สำหรับคนในยุคปัจจุบันที่รับรู้ว่าพม่าคือศัตรูตัวฉกาจในประวัติศาสตร์ไทย อาจจะแปลกใจว่าสังคมเราเคยมีนิยายที่เชิดชูพม่าในฐานะพระเอกนิยายในบรรณพิภพไทยด้วย ที่รู้จักกันดีในคนยุคก่อนก็คือ ‘จะเด็ด’ หรือบุเรงนองในผู้ชนะสิบทิศ ส่วนอีกคนคือ ‘มังราย’ ในเรื่องเลือดสุพรรณ
ชีวิตของผู้ชนะสิบทิศ
ผู้ชนะสิบทิศ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นผลงานของยาขอบหรือโชติ แพร่พันธุ์ (2450-2499) เป็นนิยาย ‘ปลอมประวัติศาสตร์’ ที่เขียนคร่อมระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ นั่นคือ เริ่มเขียนตีพิมพ์ในชื่อ ยอดขุนพล ในปี 2474 โดยมีกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นผู้ส่งเสริม ก่อนที่หนังสือพิมพ์สุริยาจะปิดตัวลง ยาขอบได้รับเชิญให้ไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ โดยที่มาลัย ชูพินิจ เปลี่ยนชื่อให้เป็น ผู้ชนะสิบทิศ ในระบอบใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2475 ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ต้นกำหนดเขียนเป็น 3 ภาค[1] ลักษณะของนิยายที่ลงหนังสือพิมพ์น่าจะเป็นแบบที่ยาขอบให้การไว้ว่า “จะต้องมาเปล่าเปลืองเวลากับเรื่องที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วันละหน้าๆ ทำไมกัน” [2] ดังนั้นลักษณะการอ่านผู้ชนะสิบทิศหรือนิยายร่วมสมัย สำหรับคนรุ่นๆ ผู้เขียนอาจเทียบได้กับการรอคอยการ์ตูนมังงะที่ออกรายสัปดาห์อย่างดราก้อนบอลหรือวันพีซ ซึ่งจะมีการรวมเล่มอีกครั้งหนึ่งหลังจากดำเนินเรื่องมาถึงส่วนที่วางไว้
ว่ากันว่าผู้ชนะสิบทิศนั้นสำคัญต่อประชาชาติถึงขนาดกุหลาบเขียนถึงว่า “มันเป็นนวนิยายที่มีฤทธิ์และเป็นส่วนประกอบอันสำคัญส่วนหนึ่งแห่งชีวิตอันไพบูลย์ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ”[3] การรวมเล่มขายแต่แรกพิมพ์ในนาม ยอดขุนพล เดือนกุมภาพันธ์ 2476 (ตามปฏิทินเก่าคือ เดือนที่ 11 ของปี 2476) อีกปีต่อมาได้จัดพิมพ์ในนาม ผู้ชนะสิบทิศ ว่ากันว่าเขาจบภาค 1 หลังการเขียนคำนำยอดขุนพลเพียง 4 วัน ภาคที่ 2 เสร็จในเดือนมีนาคม 2481 ภาคที่ 3 เรียบร้อยในเดือนกันยายน 2482[4] หากนับเอาในภาคต่างๆ นั้นจะมีการตีพิมพ์เป็นตอน ตอนละ 1 เล่มด้วยกัน (ดูจากภาพที่ 1) ก่อนที่ในยุคหลังจะมีการรวมเป็นเล่มใหญ่ อย่างไรก็ตามในภาคที่ 3 มีข้อมูลหนึ่งระบุว่าได้แบ่งเป็นตอนต้นและตอนปลาย ในปี 2482 เป็นภาคสามตอนต้น ส่วนภาคสามตอนปลายนั้นระบุว่าตีพิมพ์เดือนตุลาคม 2489[5] ที่น่าสังเกตคือ เหตุไฉนจึงห่างกันขนาดนั้น
ภาพที่ 1 ปกผู้ชนะสิบทิศภาคสองและภาคสาม ตีพิมพ์ครั้งแรกช่วงปี 2481 และ 2482 ราคาปก 25 สตางค์
ที่มาภาพ: paifarlovebook.lnwshop.com
ในมิติทางประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว ตั้งแต่ยอดขุนพลมาจนถึงผู้ชนะสิบทิศ ภาคที่ 3 ประเทศไทยพบกับการจลาจลจาก ‘กบฏบวรเดช’ ในเดือนตุลาคม 2476 ที่เป็นความขัดแย้งจนเป็นสงครามกลางเมืองที่นำมาสู่ความเป็นใหญ่ของหลวงพิบูลสงครามทางการทหารหลังจากเขาเป็นผู้บังคับบัญชาปราบกบฏ ในเวลาต่อมาเข้าก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2481 ปีต่อมาได้ประกาศรัฐนิยมเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ และในปี 2482 นั้นเอง สถานการณ์ชายแดนระหว่างไทย-ฝรั่งเศสทางตะวันออกก็เริ่มมีปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่สงครามระหว่างกันในปีต่อมา
