fbpx

8 ปีระบอบประยุทธ์: อ่านชะตาการเมืองไทยกับ สุขุม นวลสกุล

ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ปมการครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 8 ปีและมีมติ 5 ต่อ 4 ให้นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมติจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ส่งผลให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เครือข่ายอำนาจเดียวกันขึ้นมานั่งตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี

จากภาพพลเอกประวิตรที่ต้องมีคนคอยประคองกลับเดินสง่าผ่าเผยไร้คนดูแลภายในข้ามคืน การเปลี่ยนแปลงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในรอบ 8 ปี สั่นสะเทือนอำนาจและสายสัมพันธ์ภายในรัฐบาลหรือไม่ และจะส่งผลต่อฉากทัศน์การเมืองไทยอย่างไร

101 สนทนากับ ดร.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการอิสระ ถึงอนาคตของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การเลือกตั้งสมัยหน้าและการเมืองภาคประชาชน


ท่ามกลางฝุ่นตลบอบอวลของเหตุบ้านการเมือง อาจารย์คาดการณ์ว่าผลการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปในทิศทางใด

ตอนนี้ทุกคนรอเงี่ยหูฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าดูตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ข่าวก็คิดว่าผลการวินิจฉัยน่าจะไม่เกินสิ้นเดือนกันยายน เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญให้โอกาสพลเอกประยุทธ์ 15 วันในการทำคำชี้แจง สำหรับผมพลิกความคาดหมายตั้งแต่ต้น เพราะคิดว่าศาลรัฐรัฐธรรมนูญรับเรื่อง แต่คงไม่มีคำสั่งพักงาน กลายเป็นว่ารับเรื่องแล้วก็ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตอนแรกผมก็คล้อยที่ อ.จรัญ ภักดีธนากุล (อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) บอกว่า 60 ต่อ 40 อนาคตไปแน่ แล้วพอเห็นวันแรกที่ท่าน (พลเอกประยุทธ์) โดน ผมรู้สึกว่าท่านหงอย แต่ปรากฏว่าพออีกวันท่านฮึดสู้แล้ว

การเมืองไทย บางทีกฎเกณฑ์ต่างๆ สู้โชคชะตาไม่ได้ ผมดูโหงวเฮ้งว่าท่านกลับกระปรี้กระเปร่าขึ้น ตอนนี้ก็ชักคิดว่าที่ อ.จรัญ ทายคงไม่ถูกล่ะมั้ง น่าจะเป็นออกกลางๆ คือให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งปี 2560 คือปีที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้


ถ้าเริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 แสดงว่าพลเอกประยุทธ์ก็ยังมีโอกาสไปต่อในสนามการเมืองถึงปี 2568

ถ้าได้ไปต่อ ท่านก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว หลังจากนั้นสิ่งที่ถืออยู่ในมือท่านคือการปรับ ครม. จะเพิ่มจำนวนรัฐมนตรีให้ครบตามจำนวนที่สามารถตั้งได้คือ 35 คนไหม ซึ่งผมเชื่อว่าตอนนี้ต้องปรับแล้ว เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง


ฉากทัศน์การเมืองไทยที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจากนี้มีอะไรบ้าง

ถ้าสมมติเกิดเหตุการณ์สุญญากาศทางการเมือง นายกรัฐมนตรีถูกตัดสินว่าดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี ผมว่าประชาชนจะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง จะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ ซึ่งวันนี้มีการพูดแล้วว่ารักษาการนายกรัฐมนตรียุบสภาได้ ถ้ารักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้จริงและประยุทธ์ไม่กลับมา พรรคพวกที่เชียร์ประวิตรอยู่ก็คงยุให้ยุบสภาเลย เพราะว่าตัวเองจะได้เป็นผู้พร้อมที่สุดในการเลือกตั้งของฝั่งรัฐบาล

