fbpx

วรรณกรรมและชีวิตของ กําพล นิรวรรณ นักปฏิวัติผู้พ่ายแพ้

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ชวิน ถวัลย์ภิยโย (กลุ่มหมีควาย พัทลุง) ภาพปก

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่บทสัมภาษณ์จะฉายภาพชีวิตคนได้ครบทุกเม็ด ด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษนั่นหนึ่ง และกับบางคน ชีวิตก็มีเรื่องเล่าน่าสนใจมากมายคล้ายไม่มีวันจบสิ้น อยู่ที่คุณมีเวลาพอจะฟังหรือเปล่า – ชีวิตของกำพล นิรวรรณ เป็นแบบนั้น

กำพล นิรวรรณ คือใคร?

ถ้าเป็นคนฟังวิทยุ เขาอาจเป็นนักเล่าข่าวเสียงนุ่มทุ้มที่มีจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่องดีเยี่ยม

ถ้าเป็นนักอ่าน เขาอาจเป็นนักแปลและนักเขียนผู้มีสำนวนโบราณเป็นอาวุธ

แต่กำพลก็คือกำพล เขาเป็นทั้งนักเดินทางและนักเล่าเรื่องที่ฉกาจฉกรรจ์ ทุกคำที่เขาเล่า ทุกคำที่เขาเขียน ล้วนเลือกสรรมาอย่างจริงจังเข้มข้น

“…ทันใดนั้นพื้นเนินเริ่มพะเยิบพะยาบคล้ายคลื่นโยนตัว รถจี๊ปโคลงเคลงไปมา สนยักษ์ทั้งสามต้นแกว่งไกวโอนเอนราวกับจะหักโค่นลงมา”

นี่คือบางตัวอย่างจากเรื่อง ‘บางโก้งโค้ง’ ในหนังสือรวมเรื่องสั้น อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ และเรื่องราวอื่นๆ ผลงานเขียนรวมเล่มครั้งแรกของเขาในวัย 65 ปี ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปี 2563

กำพลใช้ชีวิตวัยเด็กที่นครศรีธรรมราช ใช้ชีวิตวัยหนุ่มที่กรุงเทพฯ รู้จักคำว่า ‘ความอยุติธรรม’ ที่ธรรมศาสตร์ ก่อนเข้าป่าไปเป็นนักปฏิวัติช่วง 6 ตุลา 2519 อยู่ 5 ปี ก่อนจะออกมาเป็นนักแปล ย้ายไปทำงานเป็นพนักงานแปลและอ่านข่าวที่ BBC ในอังกฤษอยู่หลายปี และท่องไปหลายประเทศตามความจำเป็นของคู่ชีวิตที่ทำงานด้านการทูต ปัจจุบันเขาปักหลักที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เรานัดหมายคุยกันทางวิดีโอคอล กำพลอาศัยในเพนต์เฮ้าส์ชั้นสูงสุด มองเห็นตึกเอ็มไพร์สเตตชัดถนัดตา มีฟ้าใสสว่างเป็นฉากหลัง เขาบอกว่าชีวิตประจำวันอยู่กับการอ่าน เขียน และแปลหนังสือ หากมีเวลาว่างก็ฝึกดนตรีด้วย

หากใครติดตามเฟซบุ๊กของเขา ในโพสต์ ‘จดหมายจากนิวยอร์ก’ ที่เขาเขียนเป็นประจำ เขาจะลงชื่อท้ายจดหมายว่า ‘สหายจรัล นักปฏิวัติผู้พ่ายแพ้’

แต่ในนามของชีวิต กำพลเป็นอะไรมากกว่านั้น

 

กําพล นิรวรรณ
ภาพโดย ชวิน ถวัลย์ภิยโย (กลุ่มหมีควาย พัทลุง)

ชีวิตวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร

บ้านเกิดผมอยู่ปากพนัง นครศรีธรรมราช อยู่ในเขตสุขาภิบาล ห่างจากเขตเทศบาลประมาณ 200 เมตร ในเขตเทศบาลเป็นถนนยางมะตอย แต่พอพ้นไปถึงเขตสุขาภิบาลไม่มีถนนเลย เป็นเส้นที่เกิดจากทางเกวียนที่ชาวบ้านสร้างกันเอง พ่อผมเป็นครูใหญ่ โรงเรียนห่างไป 4 กิโลเมตร แกต้องเดินฝ่าเส้นทางรกชัฏ งูเห่าเยอะ อันตราย

ผมจำได้แม่น ตั้งแต่เด็กๆ ตอนที่เกเรสุดๆ คือช่วงราว 8-15 ขวบ ช่วงวัยทีน พอ 8 ขวบก็ตามพวกไปหาปลากัดแล้ว ช่วงแรกคบเพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่พอมาเข้าชั้น ป.6-7 ก็เริ่มคบตัวเก๋า ตามเขา เห็นเท่ดีนะ เวลามีงานวัด พวกนี้จะเอาเถาวัลย์เส้นเล็กๆ มาตัด งอ ใส่ไปในยางแล้วยิงหูคู่ต่อสู้ ร้องจี๊ดเลย โอ้ เรื่องใหญ่นะ เอามีดพร้าตีกันด้วย เมื่อก่อนผมอยู่แบบนี้ แต่เนื่องจากว่าพ่อสอนผมว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร ผมก็ปล่อยให้ผู้ใหญ่ฟาดกัน ผมจะตามติดเป็นกองเสริม

 

พ่อดุไหม

พ่อดุที่สุด เลี้ยงลูกแบบสมัยก่อน ทั้งเฆี่ยนทั้งตี ผมเจ็บตัวหลายครั้งเลยนะ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อ ตอนที่ผมไปเรียนมัธยมปลายในตัวเมือง ผมกลับมาบ้านไม่ยุ่งกับพ่อเลย ผมจะหลบไปอยู่บ้านยายที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน

พ่ออยากให้เราเป็นเหมือนแก เป็นนักเลง เป็นนักสู้ แต่ผมติดมาทางแม่ แม่เป็นผู้หญิงอ่อนหวาน เพราะฉะนั้นผมจึงไม่ชอบความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก พ่อก็หาว่าผมไม่สู้คน เลยเอาผมไปฝากค่ายมวยตั้งแต่เด็กๆ เมื่อไปอยู่ค่ายมวยคุณก็ต้องซ้อม กลับมาตาบวม แม่ก็ร้องไห้

แต่ก่อนนักเลงมาที่บ้านเยอะ แถวบ้านผมเมื่อก่อนโจรเยอะมาก เขาเรียกเท็กซัส แดนคาวบอย มีเสียงปืนดังทุกคืน บ้านผมยังถูกปล้นเลย พ่อผมต้องยิงลูกซองใส่ อยู่กันแบบนั้นน่ะ

 

คุณเริ่มอ่านหนังสือหรือสนใจวรรณกรรมตั้งแต่ตอนไหน

ตอนที่ผมอายุประมาณ 10 กว่าขวบ มีหนังสือเพชรพระอุมาออกมาเป็นรายสิบวัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เหลือเชื่อมากนะ เล่มแรกยังไม่เท่าไหร่หรอก แต่พอเล่มที่สองฮือฮาทั้งอำเภอเลย ขายดีมาก พ่อผมอ่านเล่มหนึ่งแล้ว พอเล่มที่สองออกมา แกสั่งให้ผมไปเฝ้าที่ร้านสายส่งหนังสือตั้งแต่เช้ามืด ผมก็ไปเฝ้า แรกๆ ผมรับหนังสือมา ยังง่วงๆ เอาไปให้แก แต่ตอนหลังผมไปอ่านดู ไล่อ่านเล่มหนึ่งเล่มสอง โอ้โห สนุกมาก ครั้งต่อไปพอผมไปรับ ผมก็ไม่ยอมเอาไปให้พ่อ แต่ไปนั่งอ่านที่ร้านน้ำชาของเพื่อนพ่อแทน

