fbpx

ปัญญาของคนล้านนา – ความรู้ของสามัญชน

ผมได้รับคำชักชวนให้มาเปิดคอลัมน์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ล้านนากับทีมงาน 101 ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งเพราะได้ติดตามอ่านข้อเขียนต่างๆ ในเว็บไซต์นี้มานานแล้ว และล้านนาก็เป็นอัตลักษณ์ที่ผมภาคภูมิใจ รวมถึงประวัติศาสตร์ก็เป็นวิชาที่ผมรักเป็นจิตวิญญาณด้วย แต่ก็หนักใจอยู่ไม่น้อยว่าจะเขียนเล่าเรื่องอะไรก่อนเพราะล้านนาเป็นดินแดนแห่งเรื่องเล่า ไปทางไหนก็มีเรื่องราวต่างๆ เขียนเล่าไว้เต็มไปหมด อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งย่อมมีสาเหตุ การที่บันทึกเรื่องราวในล้านนามีเยอะก็น่าจะมีสาเหตุเช่นกัน เมื่อได้ครุ่นคิดแล้วก็รู้สึกว่าคงต้องเขียนเล่าเรื่อง ‘การเขียนเล่าเรื่อง’ ของคนล้านนาก่อนที่จะได้เขียนเล่าเรื่องอื่นๆ เป็นการต่อไป

คนล้านนามีสุภาษิตที่พูดต่อๆ กันมาว่า ‘ของบ่ะกิ๋นฮู้เน่า ของบะเล่าฮู้ลืม’ (ของบ่กินรู้เน่า ของบ่เล่ารู้ลืม) หมายถึง อาหารการกินทั้งหลาย ถ้าทำมาแล้วตั้งทิ้งไว้ไม่ยอมกินย่อมเน่าเสียไปเปล่าๆ ความรู้และเรื่องราวต่างๆ ถ้ารู้ไว้แล้วอมพะนำไม่เล่าต่อย่อมเลือนหายไปจากความทรงจำอย่างน่าเสียดาย ผมคิดว่าสุภาษิตนี้แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าคนล้านนามีทัศนคติต่อประวัติศาสตร์และปัญญาวิชาการต่างๆ อย่างไร

วัฒนธรรมการเขียนของล้านนา

อารยธรรมล้านนาให้ความสำคัญอย่างมากกับการขีดเขียนเพื่อบันทึกเรื่องราวและส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ประจักษ์พยานยืนยันวัฒนธรรมการเขียนของล้านนามีอยู่หลายประการด้วยกัน

ประการแรก วรรณกรรมภาษาบาลีต่างๆ ที่พระสงฆ์ทั่วประเทศใช้ร่ำเรียนกัน เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ โลกทีปนี มงคลัตถทีปนี ฯลฯ รวมไปถึง ปัญญาสชาดก หรือนิทานพื้นบ้าน 50 เรื่องที่เรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาบาลีและได้เป็นต้นเค้าของวรรณคดีไทยสยาม (และเพื่อนบ้าน) หลายเรื่อง เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ สังข์ศิลป์ชัย มโนราห์ สังข์ทอง ฯลฯ ล้วนรจนาขึ้นในล้านนา นอกจากนี้ การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกที่กระทำในบริเวณที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นที่วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) จนกล่าวกันว่ารัชสมัยของพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 11 อันถือเป็นยุคทองของวรรณกรรมล้านนา ก็ถือเป็นยุคทองของภาษาบาลีในไทยด้วย

ทั้งนี้ ในสายตาผู้คนยุคจารีต ‘วิชาความรู้’ ที่สำคัญที่สุดคือความรู้ด้านศาสนา การเรียนรู้ย่อมหมายถึงการเรียนรู้ทางศาสนา ภาษาบาลีจึงถือเป็น ‘ภาษาวิชาการ’ ของโลกอุษาคเนย์ คล้ายๆ กับที่ภาษาละตินเคยเป็นภาษาแห่งความรู้ของโลกตะวันตก อะไรที่เป็นความรู้จริงจังไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนาหรือไม่ ล้วนต้องเขียนเป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น และคนคนหนึ่งจะถือว่าเป็นคนรู้หนังสือได้ก็คือต้องอ่านบาลีออกเขียนบาลีได้นั่นเอง ดังนั้นความรุ่งเรืองของภาษาบาลีย่อมเป็นความรุ่งเรืองทางปัญญาโดยปริยาย

