fbpx
หายไปไหนมา ประชาธิปไตย ? : คุยกับ ศุ บุญเลี้ยง ว่าด้วย 'สิทธิ' และ 'เสียง' ที่หายไป

หายไปไหนมา ประชาธิปไตย ? : คุยกับ ศุ บุญเลี้ยง ว่าด้วย ‘สิทธิ’ และ ‘เสียง’ ที่หายไป

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล และ ภาวิณี คงฤทธิ์ เรื่อง

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ภาพ

“หายไปไหนมา ประชาธิปไตย แวบมาวูบไป หรือใครช่วงชิง

จากกันหลายปี ลี้ภัยพึ่งพิง รักเธอจริงๆ ขอทวงคืนมา…”

กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากกระแส ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ เริ่มหนาหูและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดกระแสความไม่พอใจของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งแสดงออกมาอย่างแพร่หลายในสื่อออนไลน์ ลามไปถึงการออกมารวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ

เพลง ‘ก๊อก ก๊อก ก๊อก’ ที่แต่งโดย ศุ บุญเลี้ยง นักเขียน บรรณาธิการ และหนึ่งในสมาชิกวง ‘เฉลียง’ ที่ก่อนหน้านี้เงียบหายจากวงการเพลงไปพักใหญ่ๆ ก็ถูกปล่อยออกมาในจังหวะอันเหมาะเจาะพอดี โดยมีเนื้อหาพูดถึงการกลับมาของประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ผ่านจังหวะดนตรีและท่วงทำนองสนุกสนาน ขับร้องโดยสามนักร้องสาววัยละอ่อน นำเสนอออกมาเป็นมิวสิควิดิโอที่ร้องไปเต้นไป น่ารักสดใสแบบวงเกิร์ลกรุ๊ปร่วมสมัย ขณะเดียวกันก็มีกลิ่นอายของ ‘สาว สาว สาว’ อยู่จางๆ สร้างทั้งความฮือฮาและน่าฉงนไปในเวลาเดียวกัน

ในโอกาสนี้ 101 จึงนัดหมายกับ ศุ บุญเลี้ยง เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปของเพลงนี้ และชวนคุยต่อถึงสังคมไทยในแบบที่เขาอยากเห็น

ที่ผ่านมา แม้จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นศิลปินในดวงใจของใครหลายคน แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่เขาจะออกมาแสดงทัศนะแบบยาวๆ ลึกๆ โดยเฉพาะมุมมองทางสังคมการเมือง ที่ไม่เคยออกตัวชัดว่ามีจุดยืนแบบใด (แต่ก็ไม่วายโดยแปะป้ายจากบางกลุ่ม)

วันดีคืนดีเมื่อเขาทำเพลงที่เล่นกับประเด็นการเมืองออกมา จึงเป็นที่น่าสนใจว่า มูลเหตุจูงใจของเขาคืออะไร รากฐานความคิดเกี่ยวกับสังคมการเมืองเป็นแบบไหน

ถัดจากนี้ คือบทสนทนาที่จะค่อยๆ คลี่คลายสิ่งที่หลายคนอาจสงสัย เป็นความในใจที่ ศุ บุญเลี้ยง ไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน

ศุ บุญเลี้ยง

ทำไมถึงเลือกนำเสนอเพลง ‘ก๊อก ก๊อก ก๊อก’ ออกมาในรูปแบบนี้ ที่มาที่ไปเป็นยังไง

ถ้าจะพูดไปตรงๆ ว่าทุกคนมีสิทธิมีเสียง ให้ออกมาเรียงหน้าเข้าคูหาเลือกตั้ง ก็คงไม่ใช่สไตล์เรา ก็นั่งหาเหลี่ยมว่าเอามุมไหนดีที่จะพูดเรื่องนี้ได้ บังเอิญว่า สาวสาวสาว กลับมารวมวงพอดี เราเลยนึกต่อไปว่า น่าจะใช้เป็นสัญลักษณ์ของ ‘การกลับมา’ คิดไปคิดมา เฮ้ย ดีว่ะ เคยหายไปแล้วกลับมา

ตอนแรกก็เลยแต่งว่า “สาวสาวสาวกลับมาขึ้นเวที วสันต์อัสนีก็ยังกลับมา…” ฉลง เฉลียง อะไรก็ว่าไปเรื่อย พวกวงเก่าๆ ทั้งหลาย แต่เขียนไปเขียนมา รู้สึกว่าอย่าไปยุ่งกับเขาดีกว่า เดี๋ยวจะซวย (หัวเราะ) ก็เลยปรับอีกที เป็น “ห่างเหินหายคล้ายกับวงดนตรี อยู่ดีดีก็หายหน้าหายตา ก๊อกก๊อกก๊อกกลับมาอีกครา…” นี่คือความรู้สึกแรกๆ ที่แต่งออกมา พอได้เหลี่ยมมุมแล้ว ส่วนที่เหลือมันก็ค่อยๆ ตามมา ประกอบหัวประกบท้ายจนครบ

