fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2565

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนสิงหาคม 2565

‘บุพเพสันนิวาส 2’ นอสตัลเจียแสนหวานเคลือบอุดมการณ์ราชาชาตินิยม (^o^)

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“กล่าวรวมๆ คือ ‘บุพเพสันนิวาส 2’ รู้ตัวและตระหนักดีว่ากำลังจะเล่าเรื่องอะไร และกลุ่มคนดูอยากดูอะไร มันจึงไม่ได้กลบกลิ่นความเป็นละครออกไปแม้แต่นิด ไม่เร้นเงาความฝันหวานในอดีต”

“หนังตระหนักดีว่าคนดูอยากดูอะไร และมันก็ ‘เสิร์ฟ’ ให้คนดูได้ดูอย่างจุใจ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในอดีต เสื้อผ้าหรือกระทั่งฉากพระนางเกี้ยวพาราสีที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้หนังยาวเกือบสามชั่วโมง”

“ไม่ว่าตัวหนังจะจงใจหรือไม่ก็ตาม มันได้ส่งต่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยมผ่านการมีอยู่อันแสน ‘เป็นมิตร’ และ ‘ชีวิตดี’ ของตัวละครขุนนาง มียศฐาบรรดาศักดิ์ในเรื่อง และมองข้ามชีวิตข้าทาสไปเกือบหมด (ซึ่งก็น่าเศร้าปนขันที่ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่า หากภพชาติมีอยู่จริง กว่าครึ่งนี่น่าจะไปเกิดเป็นบ่าว โดนเฆี่ยนหรือไม่ก็ไปเป็นไพร่ ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายสโลว์ไลฟ์กลางทุ่ง กระหืดกระหอบทำงานส่งส่วยให้ในวัง)” 

มีภาพยนตร์ไทยที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยและอุดมการณ์ราชาชาตินิยมมากมาย แต่ที่น่าสนใจคือ ‘บุพเพสันนิวาส 2’ พูดถึงประเด็นเหล่านี้ผ่านการเป็นหนังคอเมดีสดใส ฉาบเคลือบด้วยเรื่องราวความรักทุกภพทุกชาติของคนหนุ่มสาว ย้อมอดีตให้เป็นเรื่องฟุ้งฝัน และมอบรสชาติที่ ‘กลืนง่าย’ รวมทั้ง ‘ชื่นมื่น’ ทั้งส่งต่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยมไปยังศตวรรษที่ 21

THIRTEEN LIVES อภินิหารต่อลมหายใจ สิบสามหมูป่าในคร่ำครรภ์นางนอน

โดย ‘กัลปพฤกษ์’

“สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนที่สุดสำหรับ Thirteen Lives ในการเล่าถึงภารกิจต่อลมหายใจให้น้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมีครั้งนี้ ก็คือ ผู้กำกับเลือกใช้แนวทางการสร้างหนังที่ศัพท์ทางภาพยนตร์เรียกกันว่าภาพยนตร์กึ่งสารคดีหรือ docudrama”

“จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหากใน Thirteen Lives ฉบับนี้ จะไม่ได้มีการโหมประโคมอารมณ์ดราม่าให้มีเนื้อหาน่าตื่นตาตื่นใจไปกว่าสิ่งที่เคยเกิด การเดินเรื่องออกจะเนิบๆ ดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป”

“ความสำเร็จอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ ก็คือ ผู้กำกับรอน ฮารเวิร์ดดูจะพิถีพิถันและใส่ใจกับรายละเอียดของงานโปรดักชันที่รังสรรค์ข้าวของรวมทั้งอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ ให้งานสร้างดูสอดคล้องต้องตรงกับพื้นที่จริงบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนมากที่สุด”

‘กัลปพฤกษ์’ เขียนถึง Thirteen Lives (2022) หนังลำดับล่าสุดของผู้กำกับฮอลลีวูด รอน ฮาเวิร์ด ที่จับจ้องไปยังเหตุการณ์ติดถ้ำที่เกิดขึ้นจริงในไทยเมื่อปี 2018 จนกลายเป็นหมุดหมายใหญ่ที่ประชาคมโลกร่วมมือให้ความช่วยเหลือ

“อย่าไว้ใจงานวิชาการ!” – บทเรียนจากรายงานศึกษาผลกระทบควบรวมทรู-ดีแทคในมือ กสทช.

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา และ ฉัตร คำแสง

3 สิงหาคม 2565 คือกำหนดที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนจากสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับดีลการควบรวมของ 2 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ ทรู-ดีแทค (TRUE-DTAC) ก่อนที่ที่ประชุมบอร์ดจะลงมติต่อดีลควบรวมดังกล่าวภายใน 10 สิงหาคมนี้ ตามกรอบระยะเวลาทางกฎหมาย


ข้อมูลเหล่านั้นจะชี้ทิศทางการตัดสินใจของบอร์ด กสทช. เกี่ยวกับดีลควบรวมดังกล่าว โดยมีข้อมูลสำคัญ คือ เอกสารรายงานทางวิชาการหลายฉบับ ซึ่งศึกษาแนวโน้มผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวม จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานที่แตกต่างกัน

‘งานวิชาการ’ แม้จะขึ้นชื่อว่าน่าเชื่อถือ ใช้ภาษาหนักแน่น เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิค มีอ้างอิงอย่างเป็นเรื่องราว จึงทำให้คนคล้อยตามได้ไม่ยากนัก แต่เอาเข้าจริงแล้ว งานวิชาการก็พลาดได้ ไม่ต่างจากงานเขียนอื่นๆ เพราะเมื่อลองตรวจสอบพลิกหน้าอ่านไส้ในของงานวิชาการดู ก็อาจพบว่าบทสรุปผลการศึกษาที่ดูหนักแน่น กลับมีที่มาจากระเบียบวิธีวิจัยที่เต็มไปด้วยช่องโหว่หรือข้อบกพร่อง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในโลกนี้เคยมีกรณีตัวอย่างมาให้เห็นแล้วนักต่อนัก

