fbpx
ขำ พงศ์หิรัญ : 'ราษฎรสามัญผู้ที่ควรแก่การยกย่องนับถือ'

ขำ พงศ์หิรัญ : ‘ราษฎรสามัญผู้ที่ควรแก่การยกย่องนับถือ’

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

บทนำ

ในปัจจุบัน ถ้ากล่าวถึงชื่อ ‘ขำ พงศ์หิรัญ’ ขึ้นมา เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักชายผู้นี้

ผู้เขียนเคยเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่ไม่รู้จักขำ  จนวันหนึ่งได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ คนที่ผมรู้จัก หนังสือรวมคำไว้อาลัยที่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนถึงบุคคลต่างๆ ที่เขารู้จัก  จึงรู้จักขำผ่านบทความของป๋วยที่เขียนถึงเพื่อนรักของเขาไว้อย่างจับใจ

ป๋วยเกริ่นในย่อหน้าแรกของคำไว้อาลัยถึงเพื่อนผู้นี้ว่า “อย่างน้อยจดหมายฉบับนี้[1]ก็คงจะมีประโยชน์อยู่บ้างที่จะให้คนรุ่นหลังได้ทราบว่า  คนดีๆ อย่างขำก็มีอยู่ในสมัยนี้” ก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า “จะหาคนไทยที่มีความซื่อสัตย์สุจริต รักชาติ รักสังคมไทยเกินไปกว่าขำในสมัยนี้หายากนัก

ซึ่งไม่ปรากฏว่าป๋วยเขียนยกย่องใครถึงเพียงนี้

ปัญหาจึงมีว่า ‘ขำ พงศ์หิรัญ’ เป็นใคร  และทำไมคนที่ใครๆ ยกย่องอย่างป๋วย[2] จึงยกย่องชายธรรมดาๆ ผู้นี้เป็นยิ่งนัก

ขำ พงศ์หิรัญ
ขำ พงศ์หิรัญ (26 สิงหาคม 2457 – 15 มิถุนายน 2515)

ครอบครัวและการศึกษา

ขำ พงศ์หิรัญ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2457 ที่จังหวัดพิจิตร  เป็นบุตรชายคนโตของนายแต้มและนางจู ชาวสวนผู้มีฐานะพอมีอันจะกิน  และเป็นบุตรชายคนเดียวของพ่อและแม่ เนื่องจากน้องสาวของเขาตายแต่ยังเยาว์

ขำเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม ในปี 2465 จนจบชั้นมัธยมปีที่ 5 แล้วสอบไล่ประโยคมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมได้ในปี 2474

เขาเป็นเด็กหัวดี เรียนเก่ง เมื่อสำเร็จวิชาสามัญแล้ว ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม จนสำเร็จประกาศนียบัตรประโยคครูประถมในปี 2476

ปีถัดมา (2477) ขำเริ่มงานด้วยการรับราชการเป็นครูมัธยมที่โรงเรียนหอวัง ก่อนที่ต่อมาจะย้ายไปสอนที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โดยในระหว่างที่เป็นครู ขำอาศัยอยู่ที่บ้านของ จินดา ชัยรัตน์ ผู้เป็นญาติ

แม้ขำจะทำงานในกรุงเทพฯ อยู่ตลอด แต่ก็ได้กลับไปบวชที่วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร ในปี 2485  และบริจาคเงินถวายวัดเสมอมา  นอกจากนี้ยังกลับไปปฏิการะตอบแทนบิดามารดาด้วยความกตัญญูจนท่านถึงแก่กรรม

ขำ พงศ์หิรัญ พระ
ขำเมื่อคราวอุปสมบทที่วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร เมื่อ พ.ศ.2485

ธรรมศาสตร์บัณฑิต

เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ตามเจตนารมณ์ที่ว่า “ในสมัยที่ประเทศของเราดำเนินการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้ว เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองให้มากที่สุดที่จะเป็นได้ เปิดโอกาสแก่พลเมืองที่จะใช้เสรีภาพในการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติสืบไป”  ขำซึ่งเวลานั้นเป็นครู ก็เป็น 1 ใน 7,094 คน ที่สมัครเข้าเรียนที่นี่ทันทีเมื่อแรกตั้ง

ใช้เวลาเพียง 2 ปี ขำสำเร็จการศึกษาเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่น ‘มกราคม 2479’ ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่มีการอบรม กล่าวคือ เมื่อสอบไล่ได้ครบตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว มหาวิทยาลัยได้จัดหลักสูตร ‘การอบรมก่อนรับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต’ ซึ่งให้บัณฑิตธรรมศาสตร์มาใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อฝึกอบรมมารยาท วินัย การสมาคม และทัศนศึกษาในสถานที่สำคัญต่างๆ

