fbpx
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : มองเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2019 ไม่มีหรอกซูเปอร์เทคโนแครตที่รู้ทุกอย่าง

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : มองเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2019 ไม่มีหรอกซูเปอร์เทคโนแครตที่รู้ทุกอย่าง

 สมคิด พุทธศรี เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

“ไม่อยากให้สัมภาษณ์เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจเท่าไหร่ พวกจีดีพีโตเท่าไหร่น่าจะหาอ่านได้ไม่ยาก อยากชวนคุยเรื่องที่สนุกกว่านี้”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ตอบกลับ 101 ในเบื้องแรก เมื่อติดต่อชวนเขามองอนาคตเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ในปี 2019

“ผมคุยแบบเนิร์ดเศรษฐศาสตร์เกินไปหรือเปล่า ไม่แน่ใจว่าพวกคุณจะเอาไปใช้ได้แค่ไหน แต่สนุกดีนะ” เศรษฐพุฒิบอกกับ 101 หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ อันที่จริงตลอดการสนทนาเขาพูดติดตลกถึงความเป็น ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ ของตัวเองอยู่อีกหลายทีเหมือนกัน

หากจะเรียก ‘เศรษฐพุฒิ’ ว่าเป็น ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ (ตามแบบที่เขาแซวตัวเอง) เขาย่อมไม่ได้เป็นเนิร์ดแค่เพียงในตำราเท่านั้น ทว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านการบริหารเศรษฐกิจจริงมาอย่างโชกโชนทั้งในภาครัฐและเอกชน ในอดีตเขาเคยทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก ก่อนถูกเรียกตัวกลับมาช่วยงานที่กระทรวงการคลังเพื่อช่วยแก้วิกฤตปี 40 เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบันเศรษฐพุฒิเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ในห้วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายของระเบียบเศรษฐกิจโลก และหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจการเมืองไทยในปี 2019 ความเห็นของ ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ แบบเขานี่แหละ ที่น่ารับฟังยิ่ง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ในปี 2019 อะไรจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประชาคมเศรษฐกิจโลกให้ความสำคัญ

ในภาพใหญ่ คงเป็นกระแสเรื่องนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม (Nationalism Policy) ซึ่งมีรูปธรรมเฉพาะคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ผมเพิ่งไปร่วมประชุมที่สิงคโปร์ เพื่อนนักวิชาการหลายคนก็ให้ความสนใจเรื่องนี้ จากที่ตอนแรกตลาดดูจะไม่ค่อยสนใจความเสี่ยงในประเด็นนี้เท่าไหร่ แต่ในช่วงหลังก็เริ่มเห็นกันแล้วว่า ความตึงเครียดของระเบียบการค้าระหว่างประเทศทำให้ตลาดผันผวนมาก นอกจากสงครามการค้าก็เป็นเรื่อง Brexit และอียู ที่คนคุยกันค่อนข้างมาก

กระแสความไม่พอใจโลกาภิวัตน์และนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมมีความน่ากลัวอยู่ มันมีเหตุผลที่เราเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ‘สงครามการค้า” เพราะมันลุกลามบานปลายได้ง่ายมากโดยไม่รู้ตัว ถ้าการให้เหตุผลและความชอบธรรมนโยบายอยู่บนฐานชาตินิยมแล้ว การเจรจาข้อตกลงต่างๆ จะทำได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างถอยไม่ได้

ย้อนกลับไปเมื่อสองสามปีก่อน คนส่วนใหญ่คงจินตนาการไม่ออกว่าโลกในปลายปี 2018 ต่อเนื่อง 2019 จะวุ่นวายขนาดนี้ กระทั่งตอนที่เกิดประชามติ Brexit หรือทรัมป์ชนะเลือกในปี 2016 หลายคนก็ยังเชื่อมั่นว่า สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจจะคอยถ่วงดุลไม่ให้ปัญหาบานปลาย เรื่องนี้สะท้อนอะไร

ในด้านหนึ่งมันสะท้อนว่า สถาบันและกลไกทางเศรษฐกิจการเมืองที่เราเคยเชื่อกันว่าจะเป็นกันชน (buffer) ให้กับระบบเสรีนิยมไม่ได้ทำงานได้อย่างที่คิด ในอีกด้านหนึ่ง มันเป็นเพราะปัญหาที่โลกกำลังเจอมันต่างจากปัญหาที่ผ่านมา กระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเหลื่อมล้ำและการต่อต้านชนชั้นนำ (anti-establishment) ผู้คนจำนวนมากในตะวันตกรู้สึกว่า ชีวิตตัวเองไม่ได้ดีขึ้น แล้วแสดงออกมาผ่านการโหวต

ผลโหวตในอังกฤษและสหราชอาณาจักรเป็นการแสดงออกของคนส่วนใหญ่ที่ไม่เอาชนชั้นนำตามระบบปกติ คนจำนวนมากมองว่าการเมืองตามช่องทางปกติถูกยึดกุมโดยกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันก็คับข้องใจที่เสียงของตัวเองไม่ถูกได้ยินในเวทีการเมือง

กรณีเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ประเด็นเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการประท้วงคือเรื่องการขึ้นภาษีน้ำมัน แต่ถ้าฟังคำให้สัมภาษณ์มันสะท้อนความคับแค้นใจที่เสียงตัวเองไม่ถูกได้ยินมากกว่า คนกลุ่มนี้เคยเลือกมาครงมาก่อนแล้วคิดว่า มาครงจะดำเนินนโยบายที่ตอบสนองผลประโยชน์ของพวกเขา แต่สุดท้ายมาครงก็ยังเลือกนโยบายเศรษฐกิจคล้ายเดิม

