fbpx

Cryptocurrency, DeFi, Metaverse คืออนาคตโลกการเงิน..จริงหรือ? สนทนาสารพัดเทรนด์การเงิน กับ คณิสร์ แสงโชติ

‘เงิน’ คือคำง่ายๆ ที่ใครทุกคนย่อมคุ้นเคย แต่หากถามเจาะลึกถึงนิยามและบทบาทหน้าที่ของมัน คงเป็นเรื่องซับซ้อนยิ่งในการหาคำตอบ ยิ่งทุกวันนี้ที่เราเห็นเงินมีวิวัฒนาการจากเงินกายภาพที่เราคุ้นชินในรูปธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ สู่เงินในรูปแบบดิจิทัล อันเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย เช่น เงินคริปโต (cryptocurrency) ที่ทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ก็ยิ่งทำให้การนิยามคำว่าเงินซับซ้อนขึ้นไปอีก  

เมื่อพูดถึงเงินคริปโต ก็ต้องเชื่อมโยงไปยังระบบการเงินภาพใหญ่กว่านั้น คือระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance – DeFi, ดีไฟ) ซึ่งเป็นการให้บริการการเงินที่ทำงานบนบล็อกเชน โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างสถาบันการเงินต่างๆ ดังที่เราคุ้นเคยกันมาตลอดอีกต่อไป ซึ่งช่วยทลายข้อจำกัดหลายอย่างในการทำธุรกรรมการเงิน จนหลายคนมองว่านี่จะเป็นอนาคตของระบบการเงินซึ่งกำลังขยับเคลื่อนแทนที่ระบบเดิมที่ใช้กันมายาวนาน

แต่ถึงอย่างนั้น ระบบการเงินกระจายศูนย์และเงินดิจิทัลที่ทำงานบนบล็อกเชนในทุกวันนี้ก็มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดบางอย่างที่อาจทำให้ยังไม่สามารถแทนที่ระบบการเงินดั้งเดิมได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อได้เห็นปรากฏการณ์การเข้าสู่ขาลง กระทั่งการถึงจุดจบของหลายสกุลเงินคริปโตพร้อมๆ กัน ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ก็ยิ่งจุดให้เกิดคำถามว่านวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นอนาคตของโลกการเงินได้จริงหรือ

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่ๆ นี้กำลังบ่งบอกอะไรถึงความเป็นไปของโลกการเงิน อนาคตของระบบการเงินโลกจะมุ่งไปทางไหน แล้วประเทศไทยจะต้องรับมืออย่างไร 101 พูดคุยกับ รศ.ดร. คณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ ‘เงิน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต’ เพื่อหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้

รศ.ดร. คณิสร์ แสงโชติ

โลกเราทุกวันนี้ที่ใช้นวัตกรรมเงินดิจิทัลกันอย่างแพร่หลาย สะท้อนว่าวิวัฒนาการของระบบการเงินของโลกเราพัฒนาจากอดีตมาถึงจุดไหนแล้ว และระบบการเงินได้เปลี่ยนนิยามไปจากเดิมหรือเปล่า

ถ้าเป็นในอดีต เงินมีไว้เพื่อแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของที่มีในปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้เรามีนวัตกรรมในการนำเงินอนาคตมาใช้ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นระบบการเงินในปัจจุบันทำให้สินเชื่อกับเงินมาอยู่ในที่เดียวกันได้ ใช้หนี้สินแทนเงินได้ แล้วการที่เราใช้เงินอนาคตได้ก็ทำให้เราสามารถระดมทุนได้ แล้วการระดมทุนได้ก็ทำให้เราสามารถจัดหาทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นได้โดยใช้กำลังซื้อของเราในอนาคตที่แปลงมาในรูปของเงิน

พอมีนวัตกรรมเงินดิจิทัลเข้ามา ผมว่าหัวใจของระบบการเงินก็ไม่ได้เปลี่ยนไปนัก มันยังคงหน้าที่พื้นฐานไว้ 3 อย่างคือ การมีและเก็บรักษากำลังซื้อ (asset custody), การชำระและการแลกเปลี่ยน (payment and exchange) ซึ่งคือการแลกเปลี่ยนของที่มีในปัจจุบันให้กลายเป็นของสิ่งอื่น, และการจัดสรรและระดมเงินทุน (capital allocation) คือการนำเงินปัจจุบันและอนาคตมาเชื่อมโยงกัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือมันเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นเงินจับต้องได้มาอยู่ในรูปแบบเงินที่เป็นข้อมูลมากขึ้น โดยเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างดีไฟ หรือบล็อกเชน คือวิธีการเก็บข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าคนเชื่อใจว่าข้อมูลนี้คือกำลังซื้อ มันก็ยังคงทำหน้าที่ของระบบการเงินอยู่เดิม เพราะฉะนั้นนวัตกรรมเงินดิจิทัลทุกวันนี้ไม่ได้ทำให้หัวใจของระบบการเงินต่างไปจากเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างคือรูปแบบการบันทึกและเก็บข้อมูล

หลายคนมองว่าเงินดิจิทัลกำลังขยับเข้ามาแทนที่เงินดั้งเดิมที่เราใช้กัน อาจารย์มองเห็นแนวโน้มอย่างไร

เงินดิจิทัลก็คือเงินที่เป็นตัวข้อมูลอยู่ในบัญชี ซึ่งจะว่าไปแล้ว จริงๆ เงินฝากธนาคารก็คือเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นเงินที่เราใช้อยู่ตอนนี้เป็นเงินดิจิทัลอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันมีเงินดิจิทัลที่เก็บในรูปแบบบล็อกเชนเกิดขึ้นมา ซึ่งต่างจากเดิมตรงที่ว่า เดิมคนที่เป็นผู้รักษาประตูข้อมูล (gate keeper) คือสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายความรับผิดชอบจากสังคมให้ดูแลว่าการใช้เงินเป็นไปอย่างถูกต้องหรือเปล่า รวมถึงดูแลความถูกต้องในการเก็บหรือป้อนข้อมูล แต่ระบบฐานข้อมูลใหม่ที่เป็นบล็อกเชนไม่ต้องได้รับการอนุญาตในการเข้าถึง (permissionless blockchain) ทำให้เรามีวิธีดูแลฐานข้อมูลกันเอง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร จึงมีความอิสระมากขึ้น และยังไม่ต้องเปิดเผยตัวตนอีกด้วย