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อนร่วมรุ่นของขำ บันทึกว่า “ได้ร่วมกินร่วมนอน ร่วมใจกันอย่างสนิทสนมและรักใคร่กันฉันท์พี่น้อง”

ขำ พงศ์หิรัญ จบการศึกษา
ขำเมื่อรับปริญญานิติศาสตร์ เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต รุ่นมกราคม 2479

ธรรมศาสตร์สัมพันธ์

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บัณฑิตต่างแยกย้ายไปประกอบอาชีพตามความสนใจของตน ดังเช่นที่ป๋วยสอบชิงทุนกระทรวงการคลังไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ส่วนขำเลือกเป็นทนายความ ตามคำแนะนำของจินดา ชัยรัตน์

ป๋วยเล่าว่า ธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่น ‘มกราคม 2479’ ได้กลับมาพบกัน สังสรรค์กัน ไต่ถามทุกข์สุขกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เตือนสติซึ่งกันและกัน และมีความรักใคร่สามัคคีกันกระชับยิ่งขึ้น ก็เพราะขำ (ร่วมกับ เพี้ยณ มณีรัตน์ แห่งสำนักงานมณีรัตน์ทนายความ) เป็น ‘เจ้ากี้เจ้าการ’ จัดให้เพื่อนฝูงได้พบปะกันอย่างน้อยปีละครั้ง

“พวกเรา ธ.บ. รุ่นนี้ทุกคนเป็นหนี้บุญคุณขำอย่างเหลือหลาย” คือคำรำลึกที่ป๋วยมีต่อเพื่อน ก่อนจะวางหลักไว้ว่า “ใครก็ตามทำให้เพื่อนรักใคร่สนิทกันยิ่งขึ้น ใครก็ตามทำความรักความสามัคคีให้มีมากขึ้นในหมู่ชน ผู้นั้นย่อมสมควรแก่ความรัก ความนิยมจากหมู่ชนนั้น”  เพื่อสดุดีขำ

ขำ พงศ์หิรัญ กับเพื่อน ธรรมศาสตร์
ขำกับเพื่อน ๆ ร่วมรุ่นธรรมศาสตร์บัณฑิต รุ่นมกราคม 2479

ทนายความขำ

เมื่อแรกเริ่มเป็นทนายความ  จินดา ชัยรัตน์ ฝากขำให้ฝึกงานกับ แสวง เสวิกุล  โดยระหว่างนั้นขำยังไม่ได้รับรายได้หรือผลประโยชน์อะไร เพียงติดตามแสวงไปไหนมาไหน  ต่อมาจึงมีรายได้จากการเป็นทนายความในสำนักงานติลลิกีแอนด์กิบบินส์  ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงแยกออกมาตั้ง ‘สำนักงานทนายความพงศ์หิรัญ’ ของตนเองอยู่ที่สี่กั๊กพระยาศรีตราบจนสิ้นอายุขัย

น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่สามารถหาตัวอย่างวีรกรรมจากการเป็นทนายความของขำมาแสดงได้  นอกเสียจากข้อเขียนของป๋วยที่กล่าวถึงขำอย่างพิเศษว่า  “ผม…ทราบเรื่องส่วนตัวของขำมากดีพอใช้ว่า ขำเป็นพลเมืองดีอย่างไร เป็นผู้ที่ประกอบสัมมาชีวะควรสรรเสริญเพียงใด ขำเป็นทนายความมาตั้งแต่สำเร็จการศึกษา ไม่เคยมีตำแหน่งสำคัญในราชการ แต่ก็จะหาคนไทยที่มีความซื่อสัตย์สุจริต รักชาติ รักสังคมไทยเกินไปกว่าขำในสมัยนี้หายากนัก

ก่อนที่จะกล่าวต่อไปอีกว่า “หน้าที่ของนักกฎหมายทนายความอย่างขำ ต้องปฏิบัติตนอยู่ในจรรยาบรรณ  ทนายความก็เป็นส่วนประกอบสำคัญแห่งขบวนการยุติธรม … นอกจากขำจะทรงไว้ซึ่งความเมตตา มุทิตาต่อลูกความ และนอกจากขำจะเป็นที่พึ่งแก่ผู้ที่เดือดร้อนในเชิงคดีแล้ว  ขำยังปฏิบัติหน้าที่สมกับเป็นหลักสำคัญส่วนหนึ่งแห่งกฎหมาย ความยุติธรรมและความชอบธรรม