แล้วหนังสือมหัศจรรย์มาก ทำให้พ่อเที่ยวน้อยลง ช่วงหนังสือออกมา แกจะอ่านนิดๆ แล้วซ่อนไว้ก่อน เพราะต้องไปสอนหนังสือ พอพ่อไปโรงเรียนแล้ว แม่ก็จะตามหา เพราะแม่ก็ติดด้วย แม่ผมจบ ป.4 นะ แต่อ่านหนังสือเก่งมาก ทุกวันนี้ผมซื้อเพชรพระอุมาชุดใหม่ 48 เล่มให้แม่ ใส่ตู้พิเศษเลย แกก็นอนอยู่ตรงนั้น ผมเข้าใจว่าเพราะแม่เคยอ่านด้วยกันกับพ่อ เลยเป็นเหตุผลที่เขาอ่านแล้วอ่านอีกอยู่นั่น แม่รักพ่อมาก น้องสาวผมบอกว่า เรื่องอื่นแม่ไม่อ่านแล้วตอนนี้ ขนาดเรื่องสั้นของผมยังไม่อ่านเลย คิดดูแล้วกัน

กลายเป็นว่าช่วงนั้นเกิดเป็นความอบอุ่นเล็กๆ ขึ้นมา พ่อแม่แหย่กันด้วย เริ่มมีเสียงหัวเราะ คุยกันเรื่องหนังสือ ผมมีความสุขมากนะ หลังจากนั้นไม่นาน ประมาณปี 2510 เกิดเหตุการณ์สงคราม 6 วันที่ตะวันออกกลาง รบกัน 6 วันเองนะ รบกันดุเดือดมาก อิสราเอลประเทศเล็กนิดเดียว สามารถเอาชนะกลุ่มอาหรับได้

เพราะสงคราม 6 วันทำให้ผมติดหนังสือพิมพ์เลย ผมไปที่ร้านน้ำชาทุกวัน เฝ้าแต่เช้า อ่านรายงานข่าวทุกตัวอักษร ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าการเขียนต้องมีศิลปะอย่างไร เมื่อก่อนไม่สนใจอ่านหนังสือ เอาแต่เล่น พอมาอ่านที่เขารายงานเกี่ยวกับสงคราม 6 วัน โห เหมือนติดนิยายเลย ผมนั่งอ่านจนลุงเจ้าของร้านต้องไล่ให้ไปโรงเรียน ติดขนาดนั้น

ตั้งแต่นั้นมาเลยทำให้ผมติดการอ่าน ผมมาอ่านการ์ตูนของราช เลอสรวง อ่านการ์ตูนกำลังภายใน เป็นการอ่านที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเรียน คือผมไม่ชอบตำราเลย พวกวิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม ผมหลับในห้องตลอด ไม่เข้าเรียนจนถูกเฆี่ยน ครูเอาไม้ทีขนาดใหญ่ตีพับๆ เลย

 

ช่วงชีวิตวัยรุ่นก็อยู่ที่ปากพนังตลอด?

ผมย้ายมาเรียน ม.ปลายที่ตัวเมืองนครฯ มาอยู่กับป้า แม่ส่งเงินให้เดือนละ 80 บาท ซึ่งน้อยมาก ใช้ไม่พอ ตอนนั้นข้าวจานละบาทแล้ว อาทิตย์แรกเงินเกือบหมด อาทิตย์ที่สองไปอยู่กับเพื่อน ไปตระเวนหารายได้จากการเป็นกระเป๋ารถเมล์ ไม่เข้าเรียน ผมเคยถูกครูหยิกหูในวิชาภาษาอังกฤษ หนีไปไหนไม่ได้ เขาเคร่งครัดมาก ผมอ่านคำว่า ‘แดนเจอรัส’ เป็น ‘แดนกะเหรา’ เลยโดนทำโทษ

เมื่อก่อนเขาแบ่งห้องเรียนตามผลการเรียนจาก ก-จ ผมอยู่ห้อง จ คือตกทั้งชั้นน่ะ พอเรียนไปได้ปีแรก รู้ว่าไปไม่ไหวแน่ เลยบอกแม่ว่าผมไม่กลับแล้วนะ กลับไปกลายเป็นโจรแน่ สุดท้ายแม่เลยให้ผมไปอยู่กับป้าที่กรุงเทพฯ สามีแกเป็นข้าราชการชั้นสูงทีเดียว ผมก็โชคดีไปอยู่กับป้าคนนี้ ไปสอบเข้าโรงเรียนพณิชยการเชตุพน ตอนนั้นคิดว่าเรียนแล้วทำงานได้ทันที ไม่ต้องไปต่อมหาวิทยาลัย จะได้กลับมาช่วยแม่ที่บ้าน

พอเข้าเรียนแล้ว ครูประจำชั้นดีมาก เป็นครูจีน ส่งเสริมให้ผมตั้งใจเรียน ตอนนั้นน่ะที่ผมสนใจภาษาอังกฤษขึ้นมา รวมกลุ่มกับเพื่อนฝึกภาษาอังกฤษกันทุกเย็น ช่วงนั้นผมเรียนภาษาอังกฤษด้วยความสนุกมาก ผมอยู่บ้านพักรถไฟบางกอกน้อย ต้องเดินทางไปเรียนที่บางมด ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำมาลงที่ท่าพระจันทร์ แล้วเดินไปขึ้นรถเมล์ที่เสาชิงช้า เดินทางสองชั่วโมง แต่ผมหลงใหลการเรียนเสียแล้ว ภาษาจีนผมก็ดีด้วยนะตอนนั้น

ผมฝึกภาษาอังกฤษด้วยการฉีกหนังสือพิมพ์ที่ฝรั่งทิ้งแถวๆ หัวลำโพงใส่กระเป๋า แล้วนั่งท่องมาบนรถ ไม่มีหลักการใดๆ ทั้งสิ้น จริงๆ แล้วคุณต้องรู้จักไวยากรณ์ก่อนที่จะเรียนภาษาได้ แต่ผมเรียนแบบมวยวัด ฉีกแล้วจำเอา แล้วความที่เข้าหัวทุกวัน ก็พอจะผูกได้แล้วว่าทำไมใช้ศัพท์แบบนี้ ทำไมประโยคเปลี่ยนโครงสร้าง พอจับความได้

พออยู่ปีสองผมได้เป็นประธานชมรมภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษค่อนข้างแข็งแล้ว ก็เลยตัดสินใจสอบเข้ามหา’ลัย สอบเทียบผ่านเฉียดฉิว ผมก็ไปสอบเข้าธรรมศาสตร์ เลือกเศรษฐศาสตร์ภาคค่ำคณะเดียวเลย เพื่อที่ว่าจะได้กลับมาเรียนพาณิชย์ให้จบด้วย เกี่ยวๆ เอาไว้สองที่ จริงๆ ไม่คิดว่าจะได้หรอกนะ แต่พอสอบติด ยุ่งเลยทีนี้ ตังค์ก็ไม่มี แม่ผมส่งให้เดือนละ 400 บาท ผมต้องใช้เวลาว่างไปเป็นล่ามให้ทหารจีไอที่ดอนเมือง ทำให้การเรียนมั่วไปหมด ไม่ได้เข้าเรียนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งที่พาณิชย์ ทั้งที่ธรรมศาสตร์ เลยตัดสินใจว่าไม่ไหวแล้ว ต้องออกจากพาณิชย์มาอยู่ธรรมศาสตร์ที่เดียว

 

ชีวิตที่ธรรมศาสตร์เป็นอย่างไร

ผมเข้าไปปี 2516 เป็นปีที่เหตุการณ์ทางการเมืองระส่ำระสายมาก ผมภูมิใจมากนะที่ได้เข้าธรรมศาสตร์ ผมเป็นอนุรักษนิยมธรรมดานี่เอง เด็กบ้านนอกมาเข้าธรรมศาสตร์ เดินกางแขนที่สนามฟุตบอลตอนกลางคืน หายใจเข้าออก คุยกับตัวเองว่า โอ๊ย ทำได้แล้ว

