fbpx
ทางออกของฝุ่น PM 2.5 : อย่าหยุดแค่การฉีดน้ำ

ทางออกของฝุ่น PM 2.5 : อย่าหยุดแค่การฉีดน้ำ

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

การฉีดน้ำอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะหยุดฝุ่น PM 2.5 ได้ และฝุ่น PM 2.5 ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะขับไล่ได้ภายในเวลาชั่ววันเดียว

101 ขอเสนอทัศนะจากแพทย์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ และผู้ที่ทำงานด้านสภาพอากาศ เพื่อชี้ถึงผลกระทบทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจของฝุ่น PM 2.5 และให้แนวทางเบื้องต้นว่าประเทศไทยต้องเริ่มทำสิ่งใดตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่เราจะไม่ต้องเจอฝุ่น PM 2.5 อีกในปีข้างหน้า

1. ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร : การเริ่มเก็บข้อมูลสำคัญเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย

รศ.นพ.ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร

“คนไทยมีแนวโน้มจะเป็นโรคแพ้อากาศ โรคปอดอักเสบ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้มากขึ้น โรคเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก คือปัจจัยเรื่องพันธุกรรม สอง คือสภาพร่างกาย ถ้าร่างกายแข็งแรงถึงแม้เราจะมีพันธุกรรม แต่อาการของเราอาจน้อยลงได้ สาม คือสารก่อภูมิแพ้ ถ้าเราไปเจอสารก่อภูมิแพ้ เราจะมีอาการ ถ้าเราไม่เจอ อาการเราจะน้อย”

“แต่ปัจจัยที่ผมคิดว่าจะทำให้คนเป็นกันมากขึ้น คือปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นตัวเสริมทำให้อาการที่เราเป็นเป็นมากขึ้น เช่น ทำให้จมูกเราไวมากขึ้น พอเราไปเจอสารก่อภูมิแพ้เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เรามีอาการ หรือในคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว บางครั้งไม่ต้องมีสารก่อภูมิแพ้เลย การเปลี่ยนแปลงของมลภาวะที่เป็นพิษทั้งหลายก็ทำให้มีอาการได้”

ข้างต้นคือข้อมูลจาก รศ.นพ.ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาอธิบายว่าฝุ่นและมลภาวะต่างๆ มักมีอนุภาคเล็กมากจนทำให้ยากจะติดตามนำมากล่าวโทษได้ เช่นฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมถึง 25 เท่า ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กเกินกว่าจะถูกดักจับในเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนต้นของมนุษย์ สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกลงลึกเข้าสู่หลอดลมและหลอดลมฝอยไปยังถุงลมในปอดได้มากขึ้น แทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายซึ่งส่งผลกระตุ้นหรือทำให้บางโรคมีอาการแย่ลง เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

“ในการตรวจหาปัจจัยของการเกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น ถ้าเป็นสารก่อภูมิแพ้ เราจะสามารถทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือเจาะเลือดไปตรวจดูได้ว่าเราแพ้เพราะอะไร แพ้เยอะไม่เยอะแค่ไหน แต่พอเป็นเรื่องมลพิษส่วนใหญ่จะไม่มีตัววัด ยกเว้นคนไข้จะต้องสังเกตตัวเอง เช่นไปต่างจังหวัดแล้วอาการดีขึ้น หรือไปต่างประเทศ เผื่อยาไปเยอะ แต่ปรากฎว่ายาที่เตรียมไปไม่ต้องใช้เลย การป่วยจากมลพิษไม่มีตัวชี้วัดทางการแพทย์ชัด ส่วนใหญ่จะออกมาในรูปที่คนไข้อยากจะสังเกตตัวเองและรู้ตัวเอง”

