fbpx
ล่องไหล ลัดเลาะ ลึกลับ คลองสาน-กะดีจีน

ล่องไหล ลัดเลาะ ลึกลับ คลองสาน-กะดีจีน

[et_pb_section bb_built=”1″][et_pb_row][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text _builder_version=”3.0.106″ background_layout=”light”]

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

ว่ากันว่าฝั่งธนฯ รถไม่ติด

ถ้าเป็นสักสิบปีที่แล้วคำพูดนี้อาจพอมีน้ำหนัก แต่ตอนนี้ชักเริ่มไม่แน่ใจ

 

ฉันนั่งอยู่หลังพวงมาลัย ในวิทยุเปิดเพลงชาติดังสนั่น คนทั่วท้องถนนหยุดนิ่ง

ไม่ใช่เพราะเพลงชาติหรอก แต่เพราะไฟแดงร้อยวิฯ ตรงแยกวงเวียนใหญ่ต่างหาก เด็กนักเรียนบางคนยังซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ มองเลขสีแดงนับถอยหลังอย่างมีความหวัง ป่านนี้เพื่อนๆ คงยืนเข้าแถวร้องเพลงอย่างพร้อมเพรียงกันแล้ว พนักงานออฟฟิศหลายคนนั่งกดโทรศัพท์หน้ามุ่ยบนรถเมล์ รอว่าเมื่อไหร่จะได้ข้ามสะพานพุทธฯ เสียที

ธนบุรี 8 โมงเช้า ถนนเป็นที่นิยมเลยทีเดียว

สมัยเรียนมหา’ลัย ฉันใช้ชีวิตในย่านคลองสานอยู่เกือบ 2 ปี แต่ไม่น่าเชื่อว่านอกจากหมูสะเต๊ะท่าดินแดง กับตลาดคลองสานแล้ว ฉันแทบไม่รู้จักอะไรในย่านนี้เลย จนเรียนจบไปหลายปี ได้กลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อทำงาน ค่อยรู้ว่าตัวเองพลาดอะไรไปมหาศาล

ในโลกที่รถยนต์เข้าไม่ถึง และไฟแดงไม่มีความหมาย

เตรียมรองเท้าคู่ใจ มัดเชือกให้แน่น แล้วออกเดินไปพร้อมกัน

 

คลองสาน :  ทางแห่งความลับ – ถ้าไม่เดิน ไม่เห็น

 

หลังจากวนหาที่จอดรถสามรอบจนเกือบจะถอดใจ ฉันก็ได้ที่จอดในราคาชั่วโมงละ 20 บาท จากตลาดคลองสาน ฉันเดินทะลุซอยผ่านหน้าร้านหนังสือก็องดิด โผล่ออกมาเจอโรงพยาบาลตากสิน แล้วเลาะไปตามทางเดินหลังโรงพยาบาล ข้ามถนน เดินเข้าไปในวัดทองนพคุณ วัดเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเดินลึกเข้าไปในวัด มองไปฝั่งตรงข้ามเห็นตึกจากฝั่งกรุงสูงตระหง่าน ส่วนฝั่งวัดเงียบสงบ แดดเช้าสาดผ่านลายกนกบนหน้าบันอุโบสถอย่างมั่นคงและนุ่มนวล

 

พระอุโบสถ วัดทองนพคุณ

 

เดินลึกเข้าไปริมแม่น้ำมีมูลนิธิจีจินเกาะซ่อนอยู่ด้านใน เห็นถะเจดีย์จีนสูงใหญ่และเสามังกรสูงเทียมฟ้าสีแดงตัดกับต้นไม้สีเขียว ทำให้ทั่วบริเวณมีพลังขึ้นมาอย่างน่าประหลาด

วัดทองนพคุณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมเรียกกันว่า ‘วัดทองล่าง’ คู่กันกับ ‘วัดทองบน’ หรือ ‘วัดทองธรรมชาติ’ ที่อยู่เหนือแม่น้ำขึ้นไป วัดทองล่างได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถือว่าเก่าแก่มากในย่านคลองสาน และยังคงสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมไว้อย่างสวยงามสมบูรณ์

 

เสามังกรสูงแข่งกับตึก ที่มูลนิธีจีจินเกาะ

 

ฉันเดินวนออกไปทางวัดทองธรรมชาติที่อยู่ใกล้กัน เป็นทางเดินเลียบคลองเล็กๆ ที่แม้แต่มอเตอร์ไซค์จะสวนกันยังต้องเกรงใจ น้ำในคลองไม่ได้ใสสะอาดอย่างที่ควรจะเป็น ต้นมะยมโน้มตัวลงไปหาคลอง มีสายไฟพันกันอุตลุด ตัวเงินตัวทองนอนสบายอารมณ์อยู่ใต้ร่มไม้ ฉันโล่งใจที่ยังได้ยินเสียงไก่ขัน

เดินไปเรื่อยๆ ทางยิ่งแคบลง ไม่ต้องพูดถึงรถยนต์ที่ยังไงก็เข้ามาไม่ได้ มองบ้านเรือนแล้วได้แต่สงสัยว่า เขาขนอิฐขนปูนเข้ามาสร้างด้วยวิธีไหน นึกไม่นานก็ได้คำตอบ นี่มันชุมชนริมน้ำ ของก็ต้องมาทางน้ำสิ

ในหนังสือ ‘กรุงเทพฯ มาจากไหน’ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนเล่าเรื่องราวกรุงเทพฯ ในยุคเริ่มแรกไว้อย่างกระจ่างว่า

การเดินทางด้วยเรืออันเป็นหลักของการคมนาคมภายในมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น เมื่อถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะการควบคุมทางการเมือง ขนสินค้า ขนส่วยและภาษี ล้วนต้องอาศัยเส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหลักทั้งสิ้น

“การขุดคลองเพื่อการคมนาคมอาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเก็บภาษีหรือการทหาร เช่นคลองแสนแสบมุ่งไปทางตะวันออกเพื่อส่งกำลังบำรุงแก่กองทัพที่ไปทำสงครามในเขมร เพราะฉะนั้นการขุดหรือปฏิสังขรณ์คลองจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาล ปรับปรุงให้ภาษีอากรไหลเข้าสู่เมืองหลวงได้สะดวก”

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการขุดคลองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และขุดเพิ่มขึ้นในทุกรัชกาล มีน้ำไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองสายสั้นและยาว จนชาวตะวันตกที่เข้ามากรุงเทพฯ เรียกที่นี่ว่าเป็น ‘เวนิสตะวันออก’

ฉันหลับตาแล้วนึกภาพ คลองสายน้อยใหญ่ไหลเข้าไปหล่อเลี้ยงผู้คน เหมือนเส้นเลือดฝอยที่แตกจากเส้นเลือดใหญ่กระจายเข้าไปทั่วร่างกาย ให้ความอบอุ่น สร้างพละกำลัง และเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิต

เวลากว่าร้อยปีผ่าน คลองหลายสายถูกถมกลายเป็นถนน จากแต่เดิมที่ทางราชการจะสร้างถนนสายเล็กสำหรับกระบวนแห่ศพ แห่กฐิน หรือแห่ในพิธีกรรมเท่านั้น แต่หลังจากมีพ่อค้าชาวจีน และชาวตะวันตกเข้ามา ก็เริ่มมีการสร้างถนนเพื่อเล่นกีฬา ขี่ม้า นั่งรถม้าตากอากาศ ตึกแถวจำนวนมากถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ทำธุรกิจ จนมาถึงรัชกาลที่ 5 ค่อยมีการเปลี่ยนการคมนาคมจากคลองมาเป็นถนนจนเห็นได้ชัด

จากเรือ กลายเป็นรถ และจากหน้าบ้านริมแม่น้ำก็กลายเป็นหลังบ้าน เมื่อถนนใหญ่ตัดล้อมชุมชน

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในชุมชนริมน้ำคลองสานคือ ที่นี่มีทางเดินและผังเมืองเป็นของตัวเอง หากอยากเข้ามาต้องจอดรถไว้ข้างนอก เตรียมขาให้พร้อม แล้วลัดเลาะในเมืองแห่งนี้ บ้านเมืองที่เริ่มต้นจากริมน้ำ แล้วค่อยขยับเข้ามาสู่ถนน

จินตนาการโลกที่ไม่มีรถขับ ไปมาหาสู่กันด้วยเรือ แค่นี้ก็เดินสนุกขึ้นอีกเป็นกอง

ฉันเดินในเขาวงกตสักพัก จนทะลุออกมาเจอถนนเดิม สังเกตเห็นป้ายเขียนไว้ว่า ‘ถนนเชียงใหม่’ ริมถนนมีตึกแถวขายอาหารและของชำเรียงราย คุณลุงนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ที่หน้าร้านอย่างสบายอารมณ์ เห็นว่าตั้งแต่ท่าเรือเก่าถูกเปลี่ยนเป็น ‘ล้ง 1919’ พื้นที่อเนกประสงค์ แหล่งท่องเที่ยงเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ย่านนี้ก็คึกคักขั้นมาทันตา สิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นว่าสวยในตึกแถวย่านนี้คือป้ายชื่อร้านภาษาจีน ป้ายไม้ทาสีแดง ตัวหนังสือสีทอง ยังติดอยู่หน้าบ้านเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน

 

คุณลุงกับป้ายเอียะฮั้วเภสัช

 

คุยกับคุณลุงสักพัก ซื้อน้ำดื่มให้ชื่นใจ เห็นตรอกแคบที่เชิญชวนด้วยการปูทางเดินไว้ จึงร่ำลาคุณลุงแล้วเดินเข้าไปในตรอก เดินไปสักพักทางค่อยขยายใหญ่ขึ้น เป็นลานกว้าง ต้นไม้ร่มรื่นเดาว่าอายุน่าจะกว่าร้อยปี มองไปไกลเห็นหลังคาบ้านเก่าถัดเข้าไปในซอย ดูลึกลับน่าค้นหา ได้ยินเขาเรียกกันว่า ‘วังค้างคาว’ หรือ ‘บ้านกระดูกช้าง’ อาคารทรงเก๋งจีนที่มีอายุกว่าร้อยห้าสิบปี

ฉันเดินต่อเข้าไปในซอย เพื่อไปดูวังค้างคาวให้เห็นกับตา ผ่านบ้านคนไปไม่นานก็เจอประตูไม้เล็กแคบ หน้าบ้านปกคลุมด้วยดงกล้วย มีใบตำลึงขึ้นตามพื้นไม่เป็นระเบียบ มองเข้าไปเห็นบ้านสภาพทรุดโทรม ชั้นล่างเป็นอิฐส้มเรียงตะปุ่มตะป่ำ ด้านบนยังมีรอยฉาบปูนที่ถลอกและแตกเป็นรอยร้าว หน้าต่างกรงเหล็กยิ่งทำให้ตัวบ้านดูลึกลับ ประตูโค้งขนาดเล็กให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ กลิ่นอับชื้นจากดินเปียกและขี้ไก่อบอวลไปทั่วบริเวณ เดินทะลุเข้าไปด้านในเป็นลานกว้าง มีอาคารล้อมโดยใช้ระเบียงทางเดินเป็นตัวเชื่อมอาคารแต่ละหลัง ไก่หลายตัวส่งเสียงคึกคัก ลึกเข้าไปด้านหลังคือท่าน้ำ

 

หน้าทางเข้าวังค้างคาว

 

ปัจจุบันวังค้างคาวอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ มีผู้ดูแลอยู่หนึ่งคน กินนอนในบ้านหลังนี้ ผู้ดูแลเล่าว่า เวลาประมาณหกโมงเย็น ค้างคาวจำนวนมากที่หลับใหลอยู่ใต้หลังคาจะบินออกไปจากบ้านอย่างพร้อมเพรียง มองเห็นเป็นสีดำทาทาบท้องฟ้าบนแม่น้ำเจ้าพระยา

ไม่แน่ใจว่ากิจวัตรนี้ดำเนินมาแล้วกี่ปี แต่ที่แน่ๆ บ้านหลังนี้เป็นหลักฐานความรุ่งเรืองในอดีต บ้านหลังใหญ่ที่สะท้อนสภาพครอบครัวขนาดใหญ่ คนมีฐานะปลูกบ้านหันหน้าเข้าแม่น้ำ มีท่าเรือของตัวเอง ใช้อิฐสร้างบ้าน นอกจากนี้ยังมีกระดูกช้างที่เคยค้าขายวางอยู่ที่เดิมเหมือนในอดีต

 

หมาน้อยกับอาคารเก่าริมน้ำ

 

ฉันเดินออกมาจากวังค้างคาว รู้สึกเหมือนกาลเวลาหยุดนิ่ง ออกมาเจอศาลเจ้าซำไนเก็ง ศาลเจ้าของชาวจีนแคะ เป็นที่นับถือศรัทธาของชาวจีนในย่านนี้  ใกล้ๆ กันเป็นท่าเรือท่าดินแดงฝั่งตรงข้ามกับตลาดเยาวราช มีตรอกเล็กๆ ริมน้ำให้เดินเข้าไป คล้ายถูกดึงดูดด้วยมนตร์แห่งกาลเวลา กลิ่นยาสมุนไพรลอยเบาบางในอากาศ ท่ามกลางแดดร้อนระอุในบริเวณโกดังริมน้ำขนาดใหญ่

อาคารสองแถวที่ยาวขนานหันหน้าออกสู่แม่น้ำใกล้กับท่าน้ำท่าดินแดง ด้านบนอาคารเขียนว่า S.K. BUILDING หรือ โกดังเซ่งกี่ เป็นของชาวจีนที่เข้ามาซื้อที่ดินของกลุ่มแขกตึกขาว จัดตั้งเป็นโกดังค้าหนังวัวหนังควาย ซึ่งเป็นกิจการค้าที่รุ่งเรืองมากของชาวจีนเมื่อ 80 กว่าปีก่อน ปัจจุบันเป็นโกดังขายส่งสมุนไพรและยา

ดูภายนอกเหมือนว่าจะไม่มีอะไรให้เดินต่อ แต่ในตรอกที่แคบขนาดเดินได้คนเดียวมีป้ายเล็กๆ เขียนติดไว้ว่า ‘มัสยิดเซฟี’  ฉันเดินเข้าไปชั่วอึดใจ ก็เจอประตูไม้สีเขียวสวย เปิดเข้าไปพบอาคารสีเหลืองนวลตัดสีเขียว  มีต้นไม้ปลูกร่มรื่น รอบข้างเงียบสงบ คล้ายหลุดเข้าไปอีกโลก

 

มัสยิดเซฟี

 

มัสยิดเซฟีเป็นของกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดียจากกุจราต ที่เดินทางมาค้าขายในสยามหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ่อค้ากลุ่มนี้นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ ทำการค้าแพรพรรณ ดิ้นเงินดิ้นทอง เพชรพลอย เครื่องเทศ สมุนไพร เครื่องหอม น้ำอบ ปัจจุบันยังมีสายตระกูลอยู่ในไทย มีฐานะดี และเคร่งธรรมเนียมปฏิบัติของตนเองมาก

แต่เดิมทางเข้าของมัสยิดอยู่ฝั่งริมน้ำ แต่ด้วยด้วยปัญหาเรื่องพื้นที่ ทำให้ต้องปิดประตูฝั่งนั้น เลยจำเป็นต้องมาใช้ประตูจากด้านหลังที่เป็นตรอกอาคาร ทำให้ทางเข้ามีขนาดเล็กและหายาก ช่วยขับเน้นความงามและลึกลับของมัสยิดเซฟีขึ้นไปอีก

 

ทางเข้าจากด้านหลังของมัสยิดเซฟี

 

ฉันเดินออกจากมัสยิดเซฟีมาทางริมน้ำ มองเห็นสะพานพุทธอยู่ใกล้ๆ ค่อยคิดได้ว่าเดินมาไกลพอสมควร แต่เรี่ยวแรงยังไม่หมด แม้เหงื่อจะออก และแดดดูจะไม่ลดราวาศอก แต่ก็ยังมีลมเย็นๆ จากแม่น้ำพัดมาให้ชื่นใจบ้าง เดินเลียบแม่น้ำมาไม่นานก็เจออาคารไม้ขนาดใหญ่ ได้กลิ่นหอมเกลือบางเบา คิดในใจว่า เดินเลาะแม่น้ำแต่ได้อารมณ์ทะเลอ่าวไทยแบบนี้ หาไม่ได้ง่ายๆ

ด้านหน้ามีป้ายติดไว้ว่า ‘เกลือแหลมทอง’ โรงเกลือที่มีอายุประมาณ 80 ปี มีพื้นที่ประมาณ 300 ตารางวา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารไม้ขนาดใหญ่ หลังคาสูงแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของความรุ่งเรืองทางการค้า

 

โรงเกลือแหลมทอง

 

‘กิตติ มคะปุณโญ’ หรือ ‘เฮียเจี่ย’ เจ้าของโกดังโรงเกลือแหลมทองเล่าว่าสมัยก่อนคลองสานมีโรงเกลืออยู่สามแห่ง โรงเกลือแหลมทองคือหนึ่งในนั้น นำเข้าเกลือจากทางสมุทรสาครและสมุทรสงคราม บรรจุเรือกระแชงล่องมาทางคลองด่าน เข้าคลองคะนอง ออกแม่น้ำเจ้าพระยามาขึ้นที่หน้าโรงเกลือ ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด ช่วงปี 2520-2524  เคยส่งเกลือได้มากกว่าวันละ 1,000 ตัน ปัจจุบันแม้ไม่ได้คึกคักเหมือนเดิม แต่ก็ยังมีการเก็บเกลือไว้ที่นี่

ลาเฮียเจี่ยไปด้วยกลิ่นหอมเกลือ เดินต่อไปไม่ไกลก็ถึงอุทยานสมเด็จย่าฯ บรรยากาศโดยรอบร่มรื่นด้วยต้นไม้ ซากอิฐสีส้มสวยถูกตัดด้วยสีเขียวของเฟิร์นและมอส  ต้องใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะเกิดการผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับสิ่งก่อสร้างจนกลายเป็นเนื้อเดียว

 

ซากทิมบริวารในอุทยานสมเด็จย่าฯ

 

อ่านประวัติพบว่าแต่เดิมกำแพงนี้ เป็นเรือนข้าทาสบริวารของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน เป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด เรียกว่า ทิมบริวาร แม้ตอนนี้จะแทบไม่เหลือเค้าเดิม แต่ก็กลายเป็นหลักฐานให้เห็นความงามของสถาปัตยกรรมในยุคต้นรัตนโกสินทร์

ฉันเดินออกจากอุทยานสมเด็จย่าฯ ผ่านศาลเจ้าพ่อเสือ เห็นคนนั่งโขกหมากรุกกันอย่างเพลินตา เดินเลยไปหน่อยแวะพักเหนื่อยที่ดิลกจันทร์โฮสเทล สั่งอเมริกาโนเย็นย้อมใจ กินข้าวกินปลาแล้วลุยต่อยามบ่าย

 

กะดีจีน – ส่วนผสมวัฒนธรรม ฝรั่ง แขก จีน ไทย

 

อากาศตอนบ่ายพอมีลมขึ้นมาบ้าง นั่งคิดถึงว่าแค่เดินเลาะมาตามตรอกซอกซอยฝั่งคลองสานก็ยังมีสถานที่ลับๆ ให้เจออยู่มาก กาลเวลาโอบล้อมวิถีริมน้ำไว้ แม้จะร่วงโรยไปมาก แต่ร่องรอยก็ยังทำให้อัศจรรย์ได้อยู่

ซัดกาแฟไปเต็มคราบ และบอกตัวเองว่า ลองเดินไปด้านหลังสะพานพุธฯ อีกสักหน่อย เลาะชุมชนกะดีจีน ที่เป็นส่วนผสมวัฒนธรรมทั้งฝรั่ง แขก จีน ไทย  ว่าแล้วก็เดินออกมาจนถึงใต้สะพานพุทธฯ มองเห็นสะพานด้วนแทรกกลางระหว่างสะพานพุทธ ค้างเติ่งอยู่

ในอดีตสะพานเส้นนี้เคยเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟฟ้า ‘ลาวาลิน’ โครงการรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทยที่คนกรุงไม่มีโอกาสได้นั่ง

‘ลาวาลิน’ เริ่มต้นโครงการศึกษาแผนแม่บทในช่วงสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ปี 2522 กว่าจะได้เริ่มสร้างจริง เวลาก็ล่วงเลยมาถึง 11 ปี ได้สร้างในปี 2533 แต่ด้วยปัญหาเรื่องสัญญา เรื่องเงินลงทุน และปัญหาการเวนคืนพื้นที่ต่างๆ ทำให้โครงการรถไฟฟ้าลาวาลินต้องล้มพับไปในปี 2535 ทิ้งอนุสรณ์เป็นสะพานด้วนที่เห็นอยู่ตอนนี้

ถ้ารถไฟฟ้าสร้างเสร็จได้จริง เราจะมีรถไฟฟ้าที่วิ่งจากเอกมัยยาวไปถึงดาวคะนอง อย่างไรก็ตาม สะพานด้วนจะไม่ถูกทิ้งให้เหงาอีกต่อไป เพราะกำลังมีแผนจะสร้างเป็นทางเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกในกรุงเทพฯ เดินข้ามกันสบายด้วยทางที่กว้างขวาง แล้วสะพานด้วน ก็อาจจะไม่ด้วนอีกแล้ว (หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น)

ฉันเงยหน้ามองสะพานด้วนไม่นาน ก็ได้ยินเสียงเด็กเลิกเรียนวิ่งวุ่นมาจากทางวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เลยตัดสินใจเดินเข้าไปด้านใน เด็กนักเรียนหลายคนเลิกเรียนมานั่งพักที่ศาลาหน้าเขามอ ภูเขาจำลองขนาดใหญ่อยู่กลางสระน้ำ ที่นิยมสร้างกันในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ บริเวณนั้นเป็นสวนขนาดย่อม มีอนุสาวรีย์ปืนสามกระบอกอยู่ใกล้ๆ มีประวัติเขียนเอาไว้ว่า สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปืนใหญ่ที่เอามาทำเป็นไฟพะเนียงแตกในคราวงานฉลองสมโภชพระอารามเมื่อ พ.ศ. 2379 มีผู้เสียชีวิตถึง 7 คน และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

มีข้อความส่วนหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า หมอบรัดเลย์ (ผู้จัดทำบางกอก รีคอเดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย) บันทึกเหตุการณ์ตอนนั้นไว้อย่างน่าตื่นเต้น

“ขณะนั้นหมอบรัดเลย์อาศัยอยู่ในบ้านเช่าที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ขณะดำรงตำแหน่งพระยาพระคลังให้สร้างขึ้นใกล้กับท่าน้ำวัดประยุรวงศาวาส (เดิมหมอบรัดเลย์พักกับคนเชื้อสายโปรตุเกสที่โบสถ์ซางตาครู้ส) ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 250 เมตร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ให้คนตามตัวหมอบรัดเลย์ไปรักษาผู้บาดเจ็บ พระรูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเลย์จำต้องตัดแขนพระรูปนั้น การผ่าตัดประสบความสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นานนัก การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ณ วัดประยุรวงศาวาสฯ ในครั้งนั้น นับเป็นการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอวัยวะครั้งแรกในแผ่นดินสยาม”

ใกล้ๆ กันมีเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่ ตามประวัติ บริเวณนี้เคยเป็นห้องสมุดแห่งแรกของกรุงเทพฯ ปัจจุบันตรงฐานเจดีย์เป็นพิพิธภัณฑ์เล่าประวัติของวัดประยุรวงศาวาสฯ

เจดีย์แห่งนี้ นับเป็นเจดีย์องค์ใหญ่และสูงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีความสูง 60 เมตร และส่วนล่างวัดโดยรอบกว่า 160 เมตร แต่เดิมเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสเกิดปัญหาโน้มเอียงลงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา จนเกิดการร่วมมือกันจากหลายองค์กร ใช้วิธีการสมัยใหม่ โดยนำเทคนิกไฮโดรลิกมายึดให้เจดีย์กลับมาตรงเหมือนเดิม จนคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับภูมิภาคปี 2556 จากยูเนสโก ฉันเดินขึ้นไปชมความงามด้วยบันไดวนที่เล็กแคบ คนไม่ค่อยพลุกพล่าน ได้ยินก็แต่เสียงเด็กจากโรงเรียนใกล้ๆ จอแจ

 

เจดีย์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับรางวัลยูเนสโก

 

ลงมาจากเจดีย์ เดินเลาะเข้าไปทางแม่น้ำ มีลานชุมชน เป็นทั้งสนามเด็กเล่นและลานกีฬา มีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบและวาดรูปแสดงเอกลักษณ์ของชุมชนกะดีจีนจากฝีมือนักศึกษา

ใกล้กันนั้น เห็นโบสถ์ซางตาครู้ส โบสถ์สีเหลืองนวลที่หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ศูนย์รวมใจของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก เชื้อสายโปรตุเกสหรือที่คนไทยมักเรียกว่า ‘ฝรั่งพุทธเกศ’ ที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาหลังเสียกรุงครั้งที่ 2

แต่เดิม โบสถ์ไม้หลังแรกก่อสร้างเสร็จใน พ.ศ.2313 (หลังกรุงศรีอยุธยาแตกไม่นาน) แต่เกิดเพลิงไหม้ชุมชนแห่งนี้ใน พ.ศ.2376  จากไม้จึงกลายเป็นอิฐ ต่อมาใน พ.ศ.2459 มีการบูรณะโบสถ์หลังนี้ให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียนเกือบทั้งหมด จนกลายเป็นโบสถ์ที่งดงามอย่างตอนนี้

 

โบสถ์ซางตาครู้ส

 

เดินไปทางแม่น้ำ เห็นศาลาท่าน้ำวัดซางตาครู้ส กะทัดรัดแต่งดงาม เป็นศาลาไม้ทรงจตุรมุขหลังเล็กๆ ที่ประดับหน้าบันด้วยไม้ฉลุลวดลาย แบบที่เรียกว่า ‘ขนมปังขิง’

ฉันเห็นลุงคนหนึ่งนั่งตกปลาอย่างสบายใจ เมื่อเดินไปตามทางเดินริมน้ำ มองเห็นเรือนไม้หลังงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จัดเป็นเรือนขนมปังขิงที่สลักเสลาลวดลายวิจิตรประณีตสมดั่งคำที่ น. ณ ปากน้ำกล่าวว่าเป็นช่วงสุดยอดของการสลักลายอย่าง “เบิกบานเป็นที่สุด” ลานหน้าบ้านกว้างขวาง มีหญ้าขึ้นไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่โดยรวมก็ยังถือว่าเป็นบ้านเก่าที่ทรุดโทรมแต่สง่างาม

 

บ้านหลุยส์ วินด์เซอร์

 

บ้านหลุยส์ วินด์เซอร์ บ้านของนายห้างที่นับเป็นสถาปัตยกรรมงดงามหายากในปัจจุบัน ตัวบ้านยังคงโครงสร้างที่สมบูรณ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ไม่ใกล้ ไม่ไกล ศาลเจ้าเกียนอันเกงตั้งอยู่อย่างสงบ ลานโล่งปูด้วยกระเบื้องสีแดงสด ลมโกรกพอให้วูบ ว่ากันว่าสิ่งที่โดดเด่นของที่นี่คือ พระโพธิสัตว์กวนอิมทำขึ้นจากเนื้อไม้ทั้งองค์ และมีอิริยาบถประทับนั่ง แตกต่างจากเจ้าแม่กวนอิมที่อื่นซึ่งมักอยู่ในปางประทับยืน

โดยรอบมีภาพเขียนสามก๊กตรงผนังชั้นในของอาคารศาลเจ้า เครื่องไม้แกะสลักของชาวฮกเกี้ยน มีการแกะเครื่องไม้เป็นดอกบัวสี่เหล่า วรรณกรรมสามก๊ก ปริศนาธรรมที่กรอบหน้าต่าง รวมถึงการจำหลักสิงห์หน้าศาลที่สร้างเป็นประติมากรรมลอยตัวประดับไว้ด้านบนเหนือประตูกลางคู่หน้า ใครชอบดูสถาปัตยกรรมเก่าๆ ลายแกะสลักไม้ที่หาที่ไหนไม่ได้ แนะนำให้มาที่นี่

 

ศาลเจ้าเกียนอันเกง

 

ติดกันไม่ไกล เป็นวัดกัลยาณมิตร นกจำนวนมากบินจิกกินอาหารอยู่แถวท่าเรือ เป็นวัดที่ผสมผสานศิลปะแบบจีนไว้อย่างน่าสนใจ มองขึ้นไปตรงอุโบสถ หน้าบันประดับปูนปั้นลายดอกไม้ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสีจากจีน  ซุ้มเสมารายรอบพระอุโบสถสร้างด้วยศิลาจำหลักจากเมืองจีน มีเรื่องเล่าว่าที่นี่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนโพ้นทะเลในยุคต้นรัตนโกสินทร์

 

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

 

หลังจากชมวัดแล้ว เลยแวะกินขนมธนูสิงห์ กินน้ำให้ชื่นใจ แล้วเดินออกไปริมทางเดินแม่น้ำเจ้าพระยา เลาะรับลมมองแม่น้ำที่ล่องไหล เห็นฝั่งตรงข้ามเยื้องกันเป็นท่าเรือยอดพิมาน ทาสีสวยสดใส ร้านอาหารเริ่มเปิดเพลงกันแล้ว ส่วนร้านกาแฟก็กำลังแดดร่มลมตก ใจคิดไปถึงว่า จะนั่งเรือข้ามไปเดินเล่นแถวถนนพระอาทิตย์เสียหน่อย ก่อนจะนึกขึ้นมาได้ว่า จอดรถไว้ที่คลองสาน และมันชั่วโมงละ 20 บาท

รถยนต์นี่แพงชะมัด

 

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”box” _builder_version=”3.0.106″ background_color=”#eaeaea” background_layout=”light”]

ในไทย ก็มีโครงการส่งเสริมการเดินที่เรียกว่า GoodWalk Thailand อยู่ (ดูได้ที่ goodwalk.org) เป็นโครงการของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการศึกษาตั้งแต่กลางปี 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินของผู้คนในพื้นที่เมืองในชีวิตประจำวัน

GoodWalk เป็นการศึกษา ‘การเดินได้’ ของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อคัดเลือกพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการศึกษาเชิงลึก เพื่อพัฒนาดัชนีศักยภาพการเดินเท้า รวมไปถึงเสนอแนวทางการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ตัวอย่าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save