fbpx
“กัญชาอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

“กัญชาอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ในบรรดาสถานการณ์และข้อถกเถียงเกี่ยวกับ ‘กัญชา’ ในไทย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ น่าจะเป็นศูนย์หน้าตัวเป้าคนหนึ่งของทีมที่สนับสนุนและผลักดันให้คนไทยได้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย

ไม่แค่เฉพาะในทางการแพทย์ ที่ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติด ผ่านการถูกแก้รายละเอียดเพื่อเอื้อให้วงการแพทย์สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ผิดกฎหมายแล้ว

แต่ในบรรยากาศบ้านเมืองที่ห่มคลุมด้วยวิกฤตการเมือง ‘หมอธีระวัฒน์’ ยังเคยเสนอทีเล่นทีจริงผ่านโซเซียลมีเดียทำนองว่า “ให้ใช้กัญชาได้โดยด่วนในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง ด้วยเพราะ กัญชาออกฤทธิ์ได้ชะงัดในบริเวณก้านสมองส่วนล่าง ที่มีตัวรับ HT3 ซึ่งถึงกับเรียกกันว่าเป็น setron center หรือเป็นตำแหน่งของสมองที่ยาบรรเทา ‘อ้วก’ ซีตรอนออกฤทธิ์แล้วทำไมคนไทยต้องอ้วก?เพราะในช่วงนี้เมื่อดูการหาเสียง ดูตัวสมัคร ดูการไม่สนใจบ้านเมือง ไม่สนใจปัญหาที่ต้องแก้ไข อยากจะเป็นรัฐบาลท่าเดียว ทำให้เกิดอาการคลื่นเหียน อ้วกไปตามกัน

“แล้วทำไมต้องกัญชา?เพราะยาปัจจุบันฤทธิ์ไม่แรงพอ อีกครั้งอาจจะต้องการฉีด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะต้องฉีดคนไทยครึ่งประเทศ แล้วถ้าใช้กัญชาจะใช้รูปแบบใด?ควรเป็นแบบสูบ เพราะออกฤทธิ์เร็วภายในระยะเวลา 10 นาที ซึ่งแตกต่างกับแบบหยดใต้ลิ้นหรือแบบกิน ซึ่งตั้งรอเวลาเป็นชั่วโมง นอกจากนั้นแบบสูบ สามารถเวียนกันได้หลายคนต่อหนึ่งมวน เนื่องจากไม่ควรอัดซ้ำๆ กันแบบบุหรี่ เพราะปริมาณที่ได้จะมากเกินไปและเสียของ สู้แบ่งกันสูบดีกว่า

“แล้วกัญชามีอะไรดีอีกกัญชายังไปออกฤทธิ์ที่สมองส่วนความสุข ต้านความเสื่อมเศร้า อารมณ์เจ็บปวด ดังนั้นสามารถใช้ได้ทั้งคนไทยที่เหนื่อยหน่ายกับบ้านเมืองและนักการเมืองที่สอบตกหรือไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล ต้องอดอยากปากแห้ง หาเศษหาเลยหาขยะกิน ย่อมมีความเป็นทุกข์ จะได้ใช้กัญชาได้”

พ้นไปจากความขำขัน ถ้อยคำข้างต้นของหมอธีระวัฒน์สะท้อนว่า ประเด็นกัญชานั้นกำลังสะท้อนภาพการเมืองไทยไปด้วยเวลาเดียวกัน

แต่อะไรคือถ้อยคำที่ซีเรียสกว่านี้ อะไรคือหลักคิดและข้อโต้แย้งของเขา ท่ามกลางเสียงของวงการแพทย์อีกไม่น้อยที่มองกัญชาต่างออกไป ในความหมายว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ฯลฯ

ไม่ว่าจะรัก ‘กัญ’ หรือเกลียด ‘กัญ’ 101 เห็นว่าทัศนะของหมอศูนย์หน้าตัวเป้าผู้นี้นับว่าน่ารับฟังอย่างยิ่ง

 

คุณหมอมองเห็นอะไรในกัญชา ทำไมถึงพยายามส่งเสียงดังๆ ให้สังคมหันมามองพืชผิดกฎหมายตัวนี้