งานวิชาการที่บกพร่องนับว่าน่ากลัวยิ่งกว่าข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือนอันไร้หลักฐาน ยิ่งเป็นงานวิชาการที่จะถูกใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องนโยบายระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ก็ยิ่งน่าสะพรึง ที่ผ่านมาก็ปรากฎหลายกรณีที่ผู้มีอำนาจและผู้กำหนดนโยบาย ‘ฉวยใช้’ งานวิชาการที่บกพร่อง รับรองความชอบธรรมในการทำงานของตัวเอง

การมีความรู้เท่าทันงานวิชาการจึงนับว่าเป็นอีกทักษะแห่งยุคสมัย ดังนั้น 101 จึงเปิดคอร์สพื้นฐานพาทุกท่านพัฒนาทักษะจับเท็จงานวิชาการ ผ่านเอกสารสำคัญ 3 ชิ้นในมือของ กสทช. อันเป็นเอกสารวิชาการที่ศึกษาผลกระทบการควบรวมทรู-ดีแทค

ที่สำคัญ เอกสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยอ้างเหตุผลเช่นว่า “เป็นข้อมูลลับทางธุรกิจ” จนประชาชนคนไทยผู้จะได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลจากดีลนี้ ไม่สามารถร่วมตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนเช่นงานวิชาการทั่วไป ทั้งที่กฎหมายก็กำหนดให้หน่วยงานราชการ ซึ่งรวมถึง กสทช. ต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ นี่จึงเป็นความน่ากลัวและจำเป็นต้องจับตาอย่างยิ่ง

ความทุกข์ตรมของชาว ‘Content Creators’  ในโลกที่อัลกอริธึมพร้อมจะทอดทิ้งคุณตลอดเวลา

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“คอนเทนต์มันไม่ไปว่ะ”, “ยอดมันไม่ถึง”, “เลขเอนเกจเมนต์ต่ำมาก”

โลกของคนทำคอนเทนต์หรือ Content Creators ที่ต้องหาทางรับมือกับความผันผวนของอัลกอริธึมทางแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะการหาทางเรียกยอดเอนเกจเมนต์ จนหลายคนเกิดภาวะสูญสิ้นตัวตน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกลียดงานที่ทำ แต่อาจหมายถึงการเกลียดตัวเองด้วย

มนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ คือการถกเถียงกับอดีตไม่รู้จบ: ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

โดย ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล และ ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

“ประวัติศาสตร์ไม่ใช่การเปิดเผยความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต แต่ประวัติศาสตร์คือการตีความความหมายของอดีตบนพื้นฐานของหลักฐานชั้นต้น … มนต์เสน่ห์ของประวัติศาสตร์คือ เห็นได้ชัดว่าเราไม่มีทางเข้าถึงหรือจับต้องอดีตที่เราศึกษาได้จริง ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร มันคือการถกเถียงที่ไม่รู้จบ เพราะจับต้องเค้นเอาจากอดีตไม่ได้”

ประวัติศาสตร์จะไม่มีทางตาย ตราบเท่าที่แก่นของประวัติศาสตร์ยังอยู่ที่การตั้งคำถามต่ออดีตและสรรสร้างคำอธิบายเพื่อถกเถียง โต้แย้งเรื่องเล่าที่เคยเชื่อกันมาอย่างไม่สิ้นสุด

ในวันที่โลกเรียกร้องการทำความเข้าใจมนุษย์และสังคมมากกว่าที่เคย ทิศทางการศึกษาประวัติศาสตร์กำลังมุ่งไปทางไหน? หนทางใดที่นักประวัติศาสตร์จะเปิดคำอธิบายใหม่ๆ เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้มากยิ่งขึ้น? ประวัติศาสตร์มีพลังในการสร้างคำอธิบาย – ทั้งในบริบทที่เฉพาะเจาะจงและข้ามเวลา/พื้นที่ได้อย่างไร? ความรู้ประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวในอดีตมีที่ทางตรงไหนในช่วงเวลาปัจจุบัน? การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร? และวงการประวัติศาสตร์จะเดินหน้าต่อไปในอนาคตได้อย่างไร? 101 สนทนากับ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในประเด็น ‘ประวัติศาสตร์ต้องรอด!’

“ถ้าเรากลัวก็ต้องหนีไปตลอด” 4 ปีแห่งการเปิดโปงทุจริต ‘จำนำข้าว’ และชีวิตที่เปลี่ยนไปของชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“เวลาต่อสู้คดีกันในชั้นศาล เรื่องมูลค่าความเสียหายเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะสามารถตีความได้ว่าคุณละเลยหรือไม่”

“เรามีหลักฐานอยู่ในมือตอนนี้ 400 ฉบับ จะเป็นลักษณะเดียวกันหมดเลยคือใบประทวนมีวงเงินเท่ากัน เลขใบประทวนส่อทุจริต บางรายชื่อคือเป็นคนเดียวกันเลยด้วยซ้ำ คนมาจำนำข้าว 2 ครั้ง 3 ครั้ง แต่ได้น้ำหนักเท่ากันหมดเลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”

