fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2565

Spotlight ประจำเดือนกันยายน 2565

Error Childhood: การเรียนรู้ที่หล่นหาย

วัยเด็กเป็นความทรงจำอันแสนสุขของหลายคน โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็ก สิ่งที่พบเจอในแต่ละวันคือความแปลกใหม่ คือบทเรียนแรก คือการทำความรู้จักโลกใบน้อยๆ ที่เขาจะเติบโตต่อไป

การไปโรงเรียนครั้งแรก เจอเพื่อนใหม่ๆ เรียนรู้โลกนอกบ้าน แอบตื่นตอนคุณครูให้นอนกลางวัน แบ่งของเล่นกับเพื่อน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ – ไม่ใช่เฉพาะแค่ตอนเป็นเด็ก แต่คือตลอดชีวิต

แต่สำหรับ ‘เด็กยุคโควิด’ นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดสำหรับการเรียนรู้ การปิดโรงเรียนทำให้โลกของพวกเขาหดแคบเหลือแค่พื้นที่ในบ้าน บ้างเรียนรู้ผ่านจอ บ้างก็ต้องหยุดเรียนไปเลย

โลกที่หดแคบไม่เพียงทำให้พวกเขาหยุดเรียนรู้ แต่ทำให้พวกเขา ‘ถดถอย’ ทางการเรียนรู้

ภาวะ ‘Learning Loss’ ที่เกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัย อาจกลายเป็น ‘แผลเป็น’ ที่ส่งผลให้เด็กรุ่นนี้เป็น ‘Lost Generation’ หากปัญหานี้ไม่ถูกเหลียวแลจากระบบการศึกษา

101 ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชวนกันมามองปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กปฐมวัย ผลร้ายที่จะตกค้างต่อพัฒนาการของเด็ก บทเรียนการจัดการการศึกษาในภาวะวิกฤต จนถึงทางออกที่จะฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านผลงานชุด ‘Error Childhood: การเรียนรู้ที่หล่นหาย’

ผ่าง! Highlight ประจำเดือนกันยายน 2565

ความน่าจะอ่าน 2022: โลกใบนี้น่ะ ยังไม่สิ้นความหวังหรอก!!

จากปี 2020 อันแสนสาหัส และปี 2021 ที่แสนสาหัสยิ่งกว่า

สู่ปีที่สานต่อความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แต่เราเชื่อว่า ‘โลกใบนี้น่ะ ยังไม่สิ้นความหวังหรอก!!’

กลับมาอีกครั้งกับ ‘ความน่าจะอ่าน 2022’! เมื่อเรารวมพลังมิตรภาพ ชวนบรรดาบรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 50 ชีวิต มาร่วมคัดเลือกหนังสือที่คิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุด จำนวนกว่า 100 เล่ม เพื่อแนะนำนักอ่านทุกท่านที่ต้องการเติมไฟฝัน เติมความรู้สร้างความหวัง หรือกระทั่งต้องการเรื่องราวปลอบโยนหัวใจ

แล้วพบกับรายชื่อหนังสือ และกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน 2022 : โลกใบนี้น่ะ ยังไม่สิ้นความหวังหรอก!!’ ได้ทาง The101.world ตลอดเดือนกันยายน

ดูรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 1 ได้ ที่นี่

ดูรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 2 ได้ ที่นี่

ดูรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 3 ได้ ที่นี่

ดูรายชื่อหนังสือ Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2022 ได้ที่นี่


ชวนทำความรู้จัก ‘ความน่าจะอ่าน’ มากขึ้น ที่นี่

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2565

หนังโป๊ การปลดเปลื้อง และนัดบอด: ชีวิตใหม่ของโรงหนังชั้นสอง

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

ชีวิตใหม่ของเหล่าโรงหนังชั้นสอง จากโรงฉายหนังควบที่ค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่รองรับความโหยหาบางประการของผู้คนไว้ด้วย

“กล่าวกันอย่างถึงที่สุด พวกเขาเดินกันอยู่ในความมืด สายตาแทบไม่ได้อยู่ที่หน้าจอ บางคนเดินไปทักคนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้เพียงลำพัง บางคนลุกมาสนทนากันอยู่ริมทางเดิน มีแสงไฟวอมแวมจากภาพยนตร์ฉายกระทบเนื้อตัวพวกเขาบ้างบางจังหวะ”

“เขารู้กันทั้งนั้นว่าเกย์ชอบมาที่นี่ นัดออนไลน์แล้วมาเจอกัน บางคนก็มาของเขาเฉยๆ แล้วมารอทักในโรงเอาก็มี ถ้าเป็นผู้ชายนั่งคนเดียวอาจมีคนเข้ามาทักทาย ขอทำความรู้จักอะไรทำนองนั้น ถูกใจก็ไปต่อกันที่โรงแรมหรือไม่ก็จัดการที่ห้องน้ำในโรงหนังนั่นแหละ”

“จอหนังขึงด้วยโปรเจ็กเตอร์ขนาดย่อม ฉายภาพหญิงสาวกับชายหนุ่มกำลังฟัดเหวี่ยงกันสุดฤทธิ์ในสำนักงานแห่งหนึ่ง ในความมืด แสงสีขาวจากจอสาดใส่ตาจนพร่า”

“นาทีนั้น พูดก็พูดเถอะ หากจะมีสักอย่างที่ ‘เหนือจริง’ เสียยิ่งกว่าตัวภาพยนตร์ อะไรมันจะไปสู้ภาพย้อนแสงของคนดูหนังโป๊ในโรงใหญ่ กับมือข้างหนึ่งที่กระทำกิจกรรมเข้าจังหวะได้อีก”

ตีความอย่างไรให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้เกิน 8 ปี

โดย มุนินทร์ พงศาปาน

วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถตีความให้อยู่เกิน 8 ปีได้หรือไม่?

มุนินทร์ พงศาปาน อธิบายหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้มองคำอธิบายของผู้ที่ตีความว่าพลเอกประยุทธ์สามารถอยู่ได้เกิน 8 ปี

“การตีความทางสายกลางในลักษณะที่ใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์เป็นเพียงผลของการตีความตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นความพยายามในการทำลายผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการปรับใช้หลักกฎหมายตรงอย่างตรงไปตรงมา”

“การตีความการนับเวลา 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ให้สอดคล้องกับหลักนิติศาสตร์ คือการตีความเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเป็นแนวทางการตีความที่ก่อให้เกิดความชัดเจนแน่นอนในทางกฎหมายอันจะเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน
“เจตนารมณ์ของมาตรา 158 วรรคสี่ในการนับเวลา 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีเพียงเจตนารมณ์เดียวเท่านั้น คือการเริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แต่ถ้าอยากตีความให้นายกรัฐมนตรีอยู่เกิน 8 ปี ก็ต้องตีความตามอำเภอใจ”

เมื่อพระปรีชากลการจะลอบปลงพระชนม์ ร.5 : ‘ประวัติศาสตร์ความทรงจำลวง’ ต่อพระปรีชากลการในเมืองปราจีนบุรี

โดย อิทธิเดช พระเพ็ชร

“สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เชื่อได้ว่าย่อมรู้จัก ‘คดีพระปรีชากลการ’ พ่อเมืองปราจีนบุรี ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตใน พ.ศ. 2422 เป็นอย่างดี เพราะมีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากการนำเสนอข้อมูล เล่าเรื่อง และวิเคราะห์คดีนี้อย่างตื่นเต้นจากนักเขียน/นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่วิเคราะห์ให้ภาพความซับซ้อนของอำนาจทางการเมืองภายในของสยามในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนเป็นเหตุให้คดีนี้เกือบจะบานปลายกลายเป็นวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

“อย่างไรก็ตาม การรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระปรีชากลการในทางประวัติศาสตร์กระแสหลัก ก็ดูราวจะจบลงไปพร้อมกับความตายของพระปรีชากลการที่เมืองปราจีนบุรี มีเพียงงานไม่กี่ชิ้นที่กล่าวถึงเรื่องราวของพระปรีชากลการในแง่มุมของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือในแง่ของมรดกตกทอดที่พระปรีชากลการฝากไว้ให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองปราจีนบุรี ทว่า เมื่อสืบค้นให้ไกลออกไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก กลับพบความน่าสนใจของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ยังคงดำเนินเรื่องราวต่อไปจนกลายเป็น ‘ความทรงจำใหม่’ อย่างน่าอัศจรรย์”

อิทธิเดช พระเพ็ชร วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกี่ยวกับคดีพระปรีชากลการในเมืองปราจีนบุรี เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการการกลายเป็น ‘ประวัติศาสตร์ความทรงจำใหม่’ จากพระปรีชากลการสู่เจ้าพ่อสำอางแห่งเมืองปราจีน