โลกกำลังเข้าสู่ยุคการชะลอตัวของโลกาภิวัตน์หรือเปล่า

กระแสความไม่พอใจโลกาภิวัตน์มีอยู่จริง แต่เรื่องนี้มี 2 ประเด็นที่อยากชวนคิด ประเด็นแรก ถ้าดูตัวเลขภาพรวม การค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศยังคงสูงอยู่และเติบโตต่อเนื่อง ตัวเลขปัจจุบันสูงกว่าช่วงหลังปี 2008 ซึ่งเกิดวิกฤตการเงินโลกเสียอีก นั่นหมายความว่า ที่เราเห็นกระแสความไม่พอใจหรือการประท้วงโลกาภิวัตน์ยังไม่ปรากฏให้เห็นในตัวเลขทางเศรษฐกิจ

ประเด็นที่สอง ความเหลื่อมล้ำที่ว่ากันว่าเป็นต้นเหตุของความไม่พอใจโลกาภิวัตน์ มันเกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์จริงหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ ในภาพรวม โลกาภิวัตน์ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นนะ เรื่องนี้ชัดยิ่งกว่าชัด หากยกตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบปิดเทียบกับระบบเศรษฐกิจแบบเปิด เช่น เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตก ไทยกับพม่า จะเห็นชัดเลยว่าโลกาภิวัตน์ให้ประโยชน์ แต่ถามว่ามีคนที่แย่ลงไหม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะดูแลจัดการอย่างไร

ถ้าเมื่อไหร่กระแสชาตินิยมนำไปสู่การปฏิเสธทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์ นั่นหมายความว่า เรากำลังปฏิเสธเครื่องยนต์ที่นำไปสู่ความมั่งคั่ง

Robert Skidelsky นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษเพิ่งเขียนบทความย้อนแย้งชวนคิดว่า บางทีนโยบายเศรษฐกิจแบบป้องกันตนเอง (protectionism) อาจจำเป็นต่อการปกป้องระเบียบเศรษฐกิจเสรีนิยม เพราะเงื่อนไขแวดล้อมที่เคยเอื้อให้ระเบียบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมแบบเดิมทำงานได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่เหมือนคุณจะบอกว่า ข้อวิจารณ์ที่มีต่อโลกาภิวัตน์ผิดเป้า

ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นเป็นเพราะส่วนแบ่งรายได้ของแรงงาน (labor share) ไม่ค่อยเพิ่ม ในขณะที่ผลตอบแทนของทุนนี่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องไปหาคำอธิบายเบื้องหลังว่า เกิดอะไรขึ้น

โลกาภิวัตน์เคยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ค่าจ้างแรงงานไม่เพิ่มขึ้น แต่นั่นคือเมื่อปี 2000 ตอนที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและเป็นผลทำให้แรงงานในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเยอะมากในคราวเดียว ไม่เถียงว่า ปรากฏการณ์นี้สร้างแรงกดดันต่อค่าจ้าง แต่ก็เป็นเฉพาะตลาดสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก แต่อย่างที่บอกว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งทุกคนก็ดูเอนจอยกัน ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วก็ได้ใช้สินค้าและบริการในราคาที่ถูกลง

ในบริบทปัจจุบัน นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมพุ่งเป้าโจมตีไปที่แรงงานและผู้อพยพ แต่เอาเข้าจริงแล้วหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานมีผลกระทบต่อค่าจ้างมีน้อยมาก ในสหรัฐอเมริกาที่ความเหลื่อมล้ำสูงมากก็ไม่พบว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานส่งผลเลวร้ายต่อค่าจ้างมากอย่างที่โดนโจมตี

อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งมุมที่น่าสนใจ แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากเท่าไหร่ คือโลกาภิวัตน์มีแรงกดดันฝั่งอุปสงค์ด้วย การเข้าไปแย่งบริโภคของชนชั้นกลางใหม่ โดยเฉพาะคนจีน ในตลาดโลก เช่น การเข้าไปแย่งซื้ออสังหาริมทรัพย์จนทำให้ราคาสูงจนคนท้องถิ่นไม่สามารถซื้อได้ หรือกรณี Airbnb ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง แต่ก่อนเวลาเห็นนักท่องเที่ยวมา เราก็ดีใจตลอดเวลา แต่เทคโนโลยีมันเข้ามาเปลี่ยนความสัมพันธ์ในระบบทั้งหมด ปัจจุบันเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยินดีที่จะปล่อยให้กับนักท่องเที่ยวในระยะสั้นมากกว่าปล่อยเช่ายาว เพราะได้ราคาที่ดีกว่า ราคาค่าเช่าจึงสูงขึ้นจนคนทั่วไปที่อยู่เช่ายาวๆ ไม่สามารถจ่ายได้ ไหนยังมีเรื่องการศึกษาอีก การแห่เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของลูกหลานชนชั้นกลางใหม่ก็ทำให้ลูกหลานชนชั้นกลางในตะวันตกรู้สึกว่าตัวเองถูกแย่งที่ ทั้งหมดนี้มันทำให้คนรู้สึกว่า ‘ขนาดบ้านกู กูยังอยู่ไม่ได้เลย’

ประเด็นคือ ต้องมองให้ออกว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงกันแน่ กระแสชาตินิยมและการโจมตีโลกาภิวัตน์เกิดขึ้น เพราะแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพตกเป็นเป้าได้ง่าย นโยบายต่างๆ ที่ออกมา เช่น Brexit หรือการสร้างกำแพงก็ชัดเจนเห็นภาพเป็นรูปธรรม แต่เอาเข้าจริงนโยบายชาตินิยมเหล่านี้ตอบโจทย์ทางความรู้สึกมากกว่าความจริง ต้นตอที่แท้จริงแก้ยากกว่านี้เยอะ

ผมไม่เถียงว่า คงมีกรณีที่การใช้นโยบายปกป้องตัวเองได้ผลและได้รับการยอมรับ (justify) อยู่ แต่ความเสี่ยงสำคัญคือ ความสำเร็จในบางกรณีจะถูกนำไปใช้ตัดสินและใช้อ้างกับนโยบายอื่นๆ อีกสารพัดจนกลายเป็นทุกกรณีไป

ในทางกลับกัน โลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ก็ไป justify นโยบายเศรษฐกิจทุกอย่างเหมือนกันหรือเปล่า เพราะในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยมีทางเลือกนโยบายอะไรเท่าไหร่