ประการที่สอง คนพูดภาษาไทที่เป็นเพื่อนบ้านของล้านนาล้วนแล้วแต่หยิบยืมอักษรธรรมล้านนา (ซึ่งคนล้านนาก็หยิบยืมอักษรมอญมาอีกทอดหนึ่ง) หรือที่เรียกปัจจุบันว่า ‘ตั๋วเมียง’ (ตัวเมือง) ไปดัดแปลงใช้เป็น ‘อักษรทางธรรม’ เขียนภาษาบาลีของตัวเอง เช่น อักษรธรรมล้านช้าง อักษรธรรมอีสาน อักษรไทเขินเชียงตุง อักษรไทลื้อเก่า (อักษรที่คนไทลื้อใช้ก่อนรัฐบาลจีนจะประดิษฐ์อักษรแบบใหม่ให้ใช้แทน) หรืออักษรธรรมไทใหญ่ซึ่งเรียกว่า ‘ลิกโยน’ (แปลตรงตัวว่า อักษรโยน โยนในที่นี้ก็คือโยนก หรือไทล้านนานั่นเอง) กระทั่งไทสุโขทัยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางใต้ ปรากฏในจารึกลานทองว่ามีการใช้อักษรสุโขทัยเป็นอักษรทางโลก และใช้อักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรทางธรรมเช่นกัน

ในเรื่องนี้ จะขออธิบายเพิ่มเติมก่อนว่าขนบธรรมเนียมการเขียนยุคจารีตจะแบ่งอักษรเป็นสองประเภท คือ ‘อักษรทางโลก’ ใช้ขีดเขียนเรื่องราวทั่วๆ ไป กับ ‘อักษรทางธรรม’ ที่ใช้เขียนเรื่องราวทางศาสนา เหตุที่ไม่ใช้ปะปนกัน มีคำอธิบายว่าเพราะ ‘อักษรทางโลก’ นั้นอาจใช้เขียนเรื่องที่ถือว่า ‘ไม่งาม’ เช่น วรรณกรรมบันเทิงคดี ซึ่งอาจข้องเกี่ยวกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือตำราศิลปะการป้องกันตัวที่ถือว่าเป็นการตีรันฟันแทง จึงถือว่าเป็นอักษรที่ ‘ไม่บริสุทธิ์’ ไม่อาจใช้เขียนวิชาความรู้ภาษาบาลีที่ถือกันว่าเป็นเรื่องราวอัน ‘บริสุทธิ์’ ได้ ขนบธรรมเนียมนี้จะคิดขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกชนชั้นทางความรู้หรือไม่นั้นก็สุดแท้แต่คนจะตีความ

คัมภีร์ใบลานล้านนา หรือลานธรรม
ที่มาภาพ: ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน
พับสา หรือ ปั๊บสา
ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์

ประการสุดท้าย มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำพวกคัมภีร์ใบลาน พับสา (ปั๊บสา แปลว่าสมุดกระดาษสา) และจารึกในเขตแดนล้านนาจำนวนมากมายมหาศาล เป็นต้นว่าเฉพาะจารึกมีหลายร้อยหลัก คัมภีร์ใบลานและพับสานั้น เฉพาะที่โครงการ DNLTM ของเยอรมนีและสถาบัน EFEO ของฝรั่งเศสได้เผยแพร่ทางออนไลน์ก็ร่วม 4,000 ฉบับได้ เชื่อว่าถ้ารวมส่วนที่ยังค้นไม่พบหรือยังไม่ได้เผยแพร่ทางออนไลน์เชื่อว่าอาจจะมีเป็นหมื่นฉบับ เนื้อหาของเอกสารเหล่านั้นแบ่งแยกได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นประเภทศาสนา ประวัติศาสตร์ (ตำนาน พื้นเมือง ฯลฯ) วรรณกรรม (นิทาน กวีนิพนธ์ ชาดก ฯลฯ) หรือตำรับตำราต่างๆ คงจะยังมีอีกมากที่ไม่เหลือรอดมาถึงปัจจุบันนี้

