fbpx

‘สี่แผ่นดิน’ กับการสร้างพื้นที่แบบอาณานิคม

นวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน นั้นเริ่มแรกพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐโดยตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2494-2495 และตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2496 ตามคำนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เขียน ซึ่งลงวันที่ 1 ธันวาคม 2512 บอกว่าไม่เพียงแต่จะมุ่งสร้างงานชิ้นนี้เป็นนวนิยายเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนบันทึกความคิด ประเพณี ความเชื่อของผู้คน และธรรมเนียมอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกบันทึกลงเป็นประวัติศาสตร์ หากเป็นไปตามนี้แล้วเราอาจมองสี่แผ่นดินเป็นเสมือนหนึ่งประวัติศาสตร์ทางเลือก นั่นคือประวัติศาสตร์วัฒนธรรมในช่วง ร.5-ร.8 ที่บันทึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนผ่านมุมมองของชนชั้นขุนนางที่ใกล้ชิดราชวงศ์ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548)

หากพิจารณาสี่แผ่นดินผ่านมุมมองประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่านวนิยายเล่มนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพื่อปูทางให้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง หลังจากปี 2494 คณะรัฐประหารได้ทำการรัฐประหารเงียบเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อคงอำนาจของกองทัพสำหรับการครอบงำทางการเมืองต่อไป ทำให้กลุ่มนิยมเจ้าโดยพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี นายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นแกนนำสำคัญ หมดอำนาจลง ซึ่งสิ่งนี้เปิดทางให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แสวงหาอำนาจทางการเมือง และประจวบเหมาะที่ ร.9 เสด็จนิวัติประเทศไทยพอดีในช่วงเวลานั้น (สายชล สัตยานุรักษ์, 2550, น. 145-148, 150, 157, 160)

บทความนี้เลือกวิเคราะห์สี่แผ่นดิน ด้วยมุมมองแบบหลังอาณานิคมนิยม (postcolonialism) ผ่านการจัดแบ่ง (compartment) และสร้างพื้นที่ (spatialization) ในนามของเจ้าอาณานิคม ด้วยมองเห็นว่ามีหลายฉากตอนใน สี่แผ่นดิน มีการจัดแบ่งพื้นที่และให้ภาพของความแตกต่างระหว่างพื้นที่ในวังกับนอกวัง เมืองหลวงกับหัวเมืองต่างๆ และสยามกับต่างประเทศ ซึ่งภาพแทนที่ปรากฏและวิธีการอธิบายลักษณะต่างๆ ของพื้นที่ที่ได้มีจัดแบ่งและสร้างพื้นที่ขึ้นมา ทำให้เห็นถึงลักษณะการพยายามทำตัวเสมอเหมือนเจ้าอาณานิคมในความคิดของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผ่านสี่แผ่นดิน

‘พื้นที่อาณานิคม’ ในมุมมองของ Frantz Fanon และ Achille Mbembe

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ‘พื้นที่อาณานิคม’ และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เพื่อที่จะเข้าใจ ‘พื้นที่อาณานิคม’ อย่างชัดเจนผู้เขียนเลือกงานของนักปรัชญาชื่อดัง 2 คนคือ Frantz Fanon นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสจาก Martinique หมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ Achille Mbembe นักปรัชญาชาวแคเมอรูนร่วมสมัย โดยทั้งคู่เป็นนักปรัชญาที่พยายามทำความเข้าใจแง่มุมของอาณานิคมนิยมผ่านมุมมองของการเลือกปฏิบัติและการจัดแบ่งพื้นที่ ซึ่งทั้งสองคนสามารถนำเสนอประเด็นและมุมมองเรื่องดังกล่าวได้อย่างเฉียบคมต่อการทำความเข้าใจหลังอาณานิคมนิยมผ่านประเด็นเรื่องพื้นที่ โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นว่าลักษณะของพื้นที่อาณานิคมเป็นเช่นไร