ด้วยความที่ในหัวมันมีภาพอยู่ แทบจะเรียกว่าตอนแต่ง เราเห็นหน้าสาวสาวสาวร้องเลยด้วยซ้ำ พยายามนึกภาพปุ้ม แอม แหม่ม ร้องเพลงนี้ แต่พอแต่งเสร็จ รู้สึกว่ามันยากเกินไปที่จะไปชวนเขามาร้อง เราไม่มีกำลังขนาดนั้น ก็เลยลองพลิกกลับ ถ้ามันเป็นสาวสาวสาวของสมัยนี้ จะเป็นยังไง

พอพลิกปุ๊บก็ง่ายเลย ไล่หาลูกศิษย์ ลูกหลาน ที่ร้องเพลงได้ ซึ่งแต่ละคนที่ได้มา ก็เป็นเด็กที่มีพื้นฐานของการร้องเพลงอยู่แล้ว พอให้เขาเต้นด้วย เขาก็ดูสนุก รู้เลยว่าเรามาถูกทางแล้ว

MV ที่ทำออกมา ดูมีความร่วมสมัย เจาะกลุ่มวัยรุ่น อันนี้ก็เป็นความตั้งใจด้วยถูกไหม

ก็นึกถึงวงเกิร์ลกรุ๊ปยุคนี้เลย ตอนทำเสร็จ ส่งไปให้เพื่อนดู บางคนบอก โอ๊ย อยากไปเลือกตั้งเลย (หัวเราะ) เป้าแรกก็แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ แต่ก็แอบโลภ อยากไปให้ไกลกว่านั้น การเอาก๊อกก๊อกก๊อกมาใส่ เพราะคิดว่าน่าจะกระตุกความทรงจำ ความรู้สึก ของคนรุ่นก่อนๆ ได้ด้วย

อีกอย่างคือยุคนี้ เราเห็นว่ามันมีพลังของการเต้นด้วย เวลาเราเห็นนักร้องมันเต้นพร้อมๆ กัน สวยๆ แข็งแรง เฮ้ย มันมีพลังซ่อนอยู่ในนั้น เราคิดมาตลอดเลยว่า ทำไมไม่มีใครหยิบพลังเหล่านี้มาทำอะไรใหม่ๆ บ้าง ในเมื่อเพลงแบบนี้มันมีพลัง มีคนดู กดไลก์ กดแชร์มากขนาดนั้น ทำไมเราไม่ใส่ความคิดอะไรดีๆ เข้าไปบ้าง

แล้วความคิดที่ว่า อยากแต่งเพลงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประชาธิปไตย มีมาตั้งแต่ตอนไหน

ปลายปีที่แล้ว ที่บรรยากาศทุกอย่างมันเริ่มชัด ก็คือช่วงได้ยินว่าจะได้เลือกตั้ง 24 กุมภา เรายังเตรียมจองตั๋วเครื่องบินเลย เพราะต้องไปเลือกที่เชียงใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเตรียมนัดกับเพื่อนไว้แล้ว กลุ่มศิษย์สะดือ กะทิกะลา จะนัดรวมกันทุกปีตอนเดือนกุมภาฯ ทีนี้พอมีประกาศวันเลือกตั้งออกมา เราก็เลื่อนนัดเลย ดีที่ยังไม่ได้จอง ไม่งั้นเสียค่าตั๋วไปแล้ว (หัวเราะ)

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เราแต่งตอนที่มีข่าวว่าจะเลือกตั้ง ก็เลยต้องทำงานแข่งกับเวลา วางไว้ว่าอย่างน้อยควรจะเสร็จหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้ง ถ้าวันเลือกตั้งคือ 24 กุมภา วันที่ 14 มกราคม ควรจะทำเสร็จ วันที่ 15 เริ่มปล่อย มีเวลาหนึ่งเดือน โอ้โห สนุกแน่ๆ ปั๊บ! เลื่อน…

เฮ้ย พอเลื่อนแล้วเอาไงต่อวะ คิดไปคิดมา ยังไงเราก็ต้องปล่อย เพราะถ้าเราไม่ปล่อย เกิดล้มเลือกตั้งนี่คือจบเลย ใช้ไม่ได้เลย (หัวเราะ) ถ้าแค่เลื่อนนี่ยังใช้ได้ แต่คนจะเข้าใจผิด ว่าเราลุกขึ้นมาแต่งเพลงอยากเลือกตั้ง คนละประเด็นกัน ถ้าเราอยากเลือกตั้ง เราก็จะแต่งอีกอารมณ์นึง แต่อันนี้แต่งเพราะเขาประกาศให้เลือกตั้งไง ก็เลยร่าเริง เฮ้ย ไปกัน ชวนๆ กันไป วิ่งไป เต้นไป อารมณ์มันเป็นแบบนั้น

แล้วการนำเสนอประเด็นนี้ ด้วยโทนแบบนี้ รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ขัดกันมั้ย หรือเอาเข้าจริงแล้ว การเมืองอาจไม่ต้องซีเรียสจริงจังก็ได้

การเมืองควรถูกมองให้รอบด้าน เหมือนกับการพยาบาล การสาธารณสุข กระทั่งวัดหรือศาสนา

สังเกตว่าที่ผ่านมาเรามองไม่รอบด้านเท่าไหร่ ไม่ว่าเรื่องอะไร พอเรามองวัด เราก็มองแต่อะไรดีๆ เป็นเรื่องประเพณี เป็นเรื่องความดีงาม แต่ไม่มองว่าข้างหลังวัดมันก็มีพระที่สักลาย ขายยาบ้า เราไม่ค่อยจะมองกัน หรือเวลามองโรงพยาบาล เราก็มองแต่ความขาวสะอาด สดใส แต่ไม่ค่อยมองเรื่องงบประมาณ การจัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ

พอเรามองการเมือง เราก็มักมองเห็นแต่มุมที่หม่นหมอง แก่งแย่ง ขัดแย้ง แต่ถ้ามองให้รอบหน่อย มันต้องมีสิ่งดีๆ สมัยก่อนเวลาเราไปฟังเขาหาเสียง ที่วงเวียนใหญ่ โหย โคตรสนุก สนุกกว่าดูหนังอีก คนเต็มเลย ทำไมการไฮด์ปาร์คมันช่างสนุกออกรสชาติขนาดนั้น แล้วเราเรียนหนังสือพิมพ์มาด้วย เราเห็นข่าว เราอ่านข่าว เติบโตมาจากระบบการศึกษาที่มีการเมืองประกอบมาตลอด

เพื่อนเราหลายคนที่เข้าป่า ได้กลับมาเรียนในสถาบันอีกหน เพราะนโยบายทางการเมือง เราเห็นรุ่นพี่อดอาหารประท้วงค่ารถเมล์ จากบาทนึงขึ้นเป็นหกสลึง ยอมเอาชีวิตเข้าแลก มันยิ่งใหญ่นะ เรารู้สึกว่างานแบบนี้มันก็มีคุณค่า ส.ส. ดีๆ ก็มี คนที่เขาเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางข้อให้เรา เขาก็เหน็ดเหนื่อยนะ กว่าจะแก้แต่ละอย่าง คำถามคือทำไมเรามองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ เราเห็นแค่ว่าเขาหาเสียง เขาโกงกิน

แน่นอน ส.ส. เลวก็มี แต่หมอเลวก็มี พระชั่วก็มีไง อีกเรื่องที่ใกล้ตัวเราเองที่สุด คือการเป็นนักดนตรีที่ถูกมองว่าเต้นกินรำกิน สมัยก่อนพอคุณเริ่มเล่นกีต้าร์ พ่อแม่ก็จะแบบว่า เอาแล้วนะลูก ชักเอาใหญ่แล้วนะ ไปเล่นกีต้าร์หัวสะพาน มันจะไม่เรียนหนังสือ ดนตรีถูกมองเป็นเรื่องของคนที่ไม่มีอนาคตทางการศึกษา ซึ่งถ้าย้อนไปสมัยนั้น ถ้าศิลปินยุคนั้นไม่ช่วยกันทำให้ดนตรีเป็นเรื่องของปัญญาชน เป็นเรื่องของรสนิยม ถามว่าดนตรีมันจะเจริญงอกงาม หรือมีที่ทางอย่างทุกวันนี้ไหม

เรื่องการเมืองก็เหมือนกัน ยังไงมันก็ต้องมีข้อดี หรือสุดท้ายถ้ามันไม่ดี แม่งก็กระทบเราอยู่ดี

บางเรื่อง บางวงการ มันอาจไม่กระทบเราขนาดนั้น เช่น บางคนบอกว่าตอนนี้วงการฟุตบอลมันไม่ดี จะไปบอลโลกหรือไม่ไปบอลโลก ไม่เป็นไร จะไล่โค้ชออกไป เราไม่สนใจก็ได้ แต่การเมืองไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันไม่ยอมให้เราแยกออกมา ดังนั้นแม้ว่าเราจะมองว่ามันไม่ดีแค่ไหน เราก็ต้องสนใจ

ศุ บุญเลี้ยง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่สนใจการเมือง อาจเป็นเพราะการผลิตวาทกรรมนักการเมืองเลว การเมืองเป็นเรื่องสกปรก ซึ่งเห็นชัดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

