fbpx

‘บ้านร้าง’ กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนญี่ปุ่น

ไม่น่าเชื่อว่าที่ญี่ปุ่นมีบ้านเก่าและทรุดโทรมที่ไม่มีคนอาศัยอยู่จนกลายเป็น ‘บ้านร้าง’(空き家)อยู่ทั่วประเทศ จากการสำรวจของกระทรวงกิจการภายในและการไปรษณีย์(総務省)ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่ามีบ้านร้างในญี่ปุ่นอยู่ราว 8.5 ล้านหลัง คิดเป็นประมาณ 13 % ของบ้านทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นบ้านในโตเกียว เขตเซตางายา(世田谷区)มากที่สุดคือ 52,000 หลัง ในโตเกียวมี 3 เขตที่อยู่ใน 10 อันดับของเมืองที่มีบ้านร้างมากที่สุด ถ้าคิดคร่าวๆ เฉพาะ 3 เขตนี้มีบ้านร้างรวมกันถึง 1.4 แสนหลัง นอกนั้นกระจายกันอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่นทั้งเขตเมืองและชนบท รองจากโตเกียว คือเมืองคาโงชิมะ จังหวัดคาโงชิมะ อยู่ทางตอนใต้สุดของเกาะคิวชู  มีบ้านร้าง 47,500 หลัง เมืองมินามิชิตะ(南知多町)เมืองเล็กๆ ในจังหวัดไอจิ(愛知県)ตอนกลางของเกาะฮอนชู มีประชากร 16,459 คน มีบ้าน 8,150 หลัง ในจำนวนนี้เป็นบ้านร้าง 1,760 หลัง คิดเป็นอัตราส่วนบ้านร้าง 1 หลัง ต่อบ้านปกติ 5 หลังทีเดียว

บ้านร้างมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น สร้างปัญหาและความกังวลใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียง เนื่องจากขาดการดูแลบำรุงรักษาจนทรุดโทรม รอบบ้านรกรุงรัง กระเบื้องมุงหลังคาโหว่ หน้าต่างกระจกแตก เสาบ้านโย้เอียง จนอาจพังทลายลงเมื่อใดก็ได้ มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นรกเรื้อ และเป็นที่อยู่อาศัยของนก หนู แมลงต่างๆ มีมูลสัตว์ส่งกลิ่นเหม็น เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในชุมชน และทำให้ภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบไม่น่าดู 

ในชนบทห่างไกลบางแห่งที่มีแต่คนสูงวัย มีคนวัยหนุ่มสาวน้อย เพราะไปทำงานและสร้างครอบครัวในโตเกียวหรือเมืองใหญ่ๆ อีกทั้งมีปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลงก็ยิ่งมีแนวโน้มบ้านที่เคยอาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่กับปู่ ย่า และพ่อแม่จะถูกปล่อยทิ้งร้างเมื่อคนรุ่นก่อนเสียชีวิตลง บ้านที่ได้รับตกทอดมาจึงกลายเป็น ‘ทุกขลาภ’ ของลูกหลาน เพราะไม่อยากกลับไปดูแลเนื่องจากมีค่าใช้จ่าย ลำพังเอาชีวิตรอดในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็ยากแล้ว

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องตรวจสอบบ้านร้าง หากพบว่าทรุดโทรมจนอาจก่อให้เกิดอันตรายเมื่อมีลมพายุ แผ่นดินไหว หรือเป็นต้นเหตุให้เกิดสุขอนามัยที่ไม่ดี มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้านและชุมชนใกล้เคียง ก็จะกำหนดเป็น ‘บ้านร้างอันตราย’(特定空き家)ที่ต้องดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ดังตัวอย่างบ้านในชนบทจังหวัดไอจิ จากจำนวนบ้านร้าง 1,760 หลัง มีบ้านที่ถูกกำหนดเป็นบ้านร้างอันตรายถึง 150 หลัง บ้านที่อยู่ในข่ายนี้ ผู้เป็นเจ้าของจะต้องเสีย ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’(固定資産税)ในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงสูงสุด 6 เท่าของปกติซึ่งคิดเป็น 1.4-1.6% ของราคาทรัพย์ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น 

บางท้องถิ่นที่มีบ้านร้างจำนวนมากจึงนำระบบ ‘ธนาคารบ้านร้าง’(空き家バンク)มาช่วยเหลือผู้เป็นเจ้าของในการดูแล  ซ่อมแซม หรือหาผู้เช่าที่สนใจจะย้ายเข้ามาอยู่ ซึ่งก็จะช่วยลดภาษีลงได้ เมื่อมีผู้อยู่อาศัยจะคำณวนภาษีเฉพาะส่วนของที่ดิน   โดยท้องถิ่นมีเงินช่วยเหลือบางส่วนให้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจูงใจให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นนั่นเอง แต่ปัญหาคือบางกรณีไม่สามารถหาตัวเจ้าของได้ บ้านก็ทรุดโทรมจนเข้าข่ายต้องรื้อถอน ซึ่งใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน เนื่องจากปัญหาด้านกฎหมายยังไม่ครอบคลุมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำงบประมาณที่มีอยู่มาดำเนินการได้

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก คนวัยทำงานที่เคยหลั่งไหลเข้ามาเรียนและทำงานในเมืองหลวง ซึ่งทุกคนต่างคิดว่าเป็นที่ที่มีโอกาสดีๆ ในอนาคต เข้ามาอยู่จนสร้างครอบครัวและปักหลักอยู่ที่โตเกียว แต่เมื่อต้องรักษาตัวให้รอดปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนขณะนี้กำลังเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 7 ต้องทำงานที่บ้านกันมาตลอด ทำให้หลายคนเริ่มเบื่อหน่ายการใช้ชีวิตทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ที่แออัด ทุกอย่างเร่งรีบตลอดเวลา และมีค่าครองชีพสูงอย่างโตเกียว จนคิดจะไปใช้ชีวิตในจังหวัดห่างไกล หลายคนตัดสินใจทิ้งแสงสี ความวุ่นวายสับสน แต่ไม่ทิ้งงาน โดยไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่อยู่ในกรอบของการทำงานแบบเดิม หรือเริ่มอยากใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น จึงเกิดกระแส ‘การย้ายที่อยู่โดยไม่ต้องเปลี่ยนงาน’(転職なき移住)หมายความว่าจะอยู่ที่ใดในญี่ปุ่น แม้ไม่ใช่ที่อยู่ถาวรก็ทำงานให้บริษัทได้ และยังสามารถย้ายที่อยู่ไปได้เรื่อยๆ หากพอใจที่ใดก็อยู่นาน เบื่อก็ย้ายต่อไปอีก เป็นกระแสที่นิยมมากขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวถึงช่วงวัย 40 ปี 

จากจุดนี้เองที่บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่เคยแต่บริการหาห้องเช่าหรือเป็นตัวกลางซื้อขายบ้าน มีช่องทางทำประโยชน์จากบ้านร้างที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ไม่เฉพาะในท้องถิ่นห่างไกลที่มีประชากรเบาบางเท่านั้น รวมถึงในเมืองใหญ่ด้วย ก่อนอื่นบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จะแนะนำลูกค้าที่เป็นเจ้าของให้รู้ราคาแท้จริงของทรัพย์ และเริ่มคำนวณถึงผลดีผลเสีย หากปล่อยทิ้งร้างไม่มีคนอยู่อาศัย บ้านก็จะทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว จนอาจถูกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดเป็น ‘บ้านร้างอันตราย’ สั่งให้รื้อถอน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนสูงและความรับผิดชอบอื่นๆ ตามมาอีก จึงต้องรีบตัดสินใจว่าจะขายหรือให้เช่า เพื่อได้ประโยชน์จากบ้านจะดีกว่า

เจ้าของบ้านบางคนไม่อยากมีภาระการไปดูแลบ้านร้างของตัวเองที่อยู่คนละจังหวัด ครั้นจะปล่อยทิ้งไว้ ก็จะถูกร้องเรียนจากชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับความเดือดร้อน มีเจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่คิดว่าเป็นบ้านเก่าทรุดโทรม อยู่ห่างไกล คงไม่มีราคา แม้อยากขายก็คงไม่ง่ายจึงถอดใจ แต่เมื่อมีบริการจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยสำรวจตัวบ้าน ประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อม เพื่อให้เช่าหรือขาย จึงมีผู้สนใจใช้บริการมากขึ้น

บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในโตเกียว ทำการสำรวจเจ้าของบ้านร้าง 300 คน พบว่ากว่า 70% ตอบว่า “ไม่ทำอะไรกับบ้านร้างของตัวเอง” 

31.3% บอกว่า “แม้อยากขาย ก็คิดว่าขายไม่ได้” 

29.7% “ไม่อยากใช้เงินเพื่อซ่อมแซม” เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เห็นคุณค่าในทรัพย์สินของตัวเองเลย 

เมื่อถามเหตุผลที่ปล่อยบ้านทิ้งไว้เฉยๆ  35% บอกว่า “ไม่อยากควักเงินเป็นค่าใช้จ่ายดูแล”

30.7% “อยากหาประโยชน์ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร” 

23.7% คิดว่า “บ้านไม่น่าจะมีราคาสักเท่าใด” 

สรุปได้ว่าเจ้าของบ้านรู้สึกเป็นภาระ แม้อยากจะหาประโยชน์ในทรัพย์ของตัว แต่ก็ไม่รู้วิธี มืดแปดด้าน บางคนไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม กลายเป็นว่าการมีทรัพย์ (ที่ได้เปล่า) ก็สร้างภาระและความทุกข์ให้ได้ เป็น ‘ทุกขลาภ’  ไปอย่างน่าเสียดาย จึงเป็นโอกาสที่นายหน้าอสังหาริมทรัพย์หาวิธี ‘เพิ่มมูลค่า’ ทำให้บ้านเก่า ทำเลห่างไกล ที่เจ้าของคิดว่าไม่น่าจะมีมูลค่าให้เป็นที่ต้องการของลูกค้าให้ได้

