fbpx
หันหลังให้เมืองกรุงฯ มุ่งสู่ผืนดิน : Just Beginning ‘เน็ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่’

หันหลังให้เมืองกรุงฯ มุ่งสู่ผืนดิน : Just Beginning ‘เน็ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่’

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ในบรรดา ‘นักเดินทาง’ ที่อาจได้รับคำนิยามว่าเป็นสายโรแมนติก เน็ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่ น่าจะห่างไกลจากนิยามนั้นมากที่สุดคนหนึ่ง

พ่อตาย ไฟไหม้ไร่สวน – เอาแค่นี้ก็ไม่น่าใช่ความปรารถนาที่คนหนุ่มสาวอยากพานพบ แต่เธอก็ถือเอาสิ่งที่ ‘เลือกไม่ได้’ นับเป็นรายจ่ายให้กับการเดินทางต่อ

ภายในผืนดิน 18 ไร่ Mekong Nomad Organic Farm ถือเป็นรูปธรรมของชีวิตเธอที่สุด และมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบเปิดนิตยสารเจอภาพสวยๆ แล้วจะจิ้มเอาง่ายๆ ว่าอยากได้ชีวิตสวยๆ

ผมเจอเน็ตติ้งครั้งแรกที่พนมเปญ พร้อมกับ ‘อันวาร์’ หรือ มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ คนหนุ่มแห่งปาตานี เมื่อกันยายน ปี 2010 เธอเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ ‘โครงการประสานความร่วมมือเพื่อคนรุ่นใหม่ในลุ่มน้ำโขง’ ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

หญิงสาวร่างเล็ก แต่แคล่วคล่อง โดยเฉพาะภาษาสากล ทำให้การกระชับความสัมพันธ์ของวัยรุ่นอุษาคเนย์เป็นไปอย่างง่ายขึ้น

ผ่านไปเกือบทศวรรษ มารู้อีกทีว่าเธอลาออกจากงานประจำมาได้สักพัก หันหลังให้เมืองกรุงฯ มุ่งหน้ากลับบ้าน – บ้านแก้งกอก อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี เพื่อปลุกปั้นผืนดินที่บ้านให้กลายเป็นที่ฝากผีฝากไข้ของครอบครัวได้

เน็ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่
ภาพจาก www.facebook.com/mekongnomadfarm/

ดูเหมือนว่าการตัดสินใจหันหลังให้เมืองของเธอ ไม่ใช่การกลับไปอยู่ในมุมเล็กๆ แบบอารมณ์เบื่อเมือง ทว่าบ้านของเธอกลับกลายเป็นประตูสู่โลกกว้างและใหญ่กว่าเดิม

นักกิจกรรมจากทั้งทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย ต่างเดินทางมาที่แปลงสวนของเธอ เพื่อเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ ที่เธอบอกว่าเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ผมพบเธออีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ในจังหวะที่เธอกำลังแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขงกับเพื่อนๆ จากเวียดนาม ลาว กัมพูชา และเตรียมร่ำลาส่งพวกเขาเดินทางไปดูสถานการณ์ที่เมืองทวาย พม่า

มีเรือกสวนเป็นที่ตั้ง มีมิตรสหายคล้ายแมลงคอยแวะมาผสมเกสร เยี่ยมยามถามทุกข์สุข และบางเวลาเธอก็บินไปพบพวกเขาบ้าง แน่นอน, การออกจากกรุงเทพฯ ของเธอในบางความหมาย ก็คล้ายกับการลาออกจากพลเมืองไทย พาตัวเองไปเป็นพลเมืองโลก

วันดีคืนดี นักศึกษาจากสิงคโปร์อยากเห็นชะตากรรมลุ่มน้ำโขง เธอก็ทำหน้าที่เป็นล่าม พาคนหนุ่มสาวไปพูดคุยกับชาวบ้าน

อีกบางวัน กระแสข่าวกลุ่มทุนเถื่อนเข้ามาระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขง สำนักข่าวรอยเตอร์ นำโดยแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ ก็ไหว้วานให้เธอพาลงพื้นที่พร้อมเป็นล่ามด้วย

