fbpx
ชาติคือประชาชน

ชาติคือประชาชน

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

 

ลองทายกันเล่นๆ ไหมครับว่าในประเทศไทยมีคนพูดภาษาต่างๆ กันอยู่กี่ภาษา? ผมลองถามคำถามนี้กับนักเรียน คำตอบที่ได้คล้ายๆ กัน สี่บ้าง ห้าบ้าง ภาษากลาง เหนือ อีสาน ใต้ หลายคนตอบแบบนั้น (อย่าเพิ่งอ่านย่อหน้าถัดไปนะครับ อยากให้ทุกท่านลองทายกันก่อน)

ถ้าอ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมไว้ในเว็บไซต์ Ethnologue ฐานข้อมูลงานวิจัยด้านภาษาศาสตร์ชั้นนำของโลกจะพบว่าในประเทศเรามีภาษาใช้กันถึง 71 ภาษา ประกอบด้วยตระกูลภาษาหลักๆ คือไท-กะได ออสโตรเอเชียติก ออสโตรนีเชียน ซิโน-ทิเบตัน รวมถึงม้ง-เมี่ยน ซึ่งล้วนแต่เป็นตระกูลภาษาหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย ภาษาไทยมาตรฐาน (ไทยกลาง) ที่เราพูด เขียน และอ่านกันอยู่นี้จัดเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาใหญ่ที่ชื่อว่าไท-กะได ในตระกูลภาษานี้ยังประกอบด้วยภาษาย่อยอื่นๆ อีกมาก อาทิ อีสาน ไทดำ ลื้อ พวน คำเมือง คำตี่ อ่ายตน จ้วง ฯลฯ เรามักเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในตระกูลนี้รวมๆ ว่าคนไท-กะได และคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ทั้งในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม รวมถึงไทยในปัจจุบัน

ดังนั้นคนที่ถือสัญชาติ ‘ไทย’ ในประเทศไทยทุกวันนี้จึงอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคน ‘ไท’ ขณะเดียวกันคน ‘ไท’ ก็อาจไม่จำเป็นต้องเป็นคน ‘ไทย’ เลยก็ได้

หลายคนที่ไม่ตระหนักถึงนัยที่ต่างกันระหว่าง ‘ไท’ กับ ‘ไทย’ จึงมักประหลาดใจเมื่อได้รู้ว่ามีคนพูดภาษาคล้ายๆ กับเราอยู่นอกประเทศไทยด้วย ยิ่งกว่านั้น หลายคนยังมักทึกทักว่าบรรพบุรุษของตัวเองเป็นคนไทยเอาไว้ก่อน แต่พอถูกถามลึกๆ เข้าก็อึกอัก เพราะเป็น ‘ไท’ อะไรก็ไม่รู้ ไทจริงไหมก็ไม่รู้ ไทแค่ไหนก็ไม่รู้ ตอบไม่ได้

ผมเคยลองถามนักเรียนเล่นๆ ว่าใครบ้างที่มีบรรพบุรุษเป็นคนจีน เกือบครึ่งหนึ่งของแต่ละห้องยกมือรับ ผมจึงถามคนที่นั่งเฉยๆ ว่าแล้วบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นคนที่ไหน นักเรียนที่มาจากต่างภูมิภาคส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นคนไทย ผมถามต่อว่าหมายถึง ‘ไท’ ไหน? ปรากฏว่าน้อยคนที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างเสียงดังฟังชัด

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ผมคิดว่าคำตอบส่วนหนึ่งอยู่ในงานเขียนเมื่อสองศตวรรษที่แล้วของแอร์เนสต์ เรอนอง (Ernest Renan, 1823-1892) นักปรัชญาและนักนิรุกติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

ใน ชาติคืออะไร (Qu’est-ce qu’une nation?, 1882) เรอนองชี้ให้เห็นว่า ‘ชาติ’ เป็นแนวคิดที่ใหม่มากแม้กระทั่งในโลกศตวรรษที่ 19 “โลกยุคโบราณไม่รู้จักชาติ อียิปต์ จีน หรือคาลเดียโบราณไม่ใช่ชาติ […] โลกยุคโบราณมีสาธารณรัฐ ราชอาณาจักร สาธารณรัฐที่มารวมกลุ่มกันเป็นสมาพันธ์ จักรวรรดิ แต่ไม่มีชาติในความหมายแบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้” (20)