การร้างไปของผู้ชนะสิบทิศช่วงภาคที่ 3 ถึง 7 ปี ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับกรณีที่ผู้ชนะสิบทิศถูกโจมตีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ ครั้งนั้นรัฐบาลไทยเอื้อให้ญี่ปุ่นบุกเข้าดินแดนพม่าเพื่อเข้าสู่อินเดียของอังกฤษ และกองทัพไทยก็ยึดครองรัฐฉานและยึดเมืองสำคัญอย่างเชียงตุงที่เป็นอาณาเขตของพม่าเอาไว้ โดยสถาปนาเป็น ‘สหรัฐไทยเดิม’ ในปี 2486[6] เล่ากันว่า ผู้ชนะสิบทิศกลายเป็นหนังสือต้องห้ามถูกระงับการจำหน่ายเพราะมีเนื้อหายกย่องกษัตริย์ชนชาติศัตรู[7] ซึ่งผิดกับช่วงแรกก่อนสงครามโลก ศัตรูของชาติไทยคือเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ยึดครองดินแดนริมน้ำโขงไป การเป็นศัตรูของพม่านั้นมิได้ถูกให้ความสำคัญมาก่อนเลยนับแต่ปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา
ผู้ชนะสิบทิศจึงเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทเช่นนี้ ในยุคดังกล่าว นิยายอิงประวัติศาสตร์และงานเขียนเชิงพงศาวดารมีตลาดผู้อ่านอยู่ไม่น้อย ว่ากันว่าตลาดดังกล่าว เน้นไปที่แข่งกันเขียนให้ถูกต้องตามพงศาวดาร ยาขอบจึงกลายเป็นแกะดำและถูกโจมตีว่าเขียนโดยไม่มีหลักอ้างอิง ยาขอบไม่อินังขังขอบกับเรื่องดังกล่าวและอธิบายกลับไปอย่างมีชั้นเชิงว่า
“ท่านผู้อ่านคนใดอยากได้ความรู้ทางพงศาวดารก็ย่อมจะศึกษาได้จากพงศาวดารจริงๆ อยู่แล้ว… ไม่มีอะไรที่ข้าพเจ้ากล้ารับรองว่าเป็นพงศาวดารที่ถูกต้องอยู่ในผู้ชนะสิบทิศ ข้าพเจ้าเขียนขึ้นด้วยอารมณ์ฝัน ผู้ชนะสิบทิศถูกปลอมขึ้นจนดูประหนึ่งเป็นพงศาวดารด้วยอารมณ์ฝันเท่านั้น” [8]
มักจะพูดกันเสมอว่ายาขอบแต่งนิยายจากข้อความ 8 บรรทัดในพระราชพงศาวดารพม่า ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถึงกับระบุหน้า 107 บรรทัดที่ 4-11 เมื่อครั้งแต่งยอดขุนพลที่นับได้ 7224 บรรทัด[9] หากเชื่อตามที่อ้างก็น่าจะเป็นข้อความดังนี้
“…ราชกุมารราชกุมารีแลจะเด็ดทั้ง 3 ก็เล่นหัวสนิทสนมเจริญไวยมาด้วยกันในพระราชวังตองอูจนรุ่นขึ้น อยู่มาวันหนึ่งพระราชเทวีทรงสังเกตอาการสนิทสนมกันอย่างไม่ชอบกล เหลือจะอะไภยะโทษได้ ในระหว่างพระราชบุตรีกับมองจะเด็ดบุตร์พระนมของพระราชกุมารมังตรา อันเป็นอนุชาต่างพระมารดาของพระราชธิดาองค์นั้น จึงกราบทูลฟ้องพระมหากษัตริย์ๆ กริ้ว พระมหาเถรขัติยาจารย์ขอพระราชทานโทษจึงโปรดอไภยให้ แล้วตรัสให้ไปรับราชการเปนเจ้าพนักงารผู้น้อยอยู่ในกรมวัง จะเด็ดพากเพียรพยายามเอาใจใส่ในราชการโดยจงรักภักดีอย่างแข็งแรงที่สุด จึงได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ จนได้เปนนายทหารมีตำแหน่งแลยศสูง” [10]
8 บรรทัดดังกล่าวคงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียนมากกว่าการเอา 8 บรรทัดไปขยายเป็นนิยายขนาดยาวทั้งเรื่อง เพราะเมื่อเทียบกับเนื้อหาพระราชพงศาวดารพม่าฉบับดังกล่าวแล้วจะเห็นว่าโครงเรื่องบางส่วนยึดเกาะอยู่กับโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์ ชื่อตัวละคร และสถานที่ในลุ่มอิรวดีตลอดจนลุ่มน้ำใกล้เคียง แม้จะเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคยของคนไทยแต่ก็แทบจะถอดกันออกมา
‘จะเด็ด’ สามัญชนในบทประพันธ์ ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบใหม่
ทราบกันดีว่าทศวรรษ 2470 อันเป็นช่วงอัสดงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีจินตนาการถึงระบอบใหม่ ความคาดหวังต่อผู้ปกครอง การใช้หลักวิชา กระทั่งพลังของคนหนุ่มสาวเป็นสิ่งที่เป็นแรกขับดันสังคมสยามในสมัยนั้น
