fbpx
‘ผีน้อยไทยในเกาหลี’ ทางรอดจากสังคมไร้ทางเลือก

‘ผีน้อยไทยในเกาหลี’ ทางรอดจากสังคมไร้ทางเลือก

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ภาพคนไทยถูกเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้วิ่งไล่จับกุมเพราะลักลอบทำงานผิดกฎหมายถูกฉายซ้ำถี่ขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พร้อมเสียงต่อว่าจากชนชั้นกลางไทยที่มองว่าคนพวกนี้จะทำให้ไปเที่ยวเกาหลีได้ยากขึ้น และทำให้คนไทยถูกมองอย่างเหมารวมว่าเป็นคนยากจนที่ไปแสวงโอกาสอย่างผิดกฎหมาย

น่าสนใจว่าจำนวนแรงงานผีไทยในเกาหลีใต้ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปี และแม้จะมีการจับกุมบ่อยครั้ง ก็ยังมีคนสนใจไปเสี่ยงโชคไม่ลดน้อยลง

ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิศักยภาพชุมชน เริ่มสนใจปรากฏการณ์นี้ด้วยความกังวลเรื่องการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนของแรงงานไทย โดยเฉพาะเมื่อได้ยินว่าแรงงานไทยเสียชีวิตเพราะไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้

จนเขาไปเรียนปริญญาโทด้านองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO studies) มหาวิทยาลัยแห่งชาติชอนนัม เกาหลีใต้ จึงเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี’ (A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea) เพื่อหาคำตอบต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่การเรียนเทอมแรกเขาก็เริ่มมองหา ‘ผีน้อย’ จนเมื่อเข้าเดือนที่ 3 เขาได้เจอแรงงานไทยคนแรกที่ทำงานอยู่ในโรงงาน โดยในตอนแรกแรงงานรายนี้ยังไม่ไว้ใจ จึงปฏิเสธว่ามาเที่ยว ดนย์ใช้เวลาทำความรู้จักจนเกิดความเชื่อใจกัน และทำให้เขาได้พบสังคมคนไทยที่ส่วนใหญ่รวมตัวกันที่ร้านอาหารไทยและผับไทย

ในงานวิจัยเขาสัมภาษณ์แรงงาน 28 คน ช่วงปี 2017-2018 ทั้งที่มาแบบถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย และที่แต่งงานกับคนเกาหลี โดยเป็นแรงงานในกวางจู ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติชอนนัม แรงงานในเมืองอันซันและเมืองโอซัน ที่เป็นชุมชนแรงงานข้ามชาติขนาดใหญ่หลายเชื้อชาติรวมถึงชุมชนไทย

ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้พบว่าในปี 2018 มีคนไทยในเกาหลีใต้จำนวน 168,711 คน รวมนักท่องเที่ยวและคนที่อยู่เกินวีซ่า โดยเป็นแรงงานถูกกฎหมาย 24,022 คน

“แรงงานไทยในเกาหลีมีมาตั้งแต่ปี 1998 ตอนนั้นมีงานวิจัยบอกว่า มีจำนวนแรงงานผิดกฎหมายประมาณ 2 พันกว่าคน ต่อมาปี 2016 มีการประเมินว่ามีแรงงานไทยอยู่ในเกาหลีใต้ราว 5 หมื่นคน และปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนคน สูงขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงเวลา 2 ปี”

แรงงานผีที่เขาได้เจอส่วนใหญ่ทำงานโรงงาน ซึ่งในกวางจูมีโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนมาก รองมาคือแรงงานในภาคการเกษตรและร้านนวด โดยในกลุ่มตัวอย่างเป็นคนไทยจากภาคอีสานมากสุด รองมาคือภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคกลาง

ดนย์ อธิบายว่าคำว่า ‘ผีน้อย’ หรือ ‘คนผี’ ว่าเป็นคำที่แรงงานไทยในเกาหลีที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ใช้เรียกตัวเองและคนที่มีสถานะแบบเดียวกัน ด้วยการอาศัยอยู่แบบไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมายนี้เอง ทำให้พวกเขาระมัดระวังตัวในการพูดคุย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เมื่อมีการนัดสัมภาษณ์ก็มักบ่ายเบี่ยงหรือไม่ไปตามนัด เขาจึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมแรงงานไทย เข้าร่วมกิจกรรมพบปะกันในวันหยุดสุดสัปดาห์และเก็บข้อมูลผ่านการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ

ดนย์ ทาเจริญศักดิ์
ดนย์ ทาเจริญศักดิ์

เมื่อสังคมไทยไม่มีทางออก

ดนย์มองว่าการไปทำงานที่เกาหลีใต้ เป็นที่นิยมขึ้นมาจากการที่แรงงานกลุ่มหนึ่งมีการปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น ได้แต่งงาน มีการเรียนภาษา และได้คลุกคลีกับชนชั้นแรงงานของเกาหลี เปิดช่องทางให้ชวนเพื่อนมาทำงานได้ จนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเหตุผลทางการเมืองไทยยุคหลังที่ส่งผลถึงเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้คนเลือกที่จะออกมาทำงานนอกประเทศ