ความเป็นขำ

นอกจากการเป็นเพื่อนที่ดี เป็นทนายความที่ซื่อสัตย์สุจริตอย่างสามารถ  ขำยังเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ที่ใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน

หลักในการทำงานของขำคือ “ถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุด มิฉะนั้นก็อย่าทำเลย”  งานของเขาจึงออกมาประณีตเรียบร้อยเป็นไปตามแผนเสมอ เพราะงานใดที่เขารับทำแล้ว เขาจะตั้งใจทำอย่างดีที่สุด

ขำเป็นคนฉลาด มีความสามารถ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมใครง่ายๆ เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นๆ จะมีเหตุผลเพียงพอ จึงยอมลงด้วย แม้บุคคลที่ว่าจะเป็นลูกๆ ของเขาก็ตาม  ดังลูกๆ ของเขาเล่าว่า “พ่อสอนให้ลูกเป็นคนมีเหตุผล  พ่อจะหัวเราะอย่างมีความสุข เมื่อพ่อจนต่อเหตุผลที่ลูกๆ ช่วยกันยกมา”

นอกจากนี้เขาเป็นคนตรงต่อเวลา เพราะคิดถึงใจเขาใจเรา เขาจึงมักเป็นคนรอมากกว่าให้คนอื่นรอเขา เพราะตระหนักดีว่าเวลาของคนอื่นก็มีค่า

ในทางศิลปวัฒนธรรม ขำเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน สนใจในวรรณคดีและวัฒนธรรมไทย เวลาสนทนากันบางครั้งก็ยกบทกลอนมาต่อได้เลย  นอกจากนี้ยังชื่นชอบดนตรีไทยมาก สนับสนุนให้ลูกๆ เรียนดนตรีไทย เปิดโทรทัศน์รายการเกี่ยวกับเพลงไทยเดิมมิได้ขาด  ซึ่งลักษณะทางวัฒนธรรมเช่นนี้ออกจะเหมือนกับเพื่อนของเขาอย่างป๋วยอยู่ไม่น้อย

ขำ พงศ์หิรัญ
ขำสมัยหนุ่มๆ

คุณพ่อของลูกๆ

ขำสมรสกับลำใย สุทธิพงษ์ มีบุตรธิดารวม 6 คน  แม้ภรรยาของเขาจะล่วงลับไปก่อนหน้าร่วม 20 ปีด้วยโรคหืด แต่ขำก็ซื่อสัตย์ต่อภรรยา ครองตัวเป็นหม้ายเสมอมาโดยไม่เคยคิดมีคู่ครองใหม่ เลี้ยงลูกมาด้วยดีตลอด จนเป็นแพทย์ 3 คน ทันตแพทย์ 1 คน และนิติศาสตร์บัณฑิตกับครุศาสตร์บัณฑิตอีกอย่างละ 1 คน

ลูกๆ ของเขาก็ตระหนักถึงความข้อนี้ดีดังได้เขียนว่า “ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะขาดแม่ แต่พ่อก็ทำหน้าที่ทุกอย่างแทนแม่ พ่อให้ลูกทุกอย่าง ลูกไม่เคยได้รับความลำบากเดือดร้อน แม้ทางร่างกายและจิตใจ”

แม้ขำจะมีงานมากและเหนื่อยจากงานเพียงใด แต่ก็ยังอุทิศเวลาให้ลูกๆ เสมอ ไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียนทุกวันจนเข้ามหาวิทยาลัย สอนการบ้านลูก และซักถามถึงการเล่าเรียนของลูกอยู่เสมอ  นอกจากนี้ ถึงจะมีธุระต้องเดินทางอยู่เสมอ  ขำก็จะไม่อยากไปไหนนานๆ เพราะความเป็นห่วงลูก

ขำยังเป็นพ่อที่ให้เวลากับลูกอย่างน่ารัก เขาแบ่งเวลาให้ลูกเสมอ เข้าร่วมวงสนทนาของลูก ๆ และออกความเห็นได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นวิชาการหรือบันเทิง  ซึ่งเขาสนใจในทุกเรื่องที่ลูกสนใจ  จนลูกๆ รับรู้ได้ว่าเขาพยายามทำหน้าที่พ่ออย่างสมบูรณ์ที่สุด

ขำ พงศ์หิรัญ เข้าเฝ้า
เมื่อครั้งที่ขำเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2514

มรณกรรม

30 ปีของสำนักงานทนายความพงศ์หิรัญ ขำนำพาสำนักงานของเขาเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ไว้วางใจและเชื่อถือของผู้มาติดต่องาน เพราะนอกจากจะมีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความรับผิดชอบในการงานสูงแล้ว เขายังมีความสามารถในการทำงานอย่างยิ่ง

