fbpx

ความน่าจะอ่าน 2022 : The Finalists (ตอนที่ 1)

จากปี 2020 อันแสนสาหัส และปี 2021 ที่แสนสาหัสยิ่งกว่า

สู่ปี 2022 ที่สานต่อความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทั้งสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่สั่นสะเทือนถึงระดับโลก ภาวะของแพงค่าแรงต่ำที่ระยะหลังเริ่มจะแพงจนค่าแรงระดับชนชั้นกลางยังสะอึก โควิด ฝีดาษลิง และอีกสารพัดข่าวไวรัสตัวใหม่ที่ชวนให้ใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะรุนแรงระบาดหนักแค่ไหน

แต่ในสถานการณ์กัดกร่อนหัวจิตหัวใจไม่เว้นวัน หนึ่งในสิ่งที่เราเชื่อว่าจะช่วยสร้างความหวัง นั่นคือ ‘การอ่าน’ 

‘ความน่าจะอ่าน’ ในปีที่หก เราจึงกลับมารวมพลังมิตรภาพ สานต่อวงจรแบ่งปันความรู้ ความสนุก และความหวัง ร่วมกับบรรดาสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบ กว่า 50 คน คัดเลือกหนังสือน่าอ่านที่สุดจนได้รายชื่อมากว่า 100 เล่ม ผสมผสานกันทั้งการเมือง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา นวนิยายและการ์ตูน

นับจากนี้เป็นต้นไป ขอเชิญพบกับรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 1 จาก 16 คนในแวดวงหนังสือ ซึ่งเสนอกันเข้ามาพร้อมเหตุผลว่าทำไมเรา ‘น่าจะอ่าน’ เล่มนี้

ดูรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 2 ได้ ที่นี่

ดูรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 3 ได้ ที่นี่



พิพัฒน์ พสุธารชาติ

สำนักพิมพ์ Illuminations Editions


เล่มที่แนะนำ :

1. การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ.2475-2540)

ผู้เขียน : ภูริ ฟูวงศ์เจริญ

สำนักพิมพ์ :  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

“เป็นตำราพื้นฐานในระดับปริญญาตรีที่ใช้ในการสอนวิชา ‘การเมืองการปกครองไทย’ (ร.321) ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนใช้ภาษาที่อ่านง่าย โดยจงใจหลีกเลี่ยงคำศัพท์ทางวิชาการ และใช้แนวพินิจทางประวัติศาสตร์ (Historical approach) ในการเขียน ทำให้เนื้อหาในแต่ละบทมีลักษณะของการเล่าเรื่องที่มีความลื่นไหล ชวนติดตาม ประกอบกับการใช้ภาพประกอบจำนวนมากที่จัดวางได้อย่างสวยงามตลอดทั้งเล่ม ซึ่งต้องยกนิ้วให้กับคนหาภาพ และคนจัดหน้า ทำให้คนอ่านไม่รู้สึกว่ากำลังอ่านตำราเรียน ทั้งๆ ที่หนังสือเล่มนี้มีความหนาถึงหกร้อยกว่าหน้า และยังมีการใช้หลักฐานชั้นต้นจากหลายแหล่งทั้งในประเทศและนอกประเทศ (ส่วนการตีความหลักฐานในประเด็นต่างๆ เป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงกันได้) คนที่ชอบอ่านงานด้านการเมืองการปกครองของไทย สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างเพลิดเพลิน และอาจได้มุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน”



2. Anthropocence: บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน

ผู้เขียน : เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และคณะ

สำนักพิมพ์ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“เป็นหนังสือรวมบทความ ที่มีเก่งกิจ กิติเรียงลาภ เป็นบรรณาธิการ จัดทำขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘มนุษยสมัย’ ที่แปลอย่างสละสลวยจาก ‘Anthropocence’ มีนักวิชาการหลายสาขา เช่น โบราณคดี ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี รัฐศาสตร์ และมานุษยวิทยา มาร่วมกันเขียนบทความต่างๆ ทำให้ได้มุมมองที่หลากหลาย และยังมีการวิพากษ์แนวคิด ‘มนุษยสมัย’ เองอีกด้วย หนังสือประกอบด้วยบทความจำนวน 7 บทความ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต นับเป็นหนังสือที่เปิดหูเปิดตาผู้อ่านที่สนใจปัญหาเรื่องวิกฤตของสิ่งแวดล้อมในปัจุบันได้ดีมาก”



3. เขียนจีนให้เป็นไทย ตัวตน “ไทย-จีน” ที่เพิ่งสร้างกับการเมือง/การทูตวิชาการ ในสังคมศาสตร์สงครามเย็น

ผู้เขียน : สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

สำนักพิมพ์ : ศิลปวัฒนธรรม

“เป็นหนังสือที่มีฐานมาจากดุษฎีนิพนธ์ (ว.พ.ระดับปริญญาเอก) ของผู้เขียน หนังสือเล่มนี้น่าจะอ่านคู่กับ ‘เขียนชนบทให้เป็นชาติ: กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น’ ของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ของสำนักพิมพ์มติชน จะเป็นการต่อ jigsaw เรื่องการผลิตความรู้ทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับประเทศไทยในช่วงสงครามเย็นได้เป็นอย่างดี หนังสือของสิทธิเทพเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การสร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์เรื่องคนจีนในประเทศไทย ว่าไม่ได้เป็นความรู้ที่มีความเป็นภววิสัย แต่เจือปนไปด้วยอคติหรือ agenda ทางการเมืองของผู้ศึกษาในช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมจีนในประเทศไทย งานชิ้นสำคัญของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ นักสังคมศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่เน้นแนวคิดเรื่องการกลืนกลายของคนจีนในประเทศไทย จนกลายเป็นทฤษฎีหลักที่นักวิชาการส่วนใหญ่ในรุ่นต่อๆ มา พากันสมาทานโดยไม่มีการตั้งคำถาม จุดเด่นของ ‘เขียนจีนให้เป็นไทยฯ’ อีกประการ คือการที่ผู้เขียนใช้ข้อมูลหลักฐาน 3 ภาษาจากแหล่งข้อมูลในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และจีน ทำให้สามารถสร้างข้อถกเถียงและเสนอข้อมูลใหม่ที่แตกต่างจากงานศึกษาเกี่ยวกับคนจีนในประเทศไทยชิ้นอื่นๆ ที่ผ่านมา”



ธนาพล อิ๋วสกุล

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน


เล่มที่แนะนำ :