ผมไม่เคยเชื่อสูตรสำเร็จเชิงนโยบายที่เป็นเหมือนคัมภีร์ที่เราต้องทำ ประเภทที่ว่าถ้าต้องเปิดแล้วต้องเปิดหมด ทางเลือกเชิงนโยบายมีมากกว่าหนึ่งทางเลือกเสมอ ซึ่งก็ต้องว่ากันไปเป็นเรื่องๆ ว่า บริบทเฉพาะของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร

ถ้าเป็นเรื่องนโยบายการค้า การสำรวจจากทั่วโลกพบว่าน้อยครั้งมากที่นโยบายกีดกันทางการค้าจะเป็นนโยบายที่ดีที่สุด (first best policy) หลักฐานเชิงประจักษ์ในเรื่องนี้ชัดเจนมาก แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ การเปิดเสรีเงินทุน เรื่องนี้ประเทศไทยมีบทเรียนโดยตรงเลย คือ ในปี 2535 เราใช้นโยบายเปิดเสรีทางการเงิน BIBF (Bangkok International Banking Facilities) ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540 ในเวลาต่อมา

ผมไม่เชื่อการเปิดเสรีแบบไม่ดูอะไรเลย จริงอยู่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับ Robert Skidelsky เรื่องการใช้นโยบายการค้าแบบปกป้องตัวเอง แต่เขาได้ยกประเด็นที่สำคัญมากๆ คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องพิจารณาเงื่อนไข ปัจจัย บริบทที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ เพราะมันชวนให้เรากลับมาทบทวนใหม่ว่าใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากนโยบายแบบเดิม และมีทางเลือกเชิงนโยบายใหม่อะไรบ้าง

อะไรคือต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เหตุผลหลักที่ทำให้ผลตอบแทนของทุนสูงขึ้นเป็นเพราะเทคโนโลยี ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย ในปี 2014 ตอนที่เฟซบุ๊กเข้าไปซื้อ WhatsApp ในราคา 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ WhatsApp มีพนักงานแค่ 50 คน เฉลี่ยแล้วแต่ละคนสร้างมูลค่าได้ 380 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บริษัทนี้สามารถจ้างคนเพิ่มได้อีกไม่รู้เท่าไหร่ แต่ปัจจุบันก็ยังมีพนักงานหลัก 50 กว่าคน เพราะมันไม่จำเป็นต้องจ้างคนมากไปกว่านี้แล้ว

ในอนาคตบริษัทมูลค่าสูงส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะแบบนี้ ซึ่งจะเห็นว่า ผลตอบแทนของทุนมันสูงมากและคนที่จะได้รับค่าจ้างแพงๆ มีอยู่จริง แต่น้อยมาก คำถามคือ แล้วคนที่เหลือ (the rest) จะเป็นอย่างไร

มีประโยคหนึ่งผมจำไมได้แล้วว่าใครพูด แต่ผมชอบมาก เขาบอกทำนองว่า “ถ้าอยากเอาชนะเซียนหมากรุกในการเล่นหมากรุกให้ใช้เอไอ แต่ถ้าอยากทำความสะอาดหมากรุกให้ใช้คน” (หัวเราะ) ผมนึกไม่ออกเลยว่า ในโลกแบบนี้ค่าจ้างมันจะเป็นยังไง

 

เศรษฐกิจภายใต้โลกของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมไม่รู้ และคิดว่าไม่มีใครรู้นะ (หัวเราะ)

เท่าที่ตามอ่าน หุ่นยนต์และเอไอน่าจะเป็นความท้าทายที่แหลมคมที่สุดและผลกระทบของมันรุนแรงมาก ถ้าจินตนาการแบบสุดโต่งว่าส่วนผสมหุ่นยนต์และเอไอทำให้เกิดเทคโนโลยีที่คิดเองได้ (cognitive technology) นี่คือ ทุนแบบใหม่เลย (just another kind of capital) ในประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีอะไรก็ตามแต่มันยังต้องทำงานร่วมกับคน แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือมันทดแทนคนไปเลยและยังเกิดขึ้นในปริมาณที่มหาศาลด้วย พูดอีกแบบคือ ถ้า cognitive technology เกิดขึ้นจริง มันจะเป็นเทคโนโลยีเอนกประสงค์ (general purpose of technology) เหมือนไฟฟ้าและเทคโนโลยีดิจิทัลที่เราเอาไปใช้กับอะไรได้สารพัดอย่าง

อย่างไรก็ตาม เวลาที่พูดว่าเทคโนโลยีจะมาทดแทนคน ไม่ได้หมายความว่าคนไม่มีงานทำ ยังไงคนก็ต้องทำงาน เช่น พอเอไออ่านฟิล์มเอกซเรย์ได้ ไม่ได้หมายความว่าอาชีพหมอจะหายไป แต่สิ่งที่น่าคิดคือ แรงกดดันต่อค่าจ้างต่างหาก ลองคิดดูสิ ถ้าเอไอสามารถวินิจฉัยโรคให้เราได้อย่างแม่นยำ ทำซ้ำได้ แถมยังราคาถูก ความเห็นของหมออาจจะกลายเป็นแค่ความเห็นที่สองเท่านั้น (second opinion) ค่าพรีเมียมของหมอจะเหลือเท่าไหร่ ไม่ใช่แค่หมอเท่านั้น อาชีพทักษะสูงที่เคยเชื่อกันว่ามั่นคงอย่างวิศวกร ทนายความ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบแบบเดียวกันหมด

ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปด้วย ยังคิดภาพไม่ออกว่า คนรุ่นลูก รุ่นหลานของเราจะมั่งคั่งจากอะไร สุดท้ายแล้วคงออกมาในรูปแบบที่คนยังทำงานกับเทคโนโลยี แต่ไม่รู้จะออกมายังไง

