fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.world เดือนมกราคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมกราคม 2562

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : มองเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2019 ไม่มีหรอกซูเปอร์เทคโนแครตที่รู้ทุกอย่าง

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“ประเทศไทยเวลาเจอปัญหาอะไร ก็ชอบไปตั้งคณะทำงานขึ้นมา สุดท้ายก็กลายเป็นหน่วยงานราชการอีกหน่วยหนึ่ง คุณต้องทำให้ข้อเสนอในการแก้ปัญหามันมาจากสารพัดทิศทาง มันไม่มีหรอก ‘ซูเปอร์เทคโนแครต’ ที่จะรู้ทุกอย่าง…”

สมคิด พุทธศรี คุยกับ ‘ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ นักเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านงานบริหารด้านเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน เคยทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ก่อนถูกเรียกตัวกลับมาช่วยงานที่กระทรวงการคลัง เพื่อช่วยแก้วิกฤติปี 2540 เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ในห้วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายของระเบียบเศรษฐกิจโลก และหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจการเมืองไทยในปี 2019 ความเห็นของ ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ แบบเขานี่แหละ ที่น่ารับฟังยิ่ง

“เวลาแก้ปัญหาเชิงนโยบาย คนส่วนมากมักคิดว่าคำตอบอยู่ที่รัฐ หรือไม่ก็ระบบราชการ ในโลกที่ซับซ้อนมากๆ แบบที่เป็นอยู่ เราจะคาดหวังให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง หรือสภาพัฒน์ เป็นคนวาดภาพและวางแผนได้จริงหรือ การให้สุดยอดผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนมานั่งกำหนดนโยบายจากบนลงล่าง ไม่สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว”

“ขนาดคนที่อยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ หรือคนที่บริหารกองทุนที่เจ๋งที่สุดในโลก เขายังไม่รู้เลยว่าเทคโนโลยีไหน หรือนวัตกรรมไหนมันจะเวิร์ค เขาถึงลงทุน 10 ที เจ๊ง 9 ที ในโลกที่ซับซ้อนมากๆ การดำเนินนโยบายต้องเป็นไปในลักษณะการทดลอง (experiment) มากขึ้น และก็ยอมรับว่านโยบายสามารถล้มเหลวได้”

“สมมติคุณเห็นโทรศัพท์เครื่องหนึ่งเสีย คุณคงดูว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นมีปัญหาอะไร แต่ถ้าคุณเห็นว่าโทรศัพท์รุ่นนี้เสีย คุณต้องกลับมาดูที่กระบวนการผลิตมีปัญหาอะไร ผมคิดว่ากระบวนการผลิตนโยบายของไทยมีปัญหา เป็นปัญหาระดับปรัชญาหรือวิธีการมองโลกเลย”

“รัฐไทยใหญ่เกินไปในที่ที่ไม่ควรใหญ่ และเล็กเกินไปในที่ที่ไม่ควรเล็ก ผมไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องทำหลายอย่างที่รัฐทำอยู่ตอนนี้ แต่เวลาบอกว่าควรลดบทบาทรัฐ คนก็จะบอกทันทีว่าเป็นพวกบ้าตลาด”

 

เปิดห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร มองอนาคตการเมืองไทย กับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ และ ธิติ มีแต้ม

101 ชวน ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิด ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ เพื่อมองอนาคตการเมืองไทย ทั้งโจทย์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง และโจทย์ยาวๆ ยากๆ อย่างการรื้อกติการัฐประหาร การฟื้นฟูคุณค่าหายไป และการแสวงหาฉันทมติและสัญญาประชาคมใหม่ในสังคมไทย

ผ่านทศวรรษแห่งความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาจนถึงวันนี้ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มีมุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ ศาล และตุลาการภิวัตน์

 

“กัญชาอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

 

โดย  ธิติ มีแต้ม

“การติดกัญชาไม่ได้เกิดจากกัญชา แต่เกิดขึ้นเพราะคนๆ นั้นมีรหัสพันธุกรรมที่พร้อมจะติด และถ้าหากจะเลิก ทุกคนสามารถเลิกได้ภายใน 20 วัน หลังหยุดไม่มีอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น”

ท่ามกลางสถานการณ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับ ‘กัญชา’ ในไทย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ น่าจะเป็นศูนย์หน้าตัวเป้าคนหนึ่ง ของทีมที่สนับสนุนและผลักดันให้คนไทยได้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย

อะไรคือหลักคิดและข้อโต้แย้งของเขา ท่ามกลางเสียงของวงการแพทย์อีกไม่น้อยที่มองกัญชาต่างออกไป ในความหมายว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ฯลฯ

ไม่ว่าจะรัก ‘กัญ’ หรือเกลียด ‘กัญ’ ธิติ มีแต้ม ชวนอ่านทัศนะของหมอศูนย์หน้าตัวเป้าผู้นี้ที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง

“ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลและทุกชนิด มันมีผลให้คนไตวายตับวายได้ ถ้ากินมากไปก็เสี่ยงทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตันได้เหมือนกัน เรื่องพวกนี้หมอสมัยใหม่ไม่พูด แต่มักพูดว่ากัญชาเป็นยาเสพติด”

“หมอไทยส่วนใหญ่ยึดติดกับตำรา แต่ไม่ได้มีความกระหายที่อยากจะรู้เรื่องกลไกของโรคกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ได้กระหายที่จะรู้ว่ามีอะไรสามารถไปขัดขวางกลไกของโรคได้อีกบ้างนอกเหนือจากตำราว่าไว้”

“แน่นอน ยังไงก็ต้องมีคนตายไป แต่ถ้าเราได้ข้อมูลว่าตอนที่คนไข้ตาย เขามีความสามารถในการสั่งเสียครอบครัว หรือเขาสามารถยืดอายุออกไปได้สี่ห้าเดือนที่เขายังสามารถอยู่ได้โดยไม่ทรมาน จะไม่ดีกว่าหรือ”

 

New Year : No-solution? – ปีใหม่ที่ไร้อนาคต?

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“คุณว่าราคาเท่าไหร่ ไอ้คอนโดเนี่ย” จู่ๆ ลุงยามก็ถามขึ้น ฉันไม่แน่ใจว่าถามเพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว หรือถามเพราะอยากให้ฉันประเมินให้ฟังจริงๆ

“น่าจะ 3-4 ล้านได้มั้งคะ” ฉันเดา

“แล้วคุณว่าต้องหาเงินสักกี่ปีถึงจะซื้อได้ อย่างผมเนี่ยซื้อได้มั้ย” พูดจบแล้วก็หัวเราะเสียงดังกับมุกตลกที่คล้ายไม่มีวันเป็นจริง ฉันยิ้มพลางคิดในใจ “อันที่จริง ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองจะซื้อได้” แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป

ลุงยามเล่าให้ฟังว่าทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เงินเดือนรวมๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 9,000-12,000 บาท รวมค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ที่เหลือส่งกลับบ้านให้ครอบครัวและเก็บไว้ใช้เอง หวังว่าวันหนึ่งถ้ามีเงินก้อนมากพอ จะกลับไปทำสวนของตัวเองที่บ้าน