1. สงครามเย็น: ความรู้ฉบับพกพา

The Cold War: A Very Short Introduction

ผู้เขียน : Robert J. McMahon

ผู้แปล : ศิวพล ชมภูพันธุ์

สำนักพิมพ์ : Bookscape

“ผู้เขียนมีความสนใจเรื่องสงครามเย็นเป็นการส่วนตัวมานานแล้ว เมื่อเห็นหนังสือ ‘สงครามเย็น: ความรู้ฉบับพกพา’ ที่จัดพิมพ์โดย Bookscape จึงอดไม่ได้ที่จะเปิดอ่าน  หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้มีความน่าสนใจคือการรวบประเด็นว่าด้วยสงครามเย็นในฐานะความขัดแย้งของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ไม่ทราบว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ ผู้เขียนคิดว่าในห้วงเวลา 1945-1990 ถ้าคนรุ่นหลังมองย้อนกลับไป อาจจะมองด้วยสายตาที่แปลกใจไม่ได้ว่าเรากำลังขัดแย้งอะไรกันอยู่ถึงได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 20 ล้านคน เพราะถึงที่สุดแล้วอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบฉบับของสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายลงในเวลาไม่ถึงกึ่งศตวรรษ”



2.ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ: Indian Summer

ผู้เขียน : Alex Von Tunzelmann

ผู้แปล : สุภัตรา ภูมิประภาส

สำนักพิมพ์ : ยิปซี

“หนังสือเล่มนี้ค้นคว้ามาจากเอกสารชั้นต้นรวมทั้งบทสัมภาษณ์ของบุคคลร่วมสมัยไม่น้อย ถึงแม้จะอยู่ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง 1 หญิง 2 ชาย คือ หญิง ชาย ตัวแทนของจักรวรรดิที่ตะวันตกดินเช่นอังกฤษ กับ ชายตัวแทนของประเทศอาณานิคม อินเดีย แต่ความสนใจของผู้เขียนกลับมองไปที่ชายหนุ่มอีกคนหนึ่งในฐานะผู้นำในการก่อตั้งประเทศปากีสถานนามว่าโมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ภาพความสยดสยองของสงครามระหว่างเชื้อชาติ ศาสนากลายเป็นความโหดร้ายที่น้อยคนจะถูกบันทึกให้เห็นบาดแผลที่ทิ้งไว้โดยเจ้าอาณานิคม”



3. จนกว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ผู้เขียน : ปิยบุตร แสงกนกกุล

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิคณะก้าวหน้า

“ไม่ต้องสงสัยเลยในฐานะบทบาทนักกฎหมายของปิยบุตร  แสงกนกกุล ตั้งแต่ยังเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ ถึงความหนักแน่นในวิชาการและจุดยืนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่ในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ หลายคนตั้งคำถามกับปิยบุตรว่ายังคงรักษาจุดยืนในฐานะนักวิชาการที่เปลี่ยนมาทำงานการเมืองได้หรือ ไม่แน่นอนว่ามันมีช่วงลองผิดลองถูก แต่ในฐานะผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ที่เป็นภาคต่อจากหนังสือ ‘การเมืองแห่งความหวัง’ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการทำงานการเมืองของปิยบุตรได้เป็นอย่างดี แม้ใครจะบอกว่าการทำงานการเมืองไม่อาจจะพูดได้อย่างนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ในข้อเขียนหลายชิ้นในหนังสือเล่มนี้ปิยบุตร แสงกนกกุล จะบอกว่าไม่เสมอไป และบางครั้งก็อาจจะมากไปกว่าเมื่อครั้งเป็นนักวิชาการด้วย”



ภาคย์ มหิธิธรรมธร

สำนักพิมพ์ฮัมมิ่งบุ๊คส์


เล่มที่แนะนำ :



1. คดีฆาตกรรมในคฤหาสน์แมวดำ

ผู้เขียน : Yukito Ayatsuji

ผู้แปล : ฉวีวงศ์ อัศวเสนา

สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์

“ตอนที่เริ่มอ่านเล่มนี้แอบเดาจุดหักมุมของเรื่องเอาไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งก็เดาถูก และคิดว่าทำไมง่ายจัง โดยหารู้ไม่ว่าผู้เขียนได้ซ่อนจุดหักมุมครั้งใหญ่เอาไว้อีกอันและได้พยายามบอกใบ้อยู่หลายต่อหลายครั้ง (แต่คนอ่านไม่ทันสังเกตเอง) ซึ่งมันหักมุมได้เซอร์ไพรส์มากๆ สมกับเป็นนิยายในธีม ‘คฤหาสน์’ จริงๆ”



2. ปลายฟ้า สาวสวยสามวิญญาณ

ผู้เขียน : จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

สำนักพิมพ์ : GROOVE PUBLISHING

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกทีละตอนในเว็บไซต์อ่านเอา จนจบบริบูรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 และกำลังจะรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ GROOVE PUBLISHING ราวเดือนกันยายน 2565

“เป็นนิยายแนวลึกลับแฟนตาซีที่อ่านสนุก เนื้อเรื่องเหมือนจะซับซ้อนเข้าใจยาก แต่ผู้เขียนสามารถลำดับเรื่องราวออกมาได้เข้าใจง่ายมากๆ และมีการนำพล็อตของพวกละครหรือหนังแนว ‘ฝาแฝด’ ที่แสนคลาสสิกมาใช้โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเข้าไป จนกลายมาเป็นนิยายคุณภาพแฝงข้อคิดที่มีความแปลกใหม่และเหมาะกับคนอ่านในยุคนี้เป็นอย่างมาก”



3. เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย

ผู้เขียน : นักรบ มูลมานัส

สำนักพิมพ์ : มติชน

“เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุกมาก เล่าด้วยภาษาที่อ่านง่าย เรียบเรียงเรื่องราวได้ดี เต็มไปด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ภาพประกอบจัดเต็มแน่นเล่ม ทำให้อ่านสนุกยิ่งขึ้นไปอีก (บทที่ชอบมากเป็นพิเศษคือ ความตายในภาพถ่าย) อยากให้ทุกคนได้ลองอ่านเล่มนี้จริงๆ”



ธำรงศักดิ์  เพชรเลิศอนันต์

โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์


เล่มที่แนะนำ :



1. กว่าจะครองอำนาจนำ

ผู้เขียน : อาสา คำภา

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน

“หนังสือวิชาการปรับจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนี้ช่วยให้เข้าใจการแผ่ขยายพระราชอำนาจและอำนาจนำของเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ในช่วงทศวรรษ 2490-2530 อันทำให้เราเข้าใจภาพสังคมการเมืองไทยในสองสามปีที่ผ่านมา ว่าทำไมเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือ คณะราษฎร 2563 จึงต้องการปฏิรูปสถาบัน”



