fbpx
สุขโดดเดี่ยว เศร้าเดียวดาย : คุยกับ ‘สุมาลี เอกชนนิยม’ ว่าด้วยศิลปะของการเป็นศิลปินเดี่ยว

สุขโดดเดี่ยว เศร้าเดียวดาย : คุยกับ ‘สุมาลี เอกชนนิยม’ ว่าด้วยศิลปะของการเป็นศิลปินเดี่ยว

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

“หลายเรื่องเราก็เห็นมาแล้ว ผ่านมาแล้ว เหมือนกับถามว่าสวรรค์เป็นยังไง เราในฐานะผู้ใหญ่ ก็เหมือนคนที่ไปสวรรค์มาแล้ว ตอนนี้เรากำลังกลับจากสวรรค์ ถ้าคุณอยากรู้ว่าเป็นยังไง คุณลองไปดูเถอะ ออกเดินทางไปดูด้วยตัวเอง…”

ริมทะเลสาบสงขลา ไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังพายุปาบึกผ่านพ้น บทสนทนาของเราเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไหลเอื่อยเป็นจังหวะเดียวกับคลื่นในทะเลสาบ

ในบรรดาศิลปินที่เคยพบปะพูดคุยมา ผมคิดว่า ‘พี่เจ็ง’ หรือ สุมาลี เอกชนนิยม คือหนึ่งในคนที่มีวิถีชีวิต ตลอดจนวิธีการทำงาน ที่อาจเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับคำว่า ‘ศิลปินเดี่ยว’ มากที่สุดคนหนึ่ง

แม้จะใช้สรรพนามว่า ‘พี่’ แต่หากนับกันที่ช่วงวัย ผมมีศักดิ์เป็นหลานของเธออย่างไม่ต้องสงสัย

หลังเกษียณอายุราชการมาราวๆ สองปี สุมาลีหันมาเอาจริงเอาจังกับการวาดรูปอีกครั้ง หลังจากรามือไปพักใหญ่ๆ

นิทรรศการ ‘เพราะเธอคือบทกวีของชีวิต’ คือผลผลิตล่าสุดจากปลายพู่กันของเธอ จัดแสดงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ควบคู่กับ ‘Nan Poesie’ เทศกาลบทกวีแห่งเมืองน่าน ครั้งที่ 1

ด้วยบุคลิกพูดน้อย ถ่อมเนื้อถ่อมตัว คล้ายพยายามเก็บตัวอยู่ในแสงสลัวอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ง่ายนักที่จะคาดเดาว่าเธอคิดหรือรู้สึกอะไร

ปีใหม่ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ขึ้นเหนือล่องใต้กับสุมาลีในช่วงเวลาสั้นๆ ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในกาละเทศะที่ต่างออกไป ทว่าหนึ่งในบทสนทนาที่น่าประทับใจ เกิดขึ้น ณ ริมทะเลสาบสงขลา ในวันที่พายุใหญ่เพิ่งพ้นไปหมาดๆ

ถัดจากนี้คือบางถ้อยคำ คำถาม-คำตอบ ที่ไหลรินออกมาในบรรยากาศอันเหมาะเจาะ

สุมาลี เอกชนนิยม

ชีวิตหลังเกษียณเป็นยังไงบ้าง 

พอเกษียณ ก็เหมือนหมดภาระผูกพัน ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น สิ่งที่อยากทำ ก็จะทำได้เต็มที่แล้ว

แต่การเขียนรูป แน่นอนว่าไม่ใช่คุณทำเดี๋ยวนี้ แล้วคุณจะทำได้ดีทันที มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอก งาน ‘เพราะเธอคือบทกวีของชีวิต’ ที่จัดแสดงที่น่านเมื่อปลายปี เอาเข้าจริงก็เหมือนเป็นการฝึกมือมากกว่า มันเหมือนคนเล่นดนตรี คุณเคยเล่นกีต้าร์แล้วทิ้งไป 30 ปี กลับมาจับใหม่ คุณจะสามารถเล่นได้เหมือนเดิมเลยไหม ก็คงไม่