“ผมหวังแบบนี้มา 20 กว่าปีแล้ว” คุณลุงว่า

“ผู้คนจำนวนมหาศาลไม่เคยได้อยู่บ้าน กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองหลวงของความหวัง รับเอาคนทั้งมวลเข้ามาหางานและเงิน เมื่อถึงวันหยุดยาวทีหนึ่ง ผู้คนก็กลับบ้านของพวกเขา หอบเอาความคิดถึง เอา ‘ชีวิตที่ดีขึ้น’ และ ‘หวังว่าจะดีขึ้น’ กลับไปฝากครอบครัว ฉลองจนอิ่มหนำ แล้วขับรถกลับมาสู้ต่อที่กรุงเทพฯ เริ่มทำงานหลังหยุดยาว ใช้ชีวิตเหมือนเดิม จนดูเหมือนว่าวันหยุดที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น เส้นแบ่งปีใหม่เป็นเพียงเส้นสมมติที่ทำให้เราทั้งมวลบอกตัวเองว่า เราจะเริ่มใหม่ เราจะดีขึ้น เราจะวางแผน และปีนี้จะต้องดีกว่าเดิม ทั้งที่ความจริงเราอาจจะกำลังไต่ทางไปอย่างช้าๆ เหมือนรถบนถนนมิตรภาพในวันหยุดยาวก็ได้”

แม้จะมีตัวเลขบอกว่าอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 3.7 แสนคนในไทย แต่ในความเป็นจริง แม้คนที่มีงานทำก็ใช่ว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี คำว่า ‘งาน’ ไม่ได้หมายความถึง ‘เงิน’ อย่างที่พูดๆ กัน เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน แต่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มตาม ยังไม่นับภาระของชีวิตที่ทุกคนต่างต้องใช้จ่าย และความพอเพียงอาจไม่ใช่ทางออก เพราะรายรับเท่าที่มีก็แทบไม่เพียงพอแล้ว

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เขียนถึงอนาคตปี 2019 ผ่านสายตาของคนหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างก่อสร้าง ฟรีแลนซ์ และเจ้าของธุรกิจ ในโลกที่ผันผวน และสภาวะของประเทศที่ไม่มีอะไรแน่นอน ประชาชนมองภาพชีวิตของตัวเองอย่างไร และมีความหวัง ความฝันอะไรบ้าง

 

‘ผีน้อยไทยในเกาหลี’ ทางรอดจากสังคมไร้ทางเลือก

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

‘เห็นแก่ตัว’ คือสิ่งที่แรงงานผีถูกมองจากสังคม โดยเฉพาะเมื่อมีการประโคมข่าว ‘คนไทยแห่เข้าเกาหลีใต้’ เพื่อไปลักลอบทำงาน จนคนจำนวนมากหวั่นว่า เกาหลีอาจทบทวนการอนุมัติวีซ่าใหม่ แล้วทำให้คนไทยไปเที่ยวยากขึ้น

ทว่าเมื่อมองให้ลึกลงไป น้อยคนนักที่จะรู้ถึงเหตุปัจจัยที่แท้จริง ยังไม่นับสิ่งที่แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญเบื้องหน้า ฉะนั้นการเหมารวมด้วยคำว่าเห็นแก่ตัว จึงอาจเป็นการแปะป้ายแบบผิวเผินเกินไป โดยเฉพาะจากชนชั้นกลางไทยที่เคยชินกับการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง

วจนา วรรลยางกูร สนทนากับ ‘ดนย์ ทาเจริญศักดิ์’ เจ้าของงานวิจัย ‘แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี’ ผู้คลุกคลีอยู่ในชุมชนแรงงานไทยในเกาหลีใต้ เพื่อเจาะลึกถึงต้นตอของสถานการณ์นี้ ไล่ตั้งแต่สภาพความเป็นอยู่ มูลเหตุจูงใจในการทำงาน ข้อสังเกตด้านกฎหมาย การรวมกลุ่มและช่วยเหลือกัน ไปจนถึงมุมมองของคนเกาหลีที่มีต่อแรงงานไทย

“แรงจูงใจที่ทำให้คนไปเป็นผีน้อยจำนวนมาก มาจากปัจจัยทางสังคม เมื่อการอยู่ในประเทศไทยทำให้คนบางกลุ่ม ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทัดเทียมกับคนชนชั้นอื่นได้ การไปทำงานต่างประเทศจึงเป็นหนทางเดียวที่พวกเขามองเห็น ขณะที่เกาหลีใต้ก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน”

“ค่าจ้างที่แรงงานผีได้รับ หากเป็นงานที่จ้างคนเกาหลีร่วมด้วยจะได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ เขาเคยไปทำงานเก็บผักได้วันละ 70,000 วอน (ราว 2,000 บาท) หากรับค่าจ้างรายวันจะได้เดือนละประมาณ 2 ล้านวอน (ราว 5.7 หมื่นบาท) หลายคนเลือกรับเงินเดือนที่น้อยลงหากเจอนายจ้างดีหรืออยู่แล้วปลอดภัยกว่า เช่น บางโรงงานให้เดือนละ 1.2-1.3 ล้านวอน (ราว 3.4-3.7 หมื่นบาท)”

“ปลายปี 2017 คนไทยจำนวนมากถูกปฏิเสธจากตม. เกาหลีใต้ แต่พอถึงต้นปี 2018 เป็นช่วงปลายฤดูหนาวและเตรียมเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ซึ่งมีความต้องการแรงงานในภาคการเกษตร การตรวจคนเข้าเมืองจะไม่เข้มงวดนัก จึงเป็นช่วงเวลาที่แรงงานไทยจะชักชวนคนหน้าใหม่ให้มาทำงานได้”

“การเข้ามาของแรงงานเหล่านี้ ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเดิม ชาวเกาหลีบางคนดัดแปลงบ้านมาแบ่งให้เช่า ร้านขายของนำสินค้าไทยมาวางจำหน่าย เป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แรงงานกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่ยังสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจท้องถิ่น”

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้แรงงานผีอยู่ได้มั่นคงขึ้น คือความช่วยเหลือในเครือข่ายคนไทยที่เกาหลีใต้ ที่มีการให้ข้อมูล แจ้งทางหนีทีไล่ได้ทันท่วงที จนสามารถชักจูงคนไทยได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดการรวมตัวเหนียวแน่นจนเป็น ‘ไทยทาวน์'”

 

ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2019 โดยคอลัมนิสต์ 101

 

โดย 101world

‘ความน่าจะอ่าน’ ส่งท้ายปี 2561 กองบรรณาธิการ 101 ชวนทีมคอลัมนิสต์และผู้ดำเนินรายการประจำ 101 แนะนำหนังสือชวนอ่านรับปี 2562 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้อ่านและผู้ชม 101 ทุกท่าน

ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือ (และ 101) ตลอดปีหน้า (และตลอดไป)

 

Lust for Light : เปิดโลก ‘ศิลปะแสง’ ที่มีอะไรมากกว่าแค่ไฟปีใหม่

 

โดย Eyedropper Fill

“‘แสงไฟ’ คงจะเป็นภาพจำของปีใหม่สำหรับหลายคน ไม่ว่าบนถนน หน้าหรือในห้างสรรพสินค้า อาคารต่างๆ หรือแม้แต่มุมเล็กๆ ในบ้านคุณเอง ต่างวูบวาว ระยิบระยับไปด้วยแสงไฟหลากชนิดตลอดช่วงเวลานี้ จริงๆ จะพูดว่าแค่ช่วงปีใหม่คงไม่ถูก เพราะแสงเหล่านี้อยู่คู่กับแทบทุกเทศกาลเฉลิมฉลองเลยก็ว่าได้”

“แม้เราจะสนิทสนมกับแสงไฟประดับประดาเป็นอย่างดี แต่หากเอ่ยถึง ‘Light art’ หรือ ‘ศิลปะแสง’ ขึ้นมาให้ได้ยิน คงไม่ใช่ทุกคนที่จะร้องอ๋อ Third Eye View ฉบับส่งท้ายปี จึงขอพาคุณไปรู้จักกับโลกของงานศิลปะแสง ศิลปะน้องใหม่อีกแขนง ที่แม้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมล้ำสมัยอีกแล้วในโลกศิลปะ แต่มั่นใจได้ว่าเป็นรูปแบบศิลปะที่จะ ‘มาแรง’ ในประเทศไทยอย่างแน่นอนในปี 2019 ผ่านหนังสือที่เรียกได้ว่าเป็น encyclopedia ของงานศิลปะแสงที่เพิ่งออกสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในชื่อสุดเซ็กซี่ว่า ‘Lust for Light’”

“Lust for Light ไม่ได้รวมรวบแค่มิติทางศิลปะ แต่ยังทำให้เราเห็นแง่มุมของแสง ที่สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์อย่างไม่เคยสังเกตมาก่อน แสงอาทิตย์ทำให้ทุกอย่างในโลกปรากฎขึ้น เรารับรู้เวลาผ่านแสง แสงยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรในโลกเติบโต และยังเป็นสิ่งที่มนุษย์โหยหาเพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ คำว่า ‘Lust’ ในชื่อหนังสือจึงไม่ได้เกินเลย เพราะเราทุกคนต่าง ‘กระหาย’ และขาดแสงไม่ได้จริงๆ

“ในเชิงวัฒนธรรม แสงยังผูกโยงอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์และศาสนา ตำราพุทธศาสนาบางเล่มเขียนถึง ‘แดนสุขาวดี’ ดินแดนสำหรับการปฏิบัติธรรมหลังความตายเพื่อไปสู่นิพพาน ว่าเป็นสถานที่ที่เรืองรองไปด้วยแสงสว่าง การปรากฎตัวของพระเยซูคริสต์ในภาพเขียนมักมาพร้อมแสงสว่างเจิดจ้า โบสถ์ที่ออกแบบช่องแสงไว้ในตำแหน่งที่สื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยก่อนยังมีการจุดควันเพื่อให้เห็นลำแสงชัดเจน แม้แต่วัดในพุทธศาสนายังออกแบบพุทธรูปด้วยพื้นผิวสีทองเพื่อให้อร่ามยามต้องแสง”

 

เมื่อสนามสื่อ คือสนามรบของความเชื่อ : คุยกับ ‘อธิคม คุณาวุฒิ’ ว่าด้วย ‘ทาง’ ของสื่อ 2019

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“ถ้าคุณไปอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ยุคหลังพฤษภา 2535 จะพบว่ามันอุดมไปด้วยบทความที่โคตรก้าวหน้า โคตรฉลาดเลย แต่ตอนนี้เราคุยเรื่องที่ย้อนยุคไปไกลกว่าตอนนั้นเยอะ ต้องมานั่งพูดเรื่องพื้นฐานกันใหม่ ต้องอธิบายว่าสิทธิเสรีภาพแปลว่าอะไร อะไรคือรัฐสวัสดิการ อะไรคือประชานิยม ซึ่งมันไม่สนุกเลย…”

ข้างต้นคือทรรศนะจาก ‘อธิคม คุณาวุฒิ’ บรรณาธิการผู้ก่อตั้ง way magazine และสำนักพิมพ์ Way of Books ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อตั้งแต่ยุคนิตยสารเฟื่องฟู เรื่อยมาจนถึงยุครุ่งอรุณแห่งสื่อออนไลน์

เป็นผู้บุกเบิกและกุมหางเสือของ ‘สื่อกระแสรอง’ หลายสำนัก ไล่ตั้งแต่เซคชั่น ‘เสาร์สวัสดี’ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, นิตยสาร a day weekly, นิตยสาร Way ก่อนขยับมาสู่สนามออนไลน์ แตกหน่อต่อยอดเป็น The Potential และ Seedtizen ตามลำดับ

ท่ามกลางวันเวลาที่สื่อหลายค่ายพากันปรับตัว บ้างล้มหายตายจากแบบถาวร 101 ชวนอธิคมคุยแบบยาวๆ ว่าด้วยทางของสื่อในปี 2019 ซึ่งยึดโยงอยู่กับสังคมการเมืองไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไปจนถึงบทบาทของ ‘พ่อ’ ที่ต้องประคับประคองลูกสาวให้อยู่ในสังคมอันเปราะบางนี้ไปอีกยาว

“ถ้าให้ประเมินภาพรวม เรากลับรู้สึกว่าคนวงการสื่อมันปรับตัวช้าที่สุด ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นสาขาวิชาชีพที่มีความตื่นตัวก่อนใคร อย่างที่เห็นเมื่อเดือนก่อน ที่เจ้าใหญ่ๆ มะงุมมะงาหรากันว่าต้องปรับ นี่คือการปรับเพราะมันไปต่อไม่ได้จริงๆ ไม่ได้ปรับเพราะวิสัยทัศน์”

“เราเคยเชื่อว่าถ้าหากเราเอาข้อมูล เอาข้อเท็จจริงมาวาง แล้วคนจะเปลี่ยน เฮ้ย เรื่องจริงเป็นอย่างนี้ว่ะ ข้อมูลเป็นอย่างงี้ว่ะ พอคุณดูแล้วคุณจะเรียนรู้ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง แต่เราเพิ่งพบว่าวิธีคิดแบบนี้มันใช้ไม่ได้ผลเลย เพราะคนมันไม่เชื่อ แล้วมันก็มีวิธีที่บัดซบมากเลยในการอธิบายความไม่เชื่อนั้นๆ”

“ช่วงที่โกรธมากๆ เราจะรู้สึกว่ามันต้องมีเรื่องผิดพลาดกับคนทำอาชีพอย่างเราๆ ในรุ่นหกสิบกว่า ทั้งคนทำสื่อ ทั้งปัญญาชน นักเขียน ศิลปิน ต้องมีความผิดพลาดใหญ่ๆ ในเจนเนอเรชั่นของคุณ สี่สิบกว่าปีผ่านมาเราจึงยังจมปลักตมเช่นนี้อยู่ คนรุ่นคุณต้องมีอะไรที่มันเลวทราม และกดมันไว้จนกระทั่งมาแก้ผ้าให้เห็นในยุคปัจจุบัน…”

“สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมที่เรียกกันว่ารับผิดรับชอบ (accountability) วันนี้พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง แล้ววันรุ่งขึ้นเปลี่ยนไปพูดอีกอย่างทำอีกอย่าง โดยไม่ได้รู้สึกผิดอะไร สังคมที่มันจะเติบโตเข้มแข็ง ยืนหลังตรง มองสบตาโลกได้อย่างภาคภูมิ มันต้องรู้จักขอโทษ สรุปบทเรียนว่าผิดพลาดยังไง แต่ปัญหาของคนไทยคือเรากะล่อน เราไม่เคยซีเรียสกับคำพูดของเราอย่างจริงจัง และทำแบบนี้กันเป็นเรื่องปกติ”

 

สุขโดดเดี่ยว เศร้าเดียวดาย : คุยกับ ‘สุมาลี เอกชนนิยม’ ว่าด้วยศิลปะของการเป็นศิลปินเดี่ยว

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“สาระสำคัญที่สุดของการเป็นคน คือเราต้องไม่เป็นภาระใคร ถ้าคุณอยากทำตามใจ คุณก็ต้องไม่เป็นภาระให้ใครด้วย…”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล คุยกับ ‘สุมาลี เอกชนนิยม’ จิตรกรมากฝีมือ ผู้เลือกวิถีโดดเดี่ยวเพื่อทำงานศิลปะ และกลับมาอุทิศชีวิตให้การวาดรูปเต็มเวลาอีกครั้งหลังเกษียณ

