fbpx

6 วันกับการแข่งขันเทรลที่โหดที่สุดในโลกของ สว่างจิต แซ่โง้ว สมาชิกทีมทรูเซาท์ที่ปักหมุดไทยบนแผนที่การแข่งเทรลได้เป็นครั้งแรก

ทรูเซาท์ ไทยแลนด์ (TrueSouth Thailand) คือทีมจากประเทศไทยทีมแรกที่คว้าชัยจากรายการ Petite Trotte à Léon Ultra-trail du Mont-blanc (PTL-UTMB) การแข่งขันวิ่งเทรลสุดโหดที่ถือเป็นหลักชัยในใจของนักกีฬาหลายชีวิต

ที่เส้นชัย ธงชาติไทยผืนใหญ่ถูกคลี่ออกมากางเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์การแข่งขันพร้อมนักกีฬาทั้งสามจากทีมทรูเซาท์ เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, แอลวิน-สุภัทร บุญเจือ และคนสุดท้ายซึ่งเป็นสมาชิกผู้หญิงเพียงคนเดียวในกลุ่ม ซึง-สว่างจิต แซ่โง้ว

กล่าวอย่างย่นย่อสำหรับ PTL-UTMB คืองานใหญ่ของนักกีฬาวิ่งเทรล (Trail Running -หมายถึงการวิ่งกึ่งปีนเขาในพื้นที่ธรรมชาติเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร) กับระยะทาง 302.9 กิโลเมตรผ่านสามประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี โดยต้องวิ่งให้จบภายในระยะเวลาที่ผู้จัดงานกำหนดคือ 152 ชั่วโมงกับอีก 30 นาที และสำหรับทีมทรูเซาท์ของธนาธร นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาทั้งสามได้เผชิญหน้ากับ ‘โอลิมปิกแห่งวงการเทรล’ เพราะพวกเขาเคยลงแข่งมาแล้วเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา หากแต่วิ่งไปได้ด้วยระยะ 121.23 กิโลเมตรก็ถูกตัดออกจากการแข่งขันด้วยเรื่องเวลาเป็นสำคัญ

หวนลงสังเวียนครั้งที่สอง พวกเขาประกาศศักดาคว้าชัยชนะจนกลายเป็นทีมไทยทีมแรกในประวัติศาสตร์ของสนามนี้

101 มีโอกาสสนทนากับซึง-สว่างจิต นักกีฬาผู้เป็นหญิงสาวเพียงหนึ่งเดียวของทีม สำหรับคนที่ออกวิ่งอยู่บ้างอย่างผู้เขียน และกับคนที่เตรียมจะลงแข่งฮาล์ฟมาราธอนช่วงปลายปีอย่างช่างภาพทั้งสอง นาทีนี้ก็ไม่น่ามีการสัมภาษณ์ไหนที่น่าตื่นตาตื่นใจและสร้างพลังได้มากเท่าการสนทนากับเธอแล้ว ยิ่งเมื่อเราเลือกเปิดบทสนทนาถึงการวิ่งแข่งขันและฮาล์ฟมาราธอนของชายหนุ่มทั้งสองให้เธอฟัง จับสังเกตได้ไม่ยากว่าประกายตาของเธอฉายแววระยับอย่างคนหลงใหลในกีฬาเหล่านี้ 

และระยิบระยับในดวงตาของเธอก็ไม่ห่างหายไปเลยจากบทสนทนาตลอดหนึ่งชั่วโมงเต็มกับเรา 

คนแซวกันว่ารูปที่เข้าเส้นชัย คุณดูสดใสที่สุด เหนื่อยน้อยที่สุดเลย

เหนื่อยแหละแต่เราไม่ค่อยแสดงออก (หัวเราะ) ตอนนั้นดีใจที่ได้เข้าเส้นชัยเพราะเรานับถอยหลังมาตลอดเลยว่าเหลืออีกหกคืน ห้าคืน ก็จะถึงเส้นชัยแล้วนะ พอผ่านเข้าไปได้ก็รู้แล้วว่าจะได้นอนยาวๆ เสียที เนื่องจากตอนที่แข่งเราได้นอนแค่คืนละสองชั่วโมงเอง 