ตัวละคร ‘จะเด็ด’ (ต่อมาคือบุเรงนอง) และ ‘มังตรา’ (ต่อมาคือพระเจ้าตะเบงชเวตี้แห่งตองอู) ในผู้ชนะสิบทิศ กลายเป็นแฟนตาซีของการสร้างประเทศ-อาณาจักรโดยคนรุ่นใหม่ มังตราขึ้นเป็นยุวกษัตริย์ที่มีอายุเพียง 15 ปี ส่วนจะเด็ดในนิยายสามารถหักเอาเมืองแปรได้ แสดงความเป็นยอดขุนพลได้ตั้งแต่อายุไม่ครบปีบวช นั่นคือ 20 ปี
ภูมิศาสตร์ของผู้ชนะสิบทิศถูกวางอยู่บนลำน้ำสำคัญของพม่าอย่างสะโตง พะโค และอิรวดี ตองอูเป็นนครรัฐที่ตั้งอยู่ริมน้ำสะโตงและมีเทือกเขาอยู่ฝั่งตะวันออก บนเทือกเขาฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือก็มีหัวเมืองไทใหญ่หรือเงี้ยว ขณะที่บนลุ่มน้ำอิรวดีก็มีเมืองแปร ส่วนเมืองหงสาวดีหรือพะโคนั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำพะโค ระหว่างปากน้ำสะโตงทางทิศตะวันออก และอิรวดีทางทิศตะวันตก ในเรื่องพม่ายังไม่สามารถรวมเป็นปึกแผ่น หลังจากอาณาจักรพุกามอันยิ่งใหญ่ล่มสลายไปในพุทธศตวรรษที่ 19 นครรัฐต่างๆ ก็แยกกันอยู่อย่างเป็นอิสระทั้งรัฐของพวกไทใหญ่ตอนบน พม่าตอนกลางและมอญตอนใต้ อย่างไรก็ดี ยาขอบได้แจ้งไว้ว่า
“แปร ตองอู หงสาวดี ฯลฯ ตามความรู้ของท่านและความเป็นจริงบนพื้นโลกนั้น อาจเป็นคนละแห่งกับแปร ตองอู หงสาวดี ฯลฯ ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือและบนสมองของข้าพเจ้าก็ได้ เมื่อท่านปล่อยความรู้สึกลงมาให้ผู้ชนะสิบทิศ ท่านก็ได้เข้ามาอยู่ในเรื่องและโลกสมมุติของข้าพเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้นควรลืมโลกจริงๆ ของท่านเสีย และอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้มีเกียรติยศพาท่านไปสนุกในดินแดนอันเป็นของข้าพเจ้าเอง” [11]
มีผู้กล่าวถึงยาขอบถึงกรณีการจัดการถึงจินตนาการภูมิศาสตร์ในผู้ชนะสิบทิศไว้ว่า
“ผมได้ไปเป็นเพื่อนเขาหาแผนที่ประเทศพม่าแผ่นมหึมาแผ่นหนึ่งเอามาขึงติดกับโต๊ะขนาดใหญ่… เวลาดึกๆ เขาจะลุกมานั่งดูแผนที่นั้นพร้อมใช้ความคิดอย่างเคร่งขรึมทุกคืน และแล้ววันต่อมาเขาก็ชวนผมไปร้านขายตุ๊กตาไทยแถวสะพานเสี้ยว ซื้อตุ๊กตาตัวจิ๋วๆ มาหอบหนึ่ง ทั้งสั่งทางร้านให้ช่วยทำให้อีกจำนวนมาก โดยให้ปั้นเป็นนักรบพม่าและไทยสมัยโบราณ เมื่อได้แล้วเขาก็เอาตุ๊กตาจิ๋วๆ เหล่านั้นวางลงบนแผนที่มหึมา ในลักษณะกองทัพไทยกับพม่าจะรบกัน และในตอนกลางคืนดึกๆ เงียบสงัด เขาก็ลุกมาเพ่งดูตุ๊กตาเหล่านั้น” [12]
ในเรื่องผูกให้กลุ่มนครรัฐอย่างหงสาวดีกับเมืองแปรนั้นมีความสัมพันธ์ที่นับญาติกันอยู่ ต่างจากตองอูที่เป็นนครรัฐแห่งใหม่ พระเจ้าตะเบงชเวตี้เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 2 ตองอูจึงถือว่าค่อยๆ สั่งสมอำนาจตัวเองขึ้นมา โดยหวังจะแผ่ขยายอำนาจไปอย่างกว้างขวาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนผูกชีวิตของจะเด็ดให้ไปอยู่ทั้งอยู่ในวัง วัด ชนบท รวมไปถึงการผจญภัยไปต่างบ้านต่างเมือง ผู้อ่านจึงได้เปิดหูเปิดตาท่องเที่ยวไปด้วยสายตาของจะเด็ดที่มีพฤติการณ์อันน่าชื่นชมและน่าสงสัย หรือกระทั่งน่ารังเกียจ จะเด็ดเป็นตัวเอกที่มีดีมีชั่วในตัวเอง
ที่สำคัญ ‘จะเด็ด’ เป็นตัวละครแห่งยุคสมัยในฐานะที่เป็นเพียงสามัญชน แม้จะเป็นลูกแม่นมของพระราชโอรสอย่างมังตราที่ดูจะได้รับโอกาสดีทั้งสายใยความสัมพันธ์กับเจ้านาย แต่จะเด็ดมักจะถูกเปรียบเทียบความสูงต่ำเกี่ยวกับชาติตระกูลอยู่เสมอ แม้มารดาจะเด็ดจะเป็นพระนม แต่บิดาของจะเด็ดเป็นเพียงคนปาดงวงตาลในชนบทของพุกาม คำเย้ยหยันว่า “จะเด็ดบุตรคนหาตระกูลไม่” [13] ศัตรูของจะเด็ดจึงมักเปรียบเปรยชาติวุฒิของเขา อย่างเช่นสอพินยา น้องชายของกษัตริย์หงสาวดีที่ว่า “ซึ่งเอ็งเกริ่นศักดิ์ว่าเป็นขุนวัง ถึงจะตำแหน่งใหญ่ก็นัยเดียวกับทาสในเรือนเบี้ย แต่ข้านี่สิแม้โดยไม่อาศัยตำแหน่งใดในเมืองแปร แต่ความเป็นราชตระกูลร่วมเศวตฉัตรพระเจ้าหงสาวดีก็เกินหน้าเอ็งอยู่แล้ว”[14] หรือคำปรามาสของพระเจ้าแปรที่มีต่อเขา ว่า “ดูดู๋ชายผู้นี้เป็นเพียงชายสามัญหรือหากจะเรืองศิลปวิทยาการก็อุปมาเพียงเหมือนนกเหยี่ยว บังอาจกระทำลักษณาการหลู่เอาพญานกครุฑฉะนี้” [15] เช่นเดียวกับ “จะเด็ดเป็นคนหาตระกูลมิได้ ส่วนกูสิครองราชสมบัติมีชาติกำเนิดในเศวตฉัตรมาถึงหกชั่วคน”[16]
