fbpx
Lust for Light : เปิดโลก ‘ศิลปะแสง’ ที่มีอะไรมากกว่าแค่ไฟปีใหม่

Lust for Light : เปิดโลก ‘ศิลปะแสง’ ที่มีอะไรมากกว่าแค่ไฟปีใหม่

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

 

Third Eye View พาผู้อ่านไปทัวร์นิทรรศการที่เราเก็บมาฝากจากโตเกียวมานานหลายฉบับ ทีแรกเปรยไว้ว่าจะหยิบมาเล่าในฉบับนี้อีกหนึ่ง แต่กลัวจะเลี่ยนนิทรรศการกันซะก่อน เราเลยขอคั่นด้วยอีกรสชาติ ที่คัดสรรมาแล้วว่าเหมาะเหม็งเหลือเกินกับบรรยากาศช่วงส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

 

‘แสงไฟ’ คงจะเป็นภาพจำของปีใหม่สำหรับหลายคน ไม่ว่าบนถนน หน้าหรือในห้างสรรพสินค้า อาคารต่างๆ หรือแม้แต่มุมเล็กๆ ในบ้านคุณเอง ต่างวูบวาว ระยิบระยับไปด้วยแสงไฟหลากชนิดตลอดช่วงเวลานี้ จริงๆ จะพูดว่าแค่ช่วงปีใหม่คงไม่ถูก เพราะแสงเหล่านี้อยู่คู่กับแทบทุกเทศกาลเฉลิมฉลองเลยก็ว่าได้

แม้เราจะสนิทสนมกับแสงไฟประดับประดาเป็นอย่างดี แต่หากเอ่ยถึง ‘Light art’ หรือ ‘ศิลปะแสง’ ขึ้นมาให้ได้ยิน คงไม่ใช่ทุกคนที่จะร้องอ๋อ Third Eye View ฉบับส่งท้ายปี จึงขอพาคุณไปรู้จักกับโลกของงานศิลปะแสง  ศิลปะน้องใหม่อีกแขนง ที่แม้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมล้ำสมัยอีกแล้วในโลกศิลปะ แต่มั่นใจได้ว่าเป็นรูปแบบศิลปะที่จะ ‘มาแรง’ ในประเทศไทยอย่างแน่นอนในปี 2019 ผ่านหนังสือที่เรียกได้ว่าเป็น encyclopedia ของงานศิลปะแสงที่เพิ่งออกสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในชื่อสุดเซ็กซี่ว่า ‘Lust for Light’

 

 

ในโลกของศิลปะ เราใช้สื่อ’ (medium) หลากหลายรูปแบบเพื่อนำสาร’ (message) ไปสู่คนดู ตั้งแต่รูปแบบสื่อที่คุ้นเคยอย่างสีที่บรรเลงบนแคนวาส หินแกะสลักเป็นรูป กระดาษที่กดลงบนแม่พิมพ์ ฟิล์มภาพถ่ายที่บันทึกโมเม้นต์ ภาพเคลื่อนไหวในม้วนวิดีโอ มาจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่เทคโนโลยีล้ำๆ อย่างแว่น Virtual Reality ก็ถูกใช้เป็น medium สำหรับศิลปะ

และศิลปะแสงที่เราจะว่ากันในวันนี้ ก็คือศิลปะที่ใช้แสงเป็นสื่อนำพาสารไปสู่คนดูนั่นเอง

 

 

บางคนอาจยังไม่เก็ตว่า ศิลปะแสงที่ว่านี้ ต่างกันยังไงกับไฟปีใหม่ ไฟงานวัด ไฟวันลอยกระทง ฯลฯ ที่ฉันเคยเห็นล่ะ? ถ้าให้สรุปก็คงต้องบอกว่า ‘จุดประสงค์’ ของมันต่างกันครับ

