fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2561

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2561

เบื้องหลัง ‘พาราควอต’ ไม่โดนแบน

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ วิเคราะห์เบื้องหลังดราม่า ‘พาราควอต’ สารเคมีกำจัดวัชพืชที่หลายประเทศสั่งแบน แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย กลับมีมติ ‘ไม่ยกเลิก’ การใช้สารเคมีชนิดนี้ — เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สัญญาประชาคมใหม่ของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี

ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี ชวน “นิธิ เอียวศรีวงศ์” สนทนาว่าด้วยอนาคตการเมืองไทย ประชาธิปไตย และสัญญาประชาคมใหม่ของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

……….

บางถ้อยความจาก “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

“ผมไม่ได้เซอร์ไพรส์ที่ตัว คสช. แต่เซอร์ไพรส์ที่สังคมไทยมากกว่า ตอนแรกผมไร้เดียงสาถึงขนาดที่คิดว่า คสช. จะอยู่ได้ไม่ถึงหกเดือนด้วยซ้ำ ไม่นึกว่าสังคมจะยอมรับระบอบเผด็จการที่ล้าสมัยไปแล้วได้ถึงขนาดนี้ แต่หลังจากผ่านไปหนึ่งปี ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า สังคมไทยทุกวันนี้ไม่เหมือนสมัยปี 2535 ไม่เหมือนเมื่อครั้งผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แล้ว”

“กลุ่มทุนประชารัฐมองเห็นแล้วว่า ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ มันจะแทรกไม่ได้ มันแทรกยากขึ้น หรือแพงขึ้น

นี่จึงเป็นครั้งแรกที่กลุ่มทุน โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ สมัครใจอยู่กับฝ่ายอนุรักษนิยมเต็มตัว ไม่ใช่กลุ่มยังไงก็ได้ อย่างแต่ก่อน”

“สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างสังคมไทยเป็นสังคมที่หาฉันทมติได้ยาก ประชาธิปไตยดีตรงนี้ คุณอาจจะไม่ต้องมีฉันทมติขนาดนั้นก็ได้ สิ่งที่เสนอจะถูกตัดถูกทอนถูกลดจนกระทั่งฝ่ายต่างๆ พอจะยอมรับได้ ไม่มีทางที่จะใช้อำนาจแบบมาตรา 44 ตลอดไปได้ ถ้าสังคมซับซ้อนขนาดนี้ มันไม่มีทางอื่น นอกจากต้องเป็นประชาธิปไตย หลอกๆ ก็ยังดี”

“ผมก็อยากฟังเสียงประชาชน เสียงสวรรค์นี่แหละ แต่เสียงสวรรค์มักเปล่งเสียงไม่ค่อยเป็น เลยต้องมีกระบอกเสียงที่ช่วยเปล่งแทนให้ ซึ่งแน่นอน เสียงมันเพี้ยน เพราะเป็นมนุษย์ กระบอกเสียงที่ว่าคือ ‘พรรคการเมือง’ …

ผมหวังว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ จะรู้จักเป็นกระบอกเสียงที่ฉลาดขึ้น สำหรับพรรคเพื่อไทย ถ้ามีคนอื่นทำให้มันอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องหาวิธีอื่นในการเปล่งเสียง ไม่ใช่แต่เพียงชุมนุมมวลชนอย่างเดียว สำหรับพรรคอนาคตใหม่ คุณเข้าไปเป็นฝ่ายค้านสามคนก็ได้ ถ้าคุณทำเป็นก็สามารถทำให้เสียงดังกว่าปกติได้ เพราะความสามารถในการเปล่งเสียงไม่ได้ขึ้นกับปริมาณ ส.ส. เท่านั้น”

……….

 

อ่าน “เกมประมูลคลื่นความถี่” กับ พรเทพ เบญญาอภิกุล

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

แม้มองไม่เห็นด้วยตา แต่ ‘คลื่นความถี่’ นับเป็นทรัพยากรสำคัญของสังคมเศรษฐกิจไทยยุคดิจิทัล การจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละครั้งจึงมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งของเอกชนและของรัฐ มูลค่าหลายหมื่นล้านเป็นเดิมพัน

ที่ผ่านมา กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่มาแล้ว 2 รอบ เรียกง่ายๆ ว่าการประมูลคลื่น 3G (ในปี 2555) และ 4G (ในปี 2558) รอบแรกถูกวิจารณ์หนาหูว่าล้มเหลว กสทช. ออกแบบกฎกติกาการประมูลจนทำให้รัฐเสียผลประโยชน์มหาศาล รอบที่สอง หลายคนชูว่าคือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เพราะทำเงินให้รัฐได้มากมาย – แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?