“ตอนนี้มีหลักฐานปรากฏว่ามีการทำลายใบประทวนแล้วในบางฉบับ…การเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพราะเราต้องพึ่งรัฐสภา การที่เรามีหลักฐานชัดเจนขนาดนี้เราควรจะได้รับความเป็นธรรม หลักๆ คือเราต้องการให้ยับยั้งการทำลายใบประทวน”

“เดิมทีตัวเราต่อสู้เองมาตลอด ประชาชนทุกคนก็เห็น แต่พอวันหนึ่งที่เราเข้าพรรคเพื่อไทยก็เป็นธรรมดาที่เราจะโดนโจมตี”

“ตั้งแต่ต่อสู้คดีจำนำข้าวมา เราต้องรู้ตัวเองว่าเราวางแผนอนาคตตัวเองไปไกลขนาดนั้นไม่ได้ เพราะเหมือนว่าชีวิตเราต้องไปผูกอยู่กับคำพิพากษา ดังนั้นเราต้องใช้ชีวิตแบบมีความสุขในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือเดือนนี้แค่นี้พอ”

101 พูดคุยกับ ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อดีตพนักงานธนาคารที่ออกมาเปิดเผยความผิดปกติในโครงการรับจำนำข้าว ในวันนี้ที่เธอเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบาย ถึงข้อค้นพบเรื่องทุจริต ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต และเหตุผลที่ตัดสินใจเข้ามาอยู่ในร่มเงาพรรคการเมือง

หมา เด็กสถาปัตย์ และชีวิตระทึกปนระทมของคนเจนวาย : กวิน ศิริ แห่งเพจ ‘นวล’

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

“ในกระบวนการออกแบบ เรารู้ว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยคือการจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดทุกอย่างมาเก็บไว้ด้วยกัน บางอย่างสิ่งนั้นดีมากๆ แต่มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ พออยู่ด้วยกันแล้วมันไม่ดี เราแค่ต้องมีความสามารถในการมองว่าอะไรควรจะอยู่และอะไรควรจะไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันอาจออกมาในรูปแบบของบทในเพจนวลมั้งครับ เพราะการออกแบบคือการตัดสินใจตลอดเวลา บางทีผมเขียนอะไรขึ้นมาสักย่อหน้าหนึ่งแล้วชอบมากเลย รู้สึกว่าแสบมาก แต่สุดท้ายถ้ามันอยู่แล้วถ่วงงานทั้งหมด ก็ต้องตัดใจคัดออก”

“สมัยที่เป็นนักเรียน โรงเรียนของเราก็ไม่ได้สอนให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเลย ฉะนั้น เสี้ยวของประวัติศาสตร์ที่เรารู้พอจะมารับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมการเมือง ก็คือความเห็นของผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูอาจารย์”

“คนรุ่นเราโตมากับความคาดหวังจากสังคมในทุกทิศทุกทาง ชีวิตมันต้องดีเว้ย คุณต้องลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ แล้วมีเงินอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องฟูลฟิลจิตใจอีก ต้องผลักดันสังคมด้วย สุขภาพก็ต้องเยี่ยมยอด ต้องคิดบวก ต้องโคตรโปรดักทีฟ มันประสาทนะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่วิธีใช้ชีวิตที่คนธรรมดาๆ จะทำได้จริงขนาดนั้น เอาเป็นว่าผมทำไม่ได้ละคนนึง”

101 สนทนากับ กวิน ศิริ เจ้าของเพจ ‘นวล’ เจ้าหมาอ้วนที่มักถูกหยิบมาเป็นตัวแทนพูดเรื่องทางสังคม การเมืองไปจนถึงเรื่องจิปาถะในชีวิตอย่างชวนแสบคัน

อยู่เป็น จากผู้นำแห่งความทุกข์ระทม ถึงผู้นำแห่งความหวัง? 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

“พ้นจากเก้าอี้สิ้นอำนาจลงเมื่อไร ชาวบ้านร้านตลาดคงอนุโมทนาสาธุกันทั้งเมือง ทำบุญกรวดน้ำ ตีเกราะเคาะกะละมัง จุดพลุ จุดประทัดเฉลิมฉลองเอิกเกริกมโหฬาร”

“แต่ก็นั่นล่ะ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นที่รู้อยู่ว่ายกร่างหรือดีไซน์มาเพื่อพวกเขา แถมผลงานการตีความของศาลรัฐธรรมนูญแม่นยำช่ำชองขนาดไหน ฝีไม้ลายมือประจักษ์แก่สายตาเราท่านทั้งหลายเป็นอย่างดี”

“ประทานโทษเถอะ กี่ล้านบาทเอาขี้หมากองเดียวก็คงไม่มีไอ้บ้าหน้าโง่ที่ไหนหาญกล้าท้าพนันหรอกว่า เจ้าประคุณทูนหัว ท่านผู้นำ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสิ้นอำนาจพ้นจากเก้าอี้ แม้วันที่ 24 สิงหาคมนี้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีเต็มแล้วก็ตามที”

8 ปีที่จมอยู่กับผู้นำแห่งความทุกข์ระทม ใกล้เลือกตั้งแล้วหลายฝ่ายล้วนเสนอตัวเป็นผู้นำแห่งความหวังของประชาชนคนใหม่ ใครจะเข้ามาแทนที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา?