ไฟประดับในเทศกาลที่เราเห็นกัน มีจุดประสงค์คือช่วยขับเน้นบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง สร้างความรู้สึก และแปลงโฉมให้สถานที่เดิมที่ปกติอาจดูเหี่ยวๆ ให้ระยิบระยับตระการตา แม้บางทีอาจมีการออกแบบแสงให้เข้ากับเนื้อหาของเทศกาลนั้นๆ อยู่บ้าง แต่การสื่อสารความหมายก็ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ

ตรงกันข้าม ศิลปะแสงไม่จำเป็นต้องอยู่คู่กับเทศกาลเฉลิมฉลอง (หลายงานติดตั้งแต่ในแกลอรี่) ไม่จำเป็นต้องเรืองรองอลังการ (หนำซ้ำบางงานอาจทำให้พื้นที่ตรงนั้นดาร์กกว่าเดิมด้วย!) เพราะจุดประสงค์อันเป็นหัวใจสำคัญของศิลปะแสงคือ ‘ความหมาย’ และ ‘สาร’ ที่ศิลปินต้องการจะสื่อ

 

 

ถ้าถามว่าแสงประเภทไหนที่ศิลปินแสงหยิบมาใช้บ้าง ก็คงต้องบอกว่าทุกประเภท ตั้งแต่ไฟนีออนยันพระอาทิตย์ แต่ถ้าหากถามว่าศิลปะแสงมีรูปแบบไหนบ้าง แม้การนิยามหมวดหมู่ในงานศิลปะจะเป็นเรื่องยาก แต่หนังสือ Lust for Light ก็ได้แบ่งศิลปะแสงตามรูปแบบผลงานและแนวคิดของศิลปิน ออกเป็น 9 หมวดหมู่หลักๆ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ

  1. Neon ศิลปะแสงที่ใช้ไฟนีออนเป็นหลักในงาน
  2. Sculptural ศิลปะแสงที่มีรูปแบบเป็นงานประติมากรรม
  3. Installation ศิลปะแสงที่โดดเด่นในเรื่องของการติดตั้ง
  4. Site-Specific ศิลปะแสงที่เล่นกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่จัดแสดงผลงาน
  5. Experiential ศิลปะแสงที่เน้นพาคนดูเข้าไปสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่
  6. Color Field ศิลปะแสงที่ใช้แสงย้อมทั่วทั้งพื้นที่หรือลานกว้าง
  7. Light & Shadow ศิลปะแสงที่เล่นกับทั้งแสงและเงา
  8. Photographic ศิลปะแสงที่ใช้ภาพถ่ายในการบันทึกปรากฏการณ์
  9. Projection ศิลปะที่ใช้การฉายภาพจากโปรเจ็กเตอร์

 

 

หนังสือ Lust for Light แบ่งศิลปะแสงตามรูปแบบผลงานและแนวคิดของศิลปิน

 

 

แต่เอาเข้าจริงหมวดหมู่เหล่านี้ก็ไม่สำคัญขนาดนั้นครับ เพราะศิลปินแต่ละคนก็ทำงานหลากหลายแบบ ฉะนั้นสิ่งที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจมากกว่าก็คือแนวคิดของศิลปิน ว่าทำไมเขาจึงทำงานออกมาแบบนั้น หนังสือเล่มนี้จึงไม่พลาดที่จะมีบทสัมภาษณ์ศิลปินมาให้อ่านกันด้วย

บทสัมภาษณ์ศิลปินใน Lust For Light นอกจากทำให้เรารู้จัก medium ในบริบทนี้คือ ‘ชนิดแสง’ ที่ศิลปินแต่ละคนเลือกใช้ทำงาน ยังพาไปรู้ที่มาที่ไปว่าทำไมแต่ละคนถึงเลือกใช้ชนิดแสงเหล่านั้นมาเล่าให้เราฟังด้วย ตรงนี้น่าสนใจมากๆ สำหรับทั้งคนทำและคนดูเลย สำหรับคนทำ บ่อยๆ ที่เราใช้ ‘เครื่องมือ’ ตามความเคยชินหรือตามที่ร่ำเรียนมาโดยหลงลืมตั้งคำถามไปว่า สิ่งที่เราใช้มีลักษณะเฉพาะตัวยังไง มีผลต่อความรู้สึกของคนดูในแบบไหน และตัวเครื่องมือเองกำลังสื่อความหมายอะไรอยู่ สำหรับคนดู การเข้าใจว่าแต่ละ medium สื่อความหมายในตัวเองอย่างไร มีผลมากๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาของงานศิลปะมากขึ้น

ศิลปินอย่าง James Clar คนนี้เริ่มต้นจากการเรียนด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ จึงมองเห็นแสงในมุมของสิ่งที่ทำให้เกิดภาพ แม้แสงจะจับต้องไม่ได้ แต่เมื่อสะท้อนออกมาจากจอ กลับสามารถโน้มน้าวให้คนหัวเราะลั่น สะใจ หรือยิ้มน้ำตาไหล ผลงานของเขาจึงได้แรงบันดาลใจมาจากเส้นกระพริบของจอโทรทัศน์ และใช้แสงเล่าเรื่องราว

 

 

ในมุมมองของศิลปินที่ใช้แสงสร้างประสบการณ์อย่าง NONOTAK สนใจแสงในแง่มุมของสิ่งที่ทำให้คนรับรู้การมีอยู่ของพื้นที่ ศิลปะแสงของแก๊งนี้จึงมักออกมาในรูปแบบของการสร้างพื้นที่ที่เล่นลวงการรับรู้ทางตาของคนนั่นเอง

 

 

ส่วนที่ Dylan Neuwirth เลือกใช้ไฟนีออน เพราะคนมีประสบการณ์ร่วมกับแสงชนิดนี้ในรูปแบบของป้ายโฆษณา หรือสัญญาณเตือนที่เรียกร้องความสนใจให้คนหยุดกึก ศิลปะแสงของนายดีแลนจึงเล่นกับความรู้สึกของการเตือน หรือส่งสัญญาณบางอย่าง

 

 

ในขณะที่ Kate Housh กลับมองนีออนเดียวกันในแง่มุมของความลึกลับ ผู้หญิง และเซ็กซ์ เพราะเป็นชนิดแสงที่ผูกอยู่กับประสบการณ์ในผับหรือสถานที่เที่ยวกลางคืน และให้ความเรืองที่เย้ายวน

 

 

หลายศิลปินสนใจแสงเพราะมันอยู่กึ่งกลางระหว่างสิ่งที่  ‘มีตัวตน’ กับ ‘ไม่มีตัวตน’ อนุภาค photon ของแสงทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ แต่เรากลับไม่สามารถมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของมันด้วยตา

Javier Riera ศิลปินแสงที่ทำงาน Site-Specific กับพื้นที่ธรรมชาติ นำแสงโปรเจ็กเตอร์ฉายลงบนต้นไม้ และพบว่าความ ‘ไม่มีตัวตน แต่สามารถมองเห็นได้’ ของแสงนั้นทำให้สภาพพื้นที่ก่อนหน้าและหลังจากเขาเข้าไปทำงานนั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย เขาไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ ทำลายธรรมชาติ หรือผลาญทรัพยากรอะไรเลยนอกจากไฟฟ้าในการสร้างงานศิลปะ

 

 

Lust for Light ไม่ได้รวมรวบแค่มิติทางศิลปะ แต่ยังทำให้เราเห็นแง่มุมของแสง ที่สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์อย่างไม่เคยสังเกตมาก่อน แสงอาทิตย์ทำให้ทุกอย่างในโลกปรากฎขึ้น เรารับรู้เวลาผ่านแสง  แสงยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรในโลกเติบโต และยังเป็นสิ่งที่มนุษย์โหยหาเพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ คำว่า ‘Lust’ ในชื่อหนังสือจึงไม่ได้เกินเลย เพราะเราทุกคนต่าง ‘กระหาย’ และขาดแสงไม่ได้จริงๆ