101 ชวน ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและทฤษฎีเกม และหัวหน้าโครงการจับตานโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาย้อนมองบทเรียนของการจัดประมูลคลื่นความถี่โดย กสทช. ในอดีต และตั้งคำถามถึงการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ในปี 2561 ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน (15 มิถุนายน 2561) ไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลตามกำหนดเลย

ในแวดวงธุรกิจโทรคมนาคมไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น เราเข้าใจ “เกมการประมูลคลื่นความถี่” ในสังคมไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน และวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคต ได้อย่างไร และเราประเมินการทำหน้าที่ของ กสทช. ในการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไร – สำเร็จหรือล้มเหลว

มาทำความเข้าใจเรื่องซับซ้อนแต่สำคัญยิ่งไปด้วยกันในบทสัมภาษณ์ว่าด้วย “การจัดสรรคลื่นความถี่ 101” ชิ้นนี้ แล้วคุณจะสนุกกับการติดตามมหากาพย์เรื่องยาวนี้ต่อไปในอนาคตได้ด้วยตัวเอง

 

“วันทนีย์-กบ ไมโคร-Liberate P” เมื่อศิลปินไทยยืนตรงข้ามเผด็จการ

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ห้วงเวลา 4 ปี คสช. ดูเหมือนคำวิพากษ์วิจารณ์ต่ออำนาจรัฐประหารจะกว้างใหญ่ราวแผ่นฟ้า และไม่อาจใช้ฝ่ามือปิดได้ แมสเสจจากศิลปินไม่น้อยก็ปะปนอยู่ในแผ่นฟ้านี้

วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ศิลปินหญิงใช้งานศิลปะแนวสื่อผสมตั้งคำถามกับระบบเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำประเทศเข้าสู่รัฐประหารและวนลูปอยู่แบบนี้ไม่มีทางออก

กบ ไมโคร มือกีตาร์ร็อกรักปอนปอน พักการโซโล่กีตาร์ชั่วคราวมาบอกกล่าวถึงจุดยืนเสรีนิยมประชาธิปไตยในตัวเขา และเล่าถึงความคิดที่นับได้เมื่อก้าวเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง ซึ่งเขาชี้ว่านี่เป็นการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี

Liberate P แร็ปเปอร์หนุ่มเลือดใหม่ ที่เขียนเพลงบันทึกประวัติศาสตร์สังหารโหดไว้อย่างแหลมคม และแร็ปถึงผู้มีอำนาจไว้อย่างเดือดดาล ประกาศชวนใครก็ตามที่ยังรู้สึกรู้สาเข้าร่วมโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship

ว่ากันว่าศิลปินมักมีต่อมรับความรู้สึกไว เมื่อประเทศไทยยังไม่มีเลือกตั้งมา 4 ปี 101 Spotlight ชวนคุยกับศิลปินข้างต้นคั่นเวลาถึงที่อยู่ที่ยืนของแวดวงศิลปวัฒนธรรมไทย เมื่อเลือกยืนฝั่งตรงข้ามเผด็จการ ศิลปินคิดอ่านและมองเห็นความท้าทายอะไรในการยืนยันสิทธิเสรีภาพ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“โลกมันเคลื่อนไปตลอดเวลา ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นงานศิลปะประเภทอื่นๆ ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจการเมือง มันมีอยู่ทั่วไป อาจจะยกเว้นประเทศไทยซึ่งต้องการงานศิลปะเพื่อ Propaganda ความเป็นไทย มากกว่าต้องการให้มาวิพากษ์ตัวเอง” วันทนีย์

“ทุกวันนี้เราปฏิเสธองค์ความรู้ที่ระบาดไปทั่วโลกในแบบ 4G ไม่ได้ คุณไม่สามารถเอาบรรทัดฐานแบบไทยๆ ไปวางเทียบกับสากลได้ มันเชื่อมยังไงก็ไม่ติด เด็กรุ่นใหม่จะบอกว่า น้าๆ เล่นอะไรกันอยู่เหรอครับ ประเทศไทยไปไหนไม่ได้เพราะคนรุ่นน้านี่แหละ” กบ ไมโคร

“ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ ประเทศที่ศิลปินวางท่าเป็นขบถ ประเทศที่ขบถเจออำนาจรัฐแล้วหัวหด ประเทศที่ขบถเดินตามรัฐเป็นฝูงมด ประเทศกูมี ประเทศกูมี” Liberate P

 

ทำไมไม่แบนพาราควอต ตีแผ่ทุกเบื้องหลัง กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

 

โดย 101-one-on-one

‘พาราควอต’ หรือที่เกษตรกรรู้จักกันในชื่อ ‘ยาฆ่าหญ้า’ เป็นสารเคมีมีพิษเฉียบพลันสูง ผลร้ายของพาราควอตต่อร่างกายมนุษย์ทำให้กว่า 53 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศต้นทางผู้คิดค้นอย่างอังกฤษ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสวิตเซอร์แลนด์และจีน ผู้ใช้รายใหญ่อย่างบราซิลและอเมริกา ฯลฯ ประกาศแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้

แต่ประเทศไทยกลับตัดสินใจ ‘ไม่แบน’ พาราควอต เมื่อกรมวิชาการเกษตรกลับอนุญาตให้มีการต่อทะเบียนพาราควอตเมื่อเดือนตุลาคม 2560 แม้ว่าคณะทำงานหลักจะเห็นตรงกันให้แบนไปแล้วก่อนหน้านี้ กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ‘ประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลก’