เหมือนคนมาชี้ทุเรียน แล้วบอกว่าหนามมันแหลม ระวังตกใส่หัวนะมึง แข็งด้วย เหม็นด้วย เสร็จแล้วมันก็หิ้วไปปอกกินเฉยเลย (หัวเราะ) อารมณ์แบบนั้น ประเด็นคือมันต้องแยกสิ ใครไม่อยากกินไม่เป็นไร แต่อย่ามาบอกว่าทุเรียนมันเป็นสิ่งน่ากลัว ร้อนใน เหม็น

บางคนปากบอกว่าเหม็น แต่คุณก็แอบไปกินอยู่ดี

เออ! ไอ้คนพูดนั่นแหละ เอาไปกินซะเยอะเลย เราถึงต้องมาพูดถึงทุเรียนในหลายๆ มุม อย่างทุเรียนกวน ผมกินได้ ไม่ใช่มาบอกว่าทุเรียนไม่ดีอย่างเดียว ไม่อยากได้ยินความรู้สึกว่าการเมืองไม่ดี แต่ถ้าบอกว่าไม่ชอบนี่เข้าใจได้

คุณเคยพูดไว้ว่าการเมืองก็เหมือนปลา มีก้าง มีคาว แต่ถ้าเราคิดว่าปลามันมีประโยชน์ เราก็ควรเรียนรู้ที่จะจับมัน อยู่กับมัน อยากถามต่อว่าถ้าเป็นสไตล์คุณ คุณเป็นคนจับปลาแบบไหน

วันนี้เป็นทุเรียนไปแล้วว่ะ (หัวเราะ)

เราก็คงเป็นคนตกปลาที่ใจเย็นๆ ใช้เบ็ดธรรมดานี่แหละ นั่งรอไป แล้วก็ให้โอกาสปลา หรือถ้ามันเป็นฤดูวางไข่ จะปิดอ่าว ก็เข้าใจได้ รอได้

แล้วถ้าต้องเย่อกับปลาล่ะ

เราไม่ค่อยมีคิวบู๊เท่าไหร่ อันนี้อาจเป็นจุดอ่อนเหมือนกัน เวลาเรามองเห็นสังคมที่มันแย่ๆ เราจะแต่งเพลงไม่ออก ไม่ใช่ไม่อยากแต่งนะ เห็นกองขยะที่สมุยแล้วแบบ โอ้โห เป็นกองเลย เป็นภูเขาขยะ แต่งไม่ออก ชาวบ้านขอเลยนะ บอกว่าแต่งให้หน่อย เดี๋ยวงานประชุม อสม. จะเอาเพลงนี้ไปใช้ แต่งตัวด้วยถุงขยะไปเต้น แต่เราแต่งไม่ได้ เอาความเศร้ามาสร้างงานไม่ค่อยได้ ทั้งที่ควรจะทำได้ ไม่ว่าจะอารมณ์ดีหรืออารมณ์ไม่ดี

อย่างเพลง ‘ก๊อก ก๊อก ก๊อก’ พูดได้ไหมว่าตั้งต้นจากความสุข จากบรรยากาศที่ดี มากกว่าบรรยากาศที่อึดอัด

ใช่ รู้สึกอย่างนั้นเลย เพราะตอนแต่งบรรยากาศก็เป็นแบบนั้นจริงๆ แต่พอถึงตอนนี้ บรรยากาศเป็นแบบนี้ ยังคิดอยู่เลยว่าถ้าต้องแต่งอีก จะแต่งได้ไหมเนี่ย

เราเป็นคนประเภทที่ว่า ถ้ามีอะไรที่คนอื่นทำได้ ทำไว้ดีแล้ว จะไม่อยากทำซ้ำกับเขา ถ้าจะทำเราต้องหาร่องใหม่ อย่างแบบก๊อกก๊อกก๊อกนี่ยังไม่มี งั้นเอาแบบนี้ละกัน

แล้วเวลาจะแสดงออกทางการเมืองบางอย่าง คุณวางท่าทีตัวเองยังไง แคร์ภาพลักษณ์แค่ไหน

วิธีคิดของเราคือไม่จำเป็นต้องกลางหรอก แต่บังเอิญ มันไม่มีสีให้เราเข้าไปกลมกลืนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็เลยไม่อยากเลือก

จริงๆ การเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ที่ชัดเจน การได้เป็นคนเล็กๆ ในองค์กรที่ใหญ่ ก็น่าจะเป็นความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์เหมือนกันนะ

ถามว่าเอียงไหม เราก็เอียงไปทางคนที่เสียเปรียบ ที่เขาถูกลิดรอน ถ้าชาวบ้านโดนระราน หรือทำโรงไฟฟ้าแบบไม่รอบคอบ เราก็เอียง ถ้าทหารเกณฑ์ถูกลิดรอนสิทธิ เราก็ต้องเอียง ต้องเอนไปในทางที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