“เราไม่ค่อยเชื่อเรื่องพรสวรรค์ หรือการมีเทพจุติในตัว จู่ๆ เขียนรูปได้เหมือนผีสิง อย่างน้อยมันต้องมีการศึกษา ต้องอ่านต้องเขียนมา นี่พูดในฐานของตัวเองว่า ต่อให้เรามีภาพในหัวชัด ความรู้สึกชัดแค่ไหน แต่พอลงมือ บางทีมันก็ไม่ได้ดั่งใจ พอไม่ได้ดั่งใจแล้วทำยังไง เราก็ทำใหม่จนกว่ารู้สึกพอใจ”

“การทำงานคนเดียว อยู่ด้วยตัวคนเดียว ยังไงก็ต่างกับการทำงานสองแรง ชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัว คือสองแรง มันหมายถึงความมั่นคง สมมติถ้าเราเลือกทางนั้น วันนี้เราอาจเป็นเศรษฐีก็ได้ เพราะมันเห็นๆ อยู่ แต่เราไม่เอา”

“เราเลือกวิถีโดดเดี่ยว หมายความว่าเราก็ต้องเดินคนเดียว คุณต้องทำทุกอย่าง แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง จะไปบอกใครล่ะ จะให้ใครมาช่วย หรือจะไปเล่าให้ใครฟัง ไม่ต้อง คุณก็อยู่กับปัญหา แล้วคุณก็แก้ปัญหา แล้วคุณก็จะพบทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยตัวเอง โดยลำพัง…”

“ต้องแยกระหว่างความฝันกับข้อเท็จจริงของชีวิตก่อน เอาง่ายๆ เลย สมมติว่าถ้าคุณเป็นผู้หญิง ถ้าวันหนึ่งคุณตัดสินใจว่าจะอยู่คนเดียว คุณจะอยู่ได้ยังไง คุณจะเกาะใครกิน น้อง พี่ หรือใคร ใครจะซัพพอร์ตเรา เมื่อเลือกแบบนี้ เราก็ต้องคิดแล้วว่าเราจะอยู่ยังไง”

“ตอนนี้เราอยู่ในยุคทุนนิยม ถูกไหม ฉะนั้นเมื่อทุนอยู่ตรงไหน ทุกอย่างก็วิ่งเข้าไปสนอง อย่างนายทุนที่ทำ ‘Bangkok Biennale’ ถามว่าถ้าไม่มีเงินทำได้ไหม ไม่ได้ ซึ่งการที่เขามีเงิน เขาสามารถจิ้มศิลปินคนไหนก็ได้ ซึ่งถ้าคุณเป็นศิลปิน แล้วคุณอยากทำงานเหล่านี้ คุณก็ต้องคิดว่าจะทำยังไง ถึงจะได้เข้าไปอยู่ในซุ้มนั้น นายทุนเขาอาจไม่รู้เรื่องศิลปะมากมาย เขาก็ต้องว่าจ้างหัวหน้าแก๊งที่รู้เรื่องศิลปะ หัวหน้าแก๊งก็ต้องชี้มาที่ซุ้มตัวเอง เอาคนนี้ เอากลุ่มนี้ ที่เป็นลิ่วล้อบริวารของเขา ถึงที่สุดศิลปินกลุ่มนี้ก็จะได้เข้าไปทำงานในโปรเจ็กต์นี้…”

 

จากกรุงเทพฯ ถึงชายแดนใต้ คุยกับ ‘มารค ตามไท’ : เมื่อรัฐไทยเป็นพ่อแม่ที่ห้ามลูกฝัน

 

โดย  ธิติ มีแต้ม

“เมื่อรัฐไทยบอกว่าห้ามฝัน ห้ามอยาก เหมือนพ่อแม่ห้ามอยากได้จักรยาน พอกดดันมาก ก็เกิดปฏิกิริยาขัดแย้ง จะหาเงินมาซื้อดีๆ ก็ไม่ยอมอีก กลายเป็นว่าต้องไปขโมย ผมสังเกตว่าหลายครั้ง ความรุนแรงมันมาจากการที่รัฐห้ามนั่นห้ามนี่มากเกินไป มันก็เลยไม่มีทางออกที่สงบ”

“สิ่งที่ท้าทายประเทศไทย คือจะทำยังไงให้คุณค่าในการ ‘ให้ความสำคัญกับคน’ มันฟื้นขึ้นมา และไม่ใช่ฟื้นธรรมดา แต่อยากให้ฟื้นโดยไม่ต้องนองเลือดกัน เพราะหลายประเทศมันนองเลือดก่อน ถึงจะฟื้น เราก็เห็นตัวอย่างเยอะในประวัติศาสตร์ นี่เป็นโจทย์ของสังคมไทย”

ธิติ มีแต้ม สัมภาษณ์ ‘รศ.ดร.มารค ตามไท’ นักวิชาการด้านความมั่นคงและสันติศึกษา ที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายเห็นต่างจากรัฐ หรือขบวนการที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงปี 2549 – 2554

อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้พรมสังคมไทย ทำไมฉากหลังของเมืองแห่งรอยยิ้มคือเลือดที่นองแผ่นดินมาอย่างยาวนาน-สม่ำเสมอ ตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ภาพที่รัฐไทยวาดไว้ มันไม่ใช่ภาพที่พูดออกมาชัดๆ เพื่อให้มาถกกันได้ รัฐไทยไม่บอกว่าภาพที่อยู่ในใจนั้นคืออะไร จะเป็นเพราะไม่รู้ ไม่มีความสามารถที่จะสื่อสาร หรือสื่อได้แต่ไม่อยากบอก เพราะถ้าบอกไป เดี๋ยวถูกเถียงแล้วจะแพ้ ไม่รู้จะปกป้องยังไง ความคิดนี้ก็เลยไม่ถูกพูดออกมาให้ชัด”

“คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลส่วนหนึ่งที่อยากจะเขียนด่า ก็ยังไม่กล้า เพราะเดี๋ยวมีผลย้อนกลับมากระทบครอบครัว ถูกเชิญไปปรับทัศนคติ ทำมาหากินไม่ได้ ผมว่าคนส่วนใหญ่คิดกันอย่างนี้ บางคนอาจวิเคราะห์เงื่อนไขที่ว่า ทุกข์จริงแต่ยังไม่ถึงขั้นนั้น ยังต้องชั่งข้อดีข้อเสีย แต่ถ้าสู้ด้วยการเลือกตั้ง อันนี้พร้อมแสดงออกเลย เพราะมันปลอดภัย”

“สิ่งที่เราต้องการในฐานะมนุษย์ คือต้องการโอกาสในการพยายามหาสิ่งนั้นมา ไม่ต้องมีคนยกมาให้ก็ได้ แค่ขอให้โอกาสได้พยายามหาเอง”

 

เมื่อองค์กรอิสระกลายเป็นภาระของประชาธิปไตย

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงพัฒนาการและความตกต่ำของ ‘องค์กรอิสระ’ ตั้งแต่ยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งยึดโยงอยู่กับประชาชน มาจนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งถูกครอบงำเบ็ดเสร็จโดยระบอบอำนาจนิยม

“การออกแบบโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มากระทั่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับ ‘ปราบโกง’ เป็นตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระอย่างสำคัญ

“องค์กรอิสระทั้งหมดได้กลายสภาพเป็นสถาบันการเมืองที่หลุดลอยจากการควบคุมของประชาชน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางการเมืองของผู้มีอำนาจ องค์กรอิสระในขณะนี้จึงมีลักษณะเป็นองค์กรของระบอบอำนาจนิยม โดยระบอบอำนาจนิยม และเพื่อระบอบอำนาจนิยม

“จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ที่จะได้เห็นภาพของ ป.ป.ช. ในคำตัดสินเรื่องนาฬิกาที่ยืมเพื่อนมาใส่, คำตัดสินของสถาบันตุลาการที่ให้การรับรองต่อการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร, การปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ก.ต. ที่มุ่งจับจ้องนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ยืนอยู่คนละด้านกับรัฐบาลที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ หรือแม้กระทั่งการจัดหารถประจำตำแหน่งมูลค่าสูง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภาระด้านงบประมาณของประเทศของ กกต.

