fbpx
ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2019 โดยคอลัมนิสต์ 101

ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2019 โดยคอลัมนิสต์ 101

‘ความน่าจะอ่าน’ ส่งท้ายปี 2561 กองบรรณาธิการ 101 ชวนทีมคอลัมนิสต์และผู้ดำเนินรายการประจำ 101 แนะนำหนังสือชวนอ่านรับปี 2562 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้อ่านและผู้ชม 101 ทุกท่าน

ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือ (และ 101) ตลอดปีหน้า (และตลอดไป)

 

 

1. Do Not Say We Have Nothing

Madeleine Thien เขียน

สำนักพิมพ์ Granta Books

แนะนำโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

“นวนิยายเรื่องนี้เขียนโดยนักเขียนหญิงที่เริ่มจะมีชื่อแต่ผมไม่รู้จักเธอเลย  ทราบว่าเล่มนี้เป็นนิยายเล่มที่สอง และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ของอังกฤษคือ Man Booker Prize ในปีนี้  แต่เมื่อเริ่มอ่านไปได้ไม่กี่หน้าก็ติดตรึงในความรู้สึก เพียงไม่กี่หน้าก็รู้ถึงอารมณ์อันเศร้าลึกๆ ที่อยู่ในระหว่างบรรทัด ในไม่กี่หน้านั้นผมยังจับไม่ได้ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร ระหว่างใครกับใคร เพื่ออะไร นิยายบางเล่มอ่านไม่กี่หน้าก็อาจเดาได้ว่าแนวเรื่องจะไปอย่างไร แต่ ‘อย่าบอกนะว่าเราไม่มีอะไร’ ไม่ให้ร่องรอยที่จะเดาไปข้างหน้าได้มากนักว่าอะไรได้เกิดขึ้นและอะไรกำลังจะเกิดขึ้นตามมาอีก

เหนืออื่นใดคือสำนวนการเขียนของ แมดดาลีน เทียน ที่สะกดผู้อ่านให้ต้องตามเธอไปอย่างใจจดใจจ่อเพราะอยากรู้ว่าเธอกำลังจะบอกอะไรบางอย่างที่สำคัญต่อเรื่องที่จะเดินต่อไปในหนังสือเล่มนี้ ลองอ่านประโยคเปิดตัวของหนังสือในหน้าแรกที่ยาวไม่กี่บรรทัดแต่บอกอะไรไว้เยอะเลย

“In a single year, my father left us twice. The first time, to end his marriage, and the second, when he took his own life.”

“ในปีเดียวบิดาของฉันจากฉันไปสองครั้ง  ครั้งแรกเมื่อเขายุติชีวิตแต่งงาน  และครั้งที่สองเมื่อเขาปลิดชีวิตตัวเอง”

คนที่บรรยายเรื่องในหนังสือคือลูกสาว ชื่อลี่หลิง เป็นคนจีนสัญชาติแคนาดา อาชีพเป็นนักคณิตศาสตร์ เล่าถึงความหลังในปี 1989 ที่พ่อฆ่าตัวตายในฮ่องกง หลังจากอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมไม่ได้ แม่จึงต้องพาลี่หลิงไปเริ่มชีวิตใหม่ในแคนาดา

คำบรรยายของลี่หลิงที่มีต่อพ่อบอกให้เรารู้ว่าพ่อเธอต้องเป็นนักดนตรีคลาสสิค เพราะเธอจำได้ว่าตอนเล็กๆ นั่งรถไปกับพ่อ ก็จะได้ฟังเพลงคลาสสิคของบาค เบโธเฟน ในขณะที่พ่อก็ยกมือข้างหนึ่งทำท่ากำกับเพลงไปด้วย พอเจอเรื่องราวของครอบครัวที่มีสัมพันธภาพกับเพลงคลาสสิคผมก็อดใจไม่ได้ ยอมเทใจให้ครึ่งหนึ่งกับหนังสือว่าต้องอ่านให้จบให้ได้

ผมเดาได้ระดับหนึ่งหลังจากอ่านไปสิบกว่าหน้าว่าเรื่องนี้เกี่ยวโยงถึงการเมืองของจีนสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมและสถานการณ์หลังจากนั้น พ่อเธอเคยเล่นเปียโนต่อหน้าประธานเหมาเจ๋อตง และเรียนดนตรีในวิทยาลัยดนตรีในเซี่ยงไฮ้ แต่คิดว่าบรรดานักดนตรีคลาสสิคคงโดนวิพากษ์และวิจารณ์อย่างหนักจากบรรดาพลพรรคเรดการ์ดอันเป็นกลุ่มหัวรุนแรงในฝ่ายปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนยุคเหมาชี้นำการปฏิวัติสังคมนิยมของจีนอยู่  ส่วนเรื่องจะลึกลับซับซ้อนประมาณไหนคงต้องไปอ่านเอาเอง

ผมอยากอ่านว่าแนวการเขียนและนำเสนอความคิดและความเข้าใจของนักเขียนจีนรุ่นใหม่ที่มีต่อประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติของจีนคอมมิวนิสต์ในยุคหลังสมัยใหม่และที่จีนได้เปิดประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกแล้วจะดำเนินไปในลักษณะอย่างไร จะปฏิเสธมรดกและผลพวงของการปฏิวัติอย่างไร หรือถ้าจะรับ จะรับได้แค่ไหน และอย่างไร ทั้งหมดเป็นศิลปะและการเมืองที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก จนทำให้ยากในการทำความเข้าใจและการนำเสนอในรูปแบบของวรรณศิลป์ด้วยเหมือนกัน

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ ‘อย่าบอกนะว่าเราไม่มีอะไร’ จะเป็นหนังสือที่ท้าทายความคิดและการทำงานของนักคิดนักเขียนในสังคมและประเทศที่การเมืองไม่เคยหยุดนิ่ง และไม่บอกด้วยว่าอะไรจะเกิดและอะไรที่จะไม่เกิด

ผมคิดว่าลี่หลิงก็คงมีประสบการณ์ทางความคิดและความรู้สึกทำนองนี้ในตัวเธอ”

 

 

2. นิวเดลี-บูโรส (New Delhi-Borås)