“เวลาคุยกับแรงงานถึงเหตุผลที่ต้องไปทำงานที่เกาหลี เขาจะตอบแต่เรื่องเงินโดยมองไม่เห็นเรื่องปัจจัยทางสังคมในภาพใหญ่ คนไทยมีวัฒนธรรมการดูแลพ่อแม่และครอบครัว เขาต้องการเงินไปเติมเต็มความฝัน อยากสร้างบ้านให้พ่อแม่สบาย อยากให้ลูกได้รับการศึกษา คนส่วนใหญ่ที่มาจบป.6 มีพี่คนหนึ่งบอกว่าเอาบ้านไปจำนองแล้วมาเกาหลีแบบไม่รู้อนาคต เขาเล่าแล้วร้องไห้ ถ้าไม่มีเงินส่งกลับมาบ้านจะถูกยึด พ่อแม่ก็ไม่มีที่อยู่ เขาจึงต้องหางานให้ได้ จนถึงวันที่ไถ่ถอนบ้านได้และสร้างบ้านใหม่ให้แม่ ส่งน้องเรียน เป็นความฝันของคนทั่วไปแต่เขาไม่สามารถทำได้ในสังคมไทย ที่หาเงินได้แค่เดือนละ 9,000 บาท” ดนย์กล่าว

งานวิจัยชี้ให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองและมีปัญหาคอร์รัปชัน การขาดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำในเขตเมืองและชนบท ผลักดันให้คนต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ หาเงินส่งกลับไปเลี้ยงครอบครัว ที่สำคัญคือการรัฐประหารไทยกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการพัฒนา จากการรัฐประหารเมื่อปี 2014 กองทัพเข้ามาบริหารประเทศโดยขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม ไร้เสรีภาพในการพูด และขาดความโปร่งใส

ขณะที่คนต่างจังหวัดจำนวนมากรู้สึกว่าได้ประโยชน์จากการเมืองในยุคทักษิณ ที่ทำให้คนเข้าถึงสิทธิพื้นฐานอย่างการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในภาคอีสานที่คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมือง และสนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่โดนรัฐประหาร อีกทั้งเป็นพื้นที่ซึ่งคนจำนวนมากประสบปัญหาความยากจน และต้องย้ายเข้ามาทำงานในเมืองเพื่อส่งเงินกลับบ้าน

“โดยพื้นฐานแล้วไม่ได้มีแรงงานคนไหนอยากมาทำงานที่เกาหลีใต้ ปัญหาชนชั้นทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่น่ากังวล เราเห็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคมที่ไม่เท่าเทียม คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนก็จนลงเรื่อยๆ โครงสร้างสังคมน่าจะมีปัญหาที่ใดที่หนึ่ง เรายังเห็นการคอร์รัปชันอยู่หลายกรณี การรัฐประหารไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถ้ายังไม่แก้ปัญหา คนไทยก็จะยังคงออกไปทำงานประเทศอื่นเพื่อเอาตัวรอด” C ชายวัย 40 แรงงานจากภาคเหนือ

“ฉันจะกลับไปไทยทันทีที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เลย” K3 อายุ 50 ปี แรงงานจากภาคอีสาน

“ผมเคยมีกิจการรับเหมาก่อสร้างแล้วมีตำรวจมาจ้างให้ต่อเติมบ้าน แต่สุดท้ายไม่จ่ายเงิน ผมก็ไม่กล้าฟ้อง เพราะเป็นตำรวจยศสูงและถูกข่มขู่ เลยจ่ายค่าแรงคนงานแล้วตัดสินใจไปทำงานที่เกาหลีใต้ทันที” N1 แรงงานพาร์ทไทม์จากภาคอีสาน

“เหตุผลหลักที่ชาวนายังทำนาแม้ว่าจะไม่ได้กำไรจากการขายข้าว คือมีคนในครอบครัวเป็นแรงงานพลัดถิ่น ทุกวันนี้รายได้หลักของครอบครัวมาจากเงินที่ส่งมาจากต่างประเทศ จนการทำนาคล้ายจะเป็นเพียงแค่พิธีกรรม”  K4 อดีตแรงงานจากภาคอีสาน

ระยะเวลาการไปเป็นผีน้อยของแต่ละคนต่างกันตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ส่วนใหญ่หากไม่ถูกจับ จะอยู่มากกว่า 5-6 ปีขึ้นไป เมื่อเติมเต็มความต้องการได้แล้วก็จะกลับ แรงงานส่วนมากเป็นคนหาเลี้ยงทั้งครอบครัว และบอกว่าจะกลับไทยต่อเมื่อใช้หนี้หมด ส่วนที่มาแล้วต้องกลับเร็วคือคนที่หางานไม่ได้

MM1 หญิงสาววัย 22 ที่มาทำงานนวด แม้มีรายได้สูง แต่ต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงทั้งครอบครัวที่มีพ่อแม่และน้อง 3 คน เช่นเดียวกับ J1 คนงานโรงงานรถยนต์ก็ต้องส่งเงินไปเลี้ยงครอบครัวที่มีพ่อแม่ พี่สาว และหลาน 2 คน ทั้งคู่บอกว่า คงจะมีแค่ที่เกาหลีใต้ที่จะมาทำงานคนเดียวแล้วสามารถเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัวได้ ถ้าทำงานในไทยคงเป็นไปไม่ได้เลย

