fbpx
ความท้าทายของการเมืองโลก 2019 : ก้าวข้ามวิกฤตท้าทายระเบียบเสรีนิยม

ความท้าทายของการเมืองโลก 2019 : ก้าวข้ามวิกฤตท้าทายระเบียบเสรีนิยม

จิตติภัทร  พูนขำ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

หมุดหมายสำคัญประการหนึ่งของปี 2018 คือ วาระครบรอบ 100 ปีของการหยุดยิง ซึ่งนำมาสู่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยผู้นำโลก เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ วลาดีมีร์ ปูติน อังเกลา แมร์เคิล ต่างเข้าร่วมงานฉลองดังกล่าวที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ตั้งคำถามสำคัญว่า วาระดังกล่าวเป็น “สัญลักษณ์ของสันติภาพอันยาวนานระหว่างประเทศ” หรือเป็นเพียง  “ห้วงเวลาสุดท้ายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อนเข้าสู่ยุคมืดของความไร้ระเบียบโลกครั้งใหม่” กันแน่

ภาพที่ 1 ดูเหมือนจะเป็นภาพตัวแทนของระเบียบโลกแบบเสรีนิยม ที่มีเป้าหมายในการรักษาความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศ ทั้งยังฉายภาพของมาครงในฐานะผู้ปกปักษ์พิทักษ์คุณค่าแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม

โดนัลด์ ทรัมป์, วลาดีมีร์ ปูติน, อังเกลา แมร์เคิล
ภาพที่ 1 ที่มา: TIME

อีกหกวันต่อมา – 17 พฤศจิกายน 2018 ประชาชนในกรุงปารีสจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายการขึ้นภาษีน้ำมันของมาครง ซึ่งอ้างว่าเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงสวมใส่เสื้อกั๊กสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์

“ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง” (Mouvement des gilets jaunes) ในภาพที่ 2 กลายเป็นภาพตัวแทนของพลังทางสังคมการเมืองของกลุ่มประชาธิปไตยที่ไม่พอใจต่อระเบียบแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งสะท้อนออกมาในนโยบายต่างๆ ของมาครง ได้แก่ นโยบายนิยมกลไกตลาด ลดภาษีให้คนรวย ผลักดันนโยบายรัดเข็มขัด และปฏิรูประบบเงินบำนาญ ภาพลักษณ์ของมาครงจึงเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” หรือเป็นตัวแทนของระเบียบแบบเสรีนิยมใหม่

ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง
ภาพที่ 2 ที่มา: Radio Havana Cuba

ภาพทั้งสองที่ยกมาไม่ได้ต้องการลดทอนการทำความเข้าใจการเมืองให้เป็นเพียงสองขั้วตรงข้าม แต่เป็นตัวอย่างของภาพตัวแทนที่ย้อนแย้งและลักลั่นของระเบียบระหว่างประเทศในปัจจุบัน สิ่งที่เราเห็นในปีที่ผ่านมา คือ “ระเบียบโลก” และ “ระเบียบเสรีนิยม” ถูกถามท้าอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทรัมป์ Brexit การแผ่อำนาจของจีนและรัสเซีย สงครามการค้า การหวนคืนสู่ภูมิรัฐศาสตร์ ประชานิยมขวาจัด เป็นต้น

อาจจะกล่าวได้ว่าการเมืองโลกดูเหมือนจะสวิงกลับไปสู่ขั้วอำนาจอนุรักษนิยม และระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังตกอยู่ในวิกฤต

บทความนี้ลองสำรวจภาพของการเมืองโลกในปี 2018 และมองแนวโน้มทิศทางในปี 2019 โดยเสนอว่าระเบียบโลกแบบดั้งเดิมซึ่งวางอยู่บนคุณค่าเสรีนิยมและระบบพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำนั้น กำลังเผชิญกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยในสี่ประเด็นสำคัญ นั่นคือ (1) วิกฤตของเสรีนิยม (2) การสร้างระเบียบโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก (3) การหวนคืนสู่การถ่วงดุลอำนาจโลกใหม่ (rebalancing of power) ในอินโด-แปซิฟิก และ (4) ความล่มสลายของระเบียบโลกด้านนิวเคลียร์