ช่วงที่เป็นอาจารย์ คุณเป็นอาจารย์แบบไหน

ตอนที่เป็นอาจารย์ เราอ่านหนังสือมาก ทำงานหนักมาก แล้วจะมีความคิดอย่างหนึ่งว่า ถึงที่สุดแล้วถ้าเรารู้อะไรเราก็ต้องส่งต่อ เด็กที่สอนคือรุ่นหลาน รุ่นลูก เราต้องดูแลเขา ทำยังไงจะให้เขาเก่ง เราก็ต้องผลักดัน ให้เขาอ่านหนังสือ ให้เขาพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เขาไปถึงจุดสุดยอดได้ แล้วเราก็คงไม่ใช่อาจารย์ประเภทที่คดโกง เอาเปรียบเวลาราชการ หรือเป็นหนี้เป็นสินท่วมหัว ทำตัวไร้สาระไปวันๆ แล้วรอรับเงินเดือน เราไม่ใช่แบบนั้น

แต่ในทางกลับกัน ช่วงที่ทำงานสอนอยู่ งานวาดรูปที่เราอยากทำส่วนตัว ก็จะด้อยไปเลย เพราะเราไม่ได้ใช้เวลาของเราให้เต็มที่ จนวันนึงพอเกษียณ หมดเวลาของหน้าที่แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าน่าจะกลับมาทำอะไรของเราได้แล้ว

ด้วยข้อเท็จจริงของชีวิต คนมันไม่ได้มีแรงไปตลอดชาติ ยิ่งเมื่อคุณอายุเยอะ คุณยิ่งอ่อนแรงแน่ๆ คุณไม่ได้เข้มแข็งเหมือนตอนวัยรุ่นแล้ว ฉะนั้นเวลาที่ยังพอมีเหลือ อย่างเราตอนนี้ก็คิดไว้ทีละ 3 ปี 5 ปี ไม่ต้องคิดไกล เราจะทำอะไรได้แค่ไหน แล้วก็ลงมือทำซะ ทำอย่างที่เราอยากทำ

มองคนรุ่นใหม่ยังไง แนะนำหรือประคับประคองพวกเขายังไงบ้าง

เรารู้สึกว่าโลกของคนเหล่านี้ คือโลกของอนาคต คือโลกของความหวัง

ถ้ามองจากมุมของเรา ที่ผ่านอายุมาถึงตอนนี้ หลายเรื่องเราก็เห็นมาแล้ว ผ่านมาแล้ว เหมือนกับถามว่าสวรรค์เป็นยังไง เราในฐานะผู้ใหญ่ ก็เหมือนคนที่ไปสวรรค์มาแล้ว ตอนนี้เรากำลังกลับจากสวรรค์ ถ้าคุณอยากรู้ว่าเป็นยังไง คุณลองไปดูเถอะ ออกเดินทางไปดูด้วยตัวเอง นั่นหมายถึงเราต้องไม่พูด ทุกอย่างต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง

แน่นอนว่าเงื่อนไขแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจไปพบบางอย่างจริง บางคนอาจไม่พบอะไรเลย แต่ถ้าฝันได้ก็ฝันไปเถอะ สนับสนุนให้ทุกคนฝัน อยากทำอะไรทำไป เราก็จะผลักดันให้ทุกคนได้ทำอย่างที่เขาคิด แต่สุดท้ายเขาจะได้คำตอบด้วยตัวเอง เราจะไม่ไปห้ามใคร ไม่ขัดแย้งใคร ความคิดต่างไม่เป็นไร คุณก็ดำเนินและพัฒนาไป ไปสู่จุดที่ตัวเองคิด ที่ตัวเองหวัง หน้าที่เราคือคอยสนับสนุน เอาใจช่วย สุดท้ายแล้วทุกอย่างมันจะมีคำตอบให้คุณ จากที่สิ่งที่คุณคิดและคุณทำนั่นเอง