ประเด็นแรก คือขณะนี้ในสังคมไทยไม่ว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เวลานี้มีการใช้กัญชากันโดยทั่วไปซึ่งอยู่ใต้ดินอยู่แล้ว คนกลุ่มนี้ใช้กันมานาน มีการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ ไปจนถึงการสกัดกัญชาเป็นน้ำมันนำมารักษาโรคบางชนิด ซึ่งมีกระทั่งการเปิดสอนวิธีการสกัด เขาทำกันมานานแล้ว ทำมาก่อนที่ภาครัฐจะสนใจและมีการแก้กฎหมายด้วยซ้ำ

ผมค่อนข้างสนใจคนกลุ่มนี้ เพราะจากการเข้าไปรับรู้ด้วยตัวเอง เราพบว่าพวกเขาจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หมายความว่าพอมีคนไข้ใหม่เข้าไปในกลุ่ม ก็จะมีคนไข้เก่าคอยให้กำลังใจและแชร์ประสบการณ์การรักษากัน ซึ่งถ้าใครไม่มีเงิน เขาก็แทบจะให้มาในราคาทุน ไม่เอากำไรกัน ถือเป็นการช่วยเหลือกันไป ประเด็นสำคัญที่สุดคือมันใช้แล้วเห็นผลในทางที่ดี

ทำไมคนกลุ่มที่ว่า ถึงหันมาเลือกใช้กัญชา

ข้อแรก คนส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชา เป็นผู้ป่วยมะเร็งที่หมดทางเลือกในการรักษาทางปกติแล้ว อาการจากมะเร็งระยะที่สี่ คุณหมอทั่วไปก็บอกได้แค่ว่า นอกจากให้เคมีบำบัดหรือฉายแสงแล้ว ก็ทำได้แค่การบรรเทาอาการไป

ข้อสอง คนไข้ส่วนใหญ่หดหู่ทรมานทั้งใจและกาย เนื่องจากความเจ็บปวด ซึ่งกัญชาตอบโจทย์นี้สำหรับพวกเขา เขาใช้แล้วหายปวด กินข้าวได้ อย่างน้อยมันก็บรรเทาอาการเบื้องต้นที่เขาทรมานจากการรักษาแบบแผนปัจจุบัน

เราโฟกัสที่กลุ่มคนไข้ เพราะร่างกายพวกเขามีอาการ ระบบกัญชาธรรมชาติบกพร่อง อธิบายสั้นๆ คือร่างกายคนเราปกติจะมีสารกัญชาตามธรรมชาติอยู่ มันจะคอยปรับสมดุลทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ การเคลื่อนไหว ความจำ กัญชามันแทรกอยู่ในระบบต่างๆ ในสมอง และมันแทรกอยู่ในระบบภูมิคุ้มกัน พูดง่ายๆ คือกัญชาอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เสพกัญชา แต่ร่างกายทุกคนมีสารของกัญชาอยู่ในร่างกายเรียบร้อย สารชื่อว่า (endocannabinoid) cannabinoid คือสารในกัญชา endo คือสารภายใน

มองย้อนกลับไปที่เส้นทางของประเทศต่างๆ ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาได้ทั่วไป คุณหมอเห็นพัฒนาการของประเทศเหล่านั้นอย่างไร เขาผ่านการทดลอง-ถกเถียงกันมาแค่ไหน กว่าจะตกผลึกและเห็นประโยชน์ร่วมกัน

ถ้ามองลำดับขั้น จะเห็นว่าในลำดับแรกๆ คือมีการใช้สำหรับวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สองคือเริ่มมีการปลูกในระดับโรงงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ เช่น อาร์เจนตินา ฝรั่งเศส โรมาเนีย อิสราเอล อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ กรีซ เนเธอแลนด์ ปอโตริโก เป็นต้น

สามคือการนำเข้ายาที่ได้มาตรฐานหรือผ่าน อย. ประเด็นคือไทยเรายอมรับมาใช้กันไม่ได้ เพราะว่าถ้าหากเราสั่งนำเข้า แปลว่าค่าใช้จ่ายในโรคที่ใช้ยาจากกัญชาแทนยาเดิม เช่น โรคลมชัก คนไข้อาจจะต้องเสียเงินประมาณ 3-4 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือน

ผมมีหมอรุ่นน้องในโรงพยาบาลที่สหรัฐอเมริกาเล่าให้ฟังว่า ที่นั่นมีการเริ่มใช้กัญชาในการรักษาโรคลมชักและโรคสมองในเด็กตั้งแต่ปี 2014 ในช่วงนั้นเริ่มมียาที่จำหน่ายที่ผ่าน อย. ยาเหล่านั้นมีราคาแพง ดังนั้นโรงพยาบาลจะมีนโยบายยอมให้คนไข้ถือน้ำมันกัญชาเข้ามาใช้เองได้