ที่ใช้คำว่าเหลือรอด เพราะว่าครั้งหนึ่งเมื่อรัฐบาลกลางกรุงเทพฯ ต้องการผนวกยึด (annex) ล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ได้พยายามกลืน (assimilate) ล้านนาซึ่งขณะนั้นถูกมองว่าเป็น ‘ลาว’ ให้กลายเป็น ‘ไทย(สยาม)’ ด้วยการเผาทำลายคัมภีร์ตำราต่างๆ ที่เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา ผลปรากฏว่าเผาอย่างไรก็เผาไม่หมด จึงหันมาใช้วิธีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยสยาม บีบบังคับกลายๆ ให้คนล้านนาเลิกอ่านเขียน ‘ตัวเมือง’ และหันมาอ่านเขียน ‘ตัวไทย’ แทน เป็นผลให้เอกสารเหล่านั้นทยอยหมดความสำคัญและถูกเก็บเข้ากรุไปเฉยๆ รอวันให้มีคนมาอ่านอีกครั้ง

แล้วด้วยเหตุใดเล่า บ้านเมืองกลางหุบเขา ถูกขนาบล้อมสี่ทิศด้วยอำนาจอื่นๆ ทางออกทะเลก็ไม่มี จึงมีอดีตที่ร่ำรวยทางวรรณกรรมขึ้นมาได้

ปัญญาความรู้ล้านนาฉบับย่อ

หากจะสืบสาวที่มาที่ไปของวัฒนธรรมความรู้ของคนล้านนา ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 (ต้นพุทธศตวรรษที่ 20) อาณาจักรล้านนาซึ่งปกครองโดยพญากือนา (ท้าวสองแสนนา) และอาณาจักรสุโขทัยซึ่งปกครองโดยพญาลิไท (มหาธรรมราชา) ได้ทำสงครามรบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงเมืองตาก ปรากฏว่าฝ่ายสุโขทัยพ่ายแพ้ ล้านนาจึงได้เป็นผู้ครอบครองเมืองตาก อย่างไรก็ตาม พญาลิไทประสงค์จะได้เมืองตากคืนจึงได้ ‘ฝาก’ บัลลังก์ไว้กับ ‘พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์’ ซึ่งน่าจะเป็นแม่หรือน้องสาวของพญาลิไทเพื่อว่าตัวเองจะ ‘ออกบวชการเมือง’ ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อออกบวชแล้วก็ได้ส่งทูตไป ‘ขอบิณฑบาต’ เมืองตากคืนจากพญากือนา

แม้พญากือนาจะคืนเมืองให้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าจะขอภูมิความรู้ทางศาสนาที่กำลังเฟื่องฟูในอาณาจักรสุโขทัยมาเฟื่องฟูต่อในอาณาจักรล้านนาแทน จึงมีการส่งพระสุมนเถรเป็นสมณทูตเผยแผ่ศาสนาพุทธหินยานลัทธิลังกาวงศ์ในล้านนา โดยได้เอาบรรดาพระเถรานุเถระ คัมภีร์ ตำรับตำรา และบรรดาศาสนวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุซึ่งปัจจุบันบรรจุไว้ในพระบรมธาตุดอยสุเทพ ติดไม้ติดมือมาด้วย นัยของดีลครั้งนี้คือ การคืนเมืองตากให้ แลกกับการยกตำแหน่งเมืองศูนย์กลางศาสนา (ในหมู่คนพูดภาษาไท) ให้กับเชียงใหม่ ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในอดีต ศาสนาคือปัญญาความรู้ การเป็นศูนย์กลางศาสนาย่อมถือเป็นศูนย์กลางปัญญาความรู้ด้วยเช่นกัน

