fbpx

Trolley problem #3: ถ้าเราไม่อยากตาย เราก็ไม่ควรเลือกให้คนอื่นไปตาย – คำตอบที่เหมือนจะช่วยแก้ปัญหารถราง

สมมติคุณอยู่ในเรือที่กำลังจมกลางทะเลอันหนาวเหน็บ แล้วคุณกับคนข้างๆ คุณกระโดดขึ้นเรือชูชีพขนาดเล็กเพื่อเอาชีวิตรอด

เมื่อเรือชูชีพลอยมาได้ซักพัก คุณเห็นคนห้าคนกำลังจะจมน้ำตาย คุณมองหน้าคนที่รอดมากับคุณ แล้วตระหนักว่าคุณสองตัวใหญ่ทั้งคู่ ถ้าคนใดคนหนึ่งยอมกระโดดลงไปหนาวตายในน้ำ เรือชูชีพจะมีพื้นที่พอให้คนห้าคนที่ว่าปีนขึ้นมาแล้วมีชีวิตรอด

คุณจะยอมกระโดดน้ำรึเปล่า?

บางคนอาจเลือกเสียสละ แต่เราส่วนใหญ่คงเลือกปกป้องชีวิตตัวเองก่อน แน่นอนว่าทางเลือกนี้ไม่เท่ แต่เมื่อรอดกลับมาเล่า คงไม่มีใครตัดสินว่าคุณเป็นคนเลว หรือลงโทษคุณทางกฎหมาย… ในฐานะมนุษย์ ทางเลือกของคุณนั้นเข้าใจได้

แต่ถ้าคุณเองยังไม่อยากตาย นั่นหมายความว่าคุณย่อมไม่มีสิทธิผลักคนตัวใหญ่ที่นั่งฝั่งตรงข้ามลงไปตายในทะเลแทน เพื่อช่วยคนห้าคนที่กำลังจะหนาวตายในทะเล

คิดต่อยอดง่ายๆ คล้ายกัน ถ้าคุณเองไม่อยากให้รัฐบาลมายึดบ้านคุณ คุณก็ไม่ควรเลือกให้รัฐบาลไปยึดบ้านคนอื่น ถ้าคุณเองยังไม่อยากให้รัฐบาลตัดงบโรงพยาบาลในพื้นที่ของคุณไปช่วยผู้ประสบภัย คุณก็ไม่ควรสนับสนุนให้รัฐบาลทำแบบนั้นในพื้นที่อื่น

กรณีเหล่านี่คือรูปธรรมของปัญหารถรางรูปแบบที่ 3 ซึ่ง Judith Thompson อีกหนึ่งตัวแม่ในวงการรถรางนำเสนอ หากพูดในภาษารถรางคือ ในฐานะบุคคลที่สามที่ต้องตัดสินใจ เราไม่ควรหันรถรางไปชนคนหนึ่งคนเพื่อช่วยคนห้าคน

“ถ้าคุณไม่อยากตาย ก็ไม่ควรส่งคนอื่นไปตาย” นี่ข้อถกเถียงเรียบง่าย ที่ Judith Thompson นำเสนอ

ข้อถกเถียงนี้สอดคล้องกับสามัญสำนึก ฟังยังไงก็ไม่น่าผิด และนัยยะของมันมหาศาลมาก เพราะหากข้อเสนอนี้ถูก มันจะช่วยกู้คืนชีพให้กับข้อเสนอของ Phillippa Foot ที่ผมเล่าไปก่อนหน้านี้ และปิดฉากมหากาพย์รถรางอย่างสมบูรณ์

Foot กับการแก้ปัญหารถราง: ข้อเสนอที่เคยล้มเหลว

ดังที่เคยเล่าไปแล้วว่า ข้อเสนอของ Foot เรื่องการตีเส้นแบ่งระหว่าง ‘การฆ่า’ กับ ‘การปล่อยให้ตาย’ สามารถมอบคำตอบที่ตรงกับสามัญสำนึกในกรณีรถรางรูปแบบพื้นฐาน กล่าวคือ