แต่คนไข้ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในส่วนของน้ำมันกัญชาได้ เพราะบริษัทประกันมองว่าน้ำมันกัญชามีสรรพคุณบางอย่างที่ไม่ได้มาจากสารตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะ

ประเด็นคือในน้ำมันกัญชามีสารประเภทอื่นๆ นอกจาก THC และ CBD เยอะมาก ในตำรับแพทย์แผนไทยโบราณก็มีสูตรการผสมยาสมุนไพรอยู่ หากมีการพัฒนาในแนวทางนี้ ยาที่เราได้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะเรามีต้นทุนที่ถูกกว่า และการใช้ยาจากการนำเข้าจะเป็นการใช้ที่ตายตัว แต่การใช้น้ำมันกัญชาที่บ้านเรามันเป็นการใช้ที่สามารถควบคุมและยืดหยุ่นได้

ที่อเมริกา ถ้าคนไข้เอาน้ำมันกัญชามา เขาจะเอาเข้าไปตรวจที่แลปเพื่อคำนวณว่า ในปริมาณน้ำมันที่ออกมานั้นควรจะให้คนไข้ในอัตราเท่าไหร่เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าในแต่ละโรคมันต้องการสารอะไรมาก สารอะไรน้อย

ขั้นต่อมาคือ self remedy หรือปลูกเอง ใช้เอง รักษาเอง ขณะนี้ที่เราทำงานกับกลุ่มใต้ดิน เราถือคติว่าต้องบุกและเลือกวิธีนี้ เพราะคนป่วยเจ็บปวดและทรมานกันมาก การใช้สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นการใช้วิธีหยดใต้ลิ้นที่ทำให้เมาและหลับไป พอตื่นมาแล้วหายปวดและกินข้าวได้

ขณะนี้ประเทศไทยไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับในทางกฎหมายก็ตาม เราอยู่ในขั้นนี้คือ self remedy

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

คุณหมอคิดอ่านอย่างไรกับข้อโต้แย้งว่ากัญชายังเป็นยาเสพติด 

ในปี 2016 ที่สหรัฐอเมริกามีเวทีประชุมของนักวิทยาศาสตร์เรื่องระบบสมอง เรารู้หมดแล้วว่ากลไกของกัญชามันทำให้เกิดผลอย่างไรในสมองมนุษย์บ้าง

เราพบว่าการติดกัญชาไม่ได้เกิดจากกัญชา แต่เกิดขึ้นเพราะคนๆ นั้นมีรหัสพันธุกรรมที่พร้อมจะติด และถ้าหากจะเลิก ทุกคนสามารถเลิกได้ภายใน 20 วัน หลังหยุดไม่มีอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายคนอื่น

วิธีป้องกันไม่ให้คนติดคือการค่อยๆ เพิ่มปริมาณสาร THC เข้าไป ไม่ให้คนไข้ใช้พรวดเดียว เพราะการใช้พรวดเดียวคือการใช้ทางสูบแบบบุหรี่ ซึ่งตรงข้ามกับการใช้น้ำมันที่อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะออกฤทธิ์

ปัญหาคือที่ผ่านมาคนหากัญชาได้ยาก เขาก็มีโอกาสใช้ผิดจังหวะที่ควรจะใช้ เช่น สูบหลายๆ รอบ เร็วๆ เพราะกลัวจะไม่ออกฤทธิ์ วิธีแก้อย่างหนึ่งที่เป็นเหมือนคัลเจอร์ คือสูบกัญชาพร้อมกันหลายๆ คน เมื่อวนกลับมาก็จะหมดมวนพอดี

ในการสูบลักษณะแบบนี้ เมื่อได้ความรู้สึกมีความสุขแล้วก็ต้องหยุดแค่นั้น เพราะถ้าหากมีความรู้สึกมากเกินไป ก็จะส่งเสริมให้เกิดการติดความสุขง่าย หรือถ้าได้มาในทันทีทันใดในปริมาณที่เยอะเกินไป ก็อาจจะทำให้ตามมาด้วยภาวะหดหู่ซึมเศร้า เพราะฉะนั้นในการป้องกันไม่ให้เสพติด ก็ต้องไม่สูบเข้าไปในปริมาณที่เยอะเกินไป