เพร โยฮัน อันเดรสอน เขียน, วรวัฒน์ ศรีหมากสุก แปล

สำนักพิมพ์ สันสกฤต

แนะนำโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

“เหตุผลที่เลือกเล่มนี้ เพราะคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยสร้างความหวังและสร้างศรัทธาดีๆ รับปี 2019 ให้กับใครหลายคนที่กำลังท้อแท้

หนังสือพาเราไปรู้จักเรื่องราวความรักที่น่าเหลือเชื่อระหว่างหนุ่มอินเดียจากวรรณะจัณฑาลที่ปั่นจักรยานข้ามโลกไปหาแฟนสาวที่ประเทศสวีเดน เรื่องราวความรักของทั้งคู่ก้าวข้ามทุกอุปสรรคทั้งเรื่องเชื้อชาติ วรรณะ สีผิว และระยะทาง

นอกเหนือจากเรื่องราวความรักแล้ว หนังสือยังแฝงแง่คิดดีๆ ในการใช้ชีวิต ทั้งความอดทน ความพยายาม และการนำตัวเองหลุดจากกรอบเดิมๆ ที่เชื่อที่ยึดถือ”

 

 

3. เงาของเมฆ

มหาสมุทร เลิศฯ เขียน

สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม

แนะนำโดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

“แพ้ตัวอักษรของวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา มาตลอด หาก ‘อีกวันอันแสนสุขในปี 2527′ เป็นบันทึกความทรงจำบางอย่างในสังคมแห่งการลืมเลือน และ ‘สิ้นสุรีย์’ กับ ‘จักรวาลของการมอดไหม้’ เป็นมีดกรีดความรู้สึกมืดหม่นภายในหัวใจ ‘เงาของเมฆ’ คงเป็นเพิงพักริมทะเล เป็นที่ให้เราสูดไอสดชื่นของอดีตและมองหาเศษเสี้ยวความสัมพันธ์ที่ผ่านตัดเข้ามาในชีวิต

สิ่งที่ชอบที่สุดในงานของวิวัฒน์คือไม่ว่าเราจะเริ่มอ่านที่หน้าไหน เปิดมาเจอย่อหน้าใดก็ตาม เพียงไม่กี่อึดใจ ตัวอักษรก็จะพาเรากลับไป ณ จุดที่เราวางค้างไว้ก่อนหน้าเสมอ”

 

 

4. A History of Pictures: From the Cave to the Computer Screen

David Hockney, Martin Gayford เขียน

สำนักพิมพ์ Thames and Hudson

แนะนำโดย ติณห์นวัช จันทร์คล้อย Eyedropper Fill

“ยอมรับว่าเลือกยากมากครับ เลยหยิบ ‘หนังสือที่เราแนะนำให้คนรอบตัวบ่อยที่สุดประจำปี 2018’ มาแล้วกัน

A History of Pictures ตรงตามชื่อ มันคือหนังสือที่พาเราเข้าไปเดินทัวร์ในประวัติศาสตร์ของ ‘ภาพ’ โดยมีไกด์เป็นศิลปินรุ่นใหญ่แต่ใจหนุ่มอย่าง David Hockney กับนักวิจารณ์ศิลปะตัวเบิ้ม Martin Gayford เดินคุยกันไปในเส้นทางไกล 40,000 ปี ตั้งแต่มนุษย์คนแรกขีดเขียนลงบนผนังถ้ำ กำเนิดภาพแรกของโลก, การเกิดขึ้นของภาพพิมพ์ที่ทำให้ภาพสามารถทำซ้ำและเดินทางข้ามทวีป, ‘เลนส์’ ชิ้นแก้วที่ทำให้มนุษย์สร้างภาพเสมือนโดยไม่ต้องขีดเขียนลงบนกระดาษ, จากภาพนิ่งบนกระดาษสู่ภาพเคลื่อนไหวบนจอที่กลายเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ของโลก จนถึงวันนี้ ที่เราสามารถสัมผัสภาพบนจอขนาดเท่าฝ่ามือ เราทุกคนสามารถสร้างภาพของตัวเอง แถมกดถูกใจภาพคนอื่นได้ด้วย

เราในฐานะลูกทัวร์ นอกจากจะตื่นเต้นกับ fact มันๆ ที่เกลื่อนกลาดตลอดทาง เช่น ใครจะรู้ว่าคนสมัยก่อนพก ‘บานกระจก’ ออกไปนั่งชมภาพสะท้อนตอนปิกนิค, การตัดต่อภาพไม่ได้เกิดขึ้นในยุคโฟโตชอป แต่เกิดตั้งแต่ปี 1600 เพราะเจอนายแบบในภาพเขียนหน้าซ้ำกันซะงั้น, อาร์ตติสต์ปรมาจารย์อย่าง Rembrant วาดรูปด้วยการดราฟแบบที่อาจารย์วิชาศิลปะต้องหาว่าขี้โกง, ฟิล์มแผ่นแรกของโลกที่เกิดขึ้นเพราะเศรษฐีที่ดันวาดรูปไม่สวย ฯลฯ

ความคิดอันล้ำค่าที่ติดมือมาจากทัวร์ คือไม่ว่าคุณจะสร้างภาพโดยใช้พู่กัน, เครื่องพิมพ์, กล้อง หรือเมาส์ปากกา ไม่ว่าเครื่องมือและวิธีสร้างภาพของเราจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หัวใจของการสร้าง ‘ภาพ’ ตลอดสี่หมื่นปีที่ผ่านมาของพวกเรายังคงมีเรื่องเดียว นั่นคือ การพรรณนา ‘สิ่งที่เห็นด้วยตาและใจ’ ลงในพื้นที่ 2 มิติ และจะยังคงเรียบง่ายเช่นนั้นเสมอ

ของขวัญแด่นักสร้างภาพ และนักดูภาพทุกท่าน

สวัสดีปีใหม่ครับ : )”

 

 

5. The Arab of the Future 2, A Childhood in Middle East, 1984-1985

Riad Sattouf เขียน

สำนักพิมพ์ Metropolitan Books

แนะนำโดย วศิน ปฐมหยก

“เรื่องนี้มีทั้งหมด 3 เล่ม เป็นการ์ตูนซีรีส์เกี่ยวกับชีวิตของผู้วาดการ์ตูนเรื่องนี้ เล่มที่ 2 ที่แนะนำมานี้เกี่ยวกับวัยเด็กของเขาที่อยู่ในซีเรีย

การ์ตูนมีลายเส้นน่ารักแต่ก็มีเรื่องราวที่น่าเศร้า ความรันทดโหดร้ายของสังคม จับใจและน่าติดตามมากๆ ครับ”

 

 

6. การเมืองเรื่องพระพุทธรูป

วิราวรรณ นฤปิติ เขียน

สำนักพิมพ์ มติชน

แนะนำโดย วรากรณ์ สามโกเศศ

‘การเมืองเรื่องพระพุทธรูป’  โดยวิราวรรณ นฤปิติ (2560) ทำให้เห็นวิถีการเมืองในประวัติศาสตร์ผ่านการครอบครองและเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปในสังคมไทยในช่วงสร้างกรุงเทพฯ ถึงรัชกาลที่ 5

ผมชอบหนังสือเล่มนี้ เพราะทำให้เห็นแง่มุมของการใช้อำนาจในประวัติศาสตร์เพื่อสร้างชาติที่ชัดเจน ต่อนี้ไปเวลากราบพระพุทธรูปที่โบสถ์ของวัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ จะเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดท่านจึงมาอยู่ตรงนั้น และเห็นความเชื่อมโยงกับตัวเราในปัจจุบันมากขึ้น”

 

 

7. ครูผู้สร้างพลเมือง: พลังของการเปลี่ยนแปลง

เครือข่าย Thai Civic Education เขียน

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง จัดพิมพ์

แนะนำโดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์

“ในยุคที่หลายคนหดหู่กับการศึกษาและดูแคลนว่าประเทศเราขาดแคลนบุคลากรครูที่มีคุณภาพ เสียงของครูหนุ่มสาวทั้ง 10 คนในหนังสือเล่มนี้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ยังเชื่อว่าการศึกษาที่ดีกว่านี้เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือคนเหล่านี้ไม่เพียงแค่เชื่อ แต่ยังพยายามลงมือทำสิ่งนั้นอยู่จริงๆ ด้วย

หนังสือเล่มเล็กๆ นี้รวบรวมประสบการณ์และกระบวนการของการจัดการเรียนการสอนของครูจากต่างโรงเรียนต่างภูมิภาค แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมสำคัญอย่างหนึ่ง คือเชื่อว่าการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่เป็นมนุษย์มากขึ้น เคารพผู้อื่นมากขึ้น และใส่ใจต่อปัญหาของสังคมมากขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยการดึงเอาองค์ความรู้ในตำราปะทะเข้ากับชีวิตจริงๆ ของนักเรียน เพื่อชวนพวกเขาให้อ่าน วิเคราะห์ ตั้งคำถาม และพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะรับฟังให้มากขึ้นและด่วนสรุปให้น้อยลง

หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนนอกและในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่อาจไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาของการศึกษาไทย สำหรับคนวงใน หนังสือน่าจะสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่มีความหมายให้กับนักเรียนนักศึกษาตนเองได้เป็นอย่างดี สำหรับคนวงนอก ปากคำของครูรุ่นใหม่ทั้ง 10 คนอาจพอช่วยให้เรามีความหวังได้มากขึ้นว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ก็ยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยอีกมากที่มุ่งมั่นพยายามสร้างสังคมที่น่าอยู่ เท่าเทียม และเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้มากที่สุดเท่าที่กำลังของพวกเขามี”

 

 

8. Resilience: Why things bounce back

Andrew Zolli และ Ann Marie Healy เขียน

สำนักพิมพ์ Free Press

แนะนำโดย เพชร มโนปวิตร

“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนว Popular Science ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2012 ในช่วงที่แนวคิดเรื่อง Resilience กำลังถึงจุดพีค

Resilience เป็นคำที่ยังแปลเป็นภาษาไทยให้ครอบคลุมความหมายได้ยากมาก แปลตรงๆ อาจแปลได้ว่าความยืดหยุ่นหรือการกลับคืนสู่สภาพเดิมหลังจากเจอแรงกระแทก (shock) ตามความหมายในเชิงวิศวกรรม แต่แนวคิดเรื่อง Resilience ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในศาสตร์หลากหลายสาขาทั้งชีววิทยา นิเวศวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์การเงิน ทำให้มีนัยยะที่สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัว (adaptive capacity) รวมไปถึงความสามารถในการรับมือ (resistance) กับหายนะต่างๆ ด้วย

หนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายแนวคิดเรื่อง Resilience ในหลายบริบทมากๆ ตั้งแต่ แนวปะการังกับการเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว โลกการเงินกับการล่มสลายของตลาดหุ้น ความมั่นคงทางพลังงานกับการกระจายระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ไปจนถึงสภาวะด้านจิตวิทยาของคนที่ต้องเผชิญกับภาวะทุกข์ตรมอย่างหนัก นี่เป็นหนังสือแนวสหวิทยาการ (Multidisciplinary) ที่หนักแน่นไปด้วยข้อมูลและกรณีศึกษามากมายเพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน

ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจผกผัน การก่อการร้ายและเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ นานา สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวหรือ Resilience ให้กับระบบนิเวศ ชุมชน องค์กรและตัวของเราเอง กรอบคิดเรื่อง Resilience เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยอธิบายความซับซ้อนของโลก และช่วยให้เรารับมือกับความไม่แน่นอนที่มีแต่จะยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”

 

 

9. The Pigeon Tunnel

John le Carré เขียน

สำนักพิมพ์ Penguin

แนะนำโดย พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์

“This is a bit niche, I admit. Still, a lot of John le Carré’s work is well-known through a long list of films and TV series adapted from his books, including The Spy Who Came in from the ColdTinker Tailor Soldier Spy and the Smiley-Karla trilogyThe Constant GardenerOur Kind of TraitorThe Night Manager, and most recently the TV adaptation of his 1982 novel, The Little Drummer Girl. I could have recommended any of the 24 novels he has published and probably the 25th due out in 2019.

But his autobiography, published in paperback just over a year ago, is an insight into his thinking and the various influential events in his life — a portrait of his conman father already featured in his 1986 novel, A Perfect Spy.

