fbpx

‘สตรี-ชีวิต-อิสรภาพ’ เมื่อผู้หญิงลุกมาเผาฮิญาบเพื่อประท้วงตำรวจศีลธรรมในอิหร่าน

เป็นเวลาเกือบสัปดาห์แล้วที่บรรยากาศในอิหร่านคุกรุ่นด้วยความไม่พอใจ ภายหลังหญิงสาววัย 22 ปีคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโทษฐานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยการสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมศีรษะในที่สาธารณะ และทำร้ายเธอจนอาการสาหัสและเสียชีวิตหลังเข้ารักษาตัวนานสามวันเต็ม กลายเป็นชนวนใหญ่ที่ทำให้ผู้หญิงในอิหร่านลุกขึ้นมาเผาฮิญาบของตัวเองเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และความรุนแรงต่อสตรีเพศในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran)

กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา มาห์ซา อามินี หญิงสาวจากย่านเคอร์ดิสถาน ออกเดินทางไปยังกรุงเตหะรานกับครอบครัวและถูกตำรวจศีลธรรม (Guidance Patrol) เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามของอิหร่านจับกุม โทษฐานที่ไม่สวมฮิญาบให้ตรงตามที่รัฐบาลกำหนด โดยเจ้าหน้าที่บอกกับครอบครัวเธอว่าจะขอพาตัวอามินีไป ‘เข้ารับการอบรม’ และจะปล่อยตัวเธอภายในหนึ่งชั่วโมง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอกลับถูกพาตัวไปยังโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน และเข้ารักษาตัวด้วยอาการโคม่าอยู่สองวันก่อนจะเสียชีวิตลง

ตำรวจให้การว่าเธอหัวใจล้มเหลวกะทันหันขณะที่ครอบครัวของอามินีโต้แย้งอย่างหนักแน่นว่า ศีรษะและขาของอามินีเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำขนาดใหญ่ ตรงกันกับที่พยาน -ซึ่งคือผู้หญิงอีกคนที่ถูกจับขึ้นรถตำรวจพร้อมอามินี- ชี้ว่าเธอเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายฟาดอามินีเข้าที่ศีรษะด้วยกระบอง และมีนายแพทย์หลายคนออกมาแสดงความเห็นว่าสมองของอามินีนั้นได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง มีเลือดออกที่หูและรอยช้ำวงใหญ่ที่เบ้าตาทั้งสองข้าง หลังจากนั้นอีกไม่กี่อึดใจ มีคนเจาะเข้าระบบโรงพยาบาลที่อามินีรักษาตัว และปล่อยข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุภาพกะโหลกศีรษะของเธอกับรอยแตกขนาดใหญ่ มีภาวะเลือดออกและสมองบวม

ฟากผู้บัญชาการตำรวจ โฮสเซน ราฮิมิ ปฏิเสธว่ามีการใช้ความรุนแรงจากตำรวจ และระบุว่าเจ้าหน้าที่นั้นพยายาม “ทำทุกทางแล้ว” เพื่อจะยื้อชีวิตของอามินี รวมทั้งบอกว่าการตายของเธอนั้นช่าง “โชคร้าย” เสียจริง

ไม่กี่วันหลังความตายของอามินีและข้อมูลทางการแพทย์ที่หลุดออกมาสู่สาธารณะ (รวมทั้งคำให้การของราฮิมิ) การประท้วงเริ่มต้นขึ้นที่เคอร์ดิสถาน -บ้านเกิดของเธอ- เมื่อเหล่าเฟมินิสต์หลายคนออกมารวมตัวกันด้วยสโลแกน ‘สตรี-ชีวิต-อิสรภาพ’ และ ‘เผด็จการจงไปตาย’ ตามมาด้วยการประท้วงในโรงพยาบาลที่กรุงเตหะรานซึ่งอามินีรักษาตัวและเสียชีวิต ขณะที่ในงานศพของอามินี ผู้หญิงหลายคนถอดฮิญาบทิ้งเพื่อประท้วงการบังคับใช้กฎหมายการคลุมฮิญาบในอิหร่าน