คำพูดที่ว่าการใช้กัญชาทำให้เกิดอาการทางจิต หรือทำให้โง่ไปเลย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

คนที่สูบกัญชาแล้วมีอาการทางจิต เวลานี้เรารู้ชื่อยีนส์ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนบางกลุ่มมีความเสี่ยงมากกับอาการเหล่านี้ และรู้วิธีการแก้แล้ว ก็คือการค่อยๆ สูบ ไม่ใช่ให้เขาใช้พรวดเดียว

ที่ยกตัวอย่างมานี่เป็นการศึกษาจากโครงการในสหรัฐฯ ที่เอาคนเป็นผู้ทดลองผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ทางสมองแบบพิเศษ เพื่อดูว่าแต่ละคนมีเส้นใยประสาท หรือโครงสร้างสมองต่างกันอย่างไร พร้อมกับการเก็บเลือดและรหัสพันธุกรรม

เดิมทีโครงการดังกล่าวเขาจะเอาไปใช้เพื่อศึกษาเรื่องอาการอัลไซเมอร์ แต่มีการดึงข้อมูลคนกลุ่มนี้มาใช้ในการวิจัยกัญชา และพบว่าคนที่มีโครงสร้างบางประการคล้ายกัน แม้จะสูบกัญชาในปริมาณน้อยแต่ก็มีผลข้างเคียงมากกว่ากลุ่มอื่นก็ได้

หรือข้อที่พูดกันว่า ถ้าสูบกัญชาตั้งแต่เด็กแล้วจะมีโอกาสเป็นโรค schizophrenia (จิตเภท) ในปี 2012 พบว่าคนที่เป็นโรคจิตนั้นมีตัวรับสัญญาณกัญชาในสมองมากกว่าคนธรรมดา เขาเลยหายาตัวหนึ่งเข้าไประงับตัวรับสัญญาณนั้น ไม่ใช่ตัวกัญชาที่ทำให้คนเป็นโรคจิต เพราะถ้ากัญชาทำให้คนเป็นโรคจิต การระงับสัญญาณตัวรับกัญชาจะต้องทำให้โรคดีขึ้น แต่คนที่เป็นโรคจิตก็ไม่ได้มีอาการดีขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าให้สารกัญชาตามธรรมชาติและออกฤทธิ์ที่ตัวรับสัญญาณตัวนั้น ผลคือผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้น

รายงานนี้มีการเทียบคนไข้กลุ่มที่ใช้ยาปัจจุบันกับกลุ่มที่ใช้กัญชา พบว่ามีผลเท่ากัน แต่กลุ่มคนไข้ที่ใช้กัญชาไม่มีผลข้างเคียง

แล้วคุณหมอพอจะมองเห็นเหตุผลของฝ่ายที่ต่อต้านกัญชาไหม

คนที่ต่อต้านกัญชา ผมไม่รู้ว่าเขาจงใจที่จะไม่หยิบยกรายงานเรื่องนี้มาพูด หรือไม่มีความรู้มากพอที่จะอ่าน ซึ่งเนื้อหาก็เป็นวิทยาศาสตร์ แต่มีการบูรณาการกับองค์ความรู้ของหมอ นั่นคือที่มาของการใช้ CBD ซึ่งมีฤทธิ์เข้าไปตัดการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า FAAH  มีหน้าที่ทำลายสารกัญชาธรรมชาติ ผลก็คือจะทำให้ anandamide เพิ่มขึ้น

พอเรารู้ว่าสามารถเอากัญชามารักษาโรคจิตได้ เราก็คิดว่าน่าจะเอามารักษาโรคอื่นได้ เช่น เริ่มมีการใช้ CBD ในการรักษาคนที่ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยาบ้า ไปจนถึงคนติดกัญชาเองด้วย สรุปคือข้อกังวลว่าเสพติด โง่ เป็นบ้า ก็เคลียร์หมดทุกประเด็น

ดังนั้นคนปกติไม่จำเป็นต้องใช้กัญชาเลย เพราะทุกอย่างมันสมดุล แต่พอเราป่วย ไม่ว่าจะเพราะนอนไม่หลับ เป็นอัลไซเมอร์ เป็นพาร์กินสัน หรือเสพติดอะไรบางอย่าง ถ้าเราเติม endocannabinoid เข้าไปสองถึงสามหยด แล้วแต่คน ทุกอย่างเป็นปกติได้