แต่ถ้าเกิดตัดสินว่าพลเอกประยุทธ์ผ่าน ก็คงถูลู่ถูกังไปจนกว่าจะครบวาระตามแผนเดิม เพราะในสายตาผม นักการเมืองฝ่ายค้านเองก็ยังไม่อยากให้ยุบสภา เนื่องจากยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะชูใครเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐบาลก็เชื่อว่าการจัดงาน APEC จะช่วยทำให้รัฐบาลดูมีสง่าขึ้นจากการได้รับการรับรองจากต่างชาติ เหมือนที่ธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกรัฐบาลพูดว่ากว่าจะถึงเลือกตั้ง ประชาชนหน้าใสและเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นแล้ว

ผมคิดว่าถึงจะเลือกตั้งตอนนี้ฟากรัฐบาลก็มั่นใจว่าไม่แพ้ แต่เราในฐานะคนดูรู้สึกว่าเลือกตั้งวันนี้รัฐบาลแพ้แน่ เพราะคนครวญครางกันทุกหย่อมหญ้า ประชาชนเห็นฝีมือรัฐบาลแล้วไม่ประทับใจ นโยบายที่คนเคยชื่นชม พอมีบ่อยๆ เข้ามันก็เป็นเรื่องธรรมดา รัฐบาลไม่ได้มีโครงการใหม่ๆ ที่ทำให้คนมีความหวัง ความใหม่บางอย่างก็ไกลตัวเหลือเกินอย่าง EEC


พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร แม้จะมาจากขั้วการเมืองเดียวกัน แต่ก็มีการขับเคี่ยวทางการเมือง ณ ตอนนี้พลังการเมืองของคนที่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชาแผ่วลงไหม ถ้าเทียบกับพลเอกประวิตรที่อาจจะดูไม่แข็งแรง แต่ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามีอำนาจสั่งการได้จริง

คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีฐานเสียงประชาชนที่เลือกมา เสียงทหาร เสียงราชการ ผมมองดูว่าพลเอกประยุทธ์สู้พลเอกประวิตรไม่ได้ในส่วนนักการเมือง แต่ผมว่าเสาอื่นท่านก็คิดว่าท่านเหนือกว่า เราดูแล้วท่านก็น่าจะเหนือกว่าด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อดีของพลเอกประวิตรคือเป็นคนเข้าใจการเมืองได้เร็ว บริหารการเมืองเป็น การเมืองเข้าสู่เป้าหมายด้วยการต่อรอง ไม่ใช่สู่เป้าหมายด้วยการบังคับบัญชา เพราะฉะนั้นคนเป็นนักการเมืองจึงมาหาประวิตร ถ้ามีการต่อรองก็มีอะไรติดมือกลับบ้าน


อย่างที่อาจารย์ประเมินว่านายกรัฐมนตรีจะสามารถไปต่อถึงปี 2568 อาจารย์มองว่ามีโอกาสกี่เปอร์เซ็นต์ที่จะเห็นคุณประยุทธ์ลงเลือกตั้งครั้งหน้า

วันนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นคุณแก่พลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าจะเหลือโอกาสทางการเมืองสมัยหน้า 2 ปีหรือเหลือเต็ม 4 ปี ผมคิดว่ายังไงก็ต้องมีชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เพราะเขามีความรู้สึกว่าหากไม่ได้ลงเลือกตั้งคือเขาแพ้ จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ “พูดกันได้ยังไงว่าคนไม่นิยมผม เคยเห็นใครเสียสละขนาดนี้ไหม” สมมติส่งประยุทธ์แล้วชนะ เหลือวาระอีก 2 ปีก็ยังสามารถเปลี่ยนม้ากลางศึก ส่งต่อให้พวกเดียวกันได้ ผมมองว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเครือข่ายพลังประชารัฐก็มีสองคน มีประวิตรกับประยุทธ์ที่เป็นตัวเต็งอยู่ ไม่แน่อาจจะสามด้วยซ้ำ กรณีประยุทธ์เหลือวาระ 2 ปี


