fbpx
เมื่อสนามสื่อ คือสนามรบของความเชื่อ : คุยกับ ‘อธิคม คุณาวุฒิ’ ว่าด้วยทางของสื่อ 2019

เมื่อสนามสื่อ คือสนามรบของความเชื่อ : คุยกับ ‘อธิคม คุณาวุฒิ’ ว่าด้วยทางของสื่อ 2019

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล, ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

“ประเด็นที่เราสู้กันอยู่ตอนนี้เป็นประเด็นที่ง่ายมากเลย คือประเด็นที่ว่ากันด้วยเรื่องพื้นฐานทั้งหลาย ถ้าคุณไปอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ยุคหลังพฤษภา 2535 จะพบว่ามันอุดมไปด้วยบทความที่โคตรก้าวหน้า โคตรฉลาดเลย แต่ตอนนี้เราพูดเรื่องที่ย้อนยุคไปไกลกว่าตอนนั้นเยอะ”

ข้างต้นคือทรรศนะจาก ‘อธิคม คุณาวุฒิ’ บรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง Way Magazine และสำนักพิมพ์ Way of Books ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงสื่อตั้งแต่ยุคนิตยสารเฟื่องฟู เรื่อยมาจนถึงยุครุ่งอรุณแห่งสื่อออนไลน์

เป็นผู้บุกเบิกและกุมหางเสือของสื่อหลายสำนัก ตั้งแต่เซคชั่น ‘เสาร์สวัสดี’ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ นิตยสาร a day weekly, นิตยสาร Way ก่อนขยับมาสู่สนามออนไลน์ แตกหน่อต่อยอดเป็น The Potential และ Seedtizen ตามลำดับ

นับเป็นคนที่ถนัดในการทำ ‘สื่อกระแสรอง’ มาอย่างต่อเนื่อง แหลมคม ยืนพื้นด้วยประเด็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทำเรื่องยากๆ ลึกๆ ให้เข้าถึงคนหมู่มากได้ โดยขีดเส้นใต้ชัดเจนว่า “เรื่องบางเรื่องก็ไม่ควร (มัก) ง่ายขนาดนั้น”

ท่ามกลางวันเวลาที่สื่อหลายค่ายพากันปรับตัว บ้างล้มหายตายจากแบบถาวร เขายืนหยัดท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ไปจนถึงวิกฤติสังคมการเมืองแต่ละครั้งมาอย่างไร ทำสื่อด้วยวิธีคิดและตัวตนแบบไหน มองอนาคตแวดวงสื่อถัดจากนี้อย่างไร ก้าวหน้าหรือล้าหลังจากยุคก่อนๆ แค่ไหน และเหตุใดจึงมองว่าสนามสื่อในยุคถัดจากนี้ จะกลายเป็นสนามรบที่ฟาดฟันกันด้วยความเชื่อ

101 ชวนอธิคมคุยยาวๆ ว่าด้วยทางของสื่อในปี 2019 ซึ่งยึดโยงอยู่กับสังคมการเมืองไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไปจนถึงบทบาทของ ‘พ่อ’ ที่ต้องประคับประคองลูกสาวให้เติบโตในสังคมอันเปราะบางนี้ไปอีกยาว

อธิคม คุณาวุฒิ

คุณทำสื่อมาราวๆ ยี่สิบปี ตั้งแต่ยุคสิ่งพิมพ์จนถึงออนไลน์ ประเมินสถานการณ์สื่อทุกวันนี้ยังไง

ถ้าให้ประเมินภาพรวม เรากลับรู้สึกว่าคนวงการสื่อมันปรับตัวช้าที่สุด ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นสาขาวิชาชีพที่มีความตื่นตัวก่อนใคร พวกวงการโฆษณาที่ปรับเร็วมาก เขาไม่มานั่งรอให้ใครสักคนทำหน้าที่เป็นพระเจ้าอีกต่อไป เขาย้ายลงมาหาพรีเซนเตอร์ หาคอนซูมเมอร์โดยตรง สื่อต่างหากที่ปรับโคตรช้า อย่างที่เห็นเมื่อเดือนก่อน ที่เจ้าใหญ่ๆ มะงุมมะงาหรากันว่าต้องปรับ นี่คือการปรับเพราะมันไปต่อไม่ได้จริงๆ ไม่ได้ปรับเพราะวิสัยทัศน์

ถามว่าคนทำงานข่าว คนทำสื่อยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ถือว่าถดถอยไหม เราคิดว่ามันเป็นความถดถอยสัมพัทธ์ หมายความว่าเขาไม่ได้เดินถอยหลังหรอก แต่เขาเดินช้า แล้วอย่างอื่นมันแซงเขาหมด เขายังทำจังหวะเดิม เพราะเคยทำกันอย่างนั้นมาแล้วมันประสบความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จนั้นไม่ได้นำมาแค่เงินทองนะ แต่หมายถึงชื่อเสียง การยอมรับ มันยากมากที่จะไปเขย่าแขนเขาว่า เฮ้ย ทำแบบเดิมมันไม่เวิร์คแล้วนะ ต้องให้เขาเจอด้วยตัวเอง

เหมือนที่ไทยรัฐเพิ่งเจอ ช่องสามก็เจอ เราคิดว่าคนข้างในมีคนเก่งเยอะมากนะ ในระดับคนทำงาน มีคนเก่งกว่าเราเยอะแยะแน่ๆ เพียงแต่องคาพยพขององค์กรแบบนั้นมันบีบคนเก่งๆ เหล่านี้ไม่สามารถหมุนโครงสร้างหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ด้วยตัวเอง คนที่จะพลิกได้คือผู้บริหารหรือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ถ้าคนเหล่านี้ไม่ปรับ ก็ไม่มีทางเปลี่ยนอะไรได้ ซึ่งถ้าพูดกันแบบเข้าใจ เอาเข้าจริงแล้วมันก็ปรับยากนะ พวกองค์กรใหญ่ทั้งหลาย เพราะว่าต้นทุนในการปรับมันสูง

อย่างกรณีของ Way เราก็นั่งดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคเว็บบอร์ด ตอนเราทำใหม่ๆ ไอ้ชู (ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข) มันยังพูดทีเล่นทีจริงเลย เฮ้ย มึงทำทำเหี้ยไรวะ ทำกระดาษทำไมวะ นี่กูทำประชาไท วันหนึ่งมีคนอ่านสี่ห้าพันคน มึงพิมพ์เดือนเท่าไร ห้าพันเหรอ กูเนี่ย วันหนึ่งอ่านห้าพันคน เราก็ตอบไป กูยังงมงายเว้ย กูชอบแบบนี้ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายก็ไม่นาน เรายันว่าจะเป็นกระดาษได้มากสุดแค่เก้าปี จนเห็นว่ามันเปลี่ยนจริงๆ เปลี่ยนอย่างมหาศาล