นอกจากการสังเกตตัวเองแล้ว นพ.ทรงกลดกล่าวว่ามีงานศึกษาทางการแพทย์ในต่างประเทศไม่น้อย ที่พิสูจน์ว่ามลพิษคือสิ่งกำเนิดความป่วยไข้ โดยได้มีการค้นคว้าและรวบรวมร่วมกับ พญ.อรอุษา ทวีวุฒิทรัพย์ พบว่าเฉพาะในปี 2560 มีงานศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่น่าสนใจ เช่น รายงานการศึกษาทางคลินิกกับมนุษย์ที่มหาวิทยาลัย Pittsburgh สหรัฐอเมริกา พบว่า PM 2.5 มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความรุนแรงของอาการ รวมถึงความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดที่มากขึ้นในผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแบบไม่มีริดสีดวงจมูก

ขณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins, Case Western และ Temple ในสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองพบว่า PM 2.5 สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบของเซลล์เยื่อบุผิวจมูก ก่อให้เกิดการทำลายเซลล์โดยอนุมูลอิสระ ส่งผลให้คุณสมบัติการเป็นเกราะป้องกันของเซลล์เยื่อบุผิวจมูกแย่ลง

ส่วนที่มหาวิทยาลัย Fudan ประเทศจีน ได้ทดลองใส่สารตะกอนแขวนลอย PM 2.5 ที่ความเข้มข้นและระยะเวลาต่างๆ กันลงในเซลล์เพาะเลี้ยงเยื่อบุจมูกคน จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ เช่นเดียวกับเซลล์เยื่อบุจมูกหนู กล่าวคือ เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ คุณสมบัติการเป็นเกราะป้องกันของเซลล์ถูกทำลาย ซึ่งคุณสมบัตินี้ที่ทำงานผิดปกติ ถูกเสนอให้เป็นทฤษฎีหนึ่งของสาเหตุโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

นอกจากนี้ การศึกษาที่โรงพยาบาล Anhui Provincial ในประเทศจีน ยังพบว่า PM 2.5 กระตุ้นให้หนูทดลองที่เป็นโรคภูมิแพ้มีอาการทางจมูกมากขึ้นได้ ส่วนการทดลองที่มหาวิทยาลัย Fudan ได้ทดลองให้หนูทดลองหายใจเอา PM 2.5 ที่ความเข้มข้นสูง (3000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เข้าไป พบว่านอกจากจะเกิดปฏิกิริยาการอักเสบที่มากกว่าแล้ว ยังทำให้โครงสร้างภายในเซลล์เยื่อบุผิวจมูกบางส่วนถูกทำลายไปอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีงานศึกษาในลักษณะดังกล่าวมากพอที่จะเก็บเป็นข้อมูลสำคัญ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทยได้ ทั้งนี้ นพ.ทรงกลด ได้เสนอแนวทาง ‘การเก็บข้อมูลระบาดวิทยาทางคลินิก’ ซึ่งอาจจะเป็นก้าวต่อไปที่วงการแพทย์น่าจะมีส่วนร่วมต่อประเด็นฝุ่น PM 2.5 ไว้ว่า

“มีทางหนึ่งที่เราอาจทำได้ คือทำสำรวจในระดับใหญ่ (mass) เช่น สำรวจอาการของคนที่เป็นโรคจมูก ภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจส่วนบน หรือในถิ่นที่มีมลพิษเยอะ หรือแม้กระทั่งในถิ่นเดียวกัน เราอาจนำมลพิษ 6 ตัวที่เราพูดถึง (มลพิษที่อยู่ในดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศหรือ Air Quality Index: AQI ได้แก่ ozone, carbon monoxide, lead, sulfur dioxide, nitrogen dioxide, PM 10 รวมทั้ง PM 2.5 ที่อยู่ในข้อถกเถียงว่าควรถูกนับรวมใน AQI ด้วย) ว่ามลพิษทั้ง 6 เมื่อเทียบเคียงกับอาการที่คนไข้เป็นแต่ละช่วงแล้ว มีความสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ข้อมูลที่ชัดไปนำเสนอให้เห็นว่า ถ้ามีอาการเยอะก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะ ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรง (direct cost) เช่น ค่ายา ค่าหมอ และค่าใช้จ่ายทางอ้อม (indirect cost) เช่น ค่าใช้จ่ายที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ต้องหยุดงาน ค่าใช้จ่ายที่ญาติต้องหยุดมาเป็นเพื่อน และค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถวัดค่าได้ชัดๆ (intangible cost) เช่น ความรู้สึกว่าตัวเองไม่สบาย ต้องเสียเท่าไหร่ ซึ่งหากทำสำรวจจนพอมีตัวเลขในระดับหนึ่ง ก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญขึ้น”

2. วิษณุ อรรถวานิช: คำถามคือเป็นคนไทยต้องอดทนไหม ?”

