ตีความอย่างไรให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้เกิน 8 ปี

การชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นปัญหาว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี อันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ประกอบกับมาตรา 158 วรรคสี่แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (รัฐธรรมนูญ 2560) หรือไม่ อาจจะไม่ได้เปลี่ยนฉากทัศน์ทางการเมืองของไทยมากนัก แต่สำหรับวงการนิติศาสตร์แล้ว คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นบทสรุปของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยซึ่งถูกกระทำย่ำยีครั้งแล้วครั้งเล่าจนยากที่จะเชื่อว่าไทยมีระบบกฎหมายแบบตะวันตกมากกว่าร้อยปีและเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อเก้าสิบปีก่อน

ประเด็นปัญหาการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่ประชาชนและนักกฎหมาย เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแสดงความคิดเสนอแนะแนวทางในการตีความการนับระยะเวลา 8 ปี มาตรา 158 ทั้งที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในเวลาที่ควรแสดงความคิดเห็น คือ ในเวลาที่มีการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งประธานได้หยิบยกปัญหาเดียวกันเพื่อหารือ เราได้เห็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เคยแสดงความเห็นอย่างหนึ่งไว้ในที่ประชุม แต่เปลี่ยนความคิดเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่งในภายหลัง และเราได้ยินข่าวลือว่าประธานคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าความเห็นของตนที่ได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมของ กรธ. เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้จดบันทึกรายงานการประชุมซึ่งยังไม่มีการรับรองโดยคณะกรรมการแต่อย่างใด

แนวทางการตีความกฎหมายและการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่พิสดารเหล่านี้ ไม่มีฐานทฤษฎีในทางนิติศาสตร์รองรับอย่างชัดเจน และวางอยู่บนข้อเท็จจริงที่อาจจะไม่ครบถ้วนหรือถูกบิดเบือนเพื่อให้คำอธิบายของตนมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เปิดเผยชื่อคนหนึ่งถึงขนาดแสดงความคิดเห็นว่า “เพราะการจะตัดสินอะไรคงไม่ต้องไปถามคนร่างกฎหมาย ไม่อย่างนั้นก็คงจะต้องตามไปถามคนร่างกฎหมายกันหมด ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดแล้ว ต้องตีความกันอยู่ตรงนี้ จะไปเถียงอะไรกัน หรือการจะไปเอาผู้เชี่ยวชาญมาแสดงความคิดเห็นเดี๋ยวก็พูดอย่างนั้น เดี๋ยวก็พูดอย่างนี้ เพราะความคิดเห็นของคนเราเปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปฟังความคิดเห็นคนร่างกฎหมายอะไรมาก เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนใช้กฎหมาย คนเขียนกฎหมายไม่ได้เป็นคนใช้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนใช้กฎหมายก็ต้องเป็นคนตีความเองว่าเขียนมาแบบนี้จะแปลความแบบไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลย” (มติชน, 11 กันยายน 2565)

การตีความกฎหมายแบบไหนก็ได้ตามที่ผู้ตีความปรารถนา คือการตีความตามอำเภอใจ และการตีความตามอำเภอใจนี้เองเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้วิชานิติศาสตร์ในโลกตะวันตกพัฒนาขึ้นจนมีความสลับซับซ้อนในเชิงระบบและการให้เหตุผล หลักการทฤษฎีและกลไกทางกฎหมายถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันและควบคุมการใช้และการตีความกฎหมายไม่ให้เป็นไปตามอำเภอใจ

ความแน่นอนในนิติฐานะเป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพและค้ำจุนระบบกฎหมาย

มนุษยชาติเริ่มเรียนรู้ว่าสิทธิเสรีภาพจะไม่มีวันได้รับการคุ้มครองหากระบบกฎหมายไม่สามารถสร้างความชัดเจนแน่นอนในนิติฐานะ (legal certainty) ให้กับพวกเขา นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวโรมันเรียกร้องให้มีการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรก (กฎหมายสิบสองโต๊ะ) เมื่อกว่าสองพันปีก่อน