เป็นที่แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามระงับการชุมนุมทั้งที่เตหะรานและเคอร์ดิสถาน แต่ถึงเวลานั้นเปลวเพลิงแห่งความเคียดแค้นก็ลุกขึ้นไปทั่วอิหร่านแล้ว ผู้คนจำนวนหลายพันคนพากันลงถนนเพื่อประท้วงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้หญิงหลายคนเอากรรไกรตัดฮิญาบทิ้งท่ามกลางเสียงเชียร์เอาใจช่วยของผู้เข้าชุมนุมคนอื่นๆ อีกหลายคนอัดวิดีโอตัวเองเผาฮิญาบและติดแฮชแท็ก #MahsaAmini จนกลายเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ รวมทั้งมีเยาวชนหลายคนที่เข้าร่วมการชุมนุมและกู่ร้องว่า “เราคือบุตรหลานจากสงคราม เข้ามาสิโว้ย เราจะสู้กลับแน่” ขณะที่การประท้วงก็ทวีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินใจใช้กำลังปราบปราม โดยกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนชาวเคิร์กระบุว่าจนถึงเวลานี้มีผู้เสียชีวิตจากการถูกตำรวจใช้ความรุนแรงแล้วทั้งสิ้นเจ็ดคน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุเพียง 16 ปี (ทั้งนี้ ทางการอิหร่านยังไม่ออกมาชี้แจงประเด็นนี้แต่อย่างใด)

มีพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN ว่า “มีเด็กหนุ่มสองคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบทำร้าย แล้วลากขึ้นรถตู้ซึ่งจอดอยู่หน้าประตูทางเข้ารถไฟใต้ดิน แล้วยังมีเด็กสาวที่ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่ข้างทาง สักพักหนึ่งก็มีรถพยาบาลมารับตัวเธอไป นอกจากนี้ยังมีคนอีกสักห้าคนเห็นจะได้ที่ถูกจับตรงจัตุรัสอิงเฮลับ”

จนถึงตอนนี้ การประท้วงในอิหร่านยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ผู้เข้าชุมนุมหลายพันคนยังคงเรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้ความรุนแรงจากตำรวจรวมทั้งตั้งคำถามต่อกฎระเบียบในอิหร่าน รวมทั้งกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากเยาวชนและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ทำแฟลชม็อบท้าทายรัฐ และอัดคลิปวิดีโอว่าด้วยการไม่ยินยอมให้รัฐบาลมาปิดปากประชาชนอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลในอิหร่านนั้นคุกรุ่นมาพักใหญ่แล้ว โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เซฟิเดห์ ราชห์โน นักเขียนและศิลปินหญิงวัย 28 เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการบังคับใส่ฮิญาบ และถูกคนรอบตัวคุกคามบนรถโดยสารอันเนื่องมาจากเธอ ‘แต่งตัวไม่เหมาะสมและไม่ตรงตามกฎ’ ของรัฐอิหร่าน ไม่นานหลังจากนั้นเธอถูกจับกุม ก่อนจะปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ พร้อมผ้าคลุมฮิญาบบนศีรษะและสารภาพความผิดต่อหน้าสาธารณะชนข้อหาไม่แต่งกายตามที่รัฐกำหนดไว้ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าเธอถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายหรือทรมานหรือไม่

ทั้งนี้ มีกฎให้สตรีชาวอิหร่านสวมฮิญาบมาตั้งแต่ปี 1979 ภายหลังการปฏิวัติอิหร่าน กระทั่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ เอบรอฮีม แรอีซี ประธานาธิบดีอิหร่านผู้ขึ้นชื่อเรื่องความอนุรักษนิยมจัด ลงนามกฎหมายว่าด้วยความเคร่งครัดเรื่องระเบียบการแต่งกาย รวมทั้งสตรีคนใดก็ตามที่โพสต์ภาพลงอินเตอร์เน็ตโดยไม่สวมฮิญาบหรือแต่งกายไม่ตรงตามที่กฎหมายระบุ จะถูกจำกัดสิทธิทางสังคมบางประการเป็นเวลาหกเดือนถึงหนึ่งปี

อาลี อันซารี ศาสตราจารย์ด้านการเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลางจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์แสดงความเห็นว่า การปราบปรามผู้เห็นต่างหรือผู้ขัดขืนต่อกฎระเบียบของรัฐนั้นรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากแรอีซีได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี “พร้อมกันนี้ การเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีก็สั่นสะเทือนความมั่นคงของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันสะท้อนถึงการทำลายขนบสังคมแบบเดิมและชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลจากโลกตะวันตกที่ทะลักเข้ามาในสังคมด้วย”

ที่มาภาพ: Yasin Akgu – Agence France-Presse (AFP)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save