พาราควอต จึงไม่ใช่เพียงแค่สารเคมีที่เป็นอันตรายกับผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่หากยังรวมถึงรัฐและสังคมในภาพรวม

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ชวน “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ตอบทุกคำถาม และบอกเล่าทุกประสบการณ์ที่เขาเคยเป็นประจักษ์พยานบนโต๊ะถกเถียงนโยบาย

ตีแผ่โครงข่ายอำนาจอันซับซ้อน จากคนของรัฐ สู่คนของบรรษัทสารเคมี แล้วย้อนกลับมามีอำนาจกำกับรัฐ

เปิดเอกสารประกอบการตัดสินใจ ‘ไม่แบน’ ที่คุณไม่เคยเห็น

และสำรวจทางเลือกว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีจะมีทางออกอื่นใดแทน

 

เบื้องหลังบทกวีของ เกษียร เตชะพีระ

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

‘เกษียร เตชะพีระ’ คือนักวิชาการผู้ได้ชื่อว่าแต่งบทกวีได้งดงาม คมคาย และทันสถานการณ์ที่สุดในเวลานี้

คอลัมน์ Poetic โดย ชลธร วงศ์รัศมี จึงชวนเกษียรมาร่วมสนทนา ถึงเหตุผลการหลั่งไหลบทกวีของเขา

และชวนพินิจความงามของ ‘บทกวีฝ่ายซ้าย’ ที่ไม่อาจเรียกว่า ‘งาม’ เพียงเพราะสรรถ้อยคำได้เป็นเลิศ หรือส่งสัมผัสได้แพรวพราว

แต่เป็นความงามอีกท่วงทำนองหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ชวนค้นหาเข้าใจ และชวนตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่บทกวีฝ่ายซ้ายยุครุ่งเรืองอย่าง จิตร หรือ นายผี อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ และไม่เหมาะที่จะเดินย่ำซ้ำรอยเดิมเสมอไป ?

 

รัสเซีย : มหาอำนาจเอเชียแปซิฟิก?

 

โดย จิตติภัทร พูนขำ

อัตลักษณ์แห่งชาติ ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ผลประโยชน์แห่งชาติ จิตติภัทร พูนขำ วิเคราะห์ ทำไมรัสเซียไม่สามารถปักหมุดในเอเชียได้

 

เมื่อ A.I. ทายผลบอลโลก

 

โดย สมคิด พุทธศรี

จากหมึกพอลสู่ A.I. โลกแห่งการทำนายผลฟุตบอลเปลี่ยนไปแค่ไหน และทีมใดจะเป็นแชมป์ฟุตโลก 2018 จากความเป็นไปได้ล้านแบบ สมคิด พุทธศรี ชวนหาคำตอบ

 

15 ปี ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ : เปลี่ยน ‘ประกันสุขภาพ’ ให้เป็น ‘หลักประกันสุขภาพ’

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

101 สนทนาประสา ‘คนรักระบบหลักประกันสุขภาพ’ กับ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันและร่วมคิดร่วมออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ต้น

เมื่อ ‘คนรักระบบหลักประกันสุขภาพ’ ออกมาวิพากษ์ความสำเร็จและความล้มเหลวของ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ อย่างตรงไปตรงมา และชวนเรามองไปให้ไกลกว่า ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ย่อมเป็นเสียงที่น่าสนใจชวนรับฟัง

ทำไมหมอสมศักดิ์ถึงสรุปว่า 15 ปีผ่านไป ‘ระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี’ ยังไม่ลงหลักปักฐานในสังคมไทยเสียที นั่นเพราะเรามัวแต่ถกเถียงกันแต่โจทย์แคบๆ ของ ‘ระบบประกันสุขภาพ’ อย่างเรื่องเงินและเรื่องสิทธิ มากกว่าโจทย์สำคัญที่ต้องใช้จินตนาการสูงอย่างการสร้าง ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ’ ให้เกิดเป็นจริงในสังคม

ทำอย่างไรให้ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ เปลี่ยนจาก ‘ระบบประกันสุขภาพ’ เป็น ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ’ ที่แท้จริงให้ได้

 

อ่านเกาหลีผ่านวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย กับ จักรกริช สังขมณี

 

โดย 101-one-on-one

ในยุคอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลียังไม่เฟื่องฟู รัฐบาลเกาหลีสะดุดใจว่า คนเกาหลีต้องผลิตรถยนต์ฮุนไดถึง 1,500,000 คัน

เพื่อจะทำรายได้ให้เท่ากับภาพยนตร์จูราสสิคพาร์คเพียง 1 เรื่อง จากนั้นยุคอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีจึงได้เริ่มต้นขึ้น

ในเกาหลี สื่อบันเทิงแหลมคมและมีบทบาทสำคัญ เช่น ช่วย ‘บันทึกประวัติศาสตร์’ ถ่ายทอดความเลวร้ายของระบอบเผด็จการทหาร เพื่อให้ผู้คนในยุคประชาธิปไตย ‘จดจำ’ บทเรียนที่เกิดขึ้นจนไม่ก้าวย่ำซ้ำรอยเดิม