แม้จะเป็นทุนรูปแบบใหม่ แต่หุ่นยนต์และเอไอก็เป็นสินค้าทุน สถานการณ์ที่จะเกิดคือ ค่าจ้างถูกกด แต่ผลตอบแทนของทุนจะยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้น โลกอนาคตความเหลื่อมล้ำจะยิ่งรุนแรงขึ้นอีก

ใช่! มันจะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก

ถ้าถามว่าเทรนด์ทางเศรษฐกิจอะไรที่สนใจและน่ากังวลที่สุด เทรนด์นั้นคือ ‘การผูกขาด’ เดิมนักเศรษฐศาสตร์จะกังวลกับเรื่องการผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) ซึ่งอธิบายว่าในบางอุตสาหกรรมจะมีผู้ผลิตหลายรายไม่ได้ เพราะต้องลงทุนเยอะ สมัยก่อนเราก็มักถึงการลงทุนผลิตไฟฟ้า หรือขนส่งมวลชนอะไรพวกนี้

เทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอมีลักษณะของการผูกขาดโดยธรรมชาติเช่นกัน ในแง่ของต้นทุนการผลิต การให้บริการลูกค้าเพิ่มขึ้น 1 คน ต้นทุนเป็นศูนย์หรือต่ำกว่าศูนย์ด้วยซ้ำ เพราะมันได้ประโยชน์จากการที่เครือข่ายใหญ่ขึ้น ยิ่งคนเข้ามาใช้บริการเท่าไหร่ ฐานข้อมูลและมูลค่าก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น และยิ่งขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนใหม่อยากเข้ามาใช้อีก

สุดท้ายแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีผู้เล่นแค่ไม่กี่ราย ถ้ามองจากฐานบริษัทคงมีไม่เกิน 10 บริษัท ถ้ามองจากฐานประเทศคงมีแค่สหรัฐอเมริกากับจีน

ถ้ามองแบบนักเศรษฐศาสตร์ อุตสาหกรรมไหนที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ ก็ต้องเข้าไปกำกับดูแล ถ้ามองด้วยกรอบนี้ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ควรต้องถูกกำกับด้วยหรือไม่ อย่างไร

ซูเปอร์ยากเลย (หัวเราะ) เอาง่ายๆ บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทโคตรยักษ์ใหญ่ระดับโลก (massively global) แล้วใครควรจะเป็นผู้กำกับดูแล ต้องเป็นผู้กำกับดูแลระดับโลกด้วยไหม แค่เริ่มก็งงแล้วว่าจะตั้งโจทย์อย่างไรดี อันนี้แค่พูดเรื่องภูมิศาสตร์นะ ไหนจะความท้าทายในแง่ของอุตสาหกรรมอีก ที่ผ่านมาวิธีคิดในการกำกับดูแลแบ่งตามอุตสาหกรรม ซึ่งค่อนข้างแคบ คนนึงดูธนาคาร คนนึงดูตลาดหลักทรัพย์ คนนึงดูพลังงาน แต่โดยธรรมชาติ อำนาจของแพลตฟอร์มเหล่านี้มาจากการที่มันสามารถข้ามอุตสาหกรรมได้ คือ ในหนึ่งแพลตฟอร์มไม่ได้มีแค่การขายของหรือการให้บริการแค่อย่างเดียว แต่มันสารพัดเลย

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นโจทย์ที่เราต้องคิด เพราะบริษัทพวกนี้จะมีอำนาจมาก อย่างที่เห็นในสหรัฐอเมริกาว่าสภาคองเกรสจะค่อนข้างเกรงใจบริษัทเทคโนโลยีค่อนข้างมาก เรื่องนี้เชื่อมโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและความวุ่นวายทางการเมืองที่เราคุยกันไปเมื่อช่วงต้น คือ เมื่อไหร่ที่กระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางกฎหมายไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ มันก็จะกลายพันธุ์ไปเป็นความคับข้องใจ

ภายใต้จินตนาการแบบนี้ ในหลายประเทศเริ่มมีการเสนอนโยบายการประกันรายได้ขั้นต่ำแล้ว (Universal Basic Income) แต่ในด้านหนึ่งก็ดูเป็นนโยบายที่สำเร็จรูปมาก เรามีทางเลือกอื่นๆ บ้างไหม

ผมก็เจอแต่เรื่องนี้แหละ ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ไม่รู้จะเวิร์คจริงหรือเปล่า ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นยังไง บางคนเสนอว่า โลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่ดิสโทเปียที่แค่มีคนรวยมากๆ ไม่กี่คนกับคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ แต่ถามว่าในแง่การเมืองมันจะเป็นไปได้จริงหรือ การเมืองแบบประชาธิปไตยจะยอมให้เกิดเรื่องแบบนั้นหรือ

พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ฝรั่งเศสที่เป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็ยังเจอวิกฤต ลองคิดดูสิว่า ขนาดประเทศมีกลไกการเลือกตั้งมานานยังเจอปัญหาที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าเสียงตัวเองไม่ถูกได้ยิน ประเด็นคือ ประชาธิปไตยก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน ต้องหากลไกในการกำหนดนโยบายแบบใหม่ที่สะท้อนเสียงประชาชน ไม่ใช่แค่ปล่อยไปตามวัฏจักรแล้วบอกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายบางกลุ่ม เริ่มหาโมเดลเศรษฐกิจการเมืองใหม่ๆ เหมือนกัน มีการเสนอว่า ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง (centrally planned economy) แต่ก่อนทำไม่ได้ เพราะข้อมูลไม่พอจนทำให้ตัดสินใจไม่ได้ แต่ในยุคดิจิทัลข้อมูลมีมากพอแล้ว ในขณะที่การวางแผนและการตัดสินใจก็ให้เอไอช่วยได้

โคตรน่ากลัวเลย (หัวเราะ) ประเด็นแรก ที่ผ่านมางานวิชาการชี้ชัดว่า centrally planned economy ไม่เวิร์ค ถ้าอยู่ดีๆ จะมาบอกว่ามันเวิร์คเพราะเทคโนโลยีใหม่มา ผมจะยังไม่เชื่อ