หลายคนลือว่าคุณธรรมนัสจะกลับพรรคเพื่อไทยเป็นจริงหรือไม่

ผมไม่ทราบนะว่าจะกลับจริงหรือเปล่า สิ่งที่น่าจะถามคือเพื่อไทยจะรับธรรมนัสกลับไปหรือเปล่าต่างหาก เพราะวันนี้เพื่อไทยจะได้เสียงจากคนที่อยู่ตรงข้ามกับธรรมนัส คุณรับเอาธรรมนัสมาคนก็บอกซูเอี๋ยทันทีเลย สิ่งที่คนเขาระแวงกันอยู่คือเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ โทนี่กับบิ๊กป้อมโทรคุยกันหรือเปล่า สมมติธรรมนัสไปเข้าเพื่อไทย ความเชื่อตรงนี้มันเกิดขึ้นได้


โอกาสเป็นไปได้แค่ไหนที่หลังเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐจะประนอมอำนาจกัน เพื่อให้ประเทศไทยไปต่อได้

“ไอ้ล้มเจ้า” (ชี้หน้า) “มาเป็นเพื่อนกัน” (กอด) คนดูจะรู้สึกยังไง คุณไปประณามเขาสูงมากจนทำให้เวลาที่จำเป็นต้องคุยกัน ก็ไม่กล้ากระทั่งจะคุยกันให้คนเห็น ทั้งๆ ที่อาจจะคุยกันจริงก็ได้ แต่แค่รู้ก็รีบปฏิเสธแล้ว คือมันประณามแบบไม่เผาผีกันแล้ว


ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสพลิกขั้วมาเป็นรัฐบาลไหม โดยเฉพาะการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลเพื่อเป็นรัฐบาลจะเป็นไปได้หรือเปล่า

ผมคิดว่ามีโอกาส แต่ต้องชนะเลือกตั้งท่วมท้นนะ ส่วนการจับมือพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล คุณไปดูที่เขาทำกันในสภา กทม. สิ ทำไมเขาจับมือกันได้ จริงอยู่ที่เขาคุมเชิงชิงข้อได้เปรียบ เพราะว่าต้องยอมรับว่าเขาคือคู่แข่งกัน แต่คนที่เขาเล่นการเมืองจริงๆ เขาบอกว่าการเมืองเหมือนมวย ชกเสร็จจับมือ


ขยับออกมามองภาพกว้าง ในฐานะที่อาจารย์เป็นอาจารย์รัฐศาสตร์มองการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตอนนี้บรรยากาศการเมืองเรากำลังปรับการเผชิญหน้า การเมืองมันเผชิญหน้าสองฝ่ายเสมอ ปกติก็จะเป็นฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่เมื่อไหร่ฝ่ายค้านทำท่าจะไม่มีฤทธิ์เดช ฝ่ายรัฐบาลก็จะเล่นกันเอง ในขณะเดียวกันเมื่อไหร่ที่ฝ่ายรัฐบาลทำท่าจะหงอยๆ ฝ่ายค้านก็มองซ้ายมองขวาเหมือนกัน เพราะการเมืองคือการแข่งขัน การเมืองคือแย่งชิงว่าใครจะได้อำนาจ

ผมเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์สอนการเมืองไทยมาโดยตลอด ผมสังเกตเห็นว่าความขัดแย้งอาจจะเปลี่ยนรูปไป เมื่อก่อนนี้เราต้องพูดถึงคอมมิวนิสต์กับเสรีนิยม หรือคอมมิวนิสต์กับอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มีคู่ขัดแย้งชัดเจน และเราก็เรียกประชาธิปไตยแบบไทยๆ วันนี้มันเปลี่ยนเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความจนกับความรวย ความไม่เสมอภาคกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม

ความขัดแย้งเปลี่ยนรูปไปตลอด คู่ขัดแย้งก็เปลี่ยน อยู่ที่การจับคู่ อย่างการจับคู่พวกก่อความไม่สงบเผาบ้านเผาเมืองกับพวกรักความสงบจนมาเป็น ‘เลือกความสงบจบที่ลุงตู่’ สโลแกนเลือกตั้งปี 2562 ที่พาพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี มาคราวนี้ฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลก็ถูกสร้างภาพให้มองว่าเป็นฝ่ายที่ต้องการล้มเจ้า ขณะเดียวกันอีกฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลก็ถูกสร้างภาพผ่านคำว่า ‘สืบทอดอำนาจ’ ไง ซึ่งในที่นี้ก็คือสืบทอดทรัพย์สิน และปล้นชาติปล้นแผ่นดินด้วย เพียงแต่เขาก็ไม่ได้เน้นตรงนั้นมากนัก แต่ฝ่ายที่โดนมองว่าสืบทอดอำนาจ  บางคนก็บอกว่าดีนะจะได้ใช้อำนาจป้องกันสถาบันได้