2. ทหารของพระราชา

ผู้เขียน : เทพ บุญตานนท์

สำนักพิมพ์ : ศิลปวัฒนธรรม

“หนังสือวิชาการปรับจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนี้ ช่วยให้เข้าใจว่ากองทัพสมัยใหม่ของไทยเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วนั้นมีเพื่อสถาปนาเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ แต่ทหารในบางช่วงเวลากลับต้องการเน้นการพัฒนาชาติ จึงออกจากเส้นทางทหารพระราชากลายเป็นปฏิปักษ์สถาบัน แต่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารยาวนานได้กัดกร่อนอำนาจของผู้นำทหาร และ 14 ตุลา 16 ได้ทำให้ทหารไทยค่อยๆ กลับเข้าสู่เส้นทางทหารของพระราชาอีกครั้ง บทบาททหารพระราชาจะเน้นที่พิธีกรรมการแสดงเพื่อจงรักภักดี มากกว่าการรบ”



3. ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ

ผู้เขียน : Tamara Loos

ผู้แปล : ไอดา อรุณวงศ์

สำนักพิมพ์ : อ่าน

“หนังสือวิชาการที่แปลไทยเล่มนี้ เปลี่ยนโฉมหน้าความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าใหม่ จากวาทกรรมที่ทำให้เราเชื่อตลอดมาว่ามีการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยตั้งแต่สมัย ร.5 แต่ความจริงแล้วกลับมุ่งสร้างสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวมศูนย์อำนาจที่กษัตริย์ตามแบบราชวงศ์ในยุโรปมากกว่า ศึกษาผ่านชะตากรรมบุคคลในเครือข่ายเจ้าคนหนึ่ง”



ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์

ร้านหนังสือ Fathom Bookspace


เล่มที่แนะนำ :



1. ต้องเนรเทศ

ผู้เขียน : วัฒน์ วรรลยางกูร

สำนักพิมพ์ : อ่าน 

“การต่อสู้ผ่านตัวหนังสือในระดับมหากาพย์ ยิ่งใหญ่ทั้งตัวเนื้อหาและการผลิต งานเขียนเล่มสุดท้ายของวัฒน์ วรรลยางกูร ที่พาเราเดินทางจากไทยสู่ปารีส เรื่องราวเล่าแบบตรงไปตรงมา สำนวนแบบที่มีลมพัดใบไม้ไหวที่ใครๆ ก็บอกว่าอ่านเพลิน อ่านสนุก แล้วสักพักก็อ่านยากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ภาษาและการเล่าเรื่อง แต่ยากจะไปต่อกับความจริงที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาในชีวิตของคนคนหนึ่ง

ในปีที่วัฒน์จากไป ต้องเนรเทศเป็นบันทึกชิ้นสำคัญที่เป็นทั้งประวัติศาสตร์ ความฝัน และความหวัง โดยชวนเราให้เริ่มจาก ความจริง”



2. ลูกสาวจากดาววิปลาส

ผู้เขียน : จอมเทียน จันสมรัก

สำนักพิมพ์ : P.S.

“จอมเทียน จันสมรัก นักเขียนและนักกิจกรรมต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ เขียนนิยายเสมือนบันทึกสมจริง เล่าถึงหญิงสาวที่เติบโตมากับแม่ที่ใครๆ ก็ว่าเป็นบ้า โตมาท่ามกลางซากของเมืองเทพ เฝ้ามองแม่เขียนบันทึกเล่มแล้วเล่มเล่า เต็มไปด้วยเรื่องราวของพ่อที่ไม่เธอเคยเห็นหน้า งูร้ายที่คอยเข้ามาโลมไล้ขา และภัยอันตรายที่ผลักให้แม่ตัดสินใจขังเธอไว้ในบ้าน

เป็นเรื่องราวเจ็บปวดที่ไม่ได้เร่งเร้าอารมณ์ให้หดหู่ใจเท่ากับเชื้อเชิญให้เราอยู่เคียงข้างเป็นประจักษ์พยาน รับรู้การมีอยู่ของกันและกัน เห็นภาพรวมความเจ็บปวดของการอยู่ในสังคมนี้ ยกมาให้อ่านเล่นสัก 1 ย่อหน้า

“ฉันเคยลองนึกจินตนาการว่า ถ้าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย ฉันจะเติบโตมาอย่างไร ฉันกับแม่จะอยู่บ้านคร่อมบ่อตลอดไปหรือไม่ จะถูกข่มขืนจนท้องไหม มันเป็นไปได้จริงหรือที่คนทั้งชุมชนจะมองดูฉันเติบโต แบบไม่มีการศึกษากับแม่ที่เป็นบ้าไปเรื่อยๆ จนเราแก่และตายไป คำตอบที่ฉันได้เรียนรู้มาคือ ใช่”

ซึ่งแม้ว่าหนังสือจะมาหนักขนาดนี้ แปลกดีที่การอ่านลูกสาวจากดาววิปลาสกลับให้ความรู้สึกว่า “โลกใบนี้น่ะ ยังไม่สิ้นความหวังหรอก!”



3. ร้านหนังสือชื่อมีไหมนะ

ผู้เขียน : Yoshitake Shinsuke

ผู้แปล : ชมนาด ศีติสาร

สำนักพิมพ์ : SandClock Books

“หนังสือที่จะพาเปลี่ยนโหมดอารมณ์ ไม่ว่าเราจะอยู่ในดินแดนไหน ก็ขอต้อนรับเข้าสู่โลกที่อารมณ์ขันยังมีอยู่จริง

งานเขียนและวาดของชินสุเกะ โยชิทาเกะ เล่มแรกที่พวกเรารู้จักและตามอ่านทุกเล่มของเขาในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาหลายปี จนปีนี้ สำนักพิมพ์ไทยก็ทยอยแปลรวมถึงเล่มในตำนานนี้ด้วย

หนังสือเล่าถึงร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ที่คนจะมาถามหาว่า “เอ่อ ขอโทษนะคะ/นะครับ มีหนังสือ… มั้ยคะ/ครับ” ซึ่งก็มีตั้งแต่หนังสือหายาก หนังสืองานเกี่ยวกับหนังสือ หนังสือเกี่ยวกับร้านเคลื่อนที่ได้ และต่างๆ นานา ซึ่งเจ้าของร้าน ไม่เพียงมีหนังสือหมวดนั้นๆ แต่ยังยกตัวอย่างมีบรรยายให้เห็นภาพด้วย เล่มนี้ไม่สามารถยกตัวอย่างได้ แต่อวยพรล่วงหน้า ว่าขอให้มีวันที่รื่นรมย์ค่ะ”