พอช่วงเหตุการณ์ประท้วงวันที่ 9 ตุลาคม 2516 ผมเห็นคนเต็มลานโพธิ์เลย คนที่กำลังพูดอยู่วันนั้นก็คือเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ในชุดนักศึกษา ผมก็ยืนฟัง คิดแบบคนอนุรักษนิยมทั่วไปว่า เฮ้ย นี่มาพูดเรื่องการเมือง ก่อความวุ่นวายอะไรรึเปล่า แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ก็นั่งฟัง เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย นี่เป็นโลกใหม่ คนพูดได้อย่างไรโดยที่ไม่มีโพย แล้วสักพักใหญ่ เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) ก็ขึ้นมาพูด โอ้ นี่ยิ่งพูดดีขึ้นไปอีก ใครกันคนพวกนี้ นั่นละ ผมไม่ไปไหนอีกเลยตอนนั้น

ผมไปที่นี่ทุกวัน เหมือนติดเพชรพระอุมาเลย คุณรู้มั้ยว่าเฮโรอีนกว่าจะติดเขาต้องลองกัน 3-4 ครั้ง แต่เพชรพระอุมาติดตั้งแต่วันแรก อันไหนที่ถูกใจแล้วผมติด ผมให้ใจไปเลย

 

ตอนนั้นคุณก็ยังไม่มีอุดมการณ์ชัดเจนมากขนาดนั้น?

ไม่มีเลย ไม่รู้เรื่องอะไร ผมเกลียดคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำไป เพราะว่ามีผลกระทบมากมายต่อคนที่อำเภอปากพนังบ้านผม เพราะหลายคนที่เป็นตำรวจก็ถูกยิงเพราะถูกส่งไปปราบคอมมิวนิสต์ แต่พอมาฟังพวกนี้ด่าเผด็จการ ผมไม่ได้ชั่งน้ำหนักอะไรทั้งสิ้นว่าอะไรดีอะไรชั่ว ผมคิดว่าแรกๆ ผมประทับใจในการใช้โวหารของเขา คนพวกนี้ใช้โวหารเก่ง

วันรุ่งขึ้นฝนตก เขาอพยพคนเข้าไปในหอประชุม ผมว่าไม่ต่ำกว่า 4-5 พันคนที่ไปยัดกันอยู่ ทีนี้เขาจะทำอย่างไรให้ฝูงชนเหล่านี้อยู่กับเขา ก็สลับสับเปลี่ยนขึ้นมาพูดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการหยุด ทุกคนพูดดีหมด สมองผมล้ามาก แต่ผมจด จดในความมืดนะ เพราะแสงไม่พอ มีไฟแค่ข้างหน้าเวที ผมจดไปถึงช่วงก่อนถึงวันที่ 14 ตุลา จนเป็นปึกใหญ่มาก ผมประทับใจมาก บางคนออกมาพูดผมน้ำตาไหลเลยนะ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุลออกมาพูด เล่าชีวิตส่วนตัวถึงบ้านเกิด แกพูดได้สละสลวย ร้อยเรียงประโยคได้ดี ผมก็จดเอาไว้

ตอนผมเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผมเอาเอกสารชิ้นนี้ไปด้วย แต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2520 หน่วยงานมวลชนที่ผมสังกัดถูกโจมตี สหายอาทิตย์เสียชีวิตไป ส่วนผมรอดชีวิตมาได้กับพวกอีก 6-7 คน เป้ผมถูกยึดไปพร้อมศพของสหายอาทิตย์ เขาเอาไปกองไว้ที่หน้าเสาธงหน้าโรงพัก แล้วค้นดูเอกสารของผม ได้ทั้งบัตรประชาชนผมไปด้วย ความจริงเขาห้ามเก็บบัตรประชาชนเอาไว้นะ เพราะถ้าเราตายแล้ว ในพรรคไม่อยากให้พ่อแม่เราเดือดร้อน ถ้าทหารรู้ว่าคุณเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เขาตามไปเล่นงานถึงบ้าน แต่ผมเก็บเอาไว้เผื่อเป็นเอกสารสำคัญ ในเป้นั้นมีเอกสารชุดที่ผมบันทึกเหตุการณ์ทั้งคืนทั้งวันที่หอประชุมธรรมศาสตร์ แล้วก็มีงานแปลเรื่อง A Contribution to the Critique of Political Economy ของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ผมแปลเอาไว้หลายหน้าด้วย

พอมันจับได้ ก็ฝากบอกชาวบ้านว่าให้ไปบอกไอ้กำพล แป้นถนอม นามสกุลเดิมผม ไอ้หมาตัวนี้ ถ้าอยากได้ที่มันเขียนให้มาเอาเลย ใครจะกล้าไปเอา (หัวเราะ)

 

กําพล นิรวรรณ
ภาพโดย ชวิน ถวัลย์ภิยโย (กลุ่มหมีควาย พัทลุง)

ช่วงเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 ก่อนจะถึงเข้าป่าหลัง 6 ตุลา 2519 ณ ตอนนั้นชีวิตคุณเจออะไรบ้าง จนถึงจุดที่ตัดสินใจต่อสู้ทางการเมืองอย่างจริงจัง

ว่ากันตามตรงก็คือถลำลึกลงไปเรื่อยๆ ดีเอ็นเอผมค่อนข้างจะอารมณ์อ่อนไหว ถ้าผมเห็นใจคน ผมเห็นใจจริงๆ ผมไม่ใช่คนที่มองอะไรแบบไม่แยแส ไม่ยี่หระ ถ้าผมไม่ชอบ ผมก็เดินผ่าน แต่ถ้าผมชอบ ผมถลำลึกไปง่ายๆ เลย

ผมเรียนไม่เก่งสักวิชาตอนนั้น ผมมาเอาการเมืองแล้ว ผมเริ่มมีเพื่อนที่มีอุดมการณ์ ผมเห็นด้วยกับการต่อสู้ คำว่า ‘ความเป็นธรรม’ ‘อยุติธรรม’ ทรงอิทธิพลมากนะ สองคำนี้ฝังหูเลย

ที่ธรรมศาสตร์มีจัดนิทรรศการเรื่องทหารเอาเฮลิคอปเตอร์ไปล่าสัตว์ ผมไปเดินดู แล้วก็ค่อยๆ สะสมเข้ามาในจิตใจ เราเริ่มไปตามอ่านงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ทั้งหมด ผมจำได้ว่าเสกสรรค์เขาเขียนงานเรื่อง สงครามอินโดจีน ก็ไปตามอ่าน ตอนนั้นเริ่มมีหนังสือออกมาเยอะมาก เขื่อนที่ปิดกั้นเสรีภาพเอาไว้พังทลาย หนังสือออกมาขายหน้าธรรมศาสตร์ 5,000 เล่ม แป้บเดียวหมด ผมจำไม่ได้แล้วว่ามีเรื่องอะไรบ้าง บรรยากาศสนุกมาก

ช่วงปี 2519 ผมทำงานหนังสือพิมพ์ ชีวิตเพื่อชีวิตที่ดีกว่า อยู่ในซอยโรงหนังออสการ์ เจ้าของคือสนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการคือวินัย อุกฤษณ์ เจ้าของเพลงนกสีเหลือง ผมไม่เรียนแล้วตอนนั้น ปล่อยให้หมดสภาพนักศึกษาไปเลย ผมแบ่งเวลาสองแห่งระหว่างชุมนุมกับสำนักพิมพ์ มีชุมนุมทุกวันน่ะตอนนั้น

 

เหตุการณ์ที่ทำให้เข้าป่าตอนนั้นเป็นอย่างไร

ตอนนั้น ถนอม กิตติขจร กลับมาเป็นเณร พวกกระทิงแดงก็ไปคอยเป็นการ์ดให้ นักศึกษาก็มาประท้วงกันที่สนามหลวง ถูกกระทิงแดงก่อกวนทั้งวันทั้งคืน จนในที่สุด เย็นวันที่ 5 ตุลา ก็ไม่ไหวแล้ว ต้องย้ายเข้าไปในธรรมศาสตร์ ผมเกาะอยู่กับเพื่อนอีก 2 คน คือพันธุ์เมธ ณ ระนอง กับ วิชา พรหมยงค์ ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นผู้ก่อตั้งกาแฟดอยช้าง เขาไม่รับเงินเดือนนะ ไม่มีรายได้ ทั้งที่เป็นซีอีโอ จุดยืนมั่นคงมากคนนี้