1. วิกฤตของเสรีนิยม

วิกฤตของเสรีนิยมสะท้อนออกมาอย่างน้อยในสามลักษณะด้วยกัน

หนึ่ง ในเชิงคุณค่า อุดมการณ์ความคิดแบบเสรีนิยมถูกตั้งคำถามในการเมืองภายในประเทศทั่วโลก และคุณค่าแบบชาตินิยม และ/หรือ ประชานิยมมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นการก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอเสรี” (illiberal democracy)

การปะทะกันระหว่างชุดคุณค่าดังกล่าวไม่ได้สะท้อนแต่เพียงความคิดทางเศรษฐกิจการเมือง หากยังรวมถึงประเด็นด้านอัตลักษณ์ ซึ่งแบ่งแยกระหว่าง “เรา” กับ “คนอื่น” อย่างแข็งกระด้างมากขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างสำคัญของวิกฤตของเสรีนิยม ได้แก่ ทรัมป์ และ Brexit แต่วิกฤตดังกล่าวนั้นถือเป็นวิกฤตทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำประชานิยมฝ่ายขวา เช่น Rodrigo Duterte (ฟิลิปปินส์) Narendra Modi (อินเดีย) Victor Orban (ฮังการี) Jaroslaw Kaczynski (โปแลนด์)  Jair Bolsonaro (บราซิล) เป็นต้น

ทำไมประชานิยมถึงเข้ามาครองอำนาจนำแทนที่เสรีนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน?

ในหนังสือ National Populism: The Revolt Against Liberal Democracy (2018) ผู้เขียน Roger Eatwell และ Matthew Goodwin เสนอว่า การขยายตัวของประชานิยมนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจาก 4D

D-1 คือ Distrust ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่มีลักษณะชนชั้นนำ (elitist)

D-2 คือ Destruction การทำลายอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มแห่งชาติ

D-3 คือ Deprivation การพรากเอาผลประโยชน์ต่างๆ จากโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่

และ D-4 คือ De-alignment การล่มสลายของสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองดั้งเดิมกับประชาชน

สอง ในเชิงนโยบายหรือยุทธศาสตร์ ลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับการท้าทายจากลัทธิพาณิชย์นิยมใหม่ (Neo-Mercantilism) ซึ่งมองว่าความมั่งคั่งของรัฐมาจากการปกป้องเศรษฐกิจภายในประเทศ และการอาศัยเครื่องมือทางด้านกำแพงภาษีในการได้มาซึ่งความได้เปรียบของรัฐ ดังปรากฏให้เห็นผ่าน “สงครามการค้า” (trade wars) ในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตรของตนเอง เช่น การกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมและเหล็กจากสหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก

สาม ในเชิงระเบียบระหว่างประเทศ เสรีนิยม ซึ่งแต่เดิมเป็นพลังสำคัญในการจัดระเบียบโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และวางอยู่บนระเบียบทางความมั่นคง ระเบียบทางด้านเศรษฐกิจแบบเสรี และระบบพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐฯ นั้น ถูกท้าทายทั้งโดยผู้นำของสหรัฐฯ เองคือโดนัล ทรัมป์ และรัฐมหาอำนาจอื่นๆ ที่ไม่เอาระเบียบโลกแบบเสรีนิยม อย่างเช่นจีนและรัสเซีย

นักวิชาการบางคน เช่น G. John Ikenberry เรียกปัญหานี้ว่าเป็นวิกฤตการนำในการเมืองโลก

สำหรับ John Mearsheimer นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เสนอว่า นี่คือปัญหาของอาการหลงผิดของเสรีนิยม (liberal delusion) ซึ่งมีสมมติฐานหรือความเชื่อผิดๆ ว่าเสรีนิยมนั้นจะส่งผลดีต่อระเบียบโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมหรือ liberal hegemony นั้นก่อให้เกิดลัทธิทหารนิยม การแทรกแซงทางการทหารและความขัดแย้งระหว่างประเทศ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดสันติภาพ

ไม่ว่าจะมองจากมุมมองไหน ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมที่กำกับกิจการระหว่างประเทศ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างมีนัยสำคัญ

2. การสร้างระเบียบโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก

การสร้างระเบียบโลกที่ไม่ใช่ตะวันตกเป็นความพยายามในการสร้างระเบียบโลกทางเลือกที่ไม่อยู่ในระเบียบโลกแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระเบียบระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคของมหาอำนาจใหม่ (rising powers) ต่างๆ โดยเฉพาะจีนและรัสเซีย