สามก๊กการเมืองโลก: ประเทศไทยและอาเซียนอยู่ที่ตรงไหน

โดย ปิติ ศรีแสงนาม และ แทนคุณ จิตต์อิสระ

“สหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน เทียบได้กับรัฐเว่ย์ หรือ วุยก๊ก ที่นำโดย โจโฉ นั่นคือ การมีอำนาจ มีกองกำลัง มีกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ หนุนหลัง แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าการขึ้นสู่สถานะ hegemon ของสหรัฐฯ เองก็เกิดขึ้นโดยมีประวัติศาสตร์ที่เปื้อนเลือด ทรยศ หักหลังมาอย่างมากมายเช่นกัน”

“จีนก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับรัฐฉู่ หรือ จ๊กก๊ก ที่พัฒนาตนเองขึ้นมาจากพื้นที่แห้งแล้ง กันดารที่สุดของจีนทางตะวันตก จนกลายเป็น 1 ใน 3 ก๊กที่ทัดเทียบถ่วงดุลกับ วุยก๊ก และง่อก๊ก ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบัน จีนคือผู้ที่มีศักยภาพสูงสุดในการท้าทายการเป็นมหาอำนาจเชิงเดี่ยวของสหรัฐฯ”

“คำถามที่สำคัญคือ ใครคือก๊กที่สาม สำหรับผู้เขียน ในระยะยาว หากอ้างอิงจากสามก๊ก พวกเราพิจารณาว่า ‘โลกมุสลิม’ คือตัวแปรสำคัญที่จะกลายเป็นขั้วที่ 3 ในเกม 3 ก๊กแห่งศตวรรษที่ 21”

“สมการแห่งดุลอำนาจในเกมสามก๊กคือ 1 + 1 – 1 = 1 สิ่งสำคัญคือ เมื่อฝ่ายหนึ่งร่วมมือกับฝ่ายหนึ่งเพื่อล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง แต่สิ่งที่เหลือต่อจากการจับมือกันก็มักจะกลายเป็นการหักหลังกันเสมอ และในที่สุดระเบียบโลกใหม่เพียง 1 ก็จะเกิดขึ้น โดยปัจจัยสำคัญในแต่ละฝ่ายคือความอ่อนแอเปราะบางจากภายใน ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายหรือก๊กนั้นล่มสลายไปเองด้วยซ้ำ”

“แล้วในอาเซียน ใครอยู่ที่ฝ่ายไหนบ้าง แน่นอนว่า ในโลกความเป็นจริง คงไม่มีใครประกาศว่าเราเลือกข้างไหน ทุกคนต้องการดำรงความเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง แต่ในทางปฏิบัติเอง หลายๆ ประเทศก็ถูกประชาคมนานาชาติพิจารณา (ตีตรา) ไปแล้วว่า เขาอยู่ฝ่ายนั้น เขาอยู่ฝ่ายนี้ และในประชาคมอาเซียนก็เช่นกัน”

ปิติ ศรีแสงนาม และ แทนคุณ จิตต์อิสระ เปรียบเทียบการเมืองโลกในปัจจุบันกับสามก๊ก พร้อมมองหาตำแหน่งแห่งที่ของไทยและอาเซียนในเกมการเมืองโลกแบบสามก๊ก

สงครามเย็นบนปลายลิ้น ความรุนแรงที่กลืนกินได้

โดย นิติ ภวัครพันธุ์

“หากท่านผู้อ่านสงสัยว่าประดิษฐกรรมทางอาหารของสงครามเวียดนามคืออะไร ควรลองคิดถึง ‘ข้าวผัดอเมริกัน’ เมนูที่พบได้ในร้านอาหารตามสั่งทั่วไป จนอาจเรียกได้ว่าเป็นอาหารจานโปรดจานหนึ่งของคนไทยจำนวนมาก”

“ดูเหมือนว่านอกจาก ‘ข้าวผัดอเมริกัน’ แล้ว ยังมีประดิษฐกรรมทางอาหารที่ถูกเนรมิตขึ้นมาใหม่อีกหลายชนิดในช่วงสงครามเวียดนาม – หรือสงครามเย็น – ที่นอกจากเพื่อรองรับการบริโภคของคนต่างชาติกลุ่มนี้แล้ว ยังเป็นการหารายได้เลี้ยงชีพและการสร้างงานที่กลายเป็นอาชีพใหม่ของคนท้องถิ่นบางกลุ่ม และอาจเป็นการเริ่มต้นของพัฒนาการของอาหารที่มีรสชาติถูกปากคนท้องถิ่นทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในเวลาต่อมา”

“นครพนม เมืองที่เคยเป็นที่ตั้งของฐานบินของกองทัพสหรัฐฯ มิใช่สถานที่แห่งเดียวที่มีทหารอเมริกันพำนักอยู่หรือเดินทาง/ท่องเที่ยว หากยังมีเมืองอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ทหารเหล่านี้เข้าไปแวะเวียนและมีปฎิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น จนนำไปสู่ประดิษฐกรรมของเมนูใหม่ๆ”

“หนึ่งในความน่าทึ่ง ซึ่งคงเป็นเสน่ห์ของอาหารท้องถิ่นอีสานด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหารของชาวเวียด คนลาวหรือชนกลุ่มอื่นๆ คือการใช้วัตถุดิบในการทำ/ปรุงอาหารที่คล้ายกัน หรือแม้กระทั่งการบริโภคพืชพรรณชนิดเดียวกัน จนอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นวัฒนธรรมการกินที่มีร่วมกันในกลุ่มชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ริมลำน้ำโขงและบริเวณถัดไป”

ท่ามกลางความคุกรุ่นและความขัดแย้ง สงครามจะสร้างอาหารแบบใดขึ้นมาบ้าง นิติ ภวัครพันธุ์ ชวนสำรวจเมนูอาหารต่างๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้บริบทสงครมเย็นระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม ที่ในเวลาต่อมาก็กลายเป็นอาหารที่หลายคนรู้จักกันดีและแสนจะคุ้นเคย