การเกิดขึ้นของกฎหมายสิบสองโต๊ะเป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายโรมันซึ่งเป็นรากฐานของระบบกฎหมายซีวิลลอว์ กฎหมายโรมันมีความศรัทธาอย่างแน่วแน่ในกฎหมายลายลักษณ์อักษร เพราะกฎหมายลายลักษณ์อักษรสร้างความชัดเจนแน่นอนในนิติฐานะให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถทราบถึงสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมายของตนได้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอการชี้ขาดหรือการตีความกฎหมายจารีตประเพณีตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ ความแน่นอนในนิติฐานะยังช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่ารัฐบังคับใช้กฎหมายกับทุกคนอย่างเสมอภาคหรือไม่

แม้นว่าระบบกฎหมายคอมมอนลอว์จะพัฒนาหลักการกฎหมายจำนวนมากจากการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาในการตัดสินคดี แต่ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ก็มีหลักการตัดสินคดีตามคำพิพากษาบรรทัดฐาน (principle of stare decisis) ซึ่งช่วยกำกับไม่ให้ผู้พิพากษาตัดสินใจคดีตามอำเภอใจ ช่วยสร้างความแน่นอนในนิติฐานะให้กับประชาชน แม้ว่าคำพิพากษาจะสร้างกฎหมายคอมมอนลอว์ขึ้นจำนวนมากในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา กฎหมายส่วนใหญ่ของประเทศที่ใช้ระบบคอมมอนลอว์เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งได้รับอำนาจและความชอบธรรมจากประชาชนในการตรากฎหมาย

กฎหมายลายลักษณ์อักษรในระบบกฎหมายต่างๆ มีทั้งแบบที่เขียนขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจความหมายได้ง่าย และมีแบบที่เป็นนามธรรมหรือเต็มไปด้วยเทคนิคทางกฎหมายที่ต้องพึ่งนักกฎหมายเท่านั้นจึงจะสามารถปรับใช้ได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่ากฎหมายจะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบใด กฎหมายลายลักษณ์อักษรยังคงมีปัญหาความไม่ชัดเจนของถ้อยคำหรือข้อความที่ทำให้เกิดการถกเถียงและการแปลความหมายที่แตกต่างหลากหลายในหมู่นักนิติศาสตร์รวมทั้งประชาชนทั่วไปอยู่เสมอ นี่เป็นเหตุผลให้นักนิติศาสตร์ต้องพัฒนาหลักการและทฤษฎีว่าด้วยการใช้และตีความ เพื่อควบคุมไม่ให้การใช้และการตีความกฎหมายเป็นไปตามอำเภอใจของผู้ตัดสินคดี ถ้าไม่มีหลักและทฤษฎีว่าด้วยการใช้การตีความกฎหมาย การปรับใช้กฎหมายก็จะหาความแน่นอนไม่ได้ และผู้มีอำนาจบังคับใช้หรือตีความกฎหมายก็จะใช้ความไม่แน่นอนนี้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามอำเภอใจ

การตีความตามตัวอักษรและการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

หลักการร่างและบัญญัติกฎหมายในรัฐสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรให้ประชาชนทั่วไปอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย ด้วยการใช้ภาษาชาวบ้านและลดการสร้างความซับซ้อนในทางเทคนิคกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ถ้อยคำหรือข้อความของกฎหมายส่วนใหญ่จึงมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัว เมื่อเกิดปัญหาที่ต้องตีความ ผู้ตีความจึงจำเป็นต้องตีความตามความหมายที่แสดงออกอย่างชัดเจนโดยถ้อยคำนั้นๆ

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะบัญญัติกฎหมายไว้ชัดเจนเพียงใด ก็ยังอาจจะต้องใช้ความรู้ทางกฎหมายที่ได้รับจากการศึกษาอย่างเป็นระบบในการทำความเข้าใจ เช่น คำว่า ‘สมรส’ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบว่า หมายถึงเฉพาะการสมรสที่จดทะเบียนตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หรือแม้ว่าถ้อยคำจะให้ความหมายธรรมดาเพียงใด นักนิติศาสตร์ก็ยังสามารถทำให้เกิดปัญหาในการแปลความหมายของถ้อยคำได้อยู่เสมอ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าการตีความตามความหมายแห่งตัวอักษรไม่อาจยุติข้อขัดแย้งในการตีความได้ และนักนิติศาสตร์ต้องพึ่งพิงทฤษฎีการตีความอื่นที่สามารถมีความน่าเชื่อและสร้างความแน่นอนชัดเจนได้มากกว่า

