกณฑ์นี้ มีขอบเขตแค่ไหน รวมและไม่รวมอะไรอยู่ในคำจำกัดความบ้าง

ในความพยายามสร้างความชัดเจน วลี hitsuyo-saisho gendo หรือ ‘ระดับต่ำสุดเท่าที่จำเป็น’ เริ่มกลายมาเป็นเงื่อนไขที่ใช้จำกัดบทบาทหน้าที่และแสนยานุภาพของ SDF ในการป้องกันประเทศ โดยระดับที่เกินกว่านี้อาจถือเป็นศักยภาพทำสงครามที่ขัดกฎหมาย เมื่อมองเชิงหน้าที่ ระดับต่ำสุดในการใช้กำลังถูกจำกัดแค่ ‘การป้องกันประเทศตนเอง’ (self-defense) ขณะที่ในเชิงแสนยานุภาพ ระดับต่ำสุดคือการไม่ครอบครองอาวุธเชิงคุกคาม (offensive force)

หลักเหตุผลที่รัฐนำมาช่วยสนับสนุนการตีความนี้ คือบรรทัดฐานสากลและกฎบัตรสหประชาชาติที่ยอมรับว่า ‘การป้องกันตนเอง’ เป็นสิทธิที่อยู่คู่รัฐทุกรัฐซึ่งไม่อาจถูกลิดรอนไปได้ แต่ญี่ปุ่นก็ได้เสริมความเคร่งครัดให้แก่เงื่อนไขข้อจำกัดด้วยการประกาศหลัก ‘การป้องกันอย่างแท้จริง’ (senshu-boei) หรือ ‘การป้องกันเพียงอย่างเดียว’ เพื่อเลี่ยงการบิดเบือนใช้ความมั่นคงเป็นข้ออ้างสำหรับใช้กำลังพร่ำเพรื่อไร้ขีดจำกัด

 

วิถีปฏิบัติแห่งการปฏิเสธ

 

เงื่อนไขที่ตั้งขึ้นนี้กลายเป็นวิถีปฏิบัติซึ่งจำกัด SDF ให้ใช้กำลังได้เฉพาะเพื่อปกป้องเขตอธิปไตยของประเทศเมื่อถูกข้าศึกโจมตีเท่านั้น หลายทศวรรษต่อมาจนสิ้นยุคสงครามเย็น ญี่ปุ่นจึงปฏิเสธที่จะส่งกำลังไปต่างแดน และปฏิเสธการมีส่วนร่วมป้องกันพันธมิตรเมื่อถูกโจมตี ซึ่งที่จริงแล้วถือเป็นอีกสิทธิหนึ่งของรัฐอธิปไตยตามหลักสากล นั่นคือ ‘สิทธิป้องกันตนเองร่วม’ (right of collective self-defense) โดยญี่ปุ่นอ้างว่า การช่วยป้องกันพันธมิตรเป็นเรื่องที่ “เกินกว่าระดับต่ำสุดเท่าที่จำเป็น” ที่ญี่ปุ่นได้วางไว้เป็นหลักเกณฑ์การป้องกันประเทศ

ญี่ปุ่นยังปฏิเสธการมีอาวุธบางชนิดเพื่อลดความหวาดระแวงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในหมู่ชาติข้างเคียงที่เคยเป็นเหยื่อสงครามของญี่ปุ่น นอกจากปฏิเสธการมีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ญี่ปุ่นยังงดเว้นการติดอาวุธที่มีสมรรถนะโจมตีชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธพิสัยไกล อากาศยานรบบินระยะไกล หรือเรือบรรทุกเครื่องบิน (aircraft carrier) ซึ่งล้วนเป็นยุทโธปกรณ์ที่อาจทำให้ญี่ปุ่นขยายอำนาจออกไปเกินกว่าขอบเขตความจำเป็นต่ำสุด