แล้วตัวคุณเอง เจอคำตอบของตัวเองรึยัง ถ้าเจอแล้ว คำตอบนั้นคืออะไร

ถ้าถามถึงคำตอบของเรา คิดว่าชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไรเลย คือตั้งแต่ตอนวัยรุ่น เพียงแต่เรารอเวลาว่าเมื่อไหร่ที่เราจะได้ทำได้เต็มที่เท่านั้นเอง แต่แน่นอน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องเลือกชีวิต สาระสำคัญที่สุดของการเป็นคน คือเราต้องไม่เป็นภาระใคร ถ้าคุณอยากทำตามใจ คุณก็ต้องไม่เป็นภาระให้ใครด้วย

ถ้าคุณจะเลือกแบบนี้ อย่างน้อยๆ คุณต้องคิดแล้วว่า ถ้ายังดูแลตัวเองไม่รอด แล้วจะมาทำตามใจตัวเองได้ยังไง แต่เราเชื่อว่าตัวเองไปได้ ดำน้ำไป อดๆ อิ่มๆ เศร้าบ้าง แฮปปี้บ้าง เราอยู่ได้ เราทนได้

การเลือกทางโดดเดี่ยวแบบนี้ มีราคาอะไรที่ต้องจ่ายบ้าง

อย่างแรกต้องแยกระหว่างความฝันกับข้อเท็จจริงของชีวิตก่อน เอาง่ายๆ เลย สมมติว่าถ้าคุณเป็นผู้หญิง ถ้าวันหนึ่งคุณตัดสินใจว่าจะอยู่คนเดียว คุณจะอยู่ได้ยังไง คุณจะเกาะใครกิน น้อง พี่ หรือใครจะซัพพอร์ตเรา เมื่อเลือกแบบนี้ก็ต้องคิดแล้วว่าเราจะอยู่ยังไง

ชีวิตคนไม่ได้มีมุมเดียวเนาะ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอะไร ระหว่างเส้นทางในการทำงานศิลปะ กับการมีชีวิตปกติโดยทั่วไป มีครอบครัว ทำธุรกิจ อะไรก็ว่าไป สุดท้ายเราได้คำตอบว่าอยากทำงานศิลปะ เราต้องเลือกทางนี้

ถ้าคุณ​บอกว่าอยากวาดรูป คุณทำไปเถอะ ไม่มีใครว่าอะไรคุณหรอก ตราบที่คุณดูแลตัวเองได้

อย่างกรณีของเรา แม่เราซื้อบ้านให้ ช่วยผ่อนให้ช่วงแรก แต่ที่เหลือเราก็ต้องไปผ่อนต่อเอาเอง แล้วในสภาพอย่างนั้นเราจะทำยังไง มันก็บีบให้เราต้องไปทำงานประจำ ก็โอเค สุดท้ายมันทำให้เราได้มีโอกาสเป็นอาจารย์มหา’ลัย แล้วในเมื่อเรามีหน้าที่ตรงนั้นแล้ว เราก็ต้องทำให้มันดีที่สุด

สุมาลี เอกชนนิยม

ชีวิตแบบนี้ ถือเป็นชีวิตที่มีอิสระไหม

ถ้าคำว่าอิสระคือการเดินทางคนเดียว คือความโดดเดี่ยว แบบนี้ใช่ ซึ่งแน่นอนว่าแพคเกจแบบนี้ก็มีสูตรสำเร็จบางอย่างของมันอยู่ การทำงานคนเดียว อยู่ด้วยตัวคนเดียว ยังไงก็ต่างกับการทำงานสองแรง

ชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัว คือสองแรง มันหมายถึงความมั่นคง สมมติถ้าเราเลือกทางนั้น วันนี้เราอาจเป็นเศรษฐีก็ได้ เพราะมันเห็นๆ อยู่ว่าถ้าคุณเลือกไปทำงานแบบนั้น คุณมั่นคงแน่ๆ แต่เราไม่เอา เราอยากทำงานวาดรูปมากกว่า เรามีความสุข เราชอบ

เขียนรูปเป็นนี่มันวิเศษมากนะ ไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นเขาคิดยังไง แต่สำหรับเราทำเท่าไหร่ก็ไม่เคยเบื่อ แล้วยิ่งถ้าทำได้ดั่งใจ อะไรมันจะดีไปกว่านี้ล่ะ เงินไม่ต้องเยอะ แต่เราชอบ พอเราชอบแล้วเราก็อยู่กับมันได้ จริงๆ การทำงานศิลปะก็เหมือนเล่นดนตรีนะ เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ยิ่งทำยิ่งดี ถ้าคุณได้ฝึกได้วาดตลอดเวลา ยังไงก็ต้องดี