เจ้าของฟาร์ม ‘Mekong Nomad’ บอกที่มาของการตั้งชื่อให้สวนแปลงนี้ฟังว่า เธอสนใจเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ก่อนนี้ที่ทำงาน มอส. ก็ปลูกผักบนดาดฟ้า แต่เมื่อช่วงวัยถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน การเดินทางร้องเรียกหา เธอตัดสินใจลาออก ขอทุนที่ทำงาน 1 แสนบาท เพื่อเดินทางไปสำรวจชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ทำงานหากินอยู่ในลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และไทย

เดินทางคนเดียว 1 ปีกับกล้อง 1 ตัว ได้สารคดีมา 5 ตอน

“ช่วงที่ลาออกเป็นช่วงที่รอบบ้านเรากำลังเปิดอาเซียน ทั้งที่ทำงานร่วมกันมาตลอด แต่เราอยากเห็นชีวิตของเพื่อนๆ อาเซียนให้ลึกกว่าแค่คนทำกิจกรรมร่วมกัน บวกกับเป็นช่วงที่ชีวิต Burn Out พอดี เพราะเครียดกับอาชญากรรมอุ้มหาย ‘สมบัด สมพอน’ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของลาว ที่เราคุ้นเคย

“ความเครียดที่ใช้สมองอยู่กับประเด็นงานรณรงค์ การได้สัมผัสดินและทำอาหารกลับเยียวยาตัวเองได้ มันทำให้ถามตัวเองใหม่ว่าเวลาเราพูดเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน เราพูดแต่ทฤษฎี แต่เรื่องนี้มันต้องลงมือทำเองถึงจะเข้าใจ”

ครบ 1 ปีที่รอนแรมไปตามลุ่มน้ำโขง วันที่เธอกลับบ้านเหลือเงินติดตัวร้อยกว่าบาท ยืนมองผืนดินตัวเองอยู่ชั่วอึดใจ ชื่อ ‘Mekong Nomad’ จึงถือกำเนิด

เน็ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่
ภาพจาก www.facebook.com/mekongnomadfarm/

แต่ไม่ใช่ว่าได้ชื่อที่พึงพอใจแล้วจู่ๆ ต้นไม้ พืชผักใบหญ้าจะงอกงามขึ้นมาเลย ต้นทุนที่แพงที่สุดของเธอคือการสูญเสียพ่อ

“พ่อล้มป่วยเป็นมะเร็ง ทำให้แม่ยอมเปลี่ยนวิธีคิดว่าเกษตรแบบเก่าทำลายสุขภาพ ที่บ้านเคยทำสวนยางพารา ต้องใส่ ‘ฟูราดาน’ เพื่อกันแมลงและรากเน่า แต่สารเคมีตัวนี้โหดร้ายกับมนุษย์มาก เลยตัดสินใจเลิกทำสวนยางเพื่อดูแลพ่อให้เต็มที่อยู่อีก 7 เดือน กระทั่งพ่อเสีย จึงเริ่มวิถีอินทรีย์เต็มตัว”

แต่ไม่ทันได้เพาะเมล็ด รายจ่ายหนักอึ้งที่เธอเสียเพิ่มตามมาคือฟาร์มถูกไฟไหม้

เธอว่าหลังพ่อเสียไป มียายย้ายเข้ามาอยู่ด้วย วันหนึ่งยายเผาขยะเสร็จแล้วกลับเข้าบ้าน จู่ๆ เพื่อนบ้านวิ่งมาบอกว่าไฟไหม้

เธอกับแม่วิ่งออกไปดู แต่ไม่ทัน ไฟลามจากกองขยะไปที่คอกเป็ดที่ภายในมีกองฟางแห้งกว่า 200 ก้อนเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เป็ดกว่า 30 ตัว ที่ถูกเผาทั้งเป็น แล้วไฟยังลามไปติดสวนยางต่อ ร่องสวนที่เต็มไปด้วยหญ้าแห้ง ทำให้สวนยางกว่าครึ่งต้องมอดไหม้ไปเพียงไม่ทันข้ามคืน