ญี่ปุ่นตั้งมั่นที่จะคงไว้เฉพาะสมรรถนะเชิงรับ (defensive force) ในระดับที่พอต้านทานการรุกรานได้ โดยหวังผลด้วยว่าศักยภาพเหล่านี้จะช่วย “ยับยั้งศัตรูไม่ให้คิดโจมตี” เมื่อคิดว่าคงเอาชนะญี่ปุ่นได้ยาก ซึ่งก็คือหลัก ‘การป้องปราม’ (deterrence) นั่นเอง จริงอยู่ที่ยิ่งมีศักยภาพมากขึ้นก็จะยิ่งสามารถทำให้ศัตรูอยู่ห่างเราได้อย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้น แต่จากการที่ญี่ปุ่นมีข้อจำกัดเชิงหลักการ จึงต้องอาศัยพันธมิตรสหรัฐฯ ให้ช่วยเสริมและปิดช่องในสิ่งที่ขาด ซึ่งก็คือตรรกะที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพิงระบบพันธมิตรเพื่อความมั่นคงเรื่อยมา

อย่างไรก็ดี วิถีปฏิบัติเหล่านี้ได้ถูกทบทวนและปรับเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงสามทศวรรษ (1990s – 2010s) หลังยุคสงครามเย็น จะเห็นว่า SDF เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพและกู้ภัยในต่างแดน ฝึกซ้อมทางทหารร่วมกับกองทัพชาติต่างๆ บนเงื่อนไขที่ว่าภารกิจนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังในลักษณะที่ต้องห้าม โดยความเปลี่ยนแปลงนี้เร่งและถี่ขึ้นในช่วงทศวรรษ 2010 ภายใต้การบริหารประเทศอันต่อเนื่องยาวนานของนายกฯ อาเบะ

ปัจจัยที่กระตุ้นความเคลื่อนไหวนี้คงเห็นได้ไม่ยาก นั่นคือดุลอำนาจในเอเชียที่เปลี่ยนไปอย่างมากจากการทะยานขึ้นเป็นใหญ่ของจีนและการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือ ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทป้องปรามภัยให้แก่ญี่ปุ่นมาตลอดยุคหลังสงครามเผชิญวิกฤตศรัทธาและความน่าเชื่อถือ ในแง่ความมุ่งมั่นที่จะคุ้มครองพันธมิตร สภาวะเช่นนี้ช่วยหนุนให้วาระของฝ่ายขวาในญี่ปุ่นที่ต้องการลดอุปสรรคทางทหารเป็นประเด็นที่ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

 

วาทกรรมการป้องปรามกับการสั่งสมอาวุธ

 

กระบวนการวาทกรรมที่อาศัยสภาวะไม่แน่นอนนี้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนทัศนคติมหาชน เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อาเบะขึ้นเป็นผู้นำ (2012-2020) เมื่อมองเช่นนี้แล้ว การเสนอให้สังคมขบคิดเรื่องการติดอาวุธจู่โจมล่าสุดจึงอาจถือเป็นกระบวนการอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยสามารถเห็นความต่อเนื่องได้จากการใช้วาทกรรม ‘ส่งเสริมกลไกป้องปราม’ สร้างความสอดคล้องระหว่างการขยายแสนยานุภาพกับ ‘การธำรงสันติภาพ’ และหลักการป้องกัน ‘ระดับต่ำสุดเท่าที่จำเป็น’

ช่วงปี 2013-2015 ‘วาทกรรมป้องปราม’ ถูกใช้เป็นเหตุผลรองรับการปรับท่าทีเพื่อสร้างความเหนียวแน่นและน่าเชื่อถือต่อระบบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลไกป้องปรามภัยที่ญี่ปุ่นพึ่งพิงตลอดยุคหลังสงคราม แต่ในช่วงทศวรรษ 2000 การที่สหรัฐฯ ทบทวนบทบาทตำรวจโลกของตนหลังจากเข้าไปติดหล่มอยู่ในตะวันออกกลาง ส่งผลสั่นคลอนระบบพันธมิตรที่ญี่ปุ่นต้องการเป็นอย่างมากเพื่อสอดส่องพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนตะวันออกและในภูมิภาคโดยรวม

ญี่ปุ่นจึงไม่รีรอที่จะเป็นฝ่ายริเริ่มรุกเข้าหา โดยปรับการตีความมาตรา 9 ให้สามารถใช้กำลังช่วยป้องกันสหรัฐฯ ได้ หรือ ‘ยอมรับสิทธิป้องกันตนเองร่วม’ นั่นเอง แม้ในกฎหมายใหม่ซึ่งบัญญัติในปี 2015 ได้วางเงื่อนไขเพื่อเปิดช่องให้ญี่ปุ่นตัดสินใจเรื่องนี้เป็นกรณีๆ ไปอย่างไม่ผูกมัด แต่การปรับบทบาทให้ดูเท่าเทียมยิ่งขึ้นนี้ ก็ช่วยส่งสัญญาณให้โลกได้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของพันธมิตรทั้งสอง อาเบะเชื่อว่าการปรับจุดยืนนี้ช่วยทำให้สหรัฐฯ ‘เห็นคุณค่าและความสำคัญ’ ของญี่ปุ่นมากขึ้น

คำมั่นที่จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กันระหว่างพันธมิตรคือสิ่งที่ญี่ปุ่นหวังว่าจะส่งผลเชิงจิตวิทยาให้ช่วยเน้นย้ำประสิทธิภาพของกลไกป้องปราม นั่นคือช่วยยับยั้งไม่ให้จีนหรือชาติใดๆ กล้าที่จะกระทำบุ่มบ่ามต่อเขตแดนและอำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น หรือ ‘พยายามเปลี่ยนระเบียบในเอเชียด้วยกำลัง’ วาทกรรมเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเสริมกลไกป้องปราม ซึ่งหมายถึงการขยับขยายบทบาทและแสนยานุภาพของ SDF ไม่ได้ขัดต่อหลักสันตินิยมอันเป็นหลักคุณค่าที่ญี่ปุ่นยึดถือมา นั่นเป็นเพราะตรรกะการป้องปรามคือการสกัดการใช้กำลังของอีกฝ่ายก่อนที่จะบังเกิด กลไกป้องปรามที่เข้มแข็งจึงช่วยระงับไม่ให้สงครามอุบัติขึ้นตั้งแต่ต้น รัฐบาลมองว่าการยอมให้ญี่ปุ่นร่วมป้องกันพันธมิตรได้ ในทางปฏิบัติจะทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องเข้าร่วมใช้กำลังนั้นจริงๆ เนื่องจากพันธมิตรที่เหนียวแน่นช่วยลดแรงจูงใจของศัตรูที่จะเปิดฉากโจมตีแต่ต้นแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นก็สามารถรักษาหลักการป้องกัน ‘ระดับต่ำสุด’ ต่อไปได้ด้วยการสามารถพึ่งพิงศักยภาพส่วนที่ขาดจากสหรัฐฯ

อาจเสริมตรงนี้ว่าวาทกรรมป้องปรามอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์และตรรกะตรงไปตรงมาอย่างที่เห็นหรือกล่าวอ้างเสมอไป ดังที่ฝ่ายที่คัดค้านความเปลี่ยนแปลงนี้แย้งว่า รัฐบาลใช้ตรรกะที่ฟังดูดีมาเป็นข้ออ้างเพื่อปลดล็อกบทบาทของ SDF มากกว่าที่จะให้ความสนใจต่อการรักษาหลักการสันตินิยม อีกทั้งตรรกะป้องปรามก็มีความย้อนแย้งภายในตัว เนื่องจากการสกัดศัตรูไม่ให้คิดโจมตีด้วยการเพิ่มพูนพละกำลังของตนเอง ก็ไม่ได้รับประกันว่ารัฐที่เป็นผู้สั่งสมกำลังเพื่อป้องปรามอย่างญี่ปุ่น จะไม่ใช้กำลังที่มีมากขึ้นคุกคามชาติอื่นในอนาคตเสียเอง

ฝ่ายขวาพยายามย้ำว่า การทำให้พันธมิตรและกำลังทหารเข้มแข็งขึ้นเป็นไปเพื่อธำรงสันติภาพ โดยอาศัยวาทกรรมป้องปรามเป็นตัวเชื่อมหลักการขั้วตรงข้าม คือการสั่งสมกำลังรบกับสันติภาพเข้าด้วยกัน แต่นั่นก็อาจเป็นการละเลยความเป็นไปได้ที่ว่า อำนาจที่มากขึ้นอาจกระตุ้นให้ชาติอื่นหวาดระแวงและเกิดการแข่งขันกันสะสมอาวุธ ไปจนถึงการใช้กำลังสกัดอีกฝ่ายจากการรับรู้หรือคาดคะเนผิดว่าตนเองอาจถูกโจมตีหากไม่โจมตีก่อน เนื่องจากความหวั่นเกรงซึ่งกันที่เกิดขึ้น

ความย้อนแย้งนี้ยังเกิดจากตรรกะแอบแฝงว่า การป้องปรามจะยิ่งมีประสิทธิภาพ หากศักยภาพในการป้องกันและข่มขู่ศัตรูยิ่งมีมากขึ้นและแสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะใช้ศักยภาพนั้น ซึ่งอาจทำให้รัฐถลำจากการวางยุทธศาสตร์แบบตั้งรับ ไปสู่การมองอาวุธเชิงคุกคามว่าจะช่วยยกระดับการป้องปรามได้ดีกว่า อาจมองว่าการขยายข้อถกเถียงในญี่ปุ่นมาสู่การติดอาวุธจู่โจมอย่างที่เห็นทุกวันนี้ สะท้อนภาวะ ‘ติดบ่วง’ ความย้อนแย้งที่แฝงเร้นอยู่ในตรรกะการป้องปรามที่ฝ่ายขวาใช้สร้างข้อสนับสนุนในการปรับนโยบายที่ผ่านมา

 

การธำรงสันติภาพด้วยการติดอาวุธจู่โจม?

 

การตีความรัฐธรรมนูญและปรับกฎหมายช่วงปี 2014-2015 ให้สามารถช่วยป้องกันสหรัฐฯ ได้ดังที่กล่าวข้างต้นอาจดูเป็นการปรับหลักการและลดเงื่อนไขครั้งใหญ่ แต่การยังคงยึดระบบพันธมิตรเป็นกลไกป้องปรามกลับสะท้อนความต่อเนื่องในวิถี ‘การแบ่งหน้าที่’ กับสหรัฐฯ ที่ใช้มาแต่เดิม โดยญี่ปุ่นคงไว้เพียงอาวุธเชิงรับเพื่อปัดป้องการโจมตี ขณะที่สหรัฐฯ คอยเสริมกำลังเชิงรุก สำหรับโจมตีกลับเป็นการ ‘ลงโทษ’ (retaliate) ผู้ที่เปิดฉากโจมตีก่อน

อาวุธเชิงรับทำหน้าที่เสมือนโล่ ส่วนอาวุธเชิงรุกเปรียบเสมือนหอก เมื่อทำงานควบคู่กันจะช่วยสร้างจิตวิทยาการป้องปรามที่สมบูรณ์ ญี่ปุ่นที่ตั้งใจถือเพียงโล่ตามหลัก ‘การป้องกันต่ำสุด’ จึงต้องอาศัยหอกของสหรัฐฯ คอยแกว่งไกวเพื่อขู่ให้ศัตรูรู้ว่านอกจากจะเอาชนะญี่ปุ่นไม่ได้แล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐฯ โจมตีโต้กลับด้วย แต่ตรรกะนี้ก็ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าสหรัฐฯ ต้องมีท่าทีแน่วแน่ที่จะต่อสู้เคียงข้างญี่ปุ่น