 

ไม่ใช่ว่ามีพรสวรรค์แล้วจบ พรแสวงก็ต้องมี

คำว่า พรสวรรค์ มันก็คือเซนส์นั่นแหละ เรารู้ว่าเรามีเซนส์ แต่คุณมีเซนส์แล้วนั่งเฉยๆ คุณจะทำได้ไหม ยังไงคุณก็ต้องลงมือ แล้วที่สำคัญ มันไม่มีศาสตร์ไหนหรอกที่ไม่มีเทคนิคเฉพาะ เขียนรูปก็เหมือนกัน มีเทคนิคเฉพาะของตัวเอง สีน้ำมันก็มีเทคนิคของมัน สีน้ำก็มีเทคนิคของมัน ไม่มีใครหรอกที่นั่งเฉยๆ โดยไม่ลงมือลงแรงอะไรเลย แล้วจู่ๆ ก็ทำได้ดี

อย่ามาพูดว่าเพราะเขา Genius เขาเขียนรูปได้เซียนทันทีโดยที่ไม่ศึกษาอะไรเลย ถ้ามีคนพูดแบบนี้ เราอยากไปดูที่บ้านเลยว่าทำได้จริงเหรอ ขอดูหน่อย มันต้องมีอะไรบ้างแหละที่เราไม่รู้ หรือเขาไม่ได้พูดทั้งหมด

เราไม่ค่อยเชื่อเรื่องพรสวรรค์ หรือการมีเทพจุติในตัว จู่ๆ เขียนรูปได้เหมือนผีสิง อย่างน้อยมันต้องมีการศึกษา ต้องอ่านต้องเขียนมา นี่พูดในฐานของตัวเองว่าต่อให้เรามีภาพในหัวชัด ความรู้สึกชัดแค่ไหน แต่พอลงมือบางทีมันก็ไม่ได้ดั่งใจ พอไม่ได้ดั่งใจแล้วทำยังไง เราก็ทำใหม่จนกว่ารู้สึกพอใจ

สังเกตว่าคุณเป็นคนที่จิตใจดี มองโลกในแง่ดี เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้นเลยไหม

เราไม่ใช่คนซีเรียส แล้วก็ไม่ใช่คนที่เนกาทีฟ ส่วนหนึ่งอาจเพราะที่ผ่านมาเราเจอคนดีมาโดยตลอด หมายถึงมีเพื่อนที่ดี พี่น้องดี มีคนรอบข้างดีๆ ส่วนคนที่ไม่ดี หรือบางอย่างไม่ตรงกัน เราก็อยู่ห่างเขา ก็จบ เราไม่ได้ไปตำหนิหรือว่าใคร เพียงแต่ว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกไม่เวิร์คหรือไม่ไหว เราก็เดินออกมา เท่านั้นเอง ชีวิตแฮปปี้ มีความสุข

ทุกข์บ้างไหม เศร้าบ้างไหม

มันต้องมีอยู่แล้ว น้อย แต่มี แน่นอนว่าอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ มันต้องเศร้าอยู่บ้าง เพียงแต่เราก็รู้เหตุผล การที่เราเลือกวิถีชีวิตแบบนี้ สิ่งที่ตามมามันก็ต้องประมาณนี้แหละ เราเลือกวิถีโดดเดี่ยว หมายความว่าเราก็ต้องเดินคนเดียว คุณต้องทำทุกอย่าง แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเอง จะไปบอกใครล่ะ จะให้ใครมาช่วย หรือจะไปเล่าให้ใครฟัง ไม่ต้อง คุณก็อยู่กับปัญหา แก้ปัญหา แล้วก็จะพบทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองโดยลำพัง.. แต่ไม่เป็นไร ก็กูเลือกเองไง