ผีน้อย
ภาพโดย ดนย์ ทาเจริญศักดิ์

มุ่งสู่เกาหลีใต้

 

แรงงานไทยที่ต้องการหางานในเกาหลีใต้จะมี 2 ช่องทาง คือ การเข้าไปแบบถูกฎหมายผ่านระบบ EPS หรือ Employment Permit System ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศ อีกทางหนึ่งคือการเข้าไปแบบผิดกฎหมาย ที่มักเริ่มจากการเข้าเมืองด้วยวีซ่าท่องเที่ยว

ดนย์ระบุว่ามีหลายเหตุผลที่คนเลือกที่จะไม่เข้าระบบ EPS จากการที่ได้พูดคุยกับแรงงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย พบว่าการเข้าระบบ EPS ในไทยมีอุปสรรคเยอะมาก ต้องแข่งขันกับคนจำนวนมาก ต้องมีใบรับรองจากโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีที่ต้องจ่ายค่าเรียนราว 9,500 บาท มีขั้นตอนที่ใช้เวลานาน ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเลือกเพราะการศึกษาน้อย รวมถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศ เมื่อผู้ชายจะมีโอกาสถูกเลือกมากกว่าผู้หญิง บวกกับความต้องการทำงานเร่งด่วนเพื่อใช้หนี้และเลี้ยงดูครอบครัว

“ปีก่อน EPS รับคนไทย 7 พันคน ไม่พอรองรับคนต้องการไปทำงานที่มีเป็นแสนคน แรงงานบางคนมองว่า EPS เป็นธุรกิจของรัฐรูปแบบหนึ่งที่ต้องจ่ายเงินเรียนภาษาเกาหลีก่อนโดยไม่ได้การันตีว่าจะผ่าน คนเหล่านี้ไม่ได้มีเงินเยอะในการลงทุนจ่ายค่าเรียน 3 เดือน โดยไม่รู้ว่าจะได้ไปหรือเปล่า แต่การไปแบบผี ถ้าผ่านตม.ได้ก็โอเคแล้ว แค่รู้ว่าไปแล้วต้องไปหาใคร ซึ่งหาไม่ยากเลย เปิดอินเทอร์เน็ตก็เจอแล้ว

“หลายคนคิดว่าถ้าไปแบบถูกกฎหมายจะอยู่ได้อย่างปลอดภัย หรือมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่า แต่ผมพบว่าบางครั้งแรงงานถูกกฎหมายสถานภาพแย่กว่าแรงงานผิดกฎหมายอีก เพราะกฎของ EPS เวลาเปลี่ยนงานต้องได้รับการอนุญาตจากนายจ้าง เวลาไปโรงพยาบาลนายจ้างต้องพาไป ผมเจอแรงงานถูกกฎหมายทำงานการเกษตร นั่งคุยกันแล้วได้กลิ่นสารเคมีเวลาเขาหายใจ เขาบอกว่านายจ้างไม่พาไปโรงพยาบาล สนใจแค่ว่าให้ทำงานตามเวลา ลาหยุดก็โดนหักเงิน กลับกันแรงงานผิดกฎหมายก็ไปโรงพยาบาลได้ถ้านายจ้างพาไป กลายเป็นว่าความอยู่รอดขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับนายจ้าง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะทางกฎหมาย เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขแรงงานผิดกฎหมายมากขึ้น” ดนย์กล่าว

กลุ่มพูดคุยระหว่างแรงงานในเฟซบุ๊ค มีคนเข้ามาบ่นถึงระบบ EPS จำนวนมาก บางคนต้องรอถึง 2 ปี 9 เดือน บางคนอยู่ในรายชื่อรอเรียกตั้งแต่ปี 2017 จนปี 2018 เปิดรับผู้สมัครใหม่ก็ยังไม่ถูกเรียก โควตาแรงงานก็เปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน

“ระบบ EPS ใช้เวลาทั้งกระบวนการ 9 เดือน ตั้งแต่เรียนภาษาเกาหลีและยื่นใบสมัคร บางคนรอไม่ไหวเพราะต้องหาเงินใช้หนี้ทุกเดือน คนแถวบ้านผมหลายคนก็ไม่ถูกเลือก ทำให้รู้สึกโชคดีมากที่ถูกเลือก” J2 แรงงานภาคการเกษตรวัย 24 ปี

องค์ประกอบอย่างหนึ่งคือความจำเป็นเร่งด่วนของแรงงาน เช่น N1 แรงงานพาร์ทไทม์ เล่าว่าเคยทำธุรกิจแล้วเจ๊ง ไม่สามารถจ่ายหนี้ทุกเดือนได้ ที่ดินก็จะถูกยึด ในไทยไม่มีงานที่ให้รายได้สูงพอจะจ่ายหนี้ ขณะที่ MM1 หญิงสาววัย 22 เล่าว่าเธอเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัว มีพ่อแม่และน้องสามคนที่ยังเรียนอยู่ชั้นประถม ถ้าเธอไม่ไปทำงานที่เกาหลีก็จะไม่สามารถเลี้ยงดูทุกคนได้