วิธีการหนึ่งที่จะทำเข้าใจลักษณะของพื้นที่ดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น สามารถเริ่มจากการเข้าใจชีวิตของคนท้องถิ่น (native) ที่ดินแดนถูกยึดเป็นอาณานิคมในช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จนถึงประมาณศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมของกลุ่มประเทศยุโรปในอดีต เช่น สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี เยอรมนี เป็นต้น ว่าคนท้องถิ่นมีชีวิตเช่นไร แล้วเจ้าอาณานิคมผิวขาวพวกนี้ปกครองพวกเขาอย่างไรหลังยึดครองดินแดนเหล่านั้น

ในประเด็นนี้  Mbembe เป็นคนหนึ่งที่สรุปชีวิตของคนท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ โดย Mbembe (2019, pp. 74-78) ให้ภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นเปรียบเสมือนทาส (slave) ที่เป็นกลุ่มคนที่สูญเสียบางสิ่งไปจากชีวิตพวกเขา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 สิ่ง (three losses) คือ บ้าน สิทธิในร่างกาย และสถานภาพทางการเมือง ในแง่นี้ชีวิตของคนในท้องถิ่นในดินแดนอาณานิคมจึงเป็นเสมือนชีวิตที่เปล่าเปลือย (bare life) ขาดซึ่งเสื้อผ้าให้ใส่กันหนาวกันร้อน เป็นชีวิตที่สามารถสูญหายหรือตายไปได้ทุกเมื่อ ซึ่งเสื้อผ้าพวกนี้คือกฎหมายและสถานะต่างๆ ที่ถูกรับรองไว้เบื้องต้น และนั่นคือชีวิตของคนท้องถิ่น ที่แม้ว่าพวกเขาจะเกิดและใช้ชีวิตในดินแดนนี้มานมนานตั้งแต่บรรพบุรุษของพวกเขา แต่เมื่อมหาอำนาจยุโรปยึดครองมาเป็นดินแดนอาณานิคมแล้ว เจ้าอาณานิคมก็เห็นชีวิตของคนท้องถิ่นเป็นเสมือนเฟืองชิ้นหนึ่งของจักรกลที่เจ้าอาณานิคมใช้สำหรับแสวงหาผลประโยชน์ให้เป็นประเทศของตนเท่านั้น หากเฟืองนั้นพังหรือเป็นอุปสรรคก็เพียงแต่ทำลาย เปลี่ยนใหม่ หรือทิ้งมันไป หรืออีกนัยหนึ่งตนท้องถิ่นเปรียบเสมือนผีดูดเลือด (vampire) ที่เป็นเพียงท่อลำเลียงเลือดหรือเงินตราให้ระบบทุนนิยม (capitalism) ของเจ้าอาณานิคม ในแง่นี้คนท้องถิ่นจึงเปรียบเสมือนคนตายที่มีชีวิต (living death) ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตแบบที่มีการลดสถานะความเป็นบุคคล (depersonalization) หรือความเป็นมนุษย์ (Kawash, 1999, pp. 248-249) ให้เป็นสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ที่ไม่จำเป็นต้องเคารพศักดิ์ศรีใดๆ สามารถทำลายหรือกำจัดออกไปได้ในทันที

ในแง่นี้ชีวิตของคนท้องถิ่นในดินแดนอาณานิคมก็เปรียบเสมือนตกอยู่ในสภาวะยกเว้น (state of exception) ตลอดเวลา ความรุนแรง (violence) และความดิบเถื่อน (savage) เป็นเสมือนสภาวะทางธรรมชาติหรือสภาพอันเป็นปกติในชีวิตของพวกเขา สภาวะของกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่ชุมชนและไม่ใช่สังคมในมุมมองของเจ้าอาณานิคม พวกเขาจึงไม่มีสถานะของความเป็นมนุษย์ สงคราม สันติภาพ และการฆาตกรรมจึงไม่มีความหมายในพื้นที่ดังกล่าว ความรุนแรง ความตาย และการยกเว้นเป็นกฎของพื้นที่นี้