The world of literature is gradually acknowledging that le Carré, now 87, doesn’t “just” write spy thrillers. Two characteristics stand out in his books. One is his writing style, from the idiosyncratic jargon of espionage to the shifting perspective of inner thoughts as his narrative switches between characters. More important is the second, the recurring theme of deception and pretence. It lies at the heart of spying. It is deep in the souls of his main characters. And it is the essence of his view of the politics that claims to be honourable but is corrupt and manipulative, from the Cold War and Israel-Palestine conflict, to the arms and pharmaceuticals trades. And he’s a cracking story-teller, even in his autobiography.”

 

 

10. ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง

Erik Sass, Steve Wiegand, Will Pearson, Mangesh Hattikudur เขียน, สุวิชชา จันทร แปล

สำนักพิมพ์ a book

แนะนำโดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง

“ของดีที่ซ่อนอยู่ในหนังสือหนา 500 กว่าหน้านี้คือ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเราเหล่ามนุษยชาติที่ย้อนกลับไปกว่า 8,000 ปี เป็นหนังสือที่รวบรวมเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกิดขึ้นตามเบี้ยบ้ายรายทางของวิวัฒนาการของพวกเรา เอามารวมไว้ในที่เดียว และบางอย่างหากจะไปหาอ่านในเล่มอื่นก็คงต้องค้นหากันให้วุ่นวาย เช่น  วิธีการกินนกฟลามิงโกของคนโรมัน เป็นอาทิ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุกดังเขาโปรยและอดไม่ได้ที่ต้องพับมุมหน้ากระดาษไว้เพราะมีความรู้เจ๋งๆ ที่เก็บไว้ใช้งานได้ต่อ

ข้อเสียของมันคือ ตัวหนังสือที่เล็กไปหน่อย ในบางล้อมกรอบที่ใช้ฟอนต์บางๆ บนพื้นสีแสดสด ช่างบั่นทอนความสามารถในการอ่านของชายหนุ่มวัยสี่สิบต้นๆ ที่เริ่มมีอาการสายตาสั้นปนยาวผสมกันเป็นอย่างมาก และบางตอนของเนื้อหาที่ขาดรูปประกอบเรื่อง ซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่าคงเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์หรือเปล่าที่ต้องซื้อเพิ่ม ทำให้ต้นทุนของการผลิตเพิ่มและทำให้ราคาขายของหนังสืออาจสูงกว่านี้จนแข่งขันยาก ข้อนี้ผมไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ น่าเสียดาย

กระนั้นโดยรวมผมยังให้มันเป็นหนังสือน่าอ่านในช่วงหยุดยาว โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ เราควรมีหนังสือสักเล่มที่เตือนใจเราถึงอดีตของเราว่า เราก็ไม่ได้ฉลาดกว่าสัตว์ตัวอื่นเท่าไหร่นักหรอก

เผลอๆ แล้วบางเรื่องพวกเราดูโง่กว่าด้วย”

 

 

11. A History of Bombing

Sven Lindqvist เขียน

สำนักพิมพ์ Granta Books

แนะนำโดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

“มีหนังสือเศร้าหมองว่าด้วยความรุนแรงมาแนะนำความน่าจะอ่านรับปีใหม่ 2019 นะครับ เห็นว่าเป็นปีครบศตวรรษของสันติภาพแวร์ซายส์ เลยเลือกเล่มนี้แทนนวนิยายอีกเล่ม ที่ชั่งใจอยากนำเสนออยู่เหมือนกัน คือ The Palace of Illusions นวนิยายอิงเรื่องราวในมหาภารตะของ Chitra Banerjee Divakaruni ออกมาหลายปีแล้ว แต่ผมเพิ่งได้อ่าน สนุกดีมาก คนเขียนเขานำเสนอผ่านมุมมองของนางเทราปตี แต่หมุนไปหมุนมา ตัดสินใจเลือกเล่มที่ใกล้กับสาขาของตัวเองดีกว่า เลยได้ A History of Bombing ของ Lindqvist มาร่วมสนุก

กระจกส่องงามมีหลายบานแล้ว กระจกส่องเห็นความทรามจึงน่าสนใจกว่ามาก มองผ่านกระจกบานนี้ ท่านจะเห็น The finest hour ของ Churchill และประวัติศาสตร์เทคโนโลยีกับการสงครามต่างออกไปจากเดิม คนไม่อยากมองความทรามในความรุนแรง แต่สนใจการออกแบบงานเขียนอันน่าทึ่ง การออกแบบงานเขียนในเล่มนี้มี Nietzsche และ Conrad เป็นที่มาของแรงบันดาลใจ คนเขียนเปิดปากทางเข้า 22 จุด พร้อมแผนที่การอ่าน เพื่อพาเราวกเข้าสู่วงกตความมืดที่ไม่มีทางออก”

 

 

12. บิ๊กดาต้ามหาประลัย

Cathy O’Neil เขียน, ทีปกร วุฒิพิทยามงคล แปล

สำนักพิมพ์ Salt Publishing

แนะนำโดย โสภณ ศุภมั่งมี

“หนังสือเล่มนี้ช่วยให้มองเห็นผลกระทบของ ‘บิ๊กดาต้า’ ในชีวิต ทั้งในแง่ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลัง ความปลอดภัยของการใช้ชีวิต สุขภาพ และการปกครองของรัฐบาล ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกับ ‘บิ๊กดาต้า’

โลกกำลังจะเปลี่ยนไปในรูปแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราควรต้องรู้ว่าเหตุผลคืออะไร มีอะไรที่เราสามารถป้องกันและใช้ประโยชน์จากมันได้บ้าง”

 

 

13. เฟื่องนคร

ร เรือ ในมหาสมุท เขียน

สำนักพิมพ์ เอเวอร์วาย (everY)