วิชาเขาสายบู๊ เขาบอกผมว่าให้รออยู่ตรงนี้นะ เดี๋ยวเขาจะไปสู้กับกระทิงแดง คืนนั้นผมอยู่กับกลุ่มผู้ประท้วง อยู่มาสามคืนแล้วไม่ได้นอน ผมเป็นคนวิ่งซื้ออาหารจากท่าพระจันทร์มาแจกมวลชน ตอนนั้นในธรรมศาสตร์เต็มไปด้วยความน่ากลัวแล้ว เพราะข่าวคราวยานเกราะประโคมว่าเรามีปืนไร้แรงสะท้อนอยู่ในธรรมศาสตร์ มีเวียดกงอยู่ในธรรมศาสตร์ แล้วก็ประสานกับบ้านซับแดงทางอีสานทำสนามบินให้เครื่องบินของเวียดนามเตรียมมาลงเพื่อที่จะยึดประเทศแล้วตอนนั้น

เขาปั่นหัวคนไทยมาถึงจุดที่จวนจะขาดแล้ว พูดง่ายๆ ว่าสุกงอมแล้วที่จะเล่นงานพวกผม ในขณะเดียวกัน ผมจะบ้าแล้วเพราะไม่ได้นอนเลย ผมก็บอกเพื่อนว่า กูไม่ไหวแล้ว เหมือนกำลังจะเป็นลม ผมเดินข้ามสะพานอรุณอมรินทร์กลับไปนอนบ้านเพื่อน วันรุ่งขึ้นก็ได้ยินเสียงตูมตาม เจ้าของบ้านลุกขึ้นมาบอกว่า คงถล่มแล้ว ผมนอนอยู่ระเบียงบ้าน พูดอะไรไม่ออก แล้วพอเที่ยงๆ เพื่อนที่อยู่คณะนิติศาสตร์ซึ่งผมไม่รู้มาก่อนว่าเขามีสายสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ มาบอกผมว่าจะไปแล้วนะ ผมถามว่าไปไหน เขาบอกว่า “เข้าป่าสิ มึงจะไปไหม” ผมจะทำไงล่ะ ก็ต้องไป

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่น่ากลัวมาก เราคาดว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบที่เกิดในอินโดนีเซียเมื่อปี 1965 ที่ซูฮาร์โตใช้วิธีเหวี่ยงแหฆ่าคอมมิวนิสต์ สองล้านคนนะที่ตายไป ถ้าครอบครัวใดถูกจับได้ว่ามีการเคลื่อนไหวใต้ดินที่ต่อต้านรัฐบาล เขาก็เล่นทั้งครอบครัว ผมก็กลัวว่าจะเกิดเหตุเช่นนั้นขึ้นในประเทศไทย แล้วพ่อแม่และน้องผมจะเดือดร้อน

เพื่อนก็รู้วิธี มันเก่ง บอกว่าเก็บผ้าก่อน เย็นนี้ไปหัวลำโพงเลย โดยต้องแยกกันนั่ง แล้วแต่งตัวให้เหมือนชาวบ้านที่สุด อย่าแต่งเป็นนักศึกษา ผมง่ายอยู่แล้ว เพราะเสื้อผ้าเก่าทุกชิ้น ไม่ต้องเลือกเลย เพื่อนซื้อตั๋วให้ แยกกันนั่งในโบกี้ แล้วนัดกันว่าลงที่สถานีตรัง แล้วเดินตามกันห่างๆ สุดท้ายก็รอดจนได้เข้าป่า

 

ตอนนั้นคุณมีความเชื่อในคอมมิวนิสต์แค่ไหน หรือแค่ตามเพื่อนออกมาเพื่อให้รอด

ผมอ่านมากนะ แต่ว่าเราแค่อ่าน ถ้าให้ผมเลือกระหว่างเผด็จการทหาร กับเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ผมเอาเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุด เราก็จนพอๆ กัน จะได้ไม่ต้องมีคนหนึ่งรวยแล้วเราจนรากเลือด โอกาสเราที่จะรวยมีอยู่แล้วละ แต่เราไม่ชอบแบบนั้น

ตอนนั้นผมใฝ่ฝันแค่ว่าจะไปเป็นครูบ้านนอกแบบพ่อ ผมใฝ่ฝันว่าจะได้เขียนหนังสือ สอนแล้วก็ออกมานั่งเขียนหนังสือ ใฝ่ฝันอยู่ตลอดเลย ก็ไม่ได้ทุ่มเทให้กับคอมมิวนิสต์มาก พอเข้าป่า ผมก็กลายเป็นนักปฏิวัติ พออยู่ไปก็มีหลายเรื่องที่ผมไม่เห็นด้วย แต่ก็อยู่มาจนถึงช่วงท้าย เหลือไม่กี่คนแล้วในค่าย

สุดท้ายผมก็โซเซกลับมาสู่ในเมือง มาซ่อนอยู่ที่นั่นที่นี่บ้าง ยังไม่กล้ากลับบ้านที่ปากพนัง กลัว ตอนนั้น 66/23 เป็นเพียงแค่ชื่อ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังจับกันอยู่ ผมก็ไปอาศัยอยู่กับเพื่อน อยู่กับพันธุ์เมธนี่แหละ

 

พอออกจากป่าชีวิตเปลี่ยนไหม มุมมองต่อโลกต่อสังคมเปลี่ยนไหม

เปรียบเทียบแล้วเหมือนคนที่มีคนรัก หลงรักมาก แล้วก็อกหักเพราะถูกคนรักทรยศ ชีวิตแทบจะไม่มีความหมาย มีบางคนบ้าไปเลย บางคนก็หมดกะจิตกะใจ พวกนี้ส่วนใหญ่แล้วโรแมนติกมากนะ ทุ่มหัวจิตหัวใจให้เต็มที่แล้ว แต่ท้ายที่สุดการปฏิวัติล้มเหลว ล้มเหลวแบบไม่น่าจะล้มเหลว

 

หลังออกจากป่า คุณทำอาชีพอะไร

ไม่นานหลังจากผมออกมา คุณวิทยากร เชียงกูล พาไปแนะนำให้รู้จักกับคุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คุณไกรศักดิ์มีงานบทความทางวิชาการให้ผมแปลเยอะมาก เสียดาย ผมไม่ได้เก็บไว้นะ แปลแล้วก็เลยตามเลย แต่ละชิ้นแกจ่ายผมพออยู่ได้ ตอนนั้นได้เงินเป็นเดือน แล้วก็ไปแปลงานเรื่องสั้น ผมแปลเรื่องสั้นให้นิตยสารโลกหนังสือบ้าง แล้วก็ใช้เวลาว่างแปลงาน เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง สุนทรพจน์ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผมแปลเล่มนี้จบภายใน 28 วัน แล้วทางสำนักพิมพ์ก็เอาไปพิมพ์ ไม่นานก็ได้เงินมาใช้ ส่วนงานล่ามหมดไปแล้วตอนนั้น หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา จีไอกลับไปหมดแล้ว

 

กำพล นิรวรรณ และไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
กำพล นิรวรรณ และไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ / ภาพโดย Alison Evans

 