เพชรลัดดา แก้วจีน

เพจรีวิวหนังสือ Whale&Rabbit Library


เล่มที่แนะนำ :



1. ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต

ผู้เขียน : สะอาด

สำนักพิมพ์ : Kai3

“หนังสือที่เป็นเหมือนภาคต่อ (แต่จะอ่านแยกก็ได้) ของ ‘บทกวีชั่วชีวิต’ ผลงานเล่มก่อนที่เราเคยอ่านและประทับใจมากๆ

‘ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต’ บอกเล่าเรื่องราวของหลายชีวิต หลายครอบครัว ผ่านข้าวของที่เป็นเหมือนสิ่งบันทึกความทรงจำที่ถูกรวบรวมไว้ในร้านขายของมือ 3 ที่กำลังจะปิดตัวลง คุณสะอาดเล่าความสัมพันธ์ของเพื่อน ครอบครัว และคนรัก ผ่านภาพและบทสนทนาได้อย่างจับใจ อีกทั้งยังทิ้งความสั่นไหวไว้หลังอ่านจบอยู่หลายระลอก หากใครที่ติดตามผลงานของคุณสะอาดอยู่แล้ว นี่คือเล่มที่เห็นพัฒนาการอย่างมากทั้งงานภาพและความละเอียดอ่อนของการเล่าเรื่อง ส่วนใครที่เพิ่งเริ่มอ่านเป็นเล่มแรก เชื่อแน่ว่าจะต้องตามหาผลงานเล่มก่อนๆ มาอ่านอย่างแน่นอนเลย”



2. ฝันดีนะ ปุนปุน

ผู้เขียน : Inio Asano

ผู้แปล : โฆษิต ศรีกฤษณรัตน์

สำนักพิมพ์ : NED

“มังงะที่บอกเล่าชีวิตในช่วงวัยเปลี่ยนผ่านของปุนปุน เด็กชายขี้อายผู้อาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงภายในบ้าน การบูลลีในโรงเรียน และสังคมที่บิดเบี้ยว อาจารย์ผู้เขียนได้วาดภาพแทนตัวละครในครอบครัวนี้ด้วยตัวการ์ตูนหัวนกน่ารัก ซึ่ง contrast กับความรุนแรงที่ประสบอย่างมาก ‘ฝันดีนะ ปุนปุน’ นำเสนอประเด็น coming of age ความสัมพันธ์ และการเยียวยาจิตใจที่แตกสลายได้อย่างเข้มข้นและดิ่งลึก ฉบับภาษาญี่ปุ่นออกมาทั้งหมด 13 เล่มจบ ส่วนฉบับภาษาไทย (ณ ตอนที่เขียนนี้) เพิ่งตีพิมพ์ออกมา 1 เล่ม เป็นอีกเรื่องที่น่าติดตามและดีใจที่มีลิขสิทธิ์ภาษาไทยให้ได้อ่านกัน”



3. The Psychology of Money: จิตวิทยาว่าด้วยเงิน

ผู้เขียน : Morgan Housel

ผู้แปล : ธนิน รัศมีธรรมชาติ

สำนักพิมพ์ : Live Rich

“มอร์แกน เฮาเซิล ผู้เขียนได้คลี่ความหมายของคำว่าเงินออกเป็นประเด็นต่างๆ ให้เรามองมันอย่างเข้าใจ ว่าเงินเป็นทั้งคุณและโศกนาฏกรรมในชีวิตของเราได้เลย หากไม่รู้จักมันและวิธีการจัดการกับมันด้วยความเข้าใจ หลายๆ ประเด็นในหนังสือที่ทำให้เรามองเงิน เข้าใจมันอย่างน่าสนใจ เช่น คนเราออมเงินเพื่ออะไร มอร์แกนบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องออมเงินเพื่อซื้ออะไรก็ได้ เเต่ออมเงินเพื่อสร้างความยืดหยุ่น และอิสระในการเลือกใช้ชีวิตของเรา ออมเงินเพื่อซื้อความปลอดภัย หรือว่าจังหวะชีวิตที่เจอกับความโชคร้าย ความมั่งคั่งไม่ได้มีเเค่รูปเเบบของการมีเงินมหาศาล มีเท่าที่มันอนุญาตให้เราควบคุมมัน หรือเรามีเวลายืดหยุ่นกับตัวเองก็พอ หรือเเม้กระทั่งความมั่งคั่งนั้นมันทำให้เรานอนหลับเต็มอิ่มได้ทุกวัน ความมั่งคั่งสำหรับบางคนอาจจะไม่ใช่รถหรู บ้านหลังใหญ่เสมอไป

นอกจากการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเงินในเชิงจิตวิทยา มอร์แกนยังสอดแทรกประวัติศาสตร์การเงินที่เกิดขึ้นตลาดเสรีขนาดใหญ่อย่างอเมริกา ให้เราเห็นที่ไปที่มาของวิกฤตการเงินในเเต่ละช่วง ซึ่งมันส่งผลต่อวิธีคิด การมองเรื่องเงิน เเละส่งผลถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนอย่างไรได้อีกด้วย เป็นหนังสือว่าด้วยเงินที่ทำให้เราใจดีกับตัวเองเเละเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ด้วยข้อเท็จจริงเเละมองมันให้เข้าใจ หาวิธีจัดการมันในเเบบฉบับของตัวเอง ไม่หมุนไปตามกระเเสที่เกินกว่าจิตใจเเละตัวเราควบคุมไม่ได้”



พิมพ์ชนก ศิริวรรณนาวี

สำนักพิมพ์ Piccolo Publishing


เล่มที่แนะนำ :



1. หากสมองฉันไม่ได้ฟั่นเฟือน

ผู้เขียน : Otsuichi

ผู้แปล : พรพิรุณ กิจสมเจตน์

สำนักพิมพ์ : Hummingbooks

“ส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านงานสยองขวัญอยู่แล้ว และรู้สึกว่างานสยองขวัญฝั่งเอเชียนี่แหละที่ตอบโจทย์หรือเรียกอีกอย่างว่าถูกจริตเรามากที่สุด เล่มนี้ไม่ได้สยองจังหวะตุ้งแช่เหมือนภาพยนตร์ (ซึ่งอันนั้นเราค่อยข้างไม่ชอบ เพราะเป็นคนขี้ตกใจ ฮ่า) เรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่องจะสอดแทรกความน่ากลัวให้ค่อยๆ แทรกซึมไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เราอ่านไปพร้อมกับถามตัวเองไปด้วยว่าหรือจริงๆ เราควรกลัวคนมากกว่าปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติกันล่ะนั่น”



พรชัย วิริยะประภานนท์ (นรา)

คอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์และหนังสือ


เล่มที่แนะนำ :



1. หนังสือ/ห้องสมุด/เปลวไฟ

The Library Book

ผู้เขียน : Susan Orlean

ผู้แปล : ศรรวริศา

สำนักพิมพ์ : กำมะหยี่

“ก่อนอ่านผมเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้เป็นสารคดีเจาะลึก เล่าแจ้งแสดงเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้หอสมุดกลาง ลอส แอนเจลิส เมื่อปี 1986

อ่านจบแล้วก็พบว่าผมเข้าใจถูกต้อง แต่มากไปกว่านั้นอีกประมาณสี่เท่าตัว เป็นความเข้าใจผิด

หนังสือเล่มนี้พูดถึงห้องสมุดใน ‘เกือบ’ ทุกแง่ทุกมุม พูดอย่างละเอียดถี่ถ้วน และบอกเล่าออกมาได้เพลิดเพลินชวนอ่านเอามากๆ”



2. ฉันรู้ว่าไยนกในกรงจึงขับขาน

I Know Why the Caged Bird Sings

ผู้เขียน : Maya Angelou

ผู้แปล : ไอริสา ชั้นศิริ

สำนักพิมพ์ : Library House

“เล่มนี้อ่านมาหลายเดือนแล้ว เป็นเล่มแรกสุดที่ผมที่นึกถึงเมื่อต้องเลือกหนังสือ ‘ความน่าจะอ่าน’ สำหรับปีนี้

ปัญหาคือ ผมจำอะไรแทบไม่ได้เลย จำได้แค่ความรู้สึกคร่าวๆ เมื่อตอนเพิ่งอ่านจบ

ตอนนั้นผมดีใจมากๆ ดีใจที่ได้เปิดโลก ได้เปิดหูเปิดตา ได้รู้จักบุคคลผู้ล้ำเลิศและยิ่งใหญ่อย่างมายา แอนเจลู

ถัดมาเป็นความประทับใจฝีมือการเขียนของมายา แอนเจลู ซึ่งเป็นนักเล่าเรื่องที่คมคาย มีเสน่ห์และมีชีวิตชีวา และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ทัศนคติในการมองโลกมองชีวิตของเธอ”



3. ครูเปียโน

Die Klavierspielerin

ผู้เขียน : Elfriede Jelinek

ผู้แปล : เจนจิรา เสรีโยธิน

สำนักพิมพ์ : Library House

“ด้านหนึ่งก็เป็นหนังสือที่อ่านยากเข้าใจยาก (จนบัดนี้ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไร) แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นหนังสือที่ทำให้ผมอ่านและติดตามด้วยความเพลิดเพลินเป็นที่สุด มีสำนวนภาษาลีลาเฉพาะตัวโดดเด่นมาก เต็มไปด้วยการเปรียบเปรยที่ให้อรรถรสแปลกๆ, การบรรยายฉากและความในใจของตัวละครที่หวือหวาพิสดาร, การดำเนินเรื่องแบบ ‘ไร้กระบวนท่า’ ชนิดผู้อ่านไม่ต้องคาดเดาให้เสียเวลา รวมทั้งอุดมไปด้วยน้ำเสียงถ้อยทีประชดประชัน ซึ่งทั้งขบขัน ขมขื่น และเลือดเย็นเป็นน้ำแข็งโรยแป้งตรางู”



กว่าชื่น บางคมบาง

สำนักพิมพ์บางคมบาง


เล่มที่แนะนำ :



1. แฮมเล็ต

Hamlet

ผู้เขียน : William Shakespeare

ผู้แปล : ศวา เวฬุวิวัฒนา

สำนักพิมพ์ : เม่นวรรณกรรม

“บทละครของเชกสเปียร์ที่ต้องอ่าน อาจไม่คุ้นเคยกับการเล่าแบบบทละคร แต่เป็นพื้นที่ของจินตนาการ”



2. ประเทศไร้ทรงจำ

ผู้เขียน : รอนฝัน ตะวันเศร้า 

สำนักพิมพ์ : สมมติ

“บทกวีที่สะท้อนภาพของชีวิตและการเมืองในประเทศ”



3. นักล่าวาฬ

ผู้เขียน : จเด็จ กำจรเดช

สำนักพิมพ์ : เวลา

“วรรณกรรมภาพที่สวยและดี มิติใหม่ของนักเขียนไทยที่ไม่หยุดสร้างสรรค์”



ทราย เจริญปุระ

นักเขียน นักแสดง และนักอ่าน 


เล่มที่แนะนำ :



1. มูฟออนชีวิต ถอนพิษพ่อแม่เผด็จการ: Toxic Parents

ผู้เขียน : Susan Forward, Craig Buck

ผู้แปล : เชิญพร คงมา

สำนักพิมพ์ : SandClock Books

“แม้จะไม่เป็นพ่อเป็นแม่ใคร แต่เราทุกคนล้วนเป็นลูกใครซักคน พิษภัยบางอย่างที่ซึมผ่านการเลี้ยง (แน่นอน-รวมถึงการไม่เลี้ยง) ส่งผลมากกว่าที่คุณคิด เป็นเล่มที่อ่านแล้วก็เจ็บปวดที่อาจจะต้องยอมรับว่ามันคือความจริง ที่พ่อแม่เรา (และอาจรวมถึงตัวเราเองถ้ามีลูก) ก็เป็นพิษได้มากกว่าใครจะคิด”



2. อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี

ผู้เขียน : ภาณุ ตรัยเวช

สำนักพิมพ์ : P.S.

“เหล่าสตรีผู้เป็นเอกในบางเส้นทาง แต่เป็นผู้พ่ายแพ้แก่ชีวิตที่ซ่อนเร้น -บอกว่าพ่ายแพ้ก็อาจไม่เป็นธรรมนัก- เพราะหากตัดสินด้วยบางสายตาและบางค่านิยมของยุคสมัย เธอเป็นผู้กล้า เป็นคนแปลก เป็นคนต่าง

แต่ชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกับผู้หญิงทั้งห้าคนในเล่มนี้”



อุทิศ เหมะมูล

สำนักพิมพ์จุติ


เล่มที่แนะนำ :



