ศตวรรษที่ 21 ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศตวรรษแห่งความหวัง’ ทั้งของไทยและของโลก การขยายตัวของโลกาภิวัตน์ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความเฟื่องฟูของความคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำให้หลายคนเชื่อว่า ประเทศไทยอันรุ่งเรืองกำลังรอเราอยู่
แต่สถานการณ์จริงกลับทำให้เราต้องคิดทบทวนใหม่ เมื่อ 20 ปีแรกของไทยกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น ในด้านเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้หลังจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540 แต่ก็ไม่เคยเติบโตได้เท่าที่เคยเป็นมา ที่หนักหนาไปกว่านั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ในด้านการเมือง สองทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 คือความจริงอันโหดร้าย เมื่อสังคมไทยใช้เวลากว่าสามในสี่ไปกับความขัดแย้งทางการเมือง 2 รัฐประหาร, 4 รัฐธรรมนูญ, 7 นายกรัฐมนตรี คือหลักฐานของความวุ่นวายที่ไม่ต้องการการบรรยายเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่นับการเสื่อมถอยและพังทลายของความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมไปถึงความรุนแรงทางการเมืองที่นำไปสู่การบาดเจ็บและความสูญเสียของชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้
ในด้านสังคม คุณภาพชีวิตคนไทยเข้าขั้น ‘วิกฤต’ ในหลายด้าน ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ไม่ได้คุณภาพและไม่เคยตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของสังคม การศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับโลกใหม่และเทคโนโลยี ในขณะที่สิ่งแวดล้อมกำลังพังทลาย คนไทยต้องเผชิญมลพิษอย่างฝุ่น ไฟป่า ภัยแล้ง เป็นประจำแทบทุกปี จนแทบจะกลายเป็น ‘ฤดูกาล’ ไปแล้ว
ปัญหาเรื้อรังเหล่านี้เมื่อผนวกเข้ากับวิกฤตโควิด-19 อันไม่คาดคิดและความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่คาดเดาไม่ได้ ผลลัพธ์คือสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ระบบและวิธีคิดแบบเก่าไม่สามารถตอบโจทย์ใหม่ๆ ได้ ในยุคสมัยของ ‘การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่’ สังคมไทยต้องการความรู้ ทักษะ พลังสร้างสรรค์ และนโยบายสาธารณะแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ หากแต่ต้องอาศัยการ ‘ตั้งหลัก’ คิดทบทวนอย่างเข้มข้นและลึกซึ้ง โดยอยู่บนฐานความรู้และประสบการณ์จริง
หนังสือ Thailand: The Great Reset ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต มีเป้าหมายที่จะชวนสังคมมาร่วมคิด ถกเถียง และอภิปรายถึง ‘ฉากทัศน์’ ของประเทศไทยและการเตรียมตัวรับมือ เพื่อมีส่วนในการสร้างและออกแบบนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต กับผู้เชี่ยวชาญ นักคิด ผู้กำหนดนโยบาย และบุคคลที่มีบทบาทในสังคมไทยร่วมสมัยหลายรุ่น หลากวงการ ประกอบด้วย
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด – อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ – สุวิทย์ เมษินทรีย์ – สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ – อภิวัฒน์ รัตนวราหะ – ทอม กินสเบิร์ก – พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ – กุลลดา เกษบุญชู มี้ด – สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ – ปวงชน อุนจะนำ – ปราการ กลิ่นฟุ้ง – สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี – พวงทอง ภวัครพันธุ์ – เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ – กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ – สันติธาร เสถียรไทย – วิษณุ อรรถวานิช – ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ – พิพัฒน์ สุยะ – เพชร มโนปวิตร – ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ – นิรมล เสรีสกุล – จิตติภัทร พูนขำ – อาร์ม ตั้งนิรันดร – คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง – เกรียงไกร วชิรธรรมพร – ยุทธนา บุญอ้อม – พัทน์ ภัทรนุธาพร – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา – พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน
“หนังสือ Thailand: The Great Reset ตั้งหลักใหม่ ประเทศไทยแห่งอนาคต เป็นอีกหนึ่งผลงานความรู้ที่ ‘แผนงานคนไทย 4.0’ ให้การสนับสนุน โดยร่วมมือกับสื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world ในการสร้างบทสนทนาสาธารณะกับนักคิด ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย ปัญญาชน และบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยในปัจจุบัน โดยมีความมุ่งหวังว่า บทสนทนาที่เกิดขึ้นจะมีส่วนช่วยกำหนดประเด็นสาธารณะ ตั้งคำถามท้าทาย และชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของทางออกของปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ”
– บางส่วนจากคำนำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานบริหารแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม คนไทย 4.0