แนะนำโดย ธีรภัทร เจริญสุข

“ปีที่ผ่านมาผมอ่านหนังสือจริงจังค่อนข้างน้อย หนักไปทางข้อมูลท่องเที่ยวหรือประวัติศาสตร์ตามเว็บไซต์เสียมากกว่า หนังสือเล่มก็เป็นไลท์โนเวลหรือนิยายผ่อนคลายสมองจากการทำงานที่ยุ่งยากในแต่ละวันมากกว่าหนังสือดีมีสาระ อันที่จริงก็อยากจะโฆษณาขายนิยายของสำนักพิมพ์ตัวเองอย่าง ‘เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ’ แต่ก็กลัว บ.ก.ของ 101 จะค้อนเอา (แต่ก็พูดไปแล้ว ฮา)

ถ้าจะให้แนะนำหนังสือสักเล่มเพื่อให้อ่านในปี 2019/2562 อย่างจริงจังคงต้องเป็นเล่มนี้ ‘เฟื่องนคร’ ของ ร เรือ ในมหาสมุท หรือ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนซีไรต์ประจำปี 2560 จากผลงาน ‘สิงโตนอกคอก’

ซึ่งเป็นนิยายวาย … หรือชายรักชายนั่นแหละ แต่ความเป็นนิยายวายของ ‘เฟื่องนคร’ มีหลากหลายเรื่องราวซ่อนอยู่มากกว่าเรื่องความรักระหว่างชายกับชาย ซับซ้อนหลายเท่าตัวในบรรยากาศกุ๊กกิ๊กหวานแหววแบบนิยายแจ่มใสเอเวอร์วายที่ฉาบหน้า

เฟื่องนครเป็นเรื่องความรักระหว่าง กรมท่าหรือนาวี่ โปรแกรมเมอร์หนุ่มที่ทำงานในบริษัทแอพเซนดาย่า แอพโซเชียลพลังบวกที่ไม่ยอมให้โพสต์เรื่องด้านลบเผยแพร่ กับเฟื่องนคร ดาราหนุ่มหล่อบทดาวร้ายอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่นอกจอเป็นคนดีพลังบวกที่สุด แต่เมื่อทั้งสองตกหลุมรักและคบกัน ก็ต้องเจอกับอุปสรรคของความเป็นดาราดังที่แสนจะเต็มไปด้วยพลังลบจากความอิจฉาริษยา และการกลั่นแกล้งใส่ร้ายกล่าวหากันในโลกไซเบอร์และเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ร เรือ ในมหาสมุท ผู้เขียน สามารถบรรยายโซเชียลไซเบอร์บูลลี่ได้อย่างรุนแรงสมจริง และกลั่นเอาความรู้สึกเจ็บแค้นที่ไม่มีทางตอบโต้ได้ของเหล่าบุคคลสาธารณะออกมาผ่านตัวหนังสือให้เห็นภาพสังคมในไซเบอร์สเปซยุคนี้ที่ไม่ต่างอะไรจากสงครามความเกรี้ยวกราดที่ไม่มีความรับผิดชอบ ก่อนจะคลี่คลายดำเนินเรื่องจบอย่างลงตัวไม่น้อยไม่มากเกินไปกลมกล่อมพอดี

การอ่านเรื่อง ‘เฟื่องนคร’ นอกจากจะเป็นการตามให้ทันและเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้หญิงสาวอ่านอะไรกันอยู่ (นิยายวายนั้นขายดีเต็มงานหนังสือ) ยังทำให้เราตามทันโลกโซเชียลนอกวงการนักวิชาการและการเมืองที่ต่างก็ย่ำซ้ำกันไปมาไม่แพ้นิยายละครน้ำเน่า ถ้าไม่อคติกับนิยายวายหรือนิยายแจ่มใสนัก ลองพลิกอ่านสักหน่อย

รับรองไม่ผิดหวังครับ”

 

 

14. #Republic: Divided Democracy in the Age of Social Media

Cass R. Sunstein เขียน

สำนักพิมพ์ Princeton University Press

แนะนำโดย อิสร์กุล อุณหเกตุ

“คุณอ่านข้อความนี้ผ่านทาง Facebook หรือเปล่า? ถ้าใช่ คุณอาจจะสนใจว่า Facebook (และโซเชียลมีเดียอื่นๆ) ทำให้ความคิดเห็นของผู้คนแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร

ในหนังสือเล่มนี้ ศาสตราจารย์ Cass R. Sunstein พาเราไปทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างอินเทอร์เน็ตกับประชาธิปไตย  โดยเฉพาะสภาวะ ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ ในโลกโซเชียลซึ่งนำไปสู่ความเห็นทางการเมืองที่แตกแยกและแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และอธิบายว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้กัดเซาะรากฐานของสังคมประชาธิปไตยอย่างไร

ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้น่าจะมีการเลือกตั้ง (เสียที) การหยิบหนังสือ #Republic เล่มนี้มาอ่านจะชวนให้เราคิดต่อยาวๆ ว่า แล้วในประเทศที่ประชาธิปไตยยังล้มลุกคลุกคลานแบบไทยล่ะ โซเชียลมีเดียจะพาเราเดินไปทางไหน?”

 

 

15.แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม

พระไพศาล วิสาโล เขียน

สำนักพิมพ์ มูลนิธิโกมลคีมทอง

แนะนำโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

“ในช่วงเวลาที่สภาพสังคมเศรษฐกิจการเมืองย่ำแย่ หลายคนมักเกิดอาการท้อ หมดแรง หมดไฟ สุดท้ายจะกลายเป็นไม่ใส่ใจสังคมเอาได้ง่ายๆ การได้อ่านหนังสือ ‘ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2527 แสวงหารากฐานของชีวิตในโลกแห่งกิจกรรม’ โดย พระไพศาล วิสาโล จนจบ ทำให้ได้กลับไปค้นหาไฟฝันของตัวเอง ตั้งคำถามกับฝันนั้นอย่างจริงจังว่ายังใช่อยู่ไหม ถ้ายังใช่ สิ่งที่เราปรารถนาจะร่วมทำให้สังคมดีขึ้นจริงๆ ทำอย่างไรให้เรายังมุ่งมั่นต่อไปโดยที่ด้านในก็ยังมั่นคง”

 

 

16. A History of Thailand

Chris Baker และ Pasuk Phongpaichit เขียน

สำนักพิมพ์ Cambridge University Press

แนะนำโดย สนิทสุดา เอกชัย

A History of Thailand’ โดย Chris Baker และ Pasuk Phongpaichit เป็นหนังสือที่อยากจะแนะนำให้อ่าน เพราะการเข้าใจประวัติศาสตร์จำเป็นต่อการเข้าใจปัจจุบัน และการคาดการณ์อนาคต