ประเด็นที่สอง โมเดลเศรษฐกิจแบบนี้จะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการคำนวณและการตัดสินใจอย่างเดียว เทคโนโลยีเอไอยังเป็น ‘กล่องดำ’ ที่เราไม่รู้ว่ามันทำงานยังไงกันแน่ ดังนั้น เราจะไว้ใจมันได้อย่างไร เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันจะตัดสินใจถูก ไหนจะเรื่องความแฟร์อีก เอาง่ายๆ ทุกวันนี้เราไว้ใจเฟซบุ๊กได้มากน้อยแค่ไหน มีข่าวออกมาตลอดว่าฟีดที่เราเห็นนี้โดน manipulate โดยคนนั้น คนนี้ นี่แค่โซเชียลมีเดียนะ ถ้าให้มากำหนดชะตากรรมเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน โอ้โห ไม่รู้มันจะพาเราไปไหน

ดังนั้น คำตอบสั้นๆ ตอนนี้คือ โน! ผมไม่ซื้อ (หัวเราะ)

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

บทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจหลายสำนักบอกตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยอาจผ่านจุดที่ดีที่สุดในรอบหลายปีมาแล้ว และปีหน้าคงกลับไปโตที่ระดับประมาณ 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพที่แท้จริง อะไรคือปัญหารากฐานของเศรษฐกิจไทย

วิธีคิดง่ายๆ คือ เศรษฐกิจจะโตเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่ามีคนทำงานมากน้อยเท่าไหร่ และแต่ละคนที่ทำงานมีผลิตภาพ (productivity) เท่าไหร่ จำนวนคนทำงานขึ้นอยู่กับลักษณะทางประชากร ซึ่งตอนนี้อัตราการเติบโตของกำลังแรงงานไทยติดลบ ในขณะที่ผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นได้ด้วย 2 ทางเท่านั้น หนึ่งคือ ลงทุนเพิ่ม สองคือ ยกระดับมูลค่าเพิ่มในการผลิต (move up value chains) ซึ่งประเทศไทยก็น่ากังวลทั้งสองทาง

ที่ผ่านมา การลงทุนของประเทศไทยเติบโตช้ามาก ระดับการลงทุนที่แท้จริงในปัจจุบันของเรายังอยู่ต่ำกว่าปี 2540 ด้วยซ้ำ หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 40 ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคติดกับดักตรงนี้ ระดับการลงทุนที่ต่ำทำให้ผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจต่ำไปด้วย นอกจากนี้ไทยยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพแรงงาน ซึ่งก็พูดกันมานานแล้วว่าคุณภาพการศึกษาของเรานั้นห่วย

การยกระดับมูลค่าเพิ่มในการผลิตก็ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ง่ายเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนไทยเป็นแชมป์ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลยนะ พวกฮาร์ดไดรฟ์นี่เราผลิตเยอะมาก แต่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแล้วคนก็ใช้ฮาร์ดไดรฟ์ลดลงมาก หันไปใช้คลาวด์กันหมด ซึ่งเราไม่สามารถขยับไปสู่การผลิตในห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าสูงกว่าได้

ปัญหากำลังแรงงานเป็นผลมาจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing Society) ซึ่งเราก็แก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมให้คนมีบุตร คงใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ในระยะสั้น นโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติจะเป็นตอบโจทย์ประเทศไ้ด้หรือเปล่า

นโยบายแรงงานต่างชาติของไทยประหลาดในแง่ที่ว่า เราเปิดรับแรงงานทักษะต่ำค่อนข้างมาก แต่กลับปกป้องแรงงานทักษะสูง ถ้าโจทย์ใหญ่ของประเทศคือการออกไปจากกับดักรายได้ปานกลาง เราต้องการแรงงานทักษะสูงไม่ใช่หรือ

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ต้องปกป้องบางอาชีพ หรือบางสาขาคงเป็นเพราะไม่อยากให้มีการแข่งขันมาก แต่แบบนี้ไม่แฟร์ เพราะในกรณีแรงงานทักษะต่ำ คุณยังปล่อยให้คนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่มีทักษะไปแข่งกับแรงงานต่างชาติเลย

สิ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้คือ นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เสรีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานทักษะสูงหรือทักษะต่ำก็ตาม อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลที่ดี รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวก (facilitate) ให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นไปอย่างราบรื่น

เกิดอะไรขึ้นกับการลงทุนไทย

รู้ไหมว่า เงินไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศสูงกว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาในไทยแล้วนะ นั่นหมายความว่า ทุนไทยยังไม่ค่อยลงทุนในไทยเลย การไปลงทุนในต่างประเทศของไทยจะทำให้ Gross National Product (GNP) เพิ่มขึ้น คือ ในทางเทคนิคนับเป็นรายได้ของคนไทยได้ แต่ผลต่อผลิตภาพในประเทศมันไม่เกิด

ที่น่าเศร้าคือ FDI ของไทยแพ้เวียดนามไปแล้ว ในปี 2005 FDI ของไทยยังสูงกว่าเวียดนามถึง 4 เท่า ตอนนี้กลายเป็นว่าเวียดนามมี FDI มากกว่าไทย 2 เท่า ทั้งๆ ที่ขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามเล็กกว่าไทยมาก

นโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย แข่งกับประเทศอื่นในภูมิภาคไม่ได้หรือเปล่า

บีโอไอของไทยนี่ใจดีพอสมควรแล้วนะ สิทธิประโยชน์ที่ให้กับนักลงทุนเราไม่ได้แพ้เพื่อนบ้านเลย สิ่งที่เราต้องการคือนโยบายแบบใหม่

นโยบายใหม่ที่ว่าคืออะไร

ผมไม่รู้ว่านโยบายนั้นคืออะไร และไม่รู้ว่าใครรู้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดในกระบวนการกำหนดนโยบายใหม่ ปล่อยให้กลไกตลาดในตลาดนโยบายทำงาน นโยบายใหม่จะอุบัติ (emerge) ขึ้นมาเอง

