fbpx
มองอนาคตสังคมไทย 2019

มองอนาคตสังคมไทย 2019

[box]

‘มอง 2019’  คือซีรีส์ต้อนรับศักราชใหม่ ที่ทีมงาน 101 ชักชวนผู้คนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ตัวจริง’ ในหลายแวดวงมาร่วมมอง ‘อนาคต’ ของสังคมไทยในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคมวัฒนธรรม

ร่วม ‘มอง 2019’ กับ 101 แล้ว คุณเห็นอะไรกันบ้าง?

[/box]

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

เปิดห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร มองอนาคตการเมืองไทย กับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์

โดย ปกป้อง จันวิทย์ และ ธิติ มีแต้ม

101 ชวน วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กลับมาเปิด ‘ห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร’ อีกครั้ง เต็มอิ่มสามคาบเรียน เพื่อทบทวนว่า ผ่านทศวรรษแห่งความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาจนถึงวันนี้ ตัวเขามีมุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง และมองอนาคตการเมืองไทยอย่างไร ทั้งโจทย์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง และโจทย์ยาวๆ ยากๆ อย่างการรื้อกติการัฐประหาร การฟื้นฟูคุณค่าหายไป และการแสวงหาฉันทมติและสัญญาประชาคมใหม่ในสังคม

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : มองเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2019 ไม่มีหรอกซูเปอร์เทคโนแครตที่รู้ทุกอย่าง

โดย สมคิด พุทธศรี

“ประเทศไทยเวลาเจอปัญหาอะไร ก็ชอบไปตั้งคณะทำงานขึ้นมา สุดท้ายก็กลายเป็นหน่วยงานราชการอีกหน่วยหนึ่ง คุณต้องทำให้ข้อเสนอในการแก้ปัญหามันมาจากสารพัดทิศทาง มันไม่มีหรอก ‘ซูเปอร์เทคโนแครต’ ที่จะรู้ทุกอย่าง…”

สมคิด พุทธศรี คุยกับ ‘ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ นักเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านงานบริหารด้านเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน เคยทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ก่อนถูกเรียกตัวกลับมาช่วยงานที่กระทรวงการคลัง เพื่อช่วยแก้วิกฤติปี 2540 เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ในห้วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายของระเบียบเศรษฐกิจโลก และหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจการเมืองไทยในปี 2019 ความเห็นของ ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ แบบเขานี่แหละ ที่น่ารับฟังยิ่ง

“เวลาแก้ปัญหาเชิงนโยบาย คนส่วนมากมักคิดว่าคำตอบอยู่ที่รัฐ หรือไม่ก็ระบบราชการ ในโลกที่ซับซ้อนมากๆ แบบที่เป็นอยู่ เราจะคาดหวังให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง หรือสภาพัฒน์ เป็นคนวาดภาพและวางแผนได้จริงหรือ การให้สุดยอดผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนมานั่งกำหนดนโยบายจากบนลงล่าง ไม่สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว”

“ขนาดคนที่อยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ หรือคนที่บริหารกองทุนที่เจ๋งที่สุดในโลก เขายังไม่รู้เลยว่าเทคโนโลยีไหน หรือนวัตกรรมไหนมันจะเวิร์ค เขาถึงลงทุน 10 ที เจ๊ง 9 ที ในโลกที่ซับซ้อนมากๆ การดำเนินนโยบายต้องเป็นไปในลักษณะการทดลอง (experiment) มากขึ้น และก็ยอมรับว่านโยบายสามารถล้มเหลวได้”

“สมมติคุณเห็นโทรศัพท์เครื่องหนึ่งเสีย คุณคงดูว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นมีปัญหาอะไร แต่ถ้าคุณเห็นว่าโทรศัพท์รุ่นนี้เสีย คุณต้องกลับมาดูที่กระบวนการผลิตมีปัญหาอะไร ผมคิดว่ากระบวนการผลิตนโยบายของไทยมีปัญหา เป็นปัญหาระดับปรัชญาหรือวิธีการมองโลกเลย”

“รัฐไทยใหญ่เกินไปในที่ที่ไม่ควรใหญ่ และเล็กเกินไปในที่ที่ไม่ควรเล็ก ผมไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องทำหลายอย่างที่รัฐทำอยู่ตอนนี้ แต่เวลาบอกว่าควรลดบทบาทรัฐ คนก็จะบอกทันทีว่าเป็นพวกบ้าตลาด”