เพียงพอไหมกับการเก็บโกยเรี่ยวแรงใจที่หล่นหายให้กลับมา, ไม่แน่ใจ แต่ความที่มีดีเอ็นเอเป็นเด็กกิจกรรม ผมเดาเอาเองว่าเธอต้องหายใจลึกๆ แล้วลุกเดินหน้าต่อ

จากวันผ่านเดือน จากเดือนผ่านปี ฟาร์ม ‘Mekong Nomad’ กลายเป็นค่ายกิจกรรมย่อมๆ ให้เด็กๆ ในชุมชนบ้านแก้งกอก เข้ามาเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านเรื่องราวป่าชุมชนไปด้วย

นอกจากเพื่อนฝรั่งที่แวะเวียนมาตลอดแล้ว เธอยังมีเพื่อนจากโคราช สุรินทร์ จากสามจังหวัดชายแดนใต้ และปกาเกอะญอจากภาคเหนือ มาร่วมกันจัดค่าย

Mekong Nomad
ภาพจาก www.facebook.com/mekongnomadfarm/
Mekong Nomad
ภาพจาก www.facebook.com/mekongnomadfarm/

“ความจริงเราก็เรียนรู้ไปพร้อมเด็กๆ นั่นแหละ ดินในกระถางบนดาดฟ้ากับดินบนฟาร์มผืนใหญ่คนละสเกลกัน ผักที่ลองปลูกครั้งแรกเป็นจำพวกผักตระกูลสลัด เราอยากทดสอบดินว่าพอไหวไหม ปรากฏว่ามันก็ขึ้นงามอยู่ เพราะผักพวกนี้เป็นผักใบ ชอบไนโตรเจนสูง พอดีเราเลี้ยงเป็ด ขี้เป็ดมีไนโตรเจนสูง ก็เอามาใช้ได้”

เน็ตติ้งบอกอีกว่า ความเครียดจากงานในเมืองทำให้เธอต้องฟังเสียงร่างกายตัวเอง เพราะตอนเด็กเธอป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ (Juvenile rheumatoid arthritis)

“ต้องกินยาจำพวกสเตียรอยด์ ตั้งแต่ 6 ขวบ ทุกวันนี้ไม่ได้กินยาแล้ว แต่พิษยายังคงตกค้างในร่างกาย เราเป็นคนอักเสบง่าย ช่วงที่ไปทำงานล่าม เวลานั่งเครื่องบิน หูจะอื้อจนอักเสบ การดูแลพ่อก็ทำให้เราเห็นตัวเอง อาหารที่กินเข้าไปถ้ามันปลอดภัยเพราะเราปลูกเอง เราก็ไม่ต้องกังวล จะกินอะไรที่ปลอดภัยก็เริ่มจากการปลูก จะปลูกได้ก็เริ่มจากรู้จักดิน”

เรื่องดินสำคัญยังไง ผมถาม

เธอว่าเราต้องรู้พื้นที่ของตัวเอง ดินระบายน้ำได้ไหม หรือเป็นดินอุ้มน้ำ มีความเป็นกรดเป็นด่างมากน้อยแค่ไหน จะปลูกอะไร ไม่ใช่ว่าเราทำตรงไหนก็ได้ ต้องเลือกโซน บางโซนต้องเอาแกลบใส่เพิ่มอินทรีย์วัตถุ อากาศเป็นยังไง อุณหภูมิดินสูง ผักก็ไม่ค่อยโต รากเน่าง่าย