ปัญญาของคนล้านนา – ความรู้ของสามัญชน

โดย พริษฐ์ ชิวารักษ์

เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ เปิดคอลัมน์ใหม่ ‘ของบ่เล่ารู้ลืม’ ว่าด้วยประวัติศาสตร์ล้านนา ประเดิมตอนแรกเล่าเรื่องรากทางวัฒนธรรมที่ทำให้ล้านนาเป็นเมืองแห่ง ‘เรื่องเล่า’

“คนล้านนามีสุภาษิตที่พูดต่อๆ กันมาว่า ‘ของบ่ะกิ๋นฮู้เน่า ของบะเล่าฮู้ลืม’ (ของบ่กินรู้เน่า ของบ่เล่ารู้ลืม) หมายถึง อาหารการกินทั้งหลาย ถ้าทำมาแล้วตั้งทิ้งไว้ไม่ยอมกินย่อมเน่าเสียไปเปล่าๆ ความรู้และเรื่องราวต่างๆ ถ้ารู้ไว้แล้วอมพะนำไม่เล่าต่อย่อมเลือนหายไปจากความทรงจำอย่างน่าเสียดาย ผมคิดว่าสุภาษิตนี้แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าคนล้านนามีทัศนคติต่อประวัติศาสตร์และปัญญาวิชาการต่างๆ อย่างไร”

“…ผมคิดว่าเหตุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้วัฒนธรรมปัญญาความรู้ในล้านนาเฟื่องฟูถึงขีดสุดคือความเปิดกว้างเชื้อเชิญให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมกับการสร้างสรรค์ความรู้นี้ด้วย กล่าวคือ ปัญญาความรู้ของล้านนาไม่ได้มาจากวังอย่างเดียว ทั้งบ้าน วัด และวังต่างเป็นแหล่งที่มาของปัญญาความรู้ได้ทั้งหมด ปัญญาความรู้ของคนล้านนาไม่ได้ถูกผูกขาดโดยราชบัณฑิตในราชสำนัก หรือต่อให้อยากผูกขาดก็ผูกขาดไม่ได้ เพราะการผูกขาดความรู้จำเป็นต้องทำโดยผู้ปกครองผูกขาดอำนาจไว้กับศูนย์กลางอย่างเข้มแข้ง และจากห้วงเวลาเกือบแปดศตวรรษ ล้านนามีศูนย์อำนาจที่เข้มแข็งปกครองอยู่เพียงเกือบๆ สามศตวรรษเท่านั้นเอง เมื่ออำนาจไม่ถูกรวมศูนย์ ปัญญาความรู้ก็ไม่ถูกรวมศูนย์เช่นกัน”

“คอลัมน์ ‘ของบ่เล่ารู้ลืม’ ก็มีสปิริตแบบเดียวกันนี้ ผมเชื่อว่าความรู้จะเฟื่องฟูที่สุดเมื่อมีอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุม และไม่ถูกผูกขาดไว้โดยอำนาจใด การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา (และประวัติศาสตร์ทางเลือกอื่นๆ) มิใช่เพียงเพื่อให้เรื่องล้านนาไม่ถูกลืม แต่ยังชวนผู้อ่านสำรวจว่า เรามีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมความรู้เพียงใด ใช่มีแค่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ อย่างที่รัฐมักพร่ำสอนกันเท่านั้นเอง”

Cryptocurrency, DeFi, Metaverse คืออนาคตโลกการเงิน..จริงหรือ? สนทนาสารพัดเทรนด์การเงิน กับ คณิสร์ แสงโชติ

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“สุดท้ายถามว่ามันเกิดฟองสบู่(คริปโต)ไหม ต้องบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนมาก กว่าจะใช้คำว่าฟองสบู่ ก็คือตอนที่มันแตกไปแล้ว ซึ่งก่อนจะแตก มันก็จะเกิดการถกเถียงกันว่าของสิ่งนี้มีคุณค่าหรือเปล่า”

“ถ้าถามว่าอนาคตการเงินจะเปลี่ยนแปลงไหม จริงๆ แล้วเราเก็บข้อมูลกันเองตั้งแต่แรกก็ได้นะ แต่ปัญหาคือคนเราไม่ได้เชื่อใจกัน เราเลยต้องเชื่อใจธนาคาร แต่ตอนนี้มันมีวิธีใหม่อย่างบล็อกเชนคือไม่จำเป็นต้องเชื่อใจกันเลย มันอยู่บนสมมติฐานว่าเราจะไม่เจอกันอีกแล้ว ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า ‘อิจิโก อิจิเอะ’ แปลว่า ‘หนึ่งพบหนึ่งผ่าน’ คือเราเจอกันครั้งเดียว ต้องสร้างความประทับใจกันและกันให้ได้มากที่สุด แต่อิจิโก อิจิเอะของบล็อกเชน คือเราเจอกันครั้งนี้ ครั้งหน้าเราอาจจะไม่เจอกันอีก”

“ในบริบทโลกยุคดิจิทัล มันจึงต้องตั้งคำถามว่าเราจะเชื่อใจกันได้มากขึ้นไหม ถ้าเชื่อใจมากขึ้น เราจะมีฐานข้อมูลที่ทำงานข้ามกันได้ง่ายขึ้นไหม ถ้าทำได้ ระบบการเงินที่มีอยู่จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่แตกต่างหรืออาจดีกว่าระบบการเงินแบบดีไฟ (DeFi) เลยด้วยซ้ำ”

“ระบบดีไฟทำให้เราเห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้อีกเยอะมากในระบบการเงิน และทำให้เราต้องมาคิดว่า แม้แต่ละฝ่ายจะมีกำแพงของตัวเอง แต่เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการข้ามกำแพงเร็วขึ้น หรือแทนที่จะมีกำแพงระหว่างกัน เรามีสวนตรงกลางหรือ common ground ดีกว่าไหม เพื่อให้มีอิสระในการทำธุรกรรมกันได้มากขึ้น โดยอาจจะเป็นการทำธุรกรรมในวงเงินจำกัดก็ได้ ไม่แน่ว่าต่อไปเราอาจจะมีเงินกลางของโลกที่ทำให้ธนาคารทุกที่ใช้โอนเงินระหว่างประเทศได้เองโดยไม่ต้องผ่าน SWIFT ก็ได้”

101 สนทนากับ รศ.ดร. คณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ ‘เงิน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต’ มองสภาวะโลกการเงินในปัจจุบันท่ามกลางปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของระบบการเงินแบบดีไฟ เงินคริปโต ระบบเศรษฐกิจบนโลกเมตาเวิร์ส ฯลฯ พร้อมหาคำตอบว่านวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นอนาคตของโลกการเงินได้จริงหรือไม่ และประเทศไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร

คุ้มไหม? จ่ายหนี้ไหวไหม? มีแผนพัฒนาอย่างไร? เปิดใจหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ‘รถไฟลาว-จีน’

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

“มีหลายคน รวมถึงนักข่าวที่พูดกันว่าคนลาวเงินเดือนน้อย ไม่มีเงินซื้อตั๋วรถไฟ แต่ที่เห็นคือคนก็มาโดยสารกันทุกวัน เต็มทุกวัน” – สอนสัก ยานซะนะ อดีตรองอธิบดีกรมรถไฟลาว

“หลังจากทางรถไฟเปิดดำเนินการมา ก็ดึงดูดการลงทุนมากพอสมควร มีหลายธุรกิจหลั่งไหลเข้ามาจับจองเช่าพื้นที่ตามแนวแต่ละสถานีรถไฟ…การลงทุนมหาศาลที่เข้ามาในลาวมหาศาลยังทำให้รัฐบาลลาวสามารถเก็บภาษีอากรได้มากขึ้น ซึ่งจะไปช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมลาว” – Du Zhigang ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท รถไฟลาว-จีน จำกัด

“ตามธรรมดา ผักผลไม้ที่ส่งออกทางถนนเส้น R3A หรือ R12 ต้องใช้เวลา 5-7 วัน แต่ต่อไปนี้ ไม่ว่าสินค้าคุณจะมาทางไหน ขอแค่ไปถึงเวียงจันทน์ จะใช้เวลาแค่ 1 วัน ถ้ากฎระเบียบเรียบร้อย” – เจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์

101 เดินทางเยือน สปป.ลาว สนทนากับผู้แทนบริษัทรถไฟลาว-จีน และอดีตรองอธิบดีกรมรถไฟลาวผู้มีส่วนเดินหน้าโครงการมาตั้งแต่เริ่มแรก รวมทั้งสนทนากับเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ ถึงแผนการเชื่อมโยงไทยเข้ากับโครงข่ายโลจิสติกส์ของลาว เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นของประเทศไทย

 ก่อนสิ้นรัชสมัย

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ในวาระการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ชวนมองภาพการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในพื้นที่การต่างประเทศช่วงเปลี่ยนผ่านยุคจักรวรรดินิยม ผ่านพลังทางวัฒนธรรมและสายสัมพันธ์ทางจิตใจและความรู้สึก จากข้อเขียนของ Alastair Stewart

“สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชสมภพมาในสมัยที่การจัดการสถานะจักรวรรดิในสังคมระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนรูปไป และไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนสมัยสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย … ในการจัดการกับสถานะจักรวรรดิ ถ้าบริติชยังปรารถนาจะคงความเข้าใจตัวเองที่สืบต่อกับอดีตความยิ่งใหญ่เอาไว้ —ซึ่งก็มีความต้องการเช่นนั้นอยู่จริง ๆ— ก็ต้องใช้วิธีอันแนบเนียนละเอียดอ่อนในการส่งพลังเกียรติภูมิไปจับจิตใจดลคนทั่วโลกผ่านสถาบันทางวัฒนธรรมและสายสัมพันธ์ทางจิตใจและความรู้สึก ซึ่งสำหรับบริเตนใหญ่ไม่มีอะไรจะทรงพลังดังกล่าวใหญ่ไปกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงตระหนักถึงบทบาทความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ในด้านการต่างประเทศนี้อย่างดียิ่ง”

“ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปจาก Stewart ว่านี่คือตัวอย่างการส่งพลังของอดีตมาเป็นแรงสนับสนุนให้แก่ปัจจุบัน เพื่อที่ปัจจุบันจะได้ข้อคิดว่า การจะดำเนินการไปสู่อนาคตให้สำเร็จอย่างดีตามที่วาดหวังตั้งใจไว้นั้น คนมีหน้าที่พึงทำและพึงครองบทบาทของตนอย่างไรตามสถานะที่ดำรงเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในองคาพยพใหญ่ ไม่ว่าจะเรียกและมีจินตนาการถึงองคาพยพนั้นว่าเป็น จักรวรรดิ จักรภพ สหราชอาณาจักร บริเตนใหญ่ หรือในที่สุดจินตภาพจะลดลงเหลือเพียง อังกฤษ ก็ตาม”

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง อดีตผู้นำประเทศและผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนอันเป็นที่รักและเทิดทูนของประชาชนชาวจีน ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1976 แต่เราก็ยังสามารถเห็นรูปของเขาตั้งตระหง่านท้าลมฝนอยู่กลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมไปถึงรูปภาพของเขาที่ถูกตั้งโชว์ตามร้านรวงหรือภายในบ้านเรือนต่างๆ เป็นดั่ง ‘รูปที่มีทุกบ้าน’ ของประชาชาติจีน

“นอกจากปี 1976 จะเป็นปีแห่งการจากไปของผู้นำระดับตำนานของจีนอย่างเหมาเจ๋อตงแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเองยังถือเป็นปีแห่งการสิ้นสุดลงของ ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ การปฏิวัติอันโหดร้ายที่คร่าชีวิตชาวจีนไปมากกว่าหลักล้านคน ด้วยนโยบายทำลาย ‘สี่เก่า’ ของเหมาเจ๋อตงที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน

“การปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1966 เมื่อเหมาเจ๋อตงปลุกระดมให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ออกไปจับกุม ทำร้าย หรือแม้แต่เข่นฆ่าบุคคลที่เข้าข่ายจะเป็นพวกที่อยู่ใน ‘สี่เก่า’ ได้แก่ ความคิดเก่า นิสัยเก่า ธรรมเนียมเก่า และวัฒนธรรมเก่า ที่เหมามองว่าเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งความเจริญของประเทศ การปฏิวัติเมื่อครานั้นขับเคลื่อนด้วยพลังและอำนาจอันแรงกล้าของโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน และลัทธิบูชาท่านประธานเหมา จนถึงขั้นมีประโยคว่า ‘ปกป้องท่านประธานเหมาด้วยเลือดและชีวิต’ ถูกกู่ร้องไปทั่วทั้งเมือง

“การปฏิวัติอันนองเลือดนี้กินระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับประเทศจีนอย่างแสนสาหัส มีผู้คนจำนวนมหาศาลถูกทำร้ายร่างกายด้วยความโหดเหี้ยมและทารุณเกินจะจินตนาการได้ และแน่นอนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากมวลมหาคนหนุ่มสาวเหล่านี้ มีท่านประธานเหมาคอยมอบความชอบธรรมและให้การสนับสนุนแบบสุดกำลัง

“คำถามที่ตามมาคือ เมื่อเหมาเจ๋อตงเป็นตัวการที่ทำให้คนจีนเข่นฆ่ากันเองผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรมขนาดนั้น ทำไมคนจีนถึงยังรักประธานเหมากันมากขนาดนี้?”

‘การศึกษาไทยในวันที่โรงเรียนไร้อำนาจ’ – กระจายอำนาจการศึกษาคืนสู่โรงเรียน กับ สุกรี นาคแย้ม

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“หากไม่กระจายอำนาจการศึกษา เราจะไม่สามารถพัฒนาคนตามศักยภาพที่แต่ละคนมีตามธรรมชาติ เพราะแนวทางการบริหารจัดการการศึกษาเป็นแบบ one size fits all เพราะฉะนั้น ระบบการศึกษาที่จะสามารถพัฒนาคนได้อย่างเต็มศักยภาพ หน่วยงานในระดับล่างต้องมีอำนาจในการตัดสินใจ มีอำนาจที่จะเลือกทางเลือกที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง เพื่อให้ระบบการศึกษาสามารถพัฒนาตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคลได้”

‘ในพื้นที่โควิดระบาดไม่หนัก แต่โรงเรียนยังเปิดไม่ได้’ ‘ความพร้อมยังมีไม่เพียงพอสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์’ ‘ครูไม่สามารถคิดหานวัตกรรมการสอนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนได้’ ‘โรงเรียนมีทรัพยากรไม่เพียงพอ’ ‘ส่วนกลางไม่เข้าใจปัญหาโรงเรียนในพื้นที่’ ตลอดกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโควิด-19 หลายครั้งหลายคราที่ภาพเหล่านี้ปรากฏในโรงเรียนอย่างเด่นชัด การเรียนรู้ไม่สามารถเดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่และเสมอหน้าจนเสมือนว่าวิกฤตการเรียนรู้กำลังโหมกระหนำใส่ระบบการศึกษาไทย

แต่ที่จริงแล้ว นี่เป็นผลจากวิกฤตที่กัดกินระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งหมดนี้มีต้นเหตุมาจาก ‘อำนาจถูกพรากไปจากโรงเรียน’ – หน่วยงานที่จัดบริหารสาธารณะด้านการศึกษาที่ใกล้ชิดผู้เรียนที่สุดกลับไร้อำนาจมากที่สุดในการตัดสินใจเลือกทางเลือกทางนโยบายจัดการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อบริบทที่โรงเรียนเผชิญ

และหนึ่งในทางออกจากวิกฤตการศึกษาไทยที่สำคัญที่สุดคือ ‘การกระจายอำนาจการศึกษา’

101 สนทนากับ สุกรี นาคแย้ม อาจาร์ประจำวิทยาลัยการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้สนใจประเด็นการกระจายอำนาจการศึกษาและผู้มีประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียน ว่าด้วยโครงสร้างระบบการจัดการบริหารระบบการศึกษาอันเป็นเหตุให้โรงเรียนไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง และแนวทางในการกระจายอำนาจการศึกษาที่ทำให้การศึกษาเจริญงอกงามได้อย่างยั่งยืนและทั่วถึง

“โครงสร้างการบริหารการศึกษาเช่นนี้ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้อำนาจที่เรียกว่า ‘อำนาจดุลพินิจ’ เพราะฉะนั้นหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็จะใช้อำนาจนี้ในการ ออกแบบนโยบาย ออกแบบกิจกรรมให้โรงเรียนปฏิบัติ […] โรงเรียนที่อยู่ปลายสายด้านล่างของเส้นทางเดินของอำนาจต้องปฏิบัติตามสิ่งที่หน่วยงานส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคออกแบบมาจากการใช้อำนาจดุลพินิจ”