ถ้าถามว่าอนาคตการเงินจะเปลี่ยนแปลงไหม จริงๆ แล้วเราเก็บข้อมูลกันเองตั้งแต่แรกก็ได้นะ แต่ปัญหาคือคนเราไม่ได้เชื่อใจกัน เราเลยต้องเชื่อใจธนาคาร แต่ตอนนี้มันมีวิธีใหม่อย่างบล็อกเชนคือไม่จำเป็นต้องเชื่อใจกันเลย มันอยู่บนสมมติฐานว่าเราจะไม่เจอกันอีกแล้ว ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า ‘อิจิโก อิจิเอะ’ แปลว่า ‘หนึ่งพบหนึ่งผ่าน’ คือเราเจอกันครั้งเดียว ต้องสร้างความประทับใจกันและกันให้ได้มากที่สุด แต่อิจิโก อิจิเอะของบล็อกเชน คือเราเจอกันครั้งนี้ ครั้งหน้าเราอาจจะไม่เจอกันอีก เราทำธุรกรรมกันแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว แล้วจะไม่ทำอะไรกันต่ออีก เราไม่ต้องรู้จักกันแต่ก็ยังทำธุรกรรมกันได้ แบบนี้คือความสัมพันธ์แบบ one-shot game ซึ่งจริงๆ ในการค้าแบบดั้งเดิมด้วยเงินสดก็ทำได้อยู่แล้ว แต่พอเงินเป็นข้อมูล มันจึงยากกว่าที่คิด ซึ่ง permissionless blockchain ก็พยายามมาแก้ปัญหานี้

แต่ถ้าเป็นระบบการเงินทั่วไปคือ repeated game นั่นคือเราเชื่อใจกันเพราะเราเห็นกันมาหลายครั้ง เช่น เราเคยให้คุณกู้มา 10 ครั้งแล้ว คุณจ่ายคืนตรงเวลาตลอด แปลว่าเราให้คุณกู้อีกได้ เพราะเราเชื่อใจคุณได้แล้ว แล้วลองนึกภาพว่าพอเป็น permissionless blockchain ที่อาจจะเจอกันครั้งเดียว หรือเจอกันซ้ำแต่ตัวตนของคนนั้นก็ไม่คงที่อีก คือเราไม่รู้ว่าเป็นใคร เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ไหม หนึ่งคนอาจจะมีหลายบัญชี หรือหนึ่งบัญชีอาจใช้ร่วมกันหลายคนก็ได้ จะตามตัวก็ตามไม่ถูก ก็แปลว่าเราไม่สามารถเชื่อใจได้ว่าอีกฝั่งจะทำตามสัญญาในอนาคตไหม เพราะฉะนั้นใน permissionless blockchain หน้าที่ของระบบการเงินในข้อ capital allocation ซึ่งคือการนำเงินอนาคตมาใช้ก็จะขาดหายไป เพราะเราไม่สามารถเชื่อใจได้ว่าเมื่อคนนั้นกู้ยืมเงินเราไปแล้ว เขาจะนำเงินมาคืนเรา ทำให้ต้องใช้หลักประกัน ตัวอย่างในระบบปัจจุบันก็เช่นการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหมายความว่าเราต้องมีของมีค่ามาแลกเงิน เพราะจะให้เชื่อใจว่าอีกฝั่งจะหาเงินมาจ่ายโดยไม่ต้องมีหลักประกันคงเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นถ้าพูดโดยสรุปก็คือ การใช้เงินบนระบบ permissionless blockchain มีข้อดีคือความเป็นอิสระและความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้น แต่มันต้องแลกกับข้อจำกัดที่ว่าเราจะไม่สามารถสร้างประวัติในระยะยาวได้ เพราะไม่มีใครมั่นใจว่านี่คือเราจริงๆ แล้วเราก็จะไม่มีสิทธิใช้ความเชื่อใจกัน และต้องตรวจสอบกันตลอดเวลา

สรุปคือเงินดิจิทัลจะยังแทนที่เงินดั้งเดิมไม่ได้?

ถ้าใช้ในเรื่องพื้นฐานก็พอได้อยู่ แต่ถ้าต้องการให้ระบบการเงินนี้มีสินเชื่อด้วยก็ยาก เพราะจะกู้ยืมก็ลำบากถ้าไม่มีหลักประกัน เงินรูปแบบที่เรามักคุ้นเคยกันในปัจจุบันอย่างเช่น ธนบัตร มีปริมาณไม่เยอะเมื่อเทียบกับเงินที่เป็นสินเชื่ออย่างเงินในบัญชีธนาคารที่สามารถสร้างขึ้นได้จากการเอาเงินอนาคตมาใช้ล่วงหน้า ถ้าเราเอาเงินสินเชื่อออกไปจากระบบเศรษฐกิจ เท่ากับว่าเราจะมีปริมาณเงินน้อยมาก แล้วเราก็อาจต้องทิ้งโอกาสดีๆ ในการลงทุนไป เพราะเราเอาอนาคตมาใช้ล่วงหน้าไม่ได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีเงินสินเชื่อ

รศ.ดร. คณิสร์ แสงโชติ

ทุกวันนี้ เราเห็นหลายปัญหาเกิดขึ้นกับเงินดิจิทัล โดยเฉพาะบรรดาเงินคริปโตสกุลต่างๆ ประเด็นนี้คือตัวสะท้อนว่าเงินดิจิทัลยังไม่อาจทดแทนเงินดั้งเดิมได้จริงหรือไม่

จริงๆ มันฉายภาพให้เห็นมากกว่าว่าสิ่งที่คนยอมรับเป็นเงินมีอะไรบ้าง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเงินแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ เงินนอก (outside money) กับ เงินใน (inside money) 

Outside money คือการที่สังคมตกลงกันว่าเราจะใช้สิ่งนี้แทนเงิน ซึ่งพอมันมีค่าขึ้นมา เราก็เอาค่านี้มากำหนดสกุลเงินได้ อย่างเช่น ธนบัตรของประเทศ ก็เป็นตัวกำหนดสกุลเงินของประเทศ เป็นต้น แล้วคนที่ถือสิ่งนี้ ก็จะเป็นคนที่มีกำลังซื้อ ขณะที่ inside money คือเงินที่สร้างขึ้นมาจากข้อตกลงระหว่างกัน เช่น เราเอาธนบัตรไปฝากธนาคาร ธนาคารแลกธนบัตรเป็นบัญชีเงินฝาก ธนาคารก็จะเป็นลูกหนี้เรา ถ้าเราถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก เขาต้องเอาธนบัตรมาให้เรา หรือพูดง่ายๆ คือสินทรัพย์ของอีกคนหนึ่งคือหนี้สินของอีกคนหนึ่ง ซึ่งหักล้างกันเหลือ 0 พอดี ต่างกับ outside money ที่เป็นสินทรัพย์ที่ในที่สุดแล้วไม่ได้เป็นหนี้ (liability) ของใครเลย เงิน inside money ก็คือเงินหนี้สินที่พูดถึงก่อนหน้านี้

ถ้ามาดูกรณีระบบการเงินในบล็อกเชน อย่างเช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) จะเห็นว่ามันเป็นเลขที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นหนี้สินระหว่างใครกับใคร ฉะนั้นบิตคอยน์ก็คือ outside money ในรูปแบบ digital outside money ซึ่งขึ้นอยู่กับสัญญาประชาคม (social contract) ว่าจะให้มันมีมูลค่าแค่ไหน เหมือนในอดีตที่เราใช้เปลือกหอยหรือไลม์สโตนเป็นเงิน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นทองคำ แต่ถ้าเป็นเหรียญที่สร้างผ่านดีไฟอย่างบรรดา stablecoin มันคือเหรียญที่มักจะมีสินทรัพย์บางอย่างเป็นหลักประกันไว้ ส่วนมากจึงเป็นประเภท inside money