แต่แล้วชีวิตของขำก็ต้องมาจบลงในวัยเพียง 57 ปี เนื่องจากเครื่องบินซีพีเอที่เขาโดยสารจากดอนเมืองซึ่งมีปลายทางที่ฮ่องกง ตกที่ตำบลเปลกู ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2515 ซึ่งโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ ลูกเรือและผู้โดยสารรวม 81 คน เสียชีวิตทั้งสิ้น

กล่าวได้ว่าขำได้สร้างตนเองขึ้นมาโดยไม่ปล่อยให้ชีวิตสูญเปล่าไปชาติหนึ่ง  เป็นทนายความที่ดี เป็นเพื่อนที่มิตรรัก เป็นพ่อที่ลูกบูชา  และแม้จะจากไปก่อนวัยอันควร แต่ก็ได้ทิ้งมรดกจากน้ำพักน้ำแรงของเขาและคุณงามความดีไว้ให้ลูกพอสมควรด้วย

ส่งท้าย

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวถึงขำและค่านิยมในสังคมไทยไว้ว่า เราจะเห็นคุณค่าของคนธรรมดาสามัญอย่างขำ ก็ต่อเมื่อเรา “ปรับทัศนคติ” จากที่มักยกย่องผู้มีอำนาจ ผู้มีตำแหน่งใหญ่โต โดยไม่สนใจคุณธรรมหรือความดีงามของเขาเหล่านั้น มาเป็นยกย่องคนที่ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม แม้ปราศจากอำนาจหรือตำแหน่งสูงส่ง  ดังข้อความที่ว่า “ชาวไทยเรามักจะเคยตัวคิดแคบ ยกย่องแต่ผู้มีอำนาจ ผู้มีตำแหน่งสูงในราชการ  น่าจะเปลี่ยนอุดมคติเสียที เพราะคนอย่างขำ ราษฎรสามัญอย่างขำ เป็นผู้ที่ควรแก่การยกย่องนับถือ ผู้ที่ควรแก่การยกย่องและเคารพคือผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม  มิใช่ผู้ทรงอำนาจ แต่ไร้คุณธรรม

ข้อที่น่าเสียดายคือชีวประวัติของราษฎรสามัญอย่างขำนั้นหาอ่านได้ยาก ผู้เขียนได้พยายามเรียบเรียงจากที่ค้นคว้าได้เพียงเท่านี้ จึงหวังว่าในอนาคต จะมีผู้รู้ท่านอื่นช่วยกันเติมเต็มเรื่องของ “ราษฎรสามัญผู้ที่ควรแก่การยกย่องนับถือ” ต่อไป ให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชน โดยเฉพาะในวงการกฎหมายไทย ที่เรามักยกย่อง “ผู้ทรงอำนาจ แต่ไร้คุณธรรม”

บรรณานุกรม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.

ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล. “ปรีดี พนมยงค์ รัตนบุรุษสยาม,” ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2561. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2561, น.21 – 53.

ป๋วย อึ๊งภากรณ์. คนที่ผมรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559.

อนุสรณ์ ขำ พงศ์หิรัญ. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายขำ พงศ์หิรัญ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2515.

อนุสรณ์ นายเพี้ยน มณีรัตน์ และนางประยงค์ มณีรัตน์ 28 พฤษภาคม 2531. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531.

หมายเหตุ 

ผู้เขียนขอขอบคุณ แพทย์หญิงดวงตา สิตตะไพโรจน์ เป็นอย่างสูง ที่กรุณาส่งสำเนาหนังสือ อนุสรณ์ ขำ พงศ์หิรัญ มาให้ จนสามารถเขียนบทความชิ้นนี้ได้  ส่วนความเห็นและข้อบกพร่องที่เกิดจากงานชิ้นนี้ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน

[1] ป๋วยเขียนคำไว้อาลัยถึงขำในรูปจดหมาย  ดู ป๋วย อึ๊งภากรณ์, คนที่ผมรู้จัก, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น.107 – 109.

[2] กล่าวให้ดูน่าทึ่งกว่านี้ ก็สามารถกล่าวต่อไปได้ว่า ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ป๋วยได้รับการยอมรับนับถือ  โดยเมื่อมีชีวิตอยู่ เขาเป็นข้าราชการไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ ซึ่งเป็นรางวัลระดับภูมิภาค และเมื่อป๋วยมีชาตกาลครบศตวรรษ องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้เขาเป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save