เลือกแล้วก็ต้องยอมรับซะ

ใช่

สุมาลี เอกชนนิยม

ช่วงที่เริ่มทำงานศิลปะใหม่ๆ มีความอยากมีตัวตนเร็วๆ ได้รับการยอมรับเร็วๆ บ้างไหม

ถ้าพูดถึงยุคนั้น เหมือนมันมีซุ้มและมีคิว คุณต้องเข้าค่ายนี้ ต้องไปอยู่ในซุ้มนี้ ถ้าไม่ได้เข้าก็อย่าหวังว่าจะมีชื่อ อย่าหวังว่าจะได้รับการยอมรับ

ถามว่ามีความรู้สึกทำนองนี้ไหม เราว่าตอนนั้นเราไม่ได้ใจร้อน รู้แต่ว่าไม่เป็นไร สะสมผลงานของตัวเองไป มันเป็นทรรศนะของคนยุคนั้นด้วยนะว่าไม่ต้องพูดเยอะ ให้งานเป็นตัวพูด ต่างจากยุคนี้ที่เป็นยุคของพรีเซนเทชั่น ถ้าคุณไม่พูด คุณก็ตายไปกับความเงียบ

คุณบอกว่าคุณไม่พรีเซนต์เหรอ ช่วยไม่ได้นะ คุณก็จะตายไปกับความเงียบ ถ้าคุณพูดเยอะ พูดดี พูดเก่ง คุณก็จะมีพื้นที่ยืน โดดเด่นเห็นชัดในสื่อ เหมือนที่มีคนเคยพูดว่าตอนนี้ทุกคนในโลกเป็นศิลปินหมดเลย แต่ไม่เกิน 20 นาทีคุณจะถูกเหยียบด้วยศิลปินคนอื่นๆ ทุกวันนี้มันเป็นแบบนี้

สมัยก่อนเราไม่ได้ซีเรียสเรื่องพวกนี้เลย รู้แต่ว่าถ้างานเราดีจริง งานจะพูดเอง แล้วก็คิดอย่างนั้นมาตลอด ซึ่งพอถึงเวลางานมันก็ไม่พูดหรอก (หัวเราะ) เคยเจอเพื่อนคนนึงบอกว่า เธอทำงานดีจะตาย แต่ถ้ายูอยากขายได้ต้องขึ้นเวทีบ่อยๆ ยูต้องรู้จักคน ยูต้องเข้าสังคม เหมือนเราบอกว่าอาหารร้านนี้อร่อยมากเลย แต่มันอยู่ท้ายเกาะ ถามว่ามิชลินจะมาเจอคุณได้ยังไง แต่ถามว่าเราจะเปลี่ยนไหม จะพยายามพรีเซนต์ตัวเองไหม ก็คงไม่เปลี่ยนหรอก เราทำแบบนี้เกินครึ่งชีวิตมาแล้วเนาะ การจะไปเปลี่ยนปุบปับคงไม่ได้แล้ว

เราก็เป็นอย่างที่เราเป็น แล้วเราก็ยินดีที่จะอยู่เงียบๆ ของเราแบบนี้ ไม่เป็นไร เพราะรู้ว่าเราเขียนรูปได้ เราเขียนรูปดี เราเขียนแล้วแฮปปี้ แค่นี้จบแล้ว ยิ่งเวลาที่งานได้ดั่งใจ ยิ่งมีความสุข ถ้าขายได้ด้วยยิ่งดี (หัวเราะ) อันนี้เป็นของแถม

มองว่าเงินไม่ได้สำคัญขนาดนั้น

สำคัญ แต่ไม่ได้ขวนขวาย อย่างแรกคือเราต้องรู้ว่าในโลกนี้ งานศิลปะมันไม่ใช่ปัจจัยสี่ จากแต่ก่อนที่ศิลปะเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของศรัทธา ตอนนี้มันเป็นเรื่องของทุนอย่างเดียว ทุนที่มาในรูปของแกลลอรี่ ในรูปของมูลนิธิหรืออะไรต่อมิอะไร ซึ่งเราไม่ขวนขวาย แต่ถ้ามีก็เอา หมายความว่าถ้าจะให้ไปตะเกียกตะกายขวนขวายเพื่อให้ได้มา เราไม่ทำ

