fbpx

ลิซ ทรัสส์ และการฟื้นคืนชีพของ Trickle-down Economics

UN Photo / Cia Pak – ภาพประกอบ

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นเวทีที่ผู้นำจากรัฐสมาชิก 193 ประเทศเดินทางมาแสดงวิสัยทัศน์และท่าทีของประเทศตนในประเด็นที่เป็นวาระสำคัญของโลก

ในหลายโอกาสก็มีการเสนอ ‘โมเดลเศรษฐกิจ’ ที่ประเทศมหาอำนาจอยากให้ประเทศอื่นๆ เดินตาม

เช่นในการประชุมปี 2022 ที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรกล่าวสุนทรพจน์ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเธอจะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเติบโตแข็งแรงขึ้น ด้วยแนวทางการสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เกิดการลงทุนที่เพิ่มการจ้างงานและรายได้ให้กับประชาชน

ทรัสส์ยังเสนอให้บรรดาประเทศที่จัดตัวเองอยู่ใน ‘โลกเสรี’ (the free world) ร่วมมือกันมากขึ้นผ่านการค้าการลงทุน เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกเสรีมีความเข้มแข็งเหนือระบอบเผด็จการที่กำลังเป็นภัยคุกคาม

ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
ภาพถ่ายโดย UN Photo / Cia Pak https://news.un.org/en/story/2022/09/1127441

เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่น

แนวทางสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างเข้มข้นเพื่อสร้างการเติบโตของทรัสส์ ทำให้วิวาทะว่าด้วย ‘เศรษฐกิจที่ไหลจากบนลงล่าง‘ หรือ ‘Trickle-down Economics’ กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ทรัสส์ลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของเธอคือมาตรการอย่างการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล (tax cuts) ตลอดจนการยกเลิกกฎควบคุมเพดานการให้เงินโบนัสสำหรับผู้บริหารในภาคการเงิน (bonus cap)

เมื่อถูกตั้งคำถามว่ามาตรการเหล่านี้จะให้ประโยชน์กับคนรวยเป็นพิเศษไหม ทรัสส์ก็ย้ำถึงบทบาทสำคัญของผู้มีรายได้สูงต่อการลงทุน โดยยืนยันว่า เมื่อคนรวยถูกเก็บภาษีน้อยลง พวกเขาก็จะลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้ของคนกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น ทั้งสังคมจะได้รับดอกผลร่วมกันในท้ายที่สุดอยู่ดี

แนวคิดที่ว่ามาทั้งหมดตรงกับที่โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเคยพูดไว้ในช่วงต้นทศวรรษ 1980s และทำให้คนสหราชอาณาจักรเองหวนนึกถึงมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ผู้ใช้วลีอมตะที่ว่า “เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว” (There is no alternative.) เพื่อยืนกรานแนวทางจัดการเศรษฐกิจของเธอ

หรือเรามาสุดทางแล้ว

คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าข้อเสนอของทรัสส์จะถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักเศรษฐศาสตร์และสื่อมวลชนที่ค่อนไปทางซ้าย ซึ่งยกประเด็น ‘ความเป็นธรรม’ (social justice) ขึ้นมาโต้แย้ง ตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลต้องช่วยเหลือคนรวยเป็นพิเศษ ในช่วงเวลาที่ชนชั้นกลางและคนยากจนของสหราชอาณาจักรเองกำลังเผชิญปัญหาปากท้องและเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งที่ทรงพลังกว่านั้นกลับมาจากนักคิดผู้สนับสนุนกลไกตลาดและโลกาภิวัตน์อย่างมาร์ติน วูลฟ์ (Martin Wolf) ผู้เขียนหนังสือ Why Globalization Works (2005)

ในบทความ ‘The economic consequences of Liz Truss’ (Financial Times, 21 กันยายน 2565) วูลฟ์ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในปัจจุบันได้บรรลุสิ่งที่แธตเชอร์เคยวาดหวังไว้แล้ว

ในด้านหนึ่ง ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรมีการลดอัตราภาษีอยู่เป็นระยะ จนทำให้ปัจจุบันมีสถานะเป็น ‘ประเทศภาษีต่ำ’ (low-tax country)ตามมาตรฐานประเทศร่ำรวยอยู่แล้ว และน่าจะเป็นจุดที่ต่ำจนไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจมากนัก

ยิ่งไปกว่านั้น สหราชอาณาจักรยังมีสถานะเป็น ‘ตลาดเสรี’ ที่เสรีกว่าประเทศชั้นนำแทบทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะวัดจากกฎระเบียบของรัฐด้านการควบคุมตลาดสินค้า (product market regulation) หรือด้านการควบคุมตลาดแรงงาน (labour market regulation)

กราฟเปรียบเทียบดัชนีการควบคุมตลาดของประเทศกลุ่ม OECD (ยิ่งน้อย ยิ่งเสรี)
ที่มา: Martin Wolf “The economic consequences of Liz Truss” (Financial Times, 21 September 2022)

จากดัชนีของ OECD แม้แต่ประเทศที่ถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางตลาดเสรีอย่างสหรัฐอเมริกาหรือแคนาดายังมีกฎระเบียบควบคุมตลาดสินค้ายุบยิบยิ่งกว่าสหราชอาณาจักรเสียอีก

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเปรียบเชิงเปรียบเทียบแล้ว ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรก็เป็นทั้ง ตลาดเสรี + ภาษีต่ำ เหนือประเทศชั้นนำอื่นๆ แทบไม่ผิดจากที่แธตเชอร์เคยฝันและวางรากฐานไว้

พูดอีกอย่างก็คือ สหราชอาณาจักรเดินตามแนวทางเศรษฐกิจที่ไหลจากบนลงล่างมาไกลมากแล้ว ไม่น้อยหน้าประเทศรายได้สูงอื่นๆ เลย