ตอนทำงานแปล คุณมีครูไหม

ผมสอนตัวเอง ช้า แต่ทำได้ ซึ่งผิดหลักนะ จริงๆ แล้วทุกอย่างควรจะมีครู อย่างที่ผมออกมาจากการเรียนอย่างอหังกา ไม่ถูกหรอก การเรียนในระบบเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่ได้ยาวนานอะไรมาก บางคนเรียนไปถึงปริญญาเอก กี่ปีเอง จบแล้ว คุณจะทำอะไรก็เรื่องของคุณ ถ้าเรียนตามระบบมา มันเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีมาก เหมือนการสร้างบ้าน คุณรองรากฐานเอาไว้มั่นคง บ้านก็มั่นคง แต่พอคุณมาสร้างเอง เสริมตรงนั้นไป ตรงนี้ก็โย้ เลยสิ้นเปลืองแรงงาน ผมใช้ชีวิตสิ้นเปลืองแรงงานมากกับการเรียนรู้ในสิ่งที่รัก ก็คืองานแปล

ผมอ่านแล้วอ่านอีกจนกลายเป็นคนอ่านหนังสือช้า ผมอ่านเร็วไม่เป็น อ่านพรวดๆ แล้วจำไม่หมด เพราะผมอยากจำทุกอัน ผมจึงไม่อ่านหนังสืออีเหละเขะขะ ผมจะอ่านรีวิวก่อนเพื่อดูว่าหนังสือเล่มนี้สมควรอ่านไหม ถึงกับซื้อหนังสือรีวิวเพื่อมาอ่านก่อน ผมมีหนังสือที่เลือกเอาไว้ว่าจะแปลในชีวิตทั้งหมด 5 เล่ม ผมขึ้นรูปไว้เป็นปกเฟซบุ๊กเลยนะ ประกาศว่าอยากแปล แต่ไม่รู้จะมีเวลาแปลหมดไหม ไม่รู้จะตายก่อนรึเปล่า

 

 

คุณเริ่มแปลงานวรรณกรรมตั้งแต่ตอนไหน

ผมแปลวรรณกรรมมาตั้งแต่ตอนผมตัดสินใจทิ้งการเรียน น่าจะเป็นช่วงต้นของปี 3 อาจารย์ไรน่าน อรุณรังษี ภาควิชาประวัติศาสตร์ ของคณะศิลปศาสตร์ เป็นคนพัทลุง อาจารย์ชวนผมไปช่วยแปลงานทฤษฎี ตอนนั้นแกแปลงานของคาร์ล มาร์กซ์ ผมก็ไปช่วยแปลในห้อง เวลาแกออกไปสอน ผมก็จะแปลต่อที่โต๊ะ สุดท้ายอาจารย์เห็นว่า เฮ้ย ไม่เลวนี่ สนใจจะไปทำงานมั้ย ผมเลยบอกว่า สนใจสิอาจารย์ อาจารย์ก็พาไปฝากกับนิตยสารปุถุชน เป็นนิตยสารวรรณกรรมล้วนๆ เลยทั้งเล่ม บรรณาธิการก็คือคุณวินัย อุกฤษณ์ นี่แหละ ออกอยู่ 8 เดือน ก่อนจะเลิกทำ แล้วก็ไปทำแทบลอยด์ ชีวิตเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ผมเข้าไปเป็นฝ่ายแปล ดีอกดีใจ เรียกว่าหัวใจพองโตเท่าฟ้าเลยละ ได้รับเกียรติมาก ยังรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคุณวินัย อุกฤษณ์จนถึงบัดนี้ที่แกรับโดยที่ผมยังเรียนอยู่ ผมก็เริ่มแปลเรื่องสั้นบ้าง สารคดีบ้างให้หนังสือเล่มนี้ แล้วในช่วงที่ผมอยู่กับนิตยสารปุถุชนนี่เองที่ผมแปลเรื่องสั้นของแม็กซิม กอร์กี้ ที่เขาเอาไปรวมพิมพ์เป็นเล่มกับคนอื่น

แล้วก็ได้ไปรู้จักกับอาจารย์ปรีชา ช่อปทุมมา ซึ่งท่านก็เป็นนักแปล จบมาจากอินเดีย ได้แลกเปลี่ยนกัน ท่านเป็นคนที่สุภาพมาก มีเมตตามาก ผมก็ไม่ทราบหรอกว่างานแปลผมดีหรือไม่ดี แต่แกบอกแกชอบมาก ทำให้เรามีกำลังใจ เป็นผู้ใหญ่ใจดี ทำให้เราหัวใจพองโตเลย ตั้งแต่นั้นมาผมก็รับงานแปลอุตลุด แต่ผมเป็นคนทำงานช้า งานถึงออกมาน้อย

 

มีหลักยึดในการทำงานงานแปลไหม

การแปลมีทฤษฎีกว้างๆ อยู่สองอัน หนึ่ง แปลแบบถอดความ คือแปลแบบสบายๆ อ่านทั้งย่อหน้าแล้วแปลทีเดียว แต่ไม่ใช่สรุปนะ แปลก็คือแปล และสอง แปลแบบตรงตัว คือแปลเป๊ะมาเลย ไล่ตามบรรทัด

การแปลแบบแรกมีสิทธิ์ที่จะถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพต้นฉบับ คุณรู้ได้อย่างไรว่าคนเขียนต้องการให้มีอารมณ์แบบนั้นในประโยค เขาขึงขังนะ แต่คุณมาใช้ศัพท์ทะลึ่ง ออกลวดลาย เล่นภาษา คุณไม่เข้าใจนี่แบบนี้ ในต้นฉบับคุณต้องเข้าใจลีลาของผู้เขียน บรรทัดนี้ พารากราฟนี้ เขาต้องการให้บรรยากาศขึงขัง แต่คุณมาใช้สำนวนแบบสะบัดสะบิ้งแบบนี้ มันผิดไปเลย ในทางตรงกันข้าม ถ้าแปลตรงตัว งานก็แข็งกระด้าง ไม่น่าอ่าน ดีไม่ดีอาจจะไม่ได้อารมณ์ตามที่ผู้เขียนเขียนด้วย

การแปลคือการถ่ายทอดวัฒนธรรม ก็มีปัญหาแบบนี้แหละ แต่ทีนี้นักแปลจะเลือกแบบไหนก็อยู่ที่ตัวนักแปลคนนั้น อย่างผมใช้วิธีการยึดหลักก่อน ผมไล่ตามต้นฉบับ แต่ถ้าไม่ได้อรรถรส ผมจึงประนีประนอมเลือกคำที่อ่านแล้วลื่นไม่ตะกุกตะกัก แต่ผมไม่เอาแน่ประเภทถอดความ ไม่เคยทำ ผมเอาให้ใกล้เคียงต้นฉบับที่สุด ทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระและอรรถรสเป็นดีที่สุด

 

พอจะยกตัวอย่างได้ไหม  

อย่างเรื่อง Men of Maize คนข้าวโพด ที่ผมแปลอยู่ คนเขียนใช้สัญลักษณ์มาก ถ้าไม่มีคำอธิบายประกอบก็อ่านไม่รู้เรื่อง นิยายเล่มนี้เขียนโดยใช้หลักพื้นฐานจากตำนานของชาวมายาที่ถือว่ามนุษย์เกิดมาจากข้าวโพด เพราะฉะนั้นข้าวโพดปลูกเอาไว้กินได้แต่อย่าปลูกขาย

ประโยคในหน้าแรกบอกว่า ‘กัสปา อีลอมปล่อยให้พวกมันขโมยนิทราไปจากดวงตาของแผ่นดินอีลอม’ คำว่าขโมยนิทรา ก็คือขโมยหลับนั่นแหละ แต่ถ้าใช้คำว่าขโมยหลับ อาจจะตรงกับคำว่าลักหลับซึ่งความหมายคือการไปทำอะไรคนตอนกำลังหลับ แต่ในประโยคนี้เขาใช้การเปรียบเปรยโดยถือว่าแผ่นดินของเขามีชีวิต ขนตาคือป่า เปลือกตาคือผิวดิน ซึ่งในประโยคนี้คือการไปขโมยทรัพย์สมบัติจากผิวดินนั่นเอง เพราะกัสปา อีลอมในฐานะตัวเอกมัวแต่นอนอยู่ ปล่อยให้คนขโมยไป บรรทัดนี้ผมคิดอยู่เป็นชั่วโมง แล้วท้ายที่สุดผมก็เลือกประโยคให้เชยๆ อย่างนี้คือ ‘ขโมยนิทรา’