ย้อนกลับไปที่พื้นฐาน inside money เป็นหนี้สินระหว่างกันก็จริง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าบางส่วนมันอาจจะถูกหนุนมูลค่าด้วย outside money ได้เหมือนกัน อย่างเช่น เงินฝากที่เป็นเงินบาท มีสินทรัพย์ของธนาคารอย่างสินเชื่อหนุนหลังก็จริง แต่บางส่วนอาจถูกหนุนหลังด้วยธนบัตรที่ธนาคารถืออยู่ ซึ่งก็มีทองคำเป็นตัวหนุนหลังอีกที แต่ถ้าวันดีคืนดี ทองคำไม่ได้รับการยอมรับแล้ว ธนบัตรเงินบาทก็จะไม่มีสิ่งใดหนุนค่า หากคนสงสัยในมูลค่าของธนบัตรแล้วเราไม่มีอะไรไปสร้างความมั่นใจให้เขาได้ เขาก็ไม่อยากได้ธนบัตรเราแล้ว บัญชีเงินฝากบางส่วนที่ถูกหนุนหลังด้วยธนบัตรก็จะไม่มีสิ่งใดหนุนค่าตามไปด้วย มันก็จะพังพินาศตามกันไปหมด เราสามารถเอาภาพนี้มาเทียบได้กับกรณีระบบการเงินบนบล็อกเชน วันนี้ social contract อาจจะยังมองว่าเหรียญที่เป็น outside money พวกนี้มีค่า แต่ถ้าวันหนึ่งความเชื่อนี้ถูกสั่นคลอนขึ้นมา มันก็จะหมดค่าไปเลย เหมือนอย่างการที่เหรียญ Terra (LUNA) หมดค่าไป มันก็คล้ายกับการที่เราเลิกใช้เปลือกหอยแทนเงิน

กรณีที่เกิดขึ้นกับเหรียญ LUNA เกิดจากปัญหาอะไร แล้วมันสะท้อนปัญหาภาพใหญ่ของเงินคริปโตอย่างไร

ที่เกิดปัญหาคือ UST ซึ่งเป็นเหรียญ stablecoin ที่หนุนหลังด้วยเหรียญ LUNA ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา 100% เลย ถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนว่า สมมติเราจะตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 25 บาท แล้วคุณจะเอาเงิน 25 บาทมาแลก ผมก็มีให้คุณ 1 ดอลลาร์เสมอ แต่ผมไม่ได้ให้เป็นเหรียญดอลลาร์นะ แต่ให้เป็นเหรียญอื่นที่ผมสร้างขึ้นมาเองแต่มีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์เหมือนกัน เลยเกิดคำถามว่าตกลงแล้วมูลค่าของเหรียญที่ให้มาคือ 1 ดอลลาร์จริงหรือเปล่า เพราะมันเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นมาเอง ค่าก็เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นมาเอง ซึ่งก็ไม่ชัดว่าถูกรองรับด้วยอะไร ถ้าเราไม่คิดว่า LUNA มีค่า UST ก็หมดค่าตามไปด้วย นี่คือความท้าทายของ stablecoin ประเภทนี้ที่มักเรียกกันว่า algorithmic stablecoin มันขึ้นกับแค่ว่าสิ่งที่หนุนหลังอยู่ได้รับการยอมรับหรือเปล่า

แปลว่าปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับเงินคริปโตเหล่านี้คือการไม่ได้รับการยอมรับแล้ว?

ใช่ คนไม่อยากใช้แล้ว เพราะไม่เห็นความจำเป็น ทั้ง LUNA และ UST เลย

แล้วถ้าเป็นเงิน CBDC (Central Bank Digital Currency – สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง) ซึ่งผูกค่าเงินกับสกุลเงินของประเทศ จะเจอปัญหาคล้ายกันไหม

ถ้าพูดถึงสกุลเงินพวกนี้ เราต้องลงลึกไปถึงเบื้องหลังก่อนว่า สิ่งที่สร้างขึ้นมานี้มีอะไรรองรับหรือเปล่า แล้ว เราจะมั่นใจในสิ่งที่มารองรับได้มากแค่ไหน

ลองเทียบกัน ถามว่าทำไมเงินฝากที่อยู่ในบัญชีธนาคารถึงมีมูลค่า มันก็เป็นเพราะเราเชื่อว่าการที่ธนาคารมีสินทรัพย์ซึ่งคือสินเชื่อ มีมูลค่ามากพอที่เขาจะสามารถหาเงินจากสินเชื่อมาชำระหนี้ให้เราในฐานะที่เราเป็นเจ้าหนี้ธนาคารที่ฝากเงินกับเขาไว้ได้ ภาพแบบเดียวกัน ถ้าเกิดมี CBDC ขึ้นมา ปกติเราพิมพ์ธนบัตรก็ต้องมีทุนสำรองเงินตรา เช่น สกุลเงินต่างประเทศหรือทองคำรองรับนะ ถ้าเราจะทำ CBDC ให้เหมือนธนบัตรดิจิทัลก็ต้องมีทุนสำรองรองรับอยู่ดี จะทำขึ้นมาโดยพลการไม่ได้ จึงแปลว่าที่มาของมูลค่าของตัวธนบัตรนั้นก็คือเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่จริง เราไม่ได้เสกธนบัตรขึ้นมาลอยๆ เราจึงมั่นใจได้ว่าเงิน CBDC นั้นมีค่าจริงๆ

บางประเทศกำลังพยายามพัฒนา CBDC ขึ้นมา รวมถึงประเทศไทย ตอนนี้เห็นความคืบหน้าอย่างไร และมองว่าแนวโน้มน่าจะออกมาในรูปแบบไหน

ผมว่า CBDC ของแต่ละประเทศมีที่มาและความต้องการแตกต่างกัน แต่ว่าก็เริ่มมีไอเดียเหมือนกันว่าอยากสร้าง common payment rail ขึ้นมาเป็นเงินอีกประเภทหนึ่งซึ่งอยู่บนฐานข้อมูลใหม่ที่ทำงานด้วยกันได้อย่างอัตโนมัติ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือเมื่อก่อนบางธนาคารอาจจะใช้ฐานข้อมูลบน Excel Spreadsheet บางธนาคารใช้ Google Spreadsheet ซึ่งเป็นคนละระบบกันโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถเขียนสูตรข้ามกันได้ แต่ต่อมาเราเปลี่ยนให้มาใช้ฐานข้อมูลตัวใหม่ร่วมกัน ผูกสูตรให้ข้อมูลของกันและกันได้ เพราะบัญชีอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้ทำงานด้วยกันได้ง่าย นี่คือความพยายามที่เขาอยากทำในตอนนี้ เข้าใจว่าไทยก็พยายามจะทำแบบนี้อยู่เหมือนกัน