ดังนั้น หากเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรยังมีปัญหาอยู่ ย่อมแปลว่าปัญหานั้นอยู่ที่จุดอื่น ไม่ใช่เพราะยังสนับสนุนตลาดและภาคธุรกิจไม่มากพอ แต่อยู่กับสิ่งที่แธตเชอร์ยังไม่ได้ทำต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะและผลิตภาพแรงงานที่ถดถอยลงเรื่อยๆ หรือความสามารถในการออมของครัวเรือนที่ไม่เพียงพอจะกระตุ้นการลงทุน

นอกจากนี้ วูลฟ์ยังย้ำถึงความสำคัญของการกระจายรายได้ เพราะมีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มประเทศระดับเดียวกัน สังคมที่ค่อนข้างเท่าเทียมมักจะเติบโตได้เร็วกว่าสังคมที่ค่อนข้างเหลื่อมล้ำ (เช่น ฟินแลนด์เติบโตโดยเฉลี่ยสูงกว่าสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลของทรัสส์ไม่ค่อยให้ความสำคัญ

นัยต่อประเทศกำลังพัฒนา

วิวาทะว่าด้วยเศรษฐกิจแบบไหลจากบนลงล่างก็คงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และรอวันเกิดขึ้นใหม่ เหมือนที่วนเวียนเป็นวัฏจักรตลอดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

แต่เรื่องนี้บอกอะไรกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยในเรื่องการทำนโยบายได้บ้าง?

ประการแรก น่าจะเป็นมายาคติว่าด้วยแนวทาง ‘ปฏิบัตินิยม’ ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อโต้เถียงทางเลือกอื่นๆ ว่าเป็นทฤษฎีมากเกินไป ทั้งที่ในความเป็นจริง แนวคิดทางเศรษฐกิจแต่ละชุดล้วนมีตรรกะเบื้องหลังแฝงอยู่ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ข้อเสนอที่ฟังดูง่ายๆ ไร้ทฤษฎีอย่างการสนับสนุนคนรวยให้ช่วยคนจน

การทำความเข้าใจหลักการเบื้องหลัง ‘โมเดลเศรษฐกิจ’ และผลลัพธ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศอื่น จึงน่าจะเป็นประโยชน์กับการทำนโยบายมากกว่าการละเลยทฤษฎี

ดังเช่นเส้นทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้และข้อจำกัดของแนวทางเศรษฐกิจแบบไหลรินที่มุ่งเน้นการสนับสนุนภาคธุรกิจเหนือมิติอื่นๆ

หากอยากเรียนรู้แนวทางใกล้เคียงกันนี้ แต่เปลี่ยนเป็นบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ก็สามารถศึกษาจากบทเรียนของชิลีในยุคของนายพลปิโนเชต์ได้ (Augusto Pinotchet, 1974­–1990)

ถ้าอยากถอดบทเรียนเพิ่มเติมว่า เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วต้องเผชิญกับพลังของตลาดเสรีหรือแนวทางเสรีนิยมใหม่จะเป็นอย่างไร ก็สามารถศึกษาได้จากบราซิลในยุคของประธานาธิบดีลูล่า (Luiz Inácio Lula da Silva, 2003­–2010) เป็นต้น

ประการที่สอง สิ่งที่แตกต่างจากยุคก่อนอย่างชัดเจนคือ ในยุคนี้ผู้นำของสหรัฐอเมริกากลับเห็นต่างจากผู้นำของสหราชอาณาจักร โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ทวีตข้อความไว้ในช่วงเวลาเดียวกันว่า “เศรษฐกิจแบบไหลจากบนลงล่างไม่เคยประสบความสำเร็จ เรากำลังสร้างเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจากล่างขึ้นบน”

ไม่แน่ใจว่านี่เป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย แต่อย่างน้อย ประเทศกำลังพัฒนาน่าจะมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายของตัวเองมากกว่าในยุค 1980s หรือ 1990s ที่ลมของมหาอำนาจพัดไปในทิศเดียวกันจนยากจะทวนกระแส

แต่ประเทศกำลังพัฒนาจะแสวงหาโอกาสจาก ‘พื้นที่นโยบาย’ (policy space) ที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ก็ย่อมขึ้นกับคุณภาพของดีเบตในประเทศนั้น ว่ามีความกว้าง (โมเดลเศรษฐกิจที่เป็นไปได้มีกี่แบบ) และความลึก (แต่ละโมเดลมีสมมติฐานและผลข้างเคียงอย่างไร) แค่ไหน

ประการสุดท้าย ถึงแม้การต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่งด้วยการยกคุณค่าอื่นขึ้นมาเทียบเคียงและหักล้างนั้นจะมีความสำคัญก็จริง แต่เราก็ควรอภิปรายบนฐานของข้อมูลไปพร้อมกันด้วย มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการเอาความสุดโต่งอีกด้านมาสู้กันหัวชนฝา จนไม่เหลือพื้นที่แห่งเหตุผล

ดังที่วูลฟ์แสดงให้เห็นในการโต้เถียงกับข้อเสนอทางเศรษฐกิจของทรัสส์ การยกประเด็นความชอบธรรม (หรือศีลธรรม) แต่เพียงอย่างเดียว ย่อมมีพลังไม่เท่ากับการถกเถียงบนฐานของข้อมูล ร่วมกับมุมมองเชิงเปรียบเทียบกับสังคมอื่น และที่สำคัญกว่านั้นคือ ไม่ลืมเทียบกับประวัติศาสตร์และบทเรียนที่เกิดขึ้นในสังคมของเราเองด้วย


อ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save