สื่อบันเทิงยังทำหน้าที่สนทนาถึงปัญหาการคอร์รัปชัน ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ สะท้อนปัญหาการแข่งขันในวงการการศึกษา ตีแผ่การไม่ทำหน้าที่ของข้าราชการ คัดง้างการเจรจาในเวทีโลก ฯลฯ

จนว่ากันว่า สำหรับเกาหลี สื่อบันเทิงที่ใครเรียกขานว่าเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ นั้นชักจะไม่ซอฟต์อีกต่อไป

รายการ 101 One-on-One ดำเนินรายการโดย ธร ปีติดล จึงชวน ผศ.ดร.จักรกริช สังขมณี จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเจาะลึกถึงการเลือกจำและเลือกลืมในสื่อบันเทิงเกาหลี ต้นกำเนิดความป๊อบ เบื้องหลังความสำเร็จ ประเด็นที่ซ่อนเร้น และการมาไกลจนเกินคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ ฯลฯ

 

สำนักตั๊กม้อของแจ็คหม่า

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

แจ็คหม่าประกาศทุ่มทุน 15,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงต่อจากนี้ 3 ปี ให้กับสถาบันตั๊กม้อ (DAMO Academy) โดยสถาบันตั๊กม้อถือเป็นหน่วย R&D หน่วยหนึ่งของอาลีบาบา

หน่วย R&D หน่วยนี้ของอาลีบาบาจะเป็นแหล่งต้นธารการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในจีน รวมทั้งเป็นต้นธารแห่งพลังขับเคลื่อนทางธุรกิจรอบใหม่ของอาลีบาบาเองด้วย

สถาบันตั๊กม้อเน้นวิจัยเรื่องใหญ่เรื่องเดียว คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: A.I.) ซึ่งหมายถึงการที่คอมพิวเตอร์ ‘คิด’ ได้เหมือนมนุษย์ (หรือฉลาดกว่ามนุษย์อีก) ซึ่งเป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน เพราะการสอดประสานระหว่าง ‘สามพลัง’ คือ พลังของข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big Data) พลังของขั้นตอนวิเคราะห์คำนวณ (Algorithm) และพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (Computational Power)

A.I. เป็นเรื่องใหญ่ที่จะชี้เป็นชี้ตายสำหรับอาลีบาบา อนาคตของอาลีบาบาอยู่ที่จะสามารถใช้ A.I. ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคหลายร้อยล้านคนได้อย่างไร เพราะขุมสมบัติสำคัญของอาลีบาบาก็คือ ข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมหาศาลทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์นั่นเอง

 

หลักประกันสุขภาพที่รัก (11) : การร่วมจ่าย

 

โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“หลักประกันสุขภาพที่รัก” ตอนใหม่ เมื่อ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ถูกอาจารย์หมอผู้ใหญ่คนหนึ่งหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หลังจากแสดงจุดยืนคัดค้านการให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย ณ จุดบริการ – พื้นที่ซึ่งผู้ป่วยไร้อำนาจต่อรองเบื้องหน้าความตาย ความเจ็บป่วย … และความกตัญญู

……….

“ที่ประชุมบ่ายวันนั้น เราคุยกันเรื่องการร่วมจ่าย หรือที่เรียกว่า copayment ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการร่วมจ่ายมาตั้งแต่แรก ด้วยเห็นว่าการร่วมจ่าย เฉพาะการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง สามารถถูกโน้มน้าวด้วยความกลัวของตัวเองที่จะจ่ายเพื่อให้ได้บริการที่ดีที่สุด หรือเพื่อให้บุคคลอันเป็นที่รัก คือสามี ภรรยา ลูก หรือพ่อแม่บุพการี ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

อันนี้พูดแค่เรื่องจิตวิทยาของผู้ป่วยอย่างเดียว ยังมิพักต้องพูดถึงความฉ้อฉลของระบบ

ลำพังความกลัวเจ็บ กลัวพิการ กลัวตาย กลัวยากลำบาก ผู้ป่วยก็ยินดีจ่ายโดยไม่ต้องมีใครร้องขออยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงคือไม่มีใครรู้จริงว่าอะไรที่เรียกว่า “บริการที่ดีที่สุด” ความจริงข้อนี้นายแพทย์รู้อยู่แก่ใจ การจัดบริการที่มากที่สุดให้แก่ผู้ป่วยนั้นทำได้ ให้ไปเรื่อยๆ ให้ทุกอย่าง แต่มิใช่ดีที่สุดแน่นอน ความอยากได้บริการไม่รู้จบของผู้ป่วยเองนั่นแหละคือตัวปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีกำลังจ่าย แต่ความอยากลักษณะนี้ไม่เข้าใครออกใคร สามารถลามไปสู่ชนชั้นกลางที่มีเงินออมพอจ่ายและยินดีทุ่มหมดตัว รวมทั้งลามไปสู่คนยากจนที่พร้อมจะขายที่นาสักผืนเพื่อแลกกับการฟอกไต”

……….