แต่อย่างที่เห็น ท่าทีของสหรัฐฯ สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เบี่ยงเบนไปจากที่ John Ikenberry เคยกล่าวว่าสหรัฐฯ ให้ประโยชน์แก่ชาติพันธมิตรเสมอมาด้วยการ “นำเข้าสินค้าและส่งออกความมั่นคง” ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่อาจวางใจต่อการพึ่งพิงสหรัฐฯ เพื่อการป้องปรามได้เหมือนเดิม กระบวนการวาทกรรมระลอกใหม่จึงเกิดขึ้น โดยมุ่งเผยแพร่หลักเหตุผลที่ช่วยผ่อนปรนให้ญี่ปุ่นมีศักยภาพเชิงรุกได้ยืดหยุ่นมากขึ้น

แผนยุทธศาสตร์ที่ออกมาปลายปี 2018 เปิดทางให้ญี่ปุ่นมีอาวุธจู่โจมที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้จะไม่ระบุถึงการติดขีปนาวุธโจมตีฐานยิงของศัตรูอย่างที่อาเบะเอ่ยถึงในปีนี้ แต่ก็เห็นชัดว่าภายใต้การส่งเสริม ‘มาตรการป้องปราม’ ญี่ปุ่นหันมายอมรับยุทโธปกรณ์เชิงรุกมากขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งแม้รัฐบาลจะอ้างว่าอยู่ในกรอบ ‘ต่ำสุดเท่าที่จำเป็น’ แต่ดูเหมือนการคำนึงถึง ‘ความจำเป็น’ จะอยู่เหนือกว่า ‘ระดับต่ำสุด’ ไปเสียแล้ว

รัฐบาลได้อ้างถึงขีดความสามารถของอาวุธของจีนและเกาหลีเหนือที่ญี่ปุ่นต้องไล่ตามให้ทัน แม้จะทำให้ศักยภาพที่เพิ่มขึ้นในการป้องกันหมิ่นเหม่ไปทางสมรรถนะเชิงคุกคามก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่เข้ามาร่วมในวาทกรรมป้องปรามไม่นานมานี้ คือการป้องกัน ‘เกาะห่างไกล’ (remote islands) ซึ่งผูกโยงกับความกังวลเรื่องข้อพิพาทหมู่เกาะกับจีน ญี่ปุ่นต้องการพิสัยการโจมตีจากเรือรบของตนที่อยู่ในน่านน้ำออกไปให้กว้างไกลยิ่งขึ้น เพื่อโจมตีเรืออีกฝ่ายที่สามารถยิงใส่ญี่ปุ่นจากระยะที่ไกลขึ้นจากแต่ก่อน

เรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งเคยเป็นยุทโธปกรณ์ต้องห้าม ก็กลายเป็นอีกความจำเป็นหนึ่งด้วยสาเหตุที่ว่าเกาะห่างไกลที่ญี่ปุ่นจะต้องคุ้มกันปราศจากลานบินที่อาจใช้ในการต่อสู้เพื่อปกป้องพรมแดน จึงต้องทดแทนด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดย่อม (Izumo) ซึ่งดัดแปลงจากที่ใช้บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ มาเป็นฐานขึ้นลงของเครื่องบินขับไล่ หลักเหตุผลเช่นนี้ทำให้อาวุธจู่โจมกลายมาเป็นตัวเลือกที่ไม่เกินกว่าการป้องกันต่ำสุดเท่าที่จำเป็น

 

จากระบบป้องกันขีปนาวุธสู่ระบบโจมตี

 

