fbpx
สำนักตั๊กม้อของแจ็คหม่า

สำนักตั๊กม้อของแจ็คหม่า

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แจ็คหม่าประกาศทุ่มทุน 15,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงต่อจากนี้ 3 ปี ให้กับสถาบันตั๊กม้อ (DAMO Academy) โดยสถาบันตั๊กม้อถือเป็นหน่วย R&D หน่วยหนึ่งของอาลีบาบา

 

ชื่อภาษาอังกฤษของสถาบัน ‘DAMO’ มาจากคำภาษาอังกฤษ 4 คำ ซึ่งแจ็คหม่าบอกว่าเป็นเข็มทิศในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ของอาลีบาบา ได้แก่ การค้นพบสิ่งใหม่ (Discovery) การผจญภัย (Adventure) พลังขับเคลื่อน (Momentum) และการมีมุมมอง (Outlook)

ชื่อ ‘DAMO’ ใกล้เคียงกับเสียงภาษาจีนคือ ‘ตั๊กม้อ’ ปรมาจารย์องค์แรกแห่งนิกายเซ็นของจีน พระอาจารย์ตั๊กม้อเป็นภิกษุอินเดียที่นำพุทธธรรมมาเผยแพร่ในจีนสมัยโบราณ เรียกได้ว่าเป็นต้นธารธรรมของจีน ตามตำนานแล้ว ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มถ่ายทอดวิชากำลังภายในที่สำนักวัดเส้าหลินอีกด้วย

แจ็คหม่าเลือกชื่อ ‘ตั๊กม้อ’ คงต้องการสะท้อนว่า หน่วย R&D หน่วยนี้ของอาลีบาบาจะเป็นแหล่งต้นธารการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในจีน รวมทั้งเป็นต้นธารแห่งพลังขับเคลื่อนทางธุรกิจรอบใหม่ของอาลีบาบาเองด้วย

สถาบันตั๊กม้อเน้นวิจัยเรื่องใหญ่เรื่องเดียว คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: A.I.) ซึ่งหมายถึงการที่คอมพิวเตอร์ ‘คิด’ ได้เหมือนมนุษย์ (หรือฉลาดกว่ามนุษย์อีก) ซึ่งเป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน เพราะการสอดประสานระหว่าง ‘สามพลัง’ คือ พลังของข้อมูลปริมาณมหาศาล (Big Data) พลังของขั้นตอนวิเคราะห์คำนวณ (Algorithm) และพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ (Computational Power)

อาลีบาบาใช้ ‘กลยุทธ์ดึงพลังจากทั้งในและนอก’ เช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่แห่งอื่นของจีน โดยอาลีบาบาเปิดสถาบันตั๊กม้อทั้งในจีนและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นนำทั่วโลก ปัจจุบัน สถาบันตั๊กม้อเปิดศูนย์วิจัยรวม 7 แห่ง ได้แก่ ประเทศจีน (กรุงปักกิ่งและเมืองหางโจว ปักกิ่งเป็นเมืองสถาบันการศึกษาและสตาร์ทอัพ ส่วนหางโจวเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเครืออาลีบาบา) สหรัฐฯ (เมืองซานมาเทโอ ซึ่งใกล้ ม.สแตนฟอร์ด และ เมืองเบลวิว ซึ่งใกล้ MIT) รัสเซีย (กรุงมอสโก) และอิสราเอล (เมืองเทลอาวิฟ ซึ่งเป็นแหล่งรวมสตาร์ทอัพของอิสราเอล)

A.I. เป็นเรื่องใหญ่ที่จะชี้เป็นชี้ตายสำหรับอาลีบาบา อนาคตของอาลีบาบาอยู่ที่จะสามารถใช้ A.I. ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคหลายร้อยล้านคนได้อย่างไร เพราะขุมสมบัติสำคัญของอาลีบาบาก็คือ ข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมหาศาลทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์นั่นเอง

อาลีบาบามีข้อมูลของผู้บริโภคในโลกออฟไลน์ เพราะคนจีนในปัจจุบันล้วนใช้จ่ายเงินผ่าน App Alipay ของอาลีบาบา โดยผูกบัญชีธนาคารไว้กับ Alipay เวลาซื้อของตามร้านค้าก็สแกน QR Code ในมือถือเพื่อจ่ายเงินได้เลย ไม่ต้องพกเงินสด เวลาจะเรียกรถแท็กซี่หรือสั่งอาหารมาทานที่บ้าน ก็เรียกและสั่งจาก App ของ Alipay และชำระเงินได้ทันทีเลยเช่นกัน