“เพราะฉะนั้น ภายใต้โครงสร้างทางการบริหารเช่นนี้ทำให้นวัตกรรม ความริเริ่มสร้างสรรค์ ความรวดเร็วในการแก้ปัญหาและความหลากหลายของแนวทางในการแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้ยาก เพราะโรงเรียนมีหน้าที่ปฏิบัติตามสิ่งที่หน่วยงานระดับบนสั่งการลงมาเท่านั้น ดังนั้น ทั้งกิจกรรมและการแก้ปัญหาจึงไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นซ้ำซาก จากการไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ หรือ local solution ที่เน้นการพัฒนาหรือสร้างทางเลือกนโยบาย (policy alternatives) ด้วยการควานหาจากผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders / partnerships) ในพื้นที่หรือในระดับล่าง”

“ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมา ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสั่งปิดเปิดโรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศในขณะที่ความรุนแรงของการระบาดในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันก็สะท้อนตรงจุดนี้ หรือการที่ส่วนกลางสั่งให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์พร้อมยืนยันว่าพร้อมแล้ว แต่ความพร้อมที่ประกาศออกไปนั้นเป็นเพียงความเห็นของหน่วยงานระดับบน เพราะพอนำนโยบายไปปฏิบัติจริงก็เกิดปัญหามากมายตามมา โดยเฉพาะความทุกข์ของผู้ปกครองจากความไม่พร้อมซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว […]”

“ถ้าถามว่าพร้อมไหมหากมีการกระจายอำนาจทางการศึกษา ต้องถามกลับว่าประเด็นใดด้านใดที่บ่งบอกว่าโรงเรียนไม่พร้อม เพราะฉะนั้น เราต้องมาช่วยกันออกแบบโครงสร้างทางการบริหารและรูปแบบการกระจายอำนาจตามหลักการและประเด็นที่ผมกล่าวไปแล้ว คือ ตีแผ่โครงสร้างการบริหารในปัจจุบัน การจัดสรรอำนาจและ area ของอำนาจ เพื่อคลี่ให้เห็นปัญหาที่หมักหมมเรื้อรัง เมื่อได้ทางเลือกนโยบายแล้วค่อยมาตั้งคำถามว่าพร้อมหรือไม่พร้อม”

เลือกตั้งอิตาลี 2022: เมื่อกระแสนำ ‘ฝ่ายขวาสุดโต่ง’ สั่นสะเทือนยุโรป

โดย มุนินทร วัฒนายากร

อิตาลีกำลังเดินหน้าเข้าสู่คูหาเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 25 กันยายน 2022 หลังจากสามพรรคร่วมรัฐบาลหลักตัดสินใจถอนตัวออกจาก ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ นำไปสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรี Mario Draghi เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

การลาออกของนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการยอมรับสูงทั้งในอิตาลีและในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะจากผลงานในฐานะอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป ผู้ประคับประคองพายุโรปผ่านวิกฤตหนี้สาธารณะและวิกฤติค่าเงินยูโรในช่วงทศวรรษ 2010 จึงเปิดเส้นทางไปสู่ความไม่แน่นอนสำหรับทั้งอิตาลีและสหภาพยุโรปที่กำลังตกอยู่ในห้วงเวลาที่ท้าทายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 สภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพ จนไปถึงปัญหาด้านพลังงานในยุโรปอันเป็นผลจากสงครามยูเครนในปัจจุบัน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ กลุ่มการเมืองที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอิตาลีอย่างต่อเนื่องและคาดว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะเลือกตั้งคือ กลุ่มพันธมิตรพรรค ‘กลาง-ขวา’ ‘Fratelli d’Italia-Lega-Forza Italia’ โดยที่พรรค Fratelli d’italia – พรรคขวาสุดโต่งชาตินิยมได้รับคะแนนนิยมนำโด่งและกำลังจ่อเข้าสู่อำนาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอิตาลี

หรือนี่คือสัญญาณว่าฝ่ายขวาสุดโต่งกำลังจะครองอำนาจนำในการเมืองอิตาลีอย่างเต็มตัว?

การลาออกของนายกรัฐมนตรี Mario Draghi ส่งผลสะเทือนอย่างไร? ภูมิทัศน์สนามการเมืองอิตาลีกำลังเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง? และหากพรรคขวาสุดโต่งกำลังจ่อเข้าสู่อำนาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ชะตากรรมของการเมือง ประชาธิปไตย และความมั่นคงของสหภาพยุโรปในอนาคตจะเป็นอย่างไร? มุนินทร วัฒนายากร วิเคราะห์ ‘การเมืองอิตาลี’ และ ‘อนาคตของยุโรป’ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 25 กันยายนนี้

‘สี่แผ่นดิน’ กับการสร้างพื้นที่แบบอาณานิคม

โดย ชุติเดช เมธีชุติกุล

ชุติเดช เมธีชุติกุล ชวนมองนวนิยาย ‘สี่แผ่นดิน’ ผ่านมุมมองหลังอาณานิคมนิยม ซึ่งชวนพิจารณาถึงการจัดแบ่งและสร้างพื้นที่ อันสะท้อนวิธีคิดแบบเจ้าอาณานิคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

“โลกอาณานิคมมีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ของคนท้องถิ่นกับพื้นที่ของเจ้าอาณานิคม จึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่ถูกแบ่งเป็นพื้นที่ของคู่ตรงข้ามในทุกๆ สิ่ง ไม่ว่าจะเป็น อารยธรรมกับความป่าเถื่อน ความเจริญกับความล้าหลังและยากจน เสื้อผ้ากับความเปลือย…”

“ลักษณะที่น่าสนใจ (ของสี่แผ่นดิน) คือการพยายามเทียบตัวเองกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างอังกฤษ และพยายามทำให้เห็นว่าสยามนั้นดีกว่า แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องดังกล่าวคือ การพูดถึงสยามในระดับเดียวกับอังกฤษ…ในแง่หนึ่งคือการพยายามบอกว่าสยามก็เสมือนหนึ่งประเทศเจ้าอาณานิคม
“ส่วนลักษณะการจัดแบ่งพื้นที่เมืองหลวง วัง หัวเมืองต่างๆ และพื้นที่นอกวัง คือการพยายามสร้างหรือทำให้คู่ตรงข้ามระหว่างความมีอารยะกับความป่าเถื่อน หรือก็คือความก้าวหน้ากับความล้าหลัง วิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ ให้ปรากฏชัดผ่านฉากตอนต่างๆ ในสี่แผ่นดิน”

หลับตาชงชา หาปลาด้วยหู: เรื่องเล่าในเหลาน้ำชาของจอมยุทธ์แห่งท้องทะเล

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“นั่งกินชากันแล้วไม่เมา ถกเถียงกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องการเมืองการมุ้ง ไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อยกัน” บังกิฟลี เจ้าของร้านน้ำชาริมทะเลเปิดประเด็นด้วยสำเนียงทองแดงชัดถ้อยชัดคำ พูดจบแล้วหยิบมวนยาเส้นใส่ปาก จุดไฟแช็กสองครั้ง – ไม่ติด ดูเหมือนว่าลมทะเลจะแรงจนกำลังไฟสู้ไม่ไหว

“ปิดพัดลมแป้บ” บังกิฟลีกล่าวด้วยรอยยิ้ม ก่อนเดินไปปลดผ้าใบกันสาดลงมา เพื่อกันไม่ให้ลมทะเลพัดเข้าหน้าพวกเรา เสร็จแล้วเดินกลับมานั่ง ยักคิ้วด้วยความภูมิใจ “ที่นี่ไม่ต้องใช้พัดลมไฟฟ้า เรามีพัดลมธรรมชาติ” ว่าแล้วจุดยาเส้นต่อ ครั้งนี้ไฟสว่างวาบตรงปลายมวน

“เช้านี้ไม่มีใครมาหรอก พายุเข้าเมื่อคืน เงียบกันหมด” บังกิฟลีเล่าพลางเอนหลังตรงพนักพิงม้าหินอ่อน “กินชากันสักหน่อยนะ” เจ้าของร้านเอ่ยปากชวนแกมบังคับ ก่อนเดินหายเข้าไปหลังร้าน ทิ้งให้ฉันและช่างภาพนั่งมองผ้าใบที่ถูกลมทะเลพัดจนโป่งพอง

ร้านน้ำชาของบังกิฟลีตั้งเป็นเพิงเล็กๆ อยู่ริมทะเลอ่าวไทย ในชุมชนบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช ที่นี่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีชื่อร้านปักในกูเกิ้ลแมป และไม่ใช่ว่าจะขับรถผ่านกันได้ง่ายๆ แน่นอนว่าไม่มีใครมาติดดาวให้คะแนนความพึงพอใจ เรื่องแบบนี้เขาคุยกันด้วยปากเปล่าและตาเห็น – ที่นี่เป็นที่นั่งพูดคุยของเหล่าชาวประมงก่อนออกทะเล นั่นทำให้ตามกิจวัตร บังกิฟลีต้องลุกขึ้นมาเปิดร้านตั้งแต่ตี 2 เตรียมชาอุ่นๆ และข้าวร้อนๆ ไว้ให้เหล่าจอมยุทธ์ก่อนตะลุยยุทธจักรท้องทะเล