มันไม่ใช่เรื่องของการไปไม่รอดด้วยธุรกิจของสิ่งพิมพ์แบบแถวๆ ต้นปี 2540 ที่นิตยสารปิดแล้วไปเปิดเว็บ แต่นี่คือการย้ายสนามอย่างแท้จริง ถามว่ารอดมาได้ไง เพราะปรับตัว ไม่ได้เก่งอะไรเลย ต้องปรับเพราะมันเห็นอยู่ต่อหน้า

คุณคิดว่าผู้บริหารสื่อใหญ่ๆ เขารู้ เขาเห็น แต่ปรับไม่ได้ หรือเห็นแต่ยังเชื่อในแบบเดิม

ไม่สามารถตอบแทนเขาได้นะ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่าคนที่เคยประสบความสำเร็จในระดับนั้น สิ่งที่ค้ำอยู่มากๆ คือชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรี ว่ากูเคยทำแบบนี้แล้วมันได้ สิ่งนี้มันเป็นพันธนาการที่ทำให้คนเปลี่ยนยาก อยู่มาวันหนึ่งโลกพยายามจะเกลี้ยกล่อมให้คุณเปลี่ยนใหม่ แล้วคุณดันไปไม่ได้

เหมือนตอนที่เขาประมูลทีวีดิจิทัลกัน เราว่าเราก็ไม่ได้ฉลาดในทางธุรกิจนะ แต่เราก็สงสัยว่าคุณจะไปเสียเงินทำไมวะ เราเห็นอยู่แล้วว่าอินเทอร์เน็ตมันมา สิ่งที่เราประหลาดใจคือในองค์กรสื่อขนาดใหญ่ ทำไมมันไม่มีการเชือดผู้บริหารที่ตัดสินใจผิด แต่กลับมาเชือดพนักงาน เลย์ออฟคนทำงาน แล้วคนที่มันประเมินสถานการณ์ผิดล่ะ อยู่ไหนกัน

ในกรณีของ Way คุณวางที่ทางของตัวเองยังไง

เราอยากจะเล่าเรื่องประเด็นสังคม อยากเถียงกับคน อยากจะกวนตีนคนที่มันกำลังคุยเรื่องนี้อยู่ แต่เราพบว่าข้อมูลมันไม่ใช่อย่างนั้นมั้ง ประเด็นมันไม่ใช่สิ่งที่คุณกำลังเถียงกันมั้ง เราก็อยากจะโยนสิ่งที่เรามองเห็น สิ่งที่เราค้นพบในเชิงประเด็น ไม่ว่าจะเป็น fact หรือข้อมูลอะไรก็ตาม โยนมุมของเราเข้าไปปะทะกับเขา ซึ่งก็ครอบคลุมประเด็นตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เราสนใจโดยพื้นฐานอยู่แล้ว

แล้วโดยเนื้อหาที่เราทำ ยังไงมันก็ถูกโลกธุรกิจผลักไปสู่ความเป็นทางเลือกอยู่แล้ว โดยความตั้งใจของเรา เราก็ไม่ได้อยากจะเดินทางแคบ ในช่วงปีแรกก็เคยทดลองที่จะไปพูดคุยกับผู้ให้โฆษณาต่างๆ ว่าเราทำแบบนี้ มันพอมีลู่ทางที่จะมีรายได้จากโฆษณาเข้ามาได้บ้างไหม เขาก็บอกว่าไม่สามารถซื้อเราได้ เนื่องจากมันไม่ตรงกับขนบการทำสื่อแบบที่เขารู้จักเลย มันไม่ตรงกับขนบการทำนิตยสารแบบที่ทำๆ กันอยู่ ต้องมีความหนา ใช้กระดาษแบบนี้ พิมพ์สี่สี ต้องไสกาว ต้องหลอกให้พิมพ์จำนวนเยอะๆ มันมีเงื่อนไขความเชื่อในแวดวงนี้อยู่ รวมถึงการพยายามบอกว่าคอนเทนต์แบบไหนที่มันจะขายได้ เรื่องไหนขายไม่ได้

เราพยายามทำอยู่ประมาณหนึ่งปี ก็รู้ว่ามันไม่ใช่ที่ที่เราต้องไปข้องแวะกับมันหรอก เพราะว่ารังแต่จะสร้างศัตรูเปล่าๆ เพราะเวลาไปคุยกับเขาแล้วเจอเงื่อนไขเหล่านี้ เราก็อดไม่ได้ที่จะด่าไปว่าเขา ซึ่งเราก็ไม่ได้มีเจตนาอยากไปว่าเขาหรอก แต่ขืนทำอย่างนั้นเราก็ไม่ได้ทำหนังสือที่เราอยากทำ

แล้วตอนที่โดนถากถางว่างมงาย มีโมเมนต์คล้ายๆ แบบที่คุณวิพากษ์สื่อใหญ่ๆ ไหม ว่ากูเคยทำอย่างนี้มา กูว่ากูทำได้

มีสิ (ตอบเร็ว) มันมีอยู่แล้วเพราะเราชอบ เราก็โรแมนติกนะ ชอบสิ่งพิมพ์เว้ย ชอบกระดาษ แล้วรู้สึกว่าการทำแมกกาซีนมันคือการรวมทุกสรรพความรู้ของงานศิลปะ มันมีทั้งงานออกแบบ มีทั้งงานภาพ งานรูปเล่ม ยังไม่ต้องพูดถึงงานเขียนที่เป็นตัวหนังสือ ซึ่งมีไวยากรณ์ในการสื่อสารของมันแบบหนึ่ง เป็นแบบที่เราโตมา จู่ๆ มีคนเดินมาบอกว่าอย่าไปทำมันเลย เราก็ไม่เชื่อหรอก

แต่ถึงจุดหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าเดิมจะมีค่าเท่ากับศูนย์ แต่หมายความว่าถ้าดันทุรังทำแบบเดิม ก็มีแต่จะล้มหายตายจาก ถ้าจะให้เท่หน่อยก็ไปเขียนสดุดีตัวเองให้เป็นอนุสาวรีย์ในวงการนี้ แต่เราไม่อยากเป็นแบบนั้น เรายังอยากทำของเราต่อ

จากตอนแรกที่คิดจะขายโฆษณา แต่ขายไม่ได้ แล้วก็เลือกที่จะไม่ข้องแวะกับโมเดลแบบนั้น คำถามคือหลังจากนั้น คุณหาเงินมาจากไหน ถ้าไม่มีสปอนเซอร์

เราก็เหมือนคนอื่นๆ ที่เริ่มต้นมาจากคนอยากเขียน อยากทำหนังสือ ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย นอกจากไม่มีความรู้แล้วยังมีทัศนคติที่เป็นลบกับมันด้วย คือไม่ได้มีความอยากที่จะไปรู้เรื่องธุรกิจ เรื่องการบริหารจัดการ พอช่วงพ้นปีแรกมา พยายามจะหาโฆษณาแล้วมันหาไม่ได้ เวย์หายไปครึ่งปี เพราะเรางง เราไม่เคยทำ ไม่เคยต้องมาบริหารองค์กร ไม่เคยต้องมาหาเงินเดือนให้พนักงาน