จุดนี้คือสิ่งที่อาลีบาบาแตกต่างจากยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอนในสหรัฐฯ เพราะถึงแม้ว่าอเมซอนจะมีข้อมูลผู้บริโภคที่ช็อปปิ้งออนไลน์ผ่านเว็บอเมซอน แต่ไม่มีข้อมูลการจับจ่ายของผู้บริโภคในโลกออฟไลน์ แตกต่างจากอาลีบาบา ซึ่งคนจีนหลายร้อยล้านคนใช้ Alipay ในการจ่ายเงินทุกหนทุกแห่ง

อาลีบาบาจึงมีข้อมูลรู้หมดว่าวันนี้เราทานอะไรที่ไหน เรียกแท็กซี่ไปไหน เที่ยวเล่นกับเพื่อนคนใด (เพราะเราจะส่งเงินให้กับเพื่อนแชร์ค่าอาหารหรือค่ารถ) ปีหนึ่งเข้าร้านตัดผมบ่อยแค่ไหน เวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตมักซื้อผักผลไม้ชนิดใดบ้าง ฯลฯ

ส่วนในโลกออนไลน์นั้น อาลีบาบาเองก็เป็นเจ้าของกิจการครบวงจร ถ้าเราช็อปปิ้งร้านเล็กๆ ก็ใช้ App Taobao, ช็อปของแบรนด์เนมใช้ App Tmall, สั่งของจาก App ซูเปอร์มาร์เก็ต Hema ซึ่งมีร้านจริงอยู่ข้างบ้าน (มาส่งภายใน 30 นาที), จองทัวร์ด้วย App Feizhu, ดูคลิปและซี่รี่ส์ใน Youku และ Tudou, เล่นเกมใน Alibaba Games, ใช้โซเชียลมีเดียใน Sina Weibo, ขอกู้เงินผ่าน Ant Financial ได้เลยถ้ามีเครดิตและข้อมูลการใช้จ่ายดี (เว็บและบริการทั้งหมดนี้ มีอาลีบาบาเป็นเจ้าของหรือเป็นหุ้นส่วน)

อาลีบาบาจึงมีข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์อย่างที่ไม่มีใครมี หากมีเทคโนโลยี A.I. ที่มีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลออกมาเป็นเทรนด์และความนิยมของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ

ผลการวิเคราะห์สามารถขายให้ห้างร้านต่างๆ นำไปใช้ทำมาร์เก็ตติ้งหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้อย่างตรงจุด ส่วนอาลีบาบาเองก็อาจนำผลการวิเคราะห์มาใช้พัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ได้อีกหลากหลาย เช่น จัดเส้นทางโลจิสติกส์ที่เหมาะสม (อาลีบาบาเป็นหุ้นส่วนบริษัทโลจิสติกส์ใหญ่ Cainiao), สร้างภาพยนตร์ที่เข้ากับเทรนด์ (อาลีบาบาเป็นเจ้าของ Alibaba Pictures), เลือกที่ตั้งและเลือกสินค้าสำหรับห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านอาหาร (อาลีบาบาเป็นเจ้าของห้าง Intime และซูเปอร์มาเก็ต Hema)

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ยังมีประโยชน์ในการใช้พัฒนาเมือง ซึ่งอาลีบาบาอาจร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นได้ เช่น วางเส้นทางรถเมล์ในเมืองให้มีประสิทธิภาพ, วางแผนแก้ไขปัญหาการจราจร (เส้นทางไหนคนใช้เดินทางเยอะ เส้นไหนน้อย), ประเมินความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน (ตอนนี้คนกลุ่มใดไม่จับจ่ายใช้สอย กิจการประเภทใดทำรายได้ลดลง หรือหนี้เสียในระบบเริ่มโตผิดปกติ) รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ

นอกจากจะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมหาศาลของอาลีบาบาแล้ว เทคโนโลยี A.I. ยังจะช่วยให้อาลีบาบาบรรลุเป้าหมายพลิกโฉมวงการค้าปลีกของจีน หรือที่อาลีบาบาเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ ‘New Retail’ ซึ่งจะเชื่อมโยงโลกออนไลน์เข้ากับโลกออฟไลน์อย่างสมบูรณ์ เช่น ร้านค้าอัจฉริยะของอาลีบาบาที่ไม่ต้องใช้พนักงาน สามารถจ่ายเงินโดยใช้การสแกนใบหน้าได้เลย เรียกว่าเทคโนโลยี ‘ยิ้มแล้วจ่าย’ (Smile and Pay) ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยี A.I. ชั้นสูงในการแยกแยะและวิเคราะห์ใบหน้าคนมหาศาล หรือร้านกาแฟที่ไม่มีพนักงานรับออเดอร์ แต่ให้ลูกค้าพูดสั่งอาหารและเครื่องดื่มจากเครื่องรับออเดอร์อัตโนมัติ โดยสามารถอัพเดทออเดอร์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น พอพูดว่าขอเปลี่ยนจาก 2 แก้วเป็น 3 แก้ว และขอไม่ใส่น้ำตาล 1 แก้ว เครื่องรับออเดอร์สามารถอัพเดทคำสั่งใหม่ได้ทันที และแม้ว่าบริเวณรอบข้างจะมีเสียงดัง เครื่องก็ยังสามารถแยกแยะเสียงสั่งกาแฟของเราออกจากเสียงรบกวนรอบๆ ได้ ทั้งหมดนี้ต้องใช้เทคโนโลยี A.I. ชั้นสูงในการแยกแยะเสียงและเข้าใจคำพูดของคน

สถาบันตั๊กม้อยังเพิ่งเปิดตัวผลวิจัยใหม่เป็นโปรแกรมชื่อ Aliwood ซึ่งใช้ A.I. ในการสร้างคลิปโฆษณาให้สินค้าต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดย A.I. จะดึงรูปภาพสินค้าและเลือกเพลงที่เหมาะสมกับสินค้า โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลรสนิยมของผู้บริโภค อีกไม่นานอาลีบาบาจะเปิดให้ร้านค้าใน Taobao ใช้โปรแกรม Aliwood ทำคลิปโฆษณาดึงดูดลูกค้าของแต่ละร้าน

ในด้านฮาร์ดแวร์ สถาบันตั๊กม้อทุ่มเงินเต็มที่ในการพัฒนาพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถาบันตั๊กม้อประกาศแผนวิจัยและพัฒนาชิปประมวลผลสำหรับ A.I. โดยเฉพาะ ใช้ชื่อว่า ‘Ali NPU’ โดยตั้งเป้าพัฒนาให้ชิปตัวนี้มีประสิทธิภาพต่อราคาสูงกว่าชิปที่มีอยู่ในตลาด 40 เท่า และมีความเร็วของ NPU สูงกว่าชิปในตลาดที่ใช้ CPU หรือ GPU เป็นหลัก 10 เท่า

การพัฒนาชิปของตนเองนั้น เป็นภารกิจที่สำคัญและท้าทายมากของบริษัทเทคโนโลยีจีน เพราะแต่เดิม จีนไม่มีเทคโนโลยีที่พร้อมพอจะผลิตชิปเองได้ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าชิปจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยในปี ค.ศ. 2016 จีนได้นำเข้าชิปประมวลผลเป็นมูลค่าสูงถึง 230,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว ปัจจุบัน ด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าที่ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยิ่งสร้างแรงกดดันให้บริษัทเทคโนโลยีจีนต้องเร่งเครื่องในการพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

 

และนี่อาจเป็นอีกความหมายหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในชื่อ ‘ตั๊กม้อ’ ครับ ในอดีต พระอาจารย์ตั๊กม้อนำธรรมะจากอินเดียมาลงหลักปักฐานที่จีน แต่สุดท้ายก็พัฒนาต่อยอดเป็นนิกายเซ็นที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง และยังแผ่อิทธิพลในวงกว้างทั้งในญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศใกล้เคียง วันนี้สถาบันตั๊กม้อของอาลีบาบาเองก็อาศัยเทคโนโลยี A.I. ที่เดิมเริ่มต้นคิดค้นในสหรัฐฯ แต่อาลีบาบาพร้อมเอากลับมาพัฒนาขยายผลด้วยพลังของข้อมูลผู้บริโภคมหาศาลที่ตนมี และด้วยการวิจัยต่อยอดชนิดทุ่มไม่อั้น เพื่อหวังผลิดอกออกใบจนปฏิวัติวงการค้าปลีกของจีนและของโลกในที่สุด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save