จะเห็นว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้วางแผนขยายสมรรถนะของ SDF ไปในหลายด้านเพื่อส่งเสริม ‘การป้องกันแบบไร้รอยต่อ’ (seamless defense) การติดตั้ง ‘ระบบป้องกันขีปนาวุธ’ ก็เป็นอีกโฉมหน้าของความพยายามนี้ ซึ่งแน่นอนว่าหวังผลเชิงป้องปรามเช่นกัน เดิมทีระบบนี้ประกอบด้วย 2 แนวตั้งรับ ได้แก่ เรือรบติดระบบเอจิส (Aegis destroyers) ที่ยิงสกัดขีปนาวุธขณะแล่นในระยะกลาง และระบบ PAC-3 ที่ยิงสกัดในระยะท้ายสุดก่อนถึงเป้าหมาย

รัฐบาลอาเบะมีแผนติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ Aegis Ashore เพิ่มเติม ซึ่งมองว่าการติดตั้งในสองพื้นที่ทางตอนเหนือและใต้จะช่วยป้องกันญี่ปุ่นได้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ด้วยปัญหาทั้งด้านงบประมาณ เสียงต่อต้านจากคนในพื้นที่ และปัญหาเทคนิคอย่างการที่ชิ้นส่วนของอาวุธอาจตกใส่พื้นที่ชุมชน ทำให้ญี่ปุ่นประกาศระงับแผนนี้ไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการป้องปรามทั้งในแง่ศักยภาพและจิตวิทยา กลายเป็นช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในยามที่ความตึงเครียดระลอกใหม่ในคาบสมุทรเกาหลีกำลังปรากฏขึ้น

ข้อเรียกร้องของอาเบะให้ถกเถียงเรื่องอำนาจการจู่โจมและการชิงโจมตีฐานยิงขีปนาวุธของศัตรูก่อน เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่ยังหาแนวทางมาแทนที่ Aegis Ashore ไม่ได้ ขณะที่ระบบพันธมิตรก็ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจากการเมืองในสหรัฐฯ ทั้งโควิดและการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพื่อทดแทนแผนการที่ถูกระงับไป รัฐบาลพิจารณาที่จะประจำการเรือรบติดตั้งระบบเอจิสเพิ่มมากขึ้น หรือหาทางติดตั้ง Aegis Ashore บนที่ตั้งในทะเล โดยอาจจะเป็นบนเรือหรือบนฐานกลางทะเล (maritime platform) ซึ่งยังต้องศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคต่อไป

เป็นไปได้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว อาวุธจู่โจมที่ญี่ปุ่นยอมรับภายใต้กรอบความจำเป็นต่ำสุดและมาตรการป้องปรามอาจขยายไปครอบคลุมถึงขีปนาวุธที่สามารถโจมตีก่อน แต่จังหวะเวลาที่อาเบะชูประเด็นนี้ขึ้นมา อาจมองได้ว่าเป็นความต้องการ ‘อุดช่องโหว่’ ที่ Aegis Ashore ถูกระงับไป ตลอดจนความไม่แน่นอนในฝั่งพันธมิตร และการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่น ทำอย่างไรเพื่อจะคงระดับการป้องปรามต่อไปไม่ให้ขาดตอน

กระบวนการวาทกรรมรอบใหม่นี้อาจมีแรงจูงใจอยู่หลายทาง อย่างแรกคือการตีความตรงตัวว่าญี่ปุ่นควรหาทางติดอาวุธจู่โจม ซึ่งเป็นการปรับจุดยืนจากแนวทางแบ่งงานแบ่งหน้าที่กับสหรัฐฯ โดยเป็นการหาวิถีทางใหม่และศักยภาพเผื่อเอาไว้ในกรณีที่ถูกสหรัฐฯ ทอดทิ้ง หรือระบบพันธมิตรเสื่อมทรามลงกว่านี้ ญี่ปุ่นก็จะยังมีอำนาจป้องปรามในเชิงการโจมตีโต้กลับคอยข่มขู่ศัตรูได้อยู่บ้าง