โชคชะตา ‘ท่าพระจันทร์’ : ในวันที่แสงแห่งความหวังส่องถึงแค่หมอดูออนไลน์

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

“เขาบอกว่าหมอดูที่เช่าที่แบบผมนี่โง่แล้ว” คือประโยคที่ ‘บรรจบ’ ตอบกลับมาในทันที เมื่อฉันถามออกไปว่ารู้เรื่องกระแสนิยมของการดูดวงทางแพลตฟอร์มออนไลน์บ้างหรือไม่

“ลูกค้าผมก็บอกว่าหมอดูที่เช่าที่น่ะโง่ เพราะจริงๆ ไม่ต้องลงทุนหรอก คนเขาไปดูดวงในยูทูบกันหมดแล้ว แต่ผมเริ่มต้นเดินมาแบบนี้ และอีกอย่างหนึ่งคือผมไม่เก่งอินเทอร์เน็ต ผมเลยไม่สามารถเปลี่ยนได้”

การถือกำเนิดของ ‘โหราศาสตร์ดิจิทัล’ ทำให้การดูดวงเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คน แต่ในขณะเดียวกัน การดูดวงแบบเดิมที่มาพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวก็อาจกำลังถูกทำให้เลือนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน โดยเฉพาะหมอดูที่ไม่เชี่ยวชาญพอจะย้ายสำนักไปอยู่บนออนไลน์ อีกทั้งการใช้กลยุทธ์การตลาดที่แทรกซึมเข้าสู่วงการดูดวงออนไลน์อย่างชัดเจน

101 ชวนสำรวจหมอดูที่ท่าพระจันทร์ ในวันที่คนหันไปดูดวงออนไลน์กันมากขึ้น หมอดูออนไซต์อยู่กันอย่างไร และอนาคตวงการหมอดูจะเดินไปทางไหน อ่านความคิดของหมอดูทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ผ่านงานสารคดีชิ้นนี้

‘เรื่องโป๊และตำราเพศ’ ในสมุดจดปกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2477

โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

“สมุดจดสีน้ำตาลแดง ฉบับ พ.ศ. 2477 ที่นำเสนอในบทความนี้ เมื่อมองผิวเผินจากภายนอกคือสมุดสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมทั่วไป … กระนั้นเมื่อส่องลึกลงไปในเนื้อหาสมุดนักเรียน 20 แผ่นกระดาษฉบับนี้ จะพบว่ามันถูกยัดทะนานด้วยลายมือเขียนตัวบรรจงโดยดินสอ ล้นพื้นที่ความจุ 40 หน้ามาถึงหน้าในปกหลังเต็มๆ อีก 1 หน้า บุคคลนิรนามผู้นี้ได้พาผู้อ่านท่องไปในโลกีย์วิสัยแบบ ‘ไร้เซนเซอร์’”

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เปิดกรุชวนอ่านสมุดจดเก่าๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ข้างในกลับเป็นหนังสือโป๊และตำรากามสูตรที่ ‘แซ่บ’ ถึงใจ ควรค่าแก่การศึกษา

หมายเหตุ : เนื้อหาบทความมีการระบุถึงกิจกรรมทางเพศอย่างชัดเจน

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล 

โดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

การบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดครั้งสำคัญของประเทศไทย จากเดิมที่เน้นปราบปรามด้วยแนวทางแข็งกร้าวเด็ดขาด สู่แนวทางการมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยโดยเน้นใช้กระบวนการบำบัดรักษามากกว่าการลงโทษทางอาญา การเปลี่ยนแนวทางลงโทษให้สมเหตุสมผลกับความร้ายแรงของการกระทำผิดมากขึ้น รวมทั้งการเปิดช่องให้นำยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญไม่แพ้หลักการทางกฎหมาย ก็คือการนำกฎหมายไปปฏิบัติจริง…นับถึงตอนนี้ การบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดใหม่ดังกล่าวล่วงผ่านมาแล้วราว 8 เดือน 101 จึงสำรวจติดตามความคืบหน้าของการใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ ผ่านการสนทนากับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เจาะลึกตลอดระยะเวลาของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวว่าได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร เห็นประโยชน์ใดที่เป็นรูปธรรมแล้วบ้าง และอะไรคือช่องโหว่หรือปัญหาที่พบในการใช้กฎหมายระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวปฏิบัติตามกฎหมายในหลายประเด็นยังไม่ได้มีการออกกฎหมายลูกมารองรับ

อภินิหารทางกฎหมาย

โดย มุนินทร์ พงศาปาน

“เผด็จการที่ใช้กฎหมายเป็นเกราะกำบังน่ากลัวกว่าสังคมเผด็จการที่ปกครองโดยใช้กำลังและไม่ใช้กฎหมาย”

วิษณุ เครืองาม เคยกล่าวถึงกรณีการเก็บภาษีทักษิณ ชินวัตร จากการขายหุ้นชินคอร์ปว่าเป็น “อภินิหารทางกฎหมาย” จนคำนี้เป็นคำที่คนไทยได้ยินบ่อยขึ้น และกลายเป็นเรื่องธรรมดาของการตีความในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทย

มุนินทร์ พงศาปาน จึงชวนตีความ ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อันสะท้อนตราบาปที่เกิดขึ้นกับนิติศาสตร์ไทย