มีบริษัทแห่งหนึ่งใช้กลยุทธ์เสนอค่าเช่าบ้านในราคาถูกกว่าราคาตลาด 20-30% โดยให้ลูกค้าที่จะเข้าอยู่สามารถปรับปรุงบ้านเองตามใจชอบ ตามรสนิยมของตัวเอง แต่ผู้เช่าออกค่าใช้จ่ายเอง เป็น ‘การให้เช่าแบบ DIY’ เมื่อจะย้ายออก ก็ออกได้เลยโดยไม่ต้องทำให้สภาพห้องเป็นแบบเดิมเหมือนตอนที่จะเข้าอยู่ เป็นเงื่อนไขที่แตกต่างจากสัญญาเช่าโดยทั่วไปในญี่ปุ่นที่เข้มงวดมากในการบังคับให้ผู้เช่าถนอมรักษาและคงสภาพเดิมให้มากที่สุด หากผิดไปจากสภาพเดิมก็ต้องหักเงินค่ามัดจำอย่างโหดทีเดียว เงื่อนไขนี้จึงจูงใจผู้เช่ามาก ขณะเดียวกันเจ้าของบ้านก็ไม่ต้องยุ่งยากในการหาผู้รับเหมาซ่อมแซม และเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านให้ดีก่อนจะให้เช่าเลย อีกทั้งยังได้ผู้เช่าซึ่งจะช่วยดูแลบ้านและที่สำคัญเมื่อมีผู้อยู่อาศัยก็จะได้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงอีก ยิ่งไปกว่านั้นยังจ่ายค่าเช่าบ้านให้อีก ทำให้มีรายได้จากบ้านร้างของตัวเอง เรียกว่า ‘วิน- วิน’ กันทั้งสองฝ่าย

ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด มีคนจำนวนไม่น้อยที่หลงใหลเสน่ห์ของบ้านเก่า บางคนใฝ่ฝันอยากมีบ้านที่มีเนื้อที่กว้างๆ  แต่มีเงินไม่พอ บางคนเป็นช่างฝีมือสามารถทำเองได้ การได้แสดงฝีมือการตกแต่งบ้านตามแบบที่ตัวเองชอบเป็นข้อเสนอที่จูงใจผู้เช่ามาก ผู้เช่าหลายรายตกลงรับเงื่อนไขทันที บางคนทำงานเกี่ยวกับศิลปะ มีจินตนาการกว้างไกล อยากเพิ่มศักยภาพ สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ที่กำหนดได้เอง ทาสีที่ชอบ ตกแต่งและจัดแบ่งโซนที่ทำงาน  ที่พักผ่อนได้ตามใจชอบ ไม่ต้องคำนึงถึงการเดินทางแม้จะอยู่ในชนบทก็ตาม เพราะส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้าน กล่าวได้ว่า ‘การให้เช่าแบบ DIY’  ทำให้ผู้เช่าพากันถูกใจมาก บอกกันปากต่อปาก นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ช่วย ‘พลิกฟื้นคืนชีวิต’ ให้บ้านร้างได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว บ้านร้างที่ไม่มีคนสนใจ มีแต่ก่อให้เกิดปัญหาจึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

มีแนวโน้มที่เจ้าของ ‘บ้านร้าง’ ทั้งหลายหันมาเหลียวแลสมบัติของตัวเองกันมากขึ้น ใช้บริการบริษัทผู้สำรวจสภาพบ้าน  ประเมินราคาซ่อมปรับปรุง และราคาขายในตลาด แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะขาย จะลงทุนปรับปรุงแล้วให้เช่าดี หรือจะให้เช่าแบบ DIY ดี คิดอย่างรอบคอบกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีผู้จ้องใช้ประโยชน์จากการที่เจ้าของบ้านยังเข้าใจผิดว่า ‘บ้านร้างขายยาก’ มารับซื้อโดยเสนอราคาถูกแสนถูกให้ เจ้าของบ้านจึงพากันให้ข้อมูลว่าอย่ารีบตัดสินใจขายเพราะอยากตัดภาระการดูแลไป ให้หาข้อมูลจากบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์หลายๆ แห่งเพื่อรู้ราคาตลาด

ขณะที่ ‘บ้านร้าง’ ในญี่ปุ่นเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป   ต้องทำงานที่บ้านกันมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพงขึ้น ราคาวัสดุก่อสร้างก็พุ่งสูงขึ้น หรือบางอย่างขาดแคลน หาซื้อยากขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เช่น ไม้สนที่ดีและมีคุณภาพในการสร้างบ้านใหม่ต้องนำเข้าจากยูเครน รัสเซีย เป็นต้น คนญี่ปุ่นจึงต้องปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตไปตามสถานการณ์ ‘บ้าน’ ของพ่อแม่ ปู่ย่า ที่ไม่เคยเหลียวแล ไม่เคยเห็นคุณค่า คิดว่าเป็นภาระ หรือ ‘ทุกขลาภ’  ก็หันมาใส่ใจดูแลกันมากขึ้น และยังได้รับผลตอบแทนกลับมาช่วยแบ่งเบาภาระในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

‘บ้านร้าง’ จึงกลายเป็น ‘บ้านที่มีชีวิต’ ทำให้เจ้าของยิ้มออกมาได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save