อยากให้คุณหมออธิบายว่ากัญชามันทำงานกับร่างกายคนเราอย่างไร

ปกติระบบผลิตกัญชาในร่างกายมันเกิดจากการร้องขอ แต่พอร่างกายเราเจ็บป่วย สารตัวนี้มันผลิตไม่ได้ เพราะสารตัวนี้มีตัวรับสัญญาณที่อยู่คนละส่วนกับระบบประสาท เป็นตัวรับสัญญาณที่ทำหน้าที่ต่างกัน นี่เป็นสิ่งที่ต่างจากสารสื่อประสาทตัวอื่นๆ สิ่งที่เราทำคือเราไปกระตุ้นร่างกายว่าเราสร้างสารกัญชาน้อยไป ร่างกายก็จะจัดการเอง

ตอนนี้บริษัทยาจากกัญชาทั่วโลก กำลังรุดหน้าไปถึงขั้นที่กำลังวิจัยกัญชาเพื่อเอามารักษาโรคอ้วนด้วย ที่เราพูดกันที่ผ่านมาคือเอามาใช้รักษาอาการเจ็บปวด ถือเป็นการพูดเรื่องเก่าด้วยซ้ำ

แม้แต่ยาพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ คนทั่วไปไม่รู้ว่าเป็นยาเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ใช่การรักษาโรค วิธีการรักษาโรคพวกนี้ไม่ควรโหมหลอกคนไข้ว่าเขาจะหาย แต่หมอสมัยใหม่ชอบการเอาใจคนไข้ การบรรเทาอาการมากเกินไปจะส่งผลร้ายกับคนไข้ ซึ่งทำให้อาการเขากำเริบในภายหลัง

ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลและทุกชนิด มันมีผลให้คนไตวายตับวายได้ ถ้ากินมากไปก็เสี่ยงทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบตันได้เหมือนกัน เรื่องพวกนี้หมอสมัยใหม่ไม่พูด แต่มักพูดว่ากัญชาเป็นยาเสพติด

สำหรับคนที่อยากเห็นการใช้กัญชาทางการแพทย์ เมื่อก่อนก็พูดกันว่าการจะใช้กัญชาควรใช้เมื่อเกิดความเจ็บปวดรวดร้าวทรมาน รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ไหวแล้ว วันนี้คำถามคือทำไมต้องรอขนาดนั้น แทนที่จะใช้กัญชาเมื่อทุกอย่างล้มเหลวหมด ทำไมไม่ใช้ตั้งแต่แรกไปเลย

แล้วทำไมไทยถึงยังไม่ใช้ตั้งแต่แรก

วิธีคิดก็คือเราต้องชั่งกันระหว่างประโยชน์กับโทษ ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่ายาแก้ปวดปัจจุบันมีประโยชน์และโทษ ในแง่ที่ว่ามันช่วยบรรเทาอาการ แต่มีผลข้างเคียง ในขณะที่กัญชามันไม่มีโทษ และนี่ผมกำลังพูดถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุถึงผลข้างเคียงของการใช้ยาในปัจจุบัน รวมถึงผลจากการใช้กัญชาด้วย ที่ผ่านมาเราไม่รู้กลไกของโรคกับการใช้กัญชา เราจึงลังเล

หลังกฎหมายอนุมัติให้ทางการแพทย์แล้ว สำหรับไทยที่ยังไม่เคยมีการวิจัยทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ คุณหมอเห็นแนวทางความเป็นไปได้อย่างไรบ้าง

ในการวิจัยปกติ เราจะคิดว่าถ้าจะทดลองว่าถ้าคนไข้เป็นโรคนี้ จะต้องใช้กัญชาในปริมาณโดยเฉพาะเจาะจงเท่าไหร่ จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ได้ แต่การทำวิจัยกัญชาจะใช้การวิจัยแบบธรรมดาไม่ได้ ต้องเป็นการใช้กัญชาควบรวมกับยาปัจจุบันโดยการปฏิบัติจริง ต้องสามารถมีความยืดหยุ่นในการเก็บข้อมูลไปพร้อมๆ กัน

ไม่ใช่ว่าต้องวิจัยเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเอามาใช้ได้ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจะต้องผ่านกระบวนการคำถาม คือถ้าจะบอกว่าคนเป็นพาร์กินสันต้องใช้กัญชาสามหยดเช้าเย็นมันทำไม่ได้ เพราะกัญชามันมีการยืดหดตามลักษณะของคนไข้เป็นรายบุคคล มันต้องปรับเปลี่ยนไปตลอด