ถ้าย้อนมองประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีเหตุการณ์ทางการเมืองใดในอดีตที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันบ้าง

ตอนพฤษภาทมิฬปี 2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีลาออก สภาก็เลือกนายกฯ ใหม่ได้พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย แต่ว่าคุณอาทิตย์ อุไรรัตน์เข้าวัง ไปเปลี่ยนโผกลายเป็นว่าคุณอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรี พอเป็นนายกฯ ใหม่ก็ต้องเข้าแถลงนโยบายต่อสภา คุณอานันท์บอกไม่มีอะไรแถลง ผมรับปากกับท่านประธานอาทิตย์ อุไรรัตน์ ว่าเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดการเหตุการณ์ให้เรียบร้อย แล้วยุบสภาเลือกตั้ง วันนั้นคนเรียกร้องต้องการนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่พอตั้งคุณอานันท์ คนเฮ ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะว่าทำสิ่งที่ถูกใจคือยุบสภา เลือกตั้งกันใหม่

ฝากด้วยว่าถ้าเหตุการณ์วุ่นวายอะไรต่างๆ ขึ้นมาให้นึกถึงเรื่องนี้ ผมคิดว่านี่เป็นทางออกหนึ่งละกันการที่รักษาการนายกรัฐมนตรีเข้ามาประกาศตั้งแต่ต้นเลยว่าจะเข้ามายุบสภา


ที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนของคนรุ่นใหม่ อาจารย์มองเห็นความสัมพันธ์ของการเมืองในสภากับการเมืองภาคประชาชนอย่างไร

ผมมองดูว่าการเมืองภาคประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เหมือนกับชนโครงสร้างสุดๆ ไปเลย ไม่เหมือนนักการเมืองที่หวังผลเปลี่ยนมือ คอยดูไม่ให้ระบบมันเปลี่ยนถึงขึ้นเผด็จการ ผมเชื่อว่านักการเมืองมองว่าประชาชนไม่ชอบความคิดสุดโต่ง เพราะฉะนั้นนักการเมืองก็เลยไม่รุกจนล้ำเส้นออกไป ในขณะที่ฝ่ายอุดมการณ์ที่หวังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบ้านเมืองก็จะรู้สึกว่านักการเมืองล้าหลัง ไว้ใจไม่ได้


พลังของการเมืองนอกสภาต่อไปจะเป็นอย่างไร มีโอกาสกลับมาไหม

ผมมีความรู้สึกว่าการเมืองข้างนอกมีอยู่ตลอด แต่ในเวลาเดียวกันคนก็ได้บทเรียนว่าการเมืองข้างนอกถ้าสุดตัวจนเกินไปมันก็เกิดวิกฤตเสียเลือดเนื้อได้ การเมืองในสภาเจรจาต่อรอง การเมืองข้างนอกก็ต้องผ่อนสั้นผ่อนยาว บางทีการชุมนุมเพื่อให้เห็นพลังคน ไม่ต้องยืดเยื้อก็เป็นเรื่องที่คนดูว่าดีกว่าการเมืองที่ต้องมานั่งวิตกกังวลว่าคืนนี้จะเกิดอะไรขึ้นไหม