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ในปี 2548 แต่เนื้อหายังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเข้าใจความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงในรัฐไทยนอกกรอบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม

ผู้อ่านจะได้เห็นภาพการย้ายถิ่นและความสัมพันธ์ของผู้คนในบริเวณขวานทองนี้ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์  การก่อตั้งชุมชน การเกิดของเมืองและอาณาจักร จนถึงยุครัฐชาติสมัยใหม่  ช่วยให้เข้าใจว่าอุดมการณ์ชาติและเชื้อชาตินิยมที่เป็นสาเหตุของความรุนแรงนั้นในปัจจุบันนั้น แท้จริงเป็นเรื่องใหม่เพิ่งสร้าง สียังไม่แห้งด้วยซ้ำ

A History of Thailand พูดถึงการต่อสู้ของอุดมการณ์ในสมัยสงครามเย็น ปัจจัยการเมืองโลกที่ทำให้รัฐทหารและรัฐราชการรวมศูนย์เติบโต การขยายตัวของต่างจังหวัด บทบาทของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ผลกระทบของ ‘การพัฒนา’ การขยายตัวของ money politics ตลอดจนการต่อสู้ของประชาชนให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและความยุติธรรม

รัฐไทยข้างหน้าจะเป็นแบบไหน จะดำรงวัฒนธรรมการเมืองแบบรวบอำนาจแบบเดิมต่อไปได้หรือไม่ จะสร้างศัตรูอะไรมาให้คงอำนาจไว้ได้ จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงที่มากับเทคโนโลยีไร้พรมแดนได้นานขนาดไหน ประชาชนจะมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นหรือไม่ อะไรจะเป็นปัจจัยชี้ขาด

A History of Thailand น่าจะช่วยให้คำตอบได้บ้าง”

 

 

17. The Great Delusion

John J. Mearsheimer เขียน

สำนักพิมพ์ Yale University Press

แนะนำโดย จิตติภัทร พูนขำ

“หนังสือ ‘The Great Delusion’ ของ John J. Mearsheimer ตั้งคำถามสำคัญว่า ทำไมแนวคิดเสรีนิยมในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และการจัดระเบียบโลกจึงล้มเหลวไม่เป็นท่า ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะก่อสงคราม และเพิ่มความขัดแย้งระหว่างประเทศ มากกว่าจะช่วยสร้างสันติภาพ

หนังสือเล่มนี้นำเสนอปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุดความคิดหลักสามชุดคือ เสรีนิยม ชาตินิยม สภาพจริงนิยม และนัยยะที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐได้อย่างชัดเจน เป็นระบบและอ่านง่าย

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับ Mearsheimer หรือไม่ก็ตาม หนังสือเล่มนี้ย่อมเป็น ‘คู่สนทนา’ ที่ท้าทายและกระตุ้นกระบวนความคิดของเราต่อระบบเสรีนิยมในการเมืองโลกร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี”

 

 

18. หลังรอยยิ้ม: เรื่องเล่าพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้

ฐิตินบ โกมลนิมิ บรรณาธิการ

สำนักพิมพ์ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี

แนะนำโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

“ชื่อหนังสือก็บอกอยู่แล้วว่า ‘หลังรอยยิ้ม’ ซึ่งบรรจุเรื่องจริงสารพัดเรื่องที่อยู่เบื้องหลังภาพที่มองเห็นได้ด้วยตา เชื่อว่าคนทำหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่อยากสร้าง ‘รอยยิ้ม’ ให้คนอ่าน แต่กลับต้องการให้คนอ่านเข้าใจรอยยิ้มของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลึกซึ้งมากขึ้น

เรื่องสั้น 23 เรื่องที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ อาจไม่ได้งดงามทางภาษาวรรณศิลป์ เพราะเจ้าของเรื่อง หรือคนเขียนหลายคนไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่กลับใช้ความพยายามอย่างมากที่จะถ่ายทอดออกมา เพื่อให้เรื่องราวที่อาจจะเล่าไม่ง่ายนักเดินทางมาถึงสายตาของ ‘คนนอกพื้นที่’ ที่ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันได้

เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนไกล ที่มักมีคำถามอยู่ในบทสนทนา เช่น สามจังหวัดปลอดภัยไหม? คนที่นั่นอยู่ได้ไหม? ทำไมเหตุการณ์ไม่สงบสักที?”

 

 

19. Identity: Contemporary Identity Politics and the Struggle for Recognition

Francis Fukuyama เขียน

สำนักพิมพ์ Profile Books

แนะนำโดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ

“เราจะเข้าใจการผงาดขึ้นของกระแสขวาประชานิยมและวิกฤตเสรีนิยมประชาธิปไตยในโลกตะวันตกได้อย่างไร? หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามสำคัญในการเมืองโลกปัจจุบัน โดยพาเราท่องโลกปรัชญาการเมือง รัฐศาสตร์ จิตวิทยาสังคม เศรษฐศาสตร์การเมือง และสังคมวิทยาของ ‘อัตลักษณ์รวมกลุ่ม’

ฟุกุยามาชี้ว่าวิกฤตเสรีนิยมประชาธิปไตย ณ ศตวรรษที่ 21 เป็นผลจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ผสานกับการเมืองอัตลักษณ์อันเข้มข้น ขณะที่ ‘คนกลุ่มน้อย’ (เช่นผู้หญิง กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มชาติพันธุ์-ศาสนา) ซึ่งเคยอยู่ชายขอบของสังคมได้ขยายพื้นที่ทางการเมืองตนและเรียกร้องให้คนส่วนใหญ่ยอมรับอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายของตนได้มากขึ้นในสังคมตะวันตก คนส่วนใหญ่กลับรู้สึกถูกคุกคามโดยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ฟุกุยามาวิเคราะห์ว่าความรู้สึกเช่นนี้มาจากวิกฤตความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ชนชั้นกลางขยับฐานะลงเป็นชนชั้นกลางล่าง  การสูญเสียสถานะทางเศรษฐกิจของคนขาวในสหรัฐฯและยุโรปเช่นนี้ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าไร้ที่ยืนในสังคมในฐานะประชาชน คนเหล่านี้เห็นว่ารัฐบาลไม่ดูแลพวกเขาในฐานะ ‘ประชาชน’ ส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มน้อย (ในนามของ ‘พหุวัฒนธรรม’) และผู้อพยพลี้ภัยมากกว่า ผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์และพรรคขวาประชานิยมในยุโรปอาศัยโอกาสที่เสรีนิยมประชาธิปไตยเผชิญวิกฤตความชอบธรรมกอบโกยคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ‘ผู้ถูกลืม’