แต่บางประเทศก็จะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือการคิดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของเจ้าของเงินเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย อย่างบิตคอยน์ก็เกิดขึ้นมาเพราะเราไม่อยากให้ฐานข้อมูลรู้ประวัติเราทุกอย่าง ไม่อยากให้มีใครผูกขาดการคีย์ข้อมูลลงฐานให้ และออกแบบให้ทำงานได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนให้ใครรู้เลย แต่การทำแบบนี้กับ CBDC ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการทำฐานข้อมูลให้เป็นดิจิทัล โดยที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวไปด้วย แต่ต้องเปิดเผยตัวตนด้วย เป็นเรื่องย้อนแย้งกัน

อย่างที่สหรัฐฯ ก็มี Digital Dollar Project ขึ้นมา ซึ่งพยายามหาวิธีการใหม่ๆ ไปสู่ความเป็นดิจิทัลดอลลาร์ที่มีความคล้ายเงินสด โดยที่ไม่ใช่เงินคริปโต และอาจต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล แต่เหมือนกับว่าพอเขาขยับ ก็ไปติดกำแพงความย้อนแย้งบางอย่าง คืออยากให้เปิดเผยตัวตน แต่ก็อยากให้เป็นส่วนตัว และเป็นดิจิทัลด้วย แล้วมันจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นบางประเทศก็อาจจะยอมรับให้มีการเปิดเผยความเป็นส่วนตัวได้บ้าง ซึ่งถ้าคนยอมรับได้ ก็ทำ digital currency ได้ไม่ยาก

รศ.ดร. คณิสร์ แสงโชติ

ถ้ากลับไปมองที่เงินคริปโตซึ่งไม่ได้ทำโดยรัฐเหมือนอย่าง CBDC อาจารย์มองว่าจะมีอนาคตอย่างไร คิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเห็นเงินพวกนี้มีการปรับตัวอุดช่องโหว่เดิมบางอย่างจนสามารถอยู่รอดได้

ในมุมของผม การที่เราสร้าง outside money ใหม่ขึ้นมา ก็เหมือนในปัจจุบันที่เราเลิกใช้เปลือกหอยแทนเงินไปแล้ว แต่เราบอกว่ากลับมาใช้เปลือกหอยกันใหม่เถอะ แน่นอนว่าคนที่ทำแบบนี้ก็จะเจอความยากในการสร้างการยอมรับมันขึ้นมา แล้วพอคนยอมรับ ก็จะเกิดปัญหาเรื่อง social contract อีก คือวันหนึ่งคนอาจจะไม่ยอมรับเงินแบบนี้แล้ว มันก็พังลงมาได้เหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้น

ส่วนตัวผมคิดว่าการสร้าง outside money ใหม่ขึ้นมา อาจจะไม่จำเป็นในโลกปัจจุบัน เพราะสุดท้ายหน้าที่หลักของ outside money คือมีไว้ให้แต่ละประเทศมีสกุลเงินของตัวเองได้ แต่สิ่งที่สำคัญจริงๆ ในระบบการเงินคือ inside money ซึ่งเป็นเงินที่เอกชนทำอยู่แล้วในตอนนี้โดยอยู่ในสกุลเดียวกับเงินของประเทศ และอยู่ภายใต้กำกับดูแลด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเอกชนสร้างเงินหนี้สินขึ้นมากันเองในรูปแบบ economic contract ระหว่างกัน ผมคิดว่าตรงนี้ไม่ต้องกังวลมาก เพราะเงินที่สร้างขึ้นมามาคู่กับความรับผิดชอบว่าคุณจะต้องไปชดใช้หนี้นั้น ตราบใดที่เขาตามไปชำระหนี้ได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ outside money คือการเสกกำลังซื้อขึ้นมา เหมือนให้ทุกคนกลับมายอมรับเปลือกหอย แต่ถามว่าทำไมผมต้องรับเปลือกหอยด้วย เขาก็อาจจะบอกผมว่า ไม่รู้ล่ะ ผมขนเปลือกหอยมาแล้ว ผมขอใช้เปลือกหอยนี้ซื้อแทนเงินบาทแล้วกัน เป็นคุณ คุณจะรับไหม

ถ้าอย่างนั้น เราน่าจะได้เห็นบทบาทของเงินคริปโตค่อยๆ ลดหายลงนับจากนี้ไหม

ถ้ามีอยู่ ก็อาจจะมีไม่เยอะ บางคนอาจจะยังต้องการเก็บเงินบนฐานข้อมูลที่ไม่มีใครผูกขาดการบันทึกข้อมูล มีการรักษาความเป็นส่วนตัวอยู่ ไม่ต้องแสดงตัวตน เขาอาจจะยอมจ่ายเงินเพื่อเก็บข้อมูลในสกุลนั้น แล้วหวังว่าเอาข้อมูลนั้นมาขายต่อแลกกับสกุลอื่นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าคริปโตหรือบล็อกเชนทุกประเภทจะเป็นแบบนี้นะ เวลาพูดในบริบทนี้ สิ่งที่ให้ประโยชน์แบบนี้อาจไม่ต้องเป็นสกุลเงินเสมอไป แต่เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติเก็บรักษามูลค่า (store of value) ไม่ผุพังเสื่อมสลาย เช่น ทองคำก็ได้ เพราะเงินที่เป็นสกุลเงินต้องการความเสถียร สมมุติวันนี้เราซื้อกาแฟแก้วละ 100 บาท ผ่านไป 3 วันข้างหน้า มันไม่ควรผันผวนถึงขั้นเราใช้เงิน 100 บาทเท่าเดิม ซื้อกาแฟได้ 20 แก้ว มันควรมีเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งที่ใช้แทนเงินนั้นกับกำลังซื้อจริง

มีคนที่เตือนถึงการเกิดฟองสบู่คริปโต อาจารย์คิดว่าอย่างไร

เราเห็นการปรับตัวลงของราคามันแล้ว ซึ่งอาจจะมองได้ว่านั่นคือฟองสบู่แตก แต่เวลาเราพูดถึงฟองสบู่ในบริบทเศรษฐศาสตร์ เรามักจะหมายถึงราคาในส่วนที่เกินจากมูลค่าพื้นฐาน (fundamental value) บางอย่าง เพราะฉะนั้นคำถามก็คือ fundamental value ของคริปโตคืออะไร อันนี้ตอบยากแล้ว ก็คล้ายๆ ทองนะ บางคนก็บอกว่าราคาทองคือฟองสบู่เพราะมันไม่มี fundamental value ไม่ได้สร้างรายได้ แต่จริงๆ อาจจะมองว่าทองมี fundamental value ก็ได้นะ เพราะทองก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่น การทำไมโครชิปหรือเมมบอร์ด หรือถ้าเป็นอดีตก็ใช้ตกแต่งสร้างความสวยงาม ในเมื่อมันมีประโยชน์อยู่ ต่อให้มันมีราคาต่ำสุดๆ หรือทุกคนขายหมด อย่างไรก็ต้องมีคนที่ยอมซื้ออยู่ แต่ถ้าเป็นของที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์แบบนี้ ก็จะลำบาก เหมือนถ้าเราพูดถึงบางเหรียญที่ใช้ระบบบล็อกเชน สักวันพอคนบอกว่าไม่อยากได้แล้ว เพราะไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อชีวิตเขา fundamental value ของมันอาจจะเป็น 0 เลยก็ได้ แล้วอีกอย่างคือเงินคริปโตไม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายเหมือนอย่างธนบัตรที่เราใช้กัน มันก็ทำให้เรามั่นใจได้ยากขึ้นว่าเราถือสิ่งนี้ไว้เพื่ออะไรกันแน่