ลักษณะที่เกิดขึ้นข้างต้น Fanon (1963, p. 3) ได้ขมวดปมเหล่านี้ไว้อย่างกระชับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากลัทธิอาณานิคม (colonialism) ที่ได้แบ่งแยกและสร้างพื้นที่ของการยกเว้นในนามของการสร้างอารยธรรม (civilization) ให้บังเกิดขึ้น โลกอาณานิคมมีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ พื้นที่ของคนท้องถิ่น (native) กับพื้นที่ของเจ้าอาณานิคม (settler) โลกอาณานิคมจึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่ถูกแบ่งเป็นพื้นที่ของคู่ตรงข้ามในทุกๆ สิ่ง ไม่ว่าจะเป็น อารยธรรมกับความป่าเถื่อน ความเจริญกับความล้าหลังและยากจน เสื้อผ้ากับความเปลือย การกินด้วยภาชนะกับการใช้มือ ของสุกกับของดิบ วิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ เป็นต้น แต่ภาพรวมก็คือการแบ่งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองที่สถานะของผู้ถูกปกครองก็คือทาสหรือสิ่งที่ไม่ถูกนับเป็น ‘มนุษย์’ ถึงกระนั้นเจ้าอาณานิคมก็ยังคิดว่าสิ่งที่ตนทำในโลกอาณานิคมนั้นเป็นพื้นที่ของมนุษยธรรม (humanity) การคิดในลักษณะดังกล่าวมักจะถูกเรียกว่าเป็นอาการ ‘ความหลงตัวเองของอาณานิคม’ (colonial narcissism) (Gibson, 2003, p. 103) ที่กลบฝังและปิดบังการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและความรุนแรงในนามของการสร้างอารยธรรมให้กับสังคมป่าเถื่อน

สำหรับพื้นที่ที่เจ้าอาณานิคมจัดแบ่งนั้นมีรูปแบบและลักษณะของการปกครองภายใต้ความคิดที่เรียกว่า ‘อำนาจอธิปไตยในดินแดนอาณานิคม’ (colonial sovereignty) โดยมีลักษณะสำคัญอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1. ความรุนแรงคือรากฐาน 2. ความรุนแรงดังกล่าวมาจากความชอบธรรมของการพิชิตดินแดนโดยเจ้าอาณานิคม 3. ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้มีรูปแบบเพื่อการรักษา แพร่กระจาย และมีความถาวร (Mbembe, 2001, pp. 25-27) ความรุนแรงดังกล่าวนี้เองที่ได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่างวิธีการ (means) และเป้าหมาย (ends) ลงในทุกๆ กรณี ความรุนแรงกลายเป็นการครอบงำควบคุมคนท้องถิ่นที่สำหรับเจ้าอาณานิคมแล้วนั้น เป็นเพียงทรัพย์สินและสิ่งของแห่งอำนาจ ร่างกายของคนท้องถิ่นเป็นเพียง ‘วัตถุร่างกาย’ (body-thing) กล่าวคือเป็นเพียง ‘สิ่งของ’ (thing) เท่านั้น