นึกถึงคำที่คุณเคยเขียนไว้ว่า “ไม่อยากเป็นคนกลางที่กลวง” เหมือนว่าชอบบางอย่างของฝั่งนี้ แต่ก็รู้สึกดีกับบางเรื่องของอีกฝั่ง ไม่ใช่ว่าพอฉันบอกว่าชอบสิ่งนี้ แปลว่าฉันอยู่ฝั่งนี้ทันที

ใช่ มันคือการผลักให้คนไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไร อย่างสมัยที่ยังเป็นนิสิตจุฬาฯ แค่เราไม่ใส่เข็มขัดตราพระเกี้ยว ก็มีคนหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมันไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ขนาดนั้น

อย่างที่บอกว่าเราชอบ เวลามีม็อบออกมา เราชอบบรรยากาศของการไฮด์ปาร์ค เราเคยเห็นตัวอย่างของเกาหลี ช่วงที่เรายังเป็นวัยรุ่น เริ่มหัดดูข่าว เปิดมาทีไร ก็เห็นข่าวว่าเกาหลีมันประท้วงกันอีกแล้ว เราก็นึกในใจ ประเทศนี้คงแย่แน่ พอผ่านไปสักระยะ อ้าว ทำไมมันเจริญวะ (หัวเราะ)

จนวันนึงเราได้ไปเกาหลี ช่วงที่จัดฟุตบอลโลก เราก็ไปคุยกับไกด์ เขาบอก เดี๋ยวคอยดูนะ พวกคนไทยที่มาทัวร์เดียวกันกับคุณเนี่ย สักพักเดี๋ยวก็หายไป หมายความว่าติดมาทัวร์ แล้วหนี ซึ่งเขาก็บอกว่ามันไม่มีประโยขน์ที่จะไปตามจับ เราก็ถามต่อว่า แล้วจะแก้ปัญหานี้ยังไง เขาก็บอกว่าทำให้ประเทศคุณเจริญสิ

อย่างเมื่อก่อน คนเกาหลีหนีไปญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้ไม่ต้องหนีแล้ว เพราะประเทศเจริญแล้ว เราก็ถามต่อ แล้วทำยังไงให้เจริญ เขาก็บอกว่าเพราะค่าแรงมันดี คนไทยก็เลยอยากมาเป็นแรงงานที่เกาหลี เราก็ถามต่อว่า แล้วทำไมค่าแรงถึงดี เขาตอบว่าเพราะเราเรียกร้อง กระทั่งต้องเผาตัวเองมาก่อน เผามาหลายสิบคนด้วย กว่าจะได้ค่าแรงเท่านี้

แสดงว่าการที่เขาประท้วง สุดท้ายมันไม่ได้ทำให้บ้านเมืองเขาแย่นะ มันทำให้บ้านเมืองเขาพัฒนา ฉะนั้นเวลาที่บ้านเรามีม็อบออกมา เรารู้สึกว่ามันเป็นสีสัน แต่ถ้าเกิดว่ามันรุนแรงเนี่ย เรากลัว เราชอบความขัดแย้ง แต่ไม่ชอบความรุนแรง เราชอบดูโต้วาที ชอบดูการเถียงกันในสภา ชอบไปจัดค่ายแล้วตอนกลางคืนก็มานั่งเถียงกัน ตกลงเราต้มถั่วเขียวให้น้องกินทำไมวะ เราเอาถั่วเขียวมาต้มกินกันเองดีกว่าไหม (หัวเราะ) เถียงกันเป็นเรื่องราว ใครเบื่ออยากนอน ก็นอนไป แต่เราชอบ พื้นฐานเราเป็นอย่างนั้น

แต่สมมติถ้าเดินผ่านป้ายรถเมล์ แล้วโดนจิ๊กโก๋ทัก เราเข่าอ่อน เรากลัว ไหว้ได้ไหว้ วิ่งได้วิ่งเลย

ศุ บุญเลี้ยง

สามารถใช้คำว่า อยู่ใน safe zone ได้มั้ย

(นิ่งคิด) ต้องถอยไปดูบริบทสังคมด้วยนะ เพราะเวลาพูดถึงอำนาจ มันไม่ได้มีแต่ คสช. อย่างเดียว

บางคนบอกให้เราแสดงจุดยืน แต่ถ้าเราแสดงออกมาจริงๆ ไม่รู้ว่าเราจะยืนอยู่ในประเทศนี้ได้มั้ย (หัวเราะ) เดี๋ยวก็โดนไล่ให้ออกไปนอกประเทศอีก เมืองไทยมันไม่ปลอดภัยพอที่เราจะแสดงทัศนะอย่างที่เราคิดหรือรู้สึกจริงๆ ได้ ถ้าในแง่นี้ ถามว่าเราต้องการ safe zone มั้ย เราต้องการนะ แต่ไม่ใช่ว่าเรางอมืองอเท้า ไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง มีคำพระที่บอกว่า อุเบกขา คือ วางเฉย ไม่ใช่เฉยเมย