เอาจริงๆ ที่เราดูเหนื่อยน้อยที่สุดนั่นเพราะว่าเราใส่ชุดสีสว่างมั้ง อีกอย่างคือเพื่อนอีกสองคนไม่ทาครีมกันแดด พอถ่ายเทียบกันเราเลยดูได้เปรียบเขา

เห็นคุณธนาธรเขาโพสต์เล่าว่าระหว่างการแข่งขันมีการหลงทางเกิดขึ้นด้วย 

ผู้จัดงานเขาเปลี่ยนเส้นทางก่อนเข้า cut off (หมายถึงระยะเวลาสูงที่สุดที่แต่ละสนามอนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันยังอยู่ในสภาพแข่งขันได้โดยไม่ถูกตัดออก) สุดท้ายค่ะ ทางที่หลงไปเป็นเส้นทางเก่าซึ่งเรามีข้อความทาง GPS บอกมาว่าเปิดเส้นทางใหม่ให้ผู้เข้าแข่งขันวิ่งแล้ว แต่เส้นทางใหม่ไปทับเส้นทางเก่า ทีมเลยเข้าใจว่าเมื่อไปถึงทางแยกแล้วต้องลงมาที่จุดเช็คระยะ (check point) ก่อน ตอนนั้นจำได้เวลาเป็นเวลาสักประมาณหนึ่งหรือสองทุ่มนี่แหละ ทีมเราสามคนกำลังลงเขามากันแล้ว แต่แอลวินก็บอกว่ามันไม่น่าใช่นะครับ เพราะมันไม่มีคนเลย ตัวพี่เอกบอกว่าให้เรารอตรงนี้ก่อน เขาจะไปหาจุดเช็คระยะให้ แต่เราหยิบโทรศัพท์ออกมาโทรหาผู้จัดงานเลยเพื่อจะได้ไม่เสียเวลา ปรากฏผู้จัดงานบอกว่าเราไปอยู่เส้นทางเก่านะ ตอนนี้เราเปิดใช้เส้นทางใหม่ตามที่ได้ส่งข้อความไปบอกแล้ว เท่านั้นแหละ สรุปได้ว่าเส้นที่เราวิ่งลงมานั้นมีความชันสะสม (gain) 1,500 และแปลว่าเวลาเราหายไปเกือบห้าชั่วโมง นับตั้งแต่ตอนวิ่งลงมาและต้องวิ่งขึ้นกลับไปยังเส้นทางใหม่

ตอนนั้นทีมเราสามคนก็บอกกันว่า ไม่เป็นไรหรอก ความชันแค่ 1,500 เอง แต่ในใจนักวิ่งน่ะรู้อยู่แล้วว่าเวลาเราหายไปแล้วเกือบห้าชั่วโมง วิ่งทั้งคืน แบกเป้หนักเจ็ดกิโลกรัม สรุปคืนนั้นเรานอนกันได้คนละ 45 นาทีเอง

เรื่องตลกคือ เราออกมาจากจุด cut off ตอนตีสาม ซึ่งเขาจะเช็คเวลาที่เราออกจากกระท่อมที่พักบนเขา ตอนนั้นเราตั้งนาฬิกาปลุกกันที่ 02.45 นาฬิกา พนักงานก็มาปลุกบอกว่าให้เราเตรียมตัวไปได้แล้ว เราก็ตื่นตรงเวลา แต่งตัวเสร็จประมาณ 02.55 นาฬิกา พี่เอกยังนอนอยู่บนม้านั่งอยู่เลย คือเขามีเตียงให้นะ แต่ด้วยเวลาแล้วคำนวณกันว่ากว่าจะไปขึ้นเตียงอะไรเสร็จ นอนบนม้านั่งในห้องอาหารนั่นแหละ ต่างคนต่างไปนอนกันคนละมุม ปรากฏว่าจะตีสามแล้วพี่เอกก็ยังไม่ตื่น พนักงานไปปลุกก็ไม่ตื่น จนเขาต้องมาบอกเราว่าให้ไปปลุกเขาหน่อย เราก็เข้าใจแหละว่าคนมันง่วงนอน (หัวเราะ) เราเลยหันไปมองหน้าแอลวินที่ถือ GPS อยู่แล้วให้เขาออกไปรอนอกกระท่อมตอนตีสาม รอหนาวๆ อยู่บนเขานั่นแหละ แล้วเราก็รอพี่เอกอีกสิบนาทีกว่าเขาจะใส่รองเท้า ใส่หมวก แต่งตัวพร้อมออกเดินทาง