 

ขำ พงศ์หิรัญ : ‘ราษฎรสามัญผู้ที่ควรแก่การยกย่องนับถือ’

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

รู้จัก ‘ขำ พงศ์หิรัญ’ บุคคลที่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนถึงใน ‘คนที่ผมรู้จัก’ หนังสือรวมคำไว้อาลัยที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนถึงบุคคลต่างๆ ที่เขารู้จักในชีวิต ป๋วยเกริ่นในย่อหน้าแรกของคำไว้อาลัยถึงเพื่อนผู้นี้ว่า “อย่างน้อยจดหมายฉบับนี้ ก็คงจะมีประโยชน์อยู่บ้างที่จะให้คนรุ่นหลังได้ทราบว่า คนดีๆ อย่างขำก็มีอยู่ในสมัยนี้”

ขำถูกยกย่องว่า “จะหาคนไทยที่มีความซื่อสัตย์สุจริต รักชาติ รักสังคมไทยเกินไปกว่าขำในสมัยนี้หายากนัก”

ป๋วยเล่าว่า ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่น ‘มกราคม 2479’ ได้กลับมาพบกัน สังสรรค์กัน ไต่ถามทุกข์สุขกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เตือนสติซึ่งกันและกัน และมีความรักใคร่สามัคคีกันกระชับยิ่งขึ้น ก็เพราะขำ (ร่วมกับ เพี้ยณ มณีรัตน์ แห่งสำนักงานมณีรัตน์ทนายความ) เป็น ‘เจ้ากี้เจ้าการ’ จัดให้เพื่อนฝูงได้พบปะกันอย่างน้อยปีละครั้ง

“พวกเรา ธ.บ. รุ่นนี้ทุกคนเป็นหนี้บุญคุณขำอย่างเหลือหลาย” คือคำรำลึกที่ป๋วยมีต่อเพื่อน ก่อนจะวางหลักไว้ว่า “ใครก็ตามทำให้เพื่อนรักใคร่สนิทกันยิ่งขึ้น ใครก็ตามทำความรักความสามัคคีให้มีมากขึ้นในหมู่ชน ผู้นั้นย่อมสมควรแก่ความรัก ความนิยมจากหมู่ชนนั้น” เพื่อสดุดีขำ

นอกจากการเป็นเพื่อนที่ดี เป็นทนายความที่ซื่อสัตย์สุจริตอย่างสามารถ ขำยังเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ที่ใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน

หลักในการทำงานของขำคือ “ถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด มิฉะนั้นก็อย่าทำเลย” งานของเขาจึงออกมาประณีตเรียบร้อยเป็นไปตามแผนเสมอ เพราะงานใดที่เขารับทำแล้ว เขาจะตั้งใจทำอย่างดีที่สุด

 

ค้นหาทองหล่อ-เอกมัยฉบับคนเดินเท้า (1)

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

101 ชวนเดิน ตั้งแต่ 6 โมงเช้า-6 โมงเย็น ไปในย่านทองหล่อ-เอกมัย

ย่านที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งรวมที่อยู่อาศัยสมบูรณ์แบบและชุมชนคนทำงานรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

ชวนชิมอาหารราคาถูกแต่อร่อย ค้นพบชุมชนคนเกาหลี-ไทย แวะร้านบรันช์เก๋ๆ คว้าโอเด้งร้อนๆ แล้วเดินต่อ

ไปพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดอย่างแท้จริง คุยกับชาวญี่ปุ่นที่มาเปิดกิจการร้านอาหารในไทย ฯลฯ

เพื่อดูว่า ทองหล่อ-เอกมัยในชีวิตคนอยู่จริง และในสายตาคนผ่านมาเที่ยวโดยใช้แค่การเดินเท้าชิลชิล จะมีมุมใดไม่เหมือนคำเล่าลือ

 

อ่านแนวทางการศึกษา IR จากความทรงจำ

 

โดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ชวนท่องไปในอดีตแห่งการเรียนการสอนวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือ IR ในวาระครบรอบ 70 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิดบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับอาจารย์กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และอาจารย์อภิญญา รัตนมงคลมาศ มองความแตกต่างในแนวทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งคู่ สู่ตำรา “ทฤษฎีการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ของอาจารย์วีระ สมบูรณ์ และตำรา “วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ” ของอาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

อะไรคือหัวใจของการศึกษา IR ตามแนวทางประเพณีที่หยั่งรากลึกในเมืองไทยมากว่า 70 ปี

 

1968 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโลกของคนหนุ่มสาว

 

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

American Dream เกี่ยวอะไรกับสงครามเวียดนาม และมีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวอเมริกันยุคหกสิบอย่างไร

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนถึงวาระครบรอบกึ่งศตวรรษปี 1968 ที่ประวัติศาสตร์จารึกถึงการเคลื่อนไหวใหญ่ของขบวนการคนหนุ่มสาว ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในการต่อต้านสงครามเวียดนามและเรียกร้องสิทธิพลเมือง

“แม้ยุคนั้นอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจของโลก คนอเมริกันตามสถิติมีระดับชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายและมั่นคงกว่าคนในประเทศอื่นๆ ทำไมคนหนุ่มสาวอเมริกันถึงมีปัญหากับระเบียบสังคมและระบบการเมืองเศรษฐกิจของพวกเขา”