ที่บอกว่า เมื่อก่อนศิลปะเป็นเรื่องของอำนาจ ศรัทธา หมายความว่ายังไง

ตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงยุคกลาง อย่างกำแพงเมืองจีนคือการใช้อำนาจในการบังคับให้คนทำ งานที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายเกิดขึ้นจากอำนาจ การใช้แรงงานทาสเกิดขึ้นด้วยอำนาจ ยุคต่อมาคือศรัทธา เหมือนเราศรัทธาในพระพุทธเจ้าหรือศรัทธาในพระเจ้า นี่คือทำด้วยศรัทธา

แต่ทุกวันนี้มันคือเรื่องของทุน เงินอยู่ตรงไหน ศิลปินก็วิ่งเข้าไปทำงานตรงนั้น สนองทุนทั้งนั้นเลย

ถามง่ายๆ ว่า ศิลปินทั้งโลกเกิดขึ้นได้ยังไง เอาง่ายๆ เลยนะ สมมติว่าคุณจะสร้างปราสาทที่เป็นไม้สักทั้งหลัง อย่างแรกคุณต้องมีทุน คุณถึงจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเมืองโบราณ เป็นวัง เป็นวัด มันต้องมีทุน ยกตัวอย่างปราสาทหมื่นล้านของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ การที่จะเรียกศิลปินไปวาดรูปผนังให้ หมายความว่าเขาต้องมีเงิน เขาสามารถไปจ้างศิลปินที่ไหนมาวาดก็ได้ นี่คือการเคลื่อนจากอำนาจ ศรัทธา มาสู่ยุคของทุน

ตอนนี้เราอยู่ในยุคทุนนิยม ถูกไหม ฉะนั้นเมื่อทุนอยู่ตรงไหน ทุกอย่างก็วิ่งเข้าไปสนอง อย่างนายทุนที่เขาทำ ‘Bangkok Art Biennale’ ถ้าไม่มีเงินทำได้ไหม ไม่ได้ ซึ่งการที่เขามีเงิน เขาสามารถจิ้มศิลปินคนไหนก็ได้ ซึ่งถ้าคุณเป็นศิลปินแล้วอยากทำงานเหล่านี้ คุณก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงถึงจะได้เข้าไปอยู่ในซุ้มนั้น นายทุนเขาอาจไม่รู้เรื่องศิลปะมากมาย เขาก็ต้องว่าจ้างหัวหน้าแก๊งที่รู้เรื่องศิลปะ หัวหน้าแก๊งก็ต้องชี้มาที่ซุ้มตัวเอง เอาคนนี้ เอากลุ่มนี้ ที่เป็นลิ่วล้อบริวารของเขา ถึงที่สุดศิลปินกลุ่มนี้ก็จะได้เข้าไปทำงานในโปรเจ็กต์นี้

ถ้าสมัยนี้ อาจใช้คำว่า คอนเน็คชั่น

นั่นแหละ มันคือคอนเน็คชั่นทั้งหมดเลย ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงต้องมีคอนเน็คชั่น เราก็เข้าใจ เอาเข้าจริงคอนเน็คชั่นก็มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อย่างไมเคิล แองเจลโล หรือพวกศิลปินยุคเรเนอซองซ์ ก็ต้องอาศัยตระกูลเมดิชี่ (De’ Medici) ที่เป็นมหาเศรษฐีของอิตาลี

สิ่งที่จะบอกคือ จริงๆ แล้วมันอาจเป็นเพราะในบ้านเรา ซึ่งอาจหมายถึงที่อื่นด้วยนะ สิ่งที่เรียกว่ากระบวนการทางศิลปะมันไม่ครบ ซึ่งเมื่อเงื่อนไขเป็นแบบนี้ เราก็ทำเท่าที่เราทำได้

ไม่ครบนี่คือยังไง

เอาง่ายๆ คือ ประเพณีการบริโภคศิลปะไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ฉะนั้นคุณอยากวาดรูปเหรอ เรื่องของคุณ แล้วถามว่าในมุมศิลปิน มุมคนวาด เขาจะอยู่ยังไง ในเมื่อมันเป็นอาชีพจะอยู่ได้ก็ต้องมีรายได้ แต่ในเมื่อคุณก็รู้ แล้วยังทู่ซี้ทำอยู่ทำไม สุดท้ายคุณก็ต้องไปดิ้นรนหาวิธีของคุณเอง