สุดท้ายถามว่ามันเกิดฟองสบู่ไหม ต้องบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนมาก กว่าจะใช้คำว่าฟองสบู่ ก็คือตอนที่มันแตกไปแล้ว ซึ่งก่อนจะแตก มันก็จะเกิดการถกเถียงกันว่าของสิ่งนี้มีคุณค่าหรือเปล่า ซึ่งคุณค่าก็เป็นสิ่งที่วัดได้ยาก แล้วคนก็อาจเห็นไม่เหมือนกัน ผมอาจจะให้มูลค่ามันที่ 100 บาท แต่คุณอาจจะเห็นมันที่ 1,000 บาท ซึ่งมุมผมก็จะบอกว่าถ้า 1,000 บาทคือฟองสบู่แล้ว แต่คุณจะไม่มองอย่างนั้นเพราะคิดว่ามันทำประโยชน์อะไรได้อีกเยอะ จะกำไรหรืออะไรก็ว่าไป แต่ฟองสบู่มันจะแตกของจริงก็ต่อเมื่อคนหมู่มากเห็นร่วมกันว่ามูลค่าของมันต่ำจริงๆ และไม่ถือมันอีกต่อไปแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เลยยังไม่กล้าพูดขนาดนั้นว่าเรียกว่าฟองสบู่แตกจริงหรือเปล่า

ถ้าชวนมองภาพระบบการเงินโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า อาจารย์คิดว่าน่าจะมีหน้าตาแบบไหน

ผมว่าต่อให้จะสร้างระบบ CBDC แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้แทนเงินสดทั้งหมด เพราะเงินสดเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด ตราบใดที่เรายังเชื่อในกระดาษใบนี้อยู่ คือไม่ต้องกลัวเรื่องระบบล่มเหมือนอย่างเงินในระบบดิจิทัล แล้วยิ่งถ้าเป็นบริบทประเทศที่มีความหลากหลาย มีพื้นที่ทุรกันดารมาก การมีสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่เป็นกายภาพก็ยังคงมีประโยชน์มากกว่า มัน inclusive มาก เพราะฉะนั้นถึงอย่างไรเราคงยังต้องใช้เงินสดอยู่ 

ความท้าทายสำคัญของโลกการเงินในอนาคตจะอยู่ที่ตัวเงินที่เป็นข้อมูล ซึ่งมีอยู่กว่า 90% เพราะจริงๆ แล้วเงินแบบนี้มีอุปสรรคอยู่เยอะนะ คือมันไม่ได้ทำงานข้ามกันได้ง่ายๆ อย่างการโอนเงินไปต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงก็เพราะเหตุผลเดียวคือเราไม่เชื่อใจกัน มันถึงมีระบบอย่าง SWIFT เพราะการโอนหนี้ระหว่างกันอย่างเดียวยังไม่จบ แต่ต้องขนเงินที่เป็นสินทรัพย์ที่คู่กับหนี้นั้นข้ามประเทศตามไปด้วย จึงต้องอาศัยตัวกลางที่เชื่อใจกันได้มากที่สุดส่งเงินกันเป็นทอดๆ เพราะฉะนั้นในบริบทโลกยุคดิจิทัล มันจึงต้องตั้งคำถามว่าเราจะเชื่อใจกันได้มากขึ้นไหม ถ้าเชื่อใจมากขึ้น เราจะมีฐานข้อมูลที่ทำงานข้ามกันได้ง่ายขึ้นไหม ถ้าทำได้ ระบบการเงินที่มีอยู่จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่แตกต่างหรืออาจดีกว่าระบบการเงินแบบดีไฟเลยด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า แม้การใช้ระบบดีไฟจะทำให้ทำธุรกรรมระหว่างกันได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้อยู่บนฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นการทำธุรกรรมในฐานข้อมูลเดียวกัน และก็ไม่ทราบว่าใครเป็นใคร จึงทำได้เพียงเรื่องเกี่ยวกับเงินในปัจจุบัน แต่ทำเรื่องเงินในอนาคตไม่ได้

ระบบดีไฟทำให้เราเห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้อีกเยอะมากในระบบการเงิน และทำให้เราต้องมาคิดว่า แม้แต่ละฝ่ายจะมีกำแพงของตัวเอง แต่เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการข้ามกำแพงเร็วขึ้น หรือแทนที่จะมีกำแพงระหว่างกัน เรามีสวนตรงกลางหรือ common ground ดีกว่าไหม เพื่อให้มีอิสระในการทำธุรกรรมกันได้มากขึ้น โดยอาจจะเป็นการทำธุรกรรมในวงเงินจำกัดก็ได้ ไม่แน่ว่าต่อไปเราอาจจะมีเงินกลางของโลกที่ทำให้ธนาคารทุกที่ใช้โอนเงินระหว่างประเทศได้เองโดยไม่ต้องผ่าน SWIFT ก็ได้

รศ.ดร. คณิสร์ แสงโชติ

ตอนนี้หลายคนมองถึงเทรนด์ของเมตาเวิร์ส ถ้าเกิดขึ้นแล้วเป็นที่แพร่หลายจริงในอนาคต อาจารย์คิดว่าระบบเศรษฐกิจในนั้นจะมีหน้าตาอย่างไร และจะส่งผลกับระบบการเงินในโลกจริงไหม

เมตาเวิร์สเป็นการสร้างโลกคู่ขนานขึ้นมา ถ้าจะว่าไปแล้ว การค้ากับโลกเมตาเวิร์สก็เหมือนกับการค้ากับอีกประเทศหนึ่ง แต่เป็นประเทศดิจิทัล เพราะฉะนั้นมันก็มีการค้าขายทรัพยากรข้ามไปมาระหว่างกันได้ ซึ่งทรัพยากรที่ว่าอาจไม่ใช่เงินอย่างเดียว แต่อาจเป็นเวลาก็ได้ อย่างเรามีเวลาจำกัด 24 ชั่วโมง เราก็ต้องเลือกว่าจะใช้เวลาไปกับประเทศในโลกออนไลน์เท่าไหร่ ใช้บนโลกจริงเท่าไหร่ และเมื่อพูดถึงบริบทการค้าระหว่างประเทศ คอนเซปต์ที่มาคู่กันด้วยก็คือเรื่องการกีดกันทางการค้า (trade barrier) ซึ่งมีแนวคิดในเศรษฐศาสตร์ว่า ถ้าการค้าขายเป็นไปอย่างอิสระเสรีมาก เงินไหลเป็นอิสระมาก แล้วอีกฝั่งหนึ่งจะมากอบโกยจากประเทศเราหมดหรือเปล่า ซึ่งในโลกเมตาเวิร์สก็อาจเกิดพลวัตนี้ขึ้นได้เหมือนกัน