“กล่าวโดยสรุปก็คือ องค์กรอิสระไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด หากทำหน้าที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามมากกว่า รวมทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของการค้ำยันให้ระบอบอำนาจนิยม สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในห้วงเวลาที่ผ่านมา และตราบจนกระทั่งปัจจุบัน”

 

ทางออกของฝุ่น PM 2.5 : อย่าหยุดแค่การฉีดน้ำ

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

ในวันที่ฝนปกคลุมทั่วฟ้ากรุงเทพฯ แม้จะช่วยให้คนที่กำลังหวาดวิตกกับฝุ่น PM 2.5 ใจชื้นขึ้นบ้าง แต่คำถามที่น่าคิดต่อจากนี้ คือทางออกที่ยั่งยืนของปัญหานี้คืออะไร

ในโอกาสนี้ 101 ขอนำเสนอทัศนะจากแพทย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ และผู้ที่ทำงานด้านสภาพอากาศ เพื่อชี้ถึงผลกระทบทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจของฝุ่น PM 2.5

พร้อมกับให้แนวทางเบื้องต้นว่า ประเทศไทยต้องเริ่มทำสิ่งใดตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่เราจะไม่ต้องเจอฝุ่น PM 2.5 อีกในปีข้างหน้า

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ชลธร วงศ์รัศมี

 

ความท้าทายของการเมืองโลก 2019 : ก้าวข้ามวิกฤตท้าทายระเบียบเสรีนิยม

 

โดย จิตติภัทร พูนขำ

จิตติภัทร พูนขำ สำรวจภาพของการเมืองโลกในปี 2018 และมองแนวโน้มความท้าทายในปี 2019 โดยเสนอว่าระเบียบโลกแบบดั้งเดิมซึ่งวางอยู่บนคุณค่าเสรีนิยมและระบบพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำนั้น กำลังเผชิญกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยในสี่ประเด็นสำคัญ

นั่นคือ (1) วิกฤตของเสรีนิยม (2) การสร้างระเบียบโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก (3) การหวนคืนสู่การถ่วงดุลอำนาจโลกใหม่ (rebalancing of power) ในอินโด-แปซิฟิก และ (4) ความล่มสลายของระเบียบโลกด้านนิวเคลียร์

 

หันหลังให้เมืองกรุงฯ มุ่งสู่ผืนดิน : Just Beginning ‘เน็ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่’

 

โดย  ธิติ มีแต้ม

ธิติ มีแต้ม ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘เน็ตติ้ง จารุวรรณ พลไร่’ นักกิจกรรมสาว เจ้าของ Mekong Nomad Organic Farm แหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับความสนใจจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ความสูญเสียที่เธอต้องแลกระหว่างทาง นับว่าห่างไกลจากคำว่า ‘โรแมนติก’ อยู่มากโข

“พ่อตาย ไฟไหม้ไร่สวน – เอาแค่นี้ก็ไม่น่าใช่ความปรารถนาที่คนหนุ่มสาวอยากพานพบ แต่เธอก็ถือเอาสิ่งที่ ‘เลือกไม่ได้’ นับเป็นรายจ่ายให้กับการเดินทางต่อ

ผมพบเธออีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ในจังหวะที่เธอกำลังแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขงกับเพื่อนๆ จากเวียดนาม ลาว กัมพูชา และเตรียมร่ำลาส่งพวกเขาเดินทางไปดูสถานการณ์ที่เมืองทวาย พม่า

แน่นอน, การออกจากกรุงเทพฯ ของเธอในบางความหมาย ก็คล้ายกับการลาออกจากพลเมืองไทย พาตัวเองไปเป็นพลเมืองโลก

วันดีคืนดี นักศึกษาจากสิงคโปร์อยากเห็นชะตากรรมลุ่มน้ำโขง เธอก็ทำหน้าที่เป็นล่าม พาคนหนุ่มสาวไปพูดคุยกับชาวบ้าน

อีกบางวัน กระแสข่าวกลุ่มทุนเถื่อนเข้ามาระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขง สำนักข่าวรอยเตอร์ นำโดยแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ ก็ไหว้วานให้เธอพาลงพื้นที่พร้อมเป็นล่ามด้วย

หลังพ่อเสียไป มียายย้ายเข้ามาอยู่ด้วย วันหนึ่งยายเผาขยะเสร็จแล้วกลับเข้าบ้าน จู่ๆ เพื่อนบ้านวิ่งมาบอกว่าไฟไหม้

เธอกับแม่วิ่งออกไปดู แต่ไม่ทัน ไฟลามจากกองขยะไปที่คอกเป็ดที่ภายในมีกองฟางแห้งกว่า 200 ก้อนเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เป็ดกว่า 30 ตัวถูกเผาทั้งเป็น แล้วไฟยังลามไปติดสวนยางต่อ ร่องสวนที่เต็มไปด้วยหญ้าแห้ง ทำให้สวนยางกว่าครึ่งต้องมอดไหม้ไปเพียงไม่ทันข้ามคืน

เพียงพอไหม กับการเก็บโกยเรี่ยวแรงใจที่หล่นหายให้กลับมา, ไม่แน่ใจ แต่ความที่มีดีเอ็นเอเป็นเด็กกิจกรรม ผมเดาเอาเองว่าเธอต้องหายใจลึกๆ แล้วลุกเดินหน้าต่อ…”

 

ยุทธศาสตร์ชาติร่างอย่างไร วิวาทะหลิน–ชาง

 

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เก็บประเด็นสำคัญจากวิวาทะระหว่าง ‘หลินอี้ฟู’ กับ ‘ฮาจุนชาง’ สองนักเศรษฐศาสตร์ระดับหัวกะทิ ที่โต้แย้ง-อภิปรายกันในประเด็นที่ว่า ควรใช้อะไรเป็น ‘เข็มทิศ’ ในการจัดการเศรษฐกิจ (รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ) ยุคปัจจุบัน

ว่ากันว่า นี่คือวิวาทะที่เป็นเสมือน ‘มวยคู่เอก’ ในแวดวงเศรษฐศาสตร์ระดับโลก ประชันหมัดกันถึง 3 ยกเต็มๆ โดยมีวารสารวิชาการ ‘Development Policy Review’ เป็นสังเวียน

ไล่เรียงตั้งแต่คำถามที่ว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ควรยึดหลักการใด / บทบาทของรัฐควรมีมากน้อยแค่ไหน และใช้อะไรเป็นเส้นแบ่ง / อะไรคือปัญหาของการใช้ ‘ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ’ (comparative advantage – CA) เป็นกรอบในการกำหนดบทบาทรัฐ / แนวคิดจากสำนัก ‘นีโอคลาสสิค’ ยังใช้ได้ใช้ผลอยู่หรือไม่ ฯลฯ