นอกจากนั้น ทหารคู่ใจของจะเด็ดเป็นเพื่อนที่มาจากสำนักดาบกะเหรี่ยงที่อยู่บนดอยฝั่งตะวันออกของเมืองตองอู จากการที่ได้รับการฝากฝังจากมหาเถรกุโสดอให้ไปร่ำเรียนวิชาดาบให้แตกฉาน เพื่อนกะเหรี่ยงที่สาบานเป็นพี่น้องกับจะเลงกะโบ สีอ่อง และเนงบา ก็ถูกทำให้เห็นว่าหากสาม้ญชนมีฝีมือก็สามารถไต่เต้าด้วยความสามารถขึ้นไปได้ ในระบอบเก่านั้น การขึ้นไปดำรงตำแหน่งนายทหารระดับสูงนั้น จะติดอุปสรรคด่านสำคัญสำหรับคนสามัญ ก็คือชาติกำเนิด
ยาขอบใช้คำว่า “เมาชาติตระกูล” [17] ที่ชี้ให้เห็นการตอกย้ำถึงประเด็นดังกล่าวและยังชี้ว่า ต้นราชวงศ์กษัตริย์เองก็ “หนเดิมก็เป็นคนสามัญ” [18] นั่นคือสโดเมงผู้เป็นต้นราชวงศ์แปร และมะกะโทผู้เป็นต้นราชวงศ์หงสาวดี
หลังปฏิวัติ 2475 พม่าไม่ใช่ศัตรู
เหตุใดจึงเลือกพม่าเป็นพระเอกและฉากสำคัญ ทั้งที่ผ่านมาพม่าคืออริราชศัตรูเบอร์ 1 กล่าวกันว่า “อ้ายพม่าข้าศึก” ได้ถูกนำมาย้ำเตือนและผลิตซ้ำในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังจากที่สำนึกแบบประวัติศาสตร์สมัยใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทเห็นได้จากผลงานชิ้นเอกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอย่าง ไทยรบพม่า (2460) ที่เดิมตีพิมพ์อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 6 ชื่อว่า ‘เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า’ หนังสือนี้ชี้แจงความเข้าใจผิดว่า พงศาวดารที่ผ่านมาชวนให้เข้าใจว่าสงครามตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปจนถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นเป็น ‘ไทยรบมอญ’ เพราะพระเจ้าหงสาวดีเป็นผู้มาทำสงคราม เนื่องจากพระเจ้าหงสาวดีขณะนั้นคือพม่า หนังสือ ‘เรื่องไทยรบพม่า’ จึงเป็นชื่อที่แก้ความเข้าใจผิดดังกล่าว นอกจากในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว มอญที่มารบกับไทยนั้นมาด้วยการอยู่ในบังคับพม่า หากมอญมีกำลังเป็นอิสระก็จะหันไปรบพม่า หรือหากถูกกดขี่จนทนไม่ไหวก็จะมาพึ่งไทย[19] ยังไม่นับว่า ต้นวงศ์จักรีกษัตริย์ได้สืบเชื้อสายมอญเข้าไปอีก
ในทางกลับกันผู้ชนะสิบทิศ ได้วางตัวคู่แค้นก็คือมอญ ผู้ชนะสิบทิศจึงเสมือนเป็นนิยายด้านกลับของวรรณกรรมต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่าง ราชาธิราช ที่มีความสำคัญด้านการเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นกรุงรัตนโกสินทร์[20] ไม่แน่ใจนักว่าคือความตั้งใจของผู้เขียนหรือไม่ แต่กำเนิดของผู้ชนะสิบทิศ ได้ข่มความเป็นใหญ่ทางวัฒนธรรมของมอญที่อาจเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมหนึ่งของผู้คนในราชสำนักสยามมาแต่ก่อนอีกด้วย มอญในเรื่องถูกวางบท ‘ตัวโกง’ คนเจ้าเล่ห์ที่ใช้ลิ้นเจรจาเพื่อวางแผน มากกว่าจะใช้ฝีมือในการรณรงค์สงครามหรือการสับประยุทธ์ เห็นได้จากคนอย่างสอพินยา ไขลู ที่เป็นศัตรูของบุเรงนองและตองอูในเบื้องต้น ขณะที่สมิงสอตุดเป็นผู้ร้ายในตอนปลายเรื่อง
ความเป็นชายของบุเรงนอง-ยาขอบ และความเป็นหญิงของคู่สวาท