ส่วน K5 ให้เหตุผลที่ไม่เข้าระบบ EPS ว่า เธอสามารถใช้วีซ่าท่องเที่ยวไปเกาหลีได้ไวกว่า EPS และมีเวลา 90 วันในการหางาน ถ้าหาไม่ได้ก็ยังสามารถกลับไทยได้ในช่วงที่ยังมีวีซ่าท่องเที่ยวอยู่

อีกปัญหาคือระบบ EPS มักเลือกผู้ชายก่อน Y1 เล่าว่าถ้ามาตามระบบ EPS ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะถูกส่งไปทำงานภาคการเกษตรนอกเมือง ขณะที่แฟนหนุ่มของเธอมาโดยระบบ EPS และถูกส่งไปทำงานโรงงาน ถ้าไปตามระบบเธอจะไม่สามารถอยู่กับแฟนได้

ผีน้อย
ภาพโดย ดนย์ ทาเจริญศักดิ์

ส่วนการไปทำงานแบบผิดกฎหมาย มีวิธีการหางาน 3 ช่องทางหลัก

1. ติดต่อนายจ้างโดยตรง แรงงานบางคนรู้จักนายจ้างโดยตรงอยู่แล้ว จึงสามารถติดต่อไปทำงานได้ส่วนบุคคล เช่น Ph1 แรงงานภาคการเกษตรวัย 19 ที่ไปทำงานที่เกาหลีใต้ เล่าว่าเธอเจอเจ้านายตอนมาเที่ยวในไทย และชวนให้ไปทำงานในฟาร์มที่เกาหลี จึงตัดสินใจไปเพราะให้ค่าจ้างสูงและต้องการส่งน้องชายเรียน

2. การชักชวนของแรงงานด้วยกัน เป็นวิธียอดนิยมในกลุ่มแรงงานผี ที่ชักชวนคนในครอบครัวหรือเพื่อนให้มาทำงานที่เกาหลีใต้ด้วยกัน โดยแรงงานจะรู้สึกไว้วางใจมากกว่าช่องทางอื่น ลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายของแรงงานข้ามชาติหน้าใหม่ และยิ่งเป็นการเสริมให้ชุมชนคนไทยในเกาหลีเข้มแข็งขึ้น J1 เล่าว่าเธอมาทำงานจากการชักชวนของลุงที่มาเป็นแรงงานผีแล้วถูกส่งตัวกลับไทย โดยแนะนำว่ามาแล้วให้ติดต่อใครที่จะช่วยหางานให้ได้ หลังจากนั้น 2 เดือนจึงชวนแฟนให้มาเป็นแรงงานผีที่เกาหลีและอยู่ด้วยกัน

3. เอเจนซี่ หลายเอเจนซี่ดำเนินธุรกิจผ่านเฟซบุ๊คและแอพพลิเคชันแชท โดยหาคนไปทำงานจากการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียและเรียกเก็บค่านายหน้า สะดวกต่อคนที่อยากไปทำงานโดยไม่มีคนรู้จักในเกาหลี หลายบริษัทบังหน้าว่าเป็นเอเจนซี่ทัวร์ ตบตาเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองว่าพาคนไปเที่ยว โดยจะแนะนำวิธีตบตาตม. และการตอบคำถามให้ผ่าน แล้วพาไปส่งยังโรงงานที่รับแรงงานผิดกฎหมาย แต่ก็มีความเสี่ยงว่าอาจถูกหลอกลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์

K1 คนงานโรงงานวัย 24 เล่าว่า 4 ปีที่แล้วเขาได้งานในกวางจู โดยต้องจ่ายค่านายหน้า 5 หมื่นบาท แล้วมีเอเจนซี่ไปรับถึงสนามบินเพื่อไปส่งยังโรงงาน ซึ่งสะดวกสบายกับคนหน้าใหม่ มีเอเจนซี่มาช่วยหาอพาร์ทเมนต์ แต่ปัจจุบันเขาทราบข่าวว่ามีเอเจนซี่ปลอมจำนวนมากที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกลวงคนหน้าใหม่

คนไทยในเกาหลีใต้
ผับไทย แหล่งพบปะของชุมชนคนไทยในเกาหลีใต้ / ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ภาพ
สินค้าไทยในเกาหลี
ร้านค้าซึ่งเจ้าของเป็นชาวเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย นอกจากสินค้าจากประเทศไทยแล้วยังมีสินค้าจากประเทศอื่นวางจำหน่ายเพื่อรองรับแรงงานชาติต่างๆ / ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ภาพ

ชีวิตผีน้อย

 

จากกลุ่มตัวอย่างที่ดนย์ทำการศึกษา ผีน้อยมักทำงานไร้ฝีมือหรืองานที่มีความเสี่ยง เช่น งานโรงงาน งานเกษตรกรรม งานก่อสร้าง งานร้านนวด บางส่วนเป็นครูหรือพนักงานเสิร์ฟร้านอาหาร ในกลุ่มตลาดแรงงานไร้ฝีมือนี้ ยังมีแรงงานผีจากประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ติมอร์-เลสเต เนปาล บังกลาเทศ อุซเบกิสถาน จีน อินโดนีเซีย ซึ่งทำงานร่วมกับแรงงานเกาหลีที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