ทีนี้ เมื่อออกจากที่พักแล้วตามเส้นทางคือต้องหักขวาเลี้ยวไปทางด้านหลังกระท่อมเลย ดังนั้นถ้าเราไม่รอพี่เอกตรงทางออก เขาก็จะไม่รู้ว่าต้องไปไหนต่อ ต้องมาเสียเวลาเปิด GPS เราเลยรอตรงทางออกจากที่พัก ให้แอลวินไปรอตรงจุดที่เริ่มออกเดินทางซึ่งอยู่หลังกระท่อม แล้วเราจึงออกเดินทางกัน ฉิวเฉียดมากเลย

เข้าใจว่าธนาธรชวนคุณมาร่วมทีมทรูเซาท์เมื่อสองสามปีก่อน แล้วก็หายไปเล่นการเมืองเลย ตอนนั้นโกรธไหมที่อยู่ๆ เขาก็หยุดทีมไป

ไม่เลย เพราะเราก็ยังแข่งไตรกีฬา แข่งวิ่งเทรลของตัวเองไป ต่างคนต่างใช้ชีวิตของตัวเอง พอเข้าการเมืองเขาก็พักทีมทรูเซาท์ไปก่อน คือใช้คำว่าพัก เพราะยังไม่ได้เลิก แล้วพอเขาหายไปทำการเมืองมาสองปี กลับมาแรกๆ เขาช้าเลย ไม่ฟิตเลย ร่างกายยังไม่ฟื้น เหมือนหัดเริ่มวิ่งใหม่ 

ส่วนการกลับมารวมทีมกันอีกรอบในครั้งนี้คือ ปีที่แล้วเราแข่ง Thailand by UTMB พอไปออกตัวก็เจอแอลวินตรงจุดสตาร์ตพอดี เลยทักทายกันตามปกติ แล้วเขาก็บอกว่า “เดี๋ยวปีนี้ผมไป PTL นะครับ” เราก็ถามแอลวินว่าไปกับทีมใหม่เหรอ ปรากฏแอลวินบอกทีมเดิมสิครับพี่ (หัวเราะ) แล้วแตรออกตัวดังพอดี เราเลยวิ่งออกตัวไปพลาง ถามแอลวินไปพลางว่าอะไรนะแอล วิ่งกับทีมเดิมเหรอ ไม่เห็นมีใครมาบอก แล้วจนวิ่งจบเรายังไปถามแอลวินเลยว่านี่พูดจริงหรือพูดเล่น แอลวินบอกว่าพูดจริงสิ คือก่อนนี้พวกทรูเซาท์เขานัดคุยกันแล้วแต่เราติดงาน ไม่ได้ไป เลยไม่รู้เรื่อง 

สักพักทีมก็เรียกประชุม งานแรกที่วิ่งคืออัลตราเทรลเกาะช้าง เราถามพี่เอกว่าพี่ซ้อมบ้างไหมคะเนี่ย เขาก็บอก (ทำเสียงเข้ม) “ซ้อมทุกวันครับคุณซึง” เรายังงงเลยว่าเอาเวลาที่ไหนไปซ้อม เขาก็บอกว่าถ้าวันไหนประชุมเช้าก็ไปวิ่งตอนดึก หรือถ้าวันไหนประชุมบ่ายก็จะตื่นเช้ามาวิ่ง ปรากฏว่างานที่เกาะช้างนี่พี่เอกเร็วมาก เราตามแทบไม่ทันเลย เหนื่อย แอลวินต้องดันหลังเราขึ้นเขา ทุลักทุเลมาก เราเลยบอกว่าเดี๋ยวงานหน้าจะเอาใหม่ละนะ (หัวเราะ)

เคยคุยกันไหมว่าทำไมจึงต้องเป็นสามคนนี้ เอก-ซึง-แอลวิน

พี่เอกกับแอลวินเขาเป็นบัดดี้ขึ้นเขาด้วยกันอยู่แล้ว ทีนี้พี่เอกอยากได้ผู้หญิงที่วิ่งจบรายการสักคนหนึ่ง แล้วในกลุ่มทรูเซาท์มีผู้หญิงอยู่ไม่กี่คน แต่ไม่แน่ใจว่าทำไมเลือกเรา (ยิ้ม)