การเป็นยอดขุนพลที่มีความเก่งกล้าทางการทหาร แสดงความเป็นชายชาตรีตามพิมพ์นิยมของคนในยุคนั้น แต่ในอีกด้านจะเด็ดได้ถูกจัดวางให้มีบทบาทที่เจ้าชู้ เขาอาจเอื้อมหมายปองถึงหญิงสูงศักดิ์ในราชสำนักทั้งตองอูและเมืองแปร ดังที่ได้ยินกันในวลีอมตะที่บุเรงนองเกี้ยวตละแม่จันทราว่า “ข้าพเจ้ารักน้องท่านนี้โดยใจภักดิ์ ส่วนที่รักตละแม่เมืองแปรสิรักโดยใจปอง” [21] อันที่จริง รักหลายใจของจะเด็ด ในด้านหนึ่งก็แย้งกับอุดมการณ์ผัวเดียวเมียเดียวที่รัฐในยุคนั้นพยายามจะสถาปนาอยู่ เห็นได้จากการถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออกกฎหมายในช่วงระบอบใหม่[22]
ในเรื่องจะเด็ด มีเมียถึง 6 คน แต่ละคนมีลำดับศักดิ์ต่างกันไปตั้งแต่ตละแม่จันทรา พี่สาวกษัตริย์ตองอู ตะเบงชเวตี้, ตละแม่กุสุมา ลูกสาวของกษัตริย์แปร, พระเจ้านรบดี ตละแม่มินบู เมียกษัตริย์หงสาวดี พระเจ้าสกาวุตพี, นางอเทตยา หลานกษัตริย์แปร, นางเชงสอบู อดีตข้าหลวงในตะละแม่กุสุมา และนางตองสา อดีตข้าหลวงในตละแม่จันทรา นอกจากตัวยาขอบจะเป็นคนเจ้าชู้หลายเมีย บุคลิกของจะเด็ดยังมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับขุนแผนในวรรณกรรมชื่อดังอีกเรื่อง ผู้แต่งนอกจากจะผูกปม 2 ตละแม่ อย่างจันทราและกุสุมาอันเป็นหญิงสูงศักดิ์ต่างนครรัฐแล้ว ยังทำให้กุสุมาคล้ายกับวันทองตรงที่กุสุมาต้องตกเป็นเมียของตัวร้ายแห่งหงสาวดีอย่างสอพินยา มหาอุปราช ก่อนที่จะเด็ดจะได้เชยชม ผู้เขียนพยายามทำให้บุเรงนองมีความชอบธรรมในการเกี้ยวพาราสี กล่าวคือ ก่อนแต่งงานกับตละแม่จันทรา บุเรงนองแค่เพียงสัมผัสกายนางต่างๆ เท่านั้น หาได้ละเมิดพรหมจรรย์ ราวกับว่าในคืนแต่งงานของเขากับจันทราเป็นการสละพรหมจรรย์ตัวเองไปด้วย แต่หลังจากนั้นแล้วบุเรงนองก็หาได้สำรวมเช่นนั้นต่อไป
ตัวละครหญิงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นหัวจากตัวร้าย เช่น สอพินยาใช้เมียพระเจ้าแปรเพื่อยุแยงให้เกลียดจะเด็ด ไขลูใช้โชอั้ว ลูกแม่ทัพเมืองแปรเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อจะเด็ด สมิงสอตุดใช้มุขอาย สนมพระเจ้าตะเบงชเวตี้ที่ได้มาแต่เมืองยะไข่เพื่อ เช่นเดียวกับการยุแยงแม่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ระแวงบุเรงนอง เหล่านี้อาจเรียกด้วยคำของยาขอบว่า คือการ ‘ปั่นนาง’
ผู้ชนะสิบทิศไม่ได้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยผู้ประพันธ์เพียงอย่างเดียว ตอนสำคัญที่จะเด็ดจะแต่งเมียสองคือ ตละแม่จันทรา และตละแม่กุสุมา ปรากฏว่ามีสตรีสูงศักดิ์[23] ได้เข้ามาห้ามไม่ให้เรื่องออกไปทำนองนั้น เหตุผลคือ ตละแม่กุสุมาไม่ใช่หญิงบริสุทธิ์เพราะตกไปเป็นเมียของสอพินยาแล้ว ยาขอบทนรบเร้าไม่ไหวจึงหักบทและเขียนให้พระนม แม่เฒ่าเลาชีเป็นคนยื่นคำขาดกับจะเด็ดว่า หากยังดื้อดึงนางจะแขวนคอตาย ผู้อ่านเองก็อาจพอจับอารมณ์ความอึดอัดดังกล่าวของยาขอบได้ดี
ผู้ชนะสิบทิศใน pop culture
ด้วยความยาวของเนื้อหาผู้ชนะสิบทิศก็น่าสนใจว่า ผู้คนรู้จักผู้ชนะสิบทิศอย่างแพร่หลายได้อย่างไร อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากพลังทางวัฒนธรรมของผู้ชนะสิบทิศนั้นต่อยอดไปถึงบทเพลง เช่น ผู้ชนะสิบทิศ ของ ชรินทร์ นันทนาคร ที่รู้จักกันดีในท่อน “เจ็บใจคนรักโดนรังแก ข้าจะเผาเมืองแปรให้มันวอดวาย”, เพลงบุเรงนองลั่นกลองรบ ของ สุเทพ วงศ์กำแหงในท่อน “ทุงยาบ่าเล”, เพลงยอดพธูเมืองแปร ฯลฯ หรือในนามภาพยนตร์ ผู้ชนะสิบทิศ ที่หยิบชื่อตอนต่างๆ มาสร้าง เช่น ยอดขุนพล (2509), บุเรงนองลั่นกลองรบ (2510), บุเรงนองถล่มหงสาวดี (2510) เช่นเดียวกับละครโทรทัศน์ ปี 2501, 2504, 2514 (ช่อง 4), 2523 (ช่อง 9), 2526 (ช่อง 5), 2532-2533 (ช่อง 3), 2558 (ช่อง 8)