ในกรณีแรก หลักบอกว่าคนขับควรหันรถรางที่กำลังจะชนคนห้าคนไปชนคนหนึ่งคนแทน (Driver’s two options case) เพราะเมื่อทั้งสองทางเลือกเป็นการ ‘ฆ่า’ ให้เลือกฆ่าจำนวนน้อยกว่า

ส่วนอีกกรณี หลักบอกว่าเราไม่ควรผลักคนอ้วนเพื่อใช้น้ำหนักตัวเขาหยุดรถ แต่ปล่อยให้รถวิ่งทับคนห้าคนตายแทน (Fatman case) เพราะ ‘ปล่อยให้ตาย’ ดีกว่า ‘ฆ่า’

แต่ปัญหาของข้อเสนอนี้ก็คือ หลักบังคับว่าเราอยู่ในฐานะบุคคลที่สามที่ผ่านมาเห็นเหตุการณ์รถราง (Bystander’s two options case) ไม่สามาหันรถรางไปทับคนหนึ่งคน แต่ต้องต้องปล่อยให้คนห้าคนตายแทน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการ ‘ปล่อยให้คนตาย’ ห้าคน นั้นดีกว่าการ ‘ฆ่า’ คนหนึ่งคน

ซึ่งข้อสรุปสุดท้ายนี้แย้งสามัญสำนึก (counterintuition) … จึงไม่น่าถูก (ใช่ครับ คำว่า ‘ไม่น่า’ ก็บ่งชัดว่านี้เป็นเรื่องของความรู้สึกและสามัญสำนึก)

หากมองจากมุมนี้ ปัญหารถรางรูปแบบที่สาม (Bystander’s two options case) ก็กลายเป็นปริศนาชิ้นใหม่ที่ทำให้ข้อเสนอของ Foot ที่เคยดูดีพังทลายลง

ความล้มเหลวของ Foot ก็เปิดช่องให้ข้อถกเถียงของ Thompson เข้ามามีบทบาทและสำคัญ

ประเด็นของ Thompson ก็คือเธอต้องการจะโน้มน้าวชักจูงว่า สามัญสำนึกที่เราในฐานะบุคคลที่สามไม่ควรหันรถรางเพื่อช่วยคนห้าคนนั้นผิด ด้วยเหตุผลเรียบง่ายที่ว่า หากเรายืนอยู่บนรางเส้นหนึ่ง เราเองยัง (ได้รับอนุญาตให้) ไม่หันรถรางมาชนตัวเองตาย (เหมือนที่เราไม่จำเป็นต้องกระโดดลงน้ำเพื่อช่วยคนห้าคน) ดังนั้นเราย่อมไม่มีสิทธิหันรถรางไปฆ่าคนอื่นเพื่อช่วยคน 5 คน (ผลักคนอื่นตกน้ำแทนในกรณีเรือชูชีพ)

ถูกมั้ยครับ?

ข้อเสนอนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าหาก Thompson ถูก ข้อเสนอของ Foot ก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

จุดตายของข้อเสนอเรื่องการฆ่าและการปล่อยให้ตายของ Foot ให้คำตอบว่า บุคคลที่สามไม่ควรหันรถรางช่วยคนห้าคน ซึ่งขัด ‘สามัญสำนึก’ แต่ถ้า Thompson ถูก ก็จะกลายเป็นว่าเราต้องทบทวน (revise) สามัญสำนึกที่ว่าใหม่ กลายเป็นว่าการไม่หันรถรางในกรณีนี้นั้นถูกแล้ว

แล้วก็จะกลายเป็นว่าข้อเสนอของ Foot ให้คำตอบที่สอดคล้องกับสามัญสำนึกในทุกกรณี ปิดฉากปัญหารถรางลงอย่างหมดจด

แต่รถรางก็คือรถราง และปัญหาก็ไม่จบแค่นี้

ปัญหารถรางรูปแบบที่สี่และเหตุผลที่ข้อเสนอของ Thompson ล้มเหลว

“ถ้าคุณไม่อยากตาย ก็ไม่ควรส่งคนอื่นไปตาย”