‘วันแม่’ สมัยผู้นำคณะราษฎร

โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

“หลักการ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ (Monogamy) นับเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่คณะผู้ก่อการ 2475 หรือคณะราษฎรกำหนดทิศทางให้กับสังคมไทยยึดถือเป็นสรณะ เมื่อสามารถตรากฎหมายกลาง พ.ศ. 2478 ที่ปรับภาพลักษณ์เดิมจากสังคมศักดินาล้าหลัง ‘ผัวเดียวมากเมีย’ (Polygyny) เลื่อนระดับขึ้นสู่สังคม ‘ศิวิไลซ์’ ตามแบบโลกสมัยใหม่จนเป็นที่ยอมรับแก่นานาประเทศ อีกทั้งยังนับเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการก่อร่างสร้างพื้นฐานสังคมไทยในระบอบใหม่ผ่านความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว”

“ค่านิยมใหม่ที่สังคมไทยสมาทานนี้ย่อมหมายถึงการให้คุณค่าต่อสตรีเพศในฐานะของความเป็น ‘แม่’”

“นับแต่ต้น พ.ศ. 2486 ภริยาท่านผู้นำคือ ฯพณฯ ท่านพันโทหญิงละเอียด พิบูลสงคราม ดูจะสวมบทบาทนำในภาคส่วนของสตรีเพื่อภารกิจนี้ ประเดิมด้วยการเปิดสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2486 (จัดตั้งวงดนตรีสตรีล้วนเป็นขององค์กรอีกด้วย), การดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารหญิง, การสงเคราะห์มารดาและเด็ก ส่งเสริมวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว รวมถึงกิจกรรมสุขอนามัยต่างๆ เช่น การตรวจโรคให้กับคู่สมรส หรือแม้แต่การตรวจโรคหญิงโสเภณี และหนึ่งในกิจกรรมที่รวมอยู่ในแพ็กเกจของซีรีส์นี้ยามนั้นคือ ‘วันแม่ครั้งแรกของประเทศไทย’”

ย้อนดูต้นกำเนิดของ ‘วันแม่’ ที่แต่เดิมไม่ใช่วันที่ 12 สิงหาคม และมีที่มาจากนโยบายสนับสนุนให้คนมีลูกเพื่อสร้างชาติ

ทางทฤษฎี

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

::: IR กระแสหลัก VS Global IR :::

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เขียนและวิพากษ์ถึงข้อถกเถียง ‘ทางทฤษฎี’ ระหว่างทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลักที่มีสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นศูนย์กลาง กับ Global IR ที่เชื่อว่าทุกส่วนในโลกควรมีโอกาสการเสนอความรู้จากตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง

“เมื่อผ่านสมัยใหม่มาจนเข้าศตวรรษที่ 21 แล้ว ผมไม่สู้จะแน่ใจที่จะบอกว่าทฤษฎีจากตะวันตกมีปัญหาในการทำความเข้าใจพื้นที่อื่นที่ไม่ถูกนับว่าเป็นตะวันตก และจีน อินโดนีเซีย อินเดียหรือบังคลาเทศไปจนถึงปาปัวนิวกินีจะต้องมีทฤษฎีแบบตะวันออกเพื่อสร้างความรู้เป็นของตัวเองอีกแบบหนึ่ง”

“ผมจะขอเปลี่ยนคำถามของคุณไปเล็กน้อย โดยเปลี่ยนมาถามว่า ในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะของพวกสังคมศาสตร์อเมริกันที่ผมคุ้นเคยมากกว่าเพื่อนนั้น มีส่วนไหนที่ผมเห็นว่าไม่สู้จะน่าพอใจในการนำมาใช้ทำความเข้าใจปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าที่ไหน”

“ผมชอบใจคำว่า conceptual range ที่ Chomsky ใช้ และคิดว่าเรานำมาใช้กับทฤษฎีทุกทฤษฎีได้ เพราะแต่ละทฤษฎีประกอบขึ้นมาจาก concepts จาก epistemology จาก ontology และฐานของ ethics แบบใดแบบหนึ่ง และไม่ว่าจะเป็นแบบไหนที่เปิดทางให้เราเข้าสู่การหาความรู้ ทั้งหมดนั้นต่างมีพิสัยกว้างแคบของมัน เมื่อเราใช้ทางทฤษฎีใดมาเป็นอุปกรณ์ เรารู้พิสัยที่จำกัดมันไว้ก็ดีแล้ว แต่หาทางใช้ให้เต็มพิสัยที่มันเปิดให้เราใช้ได้เถิด”

‘ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็ก-เยาวชนไทย’ ทางออกก่อนความฝันเด็กไทยจะถูกบดขยี้

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

บทสรุปงานเสวนา ‘ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็ก-เยาวชนไทย’ ที่ชวนกันมามองอนาคตและความฝันของ ‘เด็กสมัยนี้’

ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ และ คณาธิป สุนทรรักษ์ หรือครูลูกกอล์ฟ เจ้าของสถาบันสอนภาษา ANGKRIZ

“ต้องพิจารณาว่าสองปีที่ขาดหายไปนั้น ทักษะบางอย่างของเด็กๆ ก็หายไปเช่นกัน ไม่ว่าจะทักษะการปฏิบัติของบางสายงาน หรือทักษะการทำงานกลุ่มและการนำเสนองานต่างๆ รวมถึงทักษะการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน เราจะชดเชยพวกเขาอย่างไร หรือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว เราจะรองรับพวกเขาอย่างไรได้บ้าง” – ประจักษ์ ก้องกีรติ

“สังคมจึงไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของเด็ก คุณต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมาย เสียงของพวกเขาได้รับการรับฟัง ปกติแล้วเราก็มักจะรักคนที่เห็นคุณค่า รักคนที่รับฟังเรา รักคนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเรา” – จิราภรณ์ อรุณากูร

“ที่ผ่านมา เราไม่เคยอยู่ในห้องเรียนประเทศไทยห้องไหนที่ไม่โดนตัดสินเรื่องเพศสภาพเลย ขนาดว่าเราเรียนในโรงเรียนชนชั้นกลางดีๆ แต่กลับพบว่าโรงเรียนเป็นเหมือนนรกตั้งแต่เด็กจนโต แล้วยังไม่ต้องไปพูดถึงโรงเรียนที่สังคมมองว่าแย่กว่าที่เราเคยเจอ ในฐานะเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ โรงเรียนคือนรก” – คณาธิป สุนทรรักษ์

ตลาดการเมืองไทย โฆษณาแบบไหนได้ใจคนฟัง? คุยกับ ‘ประกิต กอบกิจวัฒนา’

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ผ่านพ้นไป ชื่อของ ‘ประกิต กอบกิจวัฒนา’ ค่อยๆ ปรากฏบนหน้าสื่อตามมาในฐานะกุนซือวางกลยุทธ์การสื่อสารของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เจ้าของไอเดียแคมเปญ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ซึ่งชนะใจคนกรุงเทพฯ จนกวาดคะแนนไปกว่า 1.3 ล้านเสียง

101 คุยกับประกิต ชวนย้อนมองถึงความสำเร็จในการสื่อสารที่ผ่านมา สู่การถอดบทเรียนหาวิธีโฆษณาในสนามเลือกตั้ง แล้วตบท้ายด้วยการวิเคราะห์แบรนด์พรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าใครมีทีเด็ด จุดอ่อนจุดขายอย่างไร อะไรที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งระดับชาติที่ (น่าจะ) กำลังจะมาถึงปีหน้า

‘ตำแหน่งบรรณาธิการทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอตลอดเวลาเลย’ ตะกอนความคิดและการทำสื่อธุรกิจ Capital กับ จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ 

โดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

101 ชวนจิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ ตกตะกอนความคิดถึงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร หลังลาออกจาก a day มาสู่การเริ่มต้นใหม่ในสื่อธุรกิจน้องใหม่อย่าง Capital ในฐานะคนทำงานสื่อที่เคยอยู่ในตำแหน่งนักเขียนมาก่อนจนมาสู่ตำแหน่งหัวหน้า เขาได้เรียนรู้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และการบริหารสื่อธุรกิจอย่าง Capital จะมีบทบาทต่อคนอ่านและวงการสื่ออย่างไร ท่ามกลางสนามสื่อหลากหลายในสังคมไทย

“ในมุมหนึ่งสำหรับเรา ตำแหน่งบรรณาธิการมันสลายอัตตาเรานะ มองเผินๆ มันเหมือนเป็นตำแหน่งที่จะทำให้เรามีอัตตา มึงเป็น บ.ก. นะเว้ย คือถ้าไม่ได้บ้าอำนาจ ไม่ได้บ้าตำแหน่งบรรณาธิการมาก เราว่าตำแหน่งนี้มันโคตรสลายอัตตาเราเลย แทนที่เราจะต้องทำงานเองเพื่อให้คนชื่นชม อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น เราผลักดันคนอื่นให้ทำได้ไหม แล้วไม่ต้องคาดหวังคำชมด้วยว่าคนจะมาชมมึงว่างานชิ้นนี้เก่งมากเลย”

“มันทำให้เราไม่คิดถึงเครดิตเท่าไหร่ สำหรับเราบ.ก.ที่ดีคือการกระจายเครดิตไปสู่ทีมด้วยนะ การบอกว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะเราคนเดียว ไม่ใช่ one man show อีกแล้ว สิ่งนี้คือทีมทำ”

อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

การตอบโต้อย่างสำคัญของกลไกในกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ก็คือ การอ้างอิงถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งถูกจัดวางไว้ในฐานะ ‘อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชวนตีความรัฐธรรมนูญเรื่องสถานะ ‘อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’ ของพระมหากษัตริย์ และการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

ผลงานใหม่เดือนสิงหาคม 2565 ของ 101PUB – 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะ

เปิดตัว ‘คิด for คิดส์’ ตั้งหลักใหม่นโยบายเด็กและครอบครัวสู่อนาคต

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank หรือ 101 PUB) จัดงานเสวนาสาธารณะ ‘เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565‘ เพื่อเปิดตัว ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว หรือ ‘คิด for คิดส์’

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนสิงหาคม 2565

โชคชะตาท่าพระจันทร์ : ในวันที่แสงจันทร์ส่องถึงแค่หมอดูออนไลน์

โดย ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ และ กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

วอลเปเปอร์เสริมดวง ชาร์ตสีมงคลประจำวัน กำไลมูเตลู การดูดวงรายวัน กลายเป็นคอนเทนต์ยอดฮิตที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากคนแทบทุกเพศทุกวัย และพบเจอได้ในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์

ยิ่งในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด โหราศาสตร์และการดูดวงเป็นสิ่งที่ ‘ขายได้’ ทั้งจากลูกค้ากลุ่มที่ต้องการดูดวงและลูกค้ากลุ่มที่ต้องการนำการดูดวงไปทำเป็นคอนเทนต์ หมอดูจึงกลายเป็นอาชีพที่เฟื่องฟูสวนทางกับกิจการอื่นๆ ที่พากันปิดตัวลง

ขณะที่หมอดูบนแพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่คนจะนึกถึงเมื่อรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ในทางตรงกันข้าม โรคระบาดกลับสร้างผลกระทบให้กับหมอดูที่ดูดวงแบบออนไซต์ แม้กระทั่งย่านดูดวงที่เคยเฟื่องฟูในอดีตอย่างท่าพระจันทร์ก็ยังต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่

101 ชวนมองภาพความเปลี่ยนแปลงของวงการหมอดูทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ ในวันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทจนอาจกลายเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ยุคโหราศาสตร์ดิจิทัล’

ราคาตั๋วหนังยัง ‘ไม่แพง’ ? เมื่อค่าตั๋วหนังในไทยสวนทางกับรายได้คนส่วนใหญ่ในประเทศ

โดย พิมพ์ชนก พุกสุข และ เมธิชัย เตียวนะ

ปัจจุบันราคาตั๋วหนังของโรงมัลติเพล็กซ์ตกอยู่ที่ 120-260 บาท ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากผู้ชมว่าอาจเป็นราคาที่ ‘แพงเกินไป’ สำหรับคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนหลีกเลี่ยงไม่ไปดูหนังในโรงภาพยนตร์เนื่องจากสู้ราคาตั๋วไม่ไหว ประกอบกับการมาถึงของบริการสตรีมมิ่ง ที่ทำให้คนเลือกดูหนังที่บ้านมากกว่า

เทศกาล ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ที่จัดฉายหนังกลางแปลงในหลายๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ ก็มีผู้เข้าร่วมชมภาพยนตร์เนืองแน่น ทำให้เกิดคำถามที่ว่า จริงหรือไม่ ที่คนไม่อยากดูหนังโรงหรือรับชมหนังในเชิงมหรสพอีกแล้ว

หรืออันที่จริง เรายังอยากดูหนังนอกบ้านและหนังในโรงภาพยนตร์กันอยู่ เพียงแต่สู้ราคาไม่ไหว

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.42 ยุทธการเสริมนั่งร้าน

การจัดการ ‘สูตรการเลือกตั้ง’ ตั้งแต่การโหวตสูตร ‘หาร 500’ ในเบื้องแรก ไปจนถึงการดึงเกมกลับไปใช้สูตร ‘หาร 100’ ควบคู่ไปกับความคึกคักของพรรคใหม่อย่าง ‘พรรครวมพลังประชาชาติไทย’ และ ‘พรรครวมพลังแผ่นดิน’ ไม่ใช่อะไรอื่นใดนอกจากการ ‘เสริมนั่งร้าน’ ให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อสำหรับผู้กุมอำนาจ

เบื้องหลังเกมการเมืองรอบนี้มีอะไรให้ต้องจับตา คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.43 : เกม – สภา – ล่ม

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฉบับ ‘สูตรหาร 500’ มีเหตุต้องจบลงเนื่องจากความตั้งใจทำให้สภาล่ม หลังจากยื้อกันมาหลายชั่วโมง

แม้จะบรรลุเป้าประสงค์ทางการเมือง แต่เกมการเมืองแบบนี้กลับทำให้สภาถูกจับตาและตั้งคำถามจากสาธารณะอีกครั้ง

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.44 : เลขเด็ดการเมือง

เมื่อสูตร ‘100’ กลายเป็นเลขล็อก เลขเด็ดต่อไปที่คอการเมืองรอลุ้นตั้งหน้ารอลุ้นคือ ‘8’ ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอุบัติเหตุทางการเมือง
ลุ้นมาก ลุ้นน้อย ลุ้นแค่ไหน และลุ้นอะไร?

คุยเบื้องลึก เบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 POSTSCRIPT คุยข่าวนอกสคริปต์ กับ วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ EP.45 : Come on BRO!

24 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยได้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี (รักษาการณ์) คนใหม่ชนิดที่น้อยคนจะคาดคิด หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ‘หักปากกาเซียน’ ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจากกรณีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี

อะไรคือนัยทางการเมืองของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

คุยเบื้องลึกเบื้องหลังและจับกระแสการเมืองไทยไปพร้อมกันกับวิสุทธิ์ คมวัชรพงษ์ และกองบรรณาธิการ The101.world

101 One-on-One Ep.274 อัฟกานิสถาน: 1 ปี หลังฏอลิบาน กับ จรัญ มะลูลีม

การถอนทหารของสหรัฐอเมริกาจากอัฟกานิสถาน และการขึ้นสู่อำนาจ (อีกครั้ง) ของรัฐบาลฏอลิบานคือ หนึ่งในเหตุการณที่เขย่าการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศมากที่สุดในปี 2021

1 ปีผ่านไป อัฟกานิสถานเปลี่ยนไปแค่ไหน และนัยต่อการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างไร

101 ชวน ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการตะวันออกกลางศึกษาวิเคราะห์และทำความเข้าใจสถานการณ์อัฟกานิสถานในปัจจุบัน

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

101 One-on-One Ep.275 “สุญญากาศการเมืองไทย?” กับ สุขุม นวลสกุล

การหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมติศาลรัฐธรรมนูญอาจนำการเมืองไทยเข้าสู่สุญญากาศ

แม้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีจะมาจากเครือข่ายอำนาจเดียวกัน แต่การเปลี่ยน ‘หัว’ รัฐบาลครั้งแรกในรอบ 8 ปี ย่อมสะเทือนอำนาจและสายสัมพันธ์อยู่ไม่น้อย

101 ชวน ดร.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการอิสระ อ่านก้าวต่อไปรัฐบาล และผลสะเทือนต่อการเมืองไทยภาพใหญ่

ดำเนินรายการโดยวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save