1. แสงสว่าง กับ ความมืด

ผู้เขียน : Mikhail Shishkin

ผู้แปล : ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ

สำนักพิมพ์ : กำมะหยี่

“จดหมายของชาย-หญิงที่เขียนส่งหาถึงกัน สร้างบทสนทนาและการโต้ตอบแสนลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนของความรู้สึกและนึกคิด ยิ่งอ่านลึกเข้าไปยิ่งค้นพบจักรวาลกว้างใหญ่ของการสื่อสาร เช่น ตัวบทจดหมายของชาย-หญิงคู่นี้อาจไม่ใช่คู่รักและคนเคยรู้จักกันมาก่อน เพราะทั้งสองมาจากต่างยุคสมัย ต่างกาลเวลา ทั้งสองต่างเขียนจดหมายหาคนรัก (ที่ไม่ถูกคาดหวังว่าจะได้อ่านหรือได้รับจดหมาย แต่เราคนอ่านในศตวรรษที่ 21 คือผู้ได้รับสาร หรือผู้แอบอ่านจดหมาย จากอดีตและคนละเหลื่อมชั้นของกาลเทศะ) แต่หญิง-ชายทั้งสองต้องเขียน บอกเล่าเรื่องราวของตน เขียนเพื่อจะมีชีวิต เพื่อมีความทรงจำ ถูกจดจำ เขียนเพื่อจะได้รัก”



2. คลาราและดวงอาทิตย์ 

Klara and The Sun

ผู้เขียน : Kazuo Ishiguro

ผู้แปล : ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ

สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์

“อิชิงุโระกลับมากับเรื่องราวอาบอุ่นหัวใจ และเรียกรื้นน้ำตาจากหัวจิตหัวใจคนอ่านได้อีกครั้ง กับเรื่องปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ชื่อคลารา ผู้ถูกสร้างมาให้ ‘รับใช้’ และ ‘บริการ’ มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ เสียงเล่าของ AI ซึ่งเราเชื่อว่าไม่น่ามีหัวจิตหัวใจ ไม่น่ามีเจตจำนง เล่านิ่งเนิบ เล่าเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่ปะปนความรู้สึก กลับทำให้เราสะท้านไหว สะเทือนใจมาก ซึ่งทั้งเรื่องเล่าผ่านมุมมอง สายตา และการประมวลผลรู้คิดของคลารา ให้ภาพ AI ที่ต่างออกไป ไม่ได้มีพิษภัยชวนหวาดผวาเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์ไซไฟอย่างที่เคยรับรู้มา ผลงานประณีตสมกับที่อิชิงุโระเป็นผู้เขียนโดยแท้”



3. บุรุษผู้เป็นวันพฤหัสบดี: ฝันร้าย 

The Man Who Was Thursday: A Nightmare

ผู้เขียน : G. K. Chesterton

ผู้แปล : ไพรัช แสนสวัสดิ์

สำนักพิมพ์ : Shine Publishing House

“นิยายแนวสืบสวน ผจญภัย จารกรรม เขียนไว้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แต่กลับสนุกเมื่อได้อ่านในต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งชาวเราอาจคุ้นเคยกับไวยากรณ์แบบงานซุปเปอร์ฮีโร ทั้งของจักรวาลมาร์เวลและดีซีคอมมิกส์ นับได้ว่าเป็นงานเขียนยุคบุกเบิกของฮีโรปลอมตัวเข้าไปในดงผู้ร้าย ผู้วางแผนวินาศกรรมโลก และต้องเข้าไปหยุดยั้งแผนการก่อการร้ายนั้นไม่ให้สำเร็จ ทว่ากลับพบเรื่องราวตื่นตระหนกตกใจเพิ่มยิ่งๆ ขึ้น มีอลเวง พลิกผันของการกระชากหน้ากาก เผยรูปการปลอมตัวของขบวนการก่อการร้ายทำลายโลก เป็นงานแสนสนุก ตัวบทชวนขบคิด มีปรัชญาเต็มคราบ การปะทะทางแนวคิดทางการเมือง รวมถึงลักษณะความเป็นนิทานเปรียบเทียบทางคริสต์ศาสนา หากนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงหนังอย่าง V for Vendetta”



วรพจน์ พันธุ์พงศ์

สำนักพิมพ์บางลำพู


เล่มที่แนะนำ :



1. ต้องเนรเทศ

ผู้เขียน : วัฒน์ วรรลยางกูร

สำนักพิมพ์ : อ่าน  

“เลือก ‘ต้องเนรเทศ’ เพราะเป็นมาสเตอร์พีซของนักเขียนคนสำคัญของเมืองไทย เนื้อหาครบเครื่อง เข้มข้น คมคาย อภิปรายใจกลางปัญหาด้วยข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์จริง”



อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

สำนักพิมพ์เคล็ดไทย


เล่มที่แนะนำ :



1. ก่อร่างเป็นบางกอก

Siamese Melting Pot

ผู้เขียน : Edward Van Roy

แปลโดย : ยุกติ มุกดาวิจิตร

สำนักพิมพ์ : ศิลปวัฒนธรรม

“เป็นหนังสือที่อ่านสนุก และอ่านได้เรื่อยๆ มีเกร็ดและรายละเอียดของเรื่องราวที่ชวนติดตาม ไม่แต่เพียงทำให้เห็นถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของผู้คนที่ “ก่อร่างเป็นบางกอก” หากแต่หลังพลิกอ่านหนังสือจบในแต่ละหน้าก็ชวนให้คิดภาพเปรียบเทียบสถานที่/ชุมชน/ย่าน แต่ละแห่งกับสภาพในปัจจุบัน และชวนให้การออกเดินทางในกรุงเทพฯ มีความสนุกและรื่นรมย์ยิ่ง”



2. เผด็จการความคู่ควร

The Tyranny of Merit

ผู้เขียน : Michael J. Sandel

ผู้แปล : สฤณี อาชวานันทกุล

สำนักพิมพ์ : Salt Publishing

“หนังสือเล่มนี้ชวนให้คิดและตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความคู่ควร’ โดยเฉพาะทางด้านคุณวุฒิ การศึกษา (ที่เชื่อว่าเกิดจากความสามารถของผู้คน) ซึ่งสังคมในปัจจุบันให้ความยกย่องอย่างมาก เนื้อหาในแต่ละบทของหนังสือได้ชี้ให้เห็นว่า แม้การให้ความสำคัญของคุณวุฒิและความคู่ควร (ของบุคคล) จะเป็นสิ่งที่ทลายความเหลื่อมล้ำจากอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) ที่ให้ความสำคัญกับชาติตระกูล หากแต่ในอีกมุมหนึ่ง Meritocracy ก็ได้นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำรูปแบบใหม่ และเป็นมายาภาพที่บดบังปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างระหว่างคนรวยและคนจน ให้เหลือเพียงความสามารถ/ความขยันกับความไม่ขยันและการไร้ความสามารถ”



