101 ชวนอ่าน 4 ผลงานสื่อของ The101.world ที่ได้รับ รางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2565 (Media Award 2022) โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) พร้อมคำกล่าวจากผู้สร้างสรรค์ผลงาน
:: รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ ::

รางวัลชมเชย:
“ ‘เรามีหวังเสมอว่าจะได้กลับบ้าน’ เสียงจากริมน้ำเมย ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ของผู้หนีภัยกะเหรี่ยง”
วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง เมธิชัย เตียวนะ ภาพ
“‘สงคราม’ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนหรือครั้งไหนในโลก คนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดย่อมเป็นประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการก่อสงคราม
“ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความจริงข้อนี้ได้ดีอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรา เพียงแค่มองข้ามพรมแดนไปที่รัฐกะเหรี่ยงบนแผ่นดินพม่า ที่ตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในโลก และผลผลิตของมันก็คือ ‘ผู้หนีภัยสงคราม’ จากรุ่นสู่รุ่นจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลมาสู่ประเทศไทย
“แม้จะหนีพ้นความโหดร้ายของสงครามบนแผ่นดินเกิดมาได้แล้ว แต่ไม่ว่าจะกี่รุ่นต่อกี่รุ่น พวกเขายังต้องเจอเคราะห์กรรมชั้นที่สองจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่คำนึงถึงมนุษยธรรมจากทางการไทย โดยรากของปัญหานี้ก็คืออคติบางอย่าง รวมทั้งกรอบคิดความมั่นคงแบบเดิมๆ ซึ่งผมเชื่อว่าหากกำแพงแห่งอคตินี้ถูกทลายลงไปได้ ประเทศไทยอาจจะพบหนทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
“นี่แหละครับคือเป้าหมายสูงสุดของผลงานชิ้นนี้ ถ้าในที่สุดบทความนี้ช่วยให้ทางการไทยและคนไทย ต่อให้จะแค่คนเดียวก็ตาม สามารถปรับความคิด เปลี่ยนมุมมอง และสร้างความเข้าใจใหม่ต่อผู้หนีภัยสงครามได้ ผมก็ถือว่าบทความนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสำเร็จแล้ว” – วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา
:: รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ ::

รางวัลดีเด่น:
“From Trojan Horse to Pegasus: When the Big Brother is watching you”
ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง เมธิชัย เตียวนะ, กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์ วิดีโอ
“การใช้อำนาจรัฐสอดส่องเพื่อคุกคามต่อผู้ที่ออกมาใช้สิทธิในการแสดงออกทางการเมือง แสดงความเห็นทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ในสังคมไทย แต่การใช้เทคโนโลยีสปายแวร์อย่างเพกาซัสยิ่งเอื้อให้การใช้อำนาจสอดส่องแนบเนียนยิ่งขึ้น แยบยลยิ่งขึ้น และความแยบยลนั้นคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะเราแทบจะไม่มีทางรู้ตัวว่าใครที่ถูกสอดส่องอยู่
“แม้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเจาะโดยเพกาซัสจะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคมเท่านั้น แต่เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิของตนเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงและพูดความจริงต่ออำนาจ ความหวาดกลัวไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกเขาเท่านั้น แต่นั่นยังทำให้สังคมหวาดกลัว หวาดระแวงที่จะคิด ที่จะพูด และเมื่อใดที่สังคมตกอยู่ในความกลัว สังคมที่มีความกลัว ความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าจะไม่มีทางเกิดขึ้น” – ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล
“กลับไปดูโน้ตที่จดไว้ตอนเริ่มคิดจะทำเรื่องนี้ แล้วก็นึกอย่างหนึ่งขึ้นมาได้ จริงๆ ผมกับทีมแค่ไปหยิบจับเรื่องราวมาเล่าต่อ หัวใจของเรื่องจริงๆ คือกลุ่มคนที่ลงแรงในการสืบเสาะเรื่องนี้ขึ้นมาทำให้เราได้รู้ว่าเปกาซัสสปายแวร์มันอยู่ใกล้เรามากๆ มันไม่เห็นในหนังสายลับที่เราดูตอนเด็กๆ วันนี้มันมาอยู่ในระยะที่ใกล้เรามากๆ แล้ว อยากจะขอบคุณทุกคนที่ทำงานเบื้องหลังเรื่องนี้” – เมธิชัย เตียวนะ

รางวัลชมเชย:
“ชุมชนตึกร้าง 95/1 หลากชีวิตบนซากคอนกรีต”
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์ วิดีโอ
“ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยยังเป็นปัญหาสำคัญของคนประเทศไทย โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ยังเข้าไม่ถึง ‘บ้าน’ ที่เป็นบ้าน แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหา แต่ก็ดูเหมือนว่ายังมีคนที่ตกหล่นอยู่พอสมควร
“ผลงานเรื่อง ‘ชุมชนตึกร้าง 95/1 หลากชีวิตบนซากคอนกรีต’ ไม่เพียงแค่อยากนำเสนอชีวิตของผู้ที่อาศัยอยู่ในตึกร้างเก่าคร่ำคร่าเท่านั้น แต่ยังอยากชวนมองไปไกลถึงวิธีแก้ปัญหาเรื่องที่อาศัยในมุมใหม่ เป็นไปได้แค่ไหนที่ภาครัฐจะเข้ามาร่วมกับเอกชน ปรับปรุงตึกร้างให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพดี แล้วปล่อยเช่าหรือซื้อในราคาเข้าถึงได้ เหมือนที่แหล่งข่าวในเรื่องนี้บอกว่า “ไม่มีใครอยากบุกรุกที่ไปตลอดชีวิต”
“แม้เรื่องนี้จะยังเป็นข้อเสนอ แต่ไม่มากก็น้อย คิดว่าเป็นข้อเสนอที่ควรรับฟัง ทั้งนี้ต้องขอบคุณมูลนิธิอิสรชนที่อำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่และกล่าวถึงประเด็นข้อเสนอนี้ด้วย
“บรรยากาศทึมเทาของตึกร้าง อาจชวนให้เรานึกถึงเรื่องผีสางและความน่ากลัว แต่วิถีชีวิตของใครหลายคนชี้ให้เราเห็นว่า ผีแท้จริงที่อบอวลอยู่ทั่วกลุ่มอาคารร้างไม่ใช่ใดอื่น นอกจากความยากจน” – ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
:: รางวัลภาพถ่ายในหัวข้อ “Protect the Protest” สำหรับสื่อมวลชน ::

รางวัลดีเด่น:
ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกีดกันช่างภาพข่าวออกจากพื้นที่ระหว่างการสลายการชุมนุมของราษฎรหยุด APEC
เมธิชัย เตียวนะ
“ผมคิดว่าภาพนี้ได้ทำหน้าที่เล่าความรู้สึกเพื่อนๆ ช่างภาพภาคสนามไปโดยสมบูรณ์แล้ว
“จริงๆ แล้วภาพนี้เป็นภาพที่ธรรมดามากๆ เพียงแค่เราในฐานะช่างภาพไม่ค่อยได้ยืนในมุมนี้บ่อยนัก ที่ผ่านมาเราอยู่ในมุมของพี่ในภาพมากกว่า หมายถึงเรามักจะเจอนิ้วชี้ที่ชี้มาที่เราบอกว่า “ถอยไป” เราเจอปลายกระบอกปืนหันมาหาเราและบอกเช่นเดิมว่า “ออกไป”
“ขอบคุณสำหรับรางวัล และเป็นกำลังใจให้เพื่อนพี่ๆ ในสนามด้วยครับ”- เมธิชัย เตียวนะ