อันที่จริงเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ไม่ได้ถูกนำไปผลิตเป็นละครและภาพยนตร์หลังจากปี 2533 อีกแล้ว โดยเฉพาะหลังวิกฤตต้มยำกุ้งต้นทศวรรษ 2540 หนังไทยชาตินิยมจำนวนมากได้ถือเอา ‘พม่า’ เป็นศัตรูคู่อาฆาตเช่น บางระจัน (2543), สุริโยไท (2544) มาจนถึงตำนานสมเด็จพระนเรศวร ตั้งแต่ภาค 1-6 (2550-2558) อย่างไรก็ตามการกลับมาอีกครั้งของผู้ชนะสิบทิศในฐานะละครช่อง 8 ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของบุเรงนองได้ถูกกลับมาเล่าอีกครั้งในซีรีส์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร แต่กระแสตอบรับไม่ดีนัก คงเหลือเพียงบทเพลงที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้นที่ยังถูกเปิดฟังและขับร้องในเวทีการประกวดต่างๆ
มรณกรรมของผู้ประพันธ์ และบทประพันธ์ที่จบลงแบบไม่สมบูรณ์
ความที่ผู้ชนะสิบทิศลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่มีผู้ติดตามอ่านประจำ ทำให้นิยายยุคนี้ถูกคาดหวังจากผู้อ่านไปต่างๆ นานา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านมีอยู่หลายแบบ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าหญิงชนชั้นสูงถึงกับมาขอร้องให้ยาขอบปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วน ยาขอบระบุไว้ในปี 2481 ว่า
“การเขียนเรื่องยาวๆ เช่นนี้เท่าที่ความจริงประสบกับข้าพเจ้านั้น รู้สึกว่าท่านผู้อ่านถือสิทธิ์ในอันที่จะให้ดำเนินเรื่องไปอย่างไรเท่าๆ กับผู้แต่งเองเหมือนกัน เป็นต้นพอข้าพเจ้าผู้แต่งวาดโฉมของเรื่องเบนไปในทางจะให้ตัวนางในเรื่องตัวหนึ่งไปรักใคร่พอใจกับตัวอื่นซึ่งมิใช่ตัวเอก ผู้อ่านก็ขู่มา ที่ใจเย็นหน่อยก็ว่า ถ้าเขียนให้เป็นไปอย่างนั้นจะไม่อ่าน ที่ใจร้อนก็ว่าขืนแต่งยังงั้นจะด่า ข้าพเจ้าก็ได้แต่คอยแต่งตาม จึ่งเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ความสนุกหรือไม่สนุกดูเหมือนผู้แต่งจะเป็นเพียงส่วนประกอบเสียแล้ว ส่วนจริงๆ อยู่ที่ผู้อ่านท่านช่วยกันออกความคิดความเห็นประดิษฐ์ประดับสู่กันอ่านเอง” [24]
ยาขอบยังระบุไว้ในปี 2482 อีกว่า “ข้าพเจ้าหวังว่าถึงตายก็ตายช้าตายยากเต็มที และอาจตายทีหลังข้าพเจ้านับด้วย 100 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะความเป็นน้ำหมึกประทับไว้บนกระดาษเป็นเรื่องราวลำดับด้วยถ้อยคำของภาษาคนภาษาหนึ่งกว่า 1,500,000 คำ” ทั้งหมดนี้ถูกพิมพ์เป็นเล่มที่รวมแล้วกว่า 22,000 เล่ม เขายังเปิดเผยว่าในตัวบทนั้นเขาได้ “ลอกตะลุย” (ซึ่งอันที่จริงถือว่าได้แรงบันดาลใจมามากกว่า) จาก โจโฉแตกทัพเรือ ไตรภูมิพระร่วง อิเหนา[25] ยาขอบยังพูดถึงความตายของเขาและคำทำนายชะตาชีวิตของเขาไว้ 2 ประการนั่นคือ อาจจะกลายเป็นบ้าในบั้นปลายชีวิต และประการที่ 2 คือ ตายอย่างนักประพันธ์ไส้แห้ง มาถึงตอนนี้แล้วเราก็รู้แล้วว่ายาขอบตายตั้งแต่ปี 2499 ด้วยการเสพสุราแทบไม่เว้นจนหัวใจวายตายในต้นเดือนเมษายน การที่เขามีเงินติดตัวเพียง 130 บาท ก็อาจสะท้อนคำพยากรณ์ชีวิตของเขาได้ดี
ผู้ชนะสิบทิศเขียนลงในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ต่อเนื่องจากที่เคยเขียนค้างในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ว่ากันว่าปี 2482 เขาในวัย 32 ได้รักหลุมรักสาวน้อยวัย 20 จึงตัดสินใจบวชล้างมลทิน แต่ในที่สุดก็ไม่สมหวังในบั้นปลาย เขาเขียนผู้ชนะสิบทิศลงในสยามนิกรได้อีกไม่นานสยามนิกรก็ปิดตัวลงและถือว่าเป็นการปิดตัวผู้ชนะสิบทิศไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อนักประพันธ์ตายไปจริงๆ ผู้ชนะสิบทิศ ที่ยังเขียนอยู่ไม่จบก็ต้องหาทางลงให้ได้ แม้ว่าก่อนหน้าที่ยาขอบยังมีลมหายใจ ผู้อุปถ้มภ์ตัวยงของเขาอย่างคุณชลอ รังควร (ผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับสามีขุนวรกิจบรรหาร (พงษ์ รังควร) ในหนังสือประชามิตรและเจ้าของโรงพิมพ์อักษรนิติได้คะยั้นคะยอให้เขาเขียนให้จบ โดยให้รางวัลล่อใจราวแสนบาทต่อ 40 ยก (ราว 600 หน้า) [26] ยาขอบไม่ได้เขียนต่อ ไม่ใช่ว่าเขาหมดน้ำยา เพราะระหว่างนั้นเขาก็มุ่งเขียนหนังสือใหม่ นั่นก็คือที่เรารู้จักกันในเวลาต่อมาคือ สามก๊กฉบับวณิพก[27] ที่มีช่วงเวลาการผลิตผลงานอยู่ระหว่างปี 2480-2498 เรียกได้ว่าจนเขาเกือบจะจบชีวิตนั่นเอง ไม่ว่ายาขอบจะหมดแพสชันหรืออะไรก็ตาม แต่การไม่จบเรื่องทำให้แฟนๆ ของเขาตั้งตารอ จนในที่สุดก็มีการแก้ปัญหาด้วยการเล่าโครงเรื่องที่ยาขอบตั้งใจไว้ว่าจะเขียนจากปากคำของผู้หญิงคนสุดท้ายที่เคียงข้างเขา นั่นคือ ประกายศรี ศรุตานนท์
ตามที่บันทึกกันมา ตอนจบของเรื่องคือพระเจ้าตะเบงชเวตี้ถูกสังหารด้วยยาพิษ บ้านเมืองแตกระส่ำระสาย บุเรงนองในฐานะมหาอุปราชที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้สืบทอดจึงใช้โอกาสนี้สร้างความชอบธรรมในการปราบกบฏและปราบดาภิเศกตัวเองเป็นใหญ่ ดังนั้น กว่าจะมาเป็นผู้ชนะสิบทิศในฐานะพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ต้องรอจนจบเรื่อง และอย่างที่ทราบกัน ผู้ชนะสิบทิศจบโดยที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ยังไม่สวรรคตเสียด้วยซ้ำ บทประพันธ์นี้ของยาขอบจึงมีความคลุมเครือในตอนท้าย เขาเคยเขียนบอกไว้ว่าผลที่ยาขอบได้จากผู้ชนะสิบทิศกอปรด้วย 4 ผู้มีบุญคุณ นั่นคือ ศรีบูรพา ผู้สนับสนุนให้เขียนสมัยยอดขุนพล แม่อนงค์ (มาลัย ชูพินิจ) ผู้ตั้งชื่อใหม่ให้ว่า ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ และขุนสงัดโรคกิติที่ ‘กล้าพิมพ์’ ยอดขุนพล ฉบับรวมเล่มออกมา และที่สำคัญก็คือประชาชนคนอ่าน [28] แสดงให้เห็นว่าผู้อ่านนั้นสำคัญเสมอ
เมื่อพิจารณาจากโครงเรื่องที่เอามาสรุปในเล่มสุดท้าย ก็อาจจะเรียกว่าอ่านแก้ขัดได้ แต่มันขาดอรรถรสตรงที่ ผู้ชนะสิบทิศ ไม่ได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอ่านมาดุจเดิมที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อีกแล้ว ความเป็นผู้ชนะสิบทิศจึงอาจจบลงอย่างไม่บริบูรณ์ถึงรสถึงชาติดังที่ผู้อ่านมากหลายคาดหวัง
แต่ก็นั่นแหละ ในโลกที่กระแสวัฒนธรรมกำหนดมาแรง อัตลักษณ์ทางเพศกลายเป็นเรื่องใหญ่ ความเจ้าชู้ของบุเรงนอง จะทำให้เรื่องผู้ชนะสิบทิศมีที่ทางและสถานภาพอย่างไร จะสามารถกลับมายิ่งใหญ่ในจอเงินและจอแก้ว หรือเหลือเพียงซากความยิ่งใหญ่อยู่ในเพลงประกวดตามช่องโทรทัศน์ต่างๆ เท่านั้น.
ภาพที่ 2 แผ่นเสียงเพลง ผู้ชนะสิบทิศ
ที่มาภาพ: www.hof-records.com
ที่มาภาพ: thaibunterng.fandom.com
ที่มาภาพ: thaibunterng.fandom.com
ที่มาภาพ: thaibunterng.fandom.com
[1] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, 2559), หน้า (19), ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 4 (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, 2559), หน้า 2367-2368 และ
อรพินท์ คำสอน, “เสน่ห์อันหลากหลายของนวนิยายเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”, ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนวิจารณ์ต่อนวนิยายยุคแรก (กรุงเทพฯ : ชมนาด, 2548), หน้า 202
[2] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, 2559), หน้า (17)