“เมื่อก่อนคนไทยจะมาทำงานอันตรายที่คนทั่วไปไม่อยากทำ แต่ระดับของงานมีการพัฒนาขึ้น มีการจ้างคนไทยทำงานในร้านอาหารเกาหลี ร้านสะดวกซื้อเกาหลี สังคมคนไทยที่เกาหลีโตขึ้นมาก ทั้งปรับตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเกาหลีและมีส่วนปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่าง วันหนึ่งผมไปร้านอาหารไทย เจอคนมาส่งใบกะเพราเยอะมาก เขาบอกว่ามีคนไทยที่ได้สามีฝรั่ง แล้วให้สามีเปลี่ยนมาปลูกกะเพราส่งร้านอาหารไทย”

ดนย์เล่าว่าการปรับตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเกาหลี ทำให้ชุมชนคนไทยเข้มแข็งขึ้น เมื่อมีการใช้ชีวิตร่วมกับคนเกาหลีอย่างปกติและเกิดการแชร์วัฒนธรรมกัน โดยมองว่าสังคมเกาหลีไม่ได้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อแรงงานไทย เขาเคยเจอนายจ้างเกาหลีพาลูกจ้างไทยมาดื่มเหล้ากันที่ร้านอาหารไทย นายจ้างรายนี้เป็นลูกค้าประจำและชื่นชอบวัฒนธรรมไทย จนหัดร้องคาราโอเกะเพลงไทยได้หลายเพลง

ดนย์ยังเคยเจอคนเกาหลีเข้ามากอดแรงงานไทยแล้วเรียก ‘ออนนี่’ (พี่สาว) การใช้ชีวิตร่วมกับคนเกาหลีอย่างปกติเป็นการสร้างสถานการณ์ให้ปลอดภัยขึ้น มีส่วนในการดึงแรงงานผีไปยังเกาหลีใต้ได้เพิ่มขึ้น

ยังมีผับไทยที่คนไทยเป็นเจ้าของ เปิดเพลงลูกทุ่งไทย คนมาเที่ยวเป็นคนไทย เป็นพื้นที่ให้เกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน โดยที่การรวมกลุ่มของแรงงานผีในลักษณะนี้ ไม่ได้เป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะมุ่งไปตรวจร้านนวดมากกว่า เนื่องจากมีความผิดทั้งการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และแย่งอาชีพสงวนของผู้พิการทางสายตาในเกาหลี

ส่วนนายจ้างเกาหลีก็มีการปรับตัวเพื่อให้ไม่ถูกเอาผิด โดยจะจ้างแรงงานผีควบคู่กับแรงงานระบบ EPS ที่ถูกกฎหมาย เมื่อมีตม. มาตรวจก็ให้แรงงานถูกกฎหมายรับหน้า เป็นเทคนิคที่มีการใช้กันมากในปัจจุบัน

“คนที่ไปทำงานแบบผิดกฎหมายจะทำใจไว้แล้วเรื่องถูกจับ ทุกคนจะเตรียมกระเป๋าไว้หนึ่งใบ เมื่อถูกจับจะให้เพื่อนเอากระเป๋าไปส่งที่สนามบินเพื่อกลับบ้าน พอโดนส่งกลับมาแล้วก็มาให้ข้อมูลคนอื่นต่อ ว่าถ้าจะไปเกาหลีต้องติดต่อใคร แต่แรงงานผิดกฎหมายมีการปรับตัวตลอดเวลา ส่งข่าวกันไวมากว่าเจ้าหน้าที่ลงเขตนี้ แล้วหมอนวดก็จะออกมาหมดเลย แล้วยังมีความช่วยเหลือจากคนในท้องที่ ทั้งนายจ้างและเจ้าของที่พัก เขาต้องการแรงงานพวกนี้ในสังคม เมื่อวัยรุ่นหรือวัยทำงานในพื้นที่ไปอยู่โซลหรือต่างประเทศหมดก็ไม่มีคนเช่าบ้าน การเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมายทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่หมุนเวียน”

การเข้ามาของแรงงานผิดกฎหมายยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเดิม ชาวเกาหลีบางคนดัดแปลงบ้านมาแบ่งให้เช่า ร้านขายของนำสินค้าไทยมาวางจำหน่าย เป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แรงงานกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน แต่ยังสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจท้องถิ่น

“เกาหลีใต้ต้องการพวกเรา แม้จะเป็นผีก็ยังทำงานและใช้ชีวิตที่นี่ได้ สามารถเช่าห้องอยู่เป็นปีๆ เข้าถึงบริการพื้นฐานอย่างซิมมือถือหรือการเปิดบัญชีธนาคาร และยังสามารถซื้อวัตถุดิบอาหารไทยในชุมชนได้ เราได้รับการยอมรับในชุมชน แต่เพียงแค่กฎหมายไม่อนุญาตให้เราอยู่ ฉันอยู่นี่มา 5 ปีแล้ว จนรู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังที่ 2” J1 แรงงานผีจากอีสาน วัย 33 ปี