“นักศึกษามหาวิทยาลัยมิชิแกนคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากความคิดนี้คือ ทอม เฮย์เดน ต่อมาเป็นแกนนำของกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย (Students for a Democratic Society – SDS) ผู้ร่างคำประกาศที่พอร์ต ฮูรอน ด้วยการเริ่มต้นว่า “พวกเราเป็นคนของยุคนี้ ฟูมฟักมาอย่างน้อยด้วยความสะดวกสบายพอประมาณ ขณะนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย มองออกไปยังโลกที่เรารับมอบมาด้วยความไม่สบายใจ…”

“คำแถลงที่ประกาศอย่างชัดเจนถึงจุดยืนและอุดมการณ์ ไปถึงจุดหมายของสังคมที่พวกเขาปรารถนาจะเห็นในทางปฏิบัติ แนวคิดหนึ่งที่ออกมาจากคำประกาศนี้และยังมีการนำไปใช้และแพร่หลายไปทั่วโลกคือคำขวัญ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” (participatory democracy) ว่าเป็นทั้งจุดหมายและวิธีการในการสร้างสังคมประชาธิปไตยโดยสันติวิธี “คำประกาศจากพอร์ต ฮูรอน” เดินทางมาถึงสยามในทศวรรษ 1970 โดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในขณะนั้น”

 

2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต

 

โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ชวนอ่านบทปาฐกถา “2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ในวาระครบรอบ 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2561 ณ สวนองุ่น จัดโดย มูลนิธิไชยวนา ร่วมกับกลุ่มโดมรวมใจและเพื่อน

……….

“ห้าปีกว่าของการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ (คณะราษฎร)ขยายสมาชิกอย่างคัดสรรออกไปในหมู่ทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการพลเรือน ได้สมาชิก 102 คน ครึ่งหนึ่งเป็นทหาร ครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือน เกือบทั้งหมดคือข้าราชการ มีหัวหน้าผู้อาวุโสที่สุด คือ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อายุ 45 ปี

ในวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 สมาชิกคณะราษฎร มีเพียง 4 ท่านที่ถือว่าอาวุโส มีอายุระหว่าง 38-45 ปี สมาชิกส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 20 ปี จนถึง 35 ปีเพียงเท่านั้น

คณะราษฎรคือกลุ่มไทยใหม่ เป็น The Young Thai ที่มุ่งสร้างชาติไทยขึ้นมาใหม่ เข้าแทนที่กลุ่มสยามเก่า The Old Siam ที่ไม่สอดรับกับกระแสโลกสมัยใหม่อีกต่อไป

ห้าปีกว่าของความตั้งใจและความมุ่งมั่น ย่อมแสดงให้เราเห็นถึงอุดมการณ์อันแกร่งกล้า ไม่หวั่นไหวต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคและความยากลำบาก ยอมเสียสละชีพเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่ง

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มคนอายุน้อยและกลุ่มไทยใหม่ ได้ร่วมกันพลิกแผ่นดินเพื่อปลูกความเจริญมั่งคั่งศิวิไลซ์ครั้งสำคัญ เหมือนยุคสิ้นระบอบเก่าราชอาณาจักรอยุธยา ที่กลุ่มคนอายุน้อยรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ยุคสมัยกรุงธนบุรี ภายใต้การนำของพระเจ้าตากสินมหาราช หรือในการปฏิวัติตุลาคม 2516

ในแต่ละช่วงเวลา The Young Thai คือผู้ที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญมั่งคั่งศิวิไลซ์ขึ้นไป หาใช่ The Old Siam หรือ The Old Thai แต่อย่างใดไม่

ชื่อ คณะราษฎร หรือ The People’s Party คือชื่อของพรรคการเมืองหนึ่งที่อุทิศตนให้เป็นผู้แทนประชาราษฎรในขณะนั้น ต่อสู้เพื่อล้มระบอบการปกครองของคณะเจ้านาย

ข้อพึงสังเกตคือ การใช้คำแปลว่า ‘คณะ’ จากคำว่า Party หรือที่เราแปลกันว่า ‘พรรคการเมือง’ ในปัจจุบันนั้น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ภายใต้ระบอบการปกครองเก่านั้น คำทางการเมืองถูกห้ามสร้างห้ามคิดในพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผยเลย เพราะไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เหมือนเช่นในสภาวะหลายปีมานี้ของยุคเรา

แต่กระนั้น ในที่สุด การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ชนชั้นปกครองเก่า The Old Thai ไม่มีวันตระหนักรู้และเข้าใจ หากแต่หลงอยู่ในวังวนความเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ ว่าทุกอย่างควบคุมได้และทุกอย่างดูสงบเรียบร้อย”

 

ล่องไหล ลัดเลาะ ลึกลับ คลองสาน-กะดีจีน

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

เมื่อพายุฝนเริ่มสร่างซา ในวันที่แดดสวย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เก็บร่มไว้ที่บ้าน ใส่รองเท้าคู่ใจ แล้วเดินเข้าไปในจักรวาลริมน้ำฝั่งธนบุรี เลาะคลองสาน-กะดีจีน