เป็นไปได้เช่นกันว่าสิ่งที่เห็นคือการสร้างกระแสให้ศัตรูได้รู้ถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นที่จะพัฒนาขีดความสามารถให้สูงขึ้นไปอย่างไม่ลดละ ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาช่วยรักษาระดับการป้องปรามให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง ในยามที่จริงๆ แล้วญี่ปุ่นเผชิญปัญหาด้านศักยภาพหลายอย่าง ทั้งการประคับประคองความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังพล การแสดงความตั้งใจนี้ส่งสัญญาณให้เห็นความแน่วแน่ที่จะญี่ปุ่นจะยังคงความเข้มแข็งของตนเอาไว้

นี่ยังอาจเป็นการส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ ได้เห็นว่าญี่ปุ่นจริงจังต่อปัญหาความมั่นคงแค่ไหน หากสหรัฐฯ ปล่อยให้ระบบพันธมิตรเสื่อมลงด้วยการแสดงความกังขาหรือกดดันพันธมิตรมากเกินไป สหรัฐฯ อาจผลักดันให้ญี่ปุ่นต้องทบทวนแนวทางและหาวิธีรับมือความมั่นคงด้วยตนเอง แรงจูงใจจึงอาจมาจากความต้องการกระตุ้นให้สหรัฐฯ แสดงท่าทียึดมั่นต่อระบบพันธมิตรและทำให้ญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะไม่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งก็คือการเสริมกลไกป้องปรามในอีกทางหนึ่งนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า วาทกรรมการป้องปรามที่ใช้เป็นเครื่องมือปรับยุทธศาสตร์อย่างจำกัดในช่วงต้นสมัยอาเบะ โดยมุ่งกระชับพันธมิตรกับสหรัฐฯ ให้แน่นแฟ้น ได้เผยความย้อนแย้งให้เห็นจากการที่วาทกรรมนี้ถูกใช้เป็นเหตุผลทลายเงื่อนไขในการป้องกันประเทศเดิมลงไปเป็นขั้นๆ ให้ญี่ปุ่นสามารถครอบครองศักยภาพที่ยืดหยุ่นได้มากขึ้น

กระแสข่าวช่วงที่ผ่านมาที่ว่าญี่ปุ่นเริ่มถกกันถึงการมีขีปนาวุธจู่โจมอาจปิดบังความจริงที่ว่าญี่ปุ่นดำเนินการสำหรับติดอาวุธทำนองนี้มาอย่างต่อเนื่องระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับจุดยืนในการพิจารณา ‘ระดับต่ำสุดเท่าที่จำเป็น’ ให้เน้นที่ ‘ความจำเป็น’ เป็นสำคัญ โดยใช้วาทกรรมป้องปรามช่วยสร้างหลักเหตุผลมารองรับ วาทกรรมป้องปรามนี้ยังเป็นเครื่องมือผลักดันการขยายงบประมาณการป้องกันประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแผนการจัดตั้งหน่วยงานทางทหารเพื่อรับมือความมั่นคงหลายแนวหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ห้วงอวกาศ โลกไซเบอร์ หรืออาวุธอิเล็กโตรแม็กเนติก ซึ่งแน่นอนว่าอำนาจหน้าที่และอาวุธของ SDF จะขยายเพิ่มเติมไปกว่าวิถีปฏิบัติดั้งเดิม

เป็นที่น่าสนใจว่า จากนี้รัฐบาลชุดใหม่และกลุ่มการเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นจะอาศัยกระบวนการวาทกรรมอย่างไรเพื่อประนีประนอมหรือก้าวข้ามข้อถกเถียงระหว่างการเสริมสร้างศักยภาพ ซึ่งรวมถึงการติดขีปนาวุธจู่โจมกับการธำรงไว้ซึ่งตัวตนใฝ่สันติ ที่ยังคงเป็นเงื่อนไขในการเมืองญี่ปุ่นอย่างไม่เสื่อมคลายแม้ในปัจจุบันนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save