 

หายไปไหนมา ประชาธิปไตย ? : คุยกับ ศุ บุญเลี้ยง ว่าด้วย ‘สิทธิ’ และ ‘เสียง’ ที่หายไป

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“บางคนบอกให้เราแสดงจุดยืน แต่ถ้าเราแสดงออกมาจริงๆ ไม่รู้ว่าเราจะยืนอยู่ในประเทศนี้ได้มั้ย เมืองไทยมันไม่ปลอดภัยพอที่เราจะแสดงทัศนะอย่างที่เราคิด หรือรู้สึกจริงๆ ได้”

ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่กระแส ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ แรงขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าหลายคนคงได้ฟังเพลง ‘ก๊อก ก๊อก ก๊อก’ ที่พูดถึงการกลับมาของประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ขับร้องโดยสามนักร้องสาววัยละอ่อน นำเสนอผ่านเอ็มวีที่มีภาพลักษณ์แบบวงเกิร์ลกรุ๊ปร่วมสมัย ขณะเดียวกันก็มีกลิ่นอายของ ‘สาว สาว สาว’ เจืออยู่จางๆ

ผู้แต่งเพลงนี้คือ ‘ศุ บุญเลี้ยง’ นักเขียน บรรณาธิการ และหนึ่งในสมาชิกวง ‘เฉลียง’ ศิลปินในดวงใจใครหลายคน

แม้จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่ศิลปินรุ่นเก๋าผู้นี้จะออกมาแสดงทัศนะแบบยาวๆ ลึกๆ โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทย วันดีคืนดีเมื่อแต่งเพลงนี้ออกมา จึงเป็นที่น่าสนใจว่า มูลเหตุจูงใจของเขาคืออะไร รากฐานความคิดเกี่ยวกับสังคมการเมืองของเขาเป็นแบบไหนแน่

ในโอกาสนี้ 101 ถือโอกาสคุยกับ ศุ บุญเลี้ยง แบบยาวๆ ว่าด้วยที่มาที่ไปของเพลงดังกล่าว ไปจนถึงเรื่องราวความคิดที่เขามีต่อสังคมไทย ซึ่งไม่เคยเอื้อนเอ่ยที่ไหนมาก่อน

“ที่ผ่านมาเรามองไม่รอบด้านเท่าไหร่ ไม่ว่าเรื่องอะไร พอเรามองวัด เราก็มองแต่อะไรดีๆ เป็นเรื่องประเพณี เป็นเรื่องความดีงาม แต่ไม่มองว่าข้างหลังวัดมันก็มีพระที่สักลาย ขายยาบ้า หรือเวลามองโรงพยาบาล เราก็มองแต่ความขาวสะอาด สดใส แต่ไม่ค่อยมองเรื่องงบประมาณ การจัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ

“เช่นเดียวกัน พอเรามองการเมือง เราก็มักจะมองเห็นแต่มุมที่หม่นหมอง ขัดแย้ง แต่ถ้ามองให้รอบหน่อย มันต้องมีสิ่งดีๆ อยู่ แน่นอนว่า ส.ส. เลวก็มี แต่หมอเลวก็มี พระชั่วก็มีไง”

“เหมือนคนมาชี้ทุเรียน แล้วบอกว่าหนามมันแหลม ระวังตกใส่หัวนะมึง แข็งด้วย เหม็นด้วย เสร็จแล้วมันก็หิ้วไปปอกกินเฉยเลย (หัวเราะ) อารมณ์แบบนั้น ประเด็นคือมันต้องแยกสิ ใครไม่อยากกินไม่เป็นไร แต่อย่ามาบอกว่าทุเรียนมันเป็นสิ่งน่ากลัว ร้อนใน เหม็น”

“วิธีคิดของเราคือ ไม่จำเป็นต้องกลางหรอก แต่บังเอิญว่ามันไม่มีสีให้เราเข้าไปกลมกลืนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็เลยไม่อยากเลือก ถามว่าเอียงไหม เราเอียงไปทางคนที่เสียเปรียบ ที่เขาถูกลิดรอน ถ้าชาวบ้านโดนระราน หรือทำโรงไฟฟ้าแบบไม่รอบคอบ เราก็เอียง ถ้าทหารเกณฑ์ถูกลิดรอนสิทธิ เราก็ต้องเอียง ต้องเอนไปในทางที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม…”

 

ชาติคือประชาชน

 

โดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เขียนถึงความเป็นชาติที่แท้จริง เราเป็น ‘ไทย’ จริงหรือไม่? อะไรคือการรวมชาติ? เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา หรือลักษณะทางภูมิศาสตร์? หรือมีอะไรมากกว่านั้น ชาติทำให้เรารู้จักตัวเอง หรือห่างไกลรากของตัวเองไปเรื่อยๆ กันแน่

ใน ชาติคืออะไร (Qu’est-ce qu’une nation?, 1882) เรอนองชี้ให้เห็นว่า ‘ชาติ’ เป็นแนวคิดที่ใหม่มากแม้กระทั่งในโลกศตวรรษที่ 19 “โลกยุคโบราณไม่รู้จักชาติ อียิปต์ จีน หรือคาลเดียโบราณไม่ใช่ชาติ […] โลกยุคโบราณมีสาธารณรัฐ ราชอาณาจักร สาธารณรัฐที่มารวมกลุ่มกันเป็นสมาพันธ์ จักรวรรดิ แต่ไม่มีชาติในความหมายแบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้” (20)

รัฐโบราณเหล่านั้นอาจประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ปะปนกัน รัฐที่ใหญ่โตอย่างจักรวรรดิโรมันเคยแผ่ขยายอำนาจออกไปตั้งแต่ตะวันออกกลางจนถึงเกาะอังกฤษ กินพื้นที่อิทธิพลกว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบคร่าวๆ คือใหญ่กว่าประเทศไทยในปัจจุบันเกือบ 10 เท่า แต่กระทั่งในจักรวรรดิที่กว้างใหญ่ไพศาลและทรงอำนาจก็ยังไม่ได้มี ‘ชาติ’ เช่นที่เรารู้จักในทุกวันนี้ เพราะยังขาดองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง อาทิ ความเป็นเอกภาพหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การหลอมรวมผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมด้วยสถาบันที่เป็นศูนย์กลางของความเป็นชาติ และการสร้างความรู้สึกรักในแผ่นดินเกิด

สำหรับเรอนอง ชาติแบบที่เรารู้จักถือกำเนิดได้ด้วยการสร้างความเป็นเอกภาพให้กับกลุ่มคนที่แต่เดิมไร้เอกภาพ ผ่านกระบวนการสำคัญคือการ ‘จำให้ได้’ และการ ‘ลืมให้เป็น’ กล่าวคือ จำว่าเรามีอะไรเหมือนกันบ้าง และลืมว่าในอดีตเราแตกต่างกันอย่างไร

การลืมรากเหง้าและบรรพบุรุษที่แท้จริงของตัวเองจึง “เป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการสร้างชาติ” (27) การเป็น ‘ไท’ ไหนจึงไม่สำคัญนัก ไม่ต้องรู้ก็ได้ ลืมไปก็ได้ ไม่ต้องเป็น ‘ไท’ ก็ยังได้ ตราบเท่าที่เราสำนึกว่าตัวเองเป็น ‘ไทย’

 