นอกจากนี้ลักษณะการปกครองภายใต้อำนาจอธิปไตยในดินแดนอาณานิคมนั้น มีรูปแบบตามที่ Mbembe (2001, pp. 29-33) เสนอว่ามีลักษณะสำคัญอยู่ 4 ประการ ได้แก่ 1. ปกครองด้วยสภาวะยกเว้น 2. ระบบอภิสิทธิ์สำหรับเจ้าอาณานิคม 3. การปกครองคนท้องถิ่นในดินแดนอาณานิคมคือการทำให้มีอารยะ 4. เป้าหมายของการปกครองคือการทำให้คนท้องถิ่นเชื่อฟังคำสั่งมากกว่าที่จะเป็นการปกครองเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘พื้นที่อาณานิคม’ โดยจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนอาณานิคมนั้น คือการสร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างเจ้าอาณานิคมในฐานะองค์ประธาน (subject) และผู้อยู่ใต้ปกครองของเจ้าอาณานิคมหรือคนท้องถิ่นในฐานะผู้ถูกกระทำ (object) อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแบ่งแยก/ปกครองพื้นที่ในดินแดนอาณานิคม การพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างชัดเจนให้เห็นถึงความแตกต่างดังกล่าวนั้นถือเป็นการพยายามสร้างความชอบธรรมให้เจ้าอาณานิคมสามารถปกครองดินแดนอาณานิคมของตนได้อย่างถูกต้องในนามของศีลธรรมอันดีของความเหนือกว่าทั้งทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ เพื่อปิดบังหรือกลบเกลื่อนการกระทำบางประการที่เป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งศีลธรรม เป็นความรุนแรงป่าเถื่อน หรือเป็นด้านมืดของเจ้าอาณานิคมที่ไม่อาจยอมรับทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ในแง่นี้แล้วการจัดสรรพื้นที่ของเจ้าอาณานิคมจึงช่วยทำให้เห็นกระบวนการทำงานของเจ้าอาณานิคมต่อผู้อยู่ใต้ปกครองในดินแดนอาณานิคมได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ เมือง และวัง: การจัดสรรพื้นที่ในสี่แผ่นดิน

สี่แผ่นดิน ในฐานะวรรณกรรมนั้นได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวการสร้างภาพแทนของพื้นที่ เมือง และวัง ซึ่งที่ผ่านมามีการศึกษาจำนวนมากที่ให้ความสำคัญของวรรณกรรมกับเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือระหว่างตัวละครต่างๆ ที่ปรากฏผ่านเมือง หรือการบรรยายที่เปรียบเสมือนการสร้างภาพลักษณ์หรือภาพแทนของพื้นที่หรือเมืองหนึ่งๆ ขึ้นมาในตัวบทวรรณกรรมนั้น ในแง่นี้การปรากฏขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับเมืองจะช่วยทำให้เห็นโลกทัศน์หรือค่านิยมที่ผู้เขียนวรรณกรรมชิ้นนั้นยึดถือได้ (สุรเดช โชติอุดมพันธ์, 2559, น. 9-10)

สี่แผ่นดินได้บรรยายหรือทำให้ภาพลักษณ์หรือภาพแทนของลักษณะการจัดการพื้นที่ผ่านฉากต่างๆ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. สยามกับต่างประเทศ 2. เมืองหลวงกับหัวเมืองต่างๆ และ 3. พื้นที่ในวังกับนอกวัง นัยนี้เมื่อวิเคราะห์การจัดสรรดังกล่าวผ่านความคิดเรื่องพื้นที่อาณานิคมของ Fanon และ Mbembe ที่ได้กล่าวไปข้างต้นจะช่วยแสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์และค่านิยมแบบเจ้าอาณานิคมสำหรับการจัดสรรพื้นที่ดินแดนอาณานิคมที่ตนครอบครอง ซึ่งแสดงออกมาในฉากตอนต่างๆ ที่จะวิเคราะห์ต่อไปในสี่แผ่นดินดังนี้

1. สยามกับต่างประเทศ ในสี่แผ่นดินมีการกล่าวถึงการเดินทางไปเรียนต่ออังกฤษของตาอ๊อด ซึ่งเมื่อพิจารณามุมมองดังกล่าวของตาอ๊อด เราจะเห็นภาพพื้นที่ระหว่างสยามกับอังกฤษ โดยมุมมองดังกล่าวของตาอ๊อดทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างประเทศสยามกับอังกฤษที่เราจะเห็นภาพของความเท่าเทียมกันทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งแม้จะแตกต่างเรื่องกิริยามารยาท แต่โดยแก่นแล้วก็ดูจะมีเหมือนกันทั้งสองประเทศ และกลับมีแนวโน้มชื่นชมประเทศไทยมากกว่าอังกฤษเสียด้วยซ้ำ โดยใช้เกณฑ์การมีกินของคนจนเป็นการวัดว่าประเทศไหนดีกว่ากัน ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าสยามนั้นดีกว่าอังกฤษเพราะคนจนในเมืองสยามก็สามารถหากินจากทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของสยามได้ แต่ในขณะที่คนจนของอังกฤษนั้นจนแล้วก็จนเลย แสดงให้เห็นว่าประเทศเขาเจริญก็เจริญแค่ทางวัตถุและเงินตรา แต่ไม่รุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ (โปรดดู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 2, 2548, น. 227-229)

