fbpx
อ่าน 2018 ผ่านผลงาน 101

อ่าน 2018 ผ่านผลงาน 101

 

ตลอดปี 2018 The101.world นำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ ร่วมแปดร้อยชิ้น  ในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ 2019 กองบรรณาธิการจึงนำหลากหลายผลงานเด่นตลอดทั้งปีมาสังเคราะห์ให้เห็นภาพสถานการณ์โลกและไทยในมิติต่างๆ พร้อมคำถามท้าทายสำหรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแถมเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ตั้งแต่เรื่องเทรนด์โลก สถานการณ์โลก การเมืองไทย ไปจนถึงเศรษฐกิจไทยและโลก ความยุติธรรม ศิลปะ-วรรณกรรม และชีวิตคนไทย

สมคิด พุทธศรี ธิติ มีแต้ม พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย วจนา วรรลยางกูร และศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ กองบรรณาธิการ ร่วมกัน ‘อ่าน 2018’ ผ่านผลงานตลอดทั้งปีของ The101.world ในบทความเจ็ดชิ้นพิเศษรับปีใหม่ ให้รู้เท่าทันอนาคต

 

‘เมือง เทคโนโลยี ความยั่งยืน’ วัตถุดิบชั้นดีของ ‘Trend’ ปี 2018

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนอ่าน ‘เทรนด์’ ผ่านสายตาและบทความของ 101 ในปี 2018

ว่าด้วยประเด็น ‘เมือง’ และคุณสมบัติของการเป็นเมืองที่ดี ‘เทคโนโลยี’ ที่กระทบการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัล และการรักษาทรัพยากรอย่าง ‘ยั่งยืน’

“ภาพการรวมกันของสิ่งที่ไม่น่าจะรวมกันได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีให้เห็นเท่าไหร่ในเมืองปัจจุบัน เช่น ตึกราม บานเฟี้ยม ริมแม่น้ำ พรมหญ้า ต้นไม้ใหญ่ คือเมืองที่มีลักษณะเป็นระเบียบ มีการดูแลจัดการ ไม่ใช่เมืองที่ปล่อยให้รกเรื้อหรือมีปัญหาต่างๆ ผู้คนจะต้องสามารถใช้เมืองเหล่านั้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ก่อให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างกันได้”

“หากเราตั้งต้นด้วยคุณสมบัติ Walkability พร้อมกับข้อมูลจาก goodwalk.org เราจะพบว่าในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ มีพื้นที่ที่เหมาะกับการเดินจริงๆ แค่ 11% เท่านั้น นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ทำฟุตปาธใหม่ทุกปี และไม่เคยสวยจริงๆ เพราะก่อสร้างแบบไม่จบไม่สิ้นสักที

“หลายคนบอกว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป แช็ตบ็อตแบบ A.I. Based นั้น จะเริ่มมี ‘ฐานข้อมูล’ มากพอที่จะสร้างบทสนทนาที่ ‘มีความหมาย’ (Meaningful Conversation) A.I. Based จะสร้างความบันเทิงให้เรา เช่น เล่าเรื่องให้ฟัง เป็นเพื่อนพูดคุย เล่านิทานให้เราฟังก่อนนอนก็ได้ด้วย เป็น ‘ครู’ คอยสอนเรื่องต่างๆ ให้เรา และสามารถหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาตรวจสอบคัดง้างกันได้ตลอดเวลาด้วย”

“ปัจจุบันเริ่มมีมาตรการเก็บเงินหรือการตัดแต้มสะสมในห้างสรรพสินค้าเมื่อใช้ถุงพลาสติก เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้คนมีความต้องการซื้อของลดลง เพราะมีต้นทุนค่าถุงพลาสติกเพิ่มเข้ามา แน่นอนว่ายอดขายก็ลดลงตามไปด้วย แต่การเก็บค่าถุงพลาสติกเป็นเพียงทางเลือก เพราะถ้าคนไม่อยากจ่ายค่าถุง ก็ต้องหิ้วกลับไปเอง”

 

เช็คสถานการณ์การเมืองโลก : การหวนคืนของประวัติศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่

 

โดย สมคิด พุทธศรี

สมคิด พุทธศรี ทบทวนสถานการณ์การเมืองโลกในรอบปีที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้าถึงคำถามท้าทายแห่งอนาคต

ร่วมสำรวจปีแห่ง ‘การหวนคืนของประวัติศาสตร์’ เมื่อระเบียบการเมืองโลกแบบเสรีนิยมสั่นคลอนและถูกท้าทาย

จากวิกฤตคาบสมุทรเกาหลีในครึ่งปีแรกสู่สงครามการค้าในครึ่งปีหลัง เราเห็นอะไร

อะไรคือเบื้องหลังและนัยที่มีต่อโลกของปรากฏการณ์สำคัญอย่าง การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐอเมริกา วิกฤตการณ์ ‘Brexit’ ที่ไร้ทางออก การกลับมาสู่เกมจัดระเบียบโลกของรัสเซีย และการกระชับอำนาจของสีจิ้นผิง

 

การเมืองของ ‘ความหวัง’ กับการเมืองของ ‘ความจริง’ : การเมืองไทย 2018

 

โดย โดย ธิติ มีแต้ม

สังคมไทยอยู่กับรัฐบาล คสช. มาเข้าปีที่ 5 แล้ว และโดยข้อเท็จจริงก็มีทั้งคนรักและคนชัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำสั่งปลดล็อคให้ประชาชนและพรรคการเมือง สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ทั้งหมดต่างก็เฝ้านับถอยหลังที่จะได้เลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2019