[3] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 4, หน้า 2367-2368
[4] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า (8)-(20)
[5] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 6 (พิมพ์ครั้งที่ 12, กรุงเทพฯ : ผดุงศึกษา, 2532), หน้า (8)-(20)
[6] “ประกาสกองบันชาการทหานสูงสุด เรื่องการปกครองสหรัถไทยเดิม”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 60, ตอนที่ 31, 15 มิถุนายน 2486, หน้า 1682
[7] โรม บุนนาค. ““ผู้ชนะสิบทิศ” นิยายต้องห้ามพิมพ์จำหน่าย! ยกย่องกษัตริย์ชาติศัตรูในการสถาปนา “สหรัฐไทยเดิม”!!”. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2565 จาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000126002
[8] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า (17)
[9] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า (20)
[10] นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม 1 (ม.ป.ท.:โรงพิมพ์กรุงเทพ, 2456), หน้า 107
[11] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, 2559), หน้า (17)
[12] อรพินท์ คำสอน, “เสน่ห์อันหลากหลายของนวนิยายเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”, ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนวิจารณ์ต่อนวนิยายยุคแรก (กรุงเทพฯ : ชมนาด, 2548), หน้า 11
[13] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, 2559), หน้า 128
[14] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า 241
[15] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า 379
[16] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า 506
[17] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 3, หน้า 1547
[18] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 3, หน้า 1548
[19] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 6 เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า (ม.ป.ท.:โรงพิมพ์อักษรนิติ์, 2460), หน้า ค
[20] อ่านเพิ่มเติมใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “สามก๊ก-ราชาธิราชในพระราชพงศาวดาร: พลังวัฒนธรรม ‘เจ๊กปนมอญ’ และการชิงอำนาจในราชสำนักกรุงเทพฯ”. The 101.World . สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2565 จาก https://www.the101.world/three-kingdoms-and-hanthawaddy-chronicle/ (25 พฤษภาคม 2565)
[21] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า 466
[22] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, “ผัวเดียวเมียเดียว” ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556, หน้า 121-155
[23] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “สามก๊ก-ราชาธิราชในพระราชพงศาวดาร: พลังวัฒนธรรม ‘เจ๊กปนมอญ’ และการชิงอำนาจในราชสำนักกรุงเทพฯ”. The 101.World . สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2565 จาhttps://www.silpa-mag.com/history/article_1654
[24] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า (14)
[25] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า (10)
[26] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 4, หน้า 2370-2372
[27] ยศไกร ส.ตันสกุล, การผลิตสามก๊ก ในบริบทของสังคมไทย พ.ศ. 2480-2550 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, หน้า 45-46
[28] ยาขอบ (นามแฝง), ผู้ชนะสิบทิศ เล่ม 1, หน้า (12)-(13)