พบสถานที่ลึกลับ ถ้าไม่เดินไปหาอาจไม่เห็น ซึมซับวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ล่องไหลไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา เสาะหาพหุวัฒนธรรม

ลอดประตูไปดูวังค้างคาว เดินเข้าตรอกแคบไปเห็นมัสยิดเซฟีริมน้ำ ขึ้นไปดูเจดีย์ยูเนสโก และอื่นๆ อีกมากมาย

ผู้คนริมน้ำอยู่อย่างไร เมืองที่รถยนต์เข้าไม่ถึงเงียบสงบแค่ไหน และมีอะไรซ่อนอยู่ในตรอกซอกซอยของกรุงเทพมหานคร

 

เกียรติยศของคนดื้อ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

 

โดย ธิติ มีแต้ม

ถ้าจำลองสังคมเป็นห้องเรียนขนาดเล็กลงมา และมีเด็กอยู่สองประเภท คือประเภทเด็กดีเรียบร้อยเชื่อฟังคำสั่ง กับประเภทเด็กดื้อขัดขืนคำสั่ง เขาย่อมเป็นเด็กประเภทหลังโดยไม่ลังเล แม้บนถนนแห่งวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมาจะพัดพาให้เด็กดื้อหลายคนหลุดออกจากถนนลูกรังไปสู่ทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบก็ตาม

เขาดื้อต่อครอบครัว แต่เป็นเพื่อนรักของผู้ใช้แรงงาน เขาดื้อต่อข้อกล่าวหาที่เขาเชื่อว่าไม่ผิดจนต้องจำคุกไป 7 ปี เขาดื้อต่อความตายและลุกขึ้นมาจุดประกายความหวังให้นักโทษคนอื่นๆ เขาดื้อต่อความหวังดีที่ต้องการให้เงียบเพื่อยืนยันเสรีภาพในการคิด เขียน พูด

“สมยศ พฤกษาเกษมสุข” สื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ด้วยข้อหามาตรา 112 หลังจากนั้นอีก 7 ปี โลกของเขาก็อยู่หลังกำแพงสูงตลอดมา

อะไรคือรสชาติที่เขาได้รับหลังกำแพงสูงนั้น ความหวานหอมและความขมขื่นของคนในจะเหมือนหรือต่างอย่างไรกับที่คนนอกได้รับรู้ และบ้านเมืองที่เขาเห็นก่อนเข้าไปและหลังออกมาเป็นอย่างไร

นี่เป็นทัศนะล่าสุดของเขาต่อบ้านเมือง นักโทษ ความตาย และอนาคตที่เล่าให้ “ธิติ มีแต้ม” ฟังแกล้มน้ำแอปเปิ้ลแก้กระหายจากไอร้อนในเดือนมิถุนายน

“เสรีภาพเหมือนลมหายใจ พอถูกจับไปอยู่ในกรงขังแล้วมันเปลี่ยนคนให้เหมือนสัตว์ป่า แล้วนักโทษส่วนใหญ่พอรู้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิก็จะไม่มีใครคิดว่าตัวเองเป็นคนด้วย เวลาเรียกกันก็เรียกไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ เป็นบุรุษที่ 1 กับบุรุษที่ 2 ไม่มีใครเป็นมนุษย์”

“เวลาใครสิ้นชีวิตในคุก เขาจะประกาศปล่อยตัว ผมคิดว่าถ้าเขาประกาศปล่อยตัว นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข ป่อเต็กตึ๊งก็จะเข้าไปรับศพออกมา ผมก็จะมีอิสรภาพ”

“แม้แต่ทางบ้านผมเขาก็เปลี่ยนนามสกุลไปเลย เขาคงรู้สึกว่าถ้าใช้นามสกุลนี้แล้ว คงได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจ เขาจะได้ไม่ต้องไปตอบคำถาม เฮ้ย เป็นพี่น้องกับผู้ต้องขังคดี112 หรือเปล่า”

“ที่เราเห็นกันอยู่นี้มันแค่ลำต้น แต่โคนและรากมันยังอยู่ เนื้อดินก็ยังอยู่ ต้นไม้เผด็จการจึงเติบใหญ่มาจนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าเราไม่สามารถนำเสนอภาพสังคมที่ดีกว่า มีอุดมการณ์ดีกว่าของเก่า เราจะไม่มีพลังไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และเราจะอยู่ในวังวนนี้ไปอีกนาน”

 

 

โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

“ตอนทำงานโฆษณา กูเป็นหนึ่งเดียวกับลูกค้า ตอนนี้กูเป็นหนึ่งเดียวกับผัก”

“หากมึงจะปลูกผัก จงเริ่มจากปลูกผักที่ตัวเองชอบกินก่อน”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เดินทางไปปากช่อง เยี่ยมเยียนเพื่อนเก่าอัสสัมชัญ อดีตเอ็มดีบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ ผู้เปลี่ยนชีวิตมาทำสวนผักปลอดสารพิษ และสร้างแบรนด์ “จอนนอนไร่”