ข้อเสนอ Thompson ข้างบนฟังดูไม่น่าผิด แต่ข้อดีหนึ่งของวิชาจริยศาสตร์ก็คือ หลายครั้งมันช่วยเปิดเผยให้เราเห็นว่าบางสิ่งที่ฟังยังไงก็ถูกนั้นผิด และเรามองไม่เห็นมันอย่างไม่น่าเชื่อ

นักจริยศาสตร์หลายคนพูดเรื่องนี้กันมานาน แต่ความผิดของข้อสรุปนี้ถูกสรุปออกมาเป็นชุดๆ เมื่อไม่กี่ปีก่อน โดย F. M. Kamm อีกหนึ่งตัวแม่แห่งวงการรถราง และไม่กี่คนที่ยังมีชีวิตถึงทุกวันนี้

ปัญหาของข้อเสนอของ Thompson ตั้งต้นจากการเปรียบเทียบว่า เราจะยอมหันรถรางมาชนตัวเองหรือไม่ และการคิดเปรียบเทียบนี้ แท้จริงแล้วสะท้อนรูปแบบรถรางใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการพูดถึงมาก่อน ดังนี้

ปัญหารถรางรูปแบบที่ 4 (bystander’s three options case) รถรางกำลังจะวิ่งทับคนห้าคน เราซึ่งผ่านมาเห็นเหตุการณ์และคันโยกมีสามทางเลือก 1) ไม่ทำอะไรเลยและปล่อยให้รถรางชนคนห้าคน 2) สับรางเพื่อให้รถรางมาชนเราแทน และ 3) สับรางให้รถวิ่งไปอีกทาง ซึ่งจะไปชนคนอีกคนที่บังเอิญผ่านมาตรงนั้นตายแทน

กลยุทธ์ที่ Thompson ใช้ชักจูงสามัญสำนึกเราสร้างขึ้นคือการโน้มน้าวว่า ถ้าเราไม่สับรางให้รถมาชนตัวเอง เราก็ไม่สามารถทำแบบนั้นกับคนอื่นได้ ซึ่งเธอเอาข้อสรุปของกรณีนี้ไปให้เหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่ควรหันสับรางในกรณีก่อนหน้า (Bystander’s two options case)

ปัญหาเกิดขึ้นตรงนี้แหละครับ เพราะ Thompson มองไม่เห็นว่าข้อสรุปในกรณีสามทางเลือกนั้น ไม่สามารถเอามาเทียบเคียงหรือส่งต่อ (transfer) มาสู่กรณีสองทางเลือกได้

ผมเชื่อว่าไม่ใช่แค่ Thompson ที่มองไม่เห็น หลายคน (และผมตอนอ่านเรื่องนี้ใหม่ๆ) ก็คงงงๆ ว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน แต่ลองดูตัวอย่างนะครับ

สมมติมีโจรมือเปล่าวิ่งมาแต่ไกลเพื่อจะฆ่าคุณ คุณมีทางเลือกระหว่าง (1) ปล่อยให้โจรฆ่า (2) ใช้ปืนในมือเล็งยิงโจรตาย (3) วิ่งเข้าห้อง ล็อกประตูที่แข็งแรงมาก แล้วโทรแจ้งตำรวจ ในกรณีนี้ ทางเลือกที่ (3) ถ้าชัดเจนว่าปลอดภัยแน่ๆ ควรมาก่อน (2) หรือพูดง่ายๆ คือคุณไม่ควรยิงโจรตาย

แต่สมมติถ้าคุณมีแค่สองทางเลือกแรก อาจเพราะประตูห้องไม่แข็งแรง ไม่มีห้องให้หลบ ฯลฯ ทางเลือก (2) ย่อมเป็นคำตอบสุดท้ายที่ถูกต้อง เพราะเราต้องปกป้องชีวิตตัวเอง ข้อสรุปที่ว่าเราไม่ควรยิงโจรในกรณีสามทางเลือกไม่ส่งต่อมายังกรณีนี้