“งานที่เรามาทำเป็นงานที่คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ไม่อยากทำ ถ้าไม่มีพวกเราเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะชะงัก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเรายังเอาตัวรอดอยู่ที่นี่ได้ จะเห็นว่ามีแต่คนแก่ที่มาทำงานแบบเดียวกับเรา ส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี แต่ยังแข็งแรง ช่วงก่อนฤดูเพาะปลูกจะผ่านตม.เกาหลีง่ายขึ้น ฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่ก็รู้ถึงความต้องการแรงงาน เป็นสิ่งที่ได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เราจะเช็คสถานการณ์จากกลุ่มในเฟซบุ๊คที่ไว้แชร์ข้อมูลกัน เป็นเหตุผลว่าทำไมผีน้อยจึงผ่านตม.เข้ามาได้ง่าย” KK1 วัย 29 อดีตแรงงานโรงงาน ปัจจุบันแต่งงานกับคนเกาหลีและเป็นเจ้าของร้านอาหาร

ดนย์บอกว่าค่าจ้างที่แรงงานผีได้รับ หากเป็นงานที่จ้างคนเกาหลีร่วมด้วยจะได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ เขาเคยไปทำงานเก็บผักได้วันละ 70,000 วอน (ราว 2,000 บาท) หากรับค่าจ้างรายวันจะได้เดือนละประมาณ 2 ล้านวอน (ราว 5.7 หมื่นบาท) หลายคนเลือกรับเงินเดือนที่น้อยลงหากเจอนายจ้างดีหรืออยู่แล้วปลอดภัยกว่า เช่น บางโรงงานให้เดือนละ 1.2-1.3 ล้านวอน (ราว 3.4-3.7 หมื่นบาท) เพราะต่อให้หาเงินได้มากแต่หากนายจ้างไม่ดี แรงงานผีเหล่านี้ก็อยู่ไม่ได้

ความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะแรงงานถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ขึ้นอยู่กับนายจ้างเป็นหลัก การมาทำงานตามระบบแล้วเจอนายจ้างไม่ดี ทำให้หลายคนหนีไปใช้ชีวิตผีน้อยที่อาจมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน เช่นการรักษาพยาบาล แต่ดนย์บอกว่าเขาเคยคุยกับผีน้อยคนหนึ่งที่มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะตอนอยู่ไทยแม้เขาจะมีสัญชาติ แต่ชื่อตกหล่นไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้ กลับกันที่เกาหลีใต้แม้จะไม่มีสิทธิรักษา แต่เมื่อมีเงินก็สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

ล่าสุดดนย์ทราบข่าวจากแรงงานผีว่ามีประกันสุขภาพชนิดใหม่ ที่แรงงานผิดกฎหมายสามารถทำแล้วได้สิทธิการรักษาพยาบาล แสดงให้เห็นการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาของเกาหลีใต้

ผีน้อย
การทำงานรับจ้างในภาคการเกษตรร่วมกับผู้สูงวัยชาวเกาหลี / ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ภาพ

เครือข่ายคนไทยสร้างแรงดึงดูดผีน้อย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผีน้อยเอาตัวรอดได้ดี คือการมีเครือข่ายคนไทยให้ความช่วยเหลือโดยติดต่อกันผ่านกลุ่มในเฟซบุ๊ค อันเป็นที่รวมของคนไทยทุกประเภทที่อยู่ในเกาหลีใต้ ทั้งแรงงานถูกกฎหมาย-ผิดกฎหมาย ผีน้อยที่ถูกส่งกลับไทยมาแล้ว นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ เอเจนซี่ คนไทยที่สมรสกับคนเกาหลี แล้วยังมีการติดต่อผ่านเครือข่ายย่อย เช่น เครือข่ายนักเรียนไทย เครือข่ายแรงงานไทย เครือข่ายแม่บ้านไทยในเกาหลี

เครือข่ายนี้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมตลาดแรงงาน ช่วยติดต่อนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานผิดกฎหมายและสนับสนุนให้แรงงานผีอาศัยอยู่ในชุมชนชาวเกาหลีได้ ไม่ปรากฏชัดว่าเครือข่ายคนไทยในเกาหลีเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่ดนย์มองว่าเครือข่ายนี้ขยายโดยกลุ่มคนไทยที่สมรสกับคนเกาหลีช่วงปี 1990-2000 สอดคล้องกับที่เกาหลีมีการแก้ไขกฎหมายในปี 1997 ที่ส่งเสริมการเข้ามาอยู่ร่วมสังคมของผู้หญิงต่างชาติที่แต่งงานกับชายเกาหลี

แรงงานไทยกลุ่มนี้เริ่มแต่งงานกับชายเกาหลีซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานด้วยกัน จนต่อมาเริ่มเปิดธุรกิจขนาดเล็กของตัวเอง มีลูก และสื่อสารภาษาเกาหลีได้ จึงสามารถช่วยเจรจาต่อรองเมื่อแรงงานไทยโดนนายจ้างเอาเปรียบได้ และมีบทบาทช่วยเชื่อมต่อกับนายจ้างในธุรกิจขนาดเล็ก และแนะนำคนรู้จักในไทยให้มาทำงาน