สุดท้ายก็มีคนที่เห็น หลายๆ องค์กรที่เห็นว่าคอนเทนต์ที่เราทำมันน่าจะช่วยอะไรบางอย่างเขาได้ เช่น องค์กรที่ทำงานด้านผู้บริโภค องค์กรที่ทำงานด้านการผลักดันนโยบายสาธารณะ ส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น เขาก็เริ่มเอางานมาให้เราทำ สุดท้ายมันก็เป็นรายได้ขึ้นมา พอเป็นรายได้ขึ้นมา เราก็ใช้วิธีแบบบ้านๆ เลย คือเอารายได้นั้นมาทำ Way ต่อ ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น

วิธีการหาเงินแบบนี้ ส่งผลกับคอนเทนต์ด้วยไหม ในแง่ที่ทำให้เราทำเนื้อหาที่อยากทำได้เต็มไม้เต็มมือมากขึ้น โดยไม่ต้องมีอิทธิพลจากลูกค้าที่ซื้อโฆษณา

แม้ว่าผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์เชิงพาณิชย์เขาจะไม่ค่อยมองเรา แต่มันมีเม็ดเงินที่ไม่ได้อยู่ในสายเชิงพาณิชย์มหาศาลเลย เผอิญเขาเห็นว่าเขาใช้งานเราได้ และเราเองก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราทำให้เขา มันไม่ต้องไปโกหก หรือต้องไปเปลี่ยนตัวเอง เช่น ทำเรื่องนโยบายสาธารณะจากประชาชน ก็เป็นสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่สมัย a day weekly ด้วยซ้ำ เขาเห็นอยู่ เขาจึงเอามาให้เราทำ เรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เราก็ทำมาตั้งแต่สมัยอยู่จุดประกายแล้ว หรือพวกประเด็นสิ่งแวดล้อม เราก็ทำมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ

ฉะนั้นบ่อน้ำที่เราใช้ มันมีลายแทงของการเดินมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ที่เปรียบเปรยอย่างนี้เพราะจะบอกว่า เราไม่ได้เฉลียวฉลาดกว่าผู้อื่น เราเพียงแค่สม่ำเสมอในสิ่งที่เราทำ เราไม่ค่อยได้เปลี่ยน มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไปดูตั้งแต่เราทำเสาร์สวัสดี ทำ a day weekly จนถึงทำเวย์ เราก็ทำแบบเดิมนะ กระดูกเหมือนเดิมเลย เพียงแต่เราเคี่ยวขึ้น ทักษะบางอย่างเราก็พูนมากขึ้น รูปแบบวิธีการหลากหลายขึ้น แพรวพราวมากขึ้น เฮ้ย น้องคนนี้มันเก่งเรื่องกราฟิก ก็เล่าเป็นภาพไปดิ คนนี้ถ่ายภาพสวย ถ่ายไป คนนี้ไปสายวีดีโอ ทำได้หมดตั้งคิดคอนเทนต์จนถึงตัดต่อ ก็ลุยไปเลย มันเป็นความสม่ำเสมอในทางที่เราเดิน จึงมีคนมาร่วมทางเดินกับเราอย่างไว้ใจกัน ไม่ใช่แค่คนที่เขาจะใช้สอยเราอย่างเดียว

 

อธิคม คุณาวุฒิ

สมมติถ้าคุณมีเงินมากกว่านี้ มีทรัพยากรมากกว่านี้ การตัดสินใจปรับตัวจะง่ายกว่านี้ไหม

ไม่ น่าจะตรงข้ามนะ ยิ่งถ้ามีเงินเป็นหลักร้อยล้าน น่าจะยิ่งปรับยาก อย่างตอนที่ตัดสินใจปรับเป็นออนไลน์ ผมไม่บอกใครเลยนะ แต่อ่านมาตลอด คนเป็นแม่ทัพต้องอ่านสมรภูมิ เรามองไว้แล้ว คิดมาก่อนแล้ว แล้วก็ไปบอกทุกคนในงานสัมมนาประจำปี น้องที่เป็นบ.ก. ก็ช็อค ทุกคนช็อคกันหมด เพราะไม่มีใครรู้ เราก็ประเมินให้ฟังว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างนี้ ทางข้างหน้าเป็นแบบนี้ ถ้าอยากจะรอด ต้องเปลี่ยนยานลำใหม่ แล้วไปกันต่อ เส้นทางเดิมนี่แหละ แต่ยานลำเก่ามันไม่เวิร์คแล้ว

เราเปลี่ยนได้เร็วเพราะเราสเกลเล็ก เราปรับได้เรื่อยๆ ต้นทุนการเปลี่ยนแปลงมันไม่แพง ต่างจากองค์กรใหญ่ ที่พูดนี่เราเข้าใจเขานะ อันนี้ไม่พูดถึงเรื่องความโง่ความฉลาด หรือความถือตัว คือการที่คุณจะเปลี่ยนองคาพยพขององค์กรสื่อขนาดใหญ่ มันเปลี่ยนยากมาก เพราะมันมีชีวิตคนที่เคยชินอยู่ในนั้น ซึ่งไม่ใช่แค่คนแบบที่เข้ามาทำสื่อออนไลน์กันอย่างทุกวันนี้ มันมีคนที่เป็นสกิลช่าง ช่างพิมพ์หน้าแท่น พนักงานพิสูจน์อักษรที่เพิ่งขยับมาจากเด็กห่อหนังสือ หรือกระทั่งพวกทีวี คุณคิดว่ามีแต่โปรดิวเซอร์กับคนคุมหน้าจอหรอ มันมีเด็กถือไฟ มีคนที่อยู่ในกองเต็มไปหมด ถ้าจะปรับ มันปรับกันหลายชั้นมาก แล้วต้นทุนมันแพง

เมื่อเงื่อนไขเป็นแบบนี้ ผู้บริหารยิ่งต้องเก่งมาก เพราะงานมันยาก ยากกว่าสเกลที่เราทำเยอะ

เคยรู้สึกทะเยอทะยาน อยากให้ Way ไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ไหม

มีหลายช่วงที่เราต้องตัดสินใจสำคัญๆ ว่าเราจะขยายองค์กรเพื่อหารายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มคน เพิ่มแผนก พูดง่ายๆ เพื่อให้มันรวยขึ้น ซึ่งเมื่อทบทวนอย่างถี่ถ้วน ก็พบว่าถ้าเราทำแบบนั้น เราจะไม่สามารถคิดแบบเดิม จะไม่สามารถคิดอ่านหรือตัดสินใจบนฐานเดิมได้ แง่หนึ่งเราถึงเข้าใจว่าทำไมพวกผู้บริการองค์กรใหญ่ๆ เขาถึงปรับกันช้า แต่สำหรับเรา เราตกผลึกแล้วว่า จะต้องไม่ใหญ่จนเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำเหมือนกับวันแรกๆ ที่คิดทำอาชีพนี้