อันนี้พูดอย่างเปิดอก จะว่าขี้ขลาดก็ได้ ตอนผมเป็นอาจารย์ ผมเห็นนักศึกษา 14 ตุลา-6 ตุลา จากนั้นมาเวลานักศึกษาจะเคลื่อนไหวผมถามเสมอว่ามันคุ้มไหมที่เราจะสละชีวิตเลือดเนื้อ เพื่อเปลี่ยนนักการเมืองกลับไปกลับมา เพราะการเมืองไทยเป็นอย่างที่ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เคยบอกไว้ว่าเป็นวงจรอุบาทว์ จากเผด็จการจะไปสู่การเลือกตั้ง จากการเลือกตั้งก็จะไปสู่นักการเมืองชนิดโกงกินจนคนทนไม่ไหว เรียกร้องคานอำนาจปฏิวัติให้กลับมาอีก แล้วพอปฏิวัติกลับมากดดันเสรีภาพจำนวนมาก มันก็หมุนกลับไปอยู่ดี เพราะงั้นเราสู้แล้วเราไม่ได้นักการเมืองน้ำดีขึ้นมาล้าง แต่ว่านิสิตนักศึกษาตายไปตั้งเยอะมันคุ้มไหม ผมรู้สึกว่านักศึกษาไม่ควรจะไปลงทุนถึงขนาดเสียชีวิตเลือดเนื้อแล้วก็ไม่ได้ผลอย่างที่ตัวต้องการ


ถ้าอย่างนั้นคนรุ่นใหม่จะต้องเคลื่อนไหวอย่างไร เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย

ถ้าเลือกตั้งมันถูกต้องเมื่อไหร่ เราจะต้องได้นักการเมืองดีๆ เพราะงั้นเวลาเราสู้ เราสู้เพื่อให้คนตื่นตัว เพื่อให้คนรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองด้วยบัตรเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ความอดทน ต้องคิดบวก ถ้าฉันไม่เห็น ลูกฉันเห็น ลูกฉันไม่เห็น ก็หลานฉัน ประชาธิปไตยคุณไม่หวังเรื่องบัตรเลือกตั้งแล้วจะหวังอะไร ประชาธิปไตยจัดมวยรอบเหรอ ใครเป็นนายกฯ ก็เข้ามาคัดมวยรอบเหรอ ไม่ใช่ มันต้องคัดมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะงั้นพูดถึงการเลือกตั้งให้มากๆ ให้คนเข้าใจเรื่องการเลือกตั้ง

คำที่เราไม่ค่อยยอมใช้กันคือการประนีประนอม หมายความว่าต้องเปิดโอกาสให้เขาพูด เราต้องรับฟัง แยกเวทีให้ถูก อย่าไปคิดว่าทุกเวทีคือเวทีไฮด์ปาร์ก บางเวทีทำในสถานที่วิชาการอันศักดิ์สิทธิ์อย่างมหาวิทยาลัย ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันการศึกษามันจะคุมเรื่องให้อยู่ในเรื่องวิชาการได้


ดูเหมือนสาระทางการเมืองจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครทางการเมือง ด้วยบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้อาจารย์ยังมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไหม

ขอโทษนะครับ ผมว่ามันดีขึ้นทุกวัน ผมมองว่าความหวังไม่ได้ปักหมุด หมายความว่าปล่อยให้มันเป็นไป ทุกวันนี้พอมองกลับไปก็เปรียบเทียบกับสิ่งที่เห็นมาก็คือมองในส่วนที่มันดีขึ้นกว่าเดิม วันนี้จะยังไงก็แล้วแต่ เราวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อยู่นะ และคนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนถ้าคุณเห็นตัวเลขบางทีจะตกใจ เลือกตั้งทั่วไปคนลงคะแนนไม่ถึง 40% ตอนนี้ 60-70% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เคยนึกว่ามันจะขึ้นมาได้ เพียงแต่ว่าคุณภาพในการเลือกยังไม่ดีในความรู้สึกของเรา คือผมไม่แน่ใจว่าไอ้ที่เราโฆษณากันเลือกตั้ง เลือกคนดี ใครคือคนดี

ผมคิดว่าในอนาคตเราต้องได้เห็นแน่ๆ นายกรัฐมนตรีเป็นคนรุ่นใหม่ เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย สังคมอื่นก็ปรับเปลี่ยน พวกเขายอมรับคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวแบบที่เราเห็นนายกรัฐมนตรีหลายคนอายุไม่ถึง 40 ปี เพียงแต่ว่าประเทศไทยยังไม่ถึงวันนั้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save