#ยืมเมจ for what? ปรากฏการณ์ทางเพศรูปแบบใหม่ในสังคมเสมือน

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ พาไปสำรวจ #ยืมเมจforsex แฮชแท็กที่ได้รับความนิยมในทวิตเตอร์ และช่องทางการแสดงออกเรื่องเพศของคนยุคดิจิทัล ทั้งความหมาย ต้นตอ และเพศวิถีที่น่าสนใจบนสังคมเสมือน

“#ยืมเมจforsex ในเชิงความหมาย ‘ยืม’ หมายถึง การยืม ‘เมจ’ ย่อมาจาก อิมเมจ (Image) หรือภาพ ‘for sex’ หมายถึง เพื่อกิจกรรมทางเพศ รวมๆ แล้วแฮชแท็กนี้จึงหมายถึง การยืมภาพของคนอื่นเพื่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์

“แท้จริงแล้วการยืมเมจนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นวัฒนธรรมย่อยจากกิจกรรมการสวมบทบาท (Role Play) หรือที่กลุ่มคนไทยเรียกว่าการเล่น ‘บอท’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่บุกเบิกโดยแฟนคลับของศิลปินต่างชาติ และการเข้ามาของสังคมออนไลน์ อย่างโปรแกรม MSN และเว็บบอร์ด

จากการพูดคุยบนโลกออนไลน์ที่มีศิลปินเป็นปัจจัยหลัก บอทก็เริ่มถูกใช้เชิงส่วนตัวมากขึ้น เช่น หาเพื่อนที่เข้าใจ หาคนที่ตอบสนองความต้องการในแบบที่โลกเสมือนจริงให้ไม่ได้ หาคนที่ใช้อิมเมจตรงตามสเป็ก หาแฟนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน หาคนที่จะสามารถปลดปล่อยความต้องการทางเพศร่วมกัน ไปจนถึงคนที่มีรสนิยมเรื่องเซ็กส์คล้ายกัน เพื่อส่งรับข้อความ ต่อบทสนทนาประหนึ่งว่ากำลังมีเซ็กส์กัน (Sext)

ปรากฎการณ์นี้สร้างภาพที่ตลกร้ายอยู่ไม่น้อย เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง การพูดคุยหรือแสดงออกเรื่องเพศมักเป็นเรื่องที่ต้องห้าม หรือถูกผูกติดไว้กับศีลธรรม เซ็กส์มักเป็นความผิดบาป เป็นเรื่องที่อันตราย และสกปรก แต่เมื่ออยู่ในฐานะบอท สังคมเสมือนที่ไม่มีใครรู้ตัวตนแล้วนั้น ความต้องการของผู้ใช้จึงไม่มีกรอบหรือค่านิยมใดมาจำกัด และไม่มีผู้คนมาคอยตัดสิน

อย่างไรก็ตาม แม้แฮชแท็กนี้จะบรรจุเพศวิถีไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ #ยืมเมจforsex ก็ไม่อาจเป็นยูโทเปีย หรือสังคมอุดมคติได้ เพราะนอกจากประโยชน์ในเรื่องความต้องการทางเพศแล้ว มันก็ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง อันสืบเนื่องจากสถานะไร้ตัวตน เพราะผู้ใช้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าคนที่เรากำลังเป็นเพื่อน เป็นเซ็กส์เฟรนด์ หรือเป็นแฟนในสังคมเสมือนนี้ จริงๆ แล้วเขาเป็นใคร เพศอะไร อายุเท่าไหร่ และไว้ใจได้หรือเปล่า สถานะนิรนามจึงอาจเป็นที่มาของการหลอกลวง และนำมาซึ่งอันตรายที่ไม่คาดคิด”

 

หลักประกันสุขภาพที่รัก (26) : ฝุ่นควัน ซอมบี้ เลือกตั้ง

 

โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

รู้หรือไม่ว่า ปัญหาฝุ่นควัน เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการเลือกตั้ง (ที่กำลังมาถึง) อย่างไร ?คอลัมน์ #หลักประกันสุขภาพที่รัก ตอนใหม่

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนถึงปัญหาฝุ่นควันที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต โดยชี้ให้เห็นแง่มุมที่เกี่ยวโยงกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมแนะวิธีแก้ปัญหาแบบเจ็บๆ–ในกรณีที่สังคมไทยยังไม่อาจหลุดพ้นจากวังวนรัฐประหาร

“ว่ากันว่าฝุ่นกรุงเทพฯ เกิดจากการจราจร การก่อสร้าง และบางเสียงว่าเกิดจากการเผาในเขมร เราจะได้อ่านเรื่องทำนองนี้ทุกปี ปีละ 2-3 เดือนไปอีกหลายปี และหากไม่มีการเลือกตั้ง ก็จะได้อ่านไปอีกนาน ด้วยสมมติฐานที่ว่า น่าจะมีแต่รัฐบาลประชาธิปไตยที่พอจะมีศักยภาพเจรจากับนานาชาติเรื่องชั้นบรรยากาศที่เราใช้ร่วมกัน

ยังไม่นับรวมเรื่องบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝุ่นเชียงใหม่และเชียงรายแก้ไขได้ด้วยส่วนท้องถิ่นเช่นไร ฝุ่นกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างกัน การเลือกตั้งไม่เพียงต้องเกิดในระดับประเทศ แต่ควรเกิดขึ้นในระดับส่วนท้องถิ่นด้วย ให้ประชาชนได้พัฒนาฝีมือเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งนักการเมืองที่ช่วยเหลือเขาได้

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันค่ารักษาพยาบาลให้ได้ แต่ดูเหมือนมิได้ประกันค่าหน้ากาก และมิได้ประกันค่าแอร์ รวมทั้งค่าเสื่อมทางสุขภาพจิต สามอย่างนี้ประชาชนต้องจัดการเอง เพราะรัฐบาลที่เป็นอยู่วันนี้ทำให้ไม่ได้

หากใครจะเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ต่อจากนี้ เนื้อเรื่องอาจจะเป็นไปทำนองนี้ — บางบ้านไม่สามารถสร้างห้องนิรภัยได้เพราะยากจน ห้างสรรพสินค้าต่างๆ แออัดไปด้วยผู้คนที่เข้ามาอาศัยอากาศบริสุทธิ์ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่เช่าหอพักไม่มีแอร์ และเงินเดือนไม่พอจ่ายค่าไฟ ในที่สุดจะเหลือคนอีกมากที่ถูกทิ้งไว้กลางแจ้ง”

 

ขยะสร้างชาติ – เมื่อญี่ปุ่นเปลี่ยน ‘ของเสีย’ ไปสู่ ‘ของสวย’ เพื่อโอลิมปิก 

 

โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เล่าเรื่องเกี่ยวกับโอลิมปิก 2020 ที่จะจัดขึ้นในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นอกจากความตื่นเต้นของชาวญี่ปุ่น และการเตรียมงานกันหามรุ่งหามค่ำแล้ว ยังมีโครงการน่าสนใจเกี่ยวกับการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทำเป็นเหรียญรางวัล

“ญี่ปุ่นยุคนี้อาจไม่ได้หวือหวาเรื่องนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมหรือประกาศศักดาใหญ่โต แต่หันมานำเสนอตัวเองเรื่องวัฒนธรรมและนวัตกรรมทางสังคมมากกว่านวัตกรรมทางทหาร หันมาชูประเด็นเรื่องคุณค่าของความเป็นญี่ปุ่น โครงการหนึ่งที่เริ่มไปแล้วสำหรับโอลิมปิกและผมคิดว่าสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นได้ดีมาก ริเริ่มโดยภาคเอกชน ทำงานร่วมกับรัฐและคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก โครงการนี้ชื่อว่า ‘เหรียญทองของทุกคน’ หรือ ‘Everyone’s Medal’