รัฐโบราณเหล่านั้นอาจประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ปะปนกัน รัฐที่ใหญ่โตอย่างจักรวรรดิโรมันเคยแผ่ขยายอำนาจออกไปตั้งแต่ตะวันออกกลางจนถึงเกาะอังกฤษ กินพื้นที่อิทธิพลกว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบคร่าวๆ คือใหญ่กว่าประเทศไทยในปัจจุบันเกือบ 10 เท่า แต่กระทั่งในจักรวรรดิที่กว้างใหญ่ไพศาลและทรงอำนาจก็ยังไม่ได้มี ‘ชาติ’ เช่นที่เรารู้จักในทุกวันนี้ เพราะยังขาดองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง อาทิ ความเป็นเอกภาพหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การหลอมรวมผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมด้วยสถาบันที่เป็นศูนย์กลางของความเป็นชาติ และการสร้างความรู้สึกรักในแผ่นดินเกิด

สำหรับเรอนอง ชาติแบบที่เรารู้จักถือกำเนิดได้ด้วยการสร้างความเป็นเอกภาพให้กับกลุ่มคนที่แต่เดิมไร้เอกภาพ ผ่านกระบวนการสำคัญคือการ ‘จำให้ได้’ และการ ‘ลืมให้เป็น’ กล่าวคือ จำว่าเรามีอะไรเหมือนกันบ้าง และลืมว่าในอดีตเราแตกต่างกันอย่างไร

“สารัตถะของความเป็นชาตินั้นอยู่ตรงที่สมาชิกแต่ละคนมีหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกันและในขณะเดียวกันก็ลืมหลายสิ่งหลายอย่างไป ไม่มีพลเมืองชาวฝรั่งเศสคนไหนรู้ว่าตัวเองเป็นชาวบัวร์กุนด์ ชาวอแลง ชาวไตฟาล่า หรือชาววิสิกอธกันแน่ พลเมืองชาวฝรั่งเศสทุกคนต่างก็ลืมการสังหารหมู่ในวันนักบุญบาร์โธโลมิวหรือการสังหารหมู่ที่มิดิในศตวรรษที่สิบสามไปหมดแล้ว มีตระกูลในฝรั่งเศสไม่ถึงสิบตระกูลที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่ามีเชื้อสายต้นกำเนิดมาจากพวกฟรังค์ กระทั่งหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่ว่านั้นก็อาจผิดพลาดได้ เพราะยังมีการดองหรือเชื่อมสัมพันธ์อีกนับครั้งไม่ถ้วนที่เราไม่มีทางรู้ ซึ่งสร้างปัญหาใหญ่หลวงให้แก่ระบบการสืบสาแหรกทุกๆ ระบบ” (29)

การลืมรากเหง้าและบรรพบุรุษที่แท้จริงของตัวเองจึง “เป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการสร้างชาติ” (27) การเป็น ‘ไท’ ไหนจึงไม่สำคัญนัก ไม่ต้องรู้ก็ได้ ลืมไปก็ได้ ไม่ต้องเป็น ‘ไท’ ก็ยังได้ ตราบเท่าที่เราสำนึกว่าตัวเองเป็น ‘ไทย’

ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะความเป็นชาติไม่ได้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ เชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซ้ำคนในชาติเดียวกันยังไม่จำเป็นต้องผูกพันกันทางสายเลือด

เรอนองเสนอว่าความเป็นเอกภาพของชาติเกิดขึ้นได้ก็เพราะชาติเป็นหลักการทางจิตวิญญาณมากกว่าอย่างอื่น