แต่ในขณะเดียวกัน เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเราเป็นองค์กรธุรกิจ ไปที่ไหนก็อธิบายให้ฟังว่า Way เป็นบริษัทจำกัด ชัดเจน ตรงไปตรงมา นั่นแปลว่าแต่ละปีต้องมีกำไร ถ้าคุณยังต้องขึ้นเงินเดือนให้พนักงานทุกปี ยังไงบริษัทต้องโตขึ้นอยู่แล้ว อย่างน้อยต้องสู้กับอัตราเงินเฟ้อให้ได้ ถ้าสู้ไม่ได้แล้วชีวิตจะอยู่ยังไง พนักงานอยู่ยังไง ผลตอบแทนทางธุรกิจภาพรวมก็ต้องมี ปลายปีต้องมีโบนัส ทำงานหนักกันมา ทุกคนเหนื่อย มันก็เป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ที่คนทำหน้าที่บริหารต้องคิด

ที่บอกว่าจะไม่ใหญ่ไปกว่านี้ เพื่อที่จะได้ทำในแบบที่อยากทำอยู่ คำถามคือมันพิสูจน์ยังไง อะไรทำให้คุณตัดสินใจได้ว่า ถ้าคิดแบบนั้นไม่ใช่กูแน่ๆ

จากประสบการณ์ที่เราเห็นมา เราเห็นมามากกว่า 2 เคส จากคนที่เคยคิดแค่ว่า อยากจะมีทีมจรยุทธเล็กๆ หน่วยหนึ่ง มีคนห้าคนสิบคน แต่พอทำไปๆ ดันไปได้ดี ทั้งชื่อเสียง การยอมรับ และตัวเลขทางธุรกิจ จากพนักงานหลักสิบเป็นหลายสิบ เป็นร้อย พอถึงจุดนั้นคุณจะไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อีกต่อไป เท่าที่เคยเจอมานะ มันมีตัวอย่างมาให้ดูว่าเราไม่เป็นอย่างนั้นแน่ๆ และเราก็ไม่ได้มีกิเลสที่อยากมั่งอยากมีอยู่แล้ว

ตอนที่ตัดสินใจว่าจะปรับเป็นออนไลน์ คุณเจออะไรมา มีอะไรมากระแทกจนทำให้ต้องปรับไหม

เรื่องที่เห็นชัดคือฟีดแบ็ค ปฏิกิริยาการตอบสนอง เราสังเกตว่ามันเคลื่อนจากสิ่งพิมพ์ไปอยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งเราก็ต้องตามไปดูมัน

สิ่งที่สำคัญที่ตามมา และเป็นตัวชี้วัดจุดเป็นจุดตาย รวมถึงเรื่องของธุรกิจ ยอดขาย ยอดสมาชิก คือต่อให้เราทำท่าทำทางเย่อหยิ่งแค่ไหน สุดท้ายเราหนีไม่ได้หรอกว่ามันต้องอยู่ได้ด้วยข้อเท็จจริงทางธุรกิจ การที่ฟีดแบ็คมันเคลื่อนไปจากเดิมที่เราเคยได้ เอาง่ายๆ แค่จดหมายหรืออีเมลที่เข้ามาในกองแต่ละเดือน มันเริ่มหาย เฮ้ย มันหายไปไหนวะ อ๋อ มันย้ายไปบนออนไลน์ อยู่ในโซเชียลมีเดีย เฮ้ย คนที่เคยซื้อเรา มันค่อยๆ ลดลง บางฉบับอาจดีดขึ้นด้วยกระแสบางอย่าง แต่ทิศทางโดยรวมมันลดลง เราก็อย่าไปหลอกตัวเอง อย่าไปโทษผู้อื่นว่ามันแย่มันห่วย อย่าไปหลอกตัวเองว่าเราวิเศษวิโส หรือจะต้องอยู่ค้ำฟ้าท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มันเปลี่ยน

 

ตอนนั้นมีแผนไหมว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน อย่างไร

มี ซึ่งก็ทำตามแผนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

เดิมทีเราก็มีความอาลัยอาวรณ์สื่อกระดาษ เราอยากจะขยับการออกนิตยสาร Way ให้เป็นรายสามเดือน รายหกเดือน หรือรายปี อะไรก็ตามแต่ เพราะเรายังอยากทำกันอยู่ แต่พอเรามาเจอข้อเท็จจริงในการเอาตัวรอด มองข้อเท็จจริงในการสู้กับสนามใหม่ เราก็ต้องคุยคนในกองว่า เฮ้ย พวกต้องออกไปสู้กับเขา เพื่อนเขายิงคอนเทนท์กันโครมคราม จะมานั่งก้มหน้าอยู่เฉยๆ ไม่ได้

ในแง่วิธีการ รูปแบบการนำเสนอ ก็ต้องเปลี่ยนด้วยถูกไหม ไม่ใช่แค่ยกคอนเทนต์เป็นก้อนๆ มาแปะไว้บนออนไลน์

ตอนประเมินสถานการณ์ และตัดสินใจเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากกระดาษมาออนไลน์ เรามองไว้แล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นสิ่งที่คิดให้ตก และต้องเข้าใจไวยากรณ์ของมันใหม่

คนทำหนังสือที่คิดว่าเอาคอนเทนต์จากหนังสือมาใส่ในออนไลน์ แล้วนับว่านั่นเป็นสื่อออนไลน์ ตายมานักต่อนักแล้ว เพราะมันคนละไวยากรณ์กัน ถ้าคุณเข้าใจไม่ได้คุณก็จะตกไป ผมมองว่าสุดท้ายแล้วรูปแบบของงานที่ออกมา มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ เข้าใจศักยภาพของเครื่องมือที่มันจะไปถึง แล้วเราก็ใช้มัน แค่นั้นเอง

ยกตัวอย่างคุณสมบัติของกองบ.ก.รุ่นจูเนียร์ ที่เพิ่งเปิดรับสมัครไป สิ่งที่เราตั้งไว้คือ ต้องไม่ใช่คนที่เขียนเป็นอย่างเดียวอีกต่อไป อาจไม่ถึงขั้นที่ต้องทำได้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยๆ คุณจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับเครื่องมือใหม่ๆ เช่น ใช้งานพวก Illustrator เป็น ใช้ Photoshop พื้นฐานเป็น นี่คือสิ่งที่ต่างจากคนเจนเอ็กซ์อย่างผม ซึ่งเป็นพวกพวกโลว์เทค พ้นจากไมโครซอฟท์เวิร์ดก็ไม่รู้เรื่องแล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ เขาจะไม่แปลกแยกกับเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้