สารคดีว่าด้วยเรื่องราวของชามาเลย์ บทสนทนา และการหาปลาด้วยวิชาดูหลำ ในร้านน้ำชาริมทะเลที่บ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

‘ผู้ชนะสิบทิศ’ วรรณกรรมหลังปฏิวัติ 2475 ที่ฉายความรุ่งโรจน์ของสามัญชนกับมรณกรรมของผู้ประพันธ์

โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เขียนถึง ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ นิยาย ‘ปลอมประวัติศาสตร์’ เล่มตำนานของยาขอบ เรื่องราวที่มีตัวเอกเป็นชาวพม่าอย่าง ‘จะเด็ด’ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ประชาชาติ

บริบทสังคมตอนนั้นเป็นอย่างไร เรื่องราวในเล่มสะท้อนภาพแบบไหน และชีวิตของยาขอบในบั้นปลายเป็นอย่างไร

“สำหรับคนในยุคปัจจุบันที่รับรู้ว่าพม่าคือศัตรูตัวฉกาจในประวัติศาสตร์ไทย อาจจะแปลกใจว่าสังคมเราเคยมีนิยายที่เชิดชูพม่าในฐานะพระเอกนิยายในบรรณพิภพไทยด้วย ที่รู้จักกันดีในคนยุคก่อนก็คือ ‘จะเด็ด’ หรือบุเรงนองในผู้ชนะสิบทิศ ส่วนอีกคนคือ ‘มังราย’ ในเรื่องเลือดสุพรรณ”

“ว่ากันว่าผู้ชนะสิบทิศนั้นสำคัญต่อประชาชาติถึงขนาดกุหลาบ (สายประดิษฐ์) เขียนถึงว่า ‘มันเป็นนวนิยายที่มีฤทธิ์และเป็นส่วนประกอบอันสำคัญส่วนหนึ่งแห่งชีวิตอันไพบูลย์ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ’”

‘บ้านร้าง’ กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนญี่ปุ่น

โดย สุภา ปัทมานันท์

“ไม่น่าเชื่อว่าที่ญี่ปุ่นมีบ้านเก่าและทรุดโทรมที่ไม่มีคนอาศัยอยู่จนกลายเป็น ‘บ้านร้าง’ อยู่ทั่วประเทศ จากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในและการไปรษณีย์ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่ามีบ้านร้างในญี่ปุ่นอยู่ราว 8.5 ล้านหลัง คิดเป็นประมาณ 13% ของบ้านทั้งหมด”

“ในชนบทห่างไกลบางแห่งที่มีแต่คนสูงวัย มีคนวัยหนุ่มสาวน้อย เพราะไปทำงานและสร้างครอบครัวในโตเกียวหรือเมืองใหญ่ๆ อีกทั้งมีปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลงก็ยิ่งมีแนวโน้มบ้านที่เคยอาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่กับปู่ ย่า และพ่อแม่จะถูกปล่อยทิ้งร้างเมื่อคนรุ่นก่อนเสียชีวิตลง บ้านที่ได้รับตกทอดมาจึงกลายเป็น ‘ทุกขลาภ’ ของลูกหลาน เพราะไม่อยากกลับไปดูแลเนื่องจากมีค่าใช้จ่าย ลำพังเอาชีวิตรอดในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็ยากแล้ว”

“บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในโตเกียว ทำการสำรวจเจ้าของบ้านร้าง 300 คน พบว่ากว่า 70% ตอบว่า ‘ไม่ทำอะไรกับบ้านร้างของตัวเอง’ 31.3% บอกว่า ‘แม้อยากขาย ก็คิดว่าขายไม่ได้’ และ 29.7% บอกว่า ‘ไม่อยากใช้เงินเพื่อซ่อมแซม’”

สุภา ปัทมานันท์ เขียนถึง ‘บ้านร้าง’ ในญี่ปุ่น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาที่ต้องจัดการแก้ไข เหตุเพราะวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของบ้านร้าง ภาครัฐและเอกชนในญี่ปุ่นแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร

‘สตรี-ชีวิต-อิสรภาพ’ เมื่อผู้หญิงลุกมาเผาฮิญาบเพื่อประท้วงตำรวจศีลธรรมในอิหร่าน

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

ความตายของ มาห์ซา อามินี หญิงสาววัย 22 ปีที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมและทุบตีจนถึงแก่ชีวิตด้วยข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎว่าด้วยการสวมฮิญาบในที่สาธารณะ เป็นชนวนใหญ่ที่ทำให้ผู้หญิงในอิหร่านลุกขึ้นมาตัดผม-เผาฮิญาบเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ และความรุนแรงต่อสตรี

“ไม่กี่วันหลังความตายของอามินีและข้อมูลทางการแพทย์ที่หลุดออกมาสู่สาธารณะ (รวมทั้งคำให้การของราฮิมิ) การประท้วงเริ่มต้นขึ้นที่เคอร์ดิสถาน -บ้านเกิดของเธอ- เมื่อเหล่าเฟมินิสต์หลายคนออกมารวมตัวกันด้วยสโลแกน ‘สตรี-ชีวิต-อิสรภาพ’ และ ‘เผด็จการจงไปตาย’”

“ผู้หญิงหลายคนเอากรรไกรตัดฮิญาบทิ้งท่ามกลางเสียงเชียร์เอาใจช่วยของผู้เข้าชุมนุมคนอื่นๆ อีกหลายคนอัดวิดีโอตัวเองเผาฮิญาบและติดแฮชแท็ก #MahsaAmini จนกลายเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ รวมทั้งมีเยาวชนหลายคนที่เข้าร่วมการชุมนุมและกู่ร้องว่า ‘เราคือบุตรหลานจากสงคราม เข้ามาสิโว้ย เราจะสู้กลับแน่'”

“ทั้งนี้ มีกฎให้สตรีชาวอิหร่านสวมฮิญาบมาตั้งแต่ปี 1979 ภายหลังการปฏิวัติอิหร่าน กระทั่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ เอบรอฮีม แรอีซี ประธานาธิบดีอิหร่านผู้ขึ้นชื่อเรื่องความอนุรักษนิยมจัด ลงนามกฎหมายว่าด้วยความเคร่งครัดเรื่องระเบียบการแต่งกาย”

ลิซ ทรัสส์ และการฟื้นคืนชีพของ Trickle-down Economics

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

“ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ปี 2022 ที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรกล่าวสุนทรพจน์ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเธอจะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเติบโตแข็งแรงขึ้น ด้วยแนวทางการสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เกิดการลงทุนที่เพิ่มการจ้างงานและรายได้ให้กับประชาชน”

“แนวทางสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างเข้มข้นเพื่อสร้างการเติบโตของทรัสส์ ทำให้วิวาทะว่าด้วย ‘เศรษฐกิจที่ไหลจากบนลงล่าง’ หรือ ‘Trickle-down Economics’ กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง”

“ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ทรัสส์ลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของเธอคือมาตรการอย่างการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล (tax cuts) ตลอดจนการยกเลิกกกฎควบคุมเพดานการให้เงินโบนัสสำหรับผู้บริหารในภาคการเงิน (bonus cap)”

“เมื่อถูกตั้งคำถามว่ามาตรการเหล่านี้จะให้ประโยชน์กับคนรวยเป็นพิเศษไหม ทรัสส์ก็ย้ำถึงบทบาทสำคัญของผู้มีรายได้สูงต่อการลงทุน โดยยืนยันว่า เมื่อคนรวยถูกเก็บภาษีน้อยลง พวกเขาก็จะลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้ของคนกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น ทั้งสังคมจะได้รับดอกผลร่วมกันในท้ายที่สุดอยู่ดี”

“แนวคิดที่ว่ามาทั้งหมดตรงกับที่โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเคยพูดไว้ในช่วงต้นทศวรรษ 1980s และทำให้คนสหราชอาณาจักรเองหวนนึกถึงมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ผู้ใช้วลีอมตะที่ว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว” (There is no alternative.) เพื่อยืนกรานแนวทางจัดการเศรษฐกิจของเธอ”

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เขียนถึงวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของลิซ ทรัสส์ ที่ทำให้ดีเบตว่าด้วย Trickle-down Economics กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

