
‘ความน่าจะอ่าน’ กิจกรรมที่ทีมงาน 101 ชวนตัวแทนคนในแวดวงหนังสือ และนักอ่านมาร่วมกันคัดเลือกหนังสือน่าอ่านแห่งปี
จากคร้ังแรก ‘ความน่าจะอ่าน 2016’ และครั้งที่สอง ‘ความน่าจะอ่าน 2017’ เราชวนตัวแทนนักเขียน-บรรณาธิการ 5 คน คือโตมร ศุขปรีชา ทีปกร วุฒิพิทยามงคล นิวัต พุทธประสาท สฤณี อาชวานันทกุล และทราย เจริญปุระ มานั่งจับเข่าคุยเรื่องหนังสืออย่างออกรส ใครชอบเล่มไหน ใครเชียร์เล่มไหน เอามากางลงบนโต๊ะ อธิบาย ถกเถียง จนได้เล่มที่ดีที่สุดออกมาจำนวนหนึ่ง สองครั้งแรกเราวางคอนเซ็ปต์ว่า – นี่คือการแนะนำหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจ’ ที่สุด
ครั้งที่สาม ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019’ เราขยายขอบเขตการเลือกหนังสือให้อยู่ในมือคนจำนวนมากขึ้น โดยชวนเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบ กว่า 50 คน มาร่วมเลือกหนังสือ 3 เล่มที่คิดว่าน่าอ่านที่สุดในปี 2019 ในครั้งนั้นเรามีสโลแกนว่า ‘การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าการเลือกนายก!’
ครั้งที่สี่ ‘ความน่าจะอ่าน 2020’ นอกจากเราชวนคนในแวดวงหนังสือมาร่วมคัดเลือกหนังสือน่าอ่านที่สุดเหมือนเช่นที่ผ่านมาแล้ว ในครั้งนี้เรายังเพิ่มรางวัล ‘ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน’ ให้นักอ่านร่วมเลือกหนังสือที่คิดว่าน่าอ่านที่สุดแห่งปีอีกด้วย ในครั้งที่สี่เราใช้ธีมกิจกรรมว่า ‘อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส’ เพื่อสะท้อนสภาพสังคมไทยที่เผชิญกับทั้งวิกฤตการเมือง การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และการเข้ามาของโรคระบาด
และครั้งที่ห้า ‘ความน่าจะอ่าน 2021’ ครั้งล่าสุด เรายังชวนเหล่าบรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 ชีวิต มาเลือกหนังสือที่คิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุด และยังชวนนักอ่านมาร่วมกันเลือก ‘ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน’ เช่นเดิม ในครั้งนี้ เรามาในสโลแกน ‘อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!’
นอกจากกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน’ ที่เราชวนตัวแทนคนในแวดวงหนังสือ และนักอ่านมาร่วมกันคัดเลือกหนังสือน่าอ่านแห่งปีแล้ว เรายังมีกิจกรรมคู่ขนานที่ชวนคอลัมนิสต์ 101 มาชวนอ่านหนังสือรับต้นปี และแนะนำหนังสือตามธีมต่างๆ อีกด้วย
หากการอ่าน คือการเข้าไปทำความรู้จักโลกอีกใบที่เราไม่รู้จัก เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จัก ‘ความน่าจะอ่าน’ ในมากขึ้นตั้งแต่บรรทัดนับจากนี้







Share: