fbpx

หลับตาชงชา หาปลาด้วยหู: เรื่องเล่าในเหลาน้ำชาของจอมยุทธ์แห่งท้องทะเล

1

บ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

“นั่งกินชากันแล้วไม่เมา ถกเถียงกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องการเมืองการมุ้ง ไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อยกัน” บังกิฟลี เจ้าของร้านน้ำชาริมทะเลเปิดประเด็นด้วยสำเนียงทองแดงชัดถ้อยชัดคำ พูดจบแล้วหยิบมวนยาเส้นใส่ปาก จุดไฟแช็กสองครั้ง – ไม่ติด ดูเหมือนว่าลมทะเลจะแรงจนกำลังไฟสู้ไม่ไหว

“ปิดพัดลมแป้บ” บังกิฟลีกล่าวด้วยรอยยิ้ม ก่อนเดินไปปลดผ้าใบกันสาดลงมา เพื่อกันไม่ให้ลมทะเลพัดเข้าหน้าพวกเรา เสร็จแล้วเดินกลับมานั่ง ยักคิ้วด้วยความภูมิใจ “ที่นี่ไม่ต้องใช้พัดลมไฟฟ้า เรามีพัดลมธรรมชาติ” ว่าแล้วจุดยาเส้นต่อ ครั้งนี้ไฟสว่างวาบตรงปลายมวน

“เช้านี้ไม่มีใครมาหรอก พายุเข้าเมื่อคืน เงียบกันหมด” บังกิฟลีเล่าพลางเอนหลังตรงพนักพิงม้าหินอ่อน “กินชากันสักหน่อยนะ” เจ้าของร้านเอ่ยปากชวนแกมบังคับ ก่อนเดินหายเข้าไปหลังร้าน ทิ้งให้ฉันและช่างภาพนั่งมองผ้าใบที่ถูกลมทะเลพัดจนโป่งพอง

ก่อนหน้านี้ หลังวนเวียนอยู่ในตัวเมืองนครศรีธรรมราชหลายวัน เราก็ออกมาพักอยู่นอกเมืองเพื่อทำงานสารคดี ฉันและเอ็มตั้งใจแวะร้านน้ำชาของบังกิฟลีเพื่อหาอาหารและเครื่องดื่มร้อนๆ ในยามเช้าค่อนสาย ก่อนจะเดินทางต่อไปที่วัดไอ้ไข่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนี้มากนัก

ร้านน้ำชาของบังกิฟลีตั้งเป็นเพิงเล็กๆ อยู่ริมทะเลอ่าวไทย ในชุมชนบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา นครศรีธรรมราช ที่นี่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีชื่อร้านปักในกูเกิ้ลแมป และไม่ใช่ว่าจะขับรถผ่านกันได้ง่ายๆ แน่นอนว่าไม่มีใครมาติดดาวให้คะแนนความพึงพอใจ เรื่องแบบนี้เขาคุยกันด้วยปากเปล่าและตาเห็น – ที่นี่เป็นที่นั่งพูดคุยของเหล่าชาวประมงก่อนออกทะเล นั่นทำให้ตามกิจวัตร บังกิฟลีต้องลุกขึ้นมาเปิดร้านตั้งแต่ตี 2 เตรียมชาอุ่นๆ และข้าวร้อนๆ ไว้ให้เหล่าจอมยุทธ์ก่อนตะลุยยุทธจักรท้องทะเล

“ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนถ่ายรูปของผม” เอ็ม-เมธิชัย ช่างภาพหนุ่มชาวตรังเล่าระหว่างรอชา – เปล่า บังกิฟลีไม่ใช่อาจารย์ด้านการถ่ายภาพ และที่นี่ยิ่งห่างไกลกับคำว่าสตูดิโอ แต่เอ็มหมายถึงว่า ทะเล ร้านน้ำชา และผู้คนที่นี่คือ ‘ช็อต’ สวยๆ ที่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติให้เขาคอยมาเก็บภาพ หนึ่ง ที่นี่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยที่เขาเรียน และสอง ผู้คนที่นี่เป็นมิตรอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบังกิฟลีเจ้าของร้าน คนไว้หนวดที่มีบุคลิกยิ้มๆ เหมือนจะปล่อยมุกตลอดเวลา นั่นทำให้เอ็มคุ้นเคยกับที่นี่เหมือนบ้าน

กลิ่นหอมของชาลอยมาจากเคาน์เตอร์บาร์ และยังไม่ทันที่ความหอมจะทำให้เราทรมานเพราะความอยาก บังกิฟลีก็ถือชานมสองแก้วมาวางตรงหน้า ลูกสาววัยใกล้สิบขวบเดินตามมาด้วย นัยน์ตาคมเข้มมองมาที่เราอย่างใคร่รู้

“ฝึกนานนะ กว่าจะชงอร่อยขนาดนี้ ลองจิบดู รับรองว่าไม่หวาน” บังกิฟลีพูดเสียงดังฟังชัด แล้วมองไม่คลาดสายตา ฉันใช้ช้อนคนนมข้นที่อยู่ก้นแก้วจนสีชาเปลี่ยนจากสีส้มเข้มเป็นโทนอ่อนลง มองจากภายนอก หน้าตาของชาดูหวานแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดภาษาเพื่อนสนิทก็ว่า หวานจัดแน่นอน ยิ่งประสบการณ์จากร้านน้ำชงในกรุงเทพฯ สอนให้เรารู้ว่า คำว่า ‘ไม่หวาน’ ไม่มีอยู่จริง ฉันจึงจิบคำแรกด้วยความระมัดระวัง

หากประวัติศาสตร์บอกเราว่า ชาคือภาพแทนความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษหรือเป็นมรดกจากอารยธรรมอันลึกล้ำของชาวจีน แต่วินาทีที่รับรสจากชาของบังกิฟลี ชาไม่ใช่ใดอื่นนอกจากความอ่อนโยน และที่สำคัญชาแก้วนี้ ‘ไม่หวาน’ สมกับที่บังโฆษณาไว้ คำว่าไม่หวาน หมายถึงไม่หวานบาดคอแบบทารุณ แต่เป็นหวานเฝื่อนติดลิ้นที่รสชาติและความหอมค้างอยู่ในปาก เขียนมากกว่านี้คงโดนหาว่าโฆษณาเกินจริง

“การทำชายากที่สุด ยากกว่าทำนมเย็นหรือกาแฟ ทำเองต้องกินเองด้วย และคอยสังเกตคนมากิน ต้องถูกปากแต่ละคน ที่นี่เรากินรสชาติพอดี ไม่หวานเกินไป ไม่อ่อนเกินไป” บังกิฟลีเล่า สายตาภูมิอกภูมิใจกับท่าทีเอร็ดอร่อยของผู้มาเยือน

“ลองชงชาครั้งแรก แฟนเททิ้งเลย บังก็งงว่าเขาเททำไม เขาบอกว่ากินไม่ได้ ชาทั้งฝาดและขม” บังเล่าต่อ พลางเพยิดหน้าไปทางภรรยาที่ยืนอยู่เคาน์เตอร์ชงชา เธอส่งยิ้มมาให้

แต่แรกเริ่ม ร้านของบังกิฟลียังไม่มีสูตรชาเป็นของตัวเอง ใช้วิธีซื้อชามาจากที่อื่น กลายเป็นว่าชาไม่ถูกปากของคนที่นี่ และไม่ถูกปากคนขายเองด้วย วันหนึ่งบังไปเดินตลาด ตัดสินใจซื้อชาหลายยี่ห้อมาผสมเอง จนกลายเป็นสูตรเฉพาะตัวของร้าน

“บังใช้ชาอู่ทองกับชา 999 ผสมกัน เป็นชามาเลย์ จุดเด่นของชามาเลย์คือกลมกล่อม ไม่ฝาด สีไม่แดง สีละมุนมาก พอเอามาผสมกันลงตัวก็กลายเป็นสูตรของที่นี่” บังกิฟลีเล่าไปพลาง จุดยาเส้นมวนเดิมไปพลาง

“ยาเส้นนี่เราต้องคอยจุดใหม่ตลอดเลยเหรอคะ” ฉันแวะถามเรื่องที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับชา เพราะเห็นว่าบังกิฟลีจุดยาเส้นมวนเดิมแทบจะทุกสิบวินาที

“เปล่า ลมแรง มันเลยดับ ต้องคอยจุดใหม่ไปเรื่อยๆ นี่ก็เป็นสูตรของที่นี่เหมือนกันนะ” บังกิฟลีว่า เราหัวเราะครืนกันทั้งโต๊ะ

อากาศช่วงสายที่บ้านในถุ้งเหนอะชื้น เป็นเพราะฝนที่ตกกระหน่ำมาทั้งคืนจนถึงรุ่งสาง แม้เวลาเกือบสิบโมงแต่เมฆยังมาคุ หาดทรายยังชุ่มน้ำ คลื่นและลมยังพัดแรง บรรยากาศแบบนี้ไม่ชวนให้คนมีกะจิตกะใจทำอย่างอื่นนอกจากนั่งจิบชามองทะเล

ถ้าเป็นวันปกติ โต๊ะม้าหินอ่อนของที่นี่จะเป็นที่รองรับของผู้คนหลายสิบชีวิต มานั่งพูดคุยจิบชาเรื่อยเปื่อย ใช้วันเวลาอันผ่อนคลายอย่างน่าอิจฉา แต่เมื่อวันนี้เป็นเช้าหลังวันพายุ บรรยากาศจึงเงียบเหงากว่าปกติ คนคงทยอยมาในช่วงใกล้บ่าย

เสียงทะเลซัดเข้าฝั่งดังทับเสียงพูดคุย ลมพัดมาทีก็เย็นเหมือนถูกจับไว้ในตู้เย็นที

“ไม่ต้องอิจฉานะ บังอยู่กับบรรยากาศแบบนี้ทั้งวัน” บังกิฟลีพูดแบบยิ้มมุมปาก

บังกิฟลีเป็นคนหมู่บ้านใกล้เคียง แต่พอได้แฟนอยู่ที่นี่ จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านในถุ้งมา 20 ปีแล้ว เวลา 20 ปี นานพอที่จะทำให้ใครสักคนรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน และนานพอที่จะทำให้คนคนหนึ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่

“เห็นแบบนี้ บังก็โตมากับการออกทะเลนะ” บังกิฟลีเริ่มเล่าเรื่อง เมื่อเห็นว่าพอมีเวลา

“บังเริ่มออกทะเลตอน 16 ปี ตอนนั้นเรียนอยู่ แต่ทางบ้านลำบากเพราะมีพี่น้อง 7 คน พอบังเรียนจน ม.3 ก็ต้องออกมาทำงาน มาออกทะเลทำมาหากิน”

ออกทะเลอยู่หลายปี จนแต่งงาน และยังออกทะเลอยู่ แต่แม้รายได้ของการทำประมงจะถือว่าดี แต่บังกิฟลีมองว่าไม่สม่ำเสมอ “ถ้าหาปลาได้เยอะก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้คือไม่ได้เลยนะ บังเลยคิดว่ามาขายของดีกว่า ถึงได้ไม่มาก แต่ได้เรื่อยๆ”

ด้วยนิสัยของบังกิฟลีที่ชอบพูดคุยกับผู้คน มีมุกแพรวพราวที่สรรหามาเหมือนไม่มีวันจบสิ้น ดูเหมือนว่าพรสวรรค์จะส่งให้เขาทำงานทางนี้ได้เยี่ยมยอด

“เมื่อก่อนบังเช่าบ้านอยู่ จนบังย้ายออกมาอยู่ริมหาดตรงนี้ ก็มีพวกชาวประมงนี่แหละช่วยกันสร้างกระต๊อบให้ ภาษาใต้เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า ‘ออกปาก’ เพราะเมื่อก่อนตรงนี้มีเรือจอดอยู่เต็ม พวกชาวประมงก็บอกว่าถ้าไม่มีที่จะอยู่ ก็มาอยู่ตรงนี้ดีกว่า บังก็มาสร้างกระต๊อบเล็กๆ อยู่กันสองผัวเมีย ลูกก็ยังเล็ก ค้าขายอยู่ตรงนี้ก็ราว 16 ปีแล้ว”

บังเล่าไป ชี้หลังคาไป เพื่ออธิบายว่าหลังคาเคยเป็นมุงจากอย่างไร ป้ายร้านเก่าที่เขียนว่า ‘ตำนานชาวเล’ ยังติดอยู่ตรงหน้าเคาน์เตอร์ ผิวสัมผัสสะท้อนวันเวลาที่ผ่านลมฝน แต่เดิมบังกับภรรยาขายชาอย่างเดียว จนกระทั่งร้านเริ่มเป็นที่นิยมจากคนในชุมชนจึงเริ่มขยับขยายขายกับข้าวและขนมทานเล่น ไม่เล่าเปล่า บังชวนกินข้าวมันแกงของที่ร้านด้วย เพื่อคอนเฟิร์มความอร่อย

ฉันสั่งข้าวมันแกงหอยเหมือนช่างภาพ โดยที่นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าคืออะไร บังเดินไปตักข้าวหลังร้าน แล้วเดินออกมาพร้อมจานขนาดเล็ก ในนั้นใส่ข้าวที่ชุ่มด้วยแกงหอยจุ๊บมาประมาณพออิ่ม ตักเข้าปากคำแรกทั้งอร่อยทั้งเผ็ด และดูเหมือนว่าการมีชาวางอยู่ข้างๆ ให้จิบตามจะเป็นเรื่องที่มนุษย์คิดเอาไว้นานแล้ว เพราะรสชาติเข้ากันจนอยากเอามือทาบอก

ด้วยเหตุที่เล่ามาทั้งหมดนี้ แม้ร้านของบังกิฟลีจะไม่ได้อยู่ตรงหาดยอดนิยม แต่ก็มีนักศึกษาและคนภายนอกเข้ามาใช้บริการอยู่บ่อยครั้ง เคยมีถึงขั้นขบวนรถหลายสิบคันมาลงที่ร้านในคราวเดียว อย่างที่ชาวเน็ตเรียกว่า ‘ทัวร์ลง’

“บังยังตกใจ แล้วบังจะทำอย่างไรล่ะทีนี้ เพราะเราขายแบบบ้านๆ ขายพอให้หมดไปวันๆ ตอนนั้นเลยไปสั่งของจากร้านอื่นรวมกับของที่ร้านมาให้เขา ร้านบังก็มีสภาพอย่างที่เห็น มีเลอะบ้าง จะให้เรียบร้อยเหมือนร้านหรูหราคงไม่ได้ เพราะเราเป็นชาวประมง บางคนขึ้นมาจากทะเล มาถึงก็นั่ง ตัวเปียกบ้าง ทรายก็ติดมาเลอะเทอะ จะให้เรามาขายอย่างร้านอื่นก็ไม่เข้ากับวิถีคนที่นี่ ดังนั้นถ้าคนข้างนอกมา เราก็ต้องขอโทษด้วย” บังเล่าจริงจัง ดูจากแววตา คงเกรงใจลูกค้าจากข้างนอกจริงๆ ที่ไม่อาจทำให้ตามความคาดหวัง

หากไม่นับคนนอกที่ไม่ได้แวะมาทุกวัน หน้าที่หลักของบังกิฟลีคือการอยู่ที่ร้าน ชงชา และเป็นเพื่อนสนทนากับเหล่าชาวประมง ไล่เก็บตั้งแต่กลุ่มที่ได้ปลาเร็วที่กลับเข้าฝั่งในช่วงสาย ไปจนถึงคนที่ได้ปลาช้าที่กลับเข้าฝั่งช่วงบ่ายแก่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือ คลื่นลม และชนิดปลาที่จะจับด้วย ทำให้เหล่านักออกเรือทั้งหลายมีเวลาไม่ตรงกัน

“บางคนมากินชาวันนึงไม่รู้กี่รอบ พอว่างเขาก็มา เพราะคนออกเรือเสร็จไม่รู้จะไปไหน เขาก็มานั่งเล่นร้านน้ำชา พอได้คุยกับเพื่อน” บังกิฟลีเล่า

หากเป็นวงเหล้า คงไม่ต้องตั้งคำถามกันให้เสียเวลาว่าจะหาเรื่องมาคุยอะไรกันได้มากมาย เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์เป็นตัวเร่งอยู่แล้ว แต่กับวงน้ำชาที่มีคาเฟอีนเป็นตัวขับเคลื่อน ทำไมคนจึงมีเรื่องพูดคุยมากมายขนาดนั้น บังกิฟลียืนยันว่ามี และมีมากด้วย

“กินชา คุยแล้วไม่ต่อยกัน” บังย้ำ

“เราคุยกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องทั่วไป การออกทะเล การทำงาน เรื่องส่วนตัว คุยเรื่อยๆ ทั้งวันน่ะ เอางี้ดีกว่า” บังอธิบายต่อ

แน่นอนว่าในจำนวนหัวข้อสนทนาทั้งหมด เรื่องที่พลาดไม่ได้คือเรื่องการเมือง และร้านน้ำชาถือเป็นหนึ่งในจุดส่งต่อข้อมูลสำคัญที่ทำให้คนเรียนรู้เรื่องการเมือง

“พวกเราก็ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองเหมือนกัน ก็สงสัยว่าจะไปอย่างไรต่อ จะไปจบที่ทิศทางไหน บางทีก็คุยการเมืองท้องถิ่นช่วงใกล้เลือกตั้ง ส่วนการเมืองระดับประเทศก็ดูกันมาก เพราะถ้าเราไม่ดูการเมือง เราจะไม่รู้เลยว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไร เราจะเลือกใครเข้าไปในสภา เขาให้อะไรชาวบ้านหรือส่วนรวมบ้าง เราถึงต้องดู” บังกิฟลีเล่าจริงจัง พลางจุดมวนยาเส้นที่ระยะหดสั้นลงมากแล้ว

หลังพ้นเรื่องการเมือง ฉันนั่งกินข้าวมันแกงจนหมดจานด้วยความเอร็ดอร่อย ลมเริ่มคลายความแรงลงแล้ว จนบังเดินไปเปิดกันสาดขึ้น เผยให้เห็นท้องทะเลสีหม่นไกลสุดครรลองสายตา เรานั่งมองคลื่นกระทบฝั่งครั้งแล้วครั้งเล่า

“บังคิดถึงการออกทะเลบ้างไหม” ฉันถามขึ้นท่ามกลางเสียงคลื่นซัด

“คิดถึงสิ” บังตอบเร็ว “เราโตมากับทะเล มันเป็นสิ่งที่เราเคยทำได้และทำอยู่ประจำ แต่ให้กลับไปออกทะเลตอนนี้ก็คงจะเมาคลื่นแล้วละ จะอ้วก เพราะบังหยุดมานานหลายปีแล้ว แค่เพื่อนพาลงไปในเรือก็เวียนหัวแล้ว เมาคลื่นนี่ยิ่งกว่าเมาอย่างอื่นนะ” พูดจบแล้วส่งยิ้ม

แสงไฟที่ปลายมวนยาสูบดับลงอีกครั้ง คราวนี้บังไม่จุดไฟซ้ำ แต่เริ่มพันมวนใหม่

2

คำว่า ‘ออกปาก’ น่าสนใจอยู่สองประเด็น หนึ่ง คือพื้นที่ออกสู่ปากทะเล และสอง คือพื้นที่ออกปากส่งเสียงเพื่อสนทนากับผู้คน ในที่นี้ฉันเห็นว่าร้านตำนานชาวเลของบังกิฟลีทำหน้าที่ได้ทั้งสองอย่าง

หลังอิ่มหนำจากข้าวมันแกงและสั่งชาแก้วที่สอง บังชวนคุยว่าด้วยเรื่องการออกทะเลหาปลา แม้จะร้างทะเลมานาน แต่บังยังเล่าถึงทะเลอย่างได้รสชาติ

“ต้องรอคลื่นลมสงบก่อนค่อยออกหาปลาได้ เพราะถ้าคลื่นลมไม่สงบแบบนี้ ปลาจะไม่เข้ากลุ่มกัน” บังกิฟลีพูดระหว่างทอดสายตามองไปที่ทะเล

ตรงชายหาดมีเรือประมงขนาดเล็กวางเรียงรายอยู่ 4-5 ลำ บังเล่าว่าแต่ก่อนคึกคักกว่านี้ แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงของชายหาด ชาวประมงก็ย้ายที่ ‘ออกปาก’ ไปอยู่ตรงที่เหมาะสมกว่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากร้านมากนัก พื้นที่ตรงร้านนี้จึงเหลือแค่เป็นที่ออกปากสนทนากันเท่านั้น

“ถ้าเทียบตอนนี้กับสิบปีที่แล้ว ตอนนี้หาปลาได้น้อยกว่า ปลาอาจจะน้อยลงด้วย แต่ส่วนหนึ่งมาจากการที่เรือประมงเพิ่มจำนวนขึ้นและมีเครื่องมือทันสมัยมากขึ้น พอจับปลาได้มากขึ้น ง่ายขึ้น ปลาก็หมดเร็ว สมัยก่อนไม่มีเครื่องมือในการช่วยหาปลา จากเดิมเราไม่รู้ว่าปลาอยู่ไหน แต่ตอนนี้เรามีซาวเดอร์ที่คอยบอกตำแหน่งปลา ตอนนี้ชาวประมงพื้นบ้านก็ใช้เครื่องมือนี้กันทั่วไป เพราะราคาไม่แพงมาก แค่หมื่นกว่าบาท ซึ่งปลาหาได้ง่ายขึ้นนะ แต่ไม่ใช่แค่เราที่มีเครื่องนี้ไง ทุกคนมี ต่างคนก็ต่างเห็นปลาหมด”

ความพิเศษของประมงพื้นบ้านคือการออกหาเรือวันต่อวัน ออกเรือกลางคืนกลับมาตอนเช้า ปลาที่ได้จึงสดจากทะเลจริงๆ ก่อนจะมีคนรับไปขายต่อในตลาด แต่เมื่อมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี นอกจากจะทำให้คนหาปลาได้ง่ายขึ้นแล้ว เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็ยังมีกำลังในการหาปลาได้มากกว่าชาวประมงพื้นบ้านด้วย แต่เมื่อมันเป็นวิถีชีวิตของหลายชั่วอายุคน ความเป็น ‘คนเล’ ของพวกเขาจึงยังต้องดำเนินต่อไปเหมือนที่เป็นมา

“เมื่อก่อนเขาใช้วิธีดูหลำ ฟังเสียงปลากัน ใช้หูฟังและลืมตาในน้ำทะเลเลย บังก็ฟังไม่เป็นนะ ไม่ใช่ชาวประมงทุกคนจะฟังเสียงปลาได้ มันมีการฟังปลาหลายชนิดด้วย เสียงไม่เหมือนกัน” บังเล่าอย่างสนุก ก่อนทำท่าเหมือนนึกอะไรขึ้นได้

“ที่หมู่บ้านเรามีอาจารย์สอนดูหลำคนหนึ่งนะ แกอายุใกล้ 80 แล้ว เขาเรียกกัน ‘โต๊ะบิหลั่นผ้าแดง’ ฉายาจอมยุทธ์ เดี๋ยวสักพักคงมา”

พอได้ยินแบบนี้ เราคิดตรงกันว่าวัดไอ้ไข่คงรอได้อีกหน่อย ส่วนฝนก็ทำท่าจะตกลงมาอีกระลอก สิ่งที่พึงกระทำที่สุดในเวลานี้คือการนั่งในที่ร่ม มองทะเล และจิบชารสชาติดีเป็นแก้วที่สอง

เป็นดังว่า ก่อนที่ฝนจะตก เสียงมอเตอร์ไซค์สองคันขับเข้ามาที่ร้าน คันหนึ่งเป็นชายชราหน้าตาแจ่มใสสวมเสื้อสีสดไม่แพ้สีหน้า ส่วนอีกคันเป็นหนุ่มวัยประมาณ 40 สวมหมวกปีกกว้าง พวกเขายิ้มแย้มเดินเข้ามาที่ร้าน ทักทายบังกิฟลีคำแรกว่า “วันนี้มีแขกหรือ”

โดยไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง เราห้าคนนั่งร่วมโต๊ะกันเร็วไว ชาคนละแก้ว และตำนานดูหลำก็เริ่มต้นอย่างง่ายๆ ตรงนั้น

โต๊ะบิหลั่นผ้าแดง หรือ สมาน สมัน เจ้าของฉายาจอมยุทธ์ เป็นคนเก่าคนแก่ของชุมชน ในวัย 70 กว่าปี เขายังกระฉับกระเฉงและความจำแม่นยำ

ก่อนจะไปถึงเรื่องดูหลำ โต๊ะบิหลั่นผ้าแดงเล่าถึงฉายาของชาวประมงในชุมชนให้ฟัง นอกจากจอมยุทธ์แล้ว ยังมีฉายาสาวน้อย ราชา พี่ใหญ่ แรมโบ้ ฯลฯ แต่ละชื่อฟังแล้วชวนให้คิดถึงฉายานักมวยอยู่ไม่น้อย

“ชื่อคนในชุมชนซ้ำกันหลายคน เลยต้องใช้โค้ดเนมแทน อย่างผมนี่ก็เปลี่ยนฉายาแล้ว จากแต่ก่อนเป็นจอมยุทธ์ พอขึ้นเป็นรองกรรมการมัสยิด คนก็เรียกโต๊ะบิหลั่นผ้าแดง แต่ก็ยังเรียกจอมยุทธ์กัน เรียกได้ทั้งสองชื่อนั่นแหละ” ลุงสมานเล่า  

ส่วนอีกคนที่มาพร้อมกันคืออาจารย์ยูนุส ชายวัย 41 ปี ที่เพิ่งตัดสินใจกลับมาเป็นชาวประมงที่บ้านเกิดและกำลังเรียนดูหลำ หลังจากไปอยู่กรุงเทพฯ เป็นสิบปี วันนี้เป็นวันไม่มีธุระของพวกเขา เรื่องเล่าทั้งหลายจึงหลั่งไหลออกมาไม่หมดสิ้น

คนที่เริ่มเล่าเรื่องคือจอมยุทธ์หรือโต๊ะบิหลั่นผ้าแดง

“ผมลงทะเลตั้งแต่อายุ 18 ปีจนตอนนี้อายุ 72 ปี เนื้อเค็มแล้ว ด้วยความอยู่ทะเลนาน ถ้าทอดน่าจะกินไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นปลาร้านี่ผ่านเลย” จอมยุทธ์เล่าแล้วหัวเราะร่วน

เขาเล่าว่านอกจากฝึกออกเรือหาปลาแล้ว จะมีการสอนดูหลำกันด้วย ซึ่งส่วนมากมักเริ่มสอนกันตอนอายุ 15 ปี ในวัยที่กำลังหนุ่มแน่นและสดใหม่ หูตาอยู่ในช่วงมีความสามารถเต็มกำลัง

ในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า การสแกนหาปลาในท้องทะเลเป็นเรื่องยากลำบาก จำเป็นต้องใช้วิชาที่สืบทอดกันมาซึ่งคือวิชาดูหลำ บ้างก็ว่านี่เป็นสูตรโกงที่ถ้าใครทำได้ก็จะหาปลาได้เร็วและมากกว่าใครเพื่อน สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้หลักวิชา เช่น จำฤดูกาลของปลา ลักษณะของปลา ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้หลายปี

“ลักษณะเฉพาะของดูหลำต้องมี 4 อย่าง 1.มีสมาธิ 2.หูต้องดี 3.สายตาต้องดี 4.กลั้นหายใจได้นาน” จอมยุทธ์กล่าวเสียงคมชัด เน้นหนักตรงปลายคำ

“ที่ว่าสายตาดีคือตอนอยู่ในน้ำ ไม่ว่าจะมีอะไรเข้าตา เขาก็ไม่ให้ปิดตา ผมมีประสบการณ์ถึงขนาดรู้ช่วงเวลาที่ปลามีความรักคือช่วงไหน ฤดูไหนวางไข่ พลอดรัก หรือฤดูกาลไหนคลอด รู้หมด ตอนท้องแก่ปลาก็อุ้ยอ้ายเหมือนคนนั่นแหละ ส่วนตอนปลาจะวางไข่ มันจะร้องไม่มาก เสียงกลมและห้วน”

“เวลาดำปลา เราต้องดำน้ำแต่ต้องลืมตาด้วย เพราะถ้าปิดตาเราจะได้ยินแต่จับทิศทางไม่ได้ ต้องกลั้นหายใจ ไม่ให้น้ำเข้าไป ปล่อยลมให้หมด เพราะถ้าเก็บลมไว้ในปอดตัวจะลอย ดำลงไปนิดเดียวแค่ 2-3 ศอก แต่ฝึกกันหลายสิบปี อย่างบังก็ 20 กว่าปี ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของเรือ ออกเรือเองตอนอายุ 22 ปี”

แม้จะฝึกวิชามาจนช่ำชอง แต่ก็ยังมีปลาที่หาตัวจับยากอยู่ จอมยุทธ์เล่าว่า ปลาที่ลำบากที่สุดในการหาคือปลาจวดคลอง เพราะยิ่งอยู่กันมากยิ่งไม่มีเสียง ไม่ร้อง ไม่พูดไม่คุย “เบาเหมือนเสียงฝ่ามือถูกัน” เขาขยายความ

“สมัยก่อนปลาเยอะ ยังไม่ค่อยมีเรือประมงพาณิชย์ พอผมดำลงไปใต้ทะเล ผมจะลืมตาในน้ำ ฟังเสียงปลาว่ามาจากทิศไหน สมมติมาทั้งสามทิศ เราจะสามารถตัดสินได้เลยว่าทิศไหนดีและเข้าท่าที่สุด โดยแยกชนิดของปลาเอา ซึ่งเราสามารถแยกได้เลยว่าเสียงนั้นคือปลาชนิดไหน เรารู้จักเสียงปลาทุกชนิด เพราะเราอยู่กับทะเลมาตั้งแต่เด็ก เราก็จะดำเข้าไปใกล้มันเลย ปลาจะอยู่กันเป็นฝูง พอเข้าไปใกล้เราจำแนกได้เลย เราก็จะถามคนในเรือว่าจะเอาไหม มีปลาจวดหิน 200 กิโลกรัม ปลาจวดสองซี่ 100 กว่ากิโลกรัม ถ้าเขาบอกว่าเอาก็โยนอวนเลย”

จอมยุทธ์ไล่เรียงลักษณะของปลาจวดแต่ละชนิด ซึ่งเป็นปลาที่หาได้มากของทะเลที่นี่ไว้อย่างน่าสนใจ สรุปความออกมาได้ดังนี้

ปลาราคาดี กินอร่อยที่สุดคือ ปลาจวดสองซี่ ชาวดูหลำเรียกว่า พญาปลา

ปลาที่ร้องดังไกลที่สุดในท้องทะเลคือ ปลาจวดหนวด ดังไกลกว่า 20 กิโลเมตร จอมยุทธ์เลียนเสียงให้ฟังร้องดัง “แกว๊งงง”

ปลาที่ไม่มีเสียงคือ ปลาจวดคลอง ก่อนขยายความว่า “ทั้งฝูงมันร้องแค่ตัวเดียว”

ด้วยความอยากรู้ ฉันโยนคำถามไปว่า “บังบอกว่ารู้ถึงช่วงเวลาที่ปลามีความรัก มันเป็นอย่างไรหรือคะช่วงนั้น” จอมยุทธ์ตอบไวว่า

“เหมือนเวลาคุณไปจีบใคร คุณก็จะเอาแต่สิ่งดีๆ ไปให้เขา ปลาจวดสองซี่ก็เหมือนกัน เขาจะเปล่งเสียงดังสุดแรงเกิดเพื่อเรียกคู่ครองของเขา ร้องดัง ‘ก๊า’ เหมือนอีกาเลย แล้วอีกตัวก็จะร้องกลับ นั่นแปลว่ามันกำลังมีความรัก และถ้ามันเสียงดังพรึบพรับๆ แปลว่ามันมาอยู่ใกล้ๆ กันแล้ว”

จอมยุทธ์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าวิธีการฟังปลาเหมือนเราเดินเข้าไปในห้องอาหารที่มีคนเยอะ ถ้าเรามีสมาธิในการฟังมากพอ เราจะได้ยินทั้งเสียงดนตรี เสียงแก้วกระทบกัน ไปจนถึงเสียงพูดคุยกระซิบกระซาบ และยิ่งถ้าสถานที่มีคนน้อยลง ก็จะได้ยินเสียงชัดขึ้น เหมือนคนคุยกันไม่กี่คนในห้องเงียบๆ

แม้ว่าศาสตร์วิชาดูหลำจะมีคนศึกษาน้อยลงทุกที แต่ใช่ว่าจะไม่มีเลย อาจารย์ยูนุสที่นั่งด้วยกันก็เพิ่งกลับมาเรียนรู้วิชาดูหลำ หลังจากทำงานวิศวกรที่กรุงเทพฯ หลายปี กลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่วิทยาลัยแถวบ้านอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาใช้ชีวิตแบบชาวเลได้ปีกว่า และเรียนรู้เรื่องดูหลำจากลุงสมานหรือจอมยุทธ์

“ตอนนี้ก็พอจับเสียงได้บ้าง วางอวนได้ ก็พอฟังเสียงได้คร่าวๆ อาจจะยังไม่เจอเป็นฝูงใหญ่เหมือนที่เขาเจอกัน วันนั้นออกเรือได้มากที่สุดก็ประมาณสี่พันบาท ตอนนี้พอฟังได้ว่าปลาอยู่แถวไหน แต่ทุกวันนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนเรือน้อย เวลาลงในน้ำ จะได้ยินเสียงทั่วทั้งหมด แต่ตอนนี้มีเครื่องจับสัญญาณคลื่นความร้อน พอเราเห็นใต้น้ำว่ามีปลาอยู่บ้าง เราก็ลองดำลงใต้น้ำเพื่อฟังว่าเป็นปลาชนิดไหน แต่ถ้าใช้โซนาร์จะระบุไม่ได้ว่าเป็นปลาชนิดไหน เราต้องดำลงไปฟังเสียงเอง”