2. เมืองหลวงกับหัวเมือง ส่วนประเด็นการให้ภาพความแตกต่างระหว่างเมืองหลวงกับเมืองอื่นๆ นั้น จดหมายของพี่เนื่องได้ทำให้เห็นถึงภาพแทนของเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวงได้อย่างชัดเจน ในจดหมายนั้นพี่เนื่องได้กล่าวถึงตอนที่ไปรับราชการทหารที่นครสวรรค์ พี่เนื่องบรรยายภาพความยากลำบากทั้งการอยู่อาศัย สภาพภูมิอากาศที่ร้อนๆ หนาวๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้คนเองก็เป็นคนบ้านนอกพูดจาไม่เข้าใจ อาหารการกินก็ไม่ค่อยดีมีรสออกเค็มและเผ็ด นี่เป็นสภาพเมืองบ้านนอกที่ถูกเปรียบเทียบให้แสนยากลำบากทุรกันดารไม่เหมือนกับเมืองหลวง (โปรดดู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 194-195) นอกจากนี้ที่นครสวรรค์นี้เองที่พี่เนื่องทำผู้หญิงท้อง ในกรณีนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่าการไปนอกเมืองหลวงเป็นสถานที่จะทำให้เกิดเรื่องต่างๆ ที่มีแนวโน้มไปในทางที่ไม่ดี เกิดภาระและความไม่สบายใจต่างๆ ให้คนที่อยู่ที่นั้นเสมอ (โปรดดู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 269-271) ในส่วนของการบรรยายถึงบางปะอินซึ่งอยู่นอกเมืองหลวงนั้น ภาพของบางปะอินที่ถูกพูดถึงกลับแตกต่างจากนครสวรรค์ 

“‘บางปะอิน’ เป็นคำกายสิทธิ์สำหรับชาววังเกือบทุกคน เพราะบางปะอินหมายถึงชนบทนอกกรุง หมายถึงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ที่มีน้ำเจิ่งและดอกบัวบานสล้าง ที่บางปะอินเป็นที่มีอากาศโปร่งสบาย ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์พฤกษชาติ มีสระและคลองเต็มไปด้วยน้ำใสสะอาด และมีลมที่บริสุทธิ์พัดมาอยู่มิขาด… บรรยากาศที่บางปะอินสดชื่นรื่นเริงผิดกว่าที่กรุงเทพฯ มากมายหนักหนา เจ้านายทุกพระองค์มีพระอาการรื่นเริงอย่างเสด็จมากพักผ่อนพระอิริยาบถ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันเคร่งครัดต่างๆ ดูเหมือนจะถูกทิ้งไว้ที่กรุงเทพฯ เป็นบางส่วน… อาจเป็นเพราะบางปะอินเป็นสถานที่ใหม่ไม่มีอะไรจะเตือนใจให้รำลึกถึงความหลังหรือบางปะอินจะเป็นสถานที่กายสิทธิ์ สร้างขึ้นเพื่อความสุขง่ายๆ ผู้ใดที่ได้ไปถึงก็บังเกิดความสุขอย่างง่ายดายโดยมิต้องเสวงหา” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 286) 