เรื่องความอาลัยอาวรณ์มันมีอยู่แล้วล่ะ แต่แบบนี้มันก็เบาตัวดี ออกอาวุธได้มันดี เห็นอิมแพค เราก็ไม่ได้บ้าไลก์บ้าแชร์ขนาดนั้น แต่มันเห็นอิมแพคไง แล้วในเมื่อเราทำสื่อ เราต้องการเห็นผลว่ามันไปถึงไหน เราทำประเด็นที่หนัก พูดถึงเรื่องโครงสร้าง เป้าหมายเราไม่ได้อยากจะมานั่งดูหรืออ่านกันในหมู่ปัญญาชน หรือ activist เท่านั้น เราอยากผลักมันไปให้ไกลให้กว้างที่สุด ให้ใครๆ ก็อ่านได้ และก็เข้าใจมัน ซึ่งข้อดีของโลกออนไลน์คือมันช่วยเราได้เยอะ

ถ้ามองย้อนไป นี่อาจเป็นจุดแข็งของ Way ที่สามารถทำให้เรื่องที่ใหญ่ๆ ยากๆ ให้เข้าใจง่าย และเข้าถึงคนหมู่มากได้พอสมควร

เราไม่ได้ทำแบบนั้นเสียทีเดียว หมายความว่าเรื่องบางเรื่อง การไปทำให้มันง่ายเกิน ก็กลายเป็นการทำแบบหยาบ แล้วก็ลดทอนรายละเอียดเสียจนเปิดโอกาสให้เกิดความผิดพลาดได้อย่างมหาศาล ฝรั่งมันถึงพูดไงว่า ปีศาจอยู่ในรายละเอียด เวลาเห็นใครทำแบบนี้ บางทีเราก็ต้องสะกิดบอกเขา เฮ้ย เรื่องแบบนี้ไม่สามารถพูดให้ง่ายๆ สั้นๆ เคี้ยวถึงปากแล้วป้อนให้ได้นะเว้ย คุณต้องพยายามหน่อย อย่ามักง่ายมาก

สิ่งที่เป็นฟังก์ชันพื้นฐานของสื่อ ก็คือการสื่อสารไม่ใช่หรือ คุณต้องนำพาประเด็นมาเสนอกับคนดูคนอ่าน แล้วอธิบายให้เขาเข้าใจได้ อธิบายให้เขารู้ว่ามันคืออะไร ในแง่นี้มันไม่ใช่แค่สกิลของ Way ด้วยซ้ำ แต่เป็นสกิลของคนทำสื่อทุกคน ทุกสำนัก ที่ควรมีเป็นพื้นฐาน ข้อที่อันตรายคือหลายคนพยายามจะทำให้มันง่าย จนปล่อยให้ปีศาจหลุดออกไปกับรายละเอียด ซึ่งเรารู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ง่ายขนาดนั้นนะ เรื่องนี้ มันไม่ได้ง่ายขนาดที่คุณพูด

อธิคม คุณาวุฒิ

แล้วคุณมองภาวะของสื่อออนไลน์ปัจจุบันยังไง ถือเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีไหม

ดี ชอบ เราได้เห็นความหลากหลาย ได้เห็นความกล้าที่จะทำคอนเทนต์ที่มันสร้างสรรค์ ไม่ได้อยู่ในแพทเทิร์นขนบของการทำสื่อที่ประสบความสำเร็จแล้วต้องจดจำหรือทำซ้ำๆ กันมา

ข้อหนึ่งที่ปลดล็อกมหาศาล และเป็นสิ่งที่ชอบมาก คือเรื่องของฟีดแบ็ค ถ้าคุณนำเสนออะไรที่ผิดพลาด คนอ่านคนดูที่เขารู้ เขาสามารถซัดกลับได้ทันที โลกมันต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่ควรเป็นโลกที่สื่อนั่งกุมอำนาจในการสื่อสารอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งที่ตัวเองอาจไม่ได้มีสติปัญญามากกว่าคนอื่นสักเท่าไหร่ ถ้าคุณปล่อยคอนเทนต์ออกมาแล้วเต็มไปด้วยความผิดพลาด เต็มไปด้วยอคติ เต็มไปด้วยความไม่รัดกุม คุณก็ต้องโดนหวดคืน โดน ณ เดี๋ยวนั้นเลย ไม่ต้องรอจดหมายในอีกสองวันถัดไป หรือสัปดาห์ถัดไป เหมือนยุคก่อน

แล้วมีอะไรที่น่ากังวลบ้างไหม

สิ่งที่ต้องเป็นข้อเตือนใจ ซึ่งเราเพิ่งค้นพบเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็คือว่า เราเริ่มทำงานสื่อด้วยความเชื่อที่แม่งโคตรไร้เดียงสาเลย

เราเคยเชื่อว่าถ้าหากเราเอาข้อมูล เอาข้อเท็จจริงมาวาง แล้วคนจะเปลี่ยน เฮ้ย เรื่องจริงเป็นอย่างนี้ว่ะ ข้อมูลเป็นอย่างงี้ว่ะ พอคุณดูแล้วคุณจะเรียนรู้ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง แต่เราเพิ่งพบว่าวิธีคิดแบบนี้มันไม่ใช่ มันใช้ไม่ได้ผลเลย รู้สึกว่าฉิบหายแล้ว สิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำไมกูโง่อย่างนี้ (หัวเราะ)

สิ่งที่ค้นพบคืออะไร

พบว่ามันไม่เชื่อไง แล้วมันก็มีวิธีที่บัดซบมากเลยในการอธิบายความไม่เชื่อนั้นๆ

พอเป็นแบบนี้ เราต้องกลับมาจัดการกับวิธีคิดและสภาพจิตของเราใหม่เลย มันฟาดด้วย fact ล้วนๆ ไม่ได้แล้ว ห้ามคิดว่าเราคือผู้มาโปรดด้วยการเอา fact ไปวาง และคิดว่าคนจะหลุดพ้น เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่ทำกันอยู่ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าคุณกำลังสู้รบกับความเชื่อ เพื่อที่จะปักธงความเชื่อของคุณอย่างมีเหตุมีเหตุผล ซึ่งแวดล้อมไปด้วยหลักฐาน ข้อมูล ข้อเท็จจริง

แต่คุณก็ต้องยอมรับด้วยว่า อีกฝั่งหนึ่งเขาก็ปักธงเหมือนกัน แต่สิ่งที่แวดล้อมธงของเขา จะเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าความเชื่อ ศรัทธา หรืออะไรก็ตามแต่ที่เขายึดถือ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันจะมาชนกัน นี่คือบทเรียนสำคัญของการทำสื่อ ที่ทำให้รู้ว่าเราไม่ควรจะไร้เดียงสาอีกต่อไป ไม่มีทางที่คุณจะเอา fact มาวางให้หน้าแล้วหวังว่าโลกมันจะเปลี่ยน ไม่จริง