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

“ในอนาคตถ้าเกิดมีคนป่วย รัฐบาลต้องใช้งบประมาณเพื่อรักษา ไม่ว่าจะเป็นคนรวยคนจนคุณควรได้รับการปรนนิบัติที่ค่อนข้างยุติธรรม ทำอย่างไรให้ความไม่เท่าเทียมกันมันเหลือน้อยที่สุด” คือคำถามเบื้องหลังที่ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำแนวคิด ‘ความพึงพอใจในชีวิต’ (Subjective Well-Being) มาใช้วัดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากฝุ่นในประเทศไทย โดยวิษณุใช้ ฝุ่น PM 10 ฝุ่นที่มีอนุภาคใหญ่กว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นกรณีศึกษา

“แนวคิด ‘ความพึงพอใจในชีวิต’ นี้ยังใช้กันน้อย เป็นเทคนิคใหม่ แต่ในต่างประเทศใช้เยอะมาก โดยเฉพาะกับปัญหามลพิษ พูดง่ายๆ คือผมหาค่าว่าคนไทยต้องจ่ายเท่าไหร่ให้เรารู้สึกไม่แตกต่างจากเดิมก่อนที่มลพิษเพิ่มขึ้น หรือเต็มใจจ่ายเท่าไหร่เพื่อให้ฝุ่นละอองไม่เพิ่มขึ้น ไม่แย่ไปกว่าเดิม จากผลการคำนวณพบว่า ในกรุงเทพฯ คนยอมจ่ายเพื่อลดมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 10 เป็นจำนวน 51,060,032,110.64 บาท พูดอีกแบบคือ นี่คือราคาที่คนยอมจ่ายเพื่อให้ตัวเองมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี” วิษณุกล่าว

วิษณุขยายความว่าจำนวนเงินเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าคือจำนวนที่ประชาชนต้องใช้หาทางออกเพื่อความพึงพอใจให้กับตนเอง เช่น ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น หาที่อยู่ที่หายใจได้โล่งขึ้น นำไปซื้อหรือจ่ายค่ายานพาหนะที่ทำให้หลบเลี่ยงมลพิษได้ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้นทุนที่สุดท้ายแล้วไม่เพียงแต่ประชาชนที่ต้องแบกรับ แต่รวมถึงรัฐด้วย

“ถ้าคนป่วยมากขึ้น อนาคตรัฐบาลก็ต้องให้การอุดหนุน (subsidize) ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย รักษาพยาบาล และกระทบในมิติเศรษฐศาสตร์ แทนที่เมื่อก่อนผมเข้าโรงพยาบาลผมเสียเงิน 10 บาท ผมเหลือเงิน 90 บาท ปีหน้าถ้าผมป่วย ผมต้องเสียค่าโรงพยาบาล 30 บาท ผมจะมีเงินเหลือแค่ 70 บาท ถามว่ากระทบอะไรรัฐบาลมั้ย กระทบนะ เศรษฐกิจเดินหน้าเพราะการบริโภค สมมติคนไปเสียค่าพยาบาลเยอะ การบริโภคย่อมต้องลดลง ธุรกิจก็เติบโตลดลง ในอีกด้านหนึ่ง รัฐต้องช่วยค่ารักษาพยาบาลมากขึ้นด้วย”