หากถือว่าอะไรที่อยู่นอกกรุงเป็นเรื่องที่ไม่ดี หรืออยู่ไม่สบายเท่ากับเมืองหลวงแล้ว ทำไมในสี่แผ่นดินกลับพูดถึงบางปะอินไปอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งยังใช้บางปะอินเป็นฉากหลักของเรื่องหลายครั้งหลายตอนทั้งเป็นที่พักของพระมหากษัตริย์และที่พระราชทานเพลิงพระศพของกรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาองค์โปรดของ ร.5 ในแง่นี้พอจะวิเคราะห์ได้ว่าอาจเป็นเพราะบางปะอินเป็นที่ตั้งพระราชวัง และเพราะพระมหากษัตริย์ทรงโปรดที่นี้ เมื่อสิ่งใดพระมหากษัตริย์โปรดสิ่งนั้นย่อมดีเสมอ

“เมื่อท่านไม่เลี้ยงแม่แล้ว แม่ก็จะไปตามยถากรรม เราคนมีชาติมีสกุลเหมือนกัน ใครจะไปยอมให้กดหัวกันอย่างขี้ข้า…เจ้านายของเราก็ยังมี แม่จะเอาพลอยไปถวายเสด็จ” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 24-25) 

“พลอยยิ่งเห็นข้าวของที่เคยใช้ร่วมกันอยู่ทุกวันถูกแบ่งสันปันส่วนก็ยิ่งมีความรู้สึกมากขึ้น เพราะทุกอย่างที่เห็นเป็นอาการของบ้านแตกสาแหรกขาดแท้ๆ น้ำตาที่อยู่ในลูกตาก็หลั่งไหลออกมา จะห้ามเท่าไรก็ไม่หยุด” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 27)

“…ไปอยู่ในวังที่ตำหนักเสด็จ อีกหน่อยก็จะสนุกสบาย ไม่คิดถึงบ้านเสียอีก” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 28)

3. วังกับบริเวณรอบนอกวัง ฉากข้างต้นที่ยกมานี้แสดงให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่ในวังและพื้นที่นอกวังว่าพื้นที่ในวังดีกว่านอกวังอย่างไร พื้นที่นอกวังมีแต่ความวุ่นวาย ไม่สนุก ไม่มีความสุข “…เป็นอาการของบ้านแตกสาแหรกขาดแท้ๆ…” ต่างกับวันที่แม่แช่มได้ออกจากบ้านคลองบางหลวงไปกับพลอยเพื่อไปฝากฝังไว้กับเสด็จให้เลี้ยงดู ช่วงแรกพลอยรู้สึกเศร้าที่ต้องจากบ้านคลองบางหลวงไปอยู่วัง แต่พอพลอยเห็นวังอยู่ไกลๆ กลับรู้สึกถึงความงดงามและความยิ่งใหญ่จนลืมความรู้สึกเศร้าของตนที่ต้องจากบ้านเดิมมาอยู่ที่วังหลวงแทน (โปรดดู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 30-33)

นอกจากนี้การมาอยู่ในวังยังเพียบพร้อมไปด้วยอาหารการกินที่พรั่งพร้อม 

“‘…อยู่นี่ไม่ต้องกลัวใครเขามาดูถูกดอก ต้องถือเสียว่าที่นี่เป็นบ้านของแม่ ดีกว่าบ้านฟากข้างโน้นเป็นไหนๆ’ แล้วแม่ก็เปิดชามฝาสองใบนั้นขึ้นดู ‘แหม! ดีจริง ไม่ได้กินมาเสียนาน’…พลอยมองดูของกินที่อยู่ในชามนั้นแล้วก็ตกตะลึง ด้วยไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน และไม่นึกว่าจะเป็นไปได้” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 42)

หรือในฉากที่แม่แช่มได้กลับมาที่วังอีกครั้งพร้อมกับพลอยได้ทำให้แม่แช่มดูมีความสุขและลืมความทุกข์ที่ผ่านมา แม่แช่มได้พบปะเพื่อนในวัง ได้พูดคุย ทักทาย ถามไถ่ถึงสารทุกข์สุกดิบต่างๆ ดูราวกับว่าที่นี้ได้มอบความสุขและความอบอุ่นใจให้กับแม่แช่มอีกครั้ง 