พอเจอข้อค้นพบแบบนี้ แล้วคุณแก้เกมยังไง

ก็ต้องปรับสภาพจิตตัวเองว่า ณ ต่อไปนี้ นี่คือการสู้ ต้องสู้กัน แต่สู้ยังไงให้มีพวกมากขึ้น สู้ยังไงให้มีคนฟังมากขึ้น สู้ยังไงให้ดึงคนที่ก้ำๆ กึ่งๆ ว่ากูจะเชื่อใครดี ให้มาเชื่อเรา

จุดที่เป็นอาวุธของเรามาตั้งแต่ต้น หนึ่งคือความสามารถในการย่อย สองคือหีบห่อ หีบห่อคือทำยังไงให้น่าหยิบน่าจับมาดู น่าอ่านมันหน่อย นี่คือสองขาที่เป็นหลักค้ำเราอยู่

ที่บอกว่ามีคนตรงกลางที่ยังงงๆ ไม่รู้จะเชื่อฝั่งไหนดี มันมีอยู่เยอะไหมเท่าที่คุณเห็น

ไม่ได้เก็บสถิติเชิงตัวเลข แต่คิดว่ามีพอสมควร ซึ่งเขาไม่ได้งงหรอก แต่ถ้าเราไม่ไปรีบด่าเขา ไม่รีบไปบอกว่าเขาโง่ ไม่รีบไปบอกว่าเขาเป็นนู่นเป็นนี่ พยายามพูดคุยกับเขาให้ดีที่สุดเท่าที่คุยได้ เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ถ้าเราคิดตกแล้วว่านี่คือการรบกัน การสู้กัน เราก็ต้องสร้างพรรคพวก เพราะเราต้องมีกำลัง มันจึงจะไปสู้คนอื่นได้

 

ในมุมของการทำสื่อ การมองว่าเกมนี้คือการสู้กัน มันขัดกับความเป็นสื่อไหมในแง่ความเป็นกลาง

สิ่งที่พยายามพูดเสมอเวลาคนถามเรื่องกลางไม่กลาง คือไม่ว่าใครจะบอกว่าตัวเองเป็นอะไร เราไม่เชื่อ และไม่สนใจด้วยซ้ำ แต่ประเด็นที่เราซีเรียสคือ เวลาคุณบอกว่าเป็นซ้าย ขวา หรือกลาง หรืออะไร ขอให้แสดงหลักฐานและเหตุผลออกมา คนทำสื่อก็เหมือนกัน ถ้าคุณจะพูดแบบนี้ คุณต้องหาหลักฐาน หาเหตุหาผลมารองรับสิ่งที่คุณปักธงและคุณบอกว่าคุณยืนตรงนี้

 

สังเกตว่าสื่อหลายๆ สำนักในปัจจุบัน ก็มีธงชัดเจน รู้ว่าอยู่ฝั่งไหน แต่ Way ไม่ได้มีภาพลักษณ์แบบนั้นเท่าไหร่

ถ้าเป็นชูวัส มันคงบอกว่าเพราะมึงใจไม่ถึงเท่ากู มึงเลยไม่กล้าแสดงออก (หัวเราะ) แต่ในมุมของเรา เราคิดเรื่องผลทางการสื่อสารจริงๆ เราคิดว่าการรักษาท่วงทำนองในการสื่อสารที่ทุกฝ่ายยังเปิดใจรับฟังได้ ถือเป็นต้นทุนที่มีค่า ซึ่งมันสะท้อนออกมาจากประเด็นที่เราเล่น น้ำเสียงที่ใช้ รวมทั้งหลักฐานที่เอามาแสดง

มองอนาคตแวดวงสื่อถัดจากนี้ยังไง พอจะอ่านเกมออกไหมว่าจะเป็นยังไงต่อ

เราเชื่อว่าชั่วโมงแบบนี้ ไม่มีใครอ่านขาดทั้งกระดานหรอก ทุกคนพยายามที่จะอ่านทั้งนั้นแหละ อย่างมากเราก็พอจะมองเห็นในระยะสั้น ภายในปีสองปี

แต่ถ้าให้ลองประเมิน เอาในแง่ธุรกิจและเทคโนโลยี มันเปลี่ยนเร็วมาก ใครพูดว่าอ่านขาดหมดแล้วมาแนะนำผู้อื่น แสดงว่าแม่งโม้ ตอนนี้ทุกคนต่างก็ว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรแห่งการทดลอง เราอาจพอรู้บ้างว่าน่านน้ำนี้มึงอย่าไป เพราะมึงไม่ชำนาญ มาว่ายแถวนี้ดีกว่า เราพอรู้ว่ามันมีอะไรที่เราจะล่าได้ มีอะไรที่เป็นหลุมบ่อ แถวนี้เรารู้ แต่เราไม่ได้รู้ทั้งมหาสมุทร

ส่วนในแง่ทางการเมือง การที่แต่ละคนได้แก้ผ้าออกมา ข้อดีคือเราจะได้เห็นกันว่าคุณยืนพิงกับอะไร และผลลัพธ์จะเป็นยังไง ถ้าคุณเคยชินกับการพิงโครงสร้างอำนาจเดิมแล้วคุณดูหมิ่นคน เดี๋ยวลองดูผลลัพธ์ว่าจะเป็นยังไง ส่วนคนที่เชื่อว่าต้องยืนอยู่กับประชาชน ก็ต้องมาดูว่าบั้นปลายแล้วผลลัพธ์ที่คุณจะได้รับจากฝั่งประชาชนมันจะเป็นยังไง

แต่ถ้าให้เดา คนในแบบแรกที่ยังพิงกับโครงสร้างอำนาจเดิม คุณจะเผชิญหายนะทั้งความน่าเชื่อถือทั้งเกียรติภูมิ รวมถึงผลตอบรับทางธุรกิจ

อันนี้ประเมินจากอะไร

มันเป็น fact เลย ของที่มันจะพังอยู่แล้ว ไปยืนพิงอยู่ได้ จะเรียกโง่หรือฉลาดไม่รู้ ก็แล้วแต่เขา เขาอาจเคยชินมาว่าทางเลือกแบบนั้นมันเคยคุ้มแดดคุ้มฝนคุ้มหัวได้

 

อธิคม คุณาวุฒิ

แล้วในแง่ของประเด็น เนื้อหา ดูมีพัฒนาการขึ้นบ้างไหม

พูดแบบตรงไปตรงมา ประเด็นที่เราสู้กันอยู่ตอนนี้เป็นประเด็นที่ง่ายมากเลย คือประเด็นที่ว่ากันด้วยวิชาวันโอวัน พวกเรื่องพื้นฐานทั้งหลาย ถ้าคนที่ทำสื่อมานานประมาณหนึ่ง อย่างผมที่ทำมายี่สิบกว่าปี เรารู้สึกว่าช่วงสิบปีแรกที่มาทำงาน มันสนุกกว่านี้ ประเด็นที่เราทำมันซับซ้อนกว่านี้ ไปไกลกว่านี้เยอะ