เราติดตามสถานการณ์ เราทำอะไรได้เราทำ ช่วยอะไรได้เราช่วย แต่อย่ามาบีบบังคับเราให้แสดงหรือพูดอะไรที่อยู่ในสมองทั้งหมดออกมา เอาง่ายๆ ว่า ถ้าแสดงออกมาหมด แค่จุฬาฯ เราก็อยู่ไม่ได้ ไปสมุยก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าเราเป็นกบฏ ฉะนั้นเราพูดสิ่งที่คิดทั้งหมดไม่ได้หรอก คนจะรับไม่ได้ แค่ในหมู่บ้านก็อยู่ไม่ได้แล้ว

 

การเป็นนักร้อง เป็นคนมีชื่อเสียง ยิ่งทำให้มีต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นด้วยรึเปล่า

ในแง่หนึ่งก็ง่าย เช่น ถ้าเราทำอะไร หรือพูดอะไร เสียงของเราจะมีพลัง ซึ่งพอพูดการใช้สิทธิ์ใช้เสียง เราก็มานึกต่อไปว่า ทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่านั้นตอนไปเลือกตั้ง แต่อย่างเรา บังเอิญว่าเรามีเสียงเพลงอยู่ด้วย มีเสียงร้องอยู่ด้วย มีเสียงของงานศิลปะที่จะส่งแรงกระเทือนต่อไปได้ด้วย

ฉะนั้นเราก็สามารถใช้เสียงที่เรามีมากกว่าคนอื่น ในการทำหน้าที่อื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นแง่ดี เราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เรามีชื่อเสียงพอที่จะส่งแรงกระเพื่อมได้เยอะ

สมมติถ้ามีคนเดือดร้อน เราอยากช่วยนะ แต่ก็ไม่อยากช่วยจนตัวเองต้องเดือดร้อน เราไม่เฉยนะ ถ้าเห็นว่ามีคนมากระชากสร้อยอยู่ต่อหน้าต่อตา เราจะมองแล้วว่ามันวิ่งไปทางไหน ใส่เสื้ออะไร เดี๋ยวเราจะเอาเบาะแสไปโทรแจ้งตำรวจให้ แต่เราไม่วิ่งตามไปจับมันแน่ๆ เพราะทองที่ฉกไปนี่ ยังไม่รู้ว่าของจริงมั้ย แต่ส่วนใหญ่มีดจะจริง (หัวเราะ) ไม่ได้แปลว่าการที่เราไม่ช่วยจับขโมย ณ ตอนนั้นเลย แปลว่าเราเฉยเมย

อย่างเวลาคนตกน้ำ ทำไมเขาถึงบอกว่าอย่าเพิ่งรีบโดดลงไปช่วย แต่คุณหาไม้มายื่น หาวิธีช่วยอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ว่าผลักคนทุกคนให้โดดลงน้ำกันหมด

อยากทราบเรื่องบทบาทในวงเฉลียง ได้แลกเปลี่ยนทัศนะความคิดทางการเมืองกันมั้ย เพราะท่าทีและการแสดงออกของสมาชิกแต่ละคน ก็ดูไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่ 

ข้อดีของเฉลียงคือ ถ้าจะต้องทำงานด้วยกัน เราทำงานกันได้ เรายังเคยคิดว่าอยากเขียนเรื่องประชาธิปไตยในวงเฉลียงด้วยนะ เพราะมันเป็นตัวแทนของความหลากหลาย การอยู่ร่วมกันโดยที่แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน เราว่ามันน่าสนใจ

แต่ช่วงหลังๆ ที่ไม่ได้ทำเนี่ย ไม่เกี่ยวกับเรื่องความคิดทางการเมืองเลย แต่เกี่ยวกับความขี้เกียจ (หัวเราะ) อีกเรื่องก็คือความอ่อนไหวของเราเอง จิตใจเราอ่อนไหวมาก เวลาเราไปทำงานกันแล้วเกิดมีปากเสียงกัน หมายถึงปากเสียงในกระบวนการทำงาน พอเรากลับมาบ้านแล้วเราไม่สบายใจ คนนั้นก็พี่ คนนี้ก็เพื่อน คนนั้นก็น้อง ช่วงหลังเลยรู้สึกว่า เรานัดกินข้าวต้มกันดีกว่า อย่าทำงานกันเลย