แม้ว่านักนิติศาสตร์จะพัฒนาทฤษฎีการตีความจำนวนมาก และมีหลักที่แตกต่างกันไปในแต่ละสาขาของกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน กฎหมายอาญา หรือกฎหมายระหว่างประเทศ แต่หลักการตีความทั่วไปที่นักกฎหมายในทุกสาขายอมรับร่วมกันคือ การตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

การตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์ คือ การตีความกฎหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นๆ

การค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายจะต้องทำโดยกระบวนการที่แน่นอนและน่าเชื่อถือ การค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายเป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่นักนิติศาสตร์ เนื่องจากเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้แม่นยำและน่าเชื่อถือที่สุด แม้ว่าความคิดเห็นของผู้ร่างจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่เป็น ‘เบาะแส’ ที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย การค้นหาเจตนารมณ์ของผู้ร่างโดยการสอบถามหรือเค้นหาความจริงจากผู้ร่างที่มีชีวิต เป็นวิธีการยกเว้นหรือเป็นเพียงวิธีการเสริม เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือกรณีที่ข้อมูลในเอกสารไม่ถูกต้องเท่านั้น เนื่องจากความเห็นของคนเป็นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและปัจจัยแวดล้อมที่ดำรงอยู่ในเวลาที่ถาม แต่ข้อความที่บันทึกในเอกสารไม่กลับกลอกตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เอกสารการร่างกฎหมายของไทยมีเพียงบันทึกรายงานการประชุมและเอกสารโต้ตอบของคณะกรรมการร่างกฎหมายหรือคณะกรรมการตรวจร่างกฎหมาย แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก่อตั้งกระบวนการนิติบัญญัติที่มีความสลับซับซ้อนตามแบบประเทศประชาธิปไตยตะวันตก และมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งทำหน้าที่ช่วยรัฐบาลในการร่างกฎหมายก็พัฒนาระบบการร่างและการตรวจแก้ร่างกฎหมายที่มีความสลับซ้อนขึ้น เอกสารการร่างกฎหมายสำหรับกฎหมายฉบับหนึ่งๆ มีปริมาณมากขึ้น และเริ่มมีการกำหนดรูปแบบในการจัดทำบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ

กฎหมายบางฉบับ อย่างเช่นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีการจัดทำเอกสารบันทึกเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแต่ละมาตราไว้ ใช้ชื่อว่า ‘ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ เอกสารชนิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากมีการแสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายไว้อย่างชัดเจน ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนทั่วไปสามารถทำความเข้าใจกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย และปฏิบัติตามกฎหมายได้โดยสะดวกและมีความแน่นอน

หากค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ จากเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญฯ ก็จะพบเหตุผลของการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนว่า “การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้” (หน้า 275) กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ประสงค์ที่จะให้บุคคลใดอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญเห็นว่ายาวนานเพียงพอสำหรับบุคคลหนึ่งในการครองอำนาจสูงสุดในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารและยาวนานเพียงพอที่จะบริหารจัดการตามนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ การรับหลักการจำกัดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งซึ่งใช้กันโดยทั่วไปในระบบประธานาธิบดีมาใช้กับระบบรัฐสภาของไทย แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์พิเศษในการสร้างระบบที่พิลึกพิลั่นเช่นนี้ขึ้น ดังนั้นจึงต้องตีความให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์พิเศษเช่นว่านั้น

เจตนารมณ์ของมีชัย ฤชุพันธุ์ คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ?