ผมแปลเรื่องแบบนี้ก็รู้แล้วว่ามันขายไม่ออก แล้วนี่คือโชคชะตาของผมนะ คือแปลหนังสือที่ขายไม่ค่อยออกสักเล่มเดียว แต่ผมชอบแบบนี้ ทำไงได้ ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาแปลไป ผมโชคดีอยู่อย่างหนึ่งคือไม่ต้องใช้ตังค์เยอะ ตอนนี้ผมก็มีบำนาญจากรัฐบาลอังกฤษ หลังจากทำงานให้พวกเขามาสิบปี นิดๆ หน่อยๆ พออยู่กินได้

 

กำพล นิรวรรณ
ภาพโดย Anna Hajdu

คุณทำอะไรบ้างที่อังกฤษ ไปทำงานที่อังกฤษได้อย่างไร

ผมเคยมีคนรักเป็นชาวอังกฤษ เขาเคยมาทำงานที่ไทย สุดท้ายก็ตัดสินใจไปอยู่อังกฤษกัน ผมไปอยู่ที่นั่นช่วงปลายปี 2538 ช่วงแรกๆ ทำงานแปล แล้วค่อยลองไปสมัคร BBC แผนกภาษาไทย สอบได้เป็นพนักงานแปลและอ่านข่าว เซ็นสัญญาเป็นรายปี ผมได้เงินวันละ 80 ปอนด์ เป็นงานที่สนุก ผมอยู่ BBC 8 ปีกว่า

 

มีเหตุการณ์อะไรประทับใจบ้างที่ BBC

ที่ BBC หลักการการจัดรายการวิทยุเขาดีมาก สื่อสารด้วยหูแต่ให้ดูเห็นด้วยตา ทำอย่างไรให้คนฟังเห็นภาพ ยากมากนะ เพราะวิทยุเว้นช่วงนานไม่ได้ ต้องมีการใส่เสียงประกอบ เขาจึงมีคลังเก็บเสียงชนิดต่างๆ ที่นอกเหนือจากดนตรี เช่น เสียงเดินบนพื้นไม้ด้วยรองเท้าส้นสูง เสียงเดินของผู้ชายบนพื้นอิฐ เสียงเดินในโบสถ์ที่มีเสียงก้อง เสียงฟันดาบชนิดใบหนา เสียงฟันดาบชนิดใบเรียว หวดดังฟึบๆ ละเอียดยิบเลย คลังเก็บเสียงของเขาใหญ่มาก เขามีแคตตาล็อก อยากได้อะไรก็บอก เขาจะกดดูในคอมพิวเตอร์แล้วให้มาเป็นไฟล์เสียง เหลือเชื่อนะ

ผมเสนอไอเดียกับ บ.ก. อรรถพล วรรณุรักษ์ ว่าอยากทำละครวิทยุ แกก็ให้ลองทำมาสักตอน เรื่องแรกสุดผมทำโรมิโอแอนด์จูเลียต แปลเอง เขียนบทเอง ตอนนั้นคือทดลอง ยังทำไม่เป็น ไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น พอทำไปได้ 2 ตอน ปรากฏว่าจดหมายจากเมืองไทยส่งเข้ามาเยอะมาก บอกว่าดีมาก ลูกไม่ยอมลงจากรถ ขอฟังให้จบก่อน จากตอนแรกจะทำแค่ 4 ตอน เลยขยายเป็น 8 ตอน แม้กระทั่งบรรณารักษ์ของคลังเสียงยังมาแสดงความยินดีกับผมเลยนะ จนแผนกภาษาอื่นเขาก็เริ่มไปทำด้วย แผนกอินโดนีเซียทำดีกว่าเราอีก หาคนที่มีความรู้จริงๆ มาทำ สุดท้ายผมทำละครออกมา 4 เรื่อง ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมภูมิใจที่สุดสมัยอยู่ BBC นะ

 

อะไรที่คุณคิดว่า BBC ให้คุณมากที่สุด

BBC เขามีหลักปฏิบัติสืบทอดกันมานาน คลำทางมาตลอด แต่เขาจะสรุปบทเรียนเป็นระยะๆ เก็บไว้ แล้วต่อยอดมาเรื่อยๆ เขียนเป็นกฎบัตร มีหลักในการทำข่าว เช่น การทำข่าวในภาคสนามรบ คุณเป็นผู้สื่อข่าว คุณต้องเป็นกลางอย่างแท้จริง คุณต้องหลีกเลี่ยงคำคุณศัพท์ที่แสดงถึงอารมณ์และการเข้าข้างอย่างเคร่งครัด เช่น คนที่ถูกยิงกำลังตายอย่างน่าอนาถและสยดสยอง เขียนแบบนี้ไม่ได้ เพราะแสดงถึงว่าคุณกำลังเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังรบกันอยู่

เคยมีเหตุการณ์ที่นักข่าวเห็นคนโดนยิงในสงครามกำลังใกล้ตาย เขาวิ่งเข้าไปช่วย ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าคุณไม่ควรจะเข้าไปยุ่ง แต่เราเป็นมนุษย์นะ แล้วเรายืนอยู่ตรงนั้น เป็นผมก็ทำตัวไม่ถูกนะ แต่ก็มีเสียงชื่นชมเขาเหมือนกัน สุดท้าย BBC ก็มาสรุปกันว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้คุณจะต้องปฏิบัติอย่างไร เขาระดมสมองคิดเป็นระยะๆ แล้วสรุปบทเรียน

นั่นคือเมื่อสมัยที่ผมอยู่กับ BBC นะ แต่ตอนนี้วิชาการหนังสือพิมพ์พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว ผมเข้าใจว่าเขาเกิดงานทางวารสารศาสตร์ที่ไม่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริงอีกต่อไป ถ้าคุณเขียนบทบรรณาธิการก็สามารถแทรกทัศนคติส่วนตัวได้ แต่ต้องไม่แสดงการเข้าข้างอย่างโจ๋งครึ่ม แต่ถูกผิดอย่างไรก็เป็นเรื่องของวงการแล้ว เพราะตอนนี้ผมไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น

 

กำพล นิรวรรณ
ภาพโดย Anna Hajdu

จากเด็กในปากพนัง จนถึงวันที่มีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ มองปัจจุบันแล้วรู้สึกอย่างไรกับชีวิตตัวเองที่ผ่านมา

ถ้าคุณมีดีเอ็นเออย่างผม คุณจะรู้สึกเหมือนคนหลักลอย ไปหลายประเทศ อยู่ชั่วครั้งชั่วคราว อยู่ครั้งละ 3-4 ปี ผมชอบทุกแห่งที่ไป แต่ไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของบ้านนั้นอีกต่อไป เหมือนยิปซี ไปหลายที่จนไม่มีความรู้สึกผูกพันแล้ว แล้วลามไปถึงความรู้สึกผูกพันกับบ้านเกิดของตัวเอง

ผมกลับเมืองไทย ผมไม่รู้สึกเหมือนเป็นบ้านผมอีกแล้ว ผมติดตามเมืองไทยจากภายนอก อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีความรู้สึกผูกพันกับกลุ่มที่ผมเห็นด้วย เช่น กลุ่มนักศึกษา แต่ผมกลับไปที่บ้านผม ในชุมชนที่เป็นอนุรักษนิยม ผมเหนื่อยที่จะคุยด้วย ผมสร้างกระท่อมมุงจากหลังเล็กๆ อยู่ในที่ของแม่ ผมแทบไม่ออกไปไหนเลยนะวันๆ ผมกลับไปที่นั่นเพื่อแม่เท่านั้นแหละ เดินไปหาแม่ที่บ้าน แล้วก็กลับมาฝังตัวอยู่ในกระท่อม มานั่งเขียนหนังสือ อ่านหนังสืออยู่ในกระท่อม