สมมติคุณเห็นโทรศัพท์เครื่องหนึ่งเสีย คุณคงดูว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นมีปัญหาอะไร แต่ถ้าคุณเห็นว่าโทรศัพท์รุ่นนี้เสีย คุณต้องกลับมาดูที่กระบวนการผลิตมีปัญหาอะไร ผมคิดว่ากระบวนการผลิตนโยบายของไทยมีปัญหา เป็นปัญหาระดับปรัชญาหรือวิธีการมองโลกเลย

เวลาแก้ปัญหาเชิงนโยบาย คนส่วนมากมักคิดว่าคำตอบอยู่ที่รัฐ หรือไม่ก็ระบบราชการ ในโลกที่ซับซ้อนมากๆ แบบที่เป็นอยู่ เราจะคาดหวังให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง หรือสภาพัฒน์ เป็นคนวาดภาพและวางแผนได้จริงหรือ การให้สุดยอดผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนมานั่งกำหนดนโยบายจากบนลงล่าง ไม่สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

ไม่ใช่แค่โลกเปลี่ยนและซับซ้อนขึ้นเท่านั้น ศักยภาพของรัฐไทยเมื่อเทียบเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วลดลงมาก สถานการณ์ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าเราไปฝากความหวังและพึ่งพิงกลไกที่ไม่ได้มีศักยภาพแล้ว

ภาครัฐควรที่จะต้องถอยหลังกลับมาในหลายเรื่องด้วยกัน ผมไม่เถียงนะว่ารัฐต้องมีบทบาท แต่ต้องเลือกบทบาทให้ชัด รัฐควรจะใหญ่ในที่ที่ควรใหญ่ และเล็กในที่ที่ควรเล็ก ต้องหาให้เจอว่าตลาดล้มเหลวตรงไหนแล้วค่อยเข้าไปจัดการ

มีตัวอย่างรูปธรรมบ้างไหม

เยอะมาก ตัวอย่างที่ผมชอบยกบ่อยๆ เพราะคิดว่าตลกดีคือ ป้ายแท็กซี่อัจฉริยะที่เอาไว้เรียกแท็กซี่ ซึ่งเป็นไอเดียที่ฟังดูเข้าท่ามาก แต่ถามว่ามีคนใช้สักกี่คน ทุกวันนี้คนหันไปใช้ Grab กันหมด แต่มีช่วงหนึ่งรัฐก็ยังจะเข้ามาห้ามอีก

หรือจะยกตัวอย่างวินมอเตอร์ไซค์กับรถตู้ก็ได้ นี่เป็นวิธีการที่ตลาดตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ นะ มันเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ ถ้าให้รัฐทำเองจะออกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ (หัวเราะ) หน้าที่ของรัฐคือ เมื่อตลาดทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดแล้ว ต้องเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกและทำให้เกิดระเบียบ

ถ้าเป็นเรื่องรถไฟ รถไฟฟ้า ซึ่งต้องการการลงทุนขนาดใหญ่อาจมีแค่ภาครัฐที่เข้าไปทำได้ แต่ถามว่ารัฐต้องทำเองทุกอย่างทั้งระบบไหม ไม่ใช่แน่ๆ ก็ต้องมาดูกันว่า ในระบบรถไฟรัฐจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไรบ้าง

มันไม่ต้องการอะไรมาก แค่ต้องการเกณฑ์ให้ชัดหน่อยว่า นโยบายอะไรที่รัฐต้องทำบ้าง ถ้าคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ก็จะเสนอว่าอะไรที่เป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) ที่เอกชนไม่ทำ หรือทำแล้วมีราคาแพง รัฐต้องเข้ามาทำ เช่น การศึกษาพื้นฐาน หรือการดูแลเด็กเล็ก (primary child care) ประเด็นพวกนี้เถียงกันได้เลยว่ารัฐควรต้องทุ่มทรัพยากรอย่างเต็มที่ดีไหม

ต้องย้ำว่า เวลาบอกว่ารัฐเข้ามาทำ บทบาทของรัฐมีได้หลายระดับ ไม่ได้หมายความว่า รัฐต้องแสดงบทบาทในฐานะผู้ผลิตเท่านั้น อาจเป็นแค่การเข้ามากำหนดกรอบ หรือมาทำอะไรแค่บางส่วนก็ได้

นโยบายแบบนี้ต้องถูกมองว่าเป็นเสรีนิยมใหม่แน่ๆ

ใช่! มันมีภาพ (stereotype) แบบนั้นอยู่ แต่การเป็นเสรีนิยมใหม่หรือไม่ใช่เสรีนิยมใหม่แล้วยังไงต่อ ตอนนี้ผมเพียงแต่เสนอความคิดที่เห็นว่าจะตอบโจทย์เมืองไทยในบริบทปัจจุบันได้

อย่างที่บอกไปว่า รัฐไทยใหญ่เกินไปในที่ที่ไม่ควรใหญ่ และเล็กเกินไปในที่ที่ไม่ควรเล็ก ผมไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐจะต้องทำหลายอย่างที่รัฐทำ แต่เวลาบอกว่าควรลดบทบาทรัฐ คนก็จะบอกทันทีว่าเป็นพวกบ้าตลาด

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

นอกจากเปลี่ยนปรัชญาและวิธีการมองโลกแล้ว การทำให้กลไกตลาดในตลาดนโยบายทำงาน ต้องการแพลตฟอร์มแบบไหนมารองรับอีกไหม

การไปตั้งหน่วยงาน คณะกรรมการ องค์กรหรือสถาบัน ต่างๆ นี่เลิกได้เลย ผมไม่เชื่อ (หัวเราะ) ประเทศไทยเวลาเจอปัญหาอะไร ก็ชอบไปตั้งคณะทำงานขึ้นมา สุดท้ายก็กลายเป็นหน่วยงานราชการอีกหน่วยหนึ่ง คุณต้องทำให้ข้อเสนอในการแก้ปัญหามันมาจากสารพัดทิศทาง