ถ้ามองในมุมประชาธิปไตยนี่ดีมากเลย สิ่งสำคัญคือมันเคารพเสียงส่วนน้อย สมมติถ้าเราไม่อยากทำ ไม่อยากเล่น แล้วเสียงส่วนใหญ่บอกว่าจะเล่น เขาทำอะไรเราไม่ได้ บังคับเราไม่ได้ แต่ถ้าตกลงว่าจะทำแล้ว คุณต้องยอมรับกติกา เช่น ถ้าเขาชวนไปเล่น เรามีสิทธิ์เต็มที่เลยที่จะไม่เล่น แต่ถ้าเราตกลงว่าเล่น ก็จะมีกติกาของมัน คุณต้องทำอย่างนี้นะ หนึ่ง สอง สาม ซึ่งเราก็ต้องยอมทำตามกติกานั้น แม้ว่าเราอาจจะไม่ชอบเท่าไหร่ ฉะนั้นเราจะตัดสินใจให้ดีก่อน ว่าจะเล่นมั้ย ซึ่งตอนนี้เราตัดสินใจว่าไม่เล่น

ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร

ว่า! (หัวเราะ) แต่บังคับเราไม่ได้ อยากว่าก็ว่าไป จะน้อยใจหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่บังคับเราไม่ได้ ไม่ใช่ว่า เฮ้ย ตอนนี้ตกลงกันครบ 5 คนแล้ว เหลือเอ็งคนเดียว เอ็งต้องมา ไม่ใช่ เสียงส่วนมากทำอะไรไม่ได้

ศุ บุญเลี้ยง

ถ้าให้ลองวิจารณ์เพลงที่พลเอกประยุทธ์แต่งบ้าง คุณคิดว่าเป็นยังไง

สิ่งที่ท่านเขียน มันเป็นการเขียนถ้อยคำ แล้วคนอื่นเอามาทำเป็นเพลง หัวใจของเพลงคือทำนอง สิ่งที่ไม่มีทำนองไม่เรียกว่าเพลง ฉะนั้นสิ่งที่พลเอกประยุทธ์เขียนยังไม่ใช่เพลง เพราะมันยังไม่มีทำนอง ท่านเป็นคนเขียนเนื้อ ซึ่งเรามองว่ามันไม่ยากอะไร แล้วโดยขั้นตอน อาจยังไม่เรียกว่านักแต่งเพลงได้เต็มปาก สมาคมนักแต่งเพลงน่าจะยังไม่ยอมรับ (หัวเราะ)

ถ้ามองให้ลึกลงไป ก็ต้องมองว่าเป็นคนมีรสนิยมทางศิลปะอยู่บ้าง ไม่งั้นคงไม่ออกซิงเกิ้ลมาขนาดนี้หรอก เพราะมันก็ไม่ใช่หน้าที่ ลึกๆ แล้วเขาก็คงเป็นคนชอบร้องเพลง ชอบเสียงเพลง โตมากับเพลง คงชอบร้องคาราโอเกะอยู่บ้าง

 

แล้วเรื่องอื่นๆ ล่ะ หลังจาก คสช. ปกครองบ้านเมืองมาเกือบ 5 ปี มีอะไรแนะนำพลเอกประยุทธ์ไหม

ถ้ามองในแง่การสื่อสาร เขาก็คงพยายามสร้างแบรนด์ของเขา เหมือนคุณไปกินก๋วยเตี๋ยวแล้วเจ้าของร้านดุ แต่ลูกค้าก็ยังกิน น่าจะเป็นอารมณ์แบบนั้น

ถ้าจะให้แนะนำอะไร อยากแนะนำให้พูดน้อยๆ โอเค ถึงคุณจะดุ แต่คุณไม่ต้องพูดเยอะก็ได้ ยิ่งพูดน้อยยิ่งดี

ในแง่นักปกครอง ในแง่คนที่คุมอำนาจ มันไม่ได้มีความจำเป็นต้องพูดเยอะ คุณมีคนพูดแทนได้เยอะแยะ โฆษกก็มี อะไรก็มี ก็ตั้งๆ ไปสิ พูดน้อยๆ คมๆ อยากให้ลองไปดู ted talk บ้าง (หัวเราะ)

ถ้าให้มองการเลือกตั้งครั้งนี้ จากที่คุณสังเกตบรรยากาศช่วงที่ผ่านมา พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มเปิดตัว เห็นอะไรที่น่าสนใจไหม

สิ่งที่ชอบคือความหลากหลาย มีพรรคที่อนุรักษ์มาก มีพรรคที่ใหม่มาก มีพรรคที่เป็นกลุ่มทุน โดยรวมมันวาไรตี้ดี เวลาเห็นแต่ละพรรคออกมา เออ พรรคนี้เราก็อยากฟัง พรรคนั้นก็อยากฟัง แต่เราจะไม่ชอบอะไรที่ซ้ำๆ หรือกลางๆ

อีกอย่างที่เห็นคือ ยุคนี้เริ่มมีการใช้สื่อค่อนข้างหลากหลาย มีโผล่มาให้เห็นในหน้าเฟซบุ๊ก มีการทำคลิปออกมา ทำให้เราสามารถติดตามคนที่เราสนใจได้ง่ายขึ้น อย่างเมื่อก่อนเราต้องไปวงเวียนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว เราคลิกดูได้เลย เฮ้ย คนนี้ใหม่ดี คนนี้เก่า คนนี้เก๋า ส่วนคนนั้นโกง เออ เดี๋ยวดูซิว่ามันจะพูดยังไงวะ