“ตุ้ยเป็นแฟนเพลงจอห์น เลนนอน อย่างเหนียวแน่น นึกเล่นๆ หากจะสร้างแบรนด์ตัวเอง จะผวนชื่อเป็น จอนนอนเล่น และสุดท้ายมาลงตัวที่ จอนนอนไร่” วันชัย เล่า

ติดตามอ่าน ‘เหตุผลของการมีชีวิตอยู่’ ของ ‘ตุ้ย’ – เสกสรรค์ อุ่นจิตติ เจ้าของหลักการ ‘ไม่แปลก ไม่ปลูก’ ได้ที่นี่

101 Spotlights

ม้า มวย หวย หม้อ

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ใครใคร่ค้าม้า ค้า – ใครใคร่เล่นม้า เล่น

 

“ฉันไม่เคยดูม้า แต่เคยได้ยินสำนวนที่เกี่ยวกับม้าจนชินหู ‘ม้ามืด’ ‘แซงทางโค้ง’ ‘เข้าวิน’ ฯลฯ พอได้เห็นกับตา ม้าก็ไม่ได้มืดขนาดนั้น… เอาจริงๆ การเล่นม้า หรือบรรยากาศในสนามม้า เป็นเรื่องไกลตัวของคนรุ่นใหม่แบบคนละโยชน์ ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว ยิ่งคิดไม่ออกว่าจะเข้าไปรวมกลุ่มกับเหล่าคุณลุงได้อย่างไร…”

ในวาระที่สนามม้านางเลิ้งกำลังจะปิด ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ถือโอกาสเดินดุ่มเข้าไป ‘เล่นม้า’ สำรวจชีวิตและบรรยากาศภายในด้วยสายตาคนรุ่นใหม่ ก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นสารคดีอ่านสนุก

ว่ากันว่า นี่คือสถานที่ที่อยู่เหนือกาลเวลา ภายใต้บรรยากาศที่จะทำให้หัวใจคุณเต้นระรัว…

 

รายการ 101 One-on-One

101 One-On-One Ep34 “อ่านฟุตบอลโลก ถึงฟุตบอลไทย” กับ อาจินต์ ทองอยู่คง

 

โดย 101-one-on-one

ติดตาม :: LIVE :: “อ่านฟุตบอลโลก ถึงฟุตบอลไทย” กับ อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเรื่อง “ฟุตบอล” ในมิติสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการเมือง

ดูชีวิตและการแข่งขันนอกและในสนามฟุตบอลกับเรา

ใน 101 One-on-One EP 34

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ธร ปีติดล ดำเนินรายการ

 

101 One-On-One Ep33 “หยุดเชื่อ เริ่มถาม เรื่องสุขภาพและการรักษา” กับ  ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์

 

โดย 101-one-on-one

ติดตาม :: LIVE :: 101 One-on-One EP 33

“หยุดเชื่อ เริ่มถาม เรื่องสุขภาพและการรักษา” กับ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และผู้ก่อตั้ง HITAP

ตอบทุกคำถามเพื่อรู้ทันความเข้าใจผิดเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาล ตรวจสอบและทดสอบ “การรักษาต้องสงสัย” (testing treatments) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือกรับการศึกษา และลดการสูญเสียต่อสุขภาพและทรัพยากรโดยไม่จำเป็น

ทำไมการตรวจร่างกายถึงเข้าข่าย “ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” / ยาใหม่ดีกว่ายาเก่าจริงหรือ / การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากอาจให้โทษมากกว่า / เทคโนโลยีสแกนหาโรคอย่างซีทีสแกนอาจทำให้ยิ่งเสี่ยงเป็นโรคมากขึ้น / อาหารเสริมมีประโยชน์จริงหรือ / ฯลฯ

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

โตมร ศุขปรีชา ดำเนินรายการ

……….

อ่านบทสัมภาษณ์ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ บทสัมภาษณ์ top 5 ที่มีผู้อ่านสูงสุดตลอดกาลของ The101.world

 

101 One-On-One Ep32 “พาราควอตกับชะตากรรมผู้บริโภคไทย” กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

 

โดย 101-one-on-one

ติดตาม :: LIVE :: “พาราควอตกับชะตากรรมผู้บริโภคไทย” กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับชีวิตผู้บริโภคไทยในยุคอาหารอาบสารพิษ และธุรกิจเกษตรผูกขาด

ใน 101 One-on-One EP32

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ดำเนินรายการ

 

101 One-On-One Ep31 “จากเสือดำ นาฬิกา ถึงป่าแหว่ง : อ่านปรากฏการณ์สังคมไทย” กับ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

 

โดย 101-one-on-one

:: LIVE :: “จากเสือดำ นาฬิกา ถึงป่าแหว่ง : อ่านปรากฏการณ์สังคมไทย” กับ “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส อดีตประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และล่าสุด อดีตผู้บริหารสื่อที่เพิ่งถูกอำนาจลึกลับสั่งปลด

ชวนสำรวจสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเมืองภาคประชาชน และสื่อไทย

ใน 101 One-on-One EP31

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2561 เวลาสองทุ่มตรง ทาง The101.world

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ดำเนินรายการ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save