ถามว่าเราเดือดร้อนมั้ย ไม่ ถามว่าอยากทำมั้ย อยากทำ ทำทั้งที่รู้ว่ามันไม่สามารถมีตัวตนหรือมีสถานภาพในสังคมขนาดนั้นได้ แต่ทำเพราะเป็นความสุข สุขกับตัวเอง

น้อยเนื้อต่ำใจบ้างไหม ในเมื่อคนก็มองไม่เห็น เงินก็ไม่ได้เยอะอะไร พรีเซนต์ตัวเองก็ไม่เป็น

คุณไม่มีสิทธิ์คิดอย่างนั้นได้เลยนะ เพราะคุณเลือกเอง คุณรู้อยู่เต็มอก มีใครมาบังคับคุณรึเปล่าล่ะ ถูกไหม ฉะนั้นอย่ามาโวยวาย อย่ามาบอกว่าสังคมไม่สนับสนุน หน่วยงานนั้นไม่สนใจ โถ เรารู้มาตั้งแต่สิบชาติก่อนแล้ว (หัวเราะ) ประเด็นคือเรารู้ แต่เราเลือกไง

ฉะนั้น อารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจนี่ คิดว่าไม่มีแล้ว ออกจะรู้สึกภูมิใจมากกว่าด้วยซ้ำ ที่เรามองเห็นอะไรบางอย่างที่คนอื่นไม่เห็น เช่น มองออกไปที่ทะเลตอนนี้ พระอาทิตย์กำลังตกดิน เรารู้สึกว่าสวยมากเลยนะ แต่คนอื่นเขาอาจมองไม่เห็น หรือไม่ได้ใส่ใจเหมือนเรา แล้วเราจะพูดทำไม จะไปนั่งอธิบายให้เขาฟังทำไม มันเหมือนเป็นของวิเศษที่เราได้มา ทำให้เราเห็นแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชั่งตวงวัดไม่ได้ นำไปแลกเป็นมูลค่าการันตีอะไรให้ใครก็ไม่ได้

แต่คนมันก็ไม่ใช่ไม้กระดานเนาะ มันก็ต้องมีความรู้สึกอยู่บ้างแหละ รู้สึก แต่มันมีเหตุผลให้ตัวเองได้ เมื่อชีวิตเราโตมาขนาดนี้แล้ว เราได้คำตอบหมดแล้ว หมายถึงมีคำตอบให้ตัวเองว่าเราต้องอยู่ได้ ให้สภาพที่ขาดทุกอย่าง เราต้องอยู่ได้โดยลำพัง

โดยลำพัง…

สุมาลี เอกชนนิยม

[box]

สุมาลี เอกชนนิยม จบปริญญาตรี สาขาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / ปริญญาโท ทัศนศิลป์ (ศิลปะสมัยใหม่) มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ / ได้รับประกาศนียบัตร ภาษาฝรั่งเศส ซอร์บอนน์ มหาวิทยาลัยปารีส

เคยจัดงานแสดงเดี่ยวหลายชุด เริ่มตั้งแต่ปี 2539 ชื่อว่า ‘มาจากใจ’ จนถึงชุดล่าสุดเมื่อปลายปี 2560 ชื่อว่า ‘เพราะเธอคือบทกวีของชีวิต’

มีผลงานตีพิมพ์หลายชิ้น ชิ้นที่โดดเด่นคืองานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท หัวข้อ ‘ฮูบแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม (มติชน)

รับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อยู่ราวๆ ยี่สิบปี ก่อนเกษียณอายุราชการออกมาเมื่อสองปีก่อน

ปัจจุบันทำงานวาดรูป 8 ชั่วโมงต่อวัน ควบคู่ไปการกับการเดินทางพบปะผู้คน ในสถานที่ใหม่ๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจในการวาดรูป

[/box]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save