เราว่าตอนนี้สื่อมันเริ่มเปิดพื้นที่ใหม่ๆ แล้วทุกคนก็ช่วงชิง นำมาใช้ ส่วนคนรับสารก็ไม่จำเป็นต้องออกไปไหนไกล แล้วเราเป็นคนมีความหวัง ก็หวังข้ามช็อตไปเลยว่า หลังเลือกตั้ง พวกที่อยากทำธุรกิจ ก็คงกล้าทำกันมากขึ้น แวดวงหนัง ดนตรี น่าจะคึกคักขึ้น ไม่รู้ว่ามองโลกสวยไปรึเปล่า แต่คิดว่าบรรยากาศหลังเลือกตั้งน่าจะสดใสขึ้น ไม่ได้แปลว่าจะพ้นจากอำนาจเดิมหรือรากฐานบางอย่างที่เขาวางเอาไว้ แต่เราว่าสุดท้าย อะไรมันก็เกิดขึ้นได้

แน่นอนว่าคนที่เขามีอำนาจ ก็คงเลี่ยงไม่ได้หรอกที่เขาจะใช้อำนาจ แต่ขอให้เป็นอำนาจที่เปิดเผยหน่อย ว่าคุณชื่อนี้ นามสกุลนี้ ใช้อำนาจนี้ ในวันที่เท่านี้ เราจะได้รู้ไว้ อย่าง ป.ป.ช. ที่เป็นคนตรวจเรื่องนาฬิกา ก็มีชื่อออกมาชัดว่าเป็นใคร ให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่าน เราก็จำไว้ อ๋อ ชื่อนี้ ทำอย่างนี้นะ

แม้กติกาตอนนี้ จะดูเป็นกติกาที่ไม่อารยะเท่าไหร่ แต่แง่หนึ่งเราก็ชื่นชมพวกนักการเมือง พรรคต่างๆ ที่เขากล้าลงมาเล่นในเกมนี้ เหมือนลงไปเตะบอลแล้วให้ล็อคตัว เอาหัวโขกกันได้ ไม่ฟาวล์ เออ เขาก็ยังลงไปเล่น แต่ถ้าเป็นเรา เราจะแอบรู้สึกว่าไปร่างกติกาให้ดีๆ ก่อนมั้ย ค่อยชวนเราไปเตะบอล (หัวเราะ)

ช่วงที่ผ่านมา หลายพื้นที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น คุณมองเรื่องนี้ยังไง ควรแก้ปัญหาจากตรงไหน

อาจเรียกว่าเป็นวิบากกรรมหมู่ ที่ต้องรับไปด้วยกัน แน่นอน มันต้องแก้แหละ เพราะสุดท้ายความอดทนของคนก็มีลิมิต เอาง่ายๆ ว่าถ้ามันมาถึงหน้าบ้านเรา เราก็ต้องถามตัวเองว่า เฮ้ย จุ้ย นายยังจำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ อยู่มั้ย ถ้าจำเป็น นายก็ต้องทนนะ แต่ถ้าไม่จำเป็น ก็หนีไปไกลๆ ดีกว่า แต่เราเคยอยู่เชียงใหม่ด้วยไง ซึ่งมีหมอกควัน เราก็ต้องหนีเหมือนกัน

ถ้าถามว่าทำยังไง ระยะยาวก็ต้องแก้ที่เหตุ ไม่ควรหนี ต้องมีคนแก้ปัญหา แล้วคนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ดี ก็คือนักการเมืองนั่นแหละ เพราะการจะแก้ได้ มันต้องมาจากนโยบาย มันไม่ใช่เรื่องความเสียสละส่วนบุคคล เช่น ให้พี่ตูนวิ่งก็คงแก้ไม่ได้ วิธีแก้ปัญหาระดับชาติ จะใช้จิตสำนึกสาธารณะไม่ได้ มันต้องเป็นนโยบายที่ออกมา

ก็ถือเป็นโอกาสที่น่าจะสอบถาม ดูซิว่าพวกที่ลงสมัคร ส.ส. จะมีนโยบายแก้เรื่องนี้ยังไง เพราะปัญหานี้ยังไงก็ต้องเจออีกแน่ๆ เห็นมั้ยว่าแม้แต่อากาศ ก็เกี่ยวกับการเมือง ฉะนั้นเวลาคนบอกว่าไม่อยากสนใจการเมือง ถ้าคุณไม่สนใจอากาศได้ คุณก็ไม่ต้องสนใจการเมือง.

ศุ บุญเลี้ยง


มิวสิควิดีโอ เพลง ‘ก๊อก ก๊อก ก๊อก’

YouTube video

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save