ในเชิงวัฒนธรรม แสงยังผูกโยงอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์และศาสนา ตำราพุทธศาสนาบางเล่มเขียนถึง ‘แดนสุขาวดี’ ดินแดนสำหรับการปฏิบัติธรรมหลังความตายเพื่อไปสู่นิพพาน ว่าเป็นสถานที่ที่เรืองรองไปด้วยแสงสว่าง การปรากฏตัวของพระเยซูคริสต์ในภาพเขียนมักมาพร้อมแสงสว่างเจิดจ้า โบสถ์ที่ออกแบบช่องแสงไว้ในตำแหน่งที่สื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยก่อนยังมีการจุดควันเพื่อให้เห็นลำแสงชัดเจน แม้แต่วัดในพุทธศาสนายังออกแบบพุทธรูปด้วยพื้นผิวสีทองเพื่อให้อร่ามยามต้องแสง

 

 

 

ย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้น เหตุผลที่เรามั่นใจนักหนาว่า ศิลปะแสง จะมาแรงในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ประการแรกก็เพราะว่าศิลปะแขนงนี้สามารถจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะ ไม่ต้องเดินเข้าแกลอรี่ ซึ่งเป็นเซ้นส์ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมการเดินดูไฟปีใหม่ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว

ความเป็นสาธารณะทำให้ศิลปะแสงไม่ถูกตีกรอบอยู่ในพรมแดนของศิลปะเท่านั้น แต่สามารถเป็น ‘เครื่องมือ’ พัฒนาเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของ Urban Design ได้ด้วย ในเล่มนี้พูดถึงศิลปะแสงของ Bill Fitzgibbons ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งงานศิลปะให้คนมาเดินชม และไฟส่องสว่างเมืองไปในตัว นอกจากนี้งานของเขายังออกแบบให้งานใช้ชนิดของแสงที่กินพลังงานน้อยที่สุด สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอีกด้วย เรียกว่าสร้างอิมแพคในทุกมิติ

 

 

ลองออกไปมองนอกหนังสือ หลายเมืองในโลกมีการใช้ศิลปะแสง เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบเมืองกันไปแล้ว อย่างเต็มตัว เช่น เมือง Eindhoven ที่เนเธอแลนด์ งานศิลปะ Van Gogh Path จาก Studio Roosegaarde ในรูปแบบของทางจักรยานที่สามารถเก็บพลังงานแสงอาทิตย์จากตอนกลางวัน มาใช้เปล่งแสงได้ในตอนกลางคืนดูคล้ายฝีแปรงของแวนโก๊ะ สวยกว่าไฟถนนปกติไปอี๊ก!

 

 

เหตุผลง่ายๆ ประการสุดท้ายก็คือ ศิลปะแสง มีคาแรคเตอร์เล่นๆเหมาะกับคนบ้านเราดี ผมว่าคนบ้านเราชอบอะไรสนุกและถ่ายรูปสวย งานศิลปะแสงรวมสองคุณสมบัตินี้ไว้ด้วยกัน จึงเหมาะเหลือเกินสำหรับเป็นประตูด่านแรกให้คนเข้าไปสัมผัสศิลปะได้แบบไม่ขวยเขินและเกร็งเก้อ

อ้อ ! บ้านเราเริ่มมีเทศกาลศิลปะแสงกันอย่างจริงจังแล้วนะครับ อย่าง Bangkok Illumination ที่จัดแสดงย่านพร้อมพงศ์เมื่อหลายปีก่อน Awakening Bangkok ที่เพิ่งจัดไปหมาดๆ ในย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย รวมถึง Bangkok Design Week โดย TCDC ที่คาดว่าจะมีเทศกาลศิลปะแสงต่อเนื่องไปอีกทุกปีในย่านเดียวกันนี้ ยังไงก็ขอให้รอติดตาม

 

ภาพจาก Twitter @imtaiki

 

และสำหรับอีกไม่กี่วันนี้ เราก็ขอให้ทุกคนสนุกกับ ‘แสง’ ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้เต็มที่ เก็บเกี่ยวพลังงาน ก่อนจะกลับมา ‘เปล่งแสง’ ในตัวเองอย่างเจิดจ้าอีกครั้งในปี 2019

 

สวัสดีปีใหม่ครับ : )

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save