แม้ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ จะถูกแสดงไว้อย่างชัดเจนในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญฯ แต่ยังมีผู้ที่พยายามด้อยค่าเจตนารมณ์ดังกล่าวด้วยการตีว่ารัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับไปข้างหน้า (ตั้งแต่วันที่มีผลใช้บังคับวันที่ 6 เมษายน 2560) เท่านั้น เพราะฉะนั้นการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเริ่มจากวันดังกล่าวเป็นต้นไป

จริงอยู่ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ารัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 แต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับไม่ได้หมายความว่า การกระทำทางกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่มีผลทางกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ถ้าการตีความพิสดารเช่นนี้ถูกต้อง บทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐมนตรี เช่น ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก จะมีผลใช้บังคับกับเฉพาะคำพิพากษาจำคุกที่ออกมาภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ เช่นนี้คนที่เคยต้องคำพิพากษามาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติใช่หรือไม่?

ความพยายายามที่จะขยายวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ยาวนานกว่า 8 ปี ด้วยการตีความที่พิลึกพิลั่นเช่นนี้คงมีผลทำให้บทบัญญัติหลายมาตราของรัฐธรรมนูญไม่สามารถบังคับใช้ให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ได้ ทั้งยังขัดแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดีก่อนหน้า ที่ตัดสิทธิบุคคลหรือยุบพรรคการเมืองเพราะการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ

หากเห็นว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 158 วรรคสี่ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 บันทึกไว้ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญฯ ยังไม่เพียงพอในการแก้ไขข้อขัดแย้งในการตีความ เอกสารการร่างกฎหมายอีกชิ้นที่สามารถบ่งชี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ รายงานการประชุมของ กรธ.

ไม่บ่อยนักที่ปัญหาการตีความที่เกิดขึ้นภายหลังกฎหมายใช้บังคับแล้ว จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันตั้งแต่ในชั้นการร่างกฎหมาย แต่ปัญหาการนับระยะเวลา 8 ปี ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลับถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ในการประชุมครั้งที่ 500 โดยนายมีชัยได้แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าระยะเวลา 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่เมื่อเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2557 ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ บทบาทอันสำคัญยิ่งของนายมีชัยในฐานะสมาชิกพลเรือนเพียงคนเดียวของ คสช. ถ้าคนไทยจำนวนมากเชื่อว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือเจตนารมณ์ของนายมีชัย ก็คงไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผล และถ้ามองว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือเจตจำนงของ คสช. นายมีชัยในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของ คสช. ก็คือผู้ร่วมก่อตั้งเจตจำนงนั้น เพราะฉะนั้นความเห็นของนายมีชัยในการประชุมครั้งที่ 500 ไม่ใช่เป็นเพียงความเห็นของประธานหรือสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เป็นความเห็นที่ทรงพลังในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่ทราบถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ดีกว่าใครในโลกนี้

มีผู้โต้แย้งว่าความเห็นให้นับวาระ 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ในการประชุมครั้งที่ 500 ของ กรธ. เป็นเพียงความเห็นของประธานกับรองประธานเท่านั้น ถ้าไม่นับว่านายมีชัยคือผู้รู้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ดีที่สุดในโลกนี้ คนที่คุ้นเคยกับการประชุมร่างกฎหมายก็จะทราบว่า หากกรรมการร่างกฎหมายมีความเห็นถึงหลักการหรือแนวทางใช้หรือการตีความของบทบัญญัติที่กำลังร่างอยู่เป็นประการใด ก็จะได้แสดงความคิดเห็นและมีการจดบันทึกไว้ในรายการประชุม โดยปกติจะไม่มีการลงคะแนนว่าจะถือเอาตามความคิดเห็นแบบใด เพราะฉะนั้นแล้วหากมีผู้แสดงความคิดเห็นไว้ในทางเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความเห็นของประธานและรองประธานโดยไม่มีกรรมการร่างคนใดแสดงความคิดเห็นไว้เป็นอย่างอื่น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันได้ว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีความคิดเห็นร่วมกันว่าการนับระยะเวลา 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ให้เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ในหนังสือ ‘ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560’ นายมีชัยเขียนไว้เองว่า “ในการทำงานของ กรธ. ตั้งแต่ต้นจนจบ จึงไม่เคยใช้วิธีการลงคะแนน (อันที่จริงเคยมีการลงคะแนนกันครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือ เมื่อจะต้องออกไปทำงานที่ต่างจังหวัดเพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จทันกำหนดเวลา มีคนเสนอให้ไปชายทะเล อีกคนเสนอให้ไปภูเขา ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องพูดกันให้ยืดยาว ผมเลยขอให้ยกมือลงคะแนน เมื่อเสียงข้างมากให้ไปทะเล เราจึงไปทะเล)” (หน้า 20)