สไตล์การวิ่งของเราสามคนไม่เหมือนกันนะ สำหรับเราเองถ้าเป็นการวิ่งขาขึ้นเราถนัด power walk (หมายถึงการเดินในจังหวะที่เร็วกว่าปกติ) ส่วนขาลงถ้าวิ่งได้เราก็วิ่งเลย เราชอบการวิ่งลงเขา ทางราบเราก็จ็อกกิ้ง อันนี้จะคล้ายๆ แอลวิน แต่พี่เอกชอบวิ่งขึ้นเขามาก อัดอย่างเดียวเลย การจะเกาะเขาให้ทันนี่ทั้งเราทั้งแอลวินหอบเลย เพราะพี่เอกถนัดการเดินขึ้นเขามาก ขึ้นเร็ว อัดเร็ว เรากับแอลวินเลยต้องมาฝึกการขึ้นเขาเพิ่มเพื่อให้เข้ากับเขา ส่วนทางลงพี่เอกเหมือนเดินลงมาเร็วๆ มากกว่าเพราะกลัวเจ็บ เนื่องจากว่าการเกิดอุบัติเหตุ ล้มหรือบาดเจ็บมักเกิดขึ้นตอนขาลง ไม่ใช่ขาขึ้น มันอันตราย ดังนั้นคนที่จะลงมาได้เร็วๆ จึงมักต้องสลัดความกลัวออกไปก่อน 

ดังนั้นเรากับแอลวินก็ต้องปรับตัวด้วยการฝึกให้ขึ้นเขาเร็วขึ้น ส่วนพี่เอกก็ไปซ้อมวิ่งลง เลยไปด้วยกันได้

เห็นว่าซ้อมกันปีกว่าจึงจะกลับมาลงแข่งแก้มือในงานนี้ได้หลังจากที่วิ่งไม่จบเมื่อปีก่อน ซ้อมอะไรกันบ้าง

มีไปซ้อม 24 ชั่วโมงที่เขาฉลาก (ชลบุรี) ไม่นอนเลย ทีมอื่นซ้อมกันบอกว่าลงเขาแล้วไปกินหมูกระทะต่างๆ แต่ทีมเราไม่มีเลย ไปซ้อมต่ออยู่เรื่อยๆ สปิริตทีมดีมาก

แล้วอีกงานหนึ่งคืองาน Eiger Ultra Trail อันนี้โหดจริง คือไปแข่งแล้วติดโควิดกัน ก่อนนั้น เราต้องนั่งกระเช้าขึ้นเขาไปที่สูงซึ่งอากาศน้อยมาก หายใจแทบไม่ออก นอนหลับๆ ตื่นๆ ทั้งคืน ตื่นมาก็มึนหัวจะอ้วกเพราะเรานั่งกระเช้ากันขึ้นมาเร็วมาก ร่างกายยังปรับไม่ทัน แล้วการซ้อมมันโหดมาก เป้ก็หนักแต่ดีที่มันแค่วันเดียวเท่านั้น 

จำได้ว่าวันนั้นพี่เอกบอกว่า วันนี้ขอสปีดสามนะครับ ถ้าต่ำกว่าสามให้พิจารณาตัวเอง ปรากฏว่าเรามีรอบเดือนด้วย อยู่ๆ มันก็มาเลย เราเลยกระโจนเข้าก้อนหิน เข้ากองหญ้าเพื่อจัดการตัวเอง โชคดีว่าเราเป็นคนไม่ปวดท้องเวลามีรอบเดือน หรืออาจจะมีแค่อาการหน่วงๆ ซึ่งชินแล้ว และเราใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นประจำอยู่แล้ว มันเลยชิน

อีกอย่างคือเราเอาประสบการณ์ที่เราได้จากการลงแข่งปีที่แล้วมาเป็นบทเรียนด้วยล่ะ ปีที่แล้วโชคไม่ดี เขายอดแรกเราก็เจอหิมะแล้ว ทีนี้ตอนนั้นเรายังแต่งตัวไม่เร็ว เราไม่รู้ว่าถ้าต้องเจอหิมะต้องแต่งตัวยังไง เป้ก็ใหม่หมด เสื้อผ้าก็เยอะแยะและไม่รู้ว่าแต่ละชนิดมันต่างกันอย่างไร รู้แค่ว่ามันกันหนาว เราเลยลอกการแต่งตัวของคนอื่น เขาหยิบอะไรมาใส่ก็ใส่ด้วย แต่ก็ยังช้าสุดอยู่ดี กว่าจะหาเสื้อในเป้เจอ ซึ่งเป้ก็ใบใหญ่เหลือเกิน กว่าจะแต่งตัวได้ เราใส่ไม่คล่องเหมือนพวกเขา โชคดีที่ปีนี้ฝนตกแค่ 2-3 ชั่วโมงเอง แค่หยิบแจ็กเก็ตกันฝนมาคลุมไว้หน่อยแล้วเดินลุยกันต่อ 