มันไม่มีหรอกซูเปอร์เทคโนแครตที่จะรู้ทุกอย่าง ขนาดคนที่อยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ หรือคนที่บริหารกองทุนที่เจ๋งที่สุดในโลก เขายังไม่รู้เลยว่าเทคโนโลยีไหน หรือนวัตกรรมไหนมันจะเวิร์ค เขาถึงลงทุน 10 ที เจ๊ง 9 ที ในโลกที่ซับซ้อนมากๆ การดำเนินนโยบายต้องเป็นไปในลักษณะการทดลอง (experiment) มากขึ้น และก็ยอมรับว่านโยบายสามารถล้มเหลวได้

หนึ่งในวิธีการสร้างระบบนิเวศที่ทำให้เกิดการทดลองเชิงนโยบายได้คือ การกระจายอำนาจ คือแทนที่จะให้ทุกอย่างถูกคิดมาจากส่วนกลาง ก็ให้แต่ละท้องถิ่นทดลองดู ถ้าไม่เวิร์คก็โอเค ยอมรับได้ ที่ผ่านมาเราชอบคิดว่าการทำนโยบายเป็นเรื่องผิดพลาดไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วก็ทำผิดมากกว่าถูก ตลกร้ายคือ เวลาเริ่มต้นใหม่ก็ทำราวกับว่าตัวเองไม่เคยผิดและใช้วิธีคิดแบบไม่ยอมรับความผิดพลาดกำหนดนโยบายวนซ้ำไปมา

การทดลองทำนโยบายอย่างเดียวไม่พอ การจะรู้ว่านโยบายไหนสำเร็จหรือล้มเหลวต้องมีการประเมิน (evaluation) ด้วย  ที่ผ่านมา เวลารัฐทำนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งเนี่ย เราแทบไม่รู้เลยว่าผลประโยชน์เป็นเท่าไหร่และมีต้นทุนเท่าไหร่ ทำแล้วคุ้มหรือไม่ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดแล้วในกระบวนการกำหนดนโยบาย อีกอย่างหนึ่งที่เมืองไทยขาดมากเลย คือ การตั้งคำถามแบบแย้งความจริง (counterfactual) คือ มีแต่บอกว่าถ้าทำนโยบายแล้วประชาชนจะได้นู่นได้นี่ แต่ไม่เคยคิดว่านโยบายนี้มีผลข้างเคียงอื่นหรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงการคิดในมุมกลับว่า ถ้าไม่ทำนโยบายเลยจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

มีโควทหนึ่งที่ผมชอบมากเขียนโดย Frederic Bastiat นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1850 ซึ่งเขียนว่า “ความแตกต่างอย่างถึงที่สุดของนักเศรษฐศาสตร์ที่แย่และนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีคือ คนหนึ่งจะคิดคำนึงเฉพาะผลกระทบที่มองเห็นเท่านั้น แต่อีกคนคำนึงถึงทั้งผลกระทบที่มองเห็นและที่คาดการณ์ไว้ด้วย…ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์ที่แย่จะไล่ตามอะไรเล็กๆ ที่ดูดีในปัจจุบัน แต่จะก่อให้เกิดหายนะตามมา ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ที่แท้จะมองหาอนาคตที่ดี โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงในปัจจุบันมาก” นี่เขาเขียนไว้ 150 ปีแล้วนะ แต่ยังเป็นวิธีคิดที่ยังเอามาใช้ในกระบวนการกำหนดนโยบายได้อยู่เลย

 

ถ้าเป็นบริษัทเอกชนการรับความเสี่ยงคงเป็นเรื่องปกติ ถ้าผิดพลาดอย่างแย่ที่สุดก็เจ๊งไป แต่ประเทศเจ๊งไม่ได้หรือเปล่า

เป็นคำถามที่ดีมาก (หัวเราะ) พอโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ในช่วงหลังผมจึงชอบมองนโยบายในเชิงบริหารความเสี่ยง คือ มันมีบางเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างมากและปล่อยให้พลาดไม่ได้ ก็ต้องบริหารแบบเข้ม ต้องเผื่อไว้ให้มาก สร้างกันชนไว้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของไทยคือ ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) คือเราผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 มาแล้ว เคยโดนโจมตีค่าเงินจนเงินสำรองระหว่างประเทศหมด เรื่องนี้แบงก์ชาติจะไม่ยอมพลาดซ้ำอีก ตอนนี้เงินสำรองระหว่างประเทศจึงสูงมาก ส่วนความเข้มแข็งของระบบธนาคารก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ในตอนนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของไทยจึงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

แต่ถ้าเป็นการให้บริการสาธารณะภายในพื้นที่เทศบาล การออกแบบระบบการศึกษา การทำระบบขนส่งสาธารณะ  อันนี้ทดลองได้ ผิดพลาดได้ ในประเทศไทยก็เริ่มให้เห็นมีตัวอย่างแล้วว่าท้องถิ่นเริ่มทำอะไรเจ๋งๆ ออกมา บางที่สำเร็จ บางที่ล้มเหลว ไม่เป็นไร ก็เรียนรู้จากความล้มเหลวและความสำเร็จจากกันและกัน

อะไรเป็นคอขวดสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

ปัญหาของสังคมไทยคือ คุณภาพการถกเถียงต่ำมาก ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมความเกรงใจแบบไทยๆ ที่ทำให้ไม่กล้าถามหรือเถียงกัน แต่บางทีมันเกินไปมาก หลายครั้งเวลาที่ผู้มีอำนาจตอบคำถามนี่ เหตุผลเขาแย่มาก เหมือนกับว่าเขาไม่มีความรู้เลย แต่พวกเราก็ยังปล่อยผ่านไป