วิษณุชี้ชวนให้ดูแผนที่ซึ่งแสดงดัชนีวัดสภาพภูมิอากาศแบบแสดงผลตามเวลาจริง พบว่าประเทศที่มีมลพิษสูงล้วนจับกลุ่มอยู่ในประเทศยากจนและกำลังพัฒนาทั้งสิ้น ขณะที่ประเทศที่คุณภาพอากาศผ่านค่ามาตรฐานมักเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แม้แต่เม็กซิโกและอเมริกาที่มีพรมแดนติดกัน แต่คุณภาพอากาศนั้นต่างกันราวอยู่คนละโลก

“ประเทศพัฒนาแล้วตั้งมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมาก เจ้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบมหาศาล หากมีความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ทำให้เขาย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอ้าแขนรับ เช่น ประเทศที่มีการให้ BOI เพื่อสนับสนุน และกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า”

“จริงๆ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แต่เราต้องเข้าใจว่าประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน มาตรฐานเรื่องฝุ่นของประเทศไทยกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประเทศไทยกำหนดไว้ว่าถ้าเกิดค่าฝุ่นละอองแตะเกิน 80 ไมโครกรัมต่ออากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร ถือว่าอันตราย แต่องค์การอนามัยโลกบอกเกิน 50 ไมโครกรัมก็อันตรายแล้ว คำถามคือเป็นคนไทยต้องอดทนไหม”

3. พิชญ์ รัชฎาวงศ์: ฝุ่นจากไมโครพลาสติก แหล่งกำเนิด PM 2.5 น้องใหม่

ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์

ผู้คนรับรู้มาระยะหนึ่งแล้วว่าบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ได้กลายเป็นขยะมหาสมุทรอายุยืน 10-450 ปีปริมาณมหาศาล กร่อนกลายเป็นไมโครพลาสติกแล้วปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารได้ รวมทั้งปนเปื้อนอยู่ในระบบน้ำประปาทั่วโลก ทว่าสิ่งที่นับเป็นความรับรู้ใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ คือการที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบว่า ไมโครพลาสติกสามารถแตกตัวจนกลายเป็นฝุ่นละเอียดขนาดต่างๆ รวมทั้งฝุ่น PM 2.5 แล้วล่องลอยในอากาศ หรือที่เรียกว่า ‘Airborne Microplastics Contamination’ ได้อีกด้วย

“ของพวกนี้เป็นของค่อนข้างถาวร พออยู่ในธรรมชาติอาจเล็กลง แต่ยังคงสภาพพลาสติกอยู่ เราอาจคิดว่ามันลงไปไกลในทะเล ไม่ใช่ของที่เราต้องสนใจ อยู่ในเกลือก็ช่างมัน เราอาจไม่ได้กินเค็ม แต่นักวิจัยในต่างประเทศพบแล้วครับว่า ไมโครพลาสติกพวกนี้อยู่ในฝุ่น PM 2.5 ด้วย”

ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงจากพลาสติกไปเป็นฝุ่นไมโครพลาสติก และกล่าวถึงผลการศึกษาในฝรั่งเศส ซึ่งพบว่าในเขตรอบนอกของปารีส มีอัตราการตกของฝุ่นจากไมโครพลาสติกอยู่ที่ 1,500 ไฟเบอร์ต่อตารางเมตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้ยังต่ำกว่าอัตราความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่น่ากังวลหากมีการสะสมในตัวมนุษย์ เพราะฝุ่นเหล่านี้มีองค์ประกอบของโพลีคาร์บอเนตซึ่งมีความทนทาน (durable) อยู่ในปอดได้นานโดยไม่เปลี่ยนสภาพ ราว 180 วัน

“คนที่อ่อนไหวเช่นเด็กจะมีอาการแย่มาก เพราะ 1.ไมโครพลาสติกมีผิวสัมผัสใหญ่ ฝุ่นนี้เคยเจอในปอดของมนุษย์ใหญ่ถึง 250 ไมครอน  2.เอาออกยาก เพราะมีโครงสร้างเป็นโพลีเมอร์และไฟเบอร์ ไม่ใช่เส้นตรง มีลักษณะเป็นขน  3.ไมโครพลาสติกสามารถดูดเบนซินหรือมลพิษที่ไปเกาะมันได้ เพราะไมโครพลาสติกหลายตัวมีต้นกำเนิดมาจากน้ำมัน อะไรก็ตามที่สารตั้งต้นมาจากน้ำมัน จะเป็นพวกเดียวกันหมด และเกาะไปด้วยกัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจปล่อยสารพิษที่เกาะบนตัวมันได้”