ยกตัวอย่างคนไข้รายหนึ่งเป็นพาร์กินสัน และเป็นโรคระบบประสาทอัตโนมัติเสีย (MSA) ทำให้ความดันของเขาเหลือที่ 60-70 มีอาการแขนเกร็ง ความดันตก ขณะนี้ต้องกินเกลือเพื่อพยุงความดัน พร้อมกับยาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งโรคนี้เราไม่แน่ใจว่ากัญชาจะรักษาได้หรือเปล่า ตอนนี้รักษาได้สองอาทิตย์ ความดันกลับขึ้นมาที่ 110-120 นี่เป็นโรคที่รักษายากที่สุดโรคหนึ่งในโลก

คนไข้กินยาพยุงความดันวันละสามเม็ด และเกลือวันละหกเม็ด แต่การใช้กัญชาควบคู่ไปด้วย ทำให้เขาใช้ยาพาร์กินสันลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ คนไข้ยังเดินได้ ไม่สั่นไม่เกร็ง อาการไม่ได้ดีขึ้น แต่ใช้ยาลดลงครึ่งหนึ่ง เราสันนิษฐานว่ากัญชาอาจไปรักษาที่ตัวโรคหรือไม่ ถ้าสำเร็จจนเลิกยาลดความดันไปได้ จะเป็นครั้งแรกที่ในโลก ไม่มีที่ไหนเคยทำได้มาก่อน

มีคนไข้พาร์กินสันอีกคนเป็นพี่ชายของหมอที่เป็นรุ่นน้อง เขาเสียค่ายาเดือนละประมาณ 20,000-30,000 บาท ตอนนี้เรากำลังพยายามลดยาลง แค่ลดยาได้โดยพยุงอาการให้อยู่เท่าเดิม คนไข้เหล่านี้ก็กำไรแล้ว

การใช้กัญชาทางการแพทย์ดูเหมือนไม่น่าซับซ้อนอะไรมาก ยกเว้นว่ามันยังเป็นพืชผิดกฎหมายอยู่เท่านั้น คุณหมอคิดว่าเป็นเพราะอะไรที่คนป่วยในไทยถึงยังเข้าถึงไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์

ถ้าหมอทุกคนพยายามไปให้ไกลมากกว่านี้ คิดว่าคนไข้เป็นพ่อเป็นแม่ เราจะยอมให้คนไข้แย่ลงไปต่อหน้าต่อตาหรือ ถ้าเรามีอะไรที่สามารถมาทดแทนได้ โดยที่เราเห็นหลักฐานและประจักษ์พยานทั้งในไทยและต่างประเทศเต็มไปหมดว่ามันดีกว่าแบบเก่า ทำไมเราถึงไม่เปลี่ยน

หมอไทยส่วนใหญ่ยึดติดกับตำรา แต่ไม่ได้มีความกระหายที่อยากจะรู้เรื่องกลไกของโรคกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ได้กระหายที่จะรู้ว่ามีอะไรสามารถไปขัดขวางกลไกของโรคได้อีกบ้างนอกเหนือจากตำราว่าไว้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

เอาเข้าจริง วงการแพทย์ไทยหยิบเอางานวิจัยกัญชาของสากลมาใช้อ้างอิงเลยได้ไหม ถ้าที่ผ่านมาก็ยึดตำราจากสากลเป็นหลักอยู่แล้ว

จริงๆ แล้ว หมอที่รักษามะเร็งอาจจะไม่ได้รับทราบข้อมูลโดยละเอียดจากคนที่รักษาด้วยกัญชา ดังนั้นเราอาจต้องยอมเสียสละเวลามาสัมภาษณ์คนที่เป็นมะเร็งแต่ละคนให้มากขึ้น ไปดูประวัติเขา รวมถึงเอาเนื้อเยื่อ เอาสไลด์มาดูใหม่ ไปดูว่าคนไข้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตามระยะการรักษาจริงหรือเปล่า เราไม่จำเป็นต้องทำการวิจัยใหม่ขนาดนั้น แต่ไปตามหาการรักษาที่ได้ผลแล้วย้อนกลับไปดู ถ้าเราเปิดตรงนี้ได้ เราจะเข้าถึงข้อมูลเวชระเบียนที่มีการรักษาด้วยกัญชาอย่างเป็นระบบ