8 ปีระบอบประยุทธ์: อ่านชะตาการเมืองไทยกับ สุขุม นวลสกุล

โดย กรกมล ศรีวัฒน์

หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นับอายุการทำงานในปี 2560 หรือปีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งตรงกับที่ ดร.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการอิสระ ได้คาดการณ์อนาคตของพลเอกประยุทธ์เอาไว้ 101 ชวน [อ่านใหม่] ชะตาการเมืองไทยต่อจากการตัดสินครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

“ถ้าเกิดตัดสินว่าพลเอกประยุทธ์ผ่าน ก็คงถูลู่ถูกังไปจนกว่าจะครบวาระตามแผนเดิม เพราะในสายตาผม นักการเมืองฝ่ายค้านเองก็ยังไม่อยากให้ยุบสภา เนื่องจากยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะชูใครเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐบาลก็เชื่อว่าการจัดงาน APEC จะช่วยทำให้รัฐบาลดูมีสง่าขึ้นจากการได้รับการรับรองจากต่างชาติ เหมือนที่ธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกรัฐบาลพูดว่ากว่าจะถึงเลือกตั้ง ประชาชนหน้าใสและเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นแล้ว”

“ผมคิดว่าถึงจะเลือกตั้งตอนนี้ฟากรัฐบาลก็มั่นใจว่าไม่แพ้ แต่เราในฐานะคนดูรู้สึกว่าเลือกตั้งวันนี้รัฐบาลแพ้แน่ เพราะคนครวญครางกันทุกหย่อมหญ้า ประชาชนเห็นฝีมือรัฐบาลแล้วไม่ประทับใจ นโยบายที่คนเคยชื่นชม พอมีบ่อยๆ เข้ามันก็เป็นเรื่องธรรมดา รัฐบาลไม่ได้มีโครงการใหม่ๆ ที่ทำให้คนมีความหวัง ความใหม่บางอย่างก็ไกลตัวเหลือเกินอย่าง EEC”

“คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีฐานเสียงประชาชนที่เลือกมา เสียงทหาร เสียงราชการ ผมมองดูว่าพลเอกประยุทธ์สู้พลเอกประวิตรไม่ได้ในส่วนนักการเมือง แต่ผมว่าเสาอื่นท่านก็คิดว่าท่านเหนือกว่า เราดูแล้วท่านก็น่าจะเหนือกว่าด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อดีของพลเอกประวิตรคือเป็นคนเข้าใจการเมืองได้เร็ว บริหารการเมืองเป็น การเมืองเข้าสู่เป้าหมายด้วยการต่อรอง ไม่ใช่สู่เป้าหมายด้วยการบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นคนเป็นนักการเมืองจึงมาหาประวิตร ถ้ามีการต่อรองก็มีอะไรติดมือกลับบ้าน”

“วันนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นคุณแก่พลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าจะเหลือโอกาสทางการเมืองสมัยหน้า 2 ปีหรือเหลือเต็ม 4 ปี ผมคิดว่ายังไงก็ต้องมีชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เพราะเขามีความรู้สึกว่าหากไม่ได้ลงเลือกตั้งคือเขาแพ้ จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ “พูดกันได้ยังไงว่าคนไม่นิยมผม เคยเห็นใครเสียสละขนาดนี้ไหม” สมมติส่งประยุทธ์แล้วชนะ เหลือวาระอีก 2 ปีก็ยังสามารถเปลี่ยนม้ากลางศึก ส่งต่อให้พวกเดียวกันได้ ผมมองว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเครือข่ายพลังประชารัฐก็มีสองคน มีประวิตรกับประยุทธ์ที่เป็นตัวเต็งอยู่ ไม่แน่อาจจะสามด้วยซ้ำ กรณีประยุทธ์เหลือวาระ 2 ปี”

6 วันกับการแข่งขันเทรลที่โหดที่สุดในโลกของ สว่างจิต แซ่โง้ว สมาชิกทีมทรูเซาท์ที่ปักหมุดไทยบนแผนที่การแข่งเทรลได้เป็นครั้งแรก

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

101 สนทนากับ สว่างจิต แซ่โง้ว หนึ่งในสมาชิกทีม TrueSouth Thailand ที่เพิ่งพาประเทศไทยคว้าชัยในการแข่งเทรล PTL-UTMB อันแสนโหดหินได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

“สไตล์การวิ่งของเราสามคนไม่เหมือนกันนะ สำหรับเราเองถ้าเป็นการวิ่งขาขึ้นเราถนัด power walk (หมายถึงการเดินในจังหวะที่เร็วกว่าปกติ) ส่วนขาลงถ้าวิ่งได้เราก็วิ่งเลย เราชอบการวิ่งลงเขา ทางราบเราก็จ็อกกิ้ง อันนี้จะคล้ายๆ แอลวิน แต่พี่เอกชอบวิ่งขึ้นเขามาก อัดอย่างเดียวเลย การจะเกาะเขาให้ทันนี่ทั้งเราทั้งแอลวินหอบเลย เพราะพี่เอกถนัดการเดินขึ้นเขามาก ขึ้นเร็ว อัดเร็ว เรากับแอลวินเลยต้องมาฝึกการขึ้นเขาเพิ่มเพื่อให้เข้ากับเขา”

“อีกอย่างคือเราเอาประสบการณ์ที่เราได้จากการลงแข่งปีที่แล้วมาเป็นบทเรียนด้วยล่ะ ปีที่แล้วโชคไม่ดี เขายอดแรกเราก็เจอหิมะแล้ว ทีนี้ตอนนั้นเรายังแต่งตัวไม่เร็ว เราไม่รู้ว่าถ้าต้องเจอหิมะต้องแต่งตัวยังไง เป้ก็ใหม่หมด เสื้อผ้าก็เยอะแยะและไม่รู้ว่าแต่ละชนิดมันต่างกันอย่างไร รู้แค่ว่ามันกันหนาว เราเลยลอกการแต่งตัวของคนอื่น เขาหยิบอะไรมาใส่ก็ใส่ด้วย แต่ก็ยังช้าสุดอยู่ดี”

“ไปต่อ ถ้าเพื่อนไปเราก็ต้องไป ก้มตามองพื้นแล้วไปเรื่อยๆ บอกตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็ถึงน่า หรือเวลาที่ต้องขึ้นเขาซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด เพื่อนก็เคยปลอบใจเราว่าแรกๆ ก็ทนเอาหน่อยนะ จากนั้นมันก็ทางลงแล้ว ไว้ไปสนุกกับทางลงแล้วกัน (ยิ้ม) แต่ด้วยความเร็วที่ซ้อมมา เราเกาะ ตามเพื่อนทันอยู่แล้ว”

Trolley problem #3: ถ้าเราไม่อยากตาย เราก็ไม่ควรเลือกให้คนอื่นไปตาย – คำตอบที่เหมือนจะช่วยแก้ปัญหารถราง

โดย ตะวัน มานะกุล

“ถ้าคุณไม่อยากตาย ก็ไม่ควรส่งคนอื่นไปตาย”

“ข้อเสนอ Thompson ข้างบนฟังดูไม่น่าผิด แต่ข้อดีหนึ่งของวิชาจริยศาสตร์ก็คือ หลายครั้งมันช่วยเปิดเผยให้เราเห็นว่าบางสิ่งที่ฟังยังไงก็ถูกนั้นผิด และเรามองไม่เห็นมันอย่างไม่น่าเชื่อ”

“นักจริยศาสตร์หลายคนพูดเรื่องนี้กันมานาน แต่ความผิดของข้อสรุปนี้ถูกสรุปออกมาเป็นชุดๆ เมื่อไม่กี่ปีก่อน โดย F. M. Kamm อีกหนึ่งตัวแม่แห่งวงการรถราง และไม่กี่คนที่ยังมีชีวิตถึงทุกวันนี้”

“ปัญหาของข้อเสนอของ Thompson ตั้งต้นจากการเปรียบเทียบว่า เราจะยอมหันรถรางมาชนตัวเองหรือไม่ และการคิดเปรียบเทียบนี้ แท้จริงแล้วสะท้อนรูปแบบรถรางใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการพูดถึงมาก่อน”

คอลัมน์ Hard Choices เดือนนี้ ตะวัน มานะกุล เขียนถึง สาเหตุที่คำตอบของปัญหารถราง “ถ้าคุณไม่อยากตาย ก็ไม่ควรส่งคนอื่นไปตาย” จึงล้มเหลว ด้วยข้อเสนอของ F. M. Kamm ที่ว่า คำตอบของปัญหารางรางแบบสามทางเลือกจะไม่ส่งต่อมาในกรณีสองทางเลือก และการแยกระหว่าง ‘สิ่งที่ควรทำ’ กับ ‘ภาระในการทำ’