กลุ่มคนไทยรุ่นบุกเบิกที่เกาหลีมักเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ เพื่อรับความช่วยเหลือจากโบสถ์คริสต์ ที่มาช่วยสอนภาษาเกาหลีและเรื่องการรักษาพยาบาลพร้อมสอนศาสนาไปด้วย จนบางคนเปลี่ยนศาสนา แต่ปัจจุบันเมื่อสังคมไทยในเกาหลีเข้มแข็งขึ้น มีการช่วยเหลือกันเองโดยศูนย์กลางอยู่ที่วัดไทย ทำให้แรงงานยุคใหม่ยังคงวิถีชีวิตและศาสนาเดิมไว้ได้

การมีพื้นที่กลางของชุมชนคนไทย เช่น ร้านอาหารไทย ร้านสะดวกซื้อไทย ผับไทย วัดไทย ทำให้แรงงานไทยยังปฏิบัติตามวัฒนธรรมเดิมได้ มีที่พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข้อมูลและปัญหาที่พบ

การได้รับข้อมูลที่จำเป็นมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของผีน้อย แรงงานส่วนใหญ่จะรู้ว่าช่วงไหนที่การตรวจคนเข้าเมืองจะไม่เข้มงวดมาก เช่นปลายปี 2017 คนไทยจำนวนมากถูกปฏิเสธจากตม. เกาหลีใต้ แต่พอถึงต้นปี 2018 เป็นช่วงปลายฤดูหนาวและเตรียมเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกที่มีความต้องการแรงงานในภาคการเกษตร การตรวจคนเข้าเมืองจะไม่เข้มงวดนัก จึงเป็นช่วงเวลาที่แรงงานไทยจะชักชวนคนหน้าใหม่ให้มาทำงาน นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ กฎหมายสมรส กฎหมายเข้าเมือง การเรียนรู้ภาษาเกาหลี จนถึงให้คำปรึกษารายบุคคล

เครือข่ายคนไทยจะมีการระดมเงินช่วยเหลือเมื่อมีคนไทยเสียชีวิต เพื่อทำพิธีและส่งศพกลับมาไทย เมื่อเจ็บป่วยก็มีข้อมูลที่บอกต่อกันว่าจะรับการรักษาพยาบาลฟรีได้ที่ไหน หรือหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีการระดมเงินช่วยเหลือกัน โดยมีการคัดกรองกันเองในกลุ่ม หากคนไหนมีพฤติกรรมไม่ดีหรือหลอกลวงคนอื่น จะมีการบอยคอตผ่านโซเชียลมีเดีย

เครือข่ายคนไทยในเกาหลีใต้ยังมีความสัมพันธ์กับชุมชนแรงงานข้ามชาติอื่นๆ ในเกาหลีใต้ เพื่อปกป้องสิทธิแรงงาน และยังติดต่อกับเครือข่ายคนไทยที่ทำงานในประเทศอื่นผ่านทางเฟซบุ๊ค จนทำให้เกิดการโยกย้ายงานข้ามประเทศ เช่น พนักงานสถานบันเทิงแต่ละประเทศจะติดต่อกันเพื่อย้ายประเทศบ่อยๆ เพราะมีความเสี่ยงกว่าแรงงานผีอื่นๆ เมื่อเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์และค้าประเวณี โดยอาจทำงานอยู่สิงคโปร์ 3 เดือน แล้วย้ายไปทำงานในเกาหลีใต้ 3 เดือน

สงกรานตืไทยในเกาหลี
บรรยากาศงานสงกรานต์ของคนไทยในเกาหลีใต้ / ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ภาพ
ความช่วยเเหลือต่อแรงงานข้ามชาติ
โบสถ์คริสต์ซึ่งเป็นแหล่งพักพิงของแรงงานต่างชาติ ทั้งการเรียนภาษา และรับการช่วยเหลือด้านอื่น / ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ภาพ

ปัญหาไม่จบถ้าไม่แก้ที่ระบบ

มุมมองต่อผีน้อยเกาหลีที่สะท้อนออกมาจากคนในประเทศไทย คือความรู้สึกแง่ลบว่าคนกลุ่มนี้ทำให้ประเทศไทยเสียชื่อจากการไปทำผิดกฎหมายและถูกกวาดจับจำนวนมาก จนถึงความกังวลว่า ผีน้อยอาจทำให้เกาหลีใต้ทบทวนเรื่องวีซ่าคนไทย แล้วจะไปเที่ยวได้ยากขึ้น

ดนย์บอกว่าเขาไม่เคยคุยเรื่องนี้กับแรงงานผีอย่างจริงจัง เพราะไม่ต้องการให้กระทบความรู้สึกกัน แต่สิ่งที่คนเหล่านี้สะท้อนออกมาจากการที่ได้คลุกคลีจนเป็นเพื่อนกัน คือพวกเขามองว่าตัวเองไม่มีทางเลือก และที่มาทำแบบนี้ก็เพื่อครอบครัว

“ผมมองว่าคนเหล่านี้เป็นคนเสียสละ ยอมเป็นคนผี เอาปัญหาไว้ที่ตัวเองแล้วไปแก้ปัญหาให้คนอื่น รับความเสี่ยงเพื่อคนที่บ้าน ส่วนที่ว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เราต้องมองวิวัฒนาการของสังคม อย่าง Grab ก็ผิดกฎหมายเพราะเป็นเรื่องใหม่ การผิดกฎหมายนี้ไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดีเพราะกฎหมายปรับไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เอ็นจีโอเกาหลีก็คุยกันว่า ต้องผลักดันรัฐให้การจ้างงานคนเหล่านี้ถูกกฎหมาย เมื่อพิสูจน์แล้วว่าทำงานมา 5-6 ปี ไม่สร้างปัญหาและมีประสบการณ์ทำงาน อนาคตจึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”