การที่เราสร้างระบบเศรษฐกิจเสมือน (virtual economy) หนึ่งขึ้นมา โดยมีสิ่งที่ใช้แทนเงิน มีสินค้าและสินทรัพย์ที่สามารถซื้อขายได้ คำถามก็คือจำเป็นไหมที่เราจะต้องมีสกุลเงินเป็นของตัวเอง โดยทั่วไปแล้ว สกุลเงินก็เปรียบเสมือนไม้บรรทัดที่ใช้วัดใน 3 มิติ คือในมิติการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การเปรียบเทียบเงินเรากับเงินของประเทศอื่น และการเทียบเงินเราในปัจจุบันกับเงินเราในอนาคต การที่เรามีไม้บรรทัดนี้ทำให้เราสามารถกำหนดราคาของเงินเราได้ แต่ถ้าไม้บรรทัดนี้เป็นของคนอื่น วันดีคืนดีเราอาจจะเจอสิ่งไม่คาดฝันได้ เช่น หากประเทศไทยไม่ใช้สกุลบาทแต่ใช้สกุลยูโร แล้วดอลลาร์เกิดแข็งค่าขึ้นมา เราก็อาจจะเดือดร้อนโดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะเราไม่สามารถบริหารสกุลยูโรได้เอง นี่จึงเป็นหัวใจของนโยบายการเงินว่าทำไมประเทศมักอยากมีสกุลเงินเป็นไม้บรรทัดของตัวเอง

แล้วถ้าเรามาดูในโลกเมตาเวิร์สที่สร้างในบล็อกเชนซึ่งเป็นระบบ permissionless คือเปิดกว้างเรื่องสกุลเงินมาก สามารถใช้สกุลเงินใดก็ได้ในการทำธุรกรรมโดยไม่มีใครห้ามได้ ผมยกตัวอย่างงานวิจัยของผมที่ศึกษาถึงเมตาเวิร์สที่ชื่อ The Sandbox ก็มีลักษณะแบบนี้ คือเขามีสกุลเงินของตัวเองที่ชื่อ SAND ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียว คือถ้าเราจะซื้อที่ดินของเขา ต้องซื้อด้วยเงิน SAND เท่านั้น แต่เมื่อเราได้ที่ดินมาแล้ว เราจะขายเป็นสกุลอะไรก็ได้ แล้วสิ่งที่พบก็คือว่า พอมีการขายต่อ ก็แทบไม่มีใครใช้สกุลเงิน SAND  ซื้อขายที่ดินกันเลย ผมลองเปรียบเทียบให้เห็นนะ สมมติเรากำหนดให้การซื้อที่ดินในไทยต้องใช้เงินบาทเท่านั้น โดยเงินบาทใช้ซื้อที่ดินได้อย่างเดียว ไม่มีประโยชน์อื่นเลย ตอนเขาซื้อเขาใช้บาท แต่ตอนขายต่อ เขากลับเลือกขายกันเป็นดอลลาร์หรือยูโร ไม่ใช้เงินบาทแล้ว แล้วอย่างนี้เงินบาทจะมีความหมายอะไร มันก็ทำให้เงินบาทอาจหมดค่าในระยะยาวได้ สกุลเงินในโลกเมตาเวิร์สก็อาจเป็นเหมือนกัน

และมันก็เป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหากลับด้านกันด้วย สมมุติมีคนแห่ไปแลกซื้อเงินบาท เพราะอยากซื้อที่ดินกันเต็มไปหมดเลย จนเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น แล้วสมมุติว่าก่อนหน้านี้เราเคยซื้อเงินบาทไว้เยอะมากๆ เราก็เลือกใช้บาทไปซื้อหรือประมูลที่ดินแข่งกับคนอื่นได้สบาย เพราะทุนเราต่ำ มันก็ทำให้เรารวยขึ้นมาเฉยโดยไม่ได้ทำอะไรเลย แค่เพราะค่าเงินที่เราถือแข็งขึ้น ซึ่งถ้ามองภาพใหญ่ มันทำให้แรงจูงใจในการทำงานของเราภายใต้ระบบเศรษฐกิจถูกบิดเบือนไปนะ คือแทนที่เราจะทำงานเพื่อหาเงินบาท กลายเป็นเราซื้อเงินบาทมานอนกองไว้ แล้วก็รวยขึ้นมาเฉยๆ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะมีใครทำงาน เพราะฉะนั้นแต่ละประเทศถึงต้องมีนโยบายการเงิน มีสกุลเงินของตัวเอง เพื่อให้สุดท้ายแล้วสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างลงตัวที่สุด

ที่อาจารย์พูดว่าสกุลเงินในโลกเมตาเวิร์สอาจหมดค่าได้ แล้วสินทรัพย์อื่นๆ ในโลกเมตาเวิร์สจะเป็นเหมือนกันไหม

ถามว่าทำไมสินค้าหรืออสังหาริมทรัพย์ถึงได้มีราคาในโลกเมตาเวิร์ส ถ้าพูดตามตรงก็คือมันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง 100% จากที่ไม่มีอะไรเลย สมมติว่าเป็นเกมประเภทเวอร์ชวลเรียลลิตีที่เราต้องสวมบทบาทสมมติเป็นคนอื่น (role-playing game) นั่นก็คือโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเราที่เป็นอวตารสามารถใช้ชีวิต ทำงาน หรือหาความสุขใส่ตัวได้ โดยที่อาจมีการสร้างเงื่อนไขของโลกนั้นขึ้นมา เช่นว่า ถ้าเราซื้อไอเทมชิ้นนี้มา เราจะแข็งแกร่งขึ้น หรือไอเทมนี้ใช้แทนอาหารได้ หรือว่าทำเลตรงนี้เป็นทำเลที่ดี เพราะเกมกำหนดมาแล้วว่าเป็นทำเลที่คนจำเป็นต้องเดินผ่านกันเยอะ ของที่สร้างขึ้นมาเองมันก็มีค่าขึ้นมาได้