ไมโครพลาสติก คือขยะพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร กำเนิดขึ้นจากทั้งกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกขนาดเล็กโดยตรง (Primary microplastic) เช่น เม็ดไมโครบีดส์ในเครื่องสำอาง และพลาสติกที่หลุดรอดออกมาจากกระบวนการต่างๆ (Secondary microplastic) เช่น พลาสติกทั่วไปที่ฉีกขาด หรือได้รับความร้อนจนกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็ก พลาสติกที่หลุดมาจากเส้นใยสังเคราะห์ของเสื้อผ้า โดยมีผลการทดลองพบว่า การซักเสื้อผ้าสังเคราะห์หนึ่งชุด สร้างขยะเส้นใยไมโครพลาสติกได้กว่า 1,900 ชิ้น สิ่งที่น่ากังวลคือไมโครพลาสติกมีสารองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น โพลีไซคลิกอโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน โพลีคลอริเนตไบฟีนิล ดีดีที และไดออกซิน

พิชญ์กล่าวว่า “การปนเปื้อนในอากาศ (Airborne Contamination) รับได้โดยการสูดเข้าไปในลมหายใจ ไมโครพลาสติกในอากาศอาจทำให้เกิดรอยช้ำในระบบทางเดินหายใจ ขึ้นกับผู้รับแต่ละคนและคุณสมบัติของฝุ่น ถึงแม้ว่าความเข้มข้นจะต่ำ แต่โอกาสที่กลุ่มอ่อนไหวจะมีความเสี่ยงในการพัฒนาอาการบาดเจ็บนั้นมีอยู่ครับ ความเข้มข้นขนาด 40 ไมโครกรัมต่อตารางเมตรน่าจะเกิดในระดับอุตสาหกรรม ถ้าผู้เป็นโรคทางเดินหายใจได้รับฝุ่นระดับนี้จะเสียชีวิตได้ทันที แต่ความเข้มข้นที่เจอในอากาศของพื้นที่เมืองปกติที่น้อยกว่านั้น ทำให้เกิดโรคหอบหืด หัวใจ ภูมิแพ้ โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันได้ครับ”

“กระบวนการเมื่อไมโครพลาสติกกลายเป็นฝุ่น PM 2.5 แล้วเข้าไปในร่างกาย จะวุ่นวายมาก ร่างกายจะรับมือเหมือนเป็นเชื้อโรค แต่มันเป็นเชื้อโรคที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ทำลายยังไงก็ไม่ตาย ถ้าเป็นฝุ่นดินหรือฝุ่นสารอินทรีย์ ร่างกายจะมีกระบวนการกำจัด เช่น ในการรบกับแบคทีเรียต่างๆ พอเม็ดเลือดขาวมาเจอแบคทีเรีย รบเสร็จจะเหลือซากและของเสียต่างๆ ในเลือดซึ่งจะถูกขับออกทางไต แต่ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมทางเคมีชีวภาพ ร่างกายจะตอบสนองต่างไปเลย

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมนุษย์ต้องต่อสู้กับไมโครพลาสติก คือรบเท่าไหร่ก็ไม่ชนะ คล้ายคนรบแพ้หลายครั้งแล้วเริ่มสะสมในระบบภูมิคุ้มกัน ช่วงที่เข้าไปในปอดช่วงแรกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเซลล์เม็ดเลือดขาวจะงอกขามาโอบแล้วทำลาย แต่ถ้าทำลายไม่ได้ จะทำให้ขับของเสียได้ไม่หมด แล้วเริ่มสะสม ถ้ามีไมโครพลาสติกอยู่ในตัวมนุษย์ไปเรื่อยๆ ร่างกายก็เกิดการรบอยู่เรื่อยๆ เกิดการอักเสบไปเรื่อยๆ ไม่มีผลตอนเราแข็งแรงหรอกครับ แต่ในระยะยาวพอเราอ่อนแอลง อายุมากขึ้นเราก็จะเป็นมะเร็ง”

เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยรวม พิชญ์เสนอว่า “PM 2.5 มีอยู่ในกระบวนการอุตสาหกรรมทุกอย่างซึ่งมีการเผา เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีทางรู้ว่ามลพิษออกมาจากที่ไหน จนกว่าเราจะทำเรื่อง ‘อัตลักษณ์ทางเคมี’ (chemical fingerprint) โดยดูว่ามลพิษที่ออกมามีองค์ประกอบของสารจากแหล่งกำเนิดไหนเยอะ”  

“สมมติเราจะย้อนรอยที่มาของ PM 2.5 เราจะไปดูว่าในฝุ่นหนึ่งหน่วย ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เหมือนรวบรวมลายนิ้วมือของมนุษย์ ฝุ่นนี้มีเหล็กเยอะ มาจากโรงเหล็ก ฝุ่นนี้มีองค์ประกอบชีวมวลเยอะ อาจมาจากโรงเผาชีวมวล หรือมาจากบอยล์เลอร์ของโรงงานนี้ เราสามารถหาอัตลักษณ์และเปรียบเทียบได้ โดยมีกระบวนการทางคณิตศาสตร์ครับ ด้วยความที่องค์ประกอบเหล่านี้ถูกสร้างด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เราจึงดูปลายทางแล้วเราไล่ย้อนต้นทางได้ ว่ามลพิษแต่ละชนิดมาจากแหล่งไหนกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องมาจากแหล่งเดียวกันร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ เช่น อาจมาจากการเผาไหม้ในโรงปูน 50% อาจจะมาจากการเผาไหม้ในโรงหลอมเหล็ก 50% เราสามารถย้อนรอยกลับไปได้”

4. รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล: “เราอยู่ตรงนี้ รู้ว่าบ้านเรามีหลายฝ่ายมากที่มีองค์ความรู้ พร้อมแก้ปัญหา แต่ต่างคนต่างทำ”

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล

“ในต่างประเทศมีการวิเคราะห์ว่า ถ้าน้ำมันชนิด A, B, C ปล่อยมลพิษออกมา มลพิษตรงนี้มีอัตลักษณ์จาก A, B, C สัดส่วนเท่านี้ๆ สมมติถ้าทำในกรุงเทพฯ เราสามารถทำแบบจำลองของมลพิษกับรถยนต์ได้เช่นกันว่ารถมีกี่ประเภท ใช้น้ำมันแบบไหน ปล่อยมลพิษแบบไหน ฯลฯ ที่สำคัญเราต้องมีห้องสมุดของการทำลายนิ้วมือเยอะๆ หรือมีข้อมูลเยอะๆ นั่นเอง เพื่อมายืนยันรับรองอัตลักษณ์”

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยให้ภาพว่าเราจะควบคุมฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมืองได้อย่างไร

“การตรวจแบบนี้ ต้องใช้ทั้งแรงคน ค่าใช้จ่าย เวลา ต้องมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบมาตรฐานการตรวจวัด การเปรียบเทียบ ถ้าเรามีข้อมูลเหล่านี้เยอะๆ ก็จะเสริมซึ่งกันและกัน จริงๆ เรามีหลายหน่วยงานทำอยู่ ภาคอุตสาหกรรมที่ทำ CSR และชูเรื่องความซื่อสัตย์และธรรมาภิบาลก็มีข้อมูลตรงนี้ ถ้าทุกฝ่ายมีข้อมูลอะไรก็เปิดเผยเป็น Open Data ให้ดูได้ เราก็จะหาอัตลักษณ์ของมลพิษได้ง่ายขึ้น”