แน่นอน ยังไงก็ต้องมีคนตายไป แต่ถ้าเราได้ข้อมูลว่าตอนที่คนไข้ตาย เขามีความสามารถในการสั่งเสียครอบครัว หรือเขาสามารถยืดอายุออกไปได้สี่ห้าเดือนที่เขายังสามารถอยู่ได้โดยไม่ทรมาน จะไม่ดีกว่าหรือ

จริงอยู่ที่ทุกคนสามารถใช้นโยบาย 30 บาทได้ แต่อย่าลืมว่างบส่วนนี้ก็มีที่มาจากงบประมาณของประเทศ ถ้าเราเอาเงินไปโปะไว้ส่วนอื่นที่เขาต้องการจริงๆ ได้ เรายิ่งต้องเข้ามาดูว่ามะเร็งที่กัญชาสามารถช่วยได้ เป็นมะเร็งชนิดไหน และต้องใช้กัญชาจากแหล่งไหนในปริมาณเท่าไหร่

อย่างกรณีผู้ป่วยมะเร็ง สังคมไทยมองว่าควรรักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะสามารถรักษาได้เหมือนกัน คุณหมอมองอย่างไร

ถูกต้อง เพราะปัจจุบันคนที่เป็นมะเร็งระยะแรกๆ สามารถใช้ยาที่ทำให้หายขาดได้ในหลายๆ ชนิดโรค อันนี้ก็ต้องอธิบายให้แฟร์ แต่ผมมองว่าถ้าจะควบรวมเอากัญชาเข้าไปใช้ก็ไม่ผิดอะไร เพราะมันไม่ได้เสียหาย แต่ถ้าเป็นมะเร็งระยะท้ายๆ ซึ่งยาปัจจุบันทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องเปิดโอกาสให้คนไข้เต็มที่

วิธีการทดสอบว่ากัญชานั้นใช้ไม่ได้ผล มันผิด ถ้าเอาสารสกัดกัญชามาใส่ในเซลล์มะเร็งหรือเจาะเลือดคนไข้ไปตรวจ เป็นวิธีที่ผิด

กัญชาไม่ได้ออกฤทธิ์โดยการไปฆ่ามะเร็งโดยตรง แต่เป็นการไปกระตุ้นให้ร่างกายจำว่านี่คือมะเร็ง แล้วผลิตเซลล์ดีเข้าไปฆ่ามัน

มีข้อมูลที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2018 จากนิวยอร์ก เรื่องกัญชากับการอักเสบ เราพบว่ากัญชาเข้าไปปรับระดับการอักเสบด้วย ทำให้มีการเก็บขยะในร่างกายอย่างไม่มูมมาม เพราะร่างกายปกติเมื่อมีการฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยวิธีรักษาแบบปัจจุบัน ทำให้เกิดการอักเสบ การอักเสบนี้ก็อาจจะยิ่งทำให้มีเซลล์มะเร็งแทรกเข้าไปได้อีก แต่ตัวกัญชามันจะไปกระตุ้นระบบ pro resolution mediator ทำให้การอักเสบไม่กระจัดกระจาย ไม่เละเทะ และทำให้เซลล์ที่เข้าไปเก็บขยะมันกินไม่มูมมาม เราเรียกว่าระบบ efferocytosis เป็นการจำกัดการอักเสบได้ดี

ที่ผ่านมา ผมคิดว่าโดยพื้นฐานหมอที่รักษาโรคมะเร็ง ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนว่า ยาเดิมที่ใช้อยู่นี้ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตต่อได้ไหม แค่ไหน ถ้าคนไข้ทราบข้อมูลครบเรียบร้อย ต้องให้เขาเลือก แน่นอนเราอาจจะบอกว่าคนไข้มีสิทธิเลือกเสมอ แต่เขาได้ข้อมูลที่เพียงพอในการเลือกหรือยัง บางทีเขาอาจจะไม่อยากรักษาเลยก็ได้ (หัวเราะ)

ขอถามคุณหมอแบบไม่เกรงใจ หากกัญชาเข้ามาในระบบสาธารณสุข จะทำให้รู้สึกว่าบทบาทของหมอลดลงไหม เพราะถ้าชาวบ้านปลูกเองได้ สกัดใช้เองได้ โรคที่กัญชาใช้ได้ผล เขาก็รักษาตัวเองอยู่บ้านได้