แต่ทุกวันนี้เรากลับต้องมานั่งพูดเรื่องพื้นฐานกันใหม่ ต้องอธิบายว่าสิทธิเสรีภาพแปลว่าอะไร อะไรคือรัฐสวัสดิการ อะไรคือประชานิยม ต้องมานั่งอธิบายว่าสามสิบบาทไม่ใช่ซื้อเสียงนะ ซึ่งมันไม่สนุกเลย ถ้าถามในแง่คอนเทนต์ตอนนี้ มันพูดถึงเรื่องที่ง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะ

พอจะรู้สาเหตุไหมว่าเป็นเพราะอะไร

ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ เพราะเราพบว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ทำท่าเฉลียวฉลาดเมื่อสักสิบกว่าปีก่อน ตกลงมึงไม่ได้ฉลาดอย่างที่กูคิดนี่หว่า มึงไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยนี่หว่า

ถ้าคุณไปอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ยุคหลังพฤษภา 2535 จะพบว่ามันอุดมไปด้วยบทความที่โคตรก้าวหน้า โคตรฉลาดเลยนะครับ แต่ตอนนี้เราคุยเรื่องที่ย้อนยุคไปไกลกว่าตอนนั้นเยอะเลย

ความยากคือเราต้องมีจิตที่แข็งมาก ทำยังไงกูจะไม่เป็นโรคซึมเศร้ากับพวกมึงวะ หรือไม่โกรธจนรู้สึกว่าไม่อยากจะสื่อสาร มันมีนะ คนที่เหนื่อยและก็โกรธ และคิดว่าเกินที่จะสื่อสารกันแบบดีๆ ได้แล้ว

แต่อาชีพเราคือการสื่อสาร ตอนนี้ที่ Way ทำอยู่ ขาหนึ่งคือเราเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ อีกขาหนึ่งคือเราเองก็เป็นสื่อด้วย ซึ่งฟังก์ชั่นของมันสามารถผลักคอนเทนต์ ผลักวาระบางอย่างได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องบอกกัน ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่ต้องบอกคนทำงานด้วยก็คือ เฮ้ย จะมากจะน้อย เราก็เป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นทั้งช่องทางในการสื่อสาร

ฉะนั้นถ้าเรามองว่านี่คือการสู้ด้วยการรบ อย่างน้อยที่สุดคือมึงต้องดึงพวกมาให้ได้ หน้าที่ในการตบเพื่อนมีคนทำเยอะอยู่แล้ว แต่หน้าที่เราคือหาพรรคพวก ถึงเวลารบกันจะได้ไม่ต้องถูกเขาเอาเชือกผูกคอและลากไปตามสนามหญ้าอีก

รู้สึกว่าน่าหงุดหงิดหรือเสียเวลาบ้างไหม ที่เมื่อก่อนเราเคยพูดเรื่องที่ไปไกลกว่านี้มากๆ แต่ทุกวันนี้มันต้องย้อนกลับไปไกลมาก

อืม รำคาญอยู่แล้ว เสียดาย เสียเวลา แล้วก็รู้สึกว่าที่ผ่านมา สิ่งที่เราเคยคุยกับพวกเขาเหล่านั้น อันไหนเป็นตัวจริงของมึงวะ เพราะสิบกว่าปีก่อนที่เคยคุยกัน คุณดูก้าวหน้าฉิบหายเลย ปัจจุบันทำไมคุณเป็นคนอย่างนี้วะ ทำไมคุณเหมือนไม่ใช่คนที่เรารู้จัก

บางทีในช่วงที่เราโกรธมากๆ เราจะชอบคิดว่ามันมีความผิดพลาดอย่างมหันต์ที่เกิดกับคนทำสื่อรุ่นก่อนหน้าเรา พวกอายุหกสิบทั้งหลายในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เลอะเทอะไปหมดแล้ว คนรุ่นพวกคุณต้องทำอะไรผิดพลาดเอาไว้ มันจึงก่อให้เกิดผล ณ ปัจจุบัน ทั้งรุ่นทำสื่อตั้งแต่หลัง 14 ตุลา ไล่มาถึงช่วง 2520 หลังป่าแตก พวกคุณทำสื่อกันมาอย่างเข้มข้น ทำมาถัดมาสี่สิบกว่าปี แต่ทำไมกูยังอยู่ตรงนี้อยู่เลยวะ มันต้องมีอะไรผิดพลาดที่พวกคุณวางยาหรือทำอะไรโง่ๆ เอาไว้ ตอนเราโกรธเราคิดอย่างนั้นจริงๆ นะ และเราก็เลยเตือนตัวเองว่า กูทำเต็มที่กูแล้ว จะไม่ให้รุ่นลูกหลานมานั่งด่าเราว่ารุ่นพ่อโง่ฉิบหาย ปล่อยให้สังคมมาถึงตรงนี้ได้ไงวะ

จริงๆ ตอนที่เขาแก้ผ้าออกมาว่าเขาเลือกฝั่งไหน เลือกอยู่กับใคร พิงอะไร เราก็รู้สึกว่า เออ ดี ต่อไปจะได้รู้ว่าไม่ต้องยกมือไหว้กัน เจอกันทำเป็นมองไม่เห็นไป เป็นอากาศธาตุ อย่างดีที่สุดคือ ใครเคยดีกับเรามากๆ เราก็ไม่ด่าเขา บางคนเขาก็ดีกับเรามาก เราทำได้แค่สัญญาว่าจะไม่ด่า มันก็เป็นนิสัยโบราณที่เราอาจถูกปลูกฝังมา เราด่าไม่เป็นกับคนที่เคยดีกับเรา แต่เห็นไม่ตรงกับเราเรื่องสังคม เราด่าไม่เป็น ทำได้อย่างมากสุดคือไม่พูดถึงและไม่ด่า

นอกจากตัวเองที่พยายามจะเข้มแข็งแล้ว คุณพอเห็นแสงสว่างไหมว่า ในบรรดากลุ่มคนที่มีแนวคิดหรือจุดยืนเหมือนๆ กัน จะประคองกันไปได้ และทำให้สังคมเข้มแข็งกว่านี้ได้