การที่คนไทยแห่ไปเป็นผีน้อยที่เกาหลีไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ แต่มีปัจจัยส่งเสริมทั้งต้นทางและปลายทาง เมื่อสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง คนกลุ่มนี้ถูกบีบบังคับด้วยสภาพสังคมที่ทำให้อยู่ไม่ได้ เมื่อการอยู่ในไทยไม่ได้มีสถานะที่ปลอดภัย การย้ายถิ่นคือโอกาสเดียวที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เพื่อให้มีสิทธิและสถานะทางสังคมเท่าคนชนชั้นอื่น

“คนไทยมักตัดสินที่ปลายเหตุ มองว่าคนเหล่านี้เห็นแก่ตัว โลภ อยากได้เงินเยอะ แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าตอนอยู่ในไทยคนเหล่านี้อยู่ในสถานภาพแบบไหน ไม่รู้ว่าเขามีปัญหาอย่างไร เราควรช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่ไปประณามเขา ผมไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูก แต่เคารพการตัดสินใจของเขา เมื่ออยู่ในสภาวะที่คนไม่สามารถพึ่งพารัฐบาลได้ ก็ต้องเลือกพึ่งพาตัวเองและพึ่งพาสังคมอื่น”

ส่วนปัจจัยในสังคมเกาหลีใต้คือปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกาหลีเองก็ปิดตาข้างหนึ่งกับปัญหาแรงงานผี ทำให้คนจากหลายชาติเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยมีคนจีนมากสุด รองมาคือเวียดนามและไทย

“พื้นฐานเศรษฐกิจเกาหลีคืออุตสาหกรรม ซึ่งขาดแรงงานไม่ได้เลย เมื่อคนในสังคมเกาหลีมีการศึกษาสูงและการแข่งขันสูง ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ทำงานพวกนี้ จึงต้องพึ่งแรงงานต่างชาติมากขึ้น อนาคตเป็นไปได้ว่าเกาหลีจะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่คนหลายประเทศเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ ประกอบกับที่เกาหลีเป็นสังคมกดทับผู้หญิง ปัจจุบันผู้หญิงเกาหลีมีการศึกษาและความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ชายเกาหลีจึงแต่งงานกับคนที่มีสถานภาพต่ำกว่าอย่างแรงงานข้ามชาติ หญิงไทยที่อยากได้สถานะก็ยอมเชื่อฟังสามี”

ดนย์มองว่าการขยายตัวของเครือข่ายคนไทยที่เริ่มปักหลักเหนียวแน่นในเกาหลี อาจทำให้ในอนาคตเกิด ‘ไทยทาวน์’ เช่นเดียวกับ ‘ไชน่าทาวน์’ ได้ เมื่อมีคนไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

“การทำงานนอกประเทศแบบนี้จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพราะการที่แรงงานออกไปทำงานแล้วส่งเงินกลับประเทศ เป็นการแก้ปัญหาเชิงปัจเจกบุคคล ไม่ใช่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะเดียวกันก็เสริมให้โครงสร้างที่เหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้น เมื่อเงินที่ส่งกลับมาครอบครัวเอาไปใช้จ่ายกลับเข้าสู่ระบบ ทำให้ทุนนิยมผูกขาดที่เอาเปรียบชนชั้นล่างเข้มแข็งขึ้น

“ผมอยากให้มองว่า แรงงานพวกนี้ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นเหยื่อทางทุนนิยมที่สังคมบีบให้เขาไม่มีทางเลือก อย่างน้อยคนกลุ่มนี้สร้างรายได้ให้ประเทศ หากเฉลี่ยว่าผีน้อยส่งเงินกลับบ้านคนละ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน 1 แสนคนก็ตกเป็นเงิน 1.5 พันล้านบาทต่อเดือนแล้ว”

เขาเห็นว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีความเกี่ยวโยงกับสองรัฐ จึงต้องมองเป็นภาพใหญ่ แต่แน่นอนว่าเกาหลีใต้ปิดวีซ่าไม่ได้ เพราะกระทบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งในอนาคตน่าจะมีการเปิดกว้างขึ้น เพราะทางเกาหลีก็ศึกษาปัญหานี้อยู่เช่นกัน

“สิ่งสำคัญคือเขาอยากให้มองแรงงานเหล่านี้ในความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ว่ามองเป็นแรงงานผีแล้วจะทำยังไงกับเขาก็ได้ พวกเขาไม่ได้มีทางเลือกมากนัก จึงต้องเอาตัวรอดด้วยการย้ายถิ่นฐาน ไม่ต่างจากในอดีตที่มนุษย์โยกย้ายเพื่อหนีภัยธรรมชาติ เพียงแต่ปัจจุบันเป็นการเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ”

หนึ่งในกิจกรรมที่คนไทยในเกาหลีใต้นัดมาทำร่วมกันเป็นประจำคือการเตะฟุตบอล / ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ภาพ

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save