เห็นหรือยังครับว่าข้อสรุปในกรณีสามทางเลือก ไม่สามารถมอบคำตอบอัตโนมัติให้กับกรณีสองทางเลือกได้

ย้อนกลับมาที่เรื่องรถราง กลยุทธ์ของ Thompson จึงมีปัญหา เพราะการที่เธอตั้งต้นข้อเสนอจากว่าเรา (ได้รับอนุญาตให้) ไม่หันรถรางชนตัวเองนั้นสะท้อนกรณี ‘สามทางเลือก’ ก่อนจะใช้ข้อสรุปนี้มาต่อยอดเพื่อสรุปว่า เราจึงไม่ควรหันรถรางชนคนอื่นในกรณี ‘สองทางเลือก’ ไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ

แต่ปัญหาของ Thompson ก็ไม่ได้มีแค่นี้หรอกนะครับ

สิ่งที่ควรทำกับ ภาระในการทำ

ปัญหาอีกประการของ Thompson คือ การปนกันระหว่าง ‘สิ่งที่ควรทำ’ กับ ‘ภาระในการทำ’ ซึ่งเป็นสองเรื่องที่ต้องแยกออกจากกัน อาจจะฟังแล้วงงหน่อย แต่ลองดูตัวอย่างนะครับ

สมมติในประเทศมีคนกำลังจะอดตาย รัฐบาลสามารถแก้ไขได้ด้วยการเก็บภาษีเพิ่มแล้วเอาไปช่วยคนจน การตัดสินใจลักษณะนี้คือ ‘สิ่งที่ควรทำ’

คำถามต่อมาคือใครต้องจ่ายภาษี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ‘ภาระ’

เมื่อแยกสองเรื่องนี้แล้ว Kamm ชี้ว่าการส่งต่อภาระให้ผิดคนไม่ได้ทำให้สิ่งที่ควรทำผิดไปด้วย

เช่น รัฐบาลที่มาจากชนชั้นนำอาจจะไม่อยากเก็บภาษีชนชั้นตัวเองเพื่อช่วยคนจน เลยไปเก็บภาษีชนชั้นกลางแทน

ในกรณีนี้รัฐบาลควรถูกประนาม เพราะรัฐบาลทำผิดในแง่ ‘การโยนภาระ’ แต่ความผิดนี้ไม่ได้ทำให้การช่วยเหลือคนจนของรัฐบาลผิดไปด้วย

Kamm ใช้เรื่องนี้สรุปว่า ต่อให้ในกรณีที่เรามีสามทางเลือกก็เถอะ หากสุดท้ายเราเลือกหันรถรางไปชนคนอื่น แทนที่จะเป็นตัวเอง เราควรถูกประนามในแง่ของ ‘การโยนภาระ’ แต่ถึงที่สุดแล้วทางเลือกนี้ ไม่ได้ส่งผลให้การหันรถรางช่วยคนห้าคนเป็นสิ่งที่ผิดไปโดยปริยาย!

การสับรางช่วยคนห้าคน ไม่ว่าวิ่งไปหาใครจึงยังคงถูกต้อง ไม่ผิดในตัวเองด้วยเหตุผลเพียงว่าคนสับโยนภาระการให้คนอื่นตายแทน

การแยก ‘ภาระในการกระทำ’ ออกจาก ‘สิ่งที่ควรจะทำ’ ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า ความยินยอมที่จะเสียสละอาจจะไม่ใช่ประเด็นในเรื่องนี้ กล่าวคือ ไม่ว่าคนที่เราหันรถรางไปชนตายจะให้ความยินยอม (consent) หรือยินดีเสียสละ (altruistic) รับภาระ (ความตาย) ไม่ได้เป็นประเด็นการตัดสินใจหลัก เพราะในสังคมย่อมบางเรื่องที่ต้องทำ แม้ไม่มีใครยินยอมจะทำเสมอ และในกรณีเช่นนี้สังคมมักตั้งกฎบางอย่างที่ทุกคน ‘ยินยอม’ อยู่ภายใต้เพื่อแก้ไขปัญหา