อาจารย์ยูนุสเล่าต่อว่า ถ้าวางอวนลงไปสุ่มสี่สุ่มห้า สุดท้ายกู้อวนขึ้นมาเป็นน้ำเปล่าก็มี เพราะในจอบอกว่าเป็นปลา แต่ความจริงแล้วเป็นปลาเล็ก จึงทำให้ไม่ติดอวน

ไม่ใช่แค่ดูหลำเท่านั้นที่ใกล้จะหายไป แต่ปลาในท้องทะเลเองก็น้อยลงไปด้วย โต๊ะบิหลั่นผ้าแดงเล่าว่า ในสมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่น สามารถหาปลาด้วยการใช้ผักบุ้งทะเลแทนอวน ได้ทั้งปลาดุก ปลากระบอก กุ้ง ปู มาเต็มโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่ตอนนี้ทะเลไม่เหมือนเดิม เขาให้เหตุผลว่าที่สัตว์น้ำทะเลค่อยๆ หายไป เพราะการเกิดขึ้นของเรือประมงพาณิชย์

“ประมงพาณิชย์ใช้อวนรุน (อวนลาก) ตั้งแต่หน้าดินจนถึงผิวน้ำ เริ่มปล่อยตั้งแต่อ่าวขนอมไปจนถึงปากพนัง แต่ละครั้งที่เขาปล่อย อย่างน้อยที่สุดถ้าติดปูไข่นอกกระดองมาสัก 5 ตัว นักวิชาการบอกว่านั่นคือจำนวนลูกปูเกือบล้านตัว แล้วแม่ปู 5 ตัวจะมีลูกปูกี่ตัว นั่นคือเที่ยวหนึ่งนะ แล้วปีหนึ่งมีกี่เที่ยว ไม่กี่ปีสัตว์ทะเลเลยหมด

“ปลาที่ขาดจากท้องทะเลบ้านผมคือ ปลาทูกัง ปลาหน้าหงส์ ปลาราม ปลาทับหนุน ปลาโคบ ปลาหลุมพุก ปลาพวกนี้หมดเพราะประมงพาณิชย์หมดเลย” โต๊ะบิหลั่นผ้าแดงบอก

แต่ถึงแม้จะบอกว่าท้องทะเลไม่เหมือนเดิม พวกเขาก็ยังหาทางอยู่และหากินกับท้องทะเลต่อไปให้ได้ เช่น การทำอนุบาลปู ไปจนถึงการส่งต่อองค์ความรู้ด้านการประมงสู่คนรุ่นใหม่ที่สนใจทำงานด้านนี้

มาถึงวันนี้นาทีนี้ในวัยกว่า 70 ปี แม้จอมยุทธ์จะบอกว่าออกทะเลจนเนื้อตัวเค็ม แต่เขาก็ต้องหยุดออกหาปลาด้วยสุขภาพไม่อำนวย และลูกหลานบอกให้พักผ่อน สิ่งที่ทำได้คือมีเรือเล็กอยู่หนึ่งลำไว้ประจำตัว อย่างน้อยก็ไม่ได้ตัดขาดกับท้องทะเลเสียทีเดียว

ในช่วงที่ชาอยู่ก้นแก้ว และเริ่มจะหิวข้าวจานที่สอง ฉันถามจอมยุทธ์ว่า “อยู่กับทะเลนานๆ ไม่กลัวคลื่นลมแล้วใช่ไหม” เขานิ่งคิดและตอบอย่างคมชัดว่า

“ไม่กลัว เป็นความเคยชิน ให้ผมไปสวนยางตีหนึ่งตีสอง ผมไม่กล้า จ้างพันนึงก็ไม่กล้า ผมเคยคุยกับน้องว่า ไปไหมไปลงทะเล เขาบอกไม่กล้า เพราะทะเลไม่มีที่หลบภัย ผมเลยบอก แล้วไปสวนยาง เขาฆ่าแล้วเอาศพไปทิ้ง ไม่กลัวหรือ เขาบอก อันนั้นยังพอวิ่งได้ แต่กลางทะเลจะวิ่งหนีไปไหน”

3

เราคุยกันจนท้องส่งเสียงว่าอยากกินมื้อเที่ยง ลมทะเลยังพัดแรงไม่ลดละ ฉันเดินออกไปตรงหาดทราย เอ็มเดินออกไปถ่ายรูป เหลือบังกิฟลี อาจารย์ยูนุส และโต๊ะบิหลั่นผ้าแดงนั่งคุยกันด้วยสำเนียงใต้รัวเร็ว

ฉันนึกถึงคำที่บังกิฟลีบอกว่า คลื่นลมแรงแบบนี้ ปลาจะไม่มารวมตัวกัน ส่วนภาพที่ฉันเห็น คือวันที่คลื่นลมแรงทำให้คนมานั่งรวมกันเพื่อเสวนาพาที เหตุผลเรียบง่ายคือไปไหนไม่ได้และไม่รู้จะไปไหน

สำหรับหลายคน ทะเลอาจเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่กับอีกหลายคนนอกจากเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ทะเลยังเป็นชีวิตด้วย – โดยเฉพาะทะเลที่มีวงน้ำชา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save