เมตาเวิร์สมันบังคับให้โลกของเราทุกคนเหมือนกัน มีการสร้างเงื่อนไขบางอย่างมาบังคับกับเราทุกคน อย่างเช่น เรื่องที่ดิน เมตาเวิร์สจะกำหนดให้ตรงไหนเป็นทำเลทองก็ได้ตามใจ แต่ในชีวิตจริง การเป็นทำเลทองหรือเปล่านั้นเกิดจากธรรมชาติ ที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้หรือเปลี่ยนได้ยากมาก เช่น การมีที่ดินริมน้ำ ซึ่งแม่น้ำเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถ้าเราอยากได้ที่ดินตรงนี้ เราก็ซื้อโฉนด แต่ในโลกเมตาเวิร์ส วันนี้คุณอาจจะมีทำเลทองอยู่ แต่วันดีคืนดีคนคุมกฎอาจจะปรับเงื่อนไขให้ตรงนี้ไม่เป็นทำเลทองอีกต่อไป จะสร้างที่ดินขึ้นมาใหม่ก็ยังได้

เพราะฉะนั้นในโลกเมตาเวิร์ส ทุกอย่างอยู่ภายใต้คนเป็นแอดมินว่าเขาจะกำหนดเงื่อนไขอะไร คำถามคือเรายอมรับได้ไหมที่จะต้องมาเจอเงื่อนไขพวกนี้ในโลกนั้น เพราะในโลกจริง ไม่มีแอดมินที่มาแก้ไขกฏของธรรมชาติได้

แต่จริงๆ แล้วคนคุมกฏเขาก็รู้เรื่องนี้ดี บาทก็คงไม่ทำอะไรให้เกิดความเสียหายขึ้น ถ้ามันจะมีปัญหาเกิดขึ้น มันคงเป็นประเด็นที่ว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าที่ดินที่เราซื้อในโลกเมตาเวิร์สเป็นที่ดินที่ดีจริงหรือเปล่า เพราะหลายที่ก็เป็นที่ดินเปล่า เป็นเมืองที่ยังไม่ได้สร้าง เหมือนกับว่าเราซื้ออนาคตอยู่ ซึ่งเป็นอนาคตที่มีความไม่แน่นอน ไม่รู้เลยว่าที่ดินรอบข้างจะเป็นอย่างไร เพื่อนบ้านจะเป็นใคร ต้องรอลุ้นในอนาคต ไม่เหมือนเกมออนไลน์สมัยก่อนที่สร้างโลกเสร็จแล้วค่อยขายให้เราซื้อ

ในโลกที่เทรนด์ระบบการเงินกำลังมุ่งไปทิศทางนี้ อาจารย์คิดว่ารัฐไทยควรมีแนวทางกำกับดูแลอย่างไร โดยเฉพาะบรรดาเงินดิจิทัลต่างๆ

จริงๆ แล้วเงินดิจิทัลกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องที่คลุมเครือมาก เพราะมันก็เป็นข้อมูลในบล็อกเชนเหมือนกัน และเงินข้อมูลส่วนมากก็เป็นหนี้สิน ขอพูดถึงหลักการของนโยบายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในบริบทของตลาดทุนซึ่งมีไว้เพื่อระดมทุน มีอยู่ 5 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก คือปกติถ้าเราเป็นผู้บริโภค เราจะมี สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) คอยดูแล แต่ถ้าเราลงทุน ใครจะเป็นผู้ดูแลนักลงทุนล่ะ ทั่วโลกถึงได้มีการตั้งองค์กรอย่างสำนักงาน ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) มาด้วยเหตุผลนี้ เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือการขายสัญญาการลงทุนบางประเภทจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน เพราะเราต้องการดูว่าของที่ขายให้เราลงทุนมีคุณภาพจริงหรือเปล่า 

ประเด็นที่ 2 คือเรื่องการเปิดเผยข้อมูล คนเอาของมาขายก็ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ลูกค้า อย่างฉลากอาหารหรือสรรพคุณ การลงทุนก็เช่นเดียวกัน ต้องบอกให้หมดเท่าที่จะบอกได้ และต้องบอกมากพอ เพื่อไม่ทำให้คนซื้อถูกหลอก

ประเด็นที่ 3 คือเรื่องการขาย ต้องห้ามใช้คำหลอกลวงหรือคำพวก high pressure sales tactics เช่นว่า “โอกาสสุดท้ายแล้ว” ประโยคพวกนี้ต้องห้ามใช้กับเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะเราจ่ายเงินเพื่อลงทุนวันนี้แต่เรามีความสัมพันธ์กันอีกยาว

ประเด็นที่ 4 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งถือเป็นตลาดรอง ต้องมีข้อมูลให้เห็นมากพอ เช่นว่าเวลานี้มีคนส่งออร์เดอร์ลงทุนเท่าไหร่ มีสภาพคล่องมากพอไหม แล้วปริมาณซื้อที่เห็นต้องเป็นปริมาณจริง ไม่ใช่ปริมาณทิพย์ และไม่ใช่ว่าอัฐยายซื้อขนมยาย เอาเงินตัวเองมาทำราคาเอง

ประเด็นที่ 5 ที่ปรึกษาทางการเงินต้องให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ที่สุดกับนักลงทุนโดยไม่มีวาระแอบแฝง ถ้ามีความขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) ต้องแจ้ง แต่ดีที่สุดคือพยายามเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น

เราต้องลองนำหลักการกำกับดูแลทั้ง 5 อย่างนี้ฉายภาพกลับมาดูบรรดาผู้ประกอบการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิตอล ว่ามีทั้ง 5 มิตินี้ครบไหม

แล้วของไทยมีทั้ง 5 มิตินี้ครบถ้วนไหม

5 อย่างนี้สำหรับคนที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของเราถือว่ามีหมด แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ ถ้าเราจะดำเนินการให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์พวกนี้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร เราจะทำได้ไหม ต้องบอกว่าได้ ยิ่งถ้าให้บริการในรูปแบบดีไฟเต็มตัวจริงๆ คืออยู่บนบล็อกเชนหมดเลย เพราะอย่างที่คุยก่อนหน้านี้ว่าบล็อกเชนคือระบบ  permissionless หมายความว่าเราจะสร้างวอลเล็ต สมาร์ตคอนแทร็ก หรืออะไรต่างๆ ขึ้นมา โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนเราได้เลย เป็นใครอยู่ที่ไหนก็ได้ก็ให้บริการได้ ให้เชื่อในระบบ ไม่ต้องเชื่อในตัวคน ซึ่งผมทำวิจัยแล้วพบว่า มันมีโปรโตคอลบางตัวที่เขาไม่ได้เปิดเผยตัวตนว่าผู้บริหารเป็นใคร แต่อยู่ๆ มีคนมาเปิดเผยตัวตน เปิดเผยประวัติของผู้บริหารว่ามีคดีฉ้อโกง พอคนใช้งานเขารู้ว่าผู้บริหารมีประวัติแบบนั้น เขาก็หนีออกกันหมดเลย ก็แปลว่าตัวคนก็ยังสำคัญอยู่ดี ซึ่งจริงๆ การกำกับดูแลการเงินในปัจจุบันก็มีเรื่องคุณสมบัติของผู้บริหารด้วยนะ