มันมีธรรมชาติที่น่าเป็นห่วงของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า คือลักษณะของการที่ชอบทะเลาะเบาะแว้งกันเอง เชี่ยวชาญในการก่อศัตรูและทำลายแนวร่วม แต่บังเอิญว่าเราไม่ค่อยได้เข้าไปอยู่แวดวงพวกก้าวหน้าจัดๆ เท่าไหร่ โดยส่วนตัวเลยไม่ค่อยคาดหวังว่ากลุ่มที่เป็นสุดโต่งทั้งสองปีก ว่าจะต้องมาตกลงหรือประนีประนอมกันได้ขนาดนั้น มันต้องเป็นสองปีกแบบนี้แหละ ชัดดี จะได้ไม่ต้องคลุมเครือ เวลาจะพูดอะไรก็พูดให้มันชัด ชัดเพื่อที่ว่าเวลาคุณพูดเสร็จ คุณจะได้หาหลักฐาน หาเหตุผลมารองรับสิ่งที่คุณพูด คนฟังจะได้ไม่งงว่าคุณพูดบนฐานไหน

ลักษณะแบบนี้น่าจะเป็นลักษณะที่เราจะต้องอยู่กันอีกยาวนาน เหมือนเกาหลีใต้ ซึ่งทะเลาะกันสามสิบปีมั้ง นี่เราเพิ่งสิบกว่าปี ไม่เป็นไร ยังมีเวลาทะเลาะกันอยู่ ก็ทะเลาะกันไป

ตอนที่มีเรื่องความขัดแย้งแบบนี้ใหม่ๆ เราเคยถามคนรุ่นหกตุลาว่า สถานการณ์ช่วงนั้น กับช่วงที่เราอยู่ตอนนี้ อะไรโหดกว่ากัน สัญญาณความรุนแรงอะไรมากกว่ากัน คนรุ่นหกตุลาหลายคนพูดว่า ตอนหกตุลาไม่โหดเท่าช่วงนี้ นั่นคือทรรศนะของคนที่เคยผ่านมา ซึ่งเราก็ได้แค่ฟัง

แต่ถ้าถามตัวเอง เราคิดว่าที่ผ่านมาก็ยังไม่โหดขนาดนั้นหรอก แน่นอนเราถูกรังแก แต่มันยังไม่ได้มีการฆ่า การปะทะ หรือสังหารหมู่กันอย่างชัดเจน ยังไม่มีใครถูกไล่ต้อนให้ไปอยู่ป่าเขาอย่างชัดเจน แต่ถามว่าโดยเงื่อนไข มันเอื้อให้เกิดการฆ่าไหม เราว่าเริ่มเห็นนะ มันมีมูลเหตุให้คนในประเทศนี้ต้องฆ่ากันจริงๆ เพราะฉะนั้นสัญชาตญาณของคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาก่อน มันจึงต้องฟังไว้ แม้เราจะรู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะคิดว่าตอนนั้นยังไงก็โหดกว่า แต่พอมาคิดดีๆ เออ แนวโน้มมันมีอยู่

สิ่งที่เราพยายามทำก็อย่างที่บอกไป ทำยังไงให้คนที่เขาก้ำๆ กึ่งๆ หันมาฟังเรามากขึ้น ให้เขาหันมารับ fact จากเราหน่อย ด้วยวิธีการอะไรก็ตามแต่ที่เราพยายามทำ ถ้าพูดแบบขายของ นี่คือจุดแข็งของ Way นะ ที่ยังพอจะสื่อสารได้บนความน่าเชื่อถือของความเป็นสื่อ ข้อนี้เรายังมีอยู่ พยายามพูด พยายามบอก พยายามยืนบนหลักฐาน ข้อมูลข้อเท็จจริง แม้ว่ามันจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่เราพยายามยืนบนหลักนี้

ถามในฐานะ ‘พ่อหล่อสอนลูก’ การที่คุณเห็นว่าลูกจะต้องเติบโตไปในสังคมนี้ เราจะประคับประคองเขายังไง พอจะมีความหวังบ้างไหมว่าสังคมนี้ก็ยังมีดีอยู่นะ

ก็เหมือนที่พูดไป เรารู้สึกว่ามันต้องมีเรื่องผิดพลาดกับคนทำอาชีพอย่างเราๆ ในรุ่นหกสิบกว่า อาชีพอย่างเราๆ หมายความรวมทั้งคนทำสื่อ ทั้งปัญญาชน คนทำงานทางปัญญาต่างๆ นักเขียน ศิลปิน ต้องมีความผิดพลาดใหญ่ๆ ในเจนเนอเรชั่นของคุณ สี่สิบกว่าปีผ่านมาเราจึงยังจมปลักตมเช่นนี้อยู่ คนรุ่นคุณต้องมีอะไรที่มันเลวทราม และกดมันไว้จนกระทั่งมาแก้ผ้าให้เห็นในยุคปัจจุบัน

เมื่อเราเห็นแบบนี้ ต่อไปนี้สิ่งที่เราทำก็คือ เราจะต้องชำระบาปไม่ให้มันลามไปถึงรุ่นลูกเรา เราไม่รู้หรอกว่าทำได้หรือเปล่า แต่เราจะไม่พยายามให้เขามานั่งด่าเรา ว่าทำไมวันนั้นพ่อปล่อยไปอย่างนั้นวะ อย่างน้อยที่สุดเราอาจจะกอดลูกร้องไห้ บอกเขาว่าเราทำเต็มที่แล้ว แต่ทำได้แค่นี้ (หัวเราะ) ที่แน่ๆ คือเราไม่ได้หลับตา หรี่ตา เราไม่ได้หลบ แต่ว่าทำได้แค่นี้จริงๆ

มีประเด็นหนึ่งที่พยายามพูดกันมาหลายที คือเราคิดว่าสังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมที่เรียกกันว่ารับผิดรับชอบ หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า accountability วันนี้พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง แล้ววันรุ่งขึ้นเปลี่ยนไปพูดอีกอย่างทำอีกอย่าง โดยไม่ได้รู้สึกผิดอะไร

มันเป็นวัฒนธรรมของคนที่ไม่เคยรู้สึกว่าต้องจริงจังกับสิ่งที่ต้องพูดและทำ ไม่ได้รู้สึกว่าเวลาพูดคำนี้ออกไป มันแปลว่าคุณต้องปฏิบัติอย่างนั้นด้วย แล้วถ้าคุณค้นพบว่าสิ่งที่พูดและปฏิบัติออกไปมันผิด วัฒนธรรมการรับผิดรับชอบ ก็คือจงขอโทษ บอกว่าผิดไปแล้ว ข้อนี้คือผิด ยอมรับผิด

สังคมที่มันจะเติบโตเข้มแข็ง ยืนหลังตรง มองสบตาโลกได้อย่างภาคภูมิ มันต้องรู้จักขอโทษ สรุปบทเรียนว่าผิดพลาดยังไง ต้องรับผิดรับชอบ แต่ปัญหาของคนไทยคือเรากะล่อน เราไม่เคยซีเรียสกับคำพูดของเราอย่างจริงจัง และทำแบบนี้กันเป็นเรื่องปกติ

อธิคม คุณาวุฒิ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save