“โครงการนี้ริเริ่มโดยเอ็นทีที โดโคโม (NTT docomo) บริษัทด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของญี่ปุ่น เปิดรับบริจาคโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เพื่อนำไปแยกชิ้นส่วนเอาแร่ที่สำคัญๆ อย่าง ทอง เงิน บรอนซ์ นำมาทำเป็นเหรียญรางวัลสำหรับนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก

“Everyone’s Medal เริ่มต้นมาตั้งแต่เมษายนปี 2017 รณรงค์ผ่านทั้งทางออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านของเอ็นทีที โดโคโมเอง และสถานศึกษา โดยตั้งเป้าว่าแร่ธาตุที่ได้จะต้องเพียงพอกับการผลิตเหรียญรางวัลจำนวน 5,000 เหรียญ เพื่อมอบเป็นรางวัลให้นักกีฬาทั้งในโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปีหน้า

“มีการสำรวจความเป็นไปได้ก่อนที่จะเริ่มต้นว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ น่าจะมีมากพอที่จะใช้ทำเหรียญรางวัลได้ ข้อมูลจากเอ็นทีที โดโคโมพบว่า แม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าที่สุด และแยกขยะได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่โทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น ถูกนำกลับมารีไซเคิลไม่ถึงร้อยละสิบ โทรศัพท์โดยมากจะถูก ‘เก็บ’ มากกว่า ‘ทิ้ง’ แต่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแร่ธาตุสำคัญอยู่มากที่สามารถนำมาใช้งานได้ใหม่มากมาย ไม่ใช่แค่เงิน ทองหรือบรอนซ์ ยังมี พัลลาเดียม อลูมิเนียม สแตนเลส สตีล ฯลฯ อีกเยอะ”

 

ชวนอ่านชุดผลงาน ทบทวน 2018 มองอนาคต 2019

 

อ่าน 2018 ผ่านผลงาน 101

 

โดย 101world

101 ชวนย้อนทบทวนโลกและไทยในปี 2018 ผ่านบทความ สารคดี และบทสัมภาษณ์ของ The101.world ตลอดปีที่ผ่านมา รวบรวมหลากหลายประเด็นทั้งเทรนด์โลก สถานการณ์ระหว่างประเทศ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตผู้คน

– ‘เมือง เทคโนโลยี ความยั่งยืน : วัตถุดิบชั้นดีของ Trend ปี 2018’ ว่าด้วยประเด็น ‘เมือง’ และคุณสมบัติของการเป็นเมืองที่ดี ‘เทคโนโลยี’ ที่กระทบการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัล และการรักษาทรัพยากรอย่าง ‘ยั่งยืน’

– ‘เช็คสถานการณ์การเมืองโลก : การหวนคืนของประวัติศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่’ ร่วมสำรวจปีแห่ง ‘การหวนคืนของประวัติศาสตร์’ เมื่อระเบียบการเมืองโลกแบบเสรีนิยมสั่นคลอนและถูกท้าทาย จากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ถึงจีน และรัสเซีย

– ‘การเมืองของ ‘ความหวัง’ กับการเมืองของ ‘ความจริง’ : การเมืองไทย 2018’ สำรวจทัศนะทุกขั้วอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2018 ตั้งแต่นายพล นักวิชาการ หัวหน้าพรรค ไปจนถึงประชาชนและเหยื่อทางการเมือง ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองทึมเทาที่สุด

– ‘เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2018 : เราอาจผ่านจุดที่ดีที่สุดมาแล้ว’ สรุปภาพรวมของเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ในปี 2018 ซึ่งตั้งอยู่บนความผันผวน ไร้ระเบียบแบบแผน ยากต่อการคาดเดา และสะท้อนว่าเราอาจผ่าน ‘จุดที่ดีที่สุด’ มาแล้ว

– ‘ความยุติธรรมไทย 2018 : ปีแห่งสิทธิมนุษยชน (แค่ในกระดาษ)’ พูดถึงเรื่องความยุติธรรมในหลากหลายด้าน ทั้งในแง่กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม ในช่วงปีที่ 4 ของรัฐบาลทหาร

– ‘แด่ผีและปีศาจ : เมื่อประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในปี 2018’ ไฮไลท์อยู่ที่วาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ‘นายผี’ และ เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้เขียนนวนิยาย ‘ปีศาจ’ ไล่มาถึงการเกิดขึ้นของเพลง ‘ประเทศกูมี’ และภาพยนตร์ ’10 Years Thailand’

– ‘ลัดพื้นที่ เลาะตะเข็บชีวิตคนไทย ปี 2018’ รวมงานเชิงสารคดีที่ลัดเลาะเข้าไปดูชีวิตคนไทยในหลายพื้นที่ ให้เห็นทั้งวิถีชีวิตและชะตากรรมของผู้คน รวมถึงสารพัดปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

มองอนาคตสังคมไทย 2019

 

โดย 101world

ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา 101 ได้นำเสนอซีรีส์ ‘มอง 2019’ โดยชักชวนผู้คนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ตัวจริง’ ในหลายแวดวง มาร่วมมองอนาคตสังคมไทยในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคมวัฒนธรรม

อธิคม คุณาวุฒิ,เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ,สุณัย ผาสุข,วรเจตน์ ภาคีรัตน์,อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คือบุคคลที่เราชวนสนทนาแบบยาวๆ ว่าด้วยปี 2019 ที่พวกเขามองเห็น

ปิดท้ายด้วยเสียงจากคนตัวเล็กๆ ในเมืองใหญ่ ที่ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาลงไปสำรวจ

 

รายการ 101 One-on-One

 

101 One-On-One Ep57 “Open Government : ทางออกปฏิรูปรัฐไทย” กับ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep 57

“Open Government : ทางออกปฏิรูปรัฐไทย” กับ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สำรวจปัญหาของรัฐไทย โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างของระบบกฎหมายและการกำกับดูแล ผ่านกรณีศึกษาจริงที่ชวนให้ตกใจ! แล้วหาคำตอบว่าแนวคิด ‘รัฐบาลเปิด’ หรือ Open Government ซึ่งยืนอยู่บนหลัก (1) ความโปร่งใส (2) การมีส่วนร่วมของประชาชน และ (3) การแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ผ่านเครื่องมือใหม่ๆ และนวัตกรรมเชิงนโยบาย เป็นทางออกในการปฏิรูปรัฐไทยอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิทัล

ชวนสนทนาโดย ธร ปีติดล

 

101 One-on-One Ep56 “ไทยอยู่ตรงไหนในสงครามการค้าโลก” กับ อาชนัน เกาะไพบูลย์

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep. 56

“ไทยอยู่ตรงไหนในสงครามการค้าโลก”

สนทนาสดกับ รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชวนคุยชวนคิด : สถานการณ์ล่าสุดของสงครามการค้าโลกเป็นอย่างไร อะไรคือโจทย์ที่ต้องจับตา ระเบียบการค้าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหนักหนาเพียงใด และจุดยืนของไทยอยู่ตรงไหนในเกมการค้าโลก

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

101 Round Table “จับตาอนาคตไทยและโลก ปี 2019”

 

โดย 101 One-On-One 

เช็คสถานการณ์ล่าสุดของเศรษฐกิจการเมืองไทยและโลก | ตอบโจทย์ อะไรคือความท้าทายที่ต้องพร้อมรับมือในปี 2019

โดย
– ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
– อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ China 5.0

ชวนสนทนาโดย ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save