หลังการเลือกตั้ง ใบหน้าสังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ยังไม่มีใครสเก๊ตช์ภาพได้ชัดเจน

ธิติ มีแต้ม ชวนสำรวจทัศนะทุกขั้วอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2018 ตั้งแต่นายพล นักวิชาการ หัวหน้าพรรค ไปจนถึงประชาชนและเหยื่อทางการเมือง ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองทึมเทาที่สุด

เพื่อเตรียมตัวก้าวไปในเส้นทางของปี 2019 ร่วมกัน

 

เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย 2018 : เราอาจผ่านจุดที่ดีที่สุดมาแล้ว

 

โดย สมคิด พุทธศรี

สมคิด พุทธศรี สรุปภาพรวมของเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ในปี 2018 ซึ่งตั้งอยู่บนความผันผวน ไร้ระเบียบแบบแผน ยากต่อการคาดเดา และสะท้อนว่าเราอาจผ่าน ‘จุดที่ดีที่สุด’ มาแล้ว

ไล่ตั้งแต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี / สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ / เบื้องลึกเบื้องหลังกรณี Brexit / มหากาพย์การประมูลคลื่นความถี่ / ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และวาทกรรมรวยกระจุก-จนกระจาย / โอกาสและความท้าทายในยุค Digital Transformation ฯลฯ

 

ความยุติธรรมไทย 2018 : ปีแห่งสิทธิมนุษยชน (แค่ในกระดาษ)

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

‘ความเป็นธรรม’ เป็นสิ่งที่ผู้คนร่ำร้องเรียกหาทุกยุคสมัย แม้จะเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากพยายามหาทางออกเพื่ออุดช่องว่างในระบบความยุติธรรมที่ทำให้คนไม่เท่าเทียม แต่ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ยังเติบโตอย่างแข็งแรงโดยมีคนในสังคมร่วมกันอุ้มชู

วจนา วรรลยางกูร ชวนมองย้อนไปในปี 2018 ที่ผ่านมา ผ่านบทความใน 101 ที่พูดถึงเรื่องความยุติธรรมในหลากหลายด้าน ทั้งในแง่กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม ในช่วงปีที่ 4 ของรัฐบาลทหารที่พูดซ้ำๆ เรื่องการปฏิรูปปัญหาหลายด้านในสังคมไทย รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และมีการยกสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติในเอกสาร แต่ไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นผลงาน เมื่อเป็นรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน

มองผ่านบทความของ 101 จะเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่หายไปคือการพยายามต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมโดยภาคประชาชน ทั้งจากคนตัวเล็กตัวน้อยหรือการรวมพลังกันในชุมชน เช่นกรณีป้อมมหากาฬ กลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย

แม้ในช่วงเวลาที่มืดมนก็ยังมีแสงรำไรส่องให้เห็นว่ามีคนที่ยังไม่ยอมแพ้

 

แด่ผีและปีศาจ : เมื่อประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในปี 2018

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล สรุปภาพรวมแวดวง ‘ศิลปะ-วรรณกรรม’ ปี 2018 ในแบบฉบับ 101

ไฮไลท์อยู่ที่วาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ‘นายผี’ และ เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้เขียนนวนิยาย ‘ปีศาจ’ ไล่มาถึงการเกิดขึ้นของเพลง ‘ประเทศกูมี’ และภาพยนตร์ ’10 Years Thailand’ อันสะท้อนภาพประเทศไทยที่ไร้อนาคต รวมถึงประวัติศาสตร์อันบอบช้ำ–ที่กลับมาซ้ำรอยในปี 2018

 

ลัดพื้นที่ เลาะตะเข็บชีวิตคนไทย ปี 2018

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

เวลาพูดถึงความลำบากของประชาชนหรือปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แม้จะเห็นชัดในเชิงตัวเลขภาพรวม แต่ในบางครั้งเราก็ไม่อาจเห็น ‘คน’ ได้ชัดเจน

ความเจ็บช้ำในแววตา สภาพบ้านเรือนความเป็นอยู่ น้ำเสียงของความทุกข์ หรือแม้แต่เสื้อผ้าขาดวิ่นและกลิ่นเหม็นเน่าจากคลอง ก็ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในปัญหาเชิงโครงสร้าง สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องลงไปสัมผัส

จุดที่เล็กละเอียดของมนุษย์คือการใช้ชีวิต และสภาพชีวิตก็เป็นตัวบอกได้ว่า ความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยเป็นแบบไหน สุขสบาย ทุกข์เข็ญ หรือสนุกไปตามอัตภาพ

ตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา 101 ได้ลงพื้นที่สำรวจชีวิตผู้คน นับตั้งแต่ย่านเมืองเก่าแถบพระนคร ไปจนถึงย่านที่คึกคักยามค่ำคืนอย่างสีลม-สุขุมวิท

ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เรายังลงไปดูชีวิตชาวประมงที่มหาชัย ต่อลงไปถึงภาคใต้ เห็นชีวิตกลุ่มลูกเหรียง ก่อนจะกลับมาดูพื้นที่ภาคอีสานที่มีกลุ่มคนกำลังพัฒนาการศึกษาอยู่อย่างเอาจริงเอาจัง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย รวมงานเชิงสารคดีที่ลัดเลาะเข้าไปดูชีวิตคนไทยในหลายพื้นที่ ให้เห็นทั้งความเป็นอยู่ ปัญหาในพื้นที่ สภาพสังคม วิธีคิดของคนในชุมชน

ไม่จำเป็นต้องมัดเชือกรองเท้า หาที่เหมาะๆ แล้วนั่งลง เลาะตะเข็บชีวิตคนไทยไปด้วยกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save