3. แปดขุนเขา

Le otto montagne

ผู้เขียน : Paolo Cognetti

ผู้แปล : นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ 

สำนักพิมพ์ : อ่านอิตาลี

“วรรณกรรมขนาดสั้นเล่มนี้ เป็นเรื่องราวที่แสนธรรมดา หากแต่เมื่อเริ่มอ่านตั้งแต่ถ้อยความแรกจนถึงถ้อยความสุดท้าย แม้จะไม่สามารถอธิบายเรื่องราวได้อยากละเอียด นอกเหนือจากเป็นเรื่องของ ‘นักปีนเขาสองคน’ แต่ก็ได้ให้ความหมายและความรู้สึกในแบบที่บอกไม่ถูก ทั้งกระแทกอารมณ์ การครุ่นคิด และการค้นหาบางสิ่ง”



ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์

สำนักพิมพ์ Bookscape


เล่มที่แนะนำ :



1. ความทรงจำที่สาบสูญ

The Memory Police

ผู้เขียน : Yoko Ogawa

ผู้แปล : อาภาพร วิมลสาระวงค์

สำนักพิมพ์ : ไจไจบุ๊คส์

“เราเป็นแฟนคลับไจไจและโยโกะ โอคาวะอยู่แล้ว สไตล์การเขียนของเธอดึงเราเข้าหาเหมือนโคลนดูดที่เนิบช้า พาเราจมสู่เรื่องทีละน้อย พออ่านจบ ความรู้สึกก็จมค้างอ้อยอิ่งอยู่ในมวลเรื่องนั้นอยู่นาน เรื่องราวในเล่มดำเนินอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งที่วันดีคืนดีจะมีอะไรบางอย่าง ‘สาบสูญ’ ไปจากความทรงจำของผู้คน เป็นดิสโทเปียโรแมนติกระหว่างคนสองฝั่งที่เป็นดังเส้นขนาน ฝ่ายหนึ่งไม่มีวันสัมผัสถึง ‘การจำได้ตลอดไป’ ขณะที่อีกฝ่ายไม่มีวันเข้าใจ ‘การลืมตลอดกาล’

เรื่องราวในเล่มนี้เหมือนภาคกลับของชื่อหนังสือ ‘วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย’ เพราะยิ่งอ่านยิ่งเกิดคำถามในใจว่า ‘วันหนึ่งหากไร้ความทรงจำ เราจะยังกอบเก็บตัวตนไม่ให้แตกสลายไปได้หรือไม่’”



2. เพราะความรักมิอาจเร่งร้อน

Die Liebe im Ernstfall

ผู้เขียน : Daniela Krien

ผู้แปล : ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ

สำนักพิมพ์ : Library House 

“เรื่องราวที่เกาะเกี่ยวกันหลวมๆ ของผู้หญิงห้าคนที่มีบาดแผลจากความเร่งร้อนของความรักในวันเก่า เราชอบเล่มนี้เพราะถ่ายทอดความลื่นไหลในความสัมพันธ์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เราเห็นใจตัวละครหนึ่ง ก่อนจะพบว่าเธออาจเป็นนางมารร้ายในสายตาใครอีกคน และใครคนนั้นเป็นคนที่เราเพิ่งเบะปากใส่ แต่ไม่ทันไรก็กลายเป็นคนที่เราอยากตบไหล่ให้กำลังใจในเวลาต่อมา

เรื่องนี้ไม่มีนางเอก มีเพียงหญิงสาวที่ตกหลุมและติดบ่วงรัก บอบช้ำและพลั้งพลาดในบางชั่วยามของความสัมพันธ์ ไม่มีตอนจบแสนสุขหรือบทส่งท้ายแสนโศก แม้จะพลิกปิดหน้าสุดท้าย เราก็ไม่รู้สึกว่าเรื่องราวจบลง ส่วนเสี้ยวในชีวิตของเธอทั้งห้าคนยังคงโลดแล่น และซ้อนทับกับเรื่องราวของใครบางคนที่เรารู้จักในชีวิตจริง”



3. Blue Period

ผู้เขียน : Tsubasa Yamaguchi

สำนักพิมพ์ : Luckpim

“เรื่องราวชีวิตดิ้นรนสับสนของวัยรุ่นมือใหม่ไร้ความรู้ศิลปะที่ริจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะอันดับหนึ่ง แรกเห็นพล็อตคิดว่าจุดเด่นคงเป็นการฉายภาพชีวิตนักเรียนสายศิลปะสุดเข้มข้น ตามประสามังงะญี่ปุ่นที่เจาะลึกวงการต่างๆ แต่พออ่านไปอ่านมา กลายเป็นว่าเราติดใจความขาดๆ เกินๆ ของตัวละครเสียมากกว่า โดยเฉพาะยาโทระ ตัวเอกของเรื่องที่เป็นคน ‘ครึ่งๆ กลางๆ’ มีความสามารถระดับพอเอาตัวรอดได้ บางครั้งก็ปล่อยฝีมือสุดเจ๋งแต่บางคราวก็กลวงเปล่า สงสัยว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง และกังวลว่าจะถูกจับได้ในสักวันว่าไม่ใช่ของจริง เป็นความอ่อนหัดอ่อนไหวในแบบที่รู้สึกร่วมได้ไม่ยาก ขอยกให้ Blue Period เป็นการ์ตูนที่สั่นสะท้านหัวใจที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เลย”



พัลลภ สามสี

สำนักพิมพ์จงสว่าง


เล่มที่แนะนำ :



1. โชติชีวิตบรรลัยของแพทริก ชั่ยฯ

ผู้เขียน : อุทิศ เหมะมูล

สำนักพิมพ์ : จุติ

“เรื่องราวที่ซัดซั่มกันทั้งเรื่องแบบนี้ไม่ใช่อะไรที่แปลกของงานเขียนออนไลน์ หรือสื่อวิดีโอในอินเทอร์เน็ต แต่น้อยคนนักที่เขียนและพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแบบนี้ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งผมถึงกับโพสต์ข้อความตอนอ่านจบว่า “เป็นนิยายที่อ่านแล้วลุกซู่” และนักเขียนก็เข้ามาเม้นต์ต่อว่า “ดีใจด้วยที่ยังซู่ว์อยู่” อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ชีวประวัติของอีตาแพทริก ชั่ยฯ นี้ ดันสอดคล้องกับสังคมการเมืองอันแสนเวทนาของประเทศนี้ ซึ่งผู้เขียนยั่วล้อไปตลอดทั้งเรื่อง พร้อมไปกับการค่อยเผยฉากและชีวิตของบุคคลระดับบนของสังคมที่แสนไม่ธรรมดา ทั้งรูปแบบชีวิตและการเชื่อมต่อสถานะต่อกัน ถ้าแพทริก ชั่ยฯ มีตัวตนจริง การทำหนังสือชีวประวัติออกมาแบบนี้ น่าจะแปลกประลาดที่สุดแล้ว เพราะเต็มไปด้วยเรื่องผิดศีลธรรม แทนที่จะฉายแต่สิ่งที่ดีงาม”



