fbpx
1968 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโลกของคนหนุ่มสาว

1968 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโลกของคนหนุ่มสาว

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

ปี 2018 เป็นวาระครบรอบกึ่งศตวรรษของปี 1968 อันเป็นปีที่ประวัติศาสตร์จารึกถึงการเคลื่อนไหวใหญ่ที่นำและร่วมขบวนการโดยคนหนุ่มสาว ส่วนมากอยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากนั้นไม่นานกระแสคลื่นการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวคลื่นลูกใหม่ของสังคมในหลายประเทศในขอบเขตทั่วโลกก็ปะทุขึ้น กลายเป็นทศวรรษของการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงโดยคนหนุ่มคนสาวทั้งโลกไป

 

กำเนิดของทศวรรษ 1960 (The Sixties) มาจากการเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกาโดยบรรดาคนหนุ่มคนสาวในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ประเด็นใหญ่ของการเคลื่อนไหวของบรรดานักศึกษาคือการต่อต้านสงครามในเวียดนามและการเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้แก่คนผิวดำ

ขบวนการนักศึกษาที่เป็นหัวหอกของการลุกขึ้นคัดค้านและต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรมเริ่มจากขบวนการเสรีภาพในการพูด (Free Speech Movement – FSM) ที่นำโดยมาริโอ ซาวิโอ (Mario Savio) เขาเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กเลย์ มีตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มเพื่อนของคณะกรรมการประสานงานของนักศึกษาไม่ใช้ความรุนแรง (the Berkeley Friends of Student Non-Violent Coordinating Committee – SNCC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาผิวดำที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำในภาคใต้ มาริโอ ซาวิโอเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ด้วย เขานำเพื่อนนักศึกษาเบิร์กเลย์นับพันลงไปช่วยรณรงค์เรื่องสิทธิพลเมืองคนผิวดำในภาคใต้ในภาคฤดูร้อนปีนั้นด้วย

การต่อสู้ในแคลิฟอร์เนียเริ่มจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงานให้แก่คนผิวดำในแถบเบย์เอเรีย (Bay Area) ซึ่งถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจในแถบนั้น นายจ้างส่วนมากไม่ยอมจ้างคนผิวสีเข้าทำงาน โดยอ้างว่าไม่มีห้องน้ำพอหรือคนงานผิวดำไม่เข้ากับธุรกิจของพวกเขา เมื่อนักศึกษารวมตัวกันประท้วงเรื่องนี้ บรรดาเจ้าของธุรกิจและนักการเมืองในพื้นที่ก็กดดันให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาทำการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้

อธิการบดีมหาวิทยาลัยออกกฎระเบียบห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ นานา ซึ่งมีผลทำให้นักศึกษาไม่อาจเคลื่อนไหวได้ นำไปสู่การตั้งขบวนการเสรีภาพในการแสดงออก (FSM) และเผชิญหน้ากับตำรวจที่เข้ามาควบคุมการรวมกลุ่มของนักศึกษา

นักศึกษาใช้วิธีนั่งประท้วง (sit-in) และศึกษาการประท้วง (teach-in) ในห้องเรียนและในบริเวณมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการนั่งประท้วงในห้างสรรพสินค้าในเมืองที่ไม่รับคนผิวดำเข้าทำงาน จนในที่สุดผู้บริหารมหาวิทยาลัยยอมรับข้อเรียกร้องเรื่องเสรีภาพในการพูดของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้

จากนั้นขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เริ่มทยอยจัดตั้งขึ้น นำไปสู่การเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามในระดับประเทศครั้งแรกในปี 1965 การประท้วงการเกณฑ์ทหารในปี 1967 และที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ได้แก่ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นลูกโซ่ในปี 1968 ซึ่งสั่นสะเทือนและทำลายความหวังความเชื่อมั่นของคนอเมริกันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต่อระบบและสถาบันการเมืองในประเทศ นั่นคือการสังหาร ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำคนสำคัญของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนผิวดำในเดือนเมษายนที่เมมฟิส ก่อนนำไปสู่การเกิดจลาจลทั่วประเทศกว่า 80 จุด และการลอบสังหารโรเบิร์ต เคนเนดี้ สมาชิกวุฒิสภาจากนิวยอร์ก ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่) ของพรรคเดโมแครตเข้าเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากคนหนุ่มสาวอย่างคาดไม่ถึง ถือเป็นการสูญเสียนักการเมืองคุณภาพของพรรคเดโมแครตจากตระกูลเดียวกันคนที่สอง และจากความรุนแรงอันไร้เหตุผลในเวลาเพียง 5 ปี ตามมาด้วยการประท้วงและปะทะกันอย่างดุเดือดรุนแรง โดยฝ่ายนักศึกษาที่เตรียมการประท้วงใหญ่ในการประชุมสมัชชาพรรคเดโมแครตในกรุงชิคาโกในเดือนสิงหาคม

เหมือนกับการนำเอาความอัดอั้นตันใจและแรงต้านที่ถูกกระทำและกดดันเอาไว้ในหลายปีที่ผ่านมา ให้มาระเบิดในจุดที่พวกเขาคิดว่าเป็นสัญลักษณ์และกลไกการเมืองอันสำคัญอันหนึ่งในการเข้าไปจัดการกับความบิดเบี้ยวและไม่เปลี่ยนแปลงของระบบการเมือง มันเหมือนเกิดสงครามกลางเมืองในใจกลางประเทศ

หากมองเหตุการณ์การเคลื่อนไหวและต่อต้านของขบวนการนักศึกษา และคนหนุ่มสาวอเมริกันทั้งหลายจากภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอ เราคงจะงุนงงและแปลกใจไม่น้อยว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมและระบบเศรษฐกิจการเมืองอเมริกัน ซึ่งในยุคนั้นต้องถือว่าเป็นมหาอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจของโลกทีเดียว

คนอเมริกันตามสถิติมีระดับชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายและมั่นคงกว่าคนในประเทศอื่นๆ รวมทั้งในยุโรปด้วย ไม่ต้องเทียบกับคนในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาทั้งหลายในโลก ที่มีระดับความเป็นอยู่และท่วงทำนองชีวิตที่ห่างไกลจากมาตรฐานและความมั่นคงอย่างเทียบกันไม่ติด

ถ้าเช่นนั้นทำไมคนหนุ่มสาวอเมริกันถึงมีปัญหากับระเบียบสังคมและระบบการเมืองเศรษฐกิจของพวกเขากันเล่า

จะเรียกว่านี่คือความย้อนแย้ง (paradox) ของประวัติศาสตร์ก็ได้ เมื่อมองกลับไปยังอดีตอันไม่ไกลนักของสหรัฐอเมริกา มีคำพังเพยที่สะท้อนยุคสมัยอย่างแหลมคมว่า ยุคทศวรรษ 1950 เป็นยุคของความพึงพอใจอย่างเซื่องๆ (complacent) ในขณะที่ยุคหกสิบเรียกว่า ยุคแห่งความมีเกียรติและการสดุดี (glorious)

ในยุคห้าสิบ อเมริกาเริ่มยกระดับการผลิตระดับโลก ระบบยังเพิ่มเตาะแตะ อะไรก็ยังทำไม่เป็นระบบเต็มที่นัก เรียกว่าเครื่องยังเดินไม่เต็มที่ ส่วนยุคหกสิบนั้น การผลิตและการบริโภคทำงานได้ผลดีเกินคาด จนอเมริกาล้นไปด้วยความมั่งคั่ง ความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิตประจำวันและในการงาน นี่คือที่มาของคำกล่าวอันกลายเป็นยอดปรารถนาของคนธรรมดาสามัญไม่แต่ในอเมริกาเท่านั้น หากยังแพร่หลายไปทั่วโลก นั่นคือวลีทอง “ความฝันแบบอเมริกัน” (American Dream) – ทุกคนที่ทำงานเลี้ยงชีพอย่างปกติสามารถสร้างครอบครัวอันเปี่ยมสุขขึ้นมาได้มีบ้านหนึ่งหลัง มีรถหนึ่งคันเป็นอย่างน้อย

ทว่าความฝันแบบอเมริกันนี้สร้างขึ้นมาได้ด้วยปัจจัยอะไรรองรับ ทำไมสังคมและเศรษฐกิจอเมริกันถึงทำได้ ในขณะที่สังคมประเทศอื่นๆ ทั่วโลกทำไม่ได้ ความจริงที่รองรับความสำเร็จแบบอเมริกันนั้นเอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ได้สวยหรูเหมือนความฝันที่คนมักอ้างกัน หากแต่มันเต็มไปด้วยความยอกย้อนซ่อนเงื่อนในการดำเนินนโยบายทั้งทางทหาร ทางการเมืองและเศรษฐกิจในขอบเขตทั่วโลก รวมถึงในประเทศเองด้วย

สหรัฐฯ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกแทบจะเพียงผู้เดียว เป็นผู้จัดการและดำเนินการในการโยกย้ายและดูดซับทรัพยากรทางธรรมชาติ คือวัตถุดิบสำหรับการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และทางสังคม คือทรัพยากรมนุษย์ที่มีความชำนาญและความสามารถเข้ามาทำงานในอเมริกาจำนวนมาก

ในทางทหาร อเมริกาดำเนินนโยบายปิดล้อมสหภาพโซเวียต และต่อมาจีน ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่ในโลก นำไปสู่การเริ่มสงครามเย็นและแตกแขนงออกไปเป็นสงครามในภูมิภาคและดินแดนต่างๆ ที่ต้องการเรียกร้องเอกราชและปลดแอกจากลัทธิอาณานิคมยุโรป

อเมริกาเข้ามาเป็นอำนาจจักรวรรดิที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางให้แก่บรรดาประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย กระทั่งเป็นผู้จัดตั้งหรือโค่นล้มรัฐบาลเก่าที่ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลอเมริกันภายใต้กรอบของสหรัฐฯ

ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการเติบใหญ่และขยายตัวของอุตสาหกรรมทหารในอเมริกาเอง กล่าวได้ว่าระบบทุนอุตสาหกรรมอเมริกันแยกไม่ออกจากอุตสาหกรรมการทหารและความมั่นคงได้เลย ไม่ว่าในอดีตหรือกระทั่งปัจจุบันก็ตาม

นี่จึงเป็นที่มาของคำขวัญในการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอเมริกันของขบวนการนักศึกษาที่ต้องการให้สหรัฐฯ ยุติการทำสงครามที่ทวีความโหดเหี้ยมและละเมิดมนุษยธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “สงครามเวียดนาม”

ส่วนในประเทศ ท่ามกลางความมั่งคั่งที่เพิ่มพูนขึ้น คนอเมริกันอีกส่วนหนึ่งก็ยังถูกลิดรอนสิทธิทั้งหลาย ไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นั่นคือคนแอฟริกันอเมริกัน หรือคนผิวดำที่มีบรรพบุรุษถูกบังคับให้มาเป็นทาสในอเมริกาตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการก่อตั้งอาณานิคมและประเทศที่เป็นเอกราช การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวดำจึงเป็นคำขวัญใหญ่อันดับที่สองในการระเบิดขึ้นของยุคหกสิบ

แต่ยังไม่หมด ท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้ของสองขบวนการที่กล่าวถึงนั้น ยังมีอีกขบวนการที่ก่อรูปและดำเนินงานร่วมหรือภายใต้ทั้งขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามและเรียกร้องสิทธิพลเมือง นั่นคือขบวนการสตรี

นับแต่มีการจัดตั้งและเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลในยุคแรกๆ คือกลางศตวรรษที่ 19 ในขบวนการเลิกทาสภายใต้การนำของวิลเลียม ลอยด์ แกริสัน กระทั่งผลักดันให้นำไปสู่การแตกหักระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ในสงครามกลางเมือง สตรีซึ่งส่วนมากเป็นคนผิวขาวก็มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนทั้งสองขบวน แต่ปัญหาของสตรีเองไม่ค่อยได้รับการพูดถึงและผลักดันให้เป็นประเด็นต่อสู้ระดับชาติ จนสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่กลุ่มสตรีออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (คนอยากเลือกตั้งขบวนแรกในอเมริกา) ถึงยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สตรีมีสิทธิในการเลือกตั้งได้

ในทศวรรษหกสิบนั้น ขบวนการสตรีได้เติบใหญ่และสร้างประเด็นอันเป็นปัญหาเฉพาะของสตรีทั้งหลายขึ้นมาได้ มีการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศสภาพ ในการทำงานต่างๆ ไปถึงสิทธิในร่างกายและการเจริญพันธุ์ นำไปสู่การต่อสู้เพื่อให้มีสิทธิในการทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผลพวงของการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของสตรีเพศในยุคหกสิบนำไปสู่การเปิดพื้นที่และเวทีจำนวนมากให้แก่สตรี (ส่วนมากคือผิวขาว) ในเวลาต่อมาอย่างมาก

จนหลายปีต่อมาเกิดยุคหลังเฟมินิสม์ ที่ผู้หญิงรุ่นใหม่เมื่อมองกลับไปยังยุคของการต่อสู้เคลื่อนไหวแล้ว พากันกล่าวว่ายุคนี้สตรีไม่จำเป็นต้องเป็น “เฟมินิสต์” แล้ว พวกเขาต้องการก้าวข้ามประเด็นและข้อถกเถียงของบรรดาเฟมินิสต์รุ่นพี่ออกไป

คำอธิบายว่าทำไมคนรุ่นหกสิบถึงออกมาเคลื่อนไหว กระทั่งนำไปสู่การคัดค้านและต่อต้านรัฐบาลและนโยบายมากมายของฝ่ายรัฐ นอกจากจะมองผ่านการใช้อำนาจและการสร้างรัฐชาติอเมริกันที่เป็นจักรวรรดินิยมของชนชั้นปกครองและนายทุนใหญ่ๆ ของอเมริกาแล้ว อีกมิติที่มีคนพูดถึงมากเหมือนกันในการอธิบายถึงการตื่นตัวและการเกิดจิตสำนึกทางการเมืองของคนหนุ่มสาวถึงขั้นเรียกร้องให้ทำการปฏิวัติเสียเลยนั้น ได้แก่ มิติทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์

อเมริกานับแต่สร้างชาติและประเทศขึ้นมา มิติที่รัฐไม่อาจผูกขาดและทำหน้าที่กำกับไปถึงสั่งการให้ต้องทำตามโดยไม่อาจถกเถียงได้ก็คือ ปริมณฑลทางวัฒนธรรม อันรวมถึงการศึกษา ภูมิปัญญาความคิด การสร้างงานศิลปะวรรณกรรม สถาปัตยกรรม ไปถึงหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนหลากหลายรูปแบบ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้รัฐและรัฐบาลกลางไม่อาจเข้าควบคุมและกำกับได้อย่างตามปรารถนา ดังนั้นอเมริกาจึงไม่เคยและไม่อาจมีกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติและมลรัฐได้ กล่าวได้ว่างานศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายล้วนได้รับการคุ้มครองในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในข้อที่ 1 นั่นคือการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและเสรีภาพของสื่อมวลชน

ดังนั้นการนำเสนอและตีความว่าอะไรคือความจริง คือความถูกต้องและผิดพลาด จึงมักมาจากการโต้แย้งและวิวาทะกันระหว่างผู้คนฟากฝ่ายต่างๆ ที่มองไปในช่องแล้วเห็นออกมาตรงข้ามกัน ไม่ใช่ออกมาจากคำสั่งหรือความต้องการของฝ่ายรัฐหรือผู้นำและผู้ยึดกุมอำนาจรัฐแต่ถ่ายเดียว (ดังในบางประเทศแถวนี้)

จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดานักศึกษาหัวก้าวหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐและสังคม จึงต่างได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากหนังสือ ทั้งที่เป็นวิชาการและวรรณกรรม สื่อที่มีบทบาทมากในสังคมอเมริกันคือหนังฮอลลีวูด ซึ่งเริ่มวิพากษ์วิจารณ์สภาพและความเป็นจริงที่ขัดกันในสังคมขณะนั้นอย่างลึกซึ้ง

หลายปีก่อนที่คนหนุ่มสาวซึ่งเรียกกันว่า “baby-bloomers” หรือคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะตื่นตัวและรู้สึกถึงสำนึกทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา พวกเขาและพรรคพวกต่างได้รับแรงสะเทือนใจจากการอ่านวรรณกรรมที่มองโลกและสังคมด้วยแว่นของความสงสัย ไม่เชื่อและตามหาความหมายของความเป็นมนุษย์ในยุคของพวกเขาและเธออย่างเอาจริงเอาจัง

งานเขียนที่มีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึกใหม่ของคนหนุ่มสาวรุ่นนั้นมีไม่น้อย ตั้งแต่งานวิชาการของ C. Wright Mills ในเรื่อง The Power Elite (1956), และ The Cause of the Third World War John Kenneth Galbraith, The Affluent Society (1958) งานเหล่านี้ไม่ใช่งานแบบฝ่ายซ้ายที่มาจากสำนักมาร์กซิสม์ หากแต่เป็นการวิเคราะห์และวิพากษ์สภาพความเป็นจริงที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมอเมริกาคือความมั่งคั่งที่ตกแก่คนจำนวนน้อย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลพวงแห่งการเติบโตของเศรษฐกิจใหม่เท่าไร

อีกด้านหนึ่งคืออารมณ์ความรู้สึกที่อาจจะแรงกว่าความคิดแบบวิเคราะห์ ซึ่งแสดงออกผ่านวรรณกรรมและศิลปะแบบต่างๆ งานที่โดดเด่นได้แก่นวนิยายของ Jack Kerouac เรื่อง On the Road (1957) ซึ่งสะท้อนอารมณ์เหงาและอ้างว้างของปัจเจกบุคคล ความเป็นอิสรเสรีของความคิดและวิญญาณ ของกลุ่มที่เรียกว่า The Beat และ Counterculture

นักศึกษามหาวิทยาลัยมิชิแกนคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากความคิดนี้คือ ทอม เฮย์เดน ต่อมาเป็นแกนนำของกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย (Students for a Democratic Society – SDS) ผู้ร่างคำประกาศที่พอร์ต ฮูรอน ด้วยการเริ่มต้นว่า “พวกเราเป็นคนของยุคนี้ ฟูมฟักมาอย่างน้อยด้วยความสะดวกสบายพอประมาณ ขณะนี้อยู่ในมหาวิทยาลัย มองออกไปยังโลกที่เรารับมอบมาด้วยความไม่สบายใจ…” (We are people of this generation, bred in at least modest comfort, housed now in universities, looking uncomfortably to the world we inherit.)

เป็นคำแถลงที่ประกาศอย่างชัดเจนถึงจุดยืนและอุดมการณ์ ไปถึงจุดหมายของสังคมที่พวกเขาปรารถนาจะเห็นในทางปฏิบัติ แนวคิดหนึ่งที่ออกมาจากคำประกาศนี้และยังมีการนำไปใช้และแพร่หลายไปทั่วโลกคือคำขวัญ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” (participatory democracy) ว่าเป็นทั้งจุดหมายและวิธีการในการสร้างสังคมประชาธิปไตยโดยสันติวิธี “คำประกาศจากพอร์ต ฮูรอน” เดินทางมาถึงสยามในทศวรรษ 1970 โดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในขณะนั้น

น่าสังเกตว่าแนวความคิดที่รู้สึกร่วมกันของคนรุ่นห้าสิบมาถึงหกสิบ ได้แก่ ความเป็นส่วนตัว ความไร้ซึ่งความหวัง คนมักเข้าใจพวกเขาผิดๆ นี่เป็นบุคลิกของตัวละครที่เป็นพระเอกในหนังดังๆ ของฮอลลีวูดยุคนั้น ตั้งแต่เรื่อง “The Wild One” นำแสดงโดย มาร์ลอน แบรนโด ถึง “Rebel without a Cause” ที่แสดงโดย เจมส์ ดีน เขากลายเป็นขวัญใจของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะเมื่อดีนสังเวยชีวิตบนท้องถนนกับรถยนต์ เหมือนกับหนังที่เขาเป็นวัยรุ่นที่หงุดหงิดและกบฏต่อครอบครัวและอำนาจรัฐ (โรงพัก)

คนรุ่นพ่อจะตะโกนใส่หน้าเขาหลังจากที่ประเคนความสะดวกสบายและเงินทองให้แก่ลูกชายคนเดียวว่า “แกจะกบฏต่ออะไรอีกวะ” ความตายของเขาเหมือนกับเป็นการสังเวยให้แก่ “การกบฏที่ไม่มีเหตุผล” ทำให้มันกลายเป็นตำนานในความเชื่อของคนหนุ่มสาวว่า นี่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเสียสละเพื่อการต่อสู้กับระเบียบเก่าที่ครอบงำพวกเขาอยู่ ทำนองเดียวกับหนังเรื่อง “Bonnie and Clyde” เช่นเดียวกับความตายของนักเขียนดังอัลแบร์ กามูส์ในปี 1960 ด้วยอายุเพียง 46 ในอุบัติเหตุรถยนต์เหมือนกัน ที่ตอกย้ำว่าการกบฏคือแก่นแกนของเสรีภาพ เพราะชีวิตนั้นอยู่เพื่อให้เราใช้มัน แล้วแต่จะใช้อย่างไร

สุดท้ายทำไมยุคหกสิบถึงเรียกว่ายุคแห่งเกียรติยศและการสดุดี ทั้งๆ ที่ระหว่างนั้นเกิดวิกฤตการณ์และความขัดแย้ง เกิดการต่อต้านและการประท้วงไปทั่ว รวมถึงเกิดการสังหารแกนนำของกลุ่มและขบวนการต่างๆ อะไรที่น่าสดุดีในยุคนั้นหรือ

คำตอบคงไม่ใช่การมองไปที่ภาพเด่นๆ บางภาพหรือเหตุการณ์บางเรื่อง หากแต่เมื่อมองไปที่ผลรวมของคลื่นของการปะทะขัดแย้ง แล้วคลี่คลายออกมาเป็นแนวทางและนโยบาย ไปถึงความคิดและอุดมการณ์สังคมใหม่ขึ้นมา กระทั่งตกผลึกกลายเป็นพลังทางสังคมที่ยังมีชีวิตส่งทอดวิญญาณของเสรีชนต่อไปยังคนรุ่นใหม่ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า คือผลพวงและมรดกของการเคลื่อนไหวยุคหกสิบ

หลักๆ ได้แก่ การยอมรับและปฏิบัติหลักสิทธิพลเมืองแก่พลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การต่อต้านสงครามที่ไม่เป็นธรรม อุดมการณ์และการปฏิบัติที่ยึดหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกันระหว่างเพศและอัตลักษณ์ของเพศสภาพ ความต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนชายขอบและส่วนน้อย

หลักการเหล่านี้ยังเป็นพลังทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อคนอเมริกันถึงปัจจุบัน ในระดับโลกคือการวิพากษ์และรื้อคติของความเหนือกว่าของอารยธรรมตะวันตกที่ได้ถ่ายทอดและสั่งสอนกันมาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เป็นการยุติยุคทองของ “อารยธรรมตะวันตก” และนักคิดนักปรัชญาผู้ชายผิวขาวที่ตายแล้ว (เพลโตและอริสโตเติล ฯลฯ) แต่ยังยึดครองเพดานความคิดและการศึกษาเอาไว้นับแต่เริ่มตั้งสถาบันอุดมศึกษาในโลกเป็นต้นมา

มีการตั้งคำถามถึงคุณค่าต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับมาว่ายังเหมาะสมและถูกต้องหรือไม่ ในที่สุดคือการตั้งคำถามและอภิปรายกันถึงธรรมชาติของชีวิตที่ดีว่าเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่าเป็นความคิดและแนวทางปฏิบัติต่อการสร้างสังคมและประเทศใหม่ ที่ไม่ได้มาจากผู้นำหรือสถาบันแห่งอำนาจแต่ผู้เดียวดังในอดีต หากแต่เป็นผลพวงของการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องร่วมกันของบรรดาคนหนุ่มสาวในสังคมกันเอง เป็นการปฏิวัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสามัญชนโดยแท้

 

กลับมามองที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาไทยในยุค “ฉันจึงมาหาความหมาย” เราอาจประเมินให้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวแห่งยุคหกสิบในบริบทและเนื้อหาของประเทศไทยก็ได้เหมือนกัน นักเขียนและปัญญาชนตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวไทยยุคนั้นก็มีอัลแบร์ กามูส์, นิตเชอร์, ฌอง ปอล ซาตร์, และทอม เฮย์เด็น เป็นต้น ผ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ถึง ปริทัศน์เสวนา และกลุ่มอิสระทั้งหลายในมหาวิทยาลัย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save