อีกหนึ่งบทบาทของศิริมา คือการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง TAQM  (Thailand Network Center on Air Quality Management) หรือศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย ที่ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ และความชำนาญการเป็นบูรณากร บูรณาการองค์ความรู้ วิธีการแก้ปัญหาอากาศ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในสังคมเข้าไว้ด้วยกัน

“TAQM รายงานถึงต้นกำเนิดของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ช่วงวิกฤตฝุ่นว่า เกิดจากต้นเหตุหลักๆ คือ (1) ไอเสียจากรถยนต์หรือจากการจราจร (2) อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3) การเผาในที่โล่งและในที่ไม่โล่ง จากทั้งในกรุงเทพฯ และจากพื้นที่โดยรอบหากทิศทางลมพัดพามาสู่เมือง โดยมีงานวิจัยล่าสุดที่ TAQM เชื่อว่าสาเหตุที่สำคัญที่สุดของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากการจราจรที่ติดขัด ซึ่งปลดปล่อยไอน้ำมันดีเซลออกมา”

ทีมงานของ TAQM มีความตระหนักถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤต โดยก่อนพัฒนามาเป็น TAQM ปี 2560 ศิริมาและคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลิตและติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่า PM 2.5 ที่จังหวัดน่านกว่า 95 เครื่อง ซึ่งสามารถเช็คค่าได้ทั้งบนแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ และที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่นอกอาคารและแวะเวียนมาดูได้ง่ายๆ

“เราใช้เครื่องตรวจวัดง่ายๆ แต่ค่าที่ได้จากเซ็นเซอร์ของเรากับค่าของกรมควบคุมมลพิษไม่เหมือนกัน จะห่างกันเล็กน้อย เพราะเครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษเป็นแบบมีมาตรฐานซึ่งมีราคาแพง การใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดทำให้ประหยัดต้นทุนของส่วนงานตรวจติดตาม ที่น่านเราติด 95 ตัวเพื่อให้อย่างน้อย เครื่องได้แจ้งค่าสีเขียว สีแดง สีเหลือง ตามระดับความอันตรายของอากาศ ให้คนรู้ฉันจะเตรียมตัวยังไง จะใส่หน้ากากไปทำงานมั้ย ก็พอช่วยได้”

เมื่อถามศิริมาถึงเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ที่สตาร์ทอัพ ชุมชน ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ฯลฯ พัฒนาขึ้นใช้เอง เพราะเครื่องของรัฐไม่ครอบคลุมทุกที่และมีไม่เพียงพอ ว่าค่าเหล่านี้เชื่อถือได้หรือไม่ ศิริมาตอบว่า

“มีสิ่งที่ต้องระวังเหมือนกัน ถ้าใช้เครื่องตรวจวัดที่ใช้เทคโนโลยีที่ง่ายจนห่างไกลจากมาตรฐานการผลิตจนเกินไป ค่าจะเยอะจนคนกังวลว่าฉันต้องกลั้นหายใจไหม ถ้ามีคุณภาพระดับกลางๆ หรือดี แต่ยังอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ถูกรับรองว่าเป็นวิธีมาตรฐาน อย่างเราเองที่ทำเซ็นเซอร์ที่น่าน ก็ไม่ได้อยู่ในระดับมาตรฐาน ช่วยเฝ้าระวังได้ แต่ไม่สามารถใช้รายงานตามกฎหมาย”

การขาดแคลนสถานีตรวจวัดอากาศซึ่ง ‘สามารถใช้รายงานตามกฎหมาย’ ได้ นั้นนำไปสู่ปัญหาใหญ่มากกว่าที่คิด ศิริมากล่าวว่านี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพอากาศของประเทศไทยไม่ค่อยได้บังคับใช้

“กฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศบ้านเรา มีเกือบหมด มีเยอะกว่าประเทศอื่นด้วยซ้ำ ทั้งพระราชบัญญัติ กฤษฎีกา ไม่ได้ล้าหลัง บางกฎหมายล้ำมาก อังกฤษยังไม่มีเลย กฎหมายคุม PM 2.5 เราก็มี แต่ถามว่ามีคนตรวจให้อากาศได้ค่ามาตรฐานตามกฎหมายไหม มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเพียงพอไหม ในกรุงเทพฯ มีสถานีตรวจแค่ 6 สถานี เพิ่งจะตั้งอีก 20 สถานี แต่ละสถานีต้องมีคนดูแลซ่อมบำรุง ต้องใช้ทรัพยากรเยอะเหมือนกัน”

ปัญหาการมีทุกอย่างพร้อมในกฎหมายแต่ขาดการบังคับใช้ นับเป็นปัญหาคลาสสิกของสังคมไทย แต่ TAQM ก็ยังไม่ย่อท้อที่จะผลักดันให้มาตรการทางกฎหมายใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การเสนอให้กรมควบคุมมลพิษใช้ดัชนีสุขภาพอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศ  (Air Quality Health Index : AQHI) แจ้งเตือนคุณภาพอากาศต่อประชาชน แทนดัชนีวัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน โดย TAQM กล่าวว่า ค่า AQI มีช่องโหว่คือมลพิษแต่ละประเภทมีผลกระทบไม่เท่ากัน ดังนั้นวิธีที่ถูกต้องกว่าคือ ควรเอาความแรงของผลกระทบมาร่วมคำนวณด้วย จึงได้เป็นค่า AQHI และควรนับรวม PM 2.5 ไว้ในค่า AQHI ด้วย

“ถ้าจะใช้ค่า AQHI ถามว่ายากไหม ยาก คุณจะต้องรู้ข้อมูลผลกระทบของมลพิษที่ส่งผลต่อคน ซึ่งต้องเชื่อมต่อกับข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลของมูลนิธิต่างๆ ข้อมูลเชิงการแพทย์ เชิงสถิติ ฯลฯ ต้องใช้เวลาทำข้อมูลตรงนี้อย่างน้อย  3-5 ปี แต่ถ้าไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้ เท่ากับเราปล่อยให้ช่วงเวลาที่จะได้เก็บข้อมูลหายไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้เก็บ ปีหน้าฝุ่นก็มาอีก โดยที่เราไม่ได้ตั้งรับอะไร

“เราไม่เคยมีข้อมูล แต่ตอนนี้ทุกหน่วยงานรู้แล้วว่าต้องทำอะไร เชื่อว่าคนไทยรอได้ ถ้าเก็บข้อมูลไป  3-5 ปี แล้วบอกว่าระหว่างนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อจะหาค่า AQHI ประชาชนก็คงไม่ว่าอะไร แต่ที่สำคัญคือเราน่าจะลงมือทำตั้งแต่วันนี้”

ศิริมากล่าวว่าแม้ว่าคนไทยอาจต้องรอการนำค่า AQHI มาใช้แทน AQI สักพัก (หากรัฐต้องการเริ่มต้น) แต่สิ่งที่ทำได้เลย ณ ปัจจุบันนี้ คือการขอให้กรมควบคุมมลพิษบรรจุค่า PM 2.5 เข้าไปในค่า AQI ซึ่งจะทำให้เกิดการเฝ้าระวังสุขภาพที่ยกระดับสูงขึ้น และนำไปสู่มาตรการการแก้ไขปัญหามลพิษที่จริงจังยิ่งขึ้น

“เราอยู่ตรงนี้ รู้ว่าบ้านเรามีหลายฝ่ายมากที่มีองค์ความรู้ พร้อมแก้ปัญหา แต่ต่างคนต่างทำ TAQM เกิดขึ้นมาจากการที่เราเห็นว่า เฮ้ย! ไอ้นี่ก็มี นั่นก็มี แต่ทำไมการแก้ปัญหาไม่เกิด เราต้องเรียนรู้ ดิ้นรนให้ผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน ด้วยการให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับปัญหาที่มีอยู่ แล้วทุกๆ คนมีส่วนร่วมใช้ความพยายาม เข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่ามันจะยั่งยืน เรายอมช้านะ แต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save