รศ.ดร. คณิสร์ แสงโชติ

เนื่องจากนวัตกรรมเงินพวกนี้มีความไร้พรมแดน เราอาจต้องมีแนวทางกำกับดูแลระหว่างประเทศด้วยหรือเปล่า

ถ้าจะทำจริงๆ ก็พอทำได้ อย่างที่เห็นมาแล้วในกรณีการเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ซึ่งก็สามารถมานั่งคุยกันได้ว่าจะเก็บใครและเก็บอย่างไร ประเด็นก็คือว่า ต่อให้จะไม่มีพรมแดน แต่มันขึ้นกับว่าปลายทางลูกค้าอยู่ที่ประเทศไหน กฎหมายในประเทศนั้นก็ต้องสามารถกำกับดูแลได้ในระดับหนึ่ง ยกเว้นลูกค้าและผู้ให้บริการที่ไม่เปิดเผยตัวตนอะไรทั้งสิ้น อันนี้ต้องทำใจ กฎหมายจะช่วยอะไรไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายทำงานได้แค่กับบุคคลที่มีหลักแหล่งชัดเจน เข้าถึงตัวได้เท่านั้น

เราเห็นเทรนด์ของหลายประเทศที่ตัดสินใจแบนเงินคริปโต อาจารย์คิดว่ามันสะท้อนถึงอะไร มันคือความหวาดกลัวเรื่องการเสียอธิปไตยทางการเงินของแต่ละประเทศหรือเปล่า

มีความเป็นไปได้ที่เขาจะกังวลในเรื่องอธิปไตยทางการเงิน เพราะหลายครั้งเราเห็นได้ว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นในบล็อกเชนส่วนมากคือเงินที่เป็น outside money แต่ถ้าเกิดมันทะลักหลั่งไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก นั่นแปลว่ากำลังซื้อจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา บางทีก็อาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะอาจก่อให้เกิดการบิดเบือนของราคา รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ เขาอาจกังวลกันในมุมนี้มุมหนึ่ง

อีกมุมหนึ่งคือด้วยความที่ระบบเป็นแบบ permissionless ทำให้ใครจะสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ก็ได้โดยที่เราไปห้ามไม่ได้ ส่งผลให้รัฐคุมอำนาจในการสร้างเงินหรือใช้เงินในทางที่ผิดไม่ได้ ที่หลายประเทศตัดสินใจออกมาแบนเงินคริปโต ก็คงเป็นเพราะเหตุผลนี้อีกส่วนหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการยอมรับมาตรฐาน ต้องบอกว่าที่เรามีมาตรการกำกับดูแลบริการทางการเงินต่างๆ เราเห็นทุกวันนี้ ก็เป็นเพราะในอดีตเคยไม่มีมาก่อน แล้วมีปัญหาเกิดขึ้นเยอะ พอมาสู่ยุคปัจจุบันที่เกิดบริการการเงินประเภทดีไฟขึ้นมา ก็เลยเกิดความกังวลว่า ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น เราจะทวงถามความรับผิดชอบจากใคร ตัวตนผู้ให้บริการเป็นใครก็ไม่รู้ ในเมื่อไม่มีแนวทางกำกับดูแลชัดเจน ก็แบนเลยแล้วกัน

ถ้าไม่มองในแง่การกำกับดูแล แต่มองในแง่ว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ได้ อาจารย์คิดว่ารัฐไทยควรมีแนวทางอย่างไร

เดิมเรามีปัญหาว่าการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องช้าและมีต้นทุน ถึงได้ทำให้เกิดนวัตกรรมอย่างเงินคริปโตหรือดีไฟขึ้นมา แต่สำหรับประเทศไทยตอนนี้ เรามีระบบพร้อมเพย์ซึ่งเร็วและฟรี สามารถเอาชนะปัญหาเดิมได้ โดยไม่ได้พึ่งนวัตกรรมบล็อกเชน และแทบไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าประเทศไทยนำหน้าโลกไปไกลมากในเรื่องนี้  แล้วถ้าเราจะมาใช้บล็อกเชนที่เป็น permissionless ซึ่งต้องทิ้งประวัติและตัวตนของคนใช้งานไป เป็นโลก one-shot game ก็เหมือนกับว่าเราจะถอยหลังมาจากเดิมก้าวหนึ่ง

ถ้าจะมีอะไรให้พัฒนา ผมว่าอาจจะเหลืออีกอย่างคือเรื่องการใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำธุรกรรมการเงินรูปแบบอื่นๆ ได้สะดวกขึ้นอีก เหมือนอย่างที่นวัตกรรมดีไฟหรือเงินคริปโตได้ทำให้เห็น ซึ่งเข้าใจว่า CBDC ก็อาจจะออกมาแนวๆ นี้

แล้วเราก็ต้องดูว่าภายใต้ระบบการเงินที่เห็น ตัวเครื่องจักรกลที่อยู่ภายในทำงานอย่างไรกันแน่ เราอยากใช้เครื่องจักรกลแบบเดิมจริงๆ หรือเปล่า ปฎิเสธไม่ได้ว่าเราใช้ฮาร์ดแวร์การเงินที่ถูกสร้างมาหลาย 10 ปีแล้ว แต่พอมีคริปโตเข้ามา มันเหมือนเรายกร่างมันใหม่ตั้งแต่ต้น เป็นการเอาข้อจำกัดต่างๆ ออกหมด ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ว่าเราก็ต้องยอมรับว่าการที่ระบบการเงินมีข้อจำกัดอะไรบางอย่างอยู่ก็อาจจะมีเหตุผลของมัน ให้เปรียบเทียบก็เหมือนปัจจุบันเรามีถนนคดเคี้ยว มีด่านมากมาย แล้วจะมาปรับถนนใหม่ให้วิ่งตรงทะลวงได้ตลอด มันอาจดีก็จริง แต่ถามว่าบนถนนใหม่นี้ เราอยากให้คนขับขับเร็วเต็มสปีดจริงหรือเปล่า ต่อให้เป็นทางตรงแล้วก็จริง แต่ถ้าเหยียบเต็มที่แล้วชนคนเดินระหว่างทาง เขาก็โดนลูกหลง นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นหรือเปล่า มันอาจจะต้องจงใจให้มีโค้งหรือด่านกั้นบ้างเพื่อให้คนไม่เผอเรอไหม 

สุดท้าย ผมว่าเราสามารถเอาบทเรียนบางอย่างจากนวัตกรรมพวกดีไฟหรือเงินคริปโตมาปรับใช้ในการสร้างถนนใหม่ได้ อยู่ที่ว่าเราอยากเห็นถนนในอนาคตมีหน้าตาอย่างไร

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Interviews

11 Apr 2019

เจาะเบื้องหลังปฏิบัติการสร้าง ‘อนาคตใหม่’ กับ ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

คุยกับชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมสำรวจทรรศนะในการฝ่ามรสุมการเมืองไทย

กองบรรณาธิการ

11 Apr 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save