ผมสนใจเรื่องสภาพแวดล้อมทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งที่นั่นไม่มี วิพากษ์วิจารณ์อะไรหน่อยก็บอกว่า อย่าพูดๆ ไม่ให้พูดอะไรเลย ผมเดินไปเดินมา แทบจะเหมือนเป็นคนแปลกหน้า เพราะฉะนั้นไปอยู่ได้ 3-4 วันแรกก็นึกอยากกลับไปที่ไหนสักแห่งที่อบอุ่นกว่านี้ ซึ่งไม่รู้ที่ไหน

อันนี้เป็นเรื่องเศร้านะ เพราะเหมือนเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย สิ่งที่ทำให้ผมอยู่ได้อย่างมีความสุขก็คือหนังสือพวกนี้ ผมอ่านแล้วอ่านอีก อ่านไม่รู้กี่รอบแล้ว

 

คุณดูรักวรรณกรรมลาตินอเมริกามาก

ใช่ ผมหลงรักมาก ผมคิดว่าพื้นฐานและสภาพแวดล้อมหลายอย่างคล้ายกับไทย ยกเว้นอย่างเดียวคือเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งจริงๆ แต่ลาตินอเมริกาทั้งหมดเคยเป็นเมืองขึ้นของสเปน ฝรั่งเศส หรือโปรตุเกส

นักเขียนที่ประสบความสำเร็จในลาตินอเมริกาก็ล้วนแต่เป็นสายเลือดของสเปน ล้วนแต่เป็นสายเลือดของนักล่าเมืองขึ้น แต่กบฏต่อบรรพบุรุษของตัวเอง ประณามที่บรรพบุรุษของตัวเองมาล่าเมืองขึ้น อย่างอัสตูเรียส (Miguel Ángel Asturias) นักเขียนรางวัลโนเบลเรื่องคนข้าวโพด ประกาศตนเป็นคอมมิวนิสต์เลย นักเขียนที่ผมเลือกมาแปลหนังสือเป็นประมาณนี้ทั้งหมด

 

แล้วงานเขียนของคุณเอง เช่น งานรวมเรื่องสั้น อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ มีที่มาจากอะไร

ผมตั้งปณิธานมานานแล้วว่าจะเขียนนิยายสองเรื่อง และเรื่องสั้นหนึ่งเรื่องให้ได้ในชีวิต จดๆ จ้องๆ มาตลอด เพราะมัวสนุกกับการแปล แปลวันละนิดวันละหน่อย อย่างเรื่อง ดอนกิโฆเต้ ผมแปลวันละย่อหน้า แปลมา 20 ปีแล้ว แปลไปยิ้มไป เพราะอารมณ์ขันของนักเขียนร้ายกาจมาก

เรื่องของเรื่อง ตอนที่ผมไปเที่ยวอินโดนีเซียกับคนรักชาวอังกฤษ เราไปที่เมืองบูกิตติงกิ เป็นเมืองของชาวมุสลิม พอตกกลางคืนก็ไปเที่ยวผับกัน ที่นั่นเขาค่อนข้างจะเสรี กินเบียร์ได้ แล้วผู้ชายหน้าตาดีๆ ทั้งนั้น ผมยาว ผมก็ได้คุยกับพวกเขา เขาทำอาชีพเป็นไกด์ เขาเล่าเรื่องของบูกิตติงกิให้ฟัง เมืองนี้มีภูเขาคล้ายๆ แกรนด์แคนยอน แต่เป็นแกรนด์แคนยอนขนาดเล็ก ภูเขาจะคล้ายถูกเฉือนลงมา หน้าผาสูงตรงดิ่ง วางอยู่เป็นแท่งๆ ข้างบนภูเขาเป็นป่า ต้องหาทางขึ้นเอาเอง นักท่องเที่ยวตะวันตกชอบเดินไปเที่ยวบนหลังคาภูเขา ไกด์พวกนี้ก็เล่าให้ผมฟังว่า บนเขาน่าสนใจมาก คุณควรจะไปนะ มีผีผู้หญิงตาเดียวสวยมาก พวกผมถูกข่มขืนมาหมดแล้ว คือผมรู้ว่าเขาโกหก แต่ผมจำไม่ลืมเลยนะ

ผมก็เอามาทดลองเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ ‘ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก’ ประจวบเหมาะกับที่สำนักพิมพ์ผจญภัยพิมพ์หนังสือชื่อ ความกดอากาศต่ำ เขาเลยสนใจเอาเรื่องสั้นของผมไปรวมในเล่มด้วย ตอนนั้นคือช่วงที่ควันไฟจากมาเลเซีย อินโดนีเซียลอยเข้ามาคลุมภาคใต้ ผมเลยตกแต่งเรื่องเพิ่มเติมให้มีควันลอยมาจากภูเขาไฟ บรรยายว่าเป็นลมหายใจของแผ่นดิน แทนที่จะเป็นควันไฟจากฝีมือมนุษย์ แล้วก็ลงตีพิมพ์ไป

หลังจากนั้นมาผมก็เริ่มทดลองเขียนเล่าเรื่องในเฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์เขาก็ชวนมารวมเล่ม ผมก็เอาเรื่องที่เขียนไว้มารื้อใหม่ แล้วก็นัดคุยกันที่สังขละบุรี จนทำออกมาเป็นเล่มนี้แหละ

 

คุณติดตามวงวรรณกรรมไทยบ้างไหม

ผมถูกตัดขาดจากเมืองไทยนะ ผมกลายเป็นคนนอกไปแล้วในวงการวรรณกรรม หนังสือภาษาไทยหาอ่านไม่ได้ที่นี่ มีหนังสือภาษาไทยที่เก็บไว้แค่ของมนัส จรรยงค์ เขาเป็นฮีโรของผมเลยนะ แต่แน่ละ คนละยุคคนละสมัยกัน ผมจะไปเขียนตามแบบแกก็ไม่ได้

ภาษาขึ้นสนิมได้นะ ผมออกจากประเทศไทยครั้งแรกปี 1985 อายุประมาณ 30 ปี ไปอยู่เนปาล ผมหลงใหลประเทศเนปาล หลังจากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าหาทางท่องโลกดีกว่า แล้วก็ห่างออกมาเรื่อย จนกระทั่งไปปักหลักอยู่ในอังกฤษ 16 ปี ซึ่งได้ใช้ภาษาไทยเพราะทำงานแปลข่าว ได้ลับคมภาษาทุกวัน พอได้ถกเถียงกัน แต่ไม่มีเวลาอ่านวรรณกรรม เพราะงานหนักมากที่ BBC ซึ่งภาษาวรรณกรรมกับภาษาสื่อคนละภาษากัน ทำให้ช่วงที่อยู่ BBC ภาษาทางวรรณกรรมเหมือนขึ้นสนิมไปเรื่อย

ผมเขียนภาษาไทย ตลาดของผมก็คือคนไทย ความจริงแล้วผมไม่ได้สนใจเรื่องการค้าขายพาณิชย์เท่าไหร่ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด ภาษามันขึ้นสนิมได้ ผมอยู่ต่างประเทศมาครึ่งชีวิต แม้ว่าคุณจะเป็นเจ้าของภาษาไทย แต่ภาษาไทยคุณขึ้นสนิม หาคำไม่ทัน เวลาคุณจะเขียนหนังสือ คุณต้องกลับไปอยู่ที่นั่น ต้องไปหายใจกับมัน ต้องไปฟัง ไปคุย ต้องลับคมมีดของภาษา ผมก็วางแผนว่าจะกลับไทยนะ

 

แต่ในงานเขียนของคุณก็ยังใช้ภาษาไทยได้อย่างดีเยี่ยมอยู่

ผมเอาภาษาไทยยุคเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วมาใส่แคปซูลไว้ เวลาทำงานก็เปิดแคปซูลภาษาไทยในยุคของผมเองมาใช้ แต่ศัพท์ตลาดหรือศัพท์แสลงที่เขาพูดกันเปลี่ยนไปเรื่อย เราตามไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถเขียนวรรณกรรมที่สะท้อนภาพสังคมร่วมสมัยได้แล้ว ผมก็เลยเขียนสิ่งที่ผมพกพาติดตัวมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กๆ อยู่ เสมือนหอบประวัติศาสตร์ส่วนตัวติดตัวมา