“พลอยสังเกตเห็นแม่เปลี่ยนไปเป็นคนละคนกว่าเมื่ออยู่ที่บ้าน เมื่อครั้งอยู่ที่บ้านนั้นแม่ทำตัวเหมือนคนแก่ มีอารมณ์ฉุนเฉียวบ่อยๆ บางเวลาก็นั่งเหม่อมึนตึงเฉยๆ น้อยครั้งที่พลอยเคยเห็นแม่พูดจาเล่นหัวกับใคร แต่พอเข้ามาในวังได้ไม่กี่ชั่วโมง ได้เข้ามาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงที่รู้จักคุ้นเคยกันมาแต่เดิม ได้กลับมาสู่บรรยากาศอันร่มเย็นไร้ความรำคาญจุกจิก แม่ก็ดูกลับเป็นสาวกระชุ่มกระชวยขึ้นทันที” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 45)

“นี่พอทอดพระเนตรเห็นฉันเป็นกริ้วตายแน่ ออกไปมีผัวเสียกี่ปีๆ ไม่เคยเข้ามาเฝ้าเลย จะมากับเขาสักทีก็ต้องหอบลูกมาทิ้งให้ท่านเลี้ยง” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 47)

“‘ชาตินี้ทั้งชาติ แช่มเห็นจะไม่มีวันกลับไปอีกได้’ แม่ทูลตอบ ‘เมื่อหม่อมฉันอยู่ในวังเคยแค่มีสุข ไม่รู้ทุกข์ ออกไปแล้วจึงได้รู้ เมื่อรู้จักทุกข์แล้วก็เห็นจะกลับไปหาทุกข์อีกไม่ได้’” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 52)

ฉากตอนดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่อยู่นอกวังเป็นสิ่งที่เป็นภาระมากกว่าที่จะเป็นข่าวดีให้สำหรับคนในวัง นอกจากนี้การแต่งตัวเองก็บ่งบอกได้ว่าใครเป็นชาววังใครเป็นคนบ้านนอก ซึ่งการแต่งตัวของคนบ้านนอกหรือคนที่อยู่นอกวังมักจะแต่งอย่างไรก็ได้ตามสะดวก แต่สำหรับคนในวังแล้วมักจะเลือกสีของเสื้อผ้าที่ใส่ตามสีประจำวัน ดังที่แม่แช่มสอนพลอยเกี่ยวกับการแต่งตัวและพูดปิดท้ายว่า “จำไว้นะพลอยอย่าไปแต่งตัวเร่อร่าเป็นคนบ้านนอก เดี๋ยวเขาจะหาว่าแม่เป็นชาววังแล้วไม่สอน” (โปรดดู ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 68-69)

เมื่ออยู่ในวังไปได้หนึ่งถึงสองเดือน วังได้ทำให้พลอยรู้สึกถึงความน่าอยู่ ถึงความอบอุ่น ถึงการบ้านที่แท้จริงของพลอย ซึ่งไม่ใช่บ้านหลังที่สอง ความรู้สึกถึงบ้านคลองบางหลวงของเจ้าคุณพ่อกำลังเลือนหายไปและถูกแทนที่ด้วยวัง 

“ด้วยชีวิตอันอยู่ในกรอบ แวดล้อมไปด้วยระเบียบประเพณีต่างๆ พลอยก็อยู่ในวังต่อมาจนความรู้สึกเรื่องบ้านเดิมที่เคยอยู่นั้นเลือนรางไปจากความทรงจำ ถึงจะนึกถึงบ้านบ้างเป็นบางเวลา พลอยก็มองเห็นแต่ภาพรางๆ ผิดกับภาพที่แจ่มใสชัดเจนที่เคยนึกเห็นได้เมื่อจากบ้านมาใหม่ๆ รายละเอียดต่างๆ ที่เคยจำได้ว่าสิ่งใดอยู่ที่ไหน และตรงไหนมีอะไรบ้าง หรือคนที่บ้านหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ยิ่งวันคืนล่วงไปก็ยิ่งเลือนรางไปทุกที” (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เล่ม 1, 2548, น. 113)