เขาอธิบายว่าชาติไม่ใช่เพียงเรื่องของราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่ง เพราะมีหลายชาติที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีราชวงศ์ เช่น สหรัฐอเมริกาและสวิสเซอร์แลนด์ ขณะที่หลายชาติยังคงความเป็นชาติไว้ได้แม้ราชวงศ์จะเสื่อมสลายลงไปแล้ว เช่นกรณีของฝรั่งเศส

ชาติยังไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติด้วย เพราะ “ประเทศที่ทรงเกียรติที่สุดอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี คือประเทศที่สายเลือดของผู้คนในประเทศผสมปนกันมากที่สุด แล้วเยอรมนีนับเป็นกรณียกเว้นไหม มีประเทศที่เป็นของชาวเยอรมันแท้ๆ อยู่ด้วยเหรอ เหลวไหลทั้งเพ!” (38) เขามองว่า

“จักรวรรดิที่เริ่มก่อตั้งขึ้นจากการใช้ความรุนแรงแต่คงรักษาไว้ได้ด้วยการมีผลประโยชน์ร่วมกันแห่งนี้ [จักรวรรดิโรมัน] เป็นสิ่งที่ตีแสกหน้าแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ เพราะมันเป็นที่รวมของนครและแว่นแคว้นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง […] ฝรั่งเศสมีทั้งคนที่มีเชื้อสายเคลต์ ไอบีเรียน และเยอรมัน เยอรมนีมีชาวเยอรมัน เคลต์ และสลาฟ อิตาลีเป็นประเทศที่ข้ออ้างเรื่องชาติพันธุ์เอามาใช้ไม่ได้เลย ประเทศนี้มีทั้งกอล เอทรัสกัน เปลาสเกี้ยน กรีก และกลุ่มอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน” (36-38)

นอกจากนี้ เรอนองยังวิจารณ์ว่า “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเชื้อชาติบริสุทธิ์” เว้นแต่เราจะหลอกตัวเองว่าบรรพบุรุษของชาติเรายังคงธรรมเนียมสืบสายเลือดเฉพาะกับคนในกลุ่มเล็กๆ ของตัวเองมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานเท่าที่จะสืบย้อนกลับไปได้ โดยไม่ปะปนกับคนกลุ่มอื่นหรือข้ามสายพันธุ์กับมนุษย์กลุ่มอื่นที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกันเลยแม้แต่น้อย

ความรู้ทางชีววิทยาในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่ากระทั่งการแบ่งแยกระหว่างอารยันกับดราวิเดียนที่เราร่ำเรียนกันมาแต่เด็กก็อาจเป็นเพียงตำนานที่แต่งเติมต่อๆ กันมากกว่าจะเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้ในทางพันธุศาสตร์

แม้แต่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันก็ไม่ได้มีแต่คนชาติพันธุ์ ‘ไท’ อาศัยอยู่ ยังไม่นับว่าเรากำลังพูดถึงไทกลุ่มไหนอยู่ด้วย

ย้อนกลับไปในอดีต ผู้นำรัฐของคนไท(ย) อาจไม่จำเป็นต้องเป็น ‘ไทแท้’ เลยก็ได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีดูมีแนวโน้มจะเป็นจีนมากกว่าเป็นไท ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชมารดาเป็นธิดาของคหบดีจีน ส่วนพระราชบิดาสืบเชื้อสายจากขุนนางมอญสมัยอยุธยา

งานวิจัยคลาสสิกของจอร์จ วิลเลียม สกินเนอร์ (George William Skinner, 1925-2008) ประมาณการคร่าวๆ ว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวจีนในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด และมีคนจีนมากมายในช่วงเวลานี้ที่ต่อมากลายเป็นบรรพบุรุษของคนไทยในปัจจุบัน

ตรงนี้เองที่ทำให้การพูดภาษาเดียวกันอาจเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากกว่าในการสร้างความรู้สึกของการเป็นชาติเดียวกัน โดยเฉพาะในกรณีของบางชาติที่ประกอบกันขึ้นโดยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันอย่างยิ่งในแง่ภาษาและวัฒนธรรม เช่น ชาติไทย