ศาสนาพุทธหินยานที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากสุโขทัย (ซึ่งสุโขทัยก็รับมาจากเมืองพันของมอญอีกทอด) นั้นได้ตั้งมั่นเป็นนิกาย ใหม่คู่ขนานกับ ‘นิกายหริภุญชัย’ ซึ่งเป็นนิกายเดิม โดยมีศูนย์กลางที่วัดสวนดอกหรือวัดบุปผาราม จึงได้ชื่อว่า ‘นิกายสวนดอก’ ต่อมาไม่นานนักมีกลุ่มพระหนุ่ม นำโดยพระญาณคัมภีร์ ได้ไปเป็น ‘นักเรียนนอก’ คือไปศึกษาศาสนาพุทธที่เกาะลังกา เมื่อกลับมาก็รวมตัวกันเปิดนิกายลังกาวงศ์แบบใหม่ที่วัดป่าแดง นิกายใหม่นี้จึงได้ชื่อว่า ‘นิกายป่าแดง’ หรือ ‘นิกายสิงหล’ ความแตกต่างและความขัดแย้งของทั้งสองนิกายนี้ อาจเทียบเคียงได้กับความขัดแย้งแตกต่างระหว่างมหานิกายและธรรมยุติกนิกายในปัจจุบัน (แต่อย่าลืมว่าในล้านนาขณะนั้นมีนิกายหริภุญชัยซึ่งเป็นนิกายดั้งเดิมอยู่ด้วย)

ทั้งสองนิกายนี้ไม่เห็นพ้องต้องกันในหลายๆ เรื่อง แน่นอนว่าไม่ชอบขี้หน้ากันและทะเลาะกันด้วย กล่าวกันว่าครั้งหนึ่งถึงขั้นยกพวกลงไม้ลงมือกัน อย่างไรก็ตาม วิธีการหลักๆ ที่คณะสงฆ์สองนิกายนี้แข่งกันคือศึกษาพระธรรมแข่งกัน เมื่อศึกษาแล้วก็เขียนตำราแข่งกันด้วย โดยตำราฝ่ายสวนดอกก็วิพากษ์วิจารณ์คำสอนฝ่ายป่าแดง ตำราฝ่ายป่าแดงก็วิพากษ์วิจารณ์คำสอนของฝ่ายสวนดอก เป็นต้น ยังมีบันทึกต่อมาว่าได้เคยมีการเปิด ‘เวทีดีเบต’ คือผูกแพกลางแม่น้ำให้พระอาจารย์ผู้รู้ของทั้งสองฝ่ายปุจฉาวิสัชฌนากันให้แจ่มแจ้ง การถกเถียงขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่การสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งถือเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น

หลายคนอาจมองว่านี่เป็นสังฆเภทหรือความแตกแยกในหมู่สงฆ์ก็ได้ แต่มองอีกแง่หนึ่งก็จะเห็นว่า ในยุคนั้นคงต้องมีการศึกษาศาสนากันจริงจังน่าดูถึงมีคนอุตส่าห์เดินทางไปไกลถึงลังกาและตีความศาสนาได้ออกมาต่างกันเป็นนิกาย (สำนักคิด) ต่างๆ กันได้ ซึ่งการที่ในล้านนามีนิกายย่อยๆ กันเป็นร้อยนิกาย ก็คงพอบอกได้ว่าการถกเถียงนี้มีความรุ่มรวยเพียงใด และแม้พระสงฆ์ (ซึ่งรับบทเป็นปัญญาชนของสังคมในยุคนั้น) จะเถียงกันคอแตกอย่างไร สุดท้ายก็เกิดประโยชน์ต่อปัญญาความรู้ คือมีแนวคิดใหม่ๆ มีตำราใหม่ๆ เผยแพร่นั่นเอง