เช่น ไม่มีใครอยากเป็นทหารไปสงคราม ในหลายประเทศเราจึงยินยอมใช้การเกณฑ์ทหาร หรือวิธีจับฉลาก ในการแข่งขันทางธุรกิจ ไม่มีใครอยากเจ๊ง เราก็ยินยอมใช้กฎให้ทุกคนไปสู้กันในตลาดที่แฟร์ๆ และต่างคนต่างรับผิดชอบกับผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้มา

ในกรณีรถราง พูดโดยทั่วไป คงไม่มีใครยินยอมตายเพื่อช่วยคนอื่น และทุกคนก็คงยินดีอยู่ภายใต้กฎที่อนุญาตให้เรารักษาชีวิตตัวเองเป็นสำคัญ รวมถึงกฎที่ว่าเราสามารถหันรถไปชนคนอื่นแทนเราได้ มองจากมุมนี้ ความยินยอมไม่ใช่ประเด็น แถมยังเท่าเทียมอีกด้วย เพราะทุกคนต่างมีสิทธิหันรถรางไปหาคนอื่นอย่างเท่าเทียม

ฆ่าซ้ำข้อเสนอของ Foot: ปัญหารถรางแบบที่ 5

ที่จริง Kamm สรุปปัญหาไว้อีกหลายข้อ แต่มีเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในแง่ของการให้เหตุผลเชิงตรรกะ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดีเบต ซึ่งผมคิดว่าสะท้อนเหตุผลเบื้องลึกที่ Kamm ต้องทุ่มกำลังฆ่าข้อเสนอของ Thompson

เหตุผลที่ว่าก็คือเธอกลัวว่า ข้อเสนอของ Foot จะถูกคืนชีพขึ้นมา ซึ่ง Kamm เห็นว่าขัดแย้งกับสามัญสำนึกอย่างรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นได้จากกรณีรถรางรูปแบบที่ห้า

ปัญหารถรางรูปแบบที่ 5 (Driver-topple case): เรากำลังขับรถรางมาพร้อมกับผู้โดยสาร และรถรางกำลังจะวิ่งไปชนคนห้าคนตายเหมือนเดิม แต่ทีนี้ไม่มีทางอื่นให้ไปแล้ว ทางเดียวที่เราจะหยุดรถได้ทันคือผลักผู้โดยสารคนอ้วนคนหนึ่งลงไปข้างหน้า เพื่อใช้น้ำหนักตัวเขาหยุดรถ แต่คนอ้วนจะตาย

ในโลกจริง ลองนึกถึงกรณีหมอคนหนึ่งมีเจตนาฆ่าคนไข้จึงจงใจทำให้คนไข้เสียเลือดตาย 5 คน แต่ต่อมาภายหลังเปลี่ยนใจไม่ฆ่า แล้วทางเดียวที่จะแก้ได้คือไปฆ่าใครซักคนหน้าโรงพยาบาลเพื่อเอาเลือดมาเติมให้ทั้งห้า

ข้อเสนอของ Foot ถ้าถูก บอกว่าเราต้องทำ เพราะเป็นการเลือกระหว่างการ ‘ฆ่า’ คน 5 คน กับ ‘ฆ่า’ 1 คน ซึ่งหลักบอกให้เลือกทางหลัง นั่นคือหมอฆ่าคนหน้าโรงพยาบาลได้

ซึ่งฟังยังไงก็ผิด… ถูกมั้ยครับ?

Foot ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการแก้หลักเป็นว่าในกรณีที่ทางเลือกทุกทางเหมือนกัน (เช่น ฆ่า vs ฆ่า) เราห้ามเลือกทางไหน เพราะนั่นเท่ากับพาเรากลับสู่หลัก deontology ที่ห้ามนับเลข ซึ่งเป็นทางตันที่ปัญหารถรางต้องการทางออกตั้งแต่ต้น

แต่รถรางก็คือรถราง

เมื่อทั้ง Foot และ Thompson ที่มาช่วยเสริมชักจูงหมู่เราไม่ได้ ปัญหารถรางก็เลยยังคงวิ่งต่อไป…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save