ชาร์ลส์ คายส์ (Charles Keyes, 1937- ) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันเคยรวบรวมข้อมูลที่ประเมินว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผู้คนที่อยู่ใต้อิทธิพลของรัฐกรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่มีพรมแดนแน่นอนเหมือนที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ พูดภาษาไทย (กลาง) อยู่ราวร้อยละ 15 ขณะที่พูดภาษาลาวและคำเมืองรวมกันราวร้อยละ 55 ซึ่งนับว่ามากกว่ากันหลายเท่าตัว ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีคนพูดภาษากลุ่มออสโตรเอเชียติก (มอญ-ขแมร์) ร้อยละ 12 ออสโตรนีเชียนร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าไม่ต่างจากภาษาไทย (กลาง) มากนัก

คายส์อธิบายว่าพัฒนาการของการใช้ภาษาไทย (กลาง) เป็นภาษาประจำชาติแทนที่จะเป็นภาษาอื่นๆ อีกนับ 70 ภาษาเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับพัฒนาการของการสร้างรัฐชาติไทยที่ต้องการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ

ข้อมูลราวปี 2000 แสดงให้เห็นว่าประชากรไทยราว 60 ล้านคนใช้ภาษาไทย (กลาง) แต่ในจำนวนนี้มีถึง 40 ล้านคนที่ใช้ภาษาไทย (กลาง) เป็นภาษาที่สอง เนื่องจากเติบโตมาในวัฒนธรรมที่พูดภาษาอื่นๆ ก่อน ไม่ว่าจะจีน คำเมือง อีสาน โซ่ง มอญ ปักษ์ใต้ ฯลฯ

จำนวนผู้ใช้ภาษาไทยกลางที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสถานะของภาษาถิ่นที่ต่ำต้อยกว่าและกลายเป็นเรื่องตลกโปกฮาเมื่อปรากฏในแวดวงวัฒนธรรมของคนส่วนกลางจึงเป็นหลักฐานที่ย้ำเตือนถึงอำนาจของภาษาและการศึกษาในการสร้างความเป็นชาติ

อย่างไรก็ตาม เรอนองไม่คิดว่าการพูดภาษาเดียวกันเป็นปัจจัยที่เพียงพอต่อการสร้างความเป็นชาติ เพราะคนพูดภาษาอังกฤษในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาอาจไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นชาติเดียวกันเลย ขณะที่กลุ่มคนที่พูดฝรั่งเศสและเยอรมันในสวิสเซอร์แลนด์อาจเห็นว่าตนเป็นคนชาติเดียวกันได้ไม่ยากนัก

เขาเชื่อว่าชาติต้องเป็นอะไรมากกว่านั้น ลำพังเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา หรือลักษณะทางภูมิศาสตร์ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการสร้างความเป็นชาติ ถ้าอย่างนั้นชาติคืออะไร?

เรอนองตอบไว้ชัดเจนว่า ชาติคือหลักการทางจิตวิญญาณที่หลอมรวมผู้คนที่แตกต่างกันไว้ ด้วย “การมีสิ่งที่เคยรุ่งเรืองในอดีตร่วมกันและมีเจตจำนงที่ต้องการจะสืบทอดความรุ่งเรืองอันนั้นต่อไปในห้วงเวลาปัจจุบัน” เป็นหลักการที่ก่อตัวขึ้นบน “การมีความทรงจำอันยาวนานร่วมกันอยู่ในครอบครอง [และ] ความยินยอมพร้อมใจในห้วงเวลาปัจจุบัน คือความปรารถนาที่จะต้องการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน คือความปรารถนาที่ต้องการจะสืบทอดมรดกที่เราได้รับมาร่วมกัน” (53-54)

ด้วยเหตุนี้ การจัดการศึกษาจากส่วนกลางและความรู้ทางประวัติศาสตร์จึงมักเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ ไม่ใช่เพียงเพราะมันช่วยให้เราเรียนรู้และจดจำความรุ่งเรืองบางเรื่องได้ดีเป็นพิเศษ แต่การเลือกจะเล่าเรื่องราวของอดีตด้วยสำนวนโวหารแบบชาตินิยมยังทำให้เราไม่ต้องสนใจมากนักกับ ‘ภาษา’ อื่นๆ ที่ไม่อาจปรากฏในเรื่องเล่าตามแบบฉบับได้อย่างลงรอย