มีอุปสรรคทางร่างกายอะไรอีกไหม 

ในการแข่ง PTL-UTMB นี่เราไม่ค่อยเป็นอะไรนะคะ แต่ของพี่เอกนี่กางเกงในบาด ทีนี้อาการต่างๆ มันขึ้นอยู่กับแต่ละคนมาก อย่างพี่เอกนี่โดนกางเกงในบาดทุกแมตช์เลยมั้ง ส่วนของแอลวินมีแผลพุพองที่เท้านิดหน่อย ส่วนเราเองไม่เคยเป็นแผลพุพองมาก่อน พอแผลมันแตกเราก็ไม่รู้เรื่องเพราะเท้าชาไปหมด 

อันที่จริงแอลวินนี่หนักพอสมควร คือเขาเจ็บข้อเท้าซ้าย เนื่องจากก่อนวันแข่งไปขึ้นยอดซ้อมสุดท้ายเพื่อปรับร่างกายก่อนแข่งกัน ทีนี้เรื่องมันเกิดตอนช่วงขาลงนี่แหละ เข้าใจว่าร่างกายคงแบกรับเยอะกว่า ขนาดเราเองที่ถนัดทางลงเขายังรู้สึกช้ำๆ เลยเพราะพื้นมันแข็ง แล้วแอลวินแบกของหนักกว่าเราอีก เราเลยทักเขาไปว่าแอลไม่เจ็บเท้าเลยเหรอ เขาบอกว่าไม่เป็นอะไรครับ คือวันลงน่ะไม่เป็นอะไรหรอก แต่เข้าวันรุ่งขึ้นนี่บวมเป็นลูกมะนาวเลย 

ดังนั้น รวมๆ แล้วในกลุ่ม เทียบกันกับพี่เอกที่กางเกงในบาด เป็นแผลพุพองที่เท้า และแอลวินที่ข้อเท้าบวม เราน่าจะมีอาการต่างๆ น้อยที่สุดแล้ว เรามีแผลพุพองอยู่สามจุดเท่านั้น ไม่ค่อยรู้สึกอะไร

ในหกวันนี่คิดว่าวันไหนหนักที่สุด

วันที่สอง (ตอบเร็ว) เพราะว่าทางมันโหดมาก มันเป็นหินล้วนเลยค่ะ ไหนจะแบกเป้อีก เดินหนึ่งชั่วโมงได้แค่หนึ่งกิโลเมตรเอง พี่เอกกับแอลวินล้มเข่าแตก อีกจุดหนึ่งแอลวินล้มศอกแตก แต่ความว่าในทีมเราแบกเอาอุปกรณ์ส่วนตัวไป ไม่รวมอาหารกับน้ำดื่มก็หนัก 5.8 กิโลกรัมแล้ว ส่วนอุปกรณ์ทีมก็ได้พี่เอกกับแอลวินสลับกันถือ ส่วนเราเลือกถืออุปกรณ์ปฐมพยาบาล 

พอพ้นจากวันนี้ไปก็คิดแล้วว่าวันอื่นๆ สบายแล้ว

แล้วการแข่งขันนี้มันเหมือนการปีนเขากว่าวิ่งเทรลอีก ปีนทั้งวันโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ต้องถือโพล (ไม้ค้ำ) สองมือตลอด คือแรกๆ ที่ขึ้นเขายังพอมีต้นไม้ พอสูงหน่อยก็เหลือแต่หญ้า สูงไปอีกหน่อยเป็นก้อนหินที่ต้องปีนขึ้นไปแล้ว ซึ่งพอถึงเวลาลงมันจะยาก วิ่งลงไม่ได้ เรายังไปคุยกับพวกผู้จัดงานวิ่งในไทยเลยว่าเผื่อปีหน้ามีคนไทยอยากไป PTL เดี๋ยวเราจะเก็บข้อมูลมาให้ ถ่ายเป็นภาพ เป็นวิดีโอ เพราะของอย่างนี้มีแค่นักวิ่งที่จะเห็นเส้นทาง ที่แม้จะเปลี่ยนทุกปีแต่เส้นทางมันก็ไม่เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมมาก

เป้ที่แบกกันไปนี่บรรจุข้าวของอะไรบ้าง 

นอกจากเสื้อผ้า สิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการแข่งขัน ก็มีพวกอุปกรณ์ที่ทางผู้จัดงานไม่บังคับ เราจะพกหรือไม่พกก็ได้คือจำพวกเตาเล็กๆ ทีมเราก็พกเตาขนาดเล็กกับกาพับสำหรับต้มน้ำและหัวแก๊สไป ตอนแรกแอลวินแบก แต่เมื่อเขาเจ็บข้อเท้าเลยต้องแบ่งกันถือ พี่เอกเลยแบกเตาซาลาเปา แอลวินแบกหัวแก๊ส เราแบกกาต้มน้ำ

ที่ปีนี้เราเลือกทำอาหารระหว่างทางเพราะบทเรียนจากปีที่แล้วนี่แหละ คือปีที่แล้วเราวิ่งกันไม่จบเพราะคิดว่าเมื่อไปถึงกระท่อมที่พักเขาจะมีอาหารหรือน้ำขาย แต่ปรากฏว่าเข้าไปเจอแค่ห้องน้ำสองห้องกับม้านั่ง ใช้หลบฝน หลบหนาว ไม่มีอาหารเลย ดังนั้นรอบนี้เราเลยพกมาม่า โจ๊ก ส่วนของพี่เอกกับแอลวินเป็นข้าว สปาเก็ตตี้ คือเอาแค่ว่ามีกินกันก็พอ

ระหว่างนอนไม่พอกับหิว อะไรแย่กว่ากัน

พอกันเลย นอนไม่พอมันทำให้เราเห็นภาพหลอนในคืนที่สาม แอลวินก็เห็น คือเดินๆ อยู่แอลวินหันมาถามว่า พี่ซึงครับ เห็นคนคุยกันไหมครับ เราก็บอกไปว่าโอ๊ย นึกว่าเห็นคนเดียว (หัวเราะ) มันหลอนมาก ร่างกายอ่อนเพลีย ต้องการนอนมาก ง่วงที่สุดเลย ใครที่ไม่เคยวิ่งอัลตรามาราธอน (ultramarathon -หมายถึงการวิ่งด้วยระยะทางมากกว่า 42.195 กิโลเมตร) จะไม่รู้ ถ้าลองได้วิ่งอัลตราจะพบว่านี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ ปรากฏว่าที่เราเห็นเป็นคนคุยกันนั้นเป็นบ้านธรรมดา ที่หน้าบ้านเขาปลูกต้นไม้ดอกไม้ซึ่งเราเห็นเป็นคน พอเดินเข้าไปใกล้ๆ ตาก็ค่อยๆ ละลายภาพกลับมาให้รู้ว่าเป็นต้นไม้ดอกไม้

ปีที่แล้วก็เป็น เราขาดอาหาร นอนไม่พอ เห็นหินก้อนใหญ่ๆ เป็นบ้าน หรือไม่ก็เห็นต้นไม้เป็นทีมผู้จัดงานวิ่ง หรือพวกหินก้อนเล็กๆ เราก็เห็นเป็นสัตว์หมดเลย ปีนี้หลอนน้อยกว่าหน่อย

ดูเป็นกีฬาที่ใช้ความเป็นทีมสูงมาก ทำยังไงไม่ให้ทะเลาะกัน

พอเหนื่อยก็ไม่ค่อยคุยกันอยู่แล้วนะ ขึ้นเขาทีนึงก็ใช้ปากหายใจแล้วเพราะหายใจไม่ทัน (หัวเราะ)