สุณัย ผาสุข

‘สุณัย ผาสุข’ มองสิทธิมนุษยชน 2019 ความหวังไม่อาจแขวนบนความบิดเบี้ยว

โดย วจนา วรรลยางกูร

2019 จะเป็นปีที่น่าจับตามองทิศทางความเป็นประชาธิปไตยในอาเซียน เมื่อประเทศสำคัญในภูมิภาคอย่างไทย และอินโดนีเซีย กำลังจะมีการเลือกตั้ง อันจะนำมาสู่การกำหนดทิศทางประเทศครั้งใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ

วจนา วรรลยางกูร ชวน สุณัย ผาสุข พูดคุยถึงสถานการณ์ ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่น่าจับตามอง ทั้งกระแสโลกจนถึงกระแสไทย ที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังว่า หากเลือกตั้งในกติกาที่บิดเบี้ยว อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าครั้งต่อไปของสังคมไทย

“การเลือกตั้งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองดำเนินไปได้โดยไม่ต้องประทะกันด้วยความรุนแรง ฝ่ายชนะได้อาณัติความชอบธรรม พรรคฝ่ายค้านก็มีที่ทางเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างและตรวจสอบได้ แต่พอระบบบิดเบี้ยวแบบนี้มันไม่สะท้อนอะไรเลย การเมืองไทยจะกลับไปสู่ท้องถนนอีกครั้งหรือเปล่า”

“เป็นที่พูดกันวงกว้างในกลุ่มผู้สังเกตการณ์ นักวิเคราะห์และทูตหลายประเทศว่ามีความเสี่ยงที่ไทยจะกลับไปสู่บรรยากาศคล้ายพฤษภาทมิฬซึ่งเป็นการนองเลือด เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีก จึงเรียกร้องทุกพรรคมาให้สัตยาบันว่าจะไม่เล่นอย่างไม่แฟร์ ขอให้ฝ่ายกุมอำนาจรัฐไม่เอาเปรียบคนอื่น ขอให้กกต.ทำหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลาง ขอให้สื่อมีความรับผิดชอบ แต่ถ้าคสช.และพรรคหนุนคสช.ยังฮึกเหิมว่าตัวเองได้เปรียบทุกทางแล้วไม่ยอมปรับพฤติกรรม ก็มีความเสี่ยงว่าแทนที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าครั้งใหม่ได้ กลายเป็นว่าเราจะขุดหลุมฝังตัวเอง”

“สิ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือรัฐบาลต่างประเทศเห็นมาตลอดเกือบจะ 5 ปี คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การควบคุมปราบปรามคนเห็นต่าง มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่ดำเนินต่อไปในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ในอนาคตเราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ไหม – ไม่ เราเห็นหายนะรออยู่”

ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

มองอนาคต ‘เมือง’ ไทย ผ่านสายตานักอนาคตศึกษา – ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ และ สมคิด พุทธศรี

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ และ สมคิด พุทธศรี ชวนมองอนาคต ‘เมือง’ ไทย ผ่านการสนทนากับ ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งประเด็นไปที่การจัดการเมืองในอนาคต จากมุมมองของนักอนาคตศึกษา

“เรื่องกรุงเทพรถติด มันแก้ไม่ได้แล้วล่ะ ถ้าจะให้พูดแรงๆ หน่อยก็คือ ถ้าใครเสนอว่าจะแก้รถติด ผมว่าเป็นข้อเสนอที่ผิด เพราะว่ามันไม่เคยแก้ได้ นักเศรษฐศาสตร์ นักจราจร นักผังเมืองทั่วไป รู้อยู่แล้วว่ายิ่งทำถนนมาเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งใช้ถนนมากขึ้น ท้ายที่สุดมันก็จะติดอยู่ดี สิ่งที่ต้องถามมากกว่าก็คือ จะเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้คนได้อย่างไร

“ตอนนี้ในเมืองเรายังขาดที่อยู่อาศัย และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ทั้งสวนสาธารณะ สาธารณูปโภค สาธารณูปการพื้นฐาน อย่างสถานีอนามัย โรงเรียน ห้องสมุดประชาชน ผมเชื่อว่า ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ภายใต้กรมธนารักษ์ รวมถึงที่ดินรัฐวิสาหกิจ ต้องทำอะไรได้มากกว่าหาเงินเข้าองค์กรและรัฐบาล

“ระบบขนส่งที่ควบคุมโดยมาเฟีย ก็คือการสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ วิธีการแก้ไขคือรัฐต้องประกาศว่าจะเอาจริงกับเรื่องระบบการขนส่งทางบก มีนโยบายและบทบาทในเชิงรุกมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่การประกาศห้ามนู่นห้ามนี่ แต่ต้องสร้างทางเลือกที่ดีกว่าไปพร้อมกัน”

“ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงปีนี้ ผมอยากให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้าเสนอนโยบายและดีเบทกันมาเลยว่า เราจะลดความเหลื่อมล้ำของสังคมด้วยการพัฒนาระบบบริการพื้นฐานในเมืองได้อย่างไรบ้าง และมีแนวนโยบายอย่างไรกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไร เราจะได้เลือกได้ถูกตามแนวทางที่เราแต่ละคนยอมรับได้”

อธิคม คุณาวุฒิ

เมื่อสนามสื่อ คือสนามรบของความเชื่อ : คุยกับ ‘อธิคม คุณาวุฒิ’ ว่าด้วย ‘ทาง’ ของสื่อ 2019

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

“ถ้าคุณไปอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ยุคหลังพฤษภา 2535 จะพบว่ามันอุดมไปด้วยบทความที่โคตรก้าวหน้า โคตรฉลาดเลย แต่ตอนนี้เราคุยเรื่องที่ย้อนยุคไปไกลกว่าตอนนั้นเยอะ ต้องมานั่งพูดเรื่องพื้นฐานกันใหม่ ต้องอธิบายว่าสิทธิเสรีภาพแปลว่าอะไร อะไรคือรัฐสวัสดิการ อะไรคือประชานิยม ซึ่งมันไม่สนุกเลย…”

ข้างต้นคือทรรศนะจาก ‘อธิคม คุณาวุฒิ’ บรรณาธิการผู้ก่อตั้ง way magazine และสำนักพิมพ์ Way of Books ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อตั้งแต่ยุคนิตยสารเฟื่องฟู เรื่อยมาจนถึงยุครุ่งอรุณแห่งสื่อออนไลน์

เป็นผู้บุกเบิกและกุมหางเสือของ ‘สื่อกระแสรอง’ หลายสำนัก ไล่ตั้งแต่เซคชั่น ‘เสาร์สวัสดี’ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, นิตยสาร a day weekly, นิตยสาร Way ก่อนขยับมาสู่สนามออนไลน์ แตกหน่อต่อยอดเป็น The Potential และ Seedtizen ตามลำดับ

ท่ามกลางวันเวลาที่สื่อหลายค่ายพากันปรับตัว บ้างล้มหายตายจากแบบถาวร 101 ชวนอธิคมคุยแบบยาวๆ ว่าด้วยทางของสื่อในปี 2019 ซึ่งยึดโยงอยู่กับสังคมการเมืองไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไปจนถึงบทบาทของ ‘พ่อ’ ที่ต้องประคับประคองลูกสาวให้อยู่ในสังคมอันเปราะบางนี้ไปอีกยาว

“ถ้าให้ประเมินภาพรวม เรากลับรู้สึกว่าคนวงการสื่อมันปรับตัวช้าที่สุด ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นสาขาวิชาชีพที่มีความตื่นตัวก่อนใคร อย่างที่เห็นเมื่อเดือนก่อน ที่เจ้าใหญ่ๆ มะงุมมะงาหรากันว่าต้องปรับ นี่คือการปรับเพราะมันไปต่อไม่ได้จริงๆ ไม่ได้ปรับเพราะวิสัยทัศน์”

“เราเคยเชื่อว่าถ้าหากเราเอาข้อมูล เอาข้อเท็จจริงมาวาง แล้วคนจะเปลี่ยน เฮ้ย เรื่องจริงเป็นอย่างนี้ว่ะ ข้อมูลเป็นอย่างงี้ว่ะ พอคุณดูแล้วคุณจะเรียนรู้ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง แต่เราเพิ่งพบว่าวิธีคิดแบบนี้มันใช้ไม่ได้ผลเลย เพราะคนมันไม่เชื่อ แล้วมันก็มีวิธีที่บัดซบมากเลยในการอธิบายความไม่เชื่อนั้นๆ”

“ช่วงที่โกรธมากๆ เราจะรู้สึกว่ามันต้องมีเรื่องผิดพลาดกับคนทำอาชีพอย่างเราๆ ในรุ่นหกสิบกว่า ทั้งคนทำสื่อ ทั้งปัญญาชน นักเขียน ศิลปิน ต้องมีความผิดพลาดใหญ่ๆ ในเจนเนอเรชั่นของคุณ สี่สิบกว่าปีผ่านมาเราจึงยังจมปลักตมเช่นนี้อยู่ คนรุ่นคุณต้องมีอะไรที่มันเลวทราม และกดมันไว้จนกระทั่งมาแก้ผ้าให้เห็นในยุคปัจจุบัน…”

“สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมที่เรียกกันว่ารับผิดรับชอบ (accountability) วันนี้พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง แล้ววันรุ่งขึ้นเปลี่ยนไปพูดอีกอย่างทำอีกอย่าง โดยไม่ได้รู้สึกผิดอะไร สังคมที่มันจะเติบโตเข้มแข็ง ยืนหลังตรง มองสบตาโลกได้อย่างภาคภูมิ มันต้องรู้จักขอโทษ สรุปบทเรียนว่าผิดพลาดยังไง แต่ปัญหาของคนไทยคือเรากะล่อน เราไม่เคยซีเรียสกับคำพูดของเราอย่างจริงจัง และทำแบบนี้กันเป็นเรื่องปกติ”

ปีใหม่ไร้อนาคต

New Year : No-solution? – ปีใหม่ที่ไร้อนาคต?

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“คุณว่าราคาเท่าไหร่ ไอ้คอนโดเนี่ย” จู่ๆ ลุงยามก็ถามขึ้น ฉันไม่แน่ใจว่าถามเพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว หรือถามเพราะอยากให้ฉันประเมินให้ฟังจริงๆ

“น่าจะ 3-4 ล้านได้มั้งคะ” ฉันเดา

“แล้วคุณว่าต้องหาเงินสักกี่ปีถึงจะซื้อได้ อย่างผมเนี่ยซื้อได้มั้ย” พูดจบแล้วก็หัวเราะเสียงดังกับมุกตลกที่คล้ายไม่มีวันเป็นจริง ฉันยิ้มพลางคิดในใจ “อันที่จริง ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองจะซื้อได้” แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป

ลุงยามเล่าให้ฟังว่าทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เงินเดือนรวมๆ แล้วอยู่ที่ประมาณ 9,000-12,000 บาท รวมค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ที่เหลือส่งกลับบ้านให้ครอบครัวและเก็บไว้ใช้เอง หวังว่าวันหนึ่งถ้ามีเงินก้อนมากพอ จะกลับไปทำสวนของตัวเองที่บ้าน

“ผมหวังแบบนี้มา 20 กว่าปีแล้ว” คุณลุงว่า

“ผู้คนจำนวนมหาศาลไม่เคยได้อยู่บ้าน กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองหลวงของความหวัง รับเอาคนทั้งมวลเข้ามาหางานและเงิน เมื่อถึงวันหยุดยาวทีหนึ่ง ผู้คนก็กลับบ้านของพวกเขา หอบเอาความคิดถึง เอา ‘ชีวิตที่ดีขึ้น’ และ ‘หวังว่าจะดีขึ้น’ กลับไปฝากครอบครัว ฉลองจนอิ่มหนำ แล้วขับรถกลับมาสู้ต่อที่กรุงเทพฯ เริ่มทำงานหลังหยุดยาว ใช้ชีวิตเหมือนเดิม จนดูเหมือนว่าวันหยุดที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น เส้นแบ่งปีใหม่เป็นเพียงเส้นสมมติที่ทำให้เราทั้งมวลบอกตัวเองว่า เราจะเริ่มใหม่ เราจะดีขึ้น เราจะวางแผน และปีนี้จะต้องดีกว่าเดิม ทั้งที่ความจริงเราอาจจะกำลังไต่ทางไปอย่างช้าๆ เหมือนรถบนถนนมิตรภาพในวันหยุดยาวก็ได้”

แม้จะมีตัวเลขบอกว่าอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 3.7 แสนคนในไทย แต่ในความเป็นจริง แม้คนที่มีงานทำก็ใช่ว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี คำว่า ‘งาน’ ไม่ได้หมายความถึง ‘เงิน’ อย่างที่พูดๆ กัน เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน แต่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มตาม ยังไม่นับภาระของชีวิตที่ทุกคนต่างต้องใช้จ่าย และความพอเพียงอาจไม่ใช่ทางออก เพราะรายรับเท่าที่มีก็แทบไม่เพียงพอแล้ว

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เขียนถึงอนาคตปี 2019 ผ่านสายตาของคนหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างก่อสร้าง ฟรีแลนซ์ และเจ้าของธุรกิจ ในโลกที่ผันผวน และสภาวะของประเทศที่ไม่มีอะไรแน่นอน ประชาชนมองภาพชีวิตของตัวเองอย่างไร และมีความหวัง ความฝันอะไรบ้าง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save