ทว่าความก้าวหน้าของความรู้ทางประวัติศาสตร์เองกลับเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นชาติด้วย เพราะการสืบย้อนกลับไปในอดีตที่ยาวนานและเคารพต่อข้อเท็จจริงจนเกินไป นอกจากจะ “ฉายให้เราเห็นความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ จุดเริ่มต้นของการก่อรูปทางการเมืองทุกรูปแบบ” เพราะ “เอกภาพถูกสถาปนาขึ้นจากวิธีการที่เหี้ยมโหดเสมอ” แล้ว (27)

มันยังชวนให้เราสงสัยด้วยว่าแท้จริงแล้วรากเหง้าของเราคืออะไร บรรพบุรุษที่แท้จริงของเราเป็นใคร ภาษาดั้งเดิมของเราคือภาษาอะไร และเป็นไปได้หรือไม่ว่าอดีตของเรากับอดีตของชาติอาจเป็นคนละเรื่องกัน

สิ่งที่น่าสนใจมากๆ คือเรอนองไม่ได้มองความเป็นชาติในแง่ลบ หากแต่ชี้ให้เห็นว่าชาติเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นเสียด้วย ตราบเท่าที่สำนึกของความเป็นชาติ “ยังพิสูจน์พลังของมันได้ผ่านการเสียสละของตัวบุคคลเพื่อประโยชน์สุขของชุมชน” (58)

แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการกระทำเช่นไรจะเป็นประโยชน์สุขต่อชุมชนจริงๆ เรอนองเสนอไว้อย่างน่าคิดว่า “ถ้าเราจะต้องปรึกษาใครสักคนในเรื่องนี้” ในเรื่องเกี่ยวกับความต้องการและความเป็นไปของชาติ “ก็ควรจะเป็นผู้ที่อยู่อาศัย” ภายในชาตินั้น

แม้ชาติจะผูกโยงความคิดจิตใจของผู้คนไว้ด้วย “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอันยิ่งใหญ่ซึ่งก่อเกิดขึ้นจากสำนึกของความเสียสละที่ทำลงไปแล้วกับที่จะกำลังทำในอนาคต” แต่ชาติจะดำรงอยู่สืบไปได้ก็ด้วย ความยินยอมพร้อมใจอันเป็นความปรารถนาที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ายังต้องการจะสืบทอดชีวิตที่ทุกคนมีร่วมกันต่อไป” (55)

คิดแบบเรอนอง ประชาชนจึงไม่ได้ตกเป็นของชาติและชนชั้นปกครองที่อ้างว่าตัวเองทำเพื่อชาติโดยไม่เหลียวแลและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน กลับกัน ชาติต่างหากที่เป็นของประชาชนและประชาชนนั่นเองที่ ‘เป็น’ ชาติ เพราะหากไม่มีประชาชนที่ยินยอมพร้อมใจจะอยู่ด้วยกัน ชาติก็ย่อมมีชีวิตต่อไปไม่ได้

ถ้าชาติจะดำรงอยู่ต่อไปได้ก็ต่อเมื่อประชาชนในชาติไม่เพียง ‘ร่วมทุกข์ ร่วมสุข’ แต่ยังต้อง ‘ร่วมมีความหวังไปด้วยกัน’ แล้ว (54)

น่าคิดนะครับว่าระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาของการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้ในมือคนส่วนน้อย กับการไม่ยอมฟังเสียงของเพื่อนร่วมชาติ คิดเองเออเองว่าการตัดสินใจของผู้อำนาจและมีการศึกษาคือคำตอบของทุกอย่าง ทั้งบีบบังคับทุกวิถีทางให้ผู้คนเชื่อฟังและแสดงออกซึ่งความรักอย่างปลอมๆ นั้น อย่างไหนนับเป็นการ ‘ชังชาติ’ หรือบ่อนทำลายประเทศชาติที่แท้จริงกันแน่?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save