“กลยุทธ์ที่ Thompson ใช้ชักจูงสามัญสำนึกเราสร้างขึ้นคือการโน้มน้าวว่า ถ้าเราไม่สับรางให้รถมาชนตัวเอง เราก็ไม่สามารถทำแบบนั้นกับคนอื่นได้ ซึ่งเธอเอาข้อสรุปของกรณีนี้ไปให้เหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ควรหันสับรางในกรณีก่อนหน้า (Bystander’s two options case)”

“ปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้แหละครับ เพราะ Thompson มองไม่เห็นว่าข้อสรุปในกรณีสามทางเลือกนั้น ไม่สามารถเอามาเทียบเคียงหรือส่งต่อ (transfer) มาสู่กรณีสองทางเลือกได้”

“การแยก ‘ภาระในการกระทำ’ ออกจาก ‘สิ่งที่ควรจะทำ’ ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า ความยินยอมที่จะเสียสละอาจจะไม่ใช่ประเด็นในเรื่องนี้ กล่าวคือ ไม่ว่าคนที่เราหันรถรางไปชนตายจะให้ความยินยอม (consent) หรือยินดีเสียสละ (altruistic) รับภาระ (ความตาย) ไม่ได้เป็นประเด็นการตัดสินใจหลัก เพราะในสังคมย่อมบางเรื่องที่ต้องทำ แม้ไม่มีใครยินยอมจะทำเสมอ และในกรณีเช่นนี้สังคมมักตั้งกฎบางอย่างที่ทุกคน ‘ยินยอม’ อยู่ภายใต้เพื่อแก้ไขปัญหา”

“เช่น ไม่มีใครอยากเป็นทหารไปสงคราม ในหลายประเทศเราจึงยินยอมใช้การเกณฑ์ทหาร หรือวิธีจับฉลาก ในการแข่งขันทางธุรกิจ ไม่มีใครอยากเจ๊ง เราก็ยินยอมใช้กฎให้ทุกคนไปสู้กันในตลาดที่แฟร์ๆ และต่างคนต่างรับผิดชอบกับผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้มา”

“ในกรณีรถราง พูดโดยทั่วไป คงไม่มีใครยินยอมตายเพื่อช่วยคนอื่น และทุกคนก็คงยินดีอยู่ภายใต้กฎที่อนุญาตให้เรารักษาชีวิตตัวเองเป็นสำคัญ รวมถึงกฎที่ว่าเราสามารถหันรถไปชนคนอื่นแทนเราได้ มองจากมุมนี้ ความยินยอมไม่ใช่ประเด็น แถมยังเท่าเทียมอีกด้วย เพราะทุกคนต่างมีสิทธิหันรถรางไปหาคนอื่นอย่างเท่าเทียม”

ภัยคุกคามความมั่นคงนอกแบบ ใต้เงาพญามังกร เหนือแผ่นดินอังกอร์

โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

ประเด็นที่น่าสนใจคือจากรายงานบอกว่าตัวการสำคัญของอาชญากรรมทางไซเบอร์นี้มักเป็นนายทุนชาวจีนที่มาในช่วงนโยบาย ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’

อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ถือเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบใหม่นี้ เกี่ยวข้องอย่างไรกับภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองแบบอำนาจนิยมและระบบพวกพ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของกัมพูชา

“สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ประเมินว่าน่าจะมีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องการค้าทาสสมัยใหม่และธุรกิจที่ผิดกฎหมายบนโลกไซเบอร์ ทั้งที่เป็นเหยื่อ เป็นตัวกลางในการล่อลวง หรือสมรู้ร่วมคิดกับนายทาสเจ้าของกิจการเหล่านั้นราว 2,500 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยซึ่งมีความร่วมมือกับทางการกัมพูชาเพื่อปราบปรามมิจฉาชีพเหล่านี้รายงานว่า นับแต่เดือนตุลาคม 2021-มิถุนายน 2022 ได้ให้การช่วยเหลือคนไทยออกมาได้แล้วประมาณ 800 คน…”

“…จากการรายงานของสื่อมวลชนและการสืบสวนของทางการพบว่า ผู้ที่เป็นตัวการมักจะเป็นนายทุนชาวจีน (แน่นอนมีทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และจากเกาะไต้หวัน แต่ส่วนที่มาจากแผ่นดินใหญ่จะมีสัดส่วนมากกว่า) คนที่เป็นผู้สนับสนุนสมรู้ร่วมคิดมีหลายชาติหลายภาษา ตั้งแต่จีนด้วยกัน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซี ยและหลายชาติจากแอฟริกา ที่ถูกว่าจ้างหรือบีบบังคับให้ไปล่อลวงเพื่อนร่วมชาติเพื่อให้มาทำงานที่ต้องไปฉ้อโกงเอาทรัพย์จากคนที่มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกันอีกที”

“บทความนี้เน้นที่จีนแผ่นดินใหญ่เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การค้ามนุษย์และอาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงแบบใหม่ (non-traditional security) ที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ หากแต่มีความเกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองแบบอำนาจนิยมและระบบพวกพ้อง (cronyism)
โดยมุ่งแสดงให้เห็นว่า การแผ่อิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้คือกัมพูชานั้นได้เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพจากแผ่นดินใหญ่เคลื่อนตัวตามการลงทุนเข้าสู่กัมพูชาและทำธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบและกดขี่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองภายใต้ระบบอุปถัมภ์และการเมืองแบบอำนาจนิยมของรัฐบาลฮุน เซนจนสามารถขยายตัวเติบโตจนยากจะต้านทานได้ในปัจจุบัน”

ผลงานใหม่เดือนกันยายน 2565 ของ 101PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ

ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต

โดย กษิดิ์เดช คำพุช

แรงงานไทยถือเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในฐานะกำลังการผลิตและกำลังซื้อที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ แต่พวกเขากลับมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ที่สวนทางกับความสำคัญในระบบเศรษฐกิจ

แม้ว่าในอีกไม่กี่วันค่าจ้างขั้นต่ำไทยจะปรับเพิ่มจาก 313-336 บาท/วัน เป็น 328-354 บาท/วัน ตามสภาพเศรษฐกิจ แต่แนวทางนี้ไม่อาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้ และยังคงไม่สอดคล้องกับต้นทุนค่าครองชีพจริงของแรงงาน

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนทบทวนแนวคิดและปัจจัยในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไทยในปัจจุบัน และ ‘คิดใหม่’ ให้ค่าจ้างขั้นต่ำสอดคล้องกับการดำรงชีพแท้จริงของแรงงาน เพิ่มความเป็นธรรมของแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำด้วยแนวคิดค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) ที่มีหลักการคือแรงงานต้องสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทัดเทียมกับมาตรฐานของสังคม

Research Roundup 2022 : “จินตนาการใหม่-แผลเป็น-เปราะบาง” : อนาคตนโยบายเด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต

คิด for คิดส์ Research Roundup 2022 สนามความคิด เปลี่ยนอนาคตไทย : “จินตนาการใหม่-แผลเป็น-เปราะบาง” : อนาคตนโยบายเด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต

‘เด็กไทย’ กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เมื่อวิกฤตสามด้าน – วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง – ยังคงท้าทายชีวิตของเด็ก เยาวชน และครอบครัวไทยอย่างน่าวิตก

แม้วิกฤตโรคระบาดจะรุนแรงน้อยลง แต่การปิดเมืองสู้โรคได้สร้าง ‘แผลเป็น’ ด้านการเรียนรู้ วิกฤตความเหลื่อมล้ำก็ซ้ำเติมให้ชีวิตเด็กและครอบครัวไทยเผชิญปัญหาหนักหนาสาหัสขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวเปราะบาง ในขณะที่ท่ามกลางวิกฤตการเมือง เรามองเห็นเด็กและเยาวชนจำนวนมากลุกขึ้นมามีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย พร้อมข้อเสนอแหลมคมในสนามความคิด

‘เด็กสมัยนี้’ คิดฝันอะไร มีจินตนาการพลเมืองแบบไหน? ‘แผลเป็น’ ด้านการเรียนรู้ของเด็กไทยใหญ่ ลึก และเหลื่อมล้ำแค่ไหน? ครอบครัวเปราะบางในยุคโควิด-19 ต้องเผชิญหน้าความท้าทายอะไร? และนโยบายเด็กและครอบครัวที่จะสร้างอนาคตใหม่ให้สังคมไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ขอเชิญร่วมสนามความคิด เปลี่ยนอนาคตไทย ‘คิด for คิดส์ Research Roundup 2022’ เวทีสื่อสารความรู้จากงานวิจัยด้านนโยบายเด็กและครอบครัวที่มุ่งตอบโจทย์อนาคตสังคมไทย

YouTube video

1. “นโยบายเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต: ขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของเด็กไทย”

นำเสนอ

  • นโยบายเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต: ขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของเด็กไทย [PPT / DOC]
    ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB)
  • ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมี่ส่วนร่วม  [PPT / DOC]
    วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัย 101 PUB
  • คุม ‘กัญชาเสรี’ อย่างไร ให้ปลอดภัยกับเด็กและเยาวชนที่สุด [PPT / DOC]
    เจณิตตา จันทวงษา นักวิจัย 101 PUB
  • เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนเข้าถึงได้จริง [PPT / DOC]
    สรวิศ มา นักวิจัย 101 PUB

ร่วมแลกเปลี่ยน

  • เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center)
  • ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ”
  • ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

YouTube video

2. “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project)”

นำเสนอ

  • วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape
  • ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์
  • สรัช สินธุประมา นักวิจัยโครงการ “การมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยใน พ.ศ. 2563”

เอกสารประกอบงานสัมมนา [PPT / DOC]

คู่มือการใช้ Civic Imagination [PPT / VDO]

ร่วมแลกเปลี่ยน

  • ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการโดย วรดร เลิศรัตน์

YouTube video

3. “พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19: การปรับตัวของครัวเรือนเปราะบาง และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว”

นำเสนอ

  • ผศ.ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.วาสนา ละอองปลิว วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เอกสารประกอบงานสัมมนา [PPT / DOC]

ร่วมแลกเปลี่ยน

  • จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
  • ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

YouTube video

4. “โควิดกับ ‘แผลเป็น’ ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน: ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีการศึกษา และบทเรียนเชิงนโยบายสำหรับอนาคต”

นำเสนอ

  • ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เอกสารประกอบงานสัมมนา [PPT DOC]

ร่วมแลกเปลี่ยน

  • ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช นักวิชาการฝ่ายโครงการวิจัยระบบ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

ดำเนินรายการโดย ฉัตร คำแสง

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนกันยายน 2565

YouTube video

Error Childhood: การเรียนรู้ที่หล่นหาย

โดย กองบรรณาธิการ

“เราต้องรู้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการแก้”

โรคระบาดที่เกิดขึ้นทิ้งบาดแผลหลากรูปแบบให้กับคนแต่ละช่วงวัย สำหรับเด็กปฐมวัยไทย บาดแผลนั้นชื่อว่า ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย’ หรือ learning loss

จากการทำโครงการสำรวจและประเมินความพร้อมเด็กปฐมวัยเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness) โดย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง และคณะ ที่มีการเก็บข้อมูลเด็กก่อนขึ้น ป.1 ทั่วประเทศ ทำให้พบว่าการปิดโรงเรียนส่งผลให้ทักษะการเรียนรู้ของเด็กถดถอยลง

สิ่งสำคัญคือการหาวิธีฟื้นฟูก่อนที่คนรุ่นนี้จะกลายเป็น ‘lost generation’ เมื่อพวกเขาโตไป

101 คุยกับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงความรุนแรงของปัญหาการเรียนรู้ถดถอย และทางออกสู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : วีระชาติ กิเลนทอง : เด็กเล็กไทยกับ ‘Learning Loss’ บาดแผลทางการศึกษาที่รอเยียวยา

YouTube video

101 Policy Forum #18 ฟื้นฟูการศึกษา พาเด็กไทยออกจากวิกฤตการเรียนรู้

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา

สำหรับเดือนนี้ ถก-คิด-ถาม-ตอบกันเรื่อง ‘การฟื้นฟูการศึกษาจากวิกฤตการเรียนรู้’

พบกับ

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ตีโจทย์การศึกษาไทยหลังโควิด-19 อะไรคือบาดแผลสำคัญ | นโยบายแบบไหนจะนำพาเด็กไทยออกจากวิกฤตการเรียนรู้ |
ข้อเสนอการแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กปฐมวัย | ฯลฯ

YouTube video

101 Public Forum : Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต

ประเทศไทยประสบกับปัญหาเรื้อรังทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม มาเป็นเวลานาน ยิ่งผนวกกับ วิกฤตโควิด-19 อันไม่คาดคิด รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่คาดเดาไม่ได้ ผลลัพธ์คือสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ระบบและวิธีคิดแบบเก่าไม่สามารถตอบโจทย์ใหม่ๆ ได้ สังคมไทยต้องการความรู้ ทักษะ พลังสร้างสรรค์ และนโยบายสาธารณะแบบใหม่ เพื่อ ‘ตั้งหลัก’ และพาประเทศออกจากหล่ม

101 ร่วมกับ ‘แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 ชวนคุณมาร่วม ‘ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย’ พร้อมเปิดตัวหนังสือ ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ ซึ่งรวบรวมบทสัมภาษณ์นักคิดหลากวงการ หลายรุ่น กว่า 30 ชีวิตในโจทย์ใหญ่ของประเทศ พร้อมกับร่วมหาคำตอบว่า นโยบายสาธารณะแบบไหนที่จะพาไทยออกจากวิกฤต

ร่วมพูดคุยโดย

รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง 101 PUB

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา บรรณาธิการ The101.world

ดาวน์โหลดหนังสืออีบุ๊ก ‘Thailand: The Great Reset – ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต’ ได้ที่นี่

YouTube video

101 One-on-One Ep.276 “ปรับโครงสร้าง-เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย” กับ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

หากถามว่า นโยบายเศรษฐกิจแห่งอนาคตเป็นอย่างไร – การยกระดับเทคโนโลยี ส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อรับมือกับความผันผวนรุนแรงและการแข่งขันอันเข้มข้นในตลาดโลก – ชุดคำเหล่านี้กลายเป็นคำตอบสำเร็จรูปที่สามารถบอกได้เลยโดยไม่ต้องกลัวผิด

แต่คำตอบที่ตอบเมื่อไหร่ก็ถูกเสมอ ก็มักเป็นคำตอบที่ไม่มีความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่เราต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

แล้วเรามีคำตอบแบบอื่นหรือไม่ ในการปรับและเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

101 ชวน ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักเศรษฐศาสตร์การเมือง แห่งมหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) สนทนาว่าด้วย ‘ภาพใหญ่สุด’ ของเศรษฐกิจไทย และทางเลือกของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่อาจเป็นไปได้มากกว่า

ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

YouTube video

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.46 ใช้ใจบันดาลแรง

จากชายชราที่ทำท่าจะเดินไม่ไหว ไปไหนต้องมีคนประคอง ‘ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ กลับมาเดินเหินกระฉับกระเฉงอีกครั้ง เมื่อกลายเป็นหมายเลข 1 (ชั่วคราว) ในทำเนียบรัฐบาล

ประวิตรจะบริหารอำนาจแบบไหน และอะไรคือนัยการเมืองที่จะตามมา

คุยเบื้องลึกเบื้องหลัง และจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

YouTube video

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.47 ‘มีชัย’ ไชโย

ในห้วงจังหวะที่เกมอำนาจการเมืองไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยนใหญ่ เอกสารความเห็นของ ‘มีชัย ฤชุพันธ์’ ต่อกรณีการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงมีความหมายยิ่ง

สมการการเมืองไทยกำลังเปลี่ยน นักการเมืองต้องคำนวณใหม่ และคนไทยต้องเฝ้าตรวจสอบจับตา

คุยเบื้องลึกเบื้องหลัง และจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

YouTube video

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.48 : 30 กันยา เวลาแห่งการ ‘เกษียณ’

วันที่ 30 กันยายนของทุกปีคือ วันสุดท้ายของข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก แต่ 30 กันยายน 2565 สังคมไทยกำลังจับตาด้วยความระทึกว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะต้อง ‘เกษียณ’ ไปตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

อ่านการเมืองในคืนวันสุกดิบ พร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

MOST READ

101's Pick

15 Feb 2023

4 ผลงานสื่อ รางวัล ‘สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ประจำปี 2565

101 ชวนอ่าน 4 ผลงานสื่อของ The101.world ที่ได้รับ รางวัล ‘สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ประจำปี 2565 โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมคำกล่าวจากผู้สร้างสรรค์ผลงาน

กองบรรณาธิการ

15 Feb 2023

101's Pick

10 Oct 2022

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกันยายน 2565

อ่าน 20 ผลงานใหม่ยอดนิยมของ The101.World และผลงานใหม่ของ 101PUB ในเดือนกันยายน 2565 พร้อมรับชม คลิป Bite-Sized, รายการ 101 One-on-One, 101 Policy Forum, 101 Public Forum และ 101 POSTSCRIPT

กองบรรณาธิการ

10 Oct 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save