ผมเอาเรื่องราวที่จดจำตั้งแต่เด็กมาเรียบเรียงเป็นเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าคุณอ่านงานผมล้วนแต่เป็นเรื่องเก่าๆ บรรยากาศเก่าๆ เมื่อสมัย 40-50 ปีมาแล้วทั้งสิ้น อย่างเรื่อง ‘แนวซุ่มของเรา’ ก็สมัยอยู่ในป่า หรือเรื่อง ‘บางโก้งโค้ง’ ผมก็เอามาจากประสบการณ์ของตาผมที่เป็นทั้งพรานและเจ้าของวงดนตรีไทยเดิม ตอนแกออกป่าล่าสัตว์ก็เล่าให้ผมฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมจำแม่นนะเรื่องแบบนี้ แล้วก็เอามาเขียน

 

อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำของคุณเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2563 ด้วย คุณรู้สึกอย่างไร

ผมแก่เกินกว่าที่จะมาตื่นเต้นกับเรื่องรางวัลแล้ว

 

คุณเคยปฏิเสธที่จะรับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดด้วย เพราะอะไรจึงตัดสินใจแบบนั้น

ง่ายนิดเดียว เขาทำลายป่า ผมเคยเห็นรายงานข่าวชิ้นหนึ่งว่าเขาอยากจะได้สวนมักกะสันไปทำเป็นคอมเพล็กซ์ มีที่จอดรถเป็นหมื่นคัน ผมโกรธมาก ที่นี่ไม่มีศีลธรรมเลย ผมมองว่าเขาเป็นปีศาจในคราบนักบุญตัวจริง มือขวากอบโกย มือซ้ายโปรยทาน นักคิดนักเขียนที่รักศักดิ์ศรีของตัวเองควรตระหนักในข้อนี้

 

เท่าที่คุยกันมา คุณรู้สึกรู้สากับสังคมการเมืองไทยปัจจุบันเยอะเหมือนกัน

ทำไมจะไม่รู้สึก ผมเขียนวิพากษ์วิจารณ์ตลอด อย่างน้อยที่สุดผมเข้าไปกดไลก์โพสต์ที่ทัศนะการเมืองดี หรือที่ผมเขียนถึงปราบดา หยุ่น ผมไม่เคยรู้จักเขาเป็นการส่วนตัว แต่นี่คือนักเขียนที่เราควรดูเป็นเยี่ยงอย่าง ในยามที่บ้านเมืองต้องการความคิดเห็นจากปัญญาชน เป็นนักเขียน มีคนรู้จัก คำพูดของคุณประโยคเดียวมีความหมายมาก บ้านเมืองของเราในยามนี้ ทหารปกครองมา 6 ปีแล้ว นักเขียนก็ควรออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลทหารบ้าง

ผมไม่เคยนิ่งเฉยดูดาย ผมก็มีคอลัมน์ของผมเองชื่อ ‘จดหมายจากนิวยอร์ก’ ผมเขียนถึงแม่ดอกจาน เป็นตัวละครสมมติ ทำให้ต้นไม้มีชีวิตขึ้นมา คล้ายว่าเราเขียนถึงคนรัก แล้วก็สอดแทรกการเมืองเข้าไปตรงนั้นตรงนี้ ผมไม่ใช่คนนิ่งเฉยในเรื่องการเมือง ยังอยู่ในสายเลือด การชุมนุม 19 กันยา ถ้าผมอยู่เมืองไทย ผมไปอยู่แล้ว ไปนอนที่นั่นเลย ผมโหยหา อยากกลับไปมีส่วนร่วมกับการเมืองไทย

 

ถ้าคุณอยู่ที่ไทย คุณจะทำอะไรบ้างในการส่งเสียงของตัวเองออกมาในสถานการณ์การเมืองแบบนี้

ไปทำข่าว รายงานข่าวลงเฟซบุ๊กของผม ผมยังรักอาชีพสื่อ แล้วผมก็จะยังยึดอาชีพสื่อแบบโบราณ ผมต้องเป็นกลางอยู่แล้ว ทางฝ่ายผู้ประท้วงจะด่าผมว่าเข้าข้างอีกฝั่งก็ได้ ไม่ว่ากัน แต่ถ้าถามว่าทัศนะส่วนตัวผมคิดอย่างไร ผมเห็นด้วยกับคุณทุกอย่างเลย ผมอยู่กองทัพปลดแอกมาก่อน แต่เป็นฝ่ายพลเรือนเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นผมยังไม่ทิ้งอุดมการณ์อันนี้ แต่ในแง่ความเป็นอาชีพแล้ว ผมก็ต้องถอดหมวกอุดมการณ์ออก

ผมจะสัมภาษณ์ฝ่ายผู้ชุมนุมและสัมภาษณ์ฝ่ายตรงข้ามด้วย เสร็จแล้วมาทำให้พอเหมาะพอดีกัน แล้วผมไม่สามารถไปถามชงเพื่อให้ตอบอย่างที่ผมอยากได้ ผมไม่ทำแบบนั้น โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับอานนท์ เพนกวิน รุ้ง แล้วก็อีกหลายคนที่ออกมาตอนนี้ ใจผมอยู่กับพวกเขาแน่นอนอยู่แล้ว แต่หน้าที่ของสื่อต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

 

แล้วถ้าอีกฝั่งหนึ่งสนับสนุนเผด็จการ?

เราก็สัมภาษณ์ให้เขาพูดตามสิ่งที่เขาอยากจะพูด คุณสนับสนุนเผด็จการ คุณพูดมาเลย แต่ในขณะเดียวกัน ผมไม่ให้คุณพูดฝั่งเดียวไง ก็ต้องไปถามอีกฝั่งหนึ่ง ปัญหาก็คือคุณจะถามใครก่อน พอคุณถามฝั่งนี้ก่อน คุณรู้แล้วฝั่งนี้คิดอย่างไร คุณจะไปป้อนข้อมูลให้ฝั่งนู้นไม่ได้ ต้องแยกออกจากกันแล้วมาประกอบเป็นแพ็กเกจให้สมน้ำสมเนื้อ

ส่วนฝ่ายไหนที่พูดแล้วฟ้องตัวเองว่าสนับสนุนเผด็จการ ให้พูดไปแบบนั้นเลย เพราะในแง่ของความละเอียดในวิธีคิด ในเชิงความคิดแล้ว คนที่ซื่อตรงต่ออุดมการณ์เพื่อส่วนรวมและเพื่อความยุติธรรมจะพูดจากใจจริง และโดยทั่วไปแล้วจะมีเหตุมีผลมีตรรกะรองรับไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นจะมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน แต่ฝ่ายที่เลียเผด็จการอย่างไรก็มีแนวโน้มที่จะแฉตัวเองทุกประโยค

 

ชีวิตมาถึงจุดนี้ นอกจากงานแปลหนังสือแล้ว มีอะไรที่ค้างคาอยากทำแต่ยังทำไม่เสร็จไหม

ไม่เหลืออะไรแล้ว ก็มีค้างคาแปลหนังสือ แล้วก็เขียนนิยายอีกสองเรื่อง กับเรื่องสั้นอีกเล่มที่นอกเหนือจาก อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ

นิยายที่จะเขียนอีกสองเรื่องเป็นเรื่องร้อยกว่าปีที่แล้ว เรื่องคนภูเขา ใช้ฉากที่ราบสูงโบลาเวน ยุคที่ลาวสู้รบกับฝรั่งเศส กับอีกเรื่องคือเรื่องถังแดงของไทย ถ้าผมเขียนจบ ผมก็ดีใจแล้ว ตายตาหลับ

 

กำพล นิรวรรณ
ภาพโดย ชวิน ถวัลย์ภิยโย (กลุ่มหมีควาย พัทลุง)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save