อิทธิพลทางปัญญาความรู้ของล้านนานั้นยังแผ่ขยายไปถึงเพื่อนบ้านทั้งหลาย เช่น พระเจ้าโพธิสารราชแห่งล้านช้างได้เคยส่งสาสน์มาขอพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ จากล้านนาเพื่อเผยแผ่องค์ความรู้ทางศาสนาในล้านช้าง พระสงฆ์นิกายสวนดอกจากเชียงใหม่ได้เคยจาริกไปถึงเมืองเชียงตุงและตั้งนิกายสวนดอกอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน เมืองแสนหวีซึ่งเป็นเมืองสำคัญของไทใหญ่ในรัฐฉานก็มีบันทึกว่าได้รับศาสนาจากเชียงใหม่ไปเผยแผ่ด้วย กระทั่งเพื่อนบ้านตอนใต้อย่างสยาม ก็ได้รับอิทธิพลทางวรรณกรรมจากล้านนาไปด้วย เช่น การแต่งเรื่อง ลิลิตพระลอ และความนิยมในโคลงสี่สุภาพซึ่งเป็นฉันทลักษณ์ยอดนิยมของล้านนา และยังนิยมแต่งมาจนปัจจุบัน (อยุธยาแต่เดิมนิยมแต่งโคลงดั้นมากกว่า) ทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุว่าเหตุใดอักษรธรรมล้านนาจึงใช้แพร่หลายในหมู่คนพูดภาษาไทดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ทำบุญด้วยความรู้: สามัญชนกับความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมความรู้ล้านนา

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเหตุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้วัฒนธรรมปัญญาความรู้ในล้านนาเฟื่องฟูถึงขีดสุดคือความเปิดกว้างเชื้อเชิญให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมกับการสร้างสรรค์ความรู้นี้ด้วย กล่าวคือ ปัญญาความรู้ของล้านนาไม่ได้มาจากวังอย่างเดียว ทั้งบ้าน วัด และวังต่างเป็นแหล่งที่มาของปัญญาความรู้ได้ทั้งหมด ปัญญาความรู้ของคนล้านนาไม่ได้ถูกผูกขาดโดยราชบัณฑิตในราชสำนัก หรือต่อให้อยากผูกขาดก็ผูกขาดไม่ได้ เพราะการผูกขาดความรู้จำเป็นต้องทำโดยผู้ปกครองผูกขาดอำนาจไว้กับศูนย์กลางอย่างเข้มแข้ง และจากห้วงเวลาเกือบแปดศตวรรษ ล้านนามีศูนย์อำนาจที่เข้มแข็งปกครองอยู่เพียงเกือบๆ สามศตวรรษเท่านั้นเอง เมื่ออำนาจไม่ถูกรวมศูนย์ ปัญญาความรู้ก็ไม่ถูกรวมศูนย์เช่นกัน

‘วัง’ หรือพวกชนชั้นสูงทั้งหลายเป็นขุมปัญญาความรู้ได้อย่างไรคงไม่ต้องอธิบายให้มากความ ‘วัด’ หรือบรรดาพระสงฆ์เป็นขุมปัญญาความรู้ได้อย่างไรก็ดังที่อธิบายแล้ว แล้ว ‘บ้าน’ หรือคนทั่วๆ ไปเล่า มาเป็นขุมปัญญาความรู้ได้อย่างไรกัน? ขอตอบว่าเป็นได้ผ่านการเป็นผู้แต่งและผู้คัดลอกตำราต่างๆ

คนล้านนาก็เหมือนคนไทกลุ่มอื่นๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ คือเชื่อในอานิสงส์ของการทำบุญ และเชื่อว่าการทำบุญแต่ละประเภทมีอานิสงส์ผลบุญต่างกัน โดยคนล้านนาถือคติว่า ‘สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ’ (ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง) การทำบุญด้วยการเผยแพร่ความรู้จึงถือเป็นบุญใหญ่ที่สุด ตามความเชื่อของคนล้านนา การทำบุญอันเกี่ยวเนื่องด้วยหนังสือหนังหาและความรู้ทั้งหลายนั้นให้อานิสงส์แรงกว่าการทำบุญวิธีอื่น เช่น การจารอักขระธรรมเพียง 1 ตัวอักษร มีอานิสงส์เท่าสร้างพระพุทธรูป 1 องค์ ยังผลให้ได้เกิดเป็นกษัตริย์ 1 ชาติ การทำบุญด้วยคัมภีร์ย่อมส่งอานิสงส์ให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้บรรลุนิพพานในชาติต่อๆ ไป รวมถึงการสร้างอุปกรณ์เกี่ยวกับกับคัมภีร์ก็ถือเป็นบุญใหญ่ เช่น สร้างหอธรรม (หอไตร) ยังผลให้ชาติหน้าได้อยู่ในปราสาททิพย์ สร้างหีดธรรม (หีบเก็บคัมภีร์) ยังผลให้ชาติหน้ามีสมบัติเป็นหีบๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีประเพณีอันเนื่องด้วยการสร้างและเก็บรักษาคัมภีร์อีกหลายประเพณี เช่น ประเพณีการทำบุญด้วย ‘สายสนอง’ ของผู้หญิงล้านนาในอดีตซึ่งมักไว้ผมยาวมัดเป็นมวย คือทำบุญโดยการถอนเส้นผมมาทำเป็นสายร้อยคัมภีร์ใบลาน เชื่อว่าจะยังผลให้มีโอกาสได้บวชในชาติหน้า หรือประเพณีการตากธรรม คือนำคัมภีร์ใบลานมาผึ่งแดดไม่ให้ขึ้นรา เป็นต้น ความเชื่อและประเพณีเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการเขียนระดับมวลชนในล้านนา คือการเขียนเป็นเรื่องของทุกคน ทุกบ้านทุกวัดช่วยกันรังสรรค์ผลงานและคัดลอกเผยแพร่ในยุคที่ไม่มีโรงพิมพ์และไม่มีอินเทอร์เน็ตช่วยเผยแพร่ข้อมูล คงเพราะด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ล้านนามีคัมภีร์และตำรับตำราต่างๆ มากมายมหาศาลขนาดที่ใครจะมาลบด้วยการเผาทิ้งก็เผาได้ไม่หมด