ฟุกุยาสรุปว่าจะรักษาเสรีนิยมประชาธิปไตยในยุโรปและสหรัฐฯได้ ต้องไม่อายที่จะพูดถึงความรักชาติ แต่จะทำอย่างไรให้อัตลักษณ์ชาติไม่เป็นแบบฝ่ายขวา คือก้าวพ้นจากอัตลักษณ์ศาสนา-ชาติพันธุ์ที่ผูกอยู่กับคนเพียงกลุ่มเดียว ขณะที่กีดกันคนกลุ่มอื่นในสังคม ความรักชาติแบบก้าวหน้าควรผูกติดกับคุณค่าบางอย่างซึ่งคนในชาติมีร่วมกัน เช่น ความรักในความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น และการเคารพความเห็นต่าง อัตลักษณ์ชาติที่โอบอุ้มประชาธิปไตยได้ต้องร้อยโยงคนในชาติเข้าด้วยกัน ขณะที่เรียกร้องให้ผู้เข้ามาอยู่ใหม่ปรับตัวรับคุณค่าเหล่านี้

แม้หนังสือเล่มนี้จะเขียนโดยนักวิชาการที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นีโอคอน’ หรืออนุรักษ์นิยมใหม่ แต่กลับมีวิธีตอบโจทย์ร่วมสมัยได้อย่างก้าวหน้าและข้ามพ้นกับดักการเมืองศีลธรรมที่ครอบงำทั้งฝ่ายซ้ายและขวาในโลกตะวันตก ที่สำคัญคือหนังสืออธิบายประเด็นที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่สนใจการเมืองโลก”

 

 

20. How History Gets Things Wrong

Alexander Rosenberg เขียน

สำนักพิมพ์ MIT Press

แนะนำโดย อิสระ ชูศรี

“อเล็กซ์ โรเซนเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ How History Gets Things Wrong: The Neuroscience of Our Addiction to Stories (2018) ที่ตีพิมพ์โดยเอ็มไอทีเพรส เป็นศาสตราจารย์สาขาปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากเขาจะเชี่ยวชาญปรัชญาวิทยาศาสตร์แล้ว เขายังศึกษาชีววิทยาโมเลกุล กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา และชีววิทยาวิวัฒนาการ ในหนังสือเล่มนี้เขาเสนอว่ามนุษย์เสพติดประวัติศาสตร์แบบเรื่องเล่าในฐานะกระบวนการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ เนื่องจากวิวัฒนาการและยีน แต่ประวัติศาสตร์แบบเรื่องเล่านั้นสร้างความเข้าใจที่ผิด โดยวิวัฒนาการอันยาวนานได้เปลี่ยนเรื่องเล่าจากเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับการเอาชีวิตรอดให้กลายมาเป็นทฤษฎีที่บกพร่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ โรเซนเบิร์กชี้ว่ามนุษย์พัฒนาความสามารถในการเดาใจมนุษย์ด้วยกันและสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อความเอาตัวรอดในบริบทของการปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้า แต่การนำทฤษฎีเกี่ยวกับการหมายรู้ความต้องการและแรงจูงใจของผู้อื่นไปใช้ทำความเข้าใจเหตุการณ์หรือบุคคลในอดีตอันไกลโพ้น กลับจะสร้างความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง

แม้หนังสือเล่มนี้จะเสนอข้อโต้แย้งที่อาจเกินเลยไปบ้างในบางแง่ เช่น จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์ไม่ได้ผิดไปเสียหมดทุกเรื่อง แต่มันก็ชี้ให้เห็นว่าการพยายามเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ในลักษณะที่เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน รวมทั้งการพยายามเข้าใจการกระทำของบุคคลในประวัติศาสตร์ในลักษณะของเจตนาและแรงจูงใจ แบบที่เราใช้ทำความเข้าใจตัวละครในเรื่องเล่า อาจจะเป็นเพียงวิธีที่เราเคยชินแต่ไม่ใช่วิธีที่ควรใช้โดยอัตโนมัติ”

 

 

21. เลี้ยงให้รุ่ง (How Children Succeed)

Paul Tough เขียน, ดลพร รุจิรวงศ์ แปล

สำนักพิมพ์ openworlds

แนะนำโดย ธร ปีติดล

“จริงๆ ได้เล่มนี้มาตอนลูกเกิดไม่นาน (ตอนนี้ลูกสองขวบ) และก็อ่านมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ตอนแรกกะจะอ่านไว้เป็นความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก อ่านไปอ่านมาก็คิดว่าเอาไว้เลี้ยงตัวเองให้โตไปพร้อมๆ ลูกด้วยก็น่าจะดี หลายๆ เรื่องที่หนังสือเล่มนี้แนะนำไว้สำหรับการสร้างลักษณะนิสัยที่จะไปสู่ความสำเร็จ เช่น การมีทัศนคติที่รู้จักเรียนรู้ความผิดพลาดเพื่อการเติบโต คุณค่าของความอดทนมุมานะ จริงๆ เอาไว้เตือนตัวเองได้บ่อยกว่าเอาไว้สอนลูกอีก ใครที่อยากได้หนังสือดีๆ เป็นแนวทางการปรับปรุงชีวิตตัวเองหลังปีใหม่ก็ขอแนะนำเล่มนี้ ถึงไม่ต้องเป็นคนที่มีลูกก็น่าจะได้อะไรเยอะเลยจากเนื้อหาในเล่ม”

 

 

22. เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ

Yuval Noah Harari เขียน, นำชัย ชีววิวรรธน์ แปล

สำนักพิมพ์ ยิปซี

แนะนำโดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

“หนังสือที่ผมอยากแนะนำอาจไม่ใช่หนังสือใหม่มาก แต่เป็นหนังสือที่ผมเพิ่งเอากลับมาอ่านจนจบเมื่อไม่นานมานี้ และหลายคนอาจจะรู้จักและอ่านไปแล้ว แต่ก็อยากแนะนำอยู่ดี คือ Sapiens: A Brief History of Humankind หรือ เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ ของ Yuval Noah Harari เป็นหนังสือที่อ่านสนุกได้แง่คิด และกระตุ้นต่อมความคิดได้ดีทีเดียว หนังสือเล่าถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติว่า มนุษย์ที่เรารู้จักกัน หรือ Homo Sapiens เป็นใครกันแน่ กลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่ครองโลกได้อย่างไร และตั้งคำถามหลายด้านเกี่ยวกับมนุษย์ทั้งในแง่ชีววิทยา สังคมวิทยา การปกครอง และเศรษฐศาสตร์

แต่อ่านแล้วอาจจะทำให้เราได้คิดในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับตัวเรา​ โลกของเรา สังคมของเรา และอนาคตของมวลมนุษยชาติ อ่านจบแล้วก็อ่าน Homo Deus: A Brief History of Tomorrow ต่อได้เลยครับ”

 

 

23. The Model Thinker: What You Need to Know to Make Data Work for You

Scott E. Page เขียน

สำนักพิมพ์ Basic Books

แนะนำโดย พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม

“หากถามว่าเศรษฐศาสตร์คืออะไร ผมเชื่อว่าหลายคนคงตอบว่าเป็นวิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำจำกัดความยอดฮิตนี้แม้จะไม่ผิด แต่ขาดมิติหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งขององค์ความรู้วิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีวิวัฒนาการมากว่าสองร้อยปี นั่นคือมิติทางด้านความหลากหลายของแบบจำลองทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค

John Maynard Keynes เคยกล่าวไว้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือศาสตร์ในด้านการคิดเชิงแบบจำลอง ขณะเดียวกันก็เป็นศิลปะที่ผู้ใช้จำต้องรู้จักเลือกแบบจำลองที่มีหลากหลายมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่

ในโลกทุกวันนี้ที่ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เรามีข้อมูลรูปแบบใหม่ๆ ให้มาวิเคราะห์กันมากมาย (big data) การฝึกทักษะคิดเชิงแบบจำลองจะช่วยเสริมให้เราเข้าถึงปัญหาได้อย่างกระจ่างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น หนังสือที่ผมแนะนำอ่านเพื่อต้อนรับปี 2019 นี้มีชื่อว่า The Model Thinker: What You Need to Know to Make Data Work for You เขียนโดย Scott E. Page (Professor of Complex Systems, Political Science and Economics at the University of Michigan) หนังสือเล่มนี้จะนำพาท่านเข้าสู่โลกแห่ง ‘หลายแบบจำลอง’ (many model paradigm) ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างเท่าทัน

ขอให้ทุกท่านมีความเพลิดเพลินกับการอ่านครับ”

 

 

24. วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ

John Sutherland เขียน, สุรเดช โชติอุดมพันธ์ แปล

สำนักพิมพ์ bookscape

แนะนำโดย นรา

“A Little History of Literature (วรรณกรรม ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ) เป็นหนังสือในแบบที่ผมอยากอ่านและเสาะหามานาน ให้ภาพรวมกว้างๆ เกี่ยวกับอดีตความเป็นมาของวรรณกรรมชิ้นสำคัญทั่วโลกจากอดีตถึงปัจจุบัน เป็นงานวิชาการที่เขียนให้อ่านง่าย มีชีวิตชีวา และที่ผมชอบมากคือทัศนคติมุมมองความเห็นของผู้เขียน ซึ่งเปิดกว้างและมีท่าทีเป็นมิตร

หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ผมย้อนกลับไปอ่านวรรณกรรมคลาสสิคหลายๆ เล่มด้วยความรื่นรมย์และเพลิดเพลินเพิ่มมากขึ้นอีกเยอะเลยครับ”

 

 

25. Deng Xiaoping and the Transformation of China

Ezra Vogel เขียน

สำนักพิมพ์ Harvard University Press

แนะนำโดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“เดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2018 เป็นวาระที่จีนครบรอบ 40 ปี การเปิดและปฏิรูปประเทศ โดยบุคคลที่เป็นผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์การพัฒนาของจีนก็คือ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนต่อจากเหมาเจ๋อตง หนังสือชีวประวัติของเติ้งเสี่ยวผิงเล่มนี้เขียนโดย Ezra Vogel ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษาประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งท่านได้ทำการค้นคว้าวิจัยเอกสารต่างๆ อย่างละเอียด รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับเติ้งเสี่ยวผิงจำนวนมาก ทำให้นี่เป็นหนังสือที่มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับชีวิต ความคิด และแนวทางของเติ้งเสี่ยวผิงในการเปลี่ยนแปลงประเทศจีน เติ้งเสี่ยวผิงเป็นที่รู้จักในชื่อแมวเก้าชีวิต เพราะเป็นชีวิตที่ผันผวนและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ชวนให้เราทึ่งและฉุกคิดถึงศิลปะความเป็นผู้นำและศิลปะของการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

MOST READ

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

ความน่าจะอ่าน

27 Dec 2023

ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2024 โดยคอลัมนิสต์ 101

101 ชวนคอลัมนิสต์กว่า 30 คน ร่วมแนะนำหนังสือคนละเล่มแก่คุณผู้อ่าน ต้อนรับปี 2024 มีอะไรบ้าง ไปดูกันได้เลย !

กองบรรณาธิการ

27 Dec 2023

Projects

19 Aug 2020

ครูเปลี่ยน ศิษย์จึงเปลี่ยน : บทเรียนล้ำค่าจากโรงเรียนที่ถูกลืม

ธิติ มีแต้ม สำรวจบทเรียนระหว่างครูและนักเรียนในโรงเรียนชนบท ที่ต่างตกผลึกการเรียนรู้ร่วมกัน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีหวัง

ธิติ มีแต้ม

19 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save