รายงานการประชุม กรธ. ครั้งที่ 501

หากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนใดไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนายมีชัยที่ให้นับวาระ 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ก็คงจะได้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งไว้ในการประชุมครั้งที่ 500 ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นปัญหานี้มาหารือ และยังมีโอกาสที่จะโต้แย้งได้อีกในการประชุมครั้งที่ 501 ซึ่งมีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 500 การที่ไม่มีกรรมการคนใดทักท้วงถึงความเห็นของนายมีชัย ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่ากรรมการเหล่านั้นมีความเห็นสอดคล้องต้องกันกับความคิดเห็นของนายมีชัย และยอมรับอย่างเอกฉันท์ว่า การนับวาระ 8 ปีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ต้องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2560 นี่คือพยานหลักฐานที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการนับวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี

ยิ่งมีความพยายามจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญในการลบล้างความคิดเห็นและการกระทำครั้งก่อนๆ ของตน ยิ่งมีความพยายามในการทำลายความน่าเชื่อถือของข้อเท็จจริงที่ถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมครั้งที่ 500 ด้วยการอ้างว่าการมีการจดบันทึกรายงานการประชุมที่คลาดเคลื่อนหรือไม่เคยมีการรับรองรายงานการประชุม ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่า ความเห็นในการตีความมาตรา 158 วรรคสี่ของนายมีชัยที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุมครั้งที่ 500 คือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติ

การตีความตามอำเภอใจให้อยู่เกิน 8 ปี

มีผู้เสนอให้ใช้หลักรัฐศาสตร์เหนือหลักนิติศาสตร์ในการตีความมาตรา 158 วรรคสี่ โดยเฉพาะความเห็นที่ว่าให้เลือกทางสายกลางระหว่างตัวเลือกที่ให้เริ่มนับ 8 ปี จาก พ.ศ. 2557 พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2562 คือให้เริ่มนับ 8 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2560 การตีความกฎหมายแบบทางสายกลางเช่นว่าไม่เคยมีหลักหรือทฤษฎีไหนในทางนิติศาสตร์รองรับหรืออธิบายความชอบธรรมได้ การตีความทางสายกลางในลักษณะที่ใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์เป็นเพียงผลของการตีความตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นความพยายามในการทำลายผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการปรับใช้หลักกฎหมายตรงอย่างตรงไปตรงมา การปรับใช้มาตรา 158 วรรคสี่ และการค้นหาเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้ คือการใช้และการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ไม่ใช่การปรับใช้หลักรัฐศาสตร์

สังคมไทยต้องเสียหายและประชาชนคนไทยต้องเสียโอกาสไปเท่าไหร่กับการตีความโดยใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์ในคดีสำคัญๆ ซึ่งเป็นจุดผกผันทางการเมืองและทางกฎหมายของประเทศ

การตีความการนับเวลา 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ให้สอดคล้องกับหลักนิติศาสตร์ คือการตีความเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเป็นแนวทางการตีความที่ก่อให้เกิดความชัดเจนแน่นอนในทางกฎหมายอันจะเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน เจตนารมณ์ของมาตรา 158 วรรคสี่ในการนับเวลา 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีเพียงเจตนารมณ์เดียวเท่านั้น คือการเริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แต่ถ้าอยากตีความให้นายกรัฐมนตรีอยู่เกิน 8 ปี ก็ต้องตีความตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นการตีความแบบไทยๆ ที่มีให้เห็นอยู่เสมอ ถ้าจะตีความตามอำเภอใจอีกสักคดีก็ไม่นับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดประการใดในสังคมไทยที่ระบบกฎหมายและกระบวนยุติธรรมถูกย่ำยีเป็นปกติ

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save