หมอทุกคนมีแนวโน้มที่จะมีอีโก้สูง เหมือนว่าพอเราช่วยชีวิตคน เรามีความรู้สึกเหมือนกับเป็นพระเจ้าว่า เราได้ช่วยให้คนฟื้นจากความตาย ด้วยความที่คนเป็นหมอก็จะมีการศึกษาดี ได้รับการยอมรับในสังคม มันก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คิดว่าเราดีที่สุด เรารู้ทุกอย่างมากที่สุด นั่นคือการฆ่าตัวตาย

คนเป็นหมอต้องอ่านให้เยอะ แล้วจะรู้ว่าที่เราคิดว่าเรารู้นั้นเป็นแค่เม็ดทราย เพราะอ่านไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าเรารู้ได้ไม่หมดหรอก มันมีอะไรมากเกินกว่าที่เราจะสามารถเรียนรู้ได้ทั้งหมด

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2018 สมาคมอายุรแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่านับจากนี้การรักษาให้ยึดคนไข้เป็นศูนย์กลาง แสดงว่าต้องมีการทำ partnership ระหว่างหมอกับครอบครัว และหมอต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไข้

หลักคิดแบบนี้มีในไทยไหม

(ยิ้มและส่ายหัว) สิ่งสำคัญที่สุดของคนไข้คือการกำหนดชีวิตของตนเอง คนไข้ต้องมีเสรีภาพในการกำหนดชีวิตของตนเอง ในเงื่อนไขที่ว่าเขาต้องได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะหาได้

จริงอยู่ที่หมออาจมีคนไข้อยู่ในมือเป็นร้อยคน อาจไม่มีเวลามาให้ข้อมูลคนไข้ได้มากพอในทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้นต้องมีเครือข่ายที่จะมาช่วยให้หมอทราบข้อมูลถึงความเป็นไปได้ที่จะรักษาทั้งหมดและแจ้งคนไข้ได้

วันนี้กลุ่มคนป่วยที่ใช้กัญชายังต้องแอบใช้ ขณะที่เขาสามารถเข้าถึงโอกาสการรักษาแบบเปิดเผยได้ เราต้องทำให้คนไข้ไม่เสียโอกาส ปัญหาคือ ถ้าคนไข้ไปเชื่อการรักษาอะไรบางอย่างที่ระบบยังไม่รองรับ มันก็เหมือนรักษาไปตามยถากรรม เพราะฉะนั้นโลกใต้ดินกับบนดินวันนี้ต้องเชื่อมและเดินไปพร้อมกัน คนอยู่ใต้ดินก็ต้องไม่อหังการ์ว่ากัญชาสามารถรักษาทุกโรคได้ ผมเข้าใจเพราะกลุ่มใต้ดินเขาถูกปฏิเสธจากระบบมาก่อน

และตอนนี้ผมก็เข้าใจความรู้สึกของหมอทั่วไปด้วยว่า เขากลัวว่าคนไข้จะเสียประโยชน์จากการไม่เข้าหาแพทย์ปัจจุบัน ดังนั้นตอนนี้ถ้าทุกฝ่ายทำเพื่อคนไข้จริงๆ ปรับวิธีคิดเดิมของตัวเองได้ ทุกอย่างก็จบ

ว่ากันถึงที่สุด คุณหมอคิดว่ากัญชาควรเสรีไหม

ควร, แต่ผมจะอธิบายว่า ถ้าผมขับรถแล้วสูบกัญชา เมาแล้วขับ ผมก็ควรโดนลงโทษเหมือนกับเมาเหล้าแล้วขับ แต่ถ้าชาวบ้านจะสูบกัญชาในบ้าน ตำรวจไม่มีสิทธิถีบประตูบ้านเข้าไป

เขาสูบกัญชาไม่ได้เดือดร้อนเสียงดังกับใคร ถ้าบุหรี่กับสุรามันมีผลร้ายกับสุขภาพคนมากกว่ากัญชา ทำไมถึงขายได้ ขณะที่กัญชาโดนค่าปรับมากถึงสองแสนบาท

สิ่งที่เป็นอยู่วันนี้มันไม่ใช่ไม่สมเหตุสมผล แต่มันไม่มีเหตุผล

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ย้อนอ่านเรื่องเกี่ยวกับกัญชาของ 101 ต่อได้ที่ เพราะเรามีกันและ ‘กัญ’  กับ ฝุ่นตลบ ‘กัญชา’​ และ ‘ปฏิกิริยา’​ จากโลกเก่า

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save