  บทสรุป: โลกทัศน์และค่านิยมในสี่แผ่นดิน

ทั้งหมดนี้บ่งชี้ไปว่าการจัดสรรพื้นที่ในสี่แผ่นดินมีนัยบางอย่างจากลักษณะและวิธีการพูดที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนของการจัดสรรพื้นระหว่างสยามกับต่างประเทศ เมืองหลวงกับหัวเมืองต่างๆ และพื้นที่ในวังกับนอกวัง ซึ่งดูเหมือนเป็นการพยายามระบุความแตกต่างให้ปรากฏชัด เป็นเหตุการณ์ และเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเจริญก้าวหน้ากับความล้าหลัง ความปลอดภัยกับอันตราย ที่เราจะเห็นชัดในการกล่าวถึงเมืองหลวงกับหัวเมืองต่างๆ และในวังกับนอกวัง

ลักษณะที่น่าสนใจคือการพยายามเทียบตัวเองกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างอังกฤษ และพยายามทำให้เห็นว่าสยามนั้นดีกว่า แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องดังกล่าวคือ การพูดถึงสยามในระดับเดียวกับอังกฤษ และดูจากการพยายามสร้างภาพและความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามระหว่างเมืองหลวงและวัง กับหัวเมืองต่างๆ และพื้นที่นอกวังแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะของการจัดสรรพื้นที่ระหว่างเจ้าอาณานิคมกับผู้อยู่ใต้ปกครองในดินแดนอาณานิคมตามความคิดของ Fanon และ Mbembe การยกสยามเทียบเท่าอังกฤษในแง่หนึ่งคือการพยายามบอกว่าสยามก็เสมือนหนึ่งประเทศเจ้าอาณานิคม ส่วนลักษณะการจัดแบ่งพื้นที่เมืองหลวง วัง หัวเมืองต่างๆ และพื้นที่นอกวัง คือการพยายามสร้างหรือทำให้คู่ตรงข้ามระหว่างความมีอารยะกับความป่าเถื่อน หรือก็คือความก้าวหน้ากับความล้าหลัง วิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ ให้ปรากฏชัดผ่านฉากตอนต่างๆ ในสี่แผ่นดิน

ดังนั้นในแง่นี้เมื่อมองผ่านมุมมองเรื่องการจัดสรรพื้นที่ในดินแดนอาณานิคมตามความคิดของ Fanon และ Mbembe จะเห็นโลกทัศน์หรือค่านิยมอีกด้านหนึ่งของสี่แผ่นดิน ซึ่งเป็นโลกทัศน์หรือค่านิยมแบบเจ้าอาณานิคม วิเคราะห์ได้จากรูปแบบการจัดสรรพื้นที่เพื่อสร้างคู่เปรียบเทียบระหว่างสยามกับต่างประเทศ เมืองหลวงกับหัวเมืองต่างๆ และพื้นที่ในวังกับนอกวัง

บรรณานุกรม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2548). สี่แผ่นดิน เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ: นามมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์. 

สายชล สัตยานุรักษ์. (2550). คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” เล่ม 1 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ: มติชน.

สุรเดช โชติอุดมพันธ์. (2559). อ่านเมือง เรื่องคนกรุง: วรรณกรรม วิถีความสัมพันธ์ และภาพแทนของพื้นที่. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 

Fanon, F. (1963). The Wretched of the Earth, Richard Philcox (trans.). New York: Grove Press.

Gibson, N. (2003). Fanon: The Postcolonial Imagination. Cambridge, UK: Polity. 

Kawash, S. (1999). Terrorists and Vampires: Fanon’s Spectral Violence of Decolonization. In Anthony C. Alessandrini (ed.), Frantz Fanon: Critical Perspectives, (pp. 237-259). London: Routledge.

Mbembe, A. (2001). On the Postcolony. Berkeley: University of California Press. 

Mbembe, A. (2019). Necropolitlcs. Durham: Duke University Press.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save