มีครั้งหนึ่งที่แอลวินเหนื่อย บอกเลยว่าผมไม่ไหวครับ ก็ไปหาที่นอนซึ่งก็เป็นพื้นหน้าตาดูเหมือนเป็นหลุมหน่อย ปกติถ้าอยู่บนเขาเราจะนอนบนต้นไม้ แต่จุดที่แอลวินง่วงก็เลยตรงต้นไม้ไปแล้ว เลยนอนตรงหญ้าหนาวๆ เนื่องจากไม่มีที่บังลม เขาก็นอนคนเดียว พี่เอกไม่ง่วงก็นั่งดูดาวอะไรของแกไป เราเป็นคนจับเวลาเองว่าควรนอนกี่นาที 

โดยทั่วไปแล้วทีมจะตกลงว่าจะนอนหรือจะไปเมื่อไหร่ เราตามทีมอย่างเดียว เพื่อนนอนตรงไหนเรานอนได้หมด คนนำทีมทั้งสองคนเขาจะคุยกันเอง คนที่นำทางหลักคือแอลวิน สลับกับพี่เอก เว้นเสียแต่ว่าสองคนนั้นง่วงจริงๆ ถึงจะเป็นเรานำทีม 

ที่สำคัญคือเราชอบที่ทีมไม่มียอมแพ้กันเลย สองคนนั้นเขามุ่งมั่นมาก เราเองก็เป็นเช่นนั้นจึงอยู่ด้วยกันได้ 

มองบทบาทในฐานะผู้ซัพพอร์ตของตัวเองยังไง

ตามทีมให้ทัน (ตอบเร็ว) พอเราเป็นคนตาม เราจะเห็นว่าทางเดินที่สองคนข้างหน้าเขาเจอมามันเป็นยังไง ถ้าสองคนนั้นเดินแยกกันเราก็ดูว่าทางไหนดูง่ายกว่า แล้วเลือกทางนั้น หรือถ้าเห็นเขาสะดุด เราก็จะรู้ว่าตรงนี้ต้องระวัง

มีครั้งหนึ่ง เราต้องผ่านทางน้ำตกกัน พี่เอกเขาไปทางหนึ่งแล้วดูเดินทุลักทุเลมาก เราก็คิดแล้วว่าทางคงยาก แอลวินเดินขึ้นไปข้ามน้ำตกที่น้ำไหลแรงมาก สักพักหันมาบอกเราว่าก็ไม่ได้เดินง่ายนะครับ (หัวเราะ) ทางนั้นก็ยาก ทางนี้ก็ยาก แต่ว่าทีมเขาเดินไปแล้วเราก็ต้องตามไป สุดท้ายเราเลือกเท้าเปียกตามแอลวิน 

ช่วงที่เหนื่อยจัด เหนื่อยมากๆ คุยอะไรกับตัวเอง ฟังเสียงร่างกายตัวเองยังไง

ไปต่อ ถ้าเพื่อนไปเราก็ต้องไป ก้มตามองพื้นแล้วไปเรื่อยๆ บอกตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็ถึงน่า หรือเวลาที่ต้องขึ้นเขาซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด เพื่อนก็เคยปลอบใจเราว่าแรกๆ ก็ทนเอาหน่อยนะ จากนั้นมันก็ทางลงแล้ว ไว้ไปสนุกกับทางลงแล้วกัน (ยิ้ม) แต่ด้วยความเร็วที่ซ้อมมา เราเกาะ ตามเพื่อนทันอยู่แล้ว 

กับอีกอย่างคือในสามคนนี้ ร่างกายเราไม่ค่อยเป็นอะไรเท่าไหร่ มีแค่แผลพุพองไม่กี่จุดที่เท่า ดังนั้นเมื่อเพื่อนพร้อมออกเดินทางแล้ว เราก็ไม่มีเหตุผลอะไรจะไม่ไปตามพวกเขา

ถึงที่สุด มันคือการทุ่มซ้อมทั้งปีเพื่อแลกกับการแข่งขันหนึ่งแมตช์ในเวลาหกวัน ถือว่าคุ้มไหม

(คิด) ตัวพี่เอกเขาอยากไป แล้วไม่เคยมีทีมไทยจบ ที่ผ่านมาเราก็ตั้งใจว่าจะจบให้ได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่าสนามมันเป็นแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะปีนเยอะขนาดนี้ ไหนจะสภาพอากาศหรืออาหารต่างๆ เราเลยได้บทเรียนจากปีที่แล้วมาแก้ไขในปีนี้ เพื่อจะเอาธงชาติไทยมาตรงเส้นชัยเป็นเป้าหมายเดียว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save