นอกจากมหาอำนาจใหม่จะเล่นในเกมระเบียบโลกแบบดั้งเดิมที่เป็นประโยชน์แก่รัฐตน เช่น การยืนกรานหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นๆ โดยไม่ให้ประชาคมระหว่างประเทศวิจารณ์นโยบายภายในประเทศที่ไม่เป็นเสรีนิยมของตน เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐเหล่านี้ยังพยายามจะสถาปนาระเบียบโลกคู่ขนานที่ไม่อยู่ในการกำกับของโลกตะวันตกอีกต่อไป

ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) คือตัวอย่างสำคัญที่สุดของจีนในการก้าวข้ามระเบียบโลกแบบดั้งเดิม โดยจีนต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดมโหฬาร เช่น ถนน ท่าเรือ และเครือข่ายทางรถไฟ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศระหว่างยุโรปกับเอเชีย ผ่านการให้เงินกู้แก่ประเทศในเอเชียและแอฟริกาในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งจัดตั้งสถาบัน/กลไกในระดับภูมิภาค เช่น “ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางสายไหม (Silk Road Infrastructure Fund: SRIF)

ในปัจจุบัน เริ่มมีผู้เรียกยุทธศาสตร์ของจีนว่าเป็น “การทูตติดกับดักหนี้” (debt-trap diplomacy) ซึ่งสร้างความไม่พอใจจีนในหมู่รัฐที่ติดหนี้เงินกู้โครงสร้างพื้นฐานกับจีนมหาศาล

นอกจากนั้น BRICS ยังเป็นกลไกสำคัญของมหาอำนาจใหม่ในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกำหนดวาระระหว่างประเทศใหม่ โดย/ของ/เพื่อ รัฐมหาอำนาจใหม่ ทั้งนี้มีความพยายามสร้างกลไกการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาต่างๆ เช่น การก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาขึ้นมาใหม่ภายใต้กลุ่ม BRICS

อาจกล่าวได้ว่าการสร้างกลไกกติกาใหม่ของมหาอำนาจใหม่ทั้งหลายเป็นการท้าทายกลไกดั้งเดิมด้านเศรษฐกิจอย่างเช่นธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศไม่มากก็น้อย

3. การหวนคืนสู่การถ่วงดุลอำนาจโลกใหม่ (rebalancing of power)

นักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สหรัฐฯ กำลังถอนตัวออกจากการเมืองโลก หรือกลับไปสู่หลักลัทธิโดดเดี่ยว (isolationism) แต่ผู้เขียนเสนอว่า ลักษณะของนโยบายต่างประเทศของทรัมป์นั้นไม่ใช่หลักลัทธิโดดเดี่ยว หากยังคงพยายามรักษาความเป็นเจ้ามหาอำนาจ (hegemony) ของตนเองในระเบียบโลกเอาไว้ โดยดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบฝ่ายเดียว (unilateralism) และทวิภาคี (bilateralism) แทนที่ระบบพหุภาคี (multilateralism)

ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แม้ว่าทรัมป์จะได้ยกเลิก TPP ไปแล้ว แต่สหรัฐฯ เลือกสร้างพันธมิตรใหม่ในการบริหารจัดการโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน นั่นคือ การรับมือกับการผงาดขึ้นมาของจีน ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร กล่าวคือ เงื่อนไขของโครงสร้างระบบระหว่างประเทศเป็นปัจจัยข้อจำกัดที่โน้มนำให้ผู้นำสหรัฐฯ อย่างทรัมป์ต้องปรับนโยบายต่างประเทศ

ประการแรก การสร้างระบบพันธมิตรใหม่ที่เรียกว่า “หุ้นส่วนอินโด-แปซิฟิก” หรือ Indo-Pacific Partnership ขึ้นมาในช่วงปลายปี 2017 และต้นปี 2018 เป็นต้นมา หุ้นส่วนอินโด-แปซิฟิกมีจุดเน้นสำคัญทางด้านความมั่นคง โดยมีพันธมิตรสำคัญสี่ประเทศ คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย

แผนความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2017 ระบุถึง “การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างวิสัยทัศน์ระเบียบโลกที่เสรีกับวิสัยทัศน์ที่กดปราบ” เอกสารยังมองว่า “จีนพยายามเข้าแทนที่สหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องใช้ “เจตจำนงและขีดความสามารถในการตอบโต้และป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ไม่พึงประสงค์” ในภูมิภาคนี้ ผ่านการสร้างความร่วมมือสี่ฝ่ายหรือจตุภาคีกับมหาอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านกลาโหม เดือนมกราคม 2018 ชี้ชัดเจนว่า “เรื่องการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ เป็นจุดโฟกัสหลักของความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องการก่อการร้าย”