2. คนจรดาบ

ผู้เขียน : วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

สำนักพิมพ์ : มติชน

“นิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยยุคก่อนเสียงกรุงศรีอยุธยา เต็มไปด้วยฉากสู้รบที่ตื่นเต้น ความหดหู่ของบ้านเมืองที่เจียนจะล้มแหล่มิล้มแหล่เพราะการเห็นแก่ได้ของผู้บริหารบ้านเมือง เรื่องมีความพลิกผันเกินคาดเดาอยู่ตลอดเวลา เพราะใช้โครงเรื่องแบบนิยายสืบสวนสอบสวน ขณะเดียวกันฉากและการเล่าเรื่องกลับมีอรรถรสแบบเซนของซามูไรญี่ปุ่นบวกกับนิยายกำลังภายในของจีน ทั้งที่ฉากหลังเป็นกรุงศรีอยุทธยาตอนปลาย ส่วนผสมที่แปลกประหลาดนี้ทำให้เกิดภาพใหม่ที่น่าสนใจขึ้นมา และถ้าใครเป็นแฟน ‘ฟ้าทะลายโจร’ มาก่อน เมื่อได้อ่าน ‘คนจรดาบ’ เราก็จะเห็นสีสันของเรื่องจัดจ้านแจ่มแจ้งแบบนั้นเลย

ผู้เขียนมีการสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์มาอย่างดี ทำให้เรื่องมีน้ำหนักอย่างมาก แม้กระทั่งการใช้ภาษาในการเขียนก็ยังใช้ภาษายุคอยุธยาด้วย ซึ่งสองสามหน้าแรก อ่านแล้วอาจจะฝืนๆ แต่พอผ่านไปได้ กลับสนุกและได้รสชาติแปลกใหม่ เหมือนอ่านพงศาวดารที่มากด้วยสีสันและความสนุกสนาน”



3. เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย

ผู้เขียน : นักรบ มูลมานัส

สำนักพิมพ์ : มติชน

” “ในภาพถ่ายมีการเมือง” นึกถึงประโยคนี้ขึ้นมาทันทีที่อ่านจบลง เนื้อหาของหนังสือค่อยอธิบายกำเนิดและพัฒนาการของภาพถ่าย พร้อมทั้งหยิบยกภาพสำคัญๆ และหายาก ถึงขนาดบางภาพไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งที่ก็นอนแอ้งแม้งอยู่ในหอสมุดแห่งชาติมาเผยให้เราได้เห็นและตื่นเต้นไปด้วย โดยเฉพาะเหตุผลในการถ่ายภาพต่างๆ และก็เห็นว่าภาพถ่ายนั้นเกิดจากมุมมองของผู้ถ่าย โดยเฉพาะในยุคที่เข้าถึงการถ่ายภาพได้ยาก การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่แพงและทันสมัย ทำให้ผู้ถ่ายสามารถใส่วัตถุประสงค์ในการสื่อสารทางเดียวไปยังผู้เห็นภาพได้แบบเต็มๆ อันนี้คือ ‘ระหว่างบรรทัด’ ที่นักรบ มูลมนัสเสกซ่อนไว้ในการเขียนของเขา แม้กระทั่งในยุคที่ทุกคนเข้าถึงการถ่ายภาพหรือแม้กระทั่งภาพเคลื่อนไหวได้โดยแทบไม่ต้องเสียเงิน ภาพต่างๆ ก็ยังมีการเมืองและเจตนารมย์ของผู้ถ่ายแฝงอยู่ด้วยไม่เสื่อมคลาย

เนื่องจากหนังสือเล่าเรื่อง ‘ภาพ’ ดังนั้นจึงมีภาพจำนวนมากให้ชมอย่างตื่นตาและเต็มตามาก”



จรัญ หอมเทียนทอง

สำนักพิมพ์แสงดาว


เล่มที่แนะนำ :



1. แด่ผู้แหลกสลาย

Reasons to Stay Alive

ผู้เขียน : Matt Haig

ผู้แปล : ศิริกมล ตาน้อย

สำนักพิมพ์ : Bookscape

“หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเกี่ยวกับคนเป็นโรคซึมเศร้า เราต้องอ่านเพื่อเข้าใจและอยู่กับคนเป็นโรคซึมเศร้า โรคนี้กำลังเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ในสังคม ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์สำหรับคนที่ต้องอยู่กับคนเป็นโรคซึมเศร้า เราจะอยู่อย่างไรให้มีความสุขและเข้าใจเขา”



2. ต้องเนรเทศ

ผู้เขียน : วัฒน์ วรรลยางกูร

สำนักพิมพ์ : อ่าน

“หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกของคนที่ต่อสู้เพื่อประชาชน – วัฒน์ วรรลยางกูร ที่สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวและผลกระทบที่อำนาจรัฐทำกับเขา เราปล่อยให้นักเขียนคนหนึ่งซึ่งมีคุณูปการต่อประเทศชาติต้องโดดเดี่ยวและเสียชีวิตในต่างประเทศ โดยที่สังคมไทยไม่เหลียวแล ไม่ดูแลเขาเลย หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกที่ตีแผ่สังคมอีกด้านหนึ่ง”



3. ขวาพิฆาต(?)ซ้าย: อนุรักษนิยมไทยบนทางสองแพร่งของการเมืองโลกยุคสงครามเย็น

ผู้เขียน : ศิบดี นพประเสริฐ

สำนักพิมพ์ : มติชน

“หนังสือเล่มนี้ทำให้เราตาสว่าง ทำให้เห็นถึงขบวนการของฝ่ายขวาในไทย หนังสือเขียนวิเคราะห์สังคมไทยในช่วงสั้นๆ แค่ 5 ปี คือช่วงปี 2516-2521 เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ระยะใกล้ แล้วเราจะเห็นว่าขบวนการฝ่ายขวาที่รวมตัวกันขึ้นมาเพื่อทำร้ายคน นี่คือที่มาของฆาตกรรมหมู่กลางเมือง หรือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นี่คือหลักฐานของการรวมตัวกันของฝ่ายขวาที่เกรงกลัวอำนาจของนักศึกษา จนสามารถฆาตกรรมกลางเมืองได้

หนังสือเล่มนี้ควรศึกษาอย่างยิ่ง เพราะเราจะได้เห็นว่าฝ่ายขวาในเมืองไทยนั้นอำมหิตและเหี้ยมโหดขนาดไหน”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save