ลองจินตนาการดูเถิดว่าถ้าองค์ความรู้เดียวกันนี้ถูกผูกขาดไว้ในมือของชนชั้นปกครองไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่ตระกูล วัฒนธรรมการเขียนและปัญญาความรู้ของล้านนาจะรุ่งเรืองเฟื่องฟูดังที่เคยเป็นหรือไม่ และที่สำคัญ จะหลงรอดพ้นเงื้อมมือการทำลายมาให้เราได้อ่านได้ศึกษากันเช่นทุกวันนี้หรือไม่ หรือจะมลายไปกับกองไฟเหมือนที่มักอธิบายกันว่า วัฒนธรรมวรรณคดีไทยสยามขาดตอนไปเพราะเพลิงไหม้คราวเสียกรุงศรีอยุธยา ‘พระราชพงศาวดาร’ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เหลือไม่กี่ฉบับ ส่วนมากก็ความซ้ำๆ ในขณะที่ ‘ตำนาน’ หรือ ‘พื้นเมือง’ ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของล้านนานั้น มีเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว จนกล่าวกันว่าอุปสรรคในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนานั้นมิใช่ว่าขาดแคลนหลักฐาน แต่ขาดคนอ่านคนแปลหลักฐาน เพราะหลักฐานมีมาก แต่คนอ่านล้านนาออกเขียนล้านนาได้มีน้อย และหลักฐานเหล่านั้นก็หาอ่านได้ยากมากก่อนที่จะมีการทำห้องสมุดใบลานออนไลน์

ทุกวันนี้ได้ยินว่ามีความพยายามที่จะปริวัตร (ถอดอักษร) เป็นอักษรไทยสยามเพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น ใครที่ช่วยแปลและเผยแพร่เอกสารล้านนาที่ยังหลับใหลอยู่ ตามคติล้านนาต้องถือว่าเป็นบุญกุศลอันใหญ่ยิ่ง ผมขออนุโมทนาสาธุด้วย แต่ถึงไม่เชื่อเรื่องบาปบุญ ก็นับว่าเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การสดุดีอย่างสูง

คอลัมน์ ‘ของบ่เล่ารู้ลืม’ ก็มีสปิริตแบบเดียวกันนี้ ผมเชื่อว่าความรู้จะเฟื่องฟูที่สุดเมื่อมีอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุม และไม่ถูกผูกขาดไว้โดยอำนาจใด การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา (และประวัติศาสตร์ทางเลือกอื่นๆ) มิใช่เพียงเพื่อให้เรื่องล้านนาไม่ถูกลืม แต่ยังชวนผู้อ่านสำรวจว่า เรามีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมความรู้เพียงใด ใช่มีแค่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ อย่างที่รัฐมักพร่ำสอนกันเท่านั้นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save