ตราบใดที่ไม่มีการตั้งคำถาม กระบวนการทำนโยบายให้ดีขึ้นคงเกิดได้ยาก อย่าลืมว่า คนกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลประโยชน์เต็มๆ จากการทำนโยบายคือรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้เครดิตเต็มจากการทำนโยบาย พฤติกรรมที่ผมไม่ค่อยเห็นที่ประเทศพัฒนาแล้วเท่าไหร่ แต่เห็นบ่อยในไทยกับประเทศกำลังพัฒนาคือ การที่นักการเมืองเอางบประมาณมาสร้างอะไรสักอย่าง แต่เอาชื่อตัวเองไปติดเป็นป้ายถาวรเลยว่ามาจากคนนี้ (หัวเราะ)

ผมเชียร์ให้มีการตั้งคำถามเยอะๆ มันจะช่วยให้กระบวนการกำหนดนโยบายดีขึ้นได้

ปี 2019 ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มเปิดตัวนโยบายกันไปแล้ว ในภาพรวมมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ถ้าดูจากนโยบายที่ผ่านมาของรัฐบาลในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะชุดไหนก็ตาม จะเห็นว่า มันคล้ายกันไปหมดเลย ดังนั้น การกำหนดนโยบายอาจไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองเสียทีเดียว แต่อยู่ที่กระบวนการกำหนดนโยบายทั้งหมด ระบบราชการ กลุ่มผลประโยชน์ สื่อ ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคุยกันไปแล้ว ในแง่นี้ เราจึงไม่ควรคาดหวังว่า เมื่อพรรคการเมืองเสนอแบบนู้น แบบนี้ แล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนหมด

สิ่งที่อยากชวนตั้งคำถามคือ เราจดจ่อกับการเลือกตั้งมากจนเกินไปหรือเปล่า พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า การเลือกตั้งไม่จำเป็นนะ จำเป็นและควรมีอย่างยิ่ง แต่ต้องระวังไม่ให้การเลือกตั้งให้คำสัญญาที่เกินจริง กรณีกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองกับมาครงในฝรั่งเศสก็สะท้อนนะว่า การเปลี่ยนกระบวนการกำหนดนโยบายไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ

สิ่งที่ต้องมาพร้อมกับประชาธิปไตยคือ สิทธิขั้นพื้นฐานของคน ปัญหาที่ใหญ่มากของไทยคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (treated equally before the law) นึกออกไหมว่า บ้านเรายังมีกรณีแบบเสือดำ หรือคดีบอส-กระทิงแดง เยอะแยะเต็มไปหมด ถ้าหลังกุมภาพันธ์ 2019 เราได้ประชาธิปไตยกลับมาแค่อย่างเดียว แล้วเรื่องสิทธิพื้นฐายยังเหมือนเดิม ก็น่ากังวลมากๆ เพราะมันมีโอกาสที่จะนำไปสู่ระบอบ ‘ทรราชย์เสียงข้างมาก’ (tyranny of the majority) ซึ่งหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ เช่น ในตุรกี หรือในฟิลิปปินส์ เป็นต้น

การเลือกตั้งจะไม่ส่งผลอะไรต่อเศรษฐกิจเลยอย่างนั้นหรือ

นักลงทุนต่างชาติจับตาเรื่องนี้พอสมควร เพราะถ้าเขาจะตัดสินใจลงทุนระยะยาว การเลือกตั้งก็เป็นปัจจัยด้านความเสี่ยงที่ต้องนำไปวิเคราะห์ร่วมด้วย แต่ถ้าถามเลยไปถึงเรื่องโครงสร้างประชากร หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต การเลือกตั้งอาจไม่เกี่ยวโดยตรงเท่าไหร่

อย่างที่บอกไปว่า อย่าทำให้การเลือกตั้งให้คำสัญญาที่เกินจริง ถ้าจะให้แฟร์ ต้องบอกว่าโจทย์ทางเศรษฐกิจหลายโจทย์ก็ไม่ใช่โจทย์ที่การเลือกตั้งตอบได้โดยตรง ยกเว้นจะบอกว่า การเลือกตั้งจะนำไปสู่การผลิตนโยบายให้ดีขึ้นก็พอฟังได้ แต่ต้องถามคำถามกันต่ออีกเยอะ (หัวเราะ)

มองไปในอนาคต ประเทศไทยยังมีหวังไหม

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากมายมหาศาล เรามีสมรรถนะ (endowment) ที่ดีมากในหลายเรื่อง ถ้าทำให้การแข่งขันอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้นได้ เราจะไปต่อได้ เพราะแบบนี้ผมจึงเชื่อในการทดลองสิ่งใหม่จากคนที่หลากหลาย เชื่อในการกระจายอำนาจ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมร้านอาหาร จะเห็นเลยว่า การแข่งขันที่เข้มข้นทำให้กระบวนการ ‘ทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์’ (creative destruction) สูงมาก ร้านอาหารเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันเป็นว่าเล่น แล้วร้านที่อยู่รอดได้คือร้านที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ตลาดได้

อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึงความหวัง สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าชีวิตของพวกเขา หรืออย่างน้อยเห็นว่าลูกหลานรุ่นต่อไปจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ ถ้าไม่มีตรงนี้ ประเทศไทยก็ไปต่อลำบาก

อยากให้แนะนำหนังสือสำหรับอ่านเพื่อรับปี 2019

คำถามโดนใจมาก (หัวเราะเสียงดัง) ขอแนะนำสองเล่มละกัน เล่มแรกชื่อ A Demon of Our Own Design เขียนโดย Richard Bookstaber ซึ่งเคยอยู่วอลล์สตรีทมาก่อน เล่มนี้ช่วยให้เข้าใจปรัชญาและวิธีคิดเกี่ยวกับโลกที่ซับซ้อนได้ดี

อีกเล่มหนึ่งคือ หนังสือเรื่อง The Tyranny of Experts (ทรราชย์เทคโนแครต: โลกการพัฒนาใต้เงาเผด็จการ) เขียนโดย William Easterly เล่มนี้เกี่ยวกับความล้มเหลวของกระบวนการกำหนดนโยบายแบบเทคโนแครตที่เน้นเอาผู้รู้มากำหนดนโยบายจากบนลงล่าง ผมชอบเล่มนี้มาก ได้เรียนรู้เยอะเลย

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save