“มะเขือเทศที่เราปลูกปีนี้ มันตายด้วยโรคเหี่ยวเขียว ปลูก 60 ต้น เหลืออยู่ 30 ต้น พื้นที่เราน้ำมันขัง เพราะปีนี้ฝนตกเยอะ ดินที่เราใช้ไม่ได้ตากแดดนานเป็นอาทิตย์ และไม่ได้หมักดิน มะเขือเทศที่ลงไปเป็นมะเขือเทศเชอรี่ มันยังไม่ถูกพัฒนาให้ทนต่อโรคเหี่ยวเขียว มันต่างกับมะเขือเทศที่ปลูกส่งโรงงานที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มันทนต่อโรคมาแล้ว”

แม้จะรู้ตัวว่าปีนี้ไม่ใช่ปีที่เหมาะสำหรับการปลูก ด้วยเหตุว่ากลางวันอากาศร้อนจัด กลางคืนเย็นเฉียบ อุณหภูมิขึ้นๆ ลงๆ เธอว่าพืชมันก็ตายง่าย

หลังออกจากกรุงเทพฯ เน็ตติ้งบอกว่าเธอกลายเป็นคนที่สังเกตธรรมชาติมากขึ้น ดูอุณหภูมิ ดูดินฟ้าอากาศ

“หนอนแมลงมาช่วงไหน ผักชนิดไหนเพลี้ยชอบ เวลารดน้ำมะเขือเทศต้องรดแบบซึม ไม่ใช่แบบไหลกระชาก มันมีรายละเอียดเล็กๆ เรารู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ เราต้องผ่านปัญหาอุปสรรคและเข้าใจเรื่องราวพวกนี้ เพราะว่าเราไม่ต้องการเป็นคนปลูกผักขายอย่างเดียว”

ภาพจาก www.facebook.com/mekongnomadfarm/
ภาพจาก www.facebook.com/mekongnomadfarm/

คงไม่ถึงขนาดพูดกับใบไม้รู้เรื่อง แต่การเข้าใจความละเอียดอ่อนของระบบนิเวศ ก็ทำให้เจ้าของฟาร์มรู้ว่าอะไรควร-ไม่ควรทำ ในผืนดินตัวเอง

“อย่างแรกเลยคือเวลาของเราช้ากว่าคนทำงานออฟฟิศ เราได้ปลูกผักกินเอง เราได้ทำอาหาร การทำกับข้าวใช้เวลาสามสี่ชั่วโมงต่อวัน เราไม่ซื้อกับข้าวถุงกินจากตลาด ซื้อเฉพาะวัตถุดิบที่จำเป็น จำพวกเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ทำให้เรามีเวลาเลือกวัตถุดิบที่ดีให้ร่างกายตัวเอง”

เธอมีแพลนทำธุรกิจเพื่อสังคมกับเพื่อน แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้าและมั่นใจ ทุกวันนี้เธอว่าเริ่มมีลูกค้าในอำเภอที่เห็นผักปลอดสารของ ‘แม่โขง โนแมด’ แล้วอยากผูกปิ่นโตด้วย

“กลุ่มเพื่อนแม่ที่เป็นคุณครูและสุขภาพไม่ค่อยดี เขาก็เริ่มเห็นว่าการกินอาหารปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ”

บางทีดูเหมือนว่าความป่วยไข้ก็ช่วยเธอประชาสัมพันธ์ในทางอ้อม เพียงแค่ยืนหยัดพิสูจน์ให้คนรอบข้างเห็นว่าอาหารปลอดภัยมีอยู่ใกล้บ้าน-ไม่ไกลเกินเอื้อม

แล้วการถ้าเลือกเดินไปอย่างเชื่องช้า ต้องทนลำบากไหม คำถามสุดคลาสสิกหล่นลงในวงพูดคุย

“แค่อดทนที่จะถูกถามว่าอยู่ได้ไหม ช่วงที่ผ่านมาเราถูกเชิญไปแลกเปลี่ยนว่าคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาทำเกษตร มีชีวิตแบบไหน เราคิดว่าถ้าจะทำธุรกิจเต็มตัว มันอาจจะง่ายกว่าที่เป็นอยู่ เริ่มได้เลย คิดโมเดลค้าขายทั่วไป แต่ด้วยความที่เราเติบโตมาแบบเด็กกิจกรรม เราอยากเข้าใจเรื่องดินฟ้าอากาศก่อน เราได้เรียนรู้ผลกระทบจาก climate change เราเผชิญกับมันแล้ว”

“เราหารายได้ผ่านผลผลิต ขายผลผลิตก็จริง แต่เราต้องการเชื่อมกับชุมชน สร้างพื้นที่ให้เด็กเข้ามาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และมีเพื่อนจากลุ่มน้ำโขง มีอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งหมดเป็นงานที่ไม่โรแมนติกเลย มีดราม่าในตลาดประชารัฐ คนรุ่นเก่ามีคอนเซ็ปต์แบบเชื่อรัฐอย่างเดียว ไม่กล้าคิดต่าง ทั้งหมดทำให้เราเรียนรู้ไป

“ล่าสุดก็มีคนอเมริกันจากเวอร์มอนต์มา เขามาเมืองไทยตอนอายุ 18 ปี ตอนนี้ 24 เขาเรียนเกษตรและการเมือง เขานับถือพุทธนิกายเซน เขาอยากรู้ว่าเกษตรกรรมยั่งยืนมันเวิร์คยังไงในบริบทอีสาน และเขาก็มากับเพื่อนที่เป็นคนอินเดียและก็สอนเต้น เพิ่งจบคอร์สเรียนโยคะที่บาหลีมา เขาก็มาสอนพวกเราที่ฟาร์มเรา มันมีสีสันมาก”

ภาพจาก www.facebook.com/mekongnomadfarm/

เน็ตติ้งบอกว่า ปฏิบัติการทางสังคมเป็นชีวิตของเด็กกิจกรรม เธอทำมันในรูปแบบการทำเกษตร

“การทำอาหารปลอดภัยให้คนกิน ไม่โรแมนติก มันยากกว่าอยู่บนดาดฟ้า คนในอำเภอเราเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีความคิดที่ปิด คนทำงานราชการไม่กล้าที่จะยอมรับความคิดใหม่ๆ นี่ก็ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าย”

ในแปลงของเน็ตติ้งมีข้าวกับผักที่ปลูกเอง ยกเว้นกระเทียม หอม พริก ที่ยังไม่ได้ลองปลูก แต่เธอคิดไปขนาดว่าอยากทดลองทำซอสถั่วเหลืองกับซอสมะเขือเทศเอง

“ต้องลองปลูกถั่วเหลืองดูก่อนว่าจะขึ้นไหม อย่างปลาร้าก็ทำเอง ยกเว้นเกลือที่ต้องซื้อ น้ำปลาเขาก็มีเวิร์คชอปของคนทำน้ำปลาจากทางใต้ มีสอนในยูทูป”

จะว่าไปก็ดูน่าสนุก แต่เอาเข้าจริงคนเมืองอย่างผมอาจยอมยกธงขาวตั้งแต่พรวนดิน เน็ตติ้งยิ้มพลางว่า เธอเองก็อยู่ในช่วงทดลองว่าทำได้จริงไหม ค่อยๆ พิสูจน์กับความเชื่อตัวเอง

“เวลาเราเลือกซื้อปลาที่ตลาด เราก็ถามแม่ค้าว่าปลาจากลำห้วยไหน มันเป็นการสร้างตัวเลือกให้ชีวิต เหตุผลที่ต้องพูดถึงแหล่งที่มาของอาหาร เพราะตอนที่พ่อป่วย ปลาเลี้ยงทั่วไปจะใส่ฮอร์โมนเยอะ เราก็ต้องหาปลาแม่น้ำให้กินแทน”

ทั้งหมดทั้งปวง เน็ตติ้งใคร่ครวญกับการลงแรงสมองแรงกายไปกับผืนดินตัวเองว่า ในโลกอนาคตที่ไม่แน่นอน การพึ่งตัวเอง สร้างทักษะให้ชีวิตในเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างเรื่องอาหาร ถือเป็นเรื่องจำเป็น

เน็ตติ้ง จารุวรรณ สุพลไร่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save