ในทางปฏิบัติ สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนชื่อกองกำลังทหารประจำภูมิภาคนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ฮาวาย จากเดิมคือ US Pacific Command (PACOM) มาเป็น US Indo-Pacific Command (IPCOM) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018

นอกจากนั้น ยังมีการซ้อมรบร่วมสามฝ่ายที่เรียกว่า Malabar กับอินเดียและญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน 2018 ส่วนการซ้อมรบ RIMPAC ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนั้น สหรัฐฯ ไม่ได้เชิญจีนเข้าร่วมแต่อย่างใด

ในปี 2018  สหรัฐฯ ยังเพิ่มการส่งกองทัพเรือลาดตะเวนในทะเลจีนใต้มากขึ้น โดยอาศัยวาทกรรมเสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) ซึ่งเผชิญหน้าโดยตรงกับความพยายามขยายอำนาจและอิทธิพลของจีนเข้ามายังบริเวณทะเลจีนใต้

กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก คือ ความพยายามในการถ่วงดุลอำนาจทางการทหาร หรือการสกัดกั้นจีนผ่านระบบพันธมิตรแบบทวิภาคี ไตรภาคี และจตุภาคี ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียนั่นเอง

ประการที่สอง การทำสงครามการค้า (trade wars) คือความพยายามในการถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายหลักคือจีน ในปี 2018 สหรัฐฯ ได้เริ่มตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าประมาณ 250 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า กำแพงภาษีเป็นการตอบโต้กับ “การทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม” ของจีน ในขณะที่จีนก็ประณามการกระทำของสหรัฐฯ และตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าสหรัฐฯ เช่นกัน แม้ว่าภายหลังการหารือในการประชุม G20 ที่อาร์เจนตินา ทรัมป์กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ตกลงเลื่อนการใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันออกไปอีก 90 วัน แต่ “สงครามการค้า” ระหว่างสองมหาอำนาจคงไม่ยุติอย่างสิ้นเชิง หากว่ายังไม่บรรลุข้อตกลงในการขจัดการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างกัน

แม้กระทั่งกรณี Huawei ซึ่งสหรัฐฯ ร้องขอให้รัฐบาลแคนาดาส่งตัว Meng Wanzhou ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัท Huawei ให้แก่สหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความพยายามในการถ่วงดุลอำนาจกับจีนอีกรูปแบบหนึ่ง

ประการที่สาม การทำข้อตกลงใหม่กับบริเวณอเมริกาเหนือที่เรียกว่า United States – Mexico – Canada Agreement (USMCA) ขึ้นมาแทนที่ NAFTA ซึ่งได้มีการลงนามกันไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ทรัมป์ได้กำหนดมาตราใหม่ลงไปในข้อตกลงใหม่ คือ การไม่อนุญาตให้เม็กซิโกและแคนาดาทำความตกลงทางการค้ากับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ตลาด ซึ่งมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือจีนนั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า การกระชับอำนาจของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวของจีน ได้นำมาสู่การถ่วงดุลอำนาจโลกใหม่นำโดยสหรัฐฯ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก สงครามการค้า และการสร้างระบบพันธมิตรแบบใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีนนั่นเอง

4. ความล่มสลายของระเบียบโลกด้านนิวเคลียร์

ระเบียบโลกด้านนิวเคลียร์ ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดและกำกับกติกาการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายยุคสงครามเย็น และสร้างสมดุลทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ในการเมืองโลก กำลังถูกท้าทายจนสั่นคลอนอย่างมีนัยสำคัญ

ในด้านหนึ่ง การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ – รัสเซีย ในเดือนตุลาคม 2018 ทรัมป์ประกาศว่าจะยุติข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces (INF) Treaty) กับรัสเซีย โดยกล่าวหาว่ารัสเซียละเมิดข้อตกลง ด้วยการพัฒนาขีปนาวุธ “9M729” ในขณะที่รัสเซียก็ประณามการติดตั้งระบบป้องขีปนาวุธของ NATO ในโปแลนด์และโรมาเนีย ว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงดังกล่าว และกล่าวว่า ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ เป็นเพียงข้ออ้างในการถอนตัวออกจากข้อตกลงเท่านั้น

ขณะที่ทรัมป์ประกาศว่าจะไม่มีการต่ออายุสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐฯ – รัสเซีย หรือ NEW START Treaty ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในปี 2021 อีกด้านหนึ่ง ทรัมป์ก็ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอีกครั้ง

ข้อตกลงฉบับนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า “ข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม” (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) ซึ่งอิหร่านทำกับ (1) สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ชาติ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ และ (2) สหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 โดยมุ่งหวังที่จะให้อิหร่านจำกัดโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ลง

การถอนตัวออกจากระเบียบระหว่างประเทศเพื่อควบคุมอาวุธนิวเคลียร์นั้นสุ่มเสี่ยงต่อการหวนคืนสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐต่างๆ และการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างประเทศในอนาคตอันใกล้

ข้อยกเว้นอย่างหนึ่งน่าจะเป็นวิกฤตการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ดูเหมือนจะคลี่คลายไปในทิศทางบวก หรือการผ่อนคลายความตึงเครียด เริ่มต้นตั้งแต่การเยือนเกาหลีเหนือของผู้นำเกาหลีใต้ และการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับคิมจองอึน

ประเด็นต่อเนื่องจากการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ คือ ช่องโหว่ของการควบคุมการใช้อาวุธเคมี ซึ่งในปีที่ผ่านมา ซีเรียภายใต้ระบอบอัล อัสซาส (ถูกกล่าวหาว่า) ใช้อาวุธเคมีกับประชาชนซีเรีย รัฐบาลของทรัมป์ได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศด้วยขีปนาวุธในพื้นที่ทางการทหารของซีเรีย แต่ด้วยการสนับสนุนทางการทหารจากรัสเซีย ระบอบอัล อัสซาสยังคงครองอำนาจนำในซีเรียแทบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในขณะที่กลุ่มก่อการร้ายอย่าง ISIS ค่อยๆ อ่อนกำลังลงไปในระดับหนึ่ง

ประเด็นท้าทายอื่น

นอกจากประเด็นหลักทั้งสี่ประการข้างต้น ระเบียบโลกยังเผชิญกับความท้าทายด้านต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่สามารถเขียนในรายละเอียดได้ทั้งหมดในบทความขนาดสั้นนี้ ประเด็นท้าทายระดับข้ามรัฐที่ท้าทายระเบียบโลกปัจจุบันยังหมายรวมถึง ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสุขภาวะ ผู้อพยพ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน วิกฤตมนุษยธรรม [เช่นในเวเนซุเอลา เยเมน คองโก ซีเรียและซูดาน เป็นต้น] ความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงไซเบอร์ และความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย [เช่น AI (Artificial Intelligence), Big Data, Bitcoin, Blockchain, Disruptive Technology เป็นต้น] ความท้าทายระดับโลกนี้จำต้องอาศัยการสร้างปทัสถานและออกแบบกติการ่วมกันระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐใดรัฐหนึ่งไม่อาจบริหารจัดการความท้าทายเหล่านี้ได้แต่เพียงลำพัง

แนวโน้มและความท้าทายของการเมืองโลก 2019

สำหรับผู้อ่านที่สนใจการเมืองระหว่างประเทศในปี 2019 มีหลายประเด็นที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น Brexit ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ถึงปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าข้อตกลงที่เทเรซา เมย์ บรรลุร่วมกับสหภาพยุโรปจะผ่านการลงมติของรัฐสภาอังกฤษหรือไม่ หรือจะมีการลงประชามติรอบสอง เพื่อรับรองข้อตกลง Brexit ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากขึ้นทุกที

ปีหน้ายังเป็นปีสำคัญของระบบประชาธิปไตย เพราะจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าการเลือกตั้งทั่วไปในไนจีเรีย (กุมภาพันธ์) การเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน (มีนาคม) การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย (ประมาณช่วงเมษายน-พฤษภาคม) การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย (เมษายน) การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอัฟกานิสถาน (เมษายน) การเลือกตั้งทั่วไปของแอฟริกาใต้ (ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม) การเลือกตั้งทั่วไปในอาร์เจนตินา (ตุลาคม) การเลือกตั้งของแคนาดา (ตุลาคม) การเลือกตั้งของอิสราเอล (ก่อนวันที่ 5 พฤศจิกายน) รวมทั้งไทยด้วย

สำหรับผู้ที่จับตาการเมืองยุโรป ในเดือนพฤษภาคม 2019 จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอียู และจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหภาพยุโรปแทบทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประธานคณะมนตรียุโรป ประธานรัฐสภายุโรป ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป รวมทั้งผู้แทนพิเศษด้านกิจการต่างประเทศ

สำหรับอาเซียน ปี 2019 ประเทศไทยจะเป็นประธานของอาเซียน ซึ่งคงต้องรอชมว่าไทยจะผลักดันวาระสำคัญอะไรหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

นอกจากนั้น หมุดหมายสำคัญหลายอย่างในปีหน้ายังถูกกำกับด้วยประวัติศาสตร์ความทรงจำในอดีตหลายชุดด้วยกัน เช่น ในยุโรป เริ่มด้วยวาระครบรอบ 100 ปีของการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสและการลงนามสนธิสัญญาแวร์ซาย วาระเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งสกุลเงินยูโร (euro) ซึ่งอนาคตของค่าเงินยูโรก็ถูกตั้งคำถามจากรัฐสมาชิกท่ามกลางนโยบายรัดเข็มขัดทั่วยุโรป และวาระครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้ง NATO ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการทหารที่สำคัญของยุโรป แต่ก็ถูกท้าทายเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันในด้านงบประมาณกลาโหมจากพันธมิตรหลักอย่างสหรัฐฯ

ในฟากของเอเชีย ปี 2019 อาจจะเป็นปีที่ไม่ค่อยน่าจดจำสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่าใดนัก เพราะปีหน้าจะเป็นปีครบรอบ 100 ปีของขบวนการ “4 พฤษภา” ซึ่งนักศึกษาจีนลุกฮือต่อต้านจักรวรรดินิยม และ “สนธิสัญญาขายชาติ” จากการที่รัฐบาลจีนยอมรับสนธิสัญญาแวร์ซาย นอกจากนั้น ยังเป็นปีครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งรัฐบาลจีนได้ใช้กำลังปราบปรามขบวนการนักศึกษาจีน ในขณะที่อินเดีย เราคงจะเห็นการเฉลิมฉลองวาระ 150 ปีชาตกาลของรัฐบุรุษอย่างมหาตมะ คานธี

แม้กระทั่งสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) ที่ผู้เขียนสังกัดอยู่นั้น ก็จะเป็นปีครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งสาขาวิชานี้ในระดับโลก หากถือเอาหมุดหมายของการก่อตั้งตำแหน่ง Woodrow Wilson Chair ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่มหาวิทยาลัย Aberystwyth แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร

แนวโน้มและความท้าทายของการเมืองโลกในปี 2019 คงมีทั้งความต่อเนื่องและพลวัตการเปลี่ยนแปลงไปจากปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป การปะทะกันระหว่างพลังเสรีนิยมกับพลังอนุรักษนิยมคงจะยังกำหนดทิศทางของระเบียบเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงของโลกต่อไปอย่างน้อยก็ในช่วงทศวรรษต่อจากนี้ ผู้นำในโลกตะวันตกต่างเผชิญกับวิกฤตการนำและความท้าทายภายใน ในขณะที่โลกตะวันออกดูจะมีทิศทางของความแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความมั่นคงและการทหาร และความพยายามที่จะสร้างกลไกหรือสถาปัตยกรรมความมั่นคงและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่อยู่ภายนอกกติกาของระเบียบโลกแบบเดิม การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัฐมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผงาดขึ้นมาของจีน จะเป็นโจทย์สำคัญที่สุดของนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ ซึ่งนำมาสู่การถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศใหม่ และการสร้างระบบพันธมิตร โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ถ้าจะกล่าวแบบ Gramsci ระเบียบเสรีนิยมแบบเดิมกำลังถูกท้าทายสั่นคลอน แต่ระเบียบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาก็ยังไม่ลงหลักปักฐานมั่นคง การเมืองโลกหลังปี 2018-2019 จึงอยู่ในห้วงเวลาของ “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” หรือ “interregnum” ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นระยะเวลาสั้นหรือกินเวลายาวนาน

การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเช่นนี้จะสำแดงอาการผิดปกติต่างๆ นานา เป็นวิกฤตที่เราคงได้แต่เฝ้าติดตามทำความเข้าใจ และรอวันเปลี่ยนแปลงก้าวข้